วิถีชีวิตชุมชนลาวเวียงจันทน์ ผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านฆ้อง ตำบลบ้านฆ้อง  อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

Lanner เปิดพื้นที่ให้ทุกคนที่อยากสื่อสาร โดยความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ สามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com

เรื่อง: ทวิตรา เพ็งวัน,ปวีณา  บุหร่า

บทนำ

บทความชิ้นนี้มุ่งศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังศาลาการเปรียญวัดบ้านฆ้อง ตำบลบ้านฆ้อง              อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี กับวิถีชีวิตชุมชนลาวเวียงจันทน์ พบว่าจิตรกรรมที่วัดแห่งนี้เป็นภาพจิตรกรรมที่วาดโดยช่างสกุลพื้นบ้าน โดยสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เขียนเล่าเรื่องราวทางพุทธศาสนา พุทธชาดก สอดแทรกและสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ในชุมชนยังมี      วิถีชีวิต ประเพณี พิธีกรรมสำคัญที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนัง เช่น ประเพณีสารทลาว             พิธีบุญเบิกบ้าน ความเชื่อการให้ความเคารพศาลปู่ตา ศาลเจ้านาย การบนบาน พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ           การประกอบอาชีพ ลักษณะบ้านเรือน อาหารและการรักษาโรคที่มีความสำคัญต่อผู้คนในชุมชน และได้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษทามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ประเพณี พิธีกรรมให้สอดคล้องกับสังคมในปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้วิถีชีวิต ประเพณี พิธีกรรมของคนในชุมชนบ้านฆ้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่วนใหญ่อาจเป็นผลมาจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม เส้นทางการคมนาคมและนโยบายของภาครัฐที่ได้เข้ามามีส่วนที่ทำให้วิถีชีวิต ประเพณี พิธีกรรมของชุมชนบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป แต่ถึงกระนั้นชาวบ้านในชุมชนยังคงรักษา วิถีชีวิต ประเพณีและสืบทอดมาสู่รุ่นต่อรุ่น

การศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์กระแสหลักที่อิงอยู่กับประวัติศาสตร์มหาบุรุษโดยละเลยการศึกษาประวัติศาสตร์จุลภาค หรือประวัติศาสตร์สังคมที่เน้นการศึกษาเรื่องราว และวิถีชีวิตของประชาชนในประเทศ ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การอพยพตั้งถิ่นฐาน ตลอดจนรวมไปถึงเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณีพื้นถิ่น ที่มีความสำคัญต่อการสร้างประวัติศาสตร์ในแต่ละชุมชนแหล่งข้อมูลเพื่อศึกษาที่จำเป็นต้องศึกษาจากคำสัมภาษณ์ของชาวบ้าน ภาพถ่าย และภาพจิตรกรรม เนื่องจากภาพจิตรกรรมมักจะสอดแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนในด้านต่าง ๆ ไว้อย่างน่าสนใจผ่านการวาดภาพที่ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรม

ภาพจิตรกรรมมีความสำคัญอย่างหนึ่งในการศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ผ่านศิลปะการวาดภาพเพื่อสื่อถึงความเป็นชุมชน และยังเกี่ยวข้องในเรื่องของความศรัทธาเพื่อจุดมุ่งหมายที่หวังเป็นผลบุญกุศลของช่างผู้เขียนและชาวบ้าน นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความเจริญของประเทศชาติและชุมชน เป็นการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ และยังเป็นการแสดงถึงความเจริญในการสืบทอดพุทธศาสนาโดยจุดมุ่งหมายของการเขียนภาพจิตรกรรม คือ ประโยชน์ในเชิงประวัติศาสตร์ที่ได้มีการบันทึกเรื่องราวในอดีตไว้ในแง่มุมต่าง ๆ เรื่องแสดงการเป็นเชื้อชาติซึ่งผู้วาดมักจะถ่ายทอดลักษณะท้องถิ่นนิยมหรือชาตินิยมของคนในสังคมนั้น ๆ      ลงไปผ่านรูปร่างท่าทางหน้าตา เครื่องแต่งกาย ที่บ่งบอกถึงความเป็นเชื้อชาตินั้น

การศึกษาเรื่องราวทางประเพณีที่เป็นประเพณีสมัยเก่าที่ปรากฏอยู่ในจิตรกรรม เช่น ประเพณีการทำบุญ การเล่นรื่นเริง และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังมักเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา เช่น  พุทธประวัติ พุทธชาดก แต่มักมีการสอดแทรกเรื่องราวของชุมชนและวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นหลักฐานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน แต่ผู้ที่สนใจศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังมักจะสนใจศึกษาภาพจิตรกรรมจากวัดที่มีชื่อเสียงหรือวัดที่มีความสำคัญ ทำให้ภาพจิตรกรรมที่อยู่ในวัดเล็ก ๆ ถูกละเลยจนทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้เกิดความเสียหายหรือชำรุดก่อนที่จะมีการศึกษาเก็บข้อมูล เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ศาลาการเปรียญวัดบ้านฆ้อง ตำบลบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งวัดบ้านฆ้องตั้งอยู่ในชุมชนลาวเวียงจันทร์ โดยภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ศาลาการเปรียญเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เล่าเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา คือ พุทธประวัติ พุทธชาดก นอกจากนี้ยังปรากฏสอดแทรกภาพวิถีชีวิตในด้านต่าง ๆ ของชาวบ้าน (ชุมชนลาวเวียงจันทน์) จากการสำรวจพบว่าการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังบนศาลาการเปรียญที่วัดบ้านฆ้องจัดเป็นภาพจิตรกรรมสกุลช่างพื้นบ้านและได้ปรากฏการวาดภาพเขียนลายรดน้ำ ภาพผงมุก และภาพเขียนสีฝุ่นซึ่งเป็นจิตรกรรมที่เกิดโดยช่างชาวบ้านในท้องถิ่นหรือช่างจากที่อื่นเป็นผู้สร้างจึงมีลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดแบบเรียบง่ายมีอิสระ แสดงประเพณีนิยมของชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะพิเศษเกี่ยวกับความคิดและจิตใจของชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ๆ

จากการลงเก็บข้อมูลเบื้องต้นพบว่าชุมชนลาวเวียงจันทน์ที่บ้านฆ้องยังมีการสืบสานวิถีชีวิต ประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับภาพจิตรกรรมฝาผนังและยังมีอีกหลายประเพณีและพิธีกรรมที่ไม่ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมซึ่งล้วนแต่เป็นพิธีกรรม ความเชื่อที่สำคัญต่อชุมชนที่มีการสืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษและยังเป็นการ แสดงให้เห็นถึงความเป็นวิถีชีวิต ความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิมของชุมชนลาวเวียงจันทน์ที่มีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบันแต่ผู้คนในชุมชนก็ยังคงรักษาพิธีกรรม ประเพณีและความเชื่อไว้แต่ก็ มีการปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมในปัจจุบัน

ประวัติวัดบ้านฆ้อง ตำบลบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

เมื่อต้นรัชกาลที่ 1 ในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีครอบครัวลาวครอบครัวหนึ่งได้เดินทางอพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ประเทศลาว โดยการนำของภิกษุรูปหนึ่งชื่อพระอาจารย์มะนาวเชี่ยว เป็นพระทรงคุณพิเศษมีปัญญาสามารถรู้ภาษานกได้ และสามารถท่องมนต์คาถาบทหนึ่ง ได้เร็วมากชั่วปาดมะนาวขาดเท่านั้น ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า พระอาจารย์มะนาวเชี่ยว เวลานอนจำวัดไม่ใช้หมอนแต่ใช้ผลมะพร้าวแห้งหนุนศีรษะ ได้พาญาติโยมขึ้นช้างเดินทาง   มาด้วยกัน 4 คน คือ 

1.พระอาจารย์มะนาวเชี่ยว เป็นผู้นำทาง

2.โยมชายไม่ปรากฏนาม เป็นผู้บังคับช้าง

3.โยมหญิงชื่อผู้เฒ่าก้อ 

4.นางประทุมมา เป็นคนทรงเจ้า 

ทั้ง 4 คนนี้สันนิษฐานว่าคงเป็นเครือญาติกันและได้นำตู้ใส่พระคัมภีร์ไวยากรณ์เป็นอักษรขอมลาวจารึกในใบลานมาด้วย 2 ตู้ (ขณะนี้ยังมีหลักฐานอยู่บนกุฏิวัดบ้านฆ้อง) ได้มาพักอาศัยอยู่ที่ศาลเจ้าปู่ตา ซึ่งอยู่ห่างจากวัดบ้านฆ้องไปทางทิศเหนือประมาณ 500 เมตร เมื่อท่านมาพักที่นี่แล้วญาติโยมก็ออกแสวงหาอาหารพืชผักผลไม้บริเวณใกล้ ๆ ที่พัก ซึ่งเป็นดงไม้เบญจพรรณธรรมชาติมีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นอยู่หนาแน่น วันหนึ่งจึงได้มาพบวิหารเล็ก ๆ อยู่หลังหนึ่งรูปร่างคล้ายโบสถ์ ภายในวิหารมีพระพุทธรูปศิลาประดิษฐานอยู่            บริเวณรอบ ๆ วิหารมีซากโบราณวัตถุปลักหักพัง  พืชพันธุ์ไม้ปกคลุมอยู่ทั่วไปมีสภาพคล้ายกับเป็นวัดร้าง โดยเฉพาะมีต้นตะเคียน ต้นพิกุลใหญ่หลายต้นมีอายุหลายชั่วอายุคนมาแล้วขึ้นอยู่มากมาย วัดร้างนี้ไม่มีใครทราบประวัติ พระอาจารย์มะนาวเชี่ยวได้ทราบข่าวจึงได้มาตรวจดูสถานที่เห็นเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมเป็นรมณียสถานที่ร่มรื่นเป็นที่อยู่อาศัยของวิหกนกกาทั้งหลายจึงได้พาญาติโยมมาพักอาศัยที่วัดร้างนี้ โดยย้ายที่พักจากศาลเจ้าปู่ตามาบูรณะซ่อมแซมทำเป็นที่อยู่อาศัย ครั้นอยู่มานานเข้าก็ได้มีครอบครัวลาวที่อพยพมาทีหลังได้เข้ามาอยู่สมทบเรื่อย ๆ จนปรากฏว่ามีประชาชนมาอยู่มากขึ้นทุกทีจึงได้เกิดการขาดแคลนข้าวปลาอาหารน้ำดื่มน้ำใช้พระอาจารย์มะนาวเชี่ยวจึงได้พาญาติโยมและประชาชนทำการขุดสระขังน้ำเป็นสระขนาดใหญ่ขึ้นทางทิศตะวันตกของวัดในขณะที่ทำการขุดอยู่นั้นปรากฏว่าได้พบฆ้องใหญ่มหึมาจมดินอยู่ใบหนึ่ง ประชาชนที่ขุดต่างก็ดีอกดีใจช่วยกันขุดเป็นการใหญ่ จนกระทั่งขุดขึ้นมาทำการเช็ดล้างและทำความสะอาดเรียบร้อยแล้วก็ได้นำมาแขวนไว้ที่กิ่งต้นพิกุลใหญ่เท่าวงล้อเกวียนสมัยโบราณเนื้อคล้ายทองสัมฤทธิ์ พระอาจารย์มะนาวเชี่ยวและประชาชนจึงได้ตั้งชื่อวัดร้างนี้ว่า วัดบ้านฆ้อง เป็นมงคลนามมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ประชาชนในท้องถิ่นมีขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมเหมือนไทยภาคอีสานทุกประการ

ปัจจุบันวัดบ้านฆ้องกลายเป็นสถานที่ทางศาสนาที่เป็นศูนย์กลางของคนในชุมชนบ้านฆ้องและเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพุทธศาสนา เช่น การทำบุญตักบาตรในวันสำคัญต่าง ๆ การประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ ได้แก่ พิธีการแก้ห่อข้าวหรือสารทลาว พิธีเบิกบ้าน เป็นสถานที่ที่ชาวบ้านให้การเคารพนับถือและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน ซึ่งในทุกวันพระหรือวันสำคัญทางพุทธศาสนาชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตร และปฏิบัติธรรมที่วัด รวมไปถึงการจัดกิจกรรมหรือการให้ความรู้ของหมู่บ้านส่วนใหญ่จัดที่ศาลาอเนกประสงค์เนื่องจากชาวลาวเวียงจันทร์นับถือพุทธศาสนาทำให้ชาวบ้านมีความรู้สึกคุ้นเคยกับวัด ผู้เฒ่าผู้แก่จะพาลูกหลานไปทำบุญหรือไปร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในวัดทำให้ลูกหลานเกิดความรู้สึกคุ้นเคยกับวัดเสมือนเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในปัจจุบันชาวบ้านฆ้องยังพูดภาษาลาวอยู่

ภาพชีวิตผ่านจิตรกรรม

เรื่องราวภาพจิตรกรรมฝาผนังยังมีการบันทึกเรื่องราวของคนในชุมชนลาวเวียงจันทน์ผ่าภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏอยู่ศาลาการเปรียญซึ่งผู้วิจัยจะนำเสนอต่อไป

ชุมชนบ้านฆ้องมีวัดเก่าซึ่งมีภาพจิตรกรรมที่ปรากฏอยู่ในศาลาการเปรียญวัดบ้านฆ้องจากการศึกษาของผู้วิจัยพบว่าภาพที่ปรากฏในศาลาการเปรียญแบ่งการเขียนภาพออกเป็น 2 แบบ คือ ภาพสีฝุ่นและ       ลายรดน้ำซึ่งภาพลายรดน้ำโดยเนื้อหาในภาพจิตรกรรมที่ผู้วิจัยค้นพบประกอบไปด้วย 3 หมวด ได้แก่ เรื่องพุทธประวัติ ทศชาติชาดก และมีการแทรกภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งภาพจิตรกรรมที่เกี่ยวกับพุทธประวัติปรากฏอยู่ที่คอสองชั้นกลางกับชั้นล่างประกอบไปด้วยเรื่อง 16 เรื่อง ได้แก่ วิวาหมงคลปริวรรต                    คัพภานิกขมนปริวรรต ลักขณปริคคาหกปริวรรต ราชาภิเษกปริวรรต มหาภินิกขมนปริวรรต ทุกรกิริยาปริวรรต พุทธบูชาปริวรรต มารวิชัยปริวรรต โพธิสัพพัญญูปริวรรต พรหมัชเฌสนปริวรรต ธัมมจักกปริวรรต ยสบรรพชาปริวรรต อุรุเวลคมนปริวรรต  อัครสาวกบรรพชาปริวรรต กบิลวัตถุคมนปริวรรต และพิมพาพิลาปปริวรรต

ภาพจิตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับทศชาติชาดกที่ปรากฏอยู่คอสองชั้นล่าง ประกอบด้วย เตมียชาดก              มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมีราชชาดก มโหสถชาดก ภูริทัตชาดก จันทกุมารชาดก พรหมนารทชาดก วิธูรชาดก เวสสันดรชาดก

นอกจากนี้ยังสอดแทรกวิถีชีวิตของผู้คนลาวเวียงจันทน์ในด้านต่าง ๆ เช่น สภาพความเป็นอยู่         การแต่งกาย ลักษณะบ้านเรือน ดนตรี การเล่น และยานพาหนะที่ทำให้เห็นถึงสภาพวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยรัชกาลที่ 6  เช่น 

รถยนต์ ในภาพจิตรกรรมฝาผนังปรากฏภาพรถยนต์ทั้งหมด 3  คัน คือ ภาพที่คอสองศาลา           เรื่อง พุทธประวัติ (วิวาหมงคลปริวรรต) เป็นภาพรถยนต์ที่ไม่มีการแบ่งห้องระหว่างคนขับกับห้องผู้โดยสารอย่างชัดเจน และมหาภินิกขมนปริวรรต เป็นภาพรถยนต์ขนาดเล็ก และเรื่องวิธูรชาดกเป็นภาพรถยนต์ที่มีการแบ่งห้องระหว่างคนขับกับผู้โดยสารอย่างชัดเจน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับรถเมล์นายเลิศที่มีในสมัยรัชกาลที่ 6

รถจักรยาน ในภาพจิตรกรรมปรากฏภาพรถจักรยาน เรื่องวิธูรชาดก และ เวสสันดรชาดก           (กัณฑ์นครกัณฑ์) โดยภาพรถจักยานที่ปรากฏจะเป็นรถจักรยานที่มีล้อหน้าใหญ่กว่าล้อหลัง มีบันไดถีบอยู่ตำแหน่งเดียวกับปัจจุบัน และมีสายโซ่โยงไปถึงเพลาล้อหลัง

เรือ ในภาพจิตรกรรมฝาผนังปรากฏภาพเรือชนิดต่าง ๆ เช่น เรือสำเภาที่ปรากฏอยู่ในเรื่องมหาชนกชาดก เรือบด ปรากฏอยู่ในเรื่องพระพุทธประวัติ  (วิวาหมงคลปริวรรต และอุรุเวลมนปริวรรต) ซึ่งเรือบดเป็นเรือที่ชาวบ้านนิยมใช้เดินทาง เรือโดยสารที่ปรากฏอยู่ในเรื่องพุทธประวัติ (วิวาหมงคลปริวรรต) เป็นภาพเรือโดยสารที่บรรจุผู้โดยสารจำนวน 5 คน มีหลังคาอยู่กลางเรือ โดยเรือโดยสารนี้มีต้นกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ 6  จากการริเริ่มของนายเลิศ

เกวียน  เป็นยานพาหนะที่เหมาะกับการเดินทางไกลที่มีเสบียงติดไปด้วย ใช้สำหรับบรรทุกสิ่งของหรือสินค้าไปขาย นอกจากนี้ชาวบ้านยังใช้เกวียนในการเดินทางไปมาตามที่ต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังพบภาพบ้านเรือนที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังจะมีบ้านหลากหลายลักษณะ เช่น 

บ้านของเศรษฐี หรือบ้านที่เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมเรื่องมโหสถชาดก  ปรากฏภาพบ้านของเศรษฐีมีการกั้นรั้วบ้านที่ชัดเจนตัวบ้านเป็นบ้านชั้นเดียวไม่มีใต้ถุน

บ้านเรือนของชาวบ้านทั่วไป ปรากฏอยู่ในเรื่องเวสสันดรชาดก (กัณฑ์ชูชก) ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวมีใต้ถุนไม่สูงมากนักมีการต่อชายคาเป็นระเบียงยื่นออกมาหลังคามุงกระเบื้องหน้าจั่วตีบานเกล็ด บันไดทางขึ้นอยู่หน้าระเบียง โดยส่วนใหญ่บ้านเรือนจะอยู่เป็นหลักแหล่งเป็นหมู่บ้านและหันหน้าบ้านออกสู่เส้นทางคมนาคม

การแต่งกาย  ในภาพจิตรกรรมปรากฏภาพการแต่งกายของชาวบ้าน ขุนนางต่าง ๆ และการแต่งกายของชาวต่างชาติ  คือ ชาวจีน ปรากฏภาพชาวจีนแต่งกายไว้ผมเปียยาว ไม่สวมเสื้อ ใส่กางเกง คาดผ้าที่เอวและมีหมวกโก้ยโล้ย หรือ กุ้ยเล้ย เหตุที่ปรากฏภาพชาวจีนในภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านฆ้องเป็นผลมาจากอพยพชาวจีนสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา ทำให้ชาวจีนอพยพมาในจังหวัดราชบุรีและเขตอำเภอโพธาราม โดยชาวจีนที่เข้ามาในโพธารามมีบทบาทอย่างมากตั้งแต่เป็นแรงงานกุลีจีนจนไปถึงเจ้าของกิจการ ประกอบกับโพธารามเป็นแหล่งชุมชนขนส่งสินค้าที่ติดกับเส้นทางรถไฟ  ทางถนน และทางน้ำ (แม่น้ำแม่กลอง) ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนบริเวณใกล้เคียง คือ ชุมชนชาวไทย ชาวมอญ และชาวลาว จึงเป็นปรากฏภาพชาวจีนในภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านฆ้อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการติดต่อทางการค้า และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในการแต่งกาย ซึ่งบางครั้งก็ไม่สามารถระบุว่าในภาพจิตรกรรมปรากฏชาวต่างชาติอื่น ๆ อีกหรือไม่เนื่องจากเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมทางการแต่งกายระหว่างกัน

การดื่มชา ในภาพจิตรกรรมฝาผนังได้ปรากฏภาพการดื่มชา อยู่ในเรื่องมหาชนกชาดกเป็นภาพ       ขุนนางทั้ง 8 คนนั่งอยู่หน้าพระมหาชนก บนโต๊ะมีกาน้ำชาอยู่ 2 ชุด การดื่มชาถูกนำเข้ามาจากชาวจีน มีการชนน้ำชารับแขก การปฏิเสธ  ไม่ดื่มชาในสยามถือว่าไม่มีมารยาทต้องนั่งดื่มเมื่อได้รับการเชื้อเชิญ

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเบื้องต้น และการสันนิษฐานพบว่า เมื่อก่อนชาวบ้านในชุมชนบ้านฆ้อง อาจจะมีการดื่มชากันเนื่องจากชุมชนบ้านฆ้องอยู่ใกล้กับชุมชนโพธารามซึ่งมีชาวจีนเชื้อสายต่าง ๆ อาศัยอยู่ ได้แก่ ชาวจีนแต้จิ๋ว  จีนไหหลำ ทำให้เกิดการติดต่อทางด้านวัฒนธรรมได้ง่ายรวมทั้งการดื่มชา

การสูบฝิ่น ในภาพจิตรกรรมฝาผนังได้ปรากฏภาพการสูบฝิ่นในเรื่องเวสสันดรชาดกซึ่งเป็นภาพชาวบ้านชายนั่งสูบฝิ่นอยู่บริเวณหน้าบ้าน เหตุที่ปรากฏภาพสูบฝิ่นบริเวณหน้าบ้านในภาพจิตรกรรมฝาผนัง เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 6 ฝิ่นถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถึงจะมีการรณรงค์ไม่ให้มีคนเสพฝิ่นเพิ่มและรัฐบาลจะปราบปรามเฉพาะฝิ่นเถื่อนทำให้การสูบฝิ่นนั้นเป็นไปอย่างเปิดเผยและไม่ผิดกฎหมาย 

นอกจากนี้ยังมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนบ้านฆ้องที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังศาลาการเปรียญอีกหลายวิถีชีวิต ประเพณีพิธีกรรม ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลทำให้ผู้ศึกษาได้ทราบถึงวิถีชีวิต ประเพณีพิธีกรรมของคนในชุมชนที่ได้มีการสืบทอดและรักษาจนมาถึงปัจจุบันทามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านในชุมชนได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับกาลเวลา

(ภาพผังจิตรกรรมฝาผนัง)

วิถีชีวิตของคนชุมชนลาวเวียงจันทน์ ตำบลบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

วิถีชีวิตของคนในชุมชนบ้านฆ้องสัมพันธ์อยู่กับการเกษตร การทำนา และการอาชีพเกี่ยวกับการทอผ้า การทำที่นอนต่าง ๆ เนื่องจากวิถีชีวิตของคนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่อิงกับธรรมชาติทั้งในด้านการทำการเกษตร การประกอบอาชีพ การทำหัตถกรรม และบรรพบุรุษสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติที่ชาวบ้านนับถือทำให้วิถีชีวิตประเพณี และพิธีกรรมมีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ สิ่งเหนือธรรมชาติ และบรรพบุรุษ กับคนในชุมชนบ้านฆ้องที่ชาวบ้านได้นับถือ และทามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมและกาลเวลาทำให้ชาวบ้านมีการเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสังคมในปัจจุบันทำให้บางวิถีชีวิตและพิธีกรรมบางอย่างมีความเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต 

พิธีกรรม/ประเพณี/ความเชื่อ

ประเพณีสารทลาว (แก้ห่อข้าว)  จัดขึ้นในเดือนสิบกลางเดือน เหตุที่ทำในเดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำของทุกปี เนื่องจากชาวลาวเวียงจันทน์มีความเชื่อว่าในเดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันที่ดวงวิญญาณถูกปลดปล่อยจากขุมนรกหรือสวรรค์ ให้มารับส่วนบุญจากลูกหลาน “…ประเพณีสารทลาวมีมาอย่างยาวนาน มีการทำขนมกระยาสารท อาหาร ข้าว และผลไม้แล้วนำไปใส่ใบตองแล้วนำไปทำบุญที่วัดตอน 11 นาฬิกา ในช่วงเช้ามีการทำบุญใส่บาตรเมื่อพระฉันท์เพลชาวบ้านก็จะนำข้าวที่ห่อมาจากบ้านลงไปแก้ที่ธาตุกระดูกที่บรรจุกระดูกบรรพบุรุษหรือนำโกศที่เก็บอัฐิอยู่บ้านมาที่วัดเพื่อทำพิธีตามประเพณี เพื่อส่งข้าวปลาอาหารให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และมีการบังสุกุลให้กับปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษที่เสียชีวิต เมื่อแก้ห่อข้าวเสร็จก็จะมีการกรวดน้ำ ในขณะเดียวกันก็จะห่อใบตองขนาดเล็กตามจำนวนที่นาของตนเองแล้วนำไปให้พระทำพิธี พอเสร็จพิธีก็นำใบตองไปไว้ตามที่นาของตนและบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง แม่นาธรณี เพื่อขอให้ข้าวงอกงามตามที่หวัง…” แต่ปัจจุบันมีการนำอาหารใส่ถาดหรือปิ่นโตแทนการห่อใบตองและไม่ต้องรอทำพิธีอยู่ที่วัดจนถึงเวลา 11 นาฬิกา เมื่อถึงเวลาทำพิธีแก้ห่อข้าวลูกหลานก็จะมารวมตัวกันที่บริเวณธาตุเพื่อทำพิธี

พิธีแก้ห่อข้าว ถือเป็นวันรวมญาติของชาวลาวเวียงจันทน์ เนื่องจากลูกหลานญาติพี่น้องจะมารวมกันเพื่อทำพิธีแก้ห่อข้าว

พิธีบุญเบิกบ้าน จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ทำพิธีที่บริเวณศาลเจ้านาย และมีการปั้นหุ่นทำจากดินเหนียวหรือดินน้ำมันตามจำนวนสมาชิกในแต่ละบ้านและสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะวัว ผู้หญิงจะมีการนุ่งผ้าใส่เสื้อมีการนำเศษผ้ามาทำเป็นสไบหรือผ้าแพร เมื่อปั้นครบตามจำนวนสมาชิกในบ้านแล้วก็จะนำไปใส่ในกระทงกาบกล้วยรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ภายในกระทงกาบกล้วยจะประกอบไปด้วย ธูป ดอกไม้ ข้าวสาร พริกแห้ง หอม และเงินตามธรรมเนียม ( ซึ่งคล้ายคลึงกับการเซนไหว้ ) นำไปไว้รวมกันที่บริเวณศาลเจ้านายตอน 10 นาฬิกา หลังนั้นจะมีคนทรงมารำถวายและประกอบพิธี  พิธีบุญเบิกบ้านทำเฉพาะหมู่บ้านลาว หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 10 ซึ่งพิธีเบิกบ้านเปรียบเสมือนการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาให้กับสมาชิกในครัวเรือนและหมู่บ้าน ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้าน “…นอกจากนี้ขอให้ช่วยปกปักรักษาดูแลผลผลิตทางการเกษตร ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ให้ชาวบ้านในหมู่บ้าน และสัตว์เลี้ยงอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข…”

ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนบ้านฆ้องได้มีการปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ในการทำพิธี คือ การใช้ดินน้ำมันแทน        ดินเหนียว เนื่องจากดินเหนียวในปัจจุบันหาได้ยาก ซึ่งพิธีเบิกบ้านเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าคนในชุมชนให้ความ เคารพและนับถือศาลเจ้านาย เพื่อให้ศาลเจ้าหน้าค่อยปกป้องดูแลชุมชนและครอบครัวของตน

ศาลเจ้านาย/ศาลปู่ตา  ศาลปู่ตา  มีความสำคัญต่อหมู่บ้าน เวลาเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ลมแรง ฟ้าผ่า ลมพายุ ชาวบ้านจะไหว้อธิษฐานเรียกชื่อศาลปู่ตา ว่า เจ้าผล่าผาแดง แม่นางแตงอ่อน แม่โพธิ์ใต้น้ำ  ส่วนศาลเจ้านายมีหน้าที่ปกป้องหมู่บ้าน บนบานศาลกล่าวขอให้ประสบความสำเร็จต่างๆ เมื่อคำขอสำเร็จก็ไปแก้บนตามที่ได้กล่าวไว้

ทั้งศาลปู่ตาและศาลเจ้านายเป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะของคนในหมู่บ้านเปรียบเสมือนเป็นศาลกลางบ้าน โดยเชื่อว่าการสร้างศาลปู่ตาศาลเจ้านายนั้น เกิดจากการที่ชาวลาวเวียงจันท์ย้ายอพยพถิ่นฐานมาจากลาวเวียงจันท์ซึ่งเป็นช่วงสงครามการนำปู่ย่าตายายที่ไม่แข็งแรงและเจ้านายที่ถูกเข่นฆ่ามาด้วยนั้นไม่สามารถทำได้ จึงได้มีการตั้งศาลกลางบ้านขึ้น เรียกว่า ศาลปู่ตาเจ้านาย โดยมีการอัญเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษและเจ้านายที่เคารพที่ตกค้างจากเวียงจันท์มาสิงสถิตเพื่อปกป้องคุ้มครองลูกหลานและหมู่บ้าน

ความเชื่อเรื่องผีสาง /สิ่งลี้ลับ ชาวบ้านมีความเชื่อเรื่องผีปอบ เกิดจากการเข้าสิงสู่ของผีเร่รอนที่หิวโหย เลี้ยงโดยผู้มีอาคม          ไสยศาสตร์ บางครั้งก็เกิดจากคนที่เล่นอาคมแล้วของนั้นกลับเข้าสู่ตัวเองเพราะผิดครูหรือคนที่ขึ้นราคาค่ายกครูแพงขึ้น การสังเกตอาการของคนที่จะเป็นปอบจะมีอาการอยากกินของแปลกๆหรือของแสลง เช่น ไส้หมู ไส้ไก่ กินของสด นอกจากนี้ยังเชื่อเกี่ยวกับ  ผีกระสือ มีลักษณะเหมือนหิ่งห้อย โดยผีกระสือถ้าใครเห็นหน้าตาของผีกระสือผีกระสือก็จะตามไปหลอกที่บ้าน ผีกระสือมักจะลอยไปหากินไส้วัว หรือกินสิ่งสกปรกตามทุ่งนา และบริเวณป่า ในปัจจุบันความเชื่อเรื่องผีปอบยังมีอยู่ในหมู่บ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจะเล่าเกี่ยวกับผีปอบผีกระสือให้ลูกหลานฟังเหมือนเป็นการเล่านิทานให้กับลูกหลาน “… สมัยก่อนถ้าคนไหนในหมู่บ้านเริ่มมีอาการป่วยหรือไม่สบาย ผีปอบก็จะมาตามเพื่อรอเข้าร่างกินไส้ของคนคนนั้น และคนคนนั้นจะมีอาการทำตัวแปลกไปจากเดิม บางคนก็อยากกินของดิบของสด เช่น ไส้หมู ไส้ไก่ บางคนก็แลบลิ้นปลิ้นตา การตามของผีปอบไม่ได้ตามแค่คนที่เป็นเท่านั้น ผีปอบยังติดตามไปกับลูกหลานของคนที่เป็นได้ด้วย หรือบ้านไหนที่มีเด็กอ่อนหรือพึ่งคลอดลูก ผีปอบชอบวนเวียนอยู่รอบ ๆ บ้านผู้เฒ่าผู้แก่จะนำเบี้ยแก้ หนามไผ่ มาวางบริเวณรอบ ๆ บ้าน โดย  ผีปอบจะไม่ชอบเสียงดัง หรือคนที่พูดเสียงดัง ทำให้เมื่อรู้ว่าใครที่เป็นหรือถูกผีปอบเข้าร่าง ชาวบ้านมักแช่งด้วยคำพูดที่รุนแรงเพื่อให้ผีปอบกลัว และให้พระ หมอผี คนทรงมาทำพิธีรักษา…”

นอกจากนี้ผู้เฒ่าผู้แก่ยังใช้ผีสางเป็นเครื่องมือในการควบคุมเด็กให้เชื่อฟัง และปฏิบัติตามกฎระเบียบ เช่น ห้ามเล่นซ่อนแอบตอนเย็น ๆ ไม่อย่างนั้นจะถูกผีปิดตา หรือถูกผีลักตัวไป และเด็กที่ไม่ยอมนอนผู้เฒ่าผู้แก่ จะหลอกว่า ถ้าไม่นอนผีเป้า แมวเป้า ผีโพรง มาหา แสดงให้เห็นว่าได้มีการนำเรื่องผีสางมาเป็นเครื่องมือใน การควบคลุมบุคคลในชุมชม นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการที่คิดว่าใครเป็นผีปอบ หรือบุคคลที่ปฏิบัติตนแปลก ๆ  เช่น กินของดิบของสกปรก คนในชุมชนจะไม่พูดคุยด้วยไม่เข้าใกล้ ทำให้เกิดการกีดกันในสังคม

ลักษณะบ้านเรือนในชุมชน 

บ้านเรือน โดย “…บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้สองชั้น สร้างโดยไม้ตาลและไม้สน เหตุที่ใช้ไม้ตาล เนื่องจากไม้ตาลเป็นไม้เนื้อแข็ง และไม้สักไม้มะพร้าวนำมาแปรไสมุงกระเบื้อง ลักษณะบ้านมีใต้ถุนโป่งมีความ สูงไม่มากนัก ในสมัยก่อนการสร้างบ้านต้องถมดินให้แน่โดยจะขุดดินบริเวณใกล้ ๆ บ้านแล้วใช้บุ้งกี๋หาบดิน  จากนั้นก็นำไม้ตาลมาถากเป็นแผ่นตามขนาดที่ต้องการหรือเรียกอีกอย่างว่า การแปร(ไสไม้ขนาดยาว) เช่น  ถากขนาดหน้า 6 หน้า 5 และ หน้า 4 โดยส่วนใหญ่ในการสร้างบ้านนิยมใช้ขนาดหน้า 6 และลักษณะบนบ้าน เป็นห้องโถงขนาดใหญ่อยู่กลางบ้าน มีห้องนอน ถัดไปด้านหลังจะเป็นห้องครัว…” 

ลักษณะบ้านเรือนจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเครือญาติใช้รั้วเดียวกันในการกำหนดเขตพื้นที่บ้าน ซึ่งเห็นได้จากภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องมโหสถชาดกและเรื่องเวสสันดรชาดกที่ลักษณะบ้านเรือนจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ ล้อมด้วยรั้วเดียวกัน ส่วนในเรื่องเวสสันดรชาดกเป็นภาพบ้านเรือนของชาวบ้าน ที่มีลักษณะบ้านเป็นชายคายื่นออกจากตัวบ้าน ใต้ถุนโปร่งไม่สูงมากนัก ปัจจุบันบ้านเรือนในชุมชนบ้านฆ้องมีการปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากขึ้น แต่ยังรักษาโครงสร้างเดิมของบ้านไว้ โดยปรับเป็นบ้าน 2 ชั้นที่ชั้นบนเป็นไม้ชั้นล่างเป็นปูน

การแต่งกาย

ผ้าถุง เมื่อก่อนชาวบ้านจะนิยมทอผ้าถุงไว้ใช้เองในครัวเรือนโดยผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าถุงส่วนผู้ชายนิยมนุ่งผ้าขาวม้าหรือนำมาคาดไว้ที่เอว ซึ่งสมัยก่อนนิยมปลูก หม่อนไหมเพื่อที่จะนำไหมมาใช้ทอผ้าต่อมานำไหมไปต้มและล้างน้ำหลังจากนั้นนำไหมไปย้อมสีตามที่ต้องการ การทอผ้าจะทอด้วยมือโดยใช้กระสวยสอดไหม ลายของผ้าถุงคล้ายกับลายในปัจจุบัน

ดนตรี/การละเล่น  

เพลงกล่อมเด็ก  ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนลาวเวียงจันท์ที่บ้านฆ้องได้มีบทเพลงกล่อมเด็ก ไว้ใช้ในการกล่อม ลูกหลานของตนในช่วงเวลานอน

“…นอนซาเด้อหลับตาซาเด้อ นอนซาเด้อ…แม่ไปไฮ่เก็บไข่มาหา แม่ไปนาเก็บหมกไข่ปลามาป้อน ตื่นขึ้นแล้วฮ้องกินนม…โอละเฮ่ นอนซาเด้อ หลับตาซาเด้อ…”

เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่จะเป็นผู้ที่เลี้ยงดูหลานและในอดีตครอบครัวนิยมมีลูกหลานเยอะให้พี่คนโตต้องมีหน้าที่เลี้ยงน้องช่วยพ่อแม่เวลาที่พ่อแม่ออกไปทำไร่ ทำนา นอกจากนี้เพลงกล่อมเด็กยังสะท้อน    วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านชุมชนบ้านฆ้องในอดีตที่มีความเรียบง่ายไม่ค่อยมีความพิถีพิถันในชีวิตเนื่องจากชาวบ้านประกอบอาชีพการเกษตรเป็นหลักทำให้ต้องเร่งรีบไปนาและอาหารส่วนใหญ่เป็นเนื้อสัตว์    พืชต่าง ๆ ที่หาได้ตามแหล่งน้ำและทุ่งนา

เครื่องใช้ต่าง ๆ 

ครกตำข้าว สาก  ใช้สำหรับตำข้าว โดยจะเริ่มสีข้าวจากเครื่องสีที่ทำจากไม้ตอก ซึ่งการตำข้าวมีการทำมานานแล้ว“…ในตอนนั้นคุณ ก็ได้เริ่มตำข้าวตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ในสมัยนั้นคนในระแวกหมู่บ้านก็ใช้ครกตำข้าวกันเป็นปกติทุกบ้าน แต่พอมาถึงช่วงหลังผู้คนในหมู่บ้านก็ค่อย ๆ เลิกตำข้าวด้วยครกแต่เปลี่ยนไปใช้บริการโรงสีข้าวแทนการตำข้าวเอง…”เมื่อโรงสีเริ่มเข้ามาทำให้ชาวบ้านไม่นิยมตำข้าวเองเนื่องจากการตำข้าวใช้เวลานานและต้องใช้แรงงานคน ซึ่งในภาพจิตรกรรมฝาผนังได้ปรากฏการการใช้ครก สากในการตำข้าว                       

นอกจากนี้ยังมี กระด้ง กระบุง หาบและคานหาบ ไว้ใช้สำหรับใส่อาหาร สิ่งของต่าง ๆ ในปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนก็ยังมีการใช้เครื่องใช้เหล่านี้อยู่ ซึ่งจะเห็นได้จากภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องมโหสถชาดกและเรื่องเวสสันดรชาดก ซึ่งทั้งสองภาพเป็นภาพที่ชาวบ้านกำลังตำข้าว และภาพหญิงสาวกำลังแบกคานหาบ

การบริโภคหมาก  ในสมัยก่อนผู้เฒ่าผู้แก่นิยมกินหมาก “…เมื่อก่อนผู้เฒ่าผู้แก่นิยมกินหมากกัน และปลูกต้นพลูไว้กินกับหมากมีตะบันหมากไว้ตำ…” โดยอุปกรณ์การตำหมากจะใส่ไว้ในตะกร้าหรือกระบุงเพื่อความสะดวกในการหยิบจับและพกพา 

ปัจจุบันในชุมชนไม่มีการบริโภคหมากแล้วเนื่องจากค่านิยมเรื่องการบริโภคหมากที่แสดงถึงความ              ไม่สุภาพและไม่ทันสมัยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไม่ให้มีการกินหมากและค้าขายหมากโดยออกรัฐนิยมฉบับที่ 10 ที่ว่าด้วยเรื่องเครื่องแต่งกายของประชาชนและการห้ามกินหมากมีประกาศใช้กฎหมายในปี พ.ศ.2482 มีการสั่งห้ามขายหมากพลู ห้ามทำสวนหมาก และสวนพลู มีการสั่งให้ตัดต้นหมากและต้นพลูทิ้ง เพราะเห็นว่าการบ้วนน้ำหมากในราชการจะทำให้พื้นสกปรกและฟันดำทำให้ดูไม่ดี รวมกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้ผู้ที่ยังบริโภคหมากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน

การรักษาโรค

การกวาดยา  เป็นวิธีการรักษาโรคแบบโบราณ เป็นแพทย์แผนโบราณชนิดหนึ่ง ที่ชาวบ้านในชุมชนให้ความสำคัญกว่าการแพทย์สมัยใหม่ เนื่องจากการกวาดยาใช้พืชสมุนไพรที่มีอยู่ตามบ้านเรือนมารักษาโภค หรืออาการเจ็บไข้ต่าง ๆ โดยที่ไม่ต้องเสียเงินในการรักษา “…การกวาดยานั้นจะเริ่มจากการฝนยาใส่ฝาหม้อดินเผาเมื่อผสมยาให้ละเอียดเข้ากันแล้วก็นำยาที่ฝนล้วงลงที่คอ และมีการเป่าคาถา ซึ่งการฝนยาจะฝนตามโรคหรืออาการของผู้ป่วย มีการผสมยาที่จะฝนต่างกัน เช่น ถ้ามีอาการท้องเสีย จะใช้เปลือกแคแล้วใส่เหล้าขาว ถ้ามีอาการไอ ใช้น้ำมะนาวกับเกลือแล้วนำมาฝนผสมกัน…” และการรักษาโรคด้วยความเชื่อที่สืบต่อกันมาโดยใช้สัตว์และพืชที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ใบพลูตำผสมเหล้าทาแก้ลมพิษ น้ำมะนาวผสมดินสอพองทาแก้ฟกช้ำ ส่วนการรักษาที่ใช้สัตว์รักษาเป็นส่วนผสม เช่น จิ้งจก ตุ๊กแกย่างแก้ตานขโมยพุงโร ในอดีตการกวาดยาเป็นการรักษาที่นิยมมากโดยที่ผู้ใหญ่จะพาลูกหลานของตนไปกวาดยามากกว่าการไปหาหมอคลินิก แต่ในปัจจุบันการกวาดยาได้รับความนิยมน้อยลงจนแทบไม่พบเห็นการกวาดยาแล้ว

อาหาร 

วิถีชีวิตของชาวบ้านส่วนใหญ่จะทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ หรือหาปลาเป็นอาหารในการบริโภคไว้กินเอง และไว้ขาย หรือแจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง บ้านเรือนบริเวณใกล้เคียง ทำให้ชาวบ้านในชุมชนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเงินตรามากนัก “…สมัยก่อนชาวบ้านในชุมชนนิยมกินปลา เนื่องจากชุมชนบ้านฆ้องมีลำคลองมาก และเป็นแหล่งทำนาทำให้หาปลาได้ง่าย โดยการหาปลาจะใช้ลอบไปวางไว้ตามลำคลองเพื่อดักปลา ซึ่งชนิดปลาที่ได้ส่วนใหญ่เป็น คือ ปลาน้ำผึ้ง ปลาหมู  ถ้าวันไหนปลาติดลอบจำนวนมากก็จะนำปลาส่วนหนึ่ง ไปทำน้ำปลา ปลาร้า ส่วนปลาที่เหลือนั้นนำไปประกอบอาหาร นำไปแบ่งให้เพื่อนบ้าน หรือนำไปขาย…” 

การประกอบอาชีพ  

การทำนา เมื่อก่อนชาวบ้านในชุมชนบ้านฆ้องทำนากันเป็นอาชีพหลัก และประกอบอาชีพเสริมอย่าง อื่นนอกเหนือจากการทำนา เช่น การทอผ้า การทำที่นอน การทำไร่ทำสวน “…การทำนาจะเป็นการทำนาแบบดั้งเดิม คือใช้วัวในการไถนาพอไถนาเสร็จก็จะหว่านข้าวแล้วไถซ้ำอีกหนึ่งรอบหลังจากนั้นก็รอต้นข้าวโต และมี การถอนหญ้าที่ขึ้นตามปากข้าว พอต้นข้าวโตเต็มที่ ชาวบ้านในชุมชนหรือบริเวณใกล้เคียงก็จะมาช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าวหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วก็จะนำไปใส่เกวียนเพื่อนำกลับไปที่บ้านเมื่อถึงบ้านก็จะใช้วัวใน การนวดข้าวโดยจะผูกวัวเป็นแถวแล้วให้วัววิ่งเพื่อให้ข้าวแหลก และนำไปกองไว้ที่ลานหลังจากนั้นจะใช้คนพัด ข้าวเปลือกเมื่อพัดข้าวเปลือกเสร็จแล้วนำไปเก็บที่โรงสี และเวลาที่จะสีข้าวก็จะสีด้วยกระด้งปัดข้าวแล้วนำมาใส่ครกตำเมื่อตำข้าวเสร็จก็จะนำมาร่อนเพื่อเอารำข้าวออกหลังจากนั้นก็จะได้ข้าวสารซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีโรงสีข้าวทำให้ชาวบ้านต้องใช้แรงงานคนในการสีข้าว เมื่อมีโรงสีเข้ามาชาวบ้านก็หันไปใช้บริการโรงสีข้าวแทนการสีข้าวเอง นอกเหนือเวลาทำนาชาวบ้านก็จะประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น การทำการเกษตร การจักสาร การทอผ้า การทำที่นอนเป็นอาชีพเสริม…” แต่เมื่อเวลาผ่านไปชาวบ้านเริ่มประกอบอาชีพทำนาน้อยลงหันไปประกอบอาชีพอื่นเป็นอาชีพหลักมากขึ้น เช่น ทำที่นอน เย็บผ้า ทำตุ๊กตา จึงทำให้ในปัจจุบันชาวบ้านบางคนขายที่นา บางคนก็มีนายหน้ามาติต่อเพื่อทำเป็นบ้านจัดสรร หรือไม่ก็ปล่อยที่นาให้ผู้อื่นเช่าที่ทำนานแทนตนเอง หรือไม่ก็ขุดดินตรงที่นาของตนเองเพื่อนำดินมาขายแทนการทำนา ทำให้ในปัจจุบันการทำนาในชุมชนลดลงที่นาส่วนใหญ่ถูกซื้อโดยนายหน้าที่ดินเพื่อนำไปทำบ้านจัดสรร หรือปล่อยที่นาให้ผู้อื่นเช่าแทน รวมถึงลูกหลานไม่ได้สนใจที่จะประกอบอาชีพทำนาหันไปทำอาชีพรับจ้าง ทำงานโรงงานเป็นส่วนใหญ่

ความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนชุมชนลาวเวียงจันทน์ ตำบลบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ช่วง พ.ศ. 2485-2566

ในช่วงระยะเวลา 100 ปี วิถีชีวิตของผู้คนลาวเวียงจันทน์ในชุมชนบ้านฆ้องมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากพัฒนาประเทศ และนโยบายจากภาครัฐที่ได้เข้ามามีส่วนทำให้วิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่วิถีชีวิตของคนในชุมชนบ้านฆ้องพึ่งพาอยู่กับธรรมชาติและภูมิศาสตร์ที่เหมาะแก่การทำการเกษตรเพาะปลูกเนื่องจากเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำและมีพื้นที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำแม่กลอง ชาวบ้านจึงประกอบอาชีพเกษตรมาอย่างยาวนาน ได้แก่ การทำนา ทำการเกษตรแบบยังชีพ ชาวบ้านนิยมปลูกพืชผัก สมุนไพร และเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคภายในครัวเรือนถ้าเหลือก็แจกจ่ายให้กับผู้คนในระแวกนั้นทำให้คนในชุมชนไม่ค่อยใช้เงินตรามากเท่าใดนัก ในช่วงพักหรือว่างจากการทำนาชาวลาวเวียงมีการตำหูก หรือการทอผ้าไหม

สำหรับการทอผ้าและมีการปลูกหม่อนไหมในบริเวณบ้าน การทอผ้าเป็นไปเพื่อทอไว้ใช้เองในครัวเรือน พอมาถึงในช่วงหลังเมื่อถนน เส้นทางคมนาคมดีขึ้นประกอบกับชุมชนบ้านฆ้องอยู่ใกล้กับเส้นทางคมนาคมเข้าสู่จังหวัดนครปฐมและเข้าสู่กรุงเทพฯทำให้ชุมชนบ้านฆ้องเกิดความเปลี่ยนในวิถีชีวิต การเกิดขึ้นของโรงเรียนเริ่มมีการพัฒนามากขึ้น ระบบสาธารณูปโภคดีขึ้น รวมทั้งนโยบายของภาครัฐ การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเริ่มเข้ามาทำให้ความเป็นชุมชนและวิถีชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนได้รับการศึกษามากขึ้น การตั้งขึ้นของวิทยาลัยเทคนิคโพธารามทำให้ทำให้คนในชุมชนส่งลูกหลานเข้ารับการศึกษาเพื่อที่ให้ลูกหลานเข้าไปเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม โดย จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2480 และได้ย้ายมายังหมู่ที่ 3 ตำบลบ้านฆ้อง เมื่อ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2511 มีการเปลี่ยนชื่อจาก “โรงเรียนช่างทอผ้าโพธาราม” เป็น “โรงเรียนเทคนิคอุตสาหกรรมสิ่งทอ” และในปี พ.ศ. 2528 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วิทยาลัยเทคนิค   โพธาราม ”  ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ

จากการสัมภาษณ์ “…เมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคนิคโพธารามในระดับปวช.สาขาเคมีสิ่งทอเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นไปทางปฏิบัติเพื่อให้มีความสามารถติดตัวในการประกอบอาชีพเมื่อจบการศึกษาแล้วจะส่งนักศึกษาไปฝึกงานยังโรงงานต่าง ๆ เมื่อฝึกงานจบบางบริษัทหรือโรงงานก็อาจจะรับเข้าทำงานเลย…”  การมีถนนที่ดีขึ้นทำให้ชาวบ้านในชุมชนเลิกใช้เกวียนในการเดินทางไปยังชุมชนใกล้เคียงจากเดิมเป็นถนนดินแดงธรรมดากลายมาเป็นถนนลาดยางซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการสร้างถนนในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อให้สามารถกระจายสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตได้เข้าสู้ตลาดภายในที่กว้างขึ้น และเป็นทางระบายสินค้าเกษตรที่ผลิตขึ้นในเชิงพานิชย์ออกสู่ท่าเรือกรุงเทพฯ และตลาดโลก การมีไฟฟ้า นำความสะดวกสบายเข้ามายังชุมชน ผู้คนในชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนเอง แต่ก็ยังมีการรักษาประเพณี พิธีกรรมอยู่  ที่เป็นผลมาจากนโยบายของภาครัฐในสมัยจอมพล ป.พูลสงคราม ที่มีนโยบายชาตินิยมที่มุ่งจัดระเบียบการดำเนินชีวิตของคนไทยให้อยู่ในแบบแผนเดียวกัน ทำให้วัฒนธรรมบางอย่างในชุมชนเกิดการยกเลิก เช่น การแต่งกาย ภาษาถิ่น  ซึ่งจะเห็นได้ชัดในชุมชนบ้านฆ้องภาษาท้องถิ่นลาวเวียงขาดการสืบทอดสู่รุ่นหลาน ในชุมชนมีเพียงผู้สูงอายุและกลุ่ม คนวัยกลางคนที่สามารถพูดภาษาลาวเวียงได้แต่ถึงกระนั้นกลุ่มเด็กรุ่นลูกหลานถึงจะพูดไม่ได้แต่สามารถฟังออก ภาษาลาวเวียงที่ชาวบ้านในชุมชนยังใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น คำว่าตาเว็น  เบิ่ง เว่า ขี้หมิ่นหม้อ อู่ เซา สาด อีตู่ไทย อีตู่ลาว ฯลฯ ส่วนใหญ่ใช้สื่อสารกันในครอบครัว หรือภายในชุมชน แต่ถึงกระนั้นกลุ่มเด็กรุ่นลูกหลานถึงจะพูดไม่ได้แต่สามารถฟังออก ทำให้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีบางอย่างได้เลือนหายไป เช่น การบริโภคหมากที่ในปัจจุบันได้เลือนหายไปจากชุมชน การที่วิถีชีวิตในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาทำให้ลูกหลานแยกตัวออกจากเครือญาติของตนเองไปตั้งบ้านเรือนใหม่ หรือย้ายเข้าไปทำงานยังกรุงเทพฯมากขึ้น แทนการทำงานแถวบ้าน

อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ของในชุมชนบ้านฆ้องมีความสนิทสนมกลมเกลียวกัน มีความเป็นอยู่ที่เป็นเหมือนญาติพี่น้อง ไปมาหาสู่กัน เมื่อมีงานหรือเหตุการณ์สำคัญชาวบ้านในชุมชนจะร่วมมือช่วยเหลือกัน เช่น  งานมงคล งานอวมงคล งานหมู่บ้านชาวบ้านในชุมชนจะลงแรงช่วยเหลือกันในการจัดสถานที่ การเตรียม อาหาร  และจะมีการทำอาหารเลี้ยงผู้คนที่มาช่วยงานแทนการว่าจ้างด้วยเงิน ในช่วงวันสำคัญ และช่วงเทศกาลต่าง ๆ  เช่น วันสารทลาว (ทำบุญแก้ห่อข้าว)  งานบุญเบิกบ้าน และ วันสงกรานต์ ที่ญาติพี่น้องจะกลับบ้านเพื่อมาพบปะกัน

บทสรุป 

การศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านฆ้องกับวิถีชีวิตชุมชนลาวเวียงจันทน์ ทำให้ทราบถึงวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนบ้านฆ้องในด้านต่าง ๆ เช่น สภาพความเป็นอยู่ การแต่งกาย ลักษณะบ้านเรือน ยานพาหนะที่แสดงให้เห็นถึงสภาพวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ศาลาการเปรียญวัดบ้านฆ้องได้มีการสอดแทรกวิถีชีวิตของคนในชุมชน ได้แก่ ยานพาหนะประกอบไปด้วย ภาพรถยนต์ที่ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งมีลักษณะคล้ายกับรถเมล์นายเลิศในสมัยรัชกาลที่ 6 จากการสันนิษฐานอาจเป็นไปได้ว่าในชุมชนบ้านฆ้องมีกลุ่มคนที่มีฐานะดีประกอบกับจังหวัดราชบุรีอยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ ทำให้มีการนำรถยนต์เข้ามาใช้ในชุมชน รถจักรยาน  เรือชนิดต่าง ๆ เช่น เรือสำเภา เรือบด เรือโดยสาร และเกวียน ลักษณะของบ้านเรือน การแต่งกาย การดื่มชา การสูบฝิ่น และการเล่นสกา  นอกจากนี้ภายในชุมชนบ้านฆ้องยังมีประเพณี พิธีกรรม   ที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังล้วนเป็นประเพณี และพิธีกรรมที่มีความสำคัญกับคนในชุมชนที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษและได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ผู้คนในชุมชนก็ยังคงรักษาประเพณี พิธีกรรมเหล่านี้ไว้ และได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

ตลอดช่วงเวลา 100 ปี วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนและการพัฒนาของประเทศมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ชุมชนบ้านฆ้องมีการเปลี่ยนแปลงในด้านวิถีชีวิต ประเพณี และพิธีกรรม สภาพบ้านเรือน การคมนาคมที่ได้พัฒนาขึ้นและการรับเอาวิถีชีวิตจากภายนอกชุมชนบางประการเข้ามายังชุมชน เช่น ยานพาหนะรถยนต์ที่มีหลักฐานในภาพจิตรกรรมฝาผนังศาลาการเปรียญวัดบ้านฆ้องซึ่งมีลักษณะคล้ายกับรถเมล์นายเลิศ การที่ในชุมชนบ้านฆ้องได้มีรถยนต์นั้นอาจเป็นเพราะเส้นทางคมนาคมที่พัฒนาขึ้น การมีถนนที่กระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยังเป็นการยืนยันได้ว่า การที่ถนนเข้ามาในแหล่งชุมชนทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิมที่ใช้เรือ และเกวียนเป็นพาหนะในการเดินทาง แต่ชาวบ้านก็เริ่มมีการใช้รถยนต์มากขึ้นซึ่งการมีรถยนต์ในชุมชนอาจเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะดีในชุมชน นอกจากนี้วิถีชีวิตในด้านอื่น ๆ ของคนในชุมชนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาของประเทศและนโยบายของภาครัฐที่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนในชุมชน เช่น ด้านสภาพความเป็นอยู่ บ้านเรือน การประกอบอาชีพ ประเพณี และพิธีกรรม

จากการลงพื้นที่สำรวจ เก็บข้อมูล และคำสัมภาษณ์ของคนในชุมชน พบว่า วิถีชีวิตในภาพจิตรกรรมบางด้านตรงกับวิถีชีวิตของผู้คนลาวเวียงจันทน์ในชุมชนบ้านฆ้อง เช่น ลักษณะบ้านเรือนที่มีความเหมือนกัน กล่าวคือ ตัวบ้านส่วนใหญ่เป็นไม้มีใต้ถุนโปร่งไม่สูงมากนัก บ้านเรือนจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเครือญาติมีการใช้รั้วเดียวกันและ หันหน้าออกสู่เส้นทางคมนาคม และการใช้ครกตำขาว ซึ่งคนในชุมชนบ้านฆ้องในอดีตส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนาทำการเกษตร เป็นหลัก ซึ่งในสมัยนั้นโรงสียังไม่ได้เข้ามามีบทบาทจึงทำให้ชาวบ้านใช้ครก สาก ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องมโหสถชาดก และเวสสันดรชาดก ในด้านการ  ดื่มชา การบริโภคหมาก ที่สันนิฐานและจากคำสัมภาษณ์ว่าคนในชุมชนอาจมีการดื่มชา บริโภคหมาก เนื่องจากชุมชนบ้านฆ้องอยู่ใกล้กับชุมชนโพธาราม และคลองตาคตที่มีชาวมอญ ชาวจีนเชื้อสายต่าง ๆ อาศัยอยู่ ทำให้เกิดการติดต่อทางวัฒนธรรมได้ แต่ในปัจจุบันไม่มีการดื่มชา หรือบริโภคหมากอันเป็นผลมาจากนโยบายของภาครัฐ ส่วนวิถีชีวิต ประเพณี และพิธีกรรมที่ ไม่ได้ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังจะเป็นประเพณี พิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อสิ่งลี้ลับ บรรพบุรุษ เช่น ประเพณี สารทลาว หรือ แก้ห่อข้าว ที่เป็นประเพณีสำคัญของคนในชุมชนจัดขึ้นเพื่อให้บรรพบุรุษ

นอกจากนี้สารทลาวยังถือเป็นวันรวมญาติของชาวลาวเวียงจันทน์ในชุมชนบ้านฆ้อง พิธีบุญเบิกบ้าน เปรียบเสมือนการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาให้กับคนในชุมชนปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกจากหมู่บ้าน  นอกจากนี้ชาวบ้านยังให้ความเคารพนับถือบรรพบุรุษโดยมีการตั้งศาลปู่ตา ศาลเจ้านาย ไว้ค่อยปกป้องคุ้มครองชาวบ้านและหมู่บ้าน การรักษาโรค คือ การกวาดยา เป็นการรักษาแบบโบราณที่คนในชุมชนให้ความสำคัญ และเป็นที่นิยมในสมัยก่อน การประกอบอาชีพ ชาวบานในชุมชนบ้านฆ้องส่วนใหญ่ทำอาชีพทำนา การเกษตร เป็นหลักและมีการประกอบอาชีพเสริมต่าง ๆ เช่น การทำที่นอน ทอผ้า และอาชีพรับจ้างทั่วไป ทำให้ในอดีตชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงอยู่กับธรรมชาติ อาหารส่วนใหญ่หาจากตามธรรมชาติส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนิยมบริโภคปลาเป็นอาหาร เนื่องจากชุมชนมีแม่น้ำลำคลองจำนวนมากจึงทำให้เหมาะแก่การหาปลาได้ง่ายและเหมาะแก่การ      ทำนา การเกษตร เมื่อเวลาผ่านไปวิถีชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมเมื่อถนนเส้นทาง คมนาคม โรงเรียน สิ่งอุปโภคบริโภค และการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ทำให้ชุมชนและผู้คนในชุมชน เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้เข้ากับสังคมในขณะนั้น คนในชุมชนออกไปเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ละเลยอาชีพและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม รวมไปถึงนโยบายของภาครัฐในสมัยจอมพลป.พิบูลสงครามที่มีนโยบายชาติที่มุ่งจัดระเบียบวิถีชีวิตของคนไทยให้อยู่ในแบบแผนเดียวกัน ทำให้วัฒนธรรม ประเพณี  วิถีชีวิตบางประการในชุมชนถูกยกเลิก เช่น  ภาษาท้องถิ่น การแต่งกาย และการบริโภคหมากที่เลือนหายไปจากชุมชน 

ดังนั้นการศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านฆ้องกับวิถีชีวิตชุมชนลาวเวียงจันทน์ ตำบลบ้านฆ้อง          อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี แสดงให้ถึงความเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนที่มีมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทั้งที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ศาลาการเปรียญและที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรม แต่ชาวบ้านในชุมชนก็ได้มีการสืบทอดและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ จนมาถึงปัจจุบัน    

บรรณานุกรม

หนังสือ

  • วัดบ้านฆ้อง. ปิดทองฝังลูกนิมิตวัดบ้านฆ้อง ต.บ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 8-16 กุมภาพันธ์ 2529.
  • วันดี นิจวรสิน. สองสถานบ้านเรือนลาวเวียง: การปรับตัวต่อการอยู่อาศัยในลุ่มน้ำภาคกลาง. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: บริษัท บุญคิริการพิมพ์ จำกัด. 2564.  
  • สมชาติ มณีโชติ. จิตรกรรมไทย. กรุงเทพมหานคร: O.S. Printing House Co., Ltd., 2559.

บทความ

  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. หัวข้อที่ 24 การพัฒนาสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์. ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
  • ปิยนัส สุดี, “ฮูปแต้ม: ภาพสะท้อนและวัฒนธรรมในเขตอีสานตอนกลาง.” วารสารศิลปกรรมบูรพา, 2557.
  • ภัทรลดา ทองเถาว์ และคณะ. “บทบาทความเชื่อเรื่องผีต่อสังคมอีสาน : กรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี.”              วารสารศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัลสิด 15, 2, (มกราคม-มิถุนายน 2563).
  • สุพิชฌาย์ จินดาวัฒนภูมิ. “วัฒนธรรมการกินหมากในสังคมไทยสมัยก่อน.” งานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 10 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม. (มีนาคม 2561).

วิทยานิพนธ์

  • ชาญชัย คงเพียงธรรม. เรื่องผีในอีสาน: ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว เขมร ส่วย และ เวียดนามที่อาศัยอยู่ ในบริเวณอีสานใต้ของประเทศไทย. อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  2556.
  • พชรพรรณ ธานี. การศึกษาวิถีชีวิตสภาพความเป็นอยู่ที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังศาลาการเปรียญวัดบ้านฆ้อง ตำบลบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต(โบราณคดี),ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2544).  
  • ภาควิชาศิลปะไทย วิทยาลัยช่างศิลปะสุพรรณบุรี. การเตรียมพื้นเขียนภาพจิตรกรรมไทยบนพื้นไม้. (ภาควิชาศิลปะไทย วิทยาลัยช่างศิลปะสุพรรณบุรี สถาบันบัณฑิพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม).

สัมภาษณ์

  • เตี้ยม หาญกล้า. สัมภาษณ์, วันที่ 27 มกราคม 2566, 24 กุมภาพันธ์ 2566, 26 กุมภาพันธ์ 2566.
  • เสงี่ยม สุขขี. สัมภาษณ์, วันที่  27 มกราคม 2566, 26 กุมภาพันธ์ 2566, 
  • ศุภชัย จันทร์ดา. สัมภาษณ์, วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566, 
  • บุษบา พันธ์คำ. สัมภาษณ์, วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566. 

เว็ปไซต์

  • กลุ่มชาติพันธุ์ : ลาวเวียงจันทน์. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นจาก https://www.sac.or.th/.

เข้าถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2566.  

  • ประวัติความเป็นมาวิทยาลัยเทคนิคโพธาราม. วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม. สืบค้นจาก http://www.photharam.ac.th/.เข้าถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2566.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง