“วันยี่เป็ง” กับ “วันเพ็ญเดือนสิบสอง” ความต่างที่ถูก (ทำให้) ลืม!!!

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

“ประเพณีลอยกระทง” ของคนไทยในภาคกลาง และ “ประเพณียี่เป็ง” ของคนล้านนาในภาคเหนือนั้น หากนับตามวันและเวลาของปฏิทินจันทรคติแล้วพบว่า น่าจะเป็น “คนละประเพณีที่บังเอิญมาตรงอยู่กับวันเดียวกัน” สิ่งที่กล่าวมานี้ อาจคงเป็นที่ฉงนสนเท่ห์ใจสำหรับใครอยู่ไม่มากก็น้อยและความต่างที่ว่านี้ก็คงไม่ได้วางอยู่บนนัยยะทางภาษาที่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด ข้อเขียนต่อไปในเดือนแห่งเทศกาลทั้งสองที่ว่านี้ จึงมุ่งชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างในเรื่องหัวใจสำคัญ ตลอดจนรายละเอียดของประเพณีหรือพิธีกรรมเพื่อเป็นบททดลองนำเสนอเล่นๆ ให้เห็นว่าความรู้ว่าด้วยเทศกาลงานประเพณียี่เป็งของคนล้านนาที่มีมาแต่เดิมนั้น ได้ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ของความหมาย (Relocate of meaning) ให้เกิดการพร่าเลือนลงของทั้งความรับรู้และความรู้ที่มีต่อ “ยี่เป็ง” ดังกล่าวผ่านอำนาจนำของระบบการสื่อสารมวลชน ระบบการศึกษาและวัฒนธรรมต่างๆ จาก “รัฐกรุงเทพ” ให้ถูกแทนที่ด้วย “ลอยกระทง” ของคนไทยในภาคกลาง อย่างไรบ้าง

ภาพ: LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP

ย้อนกลับไปในเกร็ดเก่าเล่าตำนานคู่แผ่นดินล้านนา ดินแดนแถบนี้มีการใช้ระบบปฏิทินแบบจันทรคติที่นับเวลาล่วงหน้าเร็วกว่าเดือนของทางภาคกลางถึงสองเดือนด้วยกันซึ่งทำให้ “ยี่เป็ง” หรือวันเพ็ญ 15 ค่ำของเดือนยี่       มีขึ้นในเดือนที่สองของล้านนา (ยี่ คือ การนับเลขแบบในภาษาล้านนาโบราณที่แปลว่า 2) โดยมูลเหตุดังกล่าวสามารถเล่าคร่าวๆ ผ่านตำนานพื้นถิ่นล้านนาที่ว่าด้วย “การเลื่อนเดือน” ให้เคลื่อนไปข้างหน้าของพระนางจามเทวีกษัตรีย์แห่งนครหริภูญชัย (ลำพูน) ให้เกิดเป็นกุศโลบายทางการเมืองโดยกล่าวกันว่า พระนางผู้ซึ่งเป็นธิดาของกษัตริย์รัฐละโว้เมืองใต้นั้น ไม่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเสกสมรสร่วมกับขุนหลวงวิลังคะผู้เป็นเจ้าแผ่นดินถิ่น พิงครัฐผู้ถูกมองว่าเป็นอารยชนคนมิลักขะแถบนี้ที่ยังไม่รู้จักระบบปฏิทินไว้นับวันเดือนปี ยิ่งไปกว่านั้น เกร็ดเก่าเล่าตำนานที่ว่านี้ ยังสื่อและแทรกความระหว่างบรรทัดให้สามารถตีความได้ถึงยุคสมัยในการแผ่กระจายเข้ามาของภูมิปัญญาความรู้เกี่ยวกับระบบการนับวันเดือนปีแบบจันทรคติจากอารยธรรมมอญ-ขะแมร์แห่งรัฐละโว้แห่งพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยาที่เคลื่อนเข้ามาสู่ดินแดนที่ราบลุ่มลำน้ำปิงแถบนี้ได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกันนั้น เทศกาลงานประเพณี “วันเพ็ญเดือนสิบสอง” ของคนล้านนานั้น ก็เป็นวาระโอกาสและพิธีกรรมอันปรากฏเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วซึ่ง เพ็ญเดือนสิบสองหรือสิบสองเป็งของคนล้านนานั้น ถือได้ว่าเป็นช่วงทองของพิธีกรรมในการทำบุญเพื่ออุทิศทางญาติโกโหติกาผู้ล่วงลับดับจิตไปในปรโลก ซึ่งแน่นอนว่า ปรโลกหรือโลกหลักความตายในจักรวาลวิทยาของคนล้านนาที่มีมาแต่เดิมนั้น ก็อาจมิได้เป็นไปในระนาบหรือแนบแน่นเป็นผืนแดนเดียวกันกับจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ (พระร่วง) แต่อย่างใด แต่ในเมื่อความเชื่อทางศาสนาพุทธแผ่ขยายเข้ามาในล้านนา “จักรวาลวิทยาแบบเดิมก็เลยถูกจับให้บวชขึ้นมาใหม่” ภายใต้ความเชื่อของโลกหลังความตายที่ว่า “สิบสองเป็งล้านนา” นั้นเป็นวันที่ยมบาลเปิดประตูยมโลกให้เหล่าสัตว์นรกขึ้นมา “รับของกิ๋นของตาน” ที่ลูกเต้าเหล่าหลานบริวารญาติมิตรอุทิศไปหาประเพณีดังกล่าวจึงมีความคล้ายคลึงกับ “สารทเดือนสิบหรือเปรตพลีของภาคกลางหรือบุญเดือนสิบของภาคใต้” ยิ่งไปว่านั้น ช่วงเวลาหลัง “สิบสองเป็น” เป็นต้นไป หลายวัดหลายวาทางล้านนาภาคเหนือก็ย่างก้าวเข้าสู่ประเพณีงานตานสลากภัตหรือตานก๋วยสลากอันเป็นที่รู้จักคนในหมู่คนล้านนาจนกระทั่งถึงช่วงเวลาวันเพ็ญออกพรรษานั่นเอง (ข้อเขียนนี้ ผู้เขียนเองก็กลับอดนึกไม่ได้หรือมีความรู้ไม่พอเหมือนกันที่ว่า เดือนยี่หรือเดือนที่สองของภาคกลางมันคือวันอะไรกันแน่)

แม่นางกาเผือก / ภาพ: สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทราบกันดีเป็นที่แน่ชัดว่า ทุกๆ วัฒนธรรมหรือประเพณี ก็ย่อมมีตัวละครหลักหรือตัวเอกของเรื่องราวที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและตอกย้ำให้เห็น “นาฎกรรม” ทางศาสนาและความเชื่อเพื่อรองรับวัฒนธรรมหรือประเพณีให้มีความหนักแน่นเป็นแก่นสานและธำรงการรับใช้ผู้คนและสังคม ตลอดจนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆยุคสมัย “วัตถุทางวัฒนธรรม” ที่เป็นรูปธรรม จึงเปรียบเสมือนเป็นเฉกเช่นสัญญะหรือภาพแทนในการทำหน้าที่สร้างความจำได้หมายรู้และเน้นย้ำความรับรู้ให้เกิดขึ้นกับวัฒนธรรมหรือประเพณีต่างๆ  (ผู้เขียนใคร่ขออนุญาติแสดงเล่นเป็นบทบาทนักมานุษยวิทยาชั้นนำแบบชั่วครู่ชั่วคราว)   ความยืดความยาวที่กล่าวมานี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่ว่า ตัวละครหลักหรือตัวเอกของประเพณีลอยกระทงของคนไทยในภาคกลางได้เน้นการเล่าเรื่องหรือเรื่องเล่าว่าด้วย “นางนพมาศ” ที่มีวัตถุทางวัฒนธรรมอย่าง “กระทง” อันเกิดขึ้นภายใต้บริบททางสังคมวัฒนธรรมซึ่งเกี่ยวโยงผูกพันกับ “ลำแคว – แม่น้ำ – ลำคลอง” ที่มีน้ำนองริมสองฝั่งตลิ่งเป็นฉากหลังของนาฏกรรมทางสังคมวัฒนธรรมที่นำเสนอ  ขณะเดียวกัน ตัวละครหลักหรือตัวเอกของประเพณียี่เป็งของคนล้านนาในภาคเหนือนั้นกลับเน้นการเล่าเรื่องหรือเรื่องเล่าว่า “แม่นางกาเผือก” ที่มีวัตถุทางวัฒนธรรมอย่าง “ฝ้ายตี๋นก๋า” อันเกิดขึ้นภายใต้บริบททางสังคมวัฒนธรรมซึ่งเกี่ยวโยงกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่อ้างอิงกับ “นิทานพระเจ้าห้าพระองค์” ที่มีการตั้งธัมม์หลวงหรือการเทศน์มหาชาติเป็นฉากหลังของนาฎกรรมทางศาสนา ซึ่งแน่นอนว่า คนล้านนารุ่นใหม่หรือใครต่อใครหลายคนที่พออ่านถึงตรงนี้ ก็คงยิ่งงงลงไปอีกว่า ใครคือ “แม่นางกาเผือก” และ อะไรคือ “ฝ้ายตีนกา” คำถามที่ว่านี้ อาจเสาะหาได้ไม่ยากจากผู้เฒ่าผู้แก่ Google หรือแม้แต่เพลงซอพื้นเมืองล้านนาเรื่องนี้ (ที่อาจทำให้งงไปกันใหญ่) เอาเป็นว่าสาระสำคัญของนิทานพระเจ้าห้าพระองค์นั้น เป็นการเล่าเรื่องหรือเรื่องเล่าประวัติของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ในภัทรกัปปัจจุบัน โดยแบ่งเป็น พระอดีตพุทธเจ้า 3 พระองค์ คือ พระกุกกุสันธะ พระโกนาคม และพระกัสสปะ พระปัจจุบันพุทธเจ้า 1 พระองค์ คือ พระโคตมะ รวมทั้งพระอนาคตพุทธเจ้าอีก 1 พระองค์ คือ พระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่ง “แม่นางกาเผือก” เป็นมารดาของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์นี้ 

ซอประวัติพระเจ้า 5 พระองค์  ประพันธ์บทซอโดย พ่อครูศรีทวน สอนน้อย ขับซอโดย สมจิตร ป่าบง และ ทองสร้อย หนองเก้าห้อง https://youtu.be/43htL1hO0xg?si=1uePmNxaziWfyjOV

เมื่อระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่วางอยู่บนฐานวัฒนธรรมไทยแบบราชการภาคกลาง ได้แผ่ขยายเข้ามาสู่ท้องถิ่นแผ่นดินล้านนาในช่วงเวลาร้อยกว่าปีที่ผ่านมา จึงส่งผลทำให้ทั้งหลักสูตรและแบบเรียนนี้ มีปฏิบัติการขึ้นมาในสถานศึกษาและสามารถนำเสนอภาพแทนเพื่อก่อให้เกิดความรับรู้ต่อ “ลอยกระทง”ของคนไทยในภาคกลางผ่านทั้งบทเพลงที่ว่า “…วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำจะนองเต็มตลิ่ง…” รวมถึงปกแบบเรียนและเนื้อหาสาระทั้งในวิชาภาษาไทย วิชาสังคมศึกษาและหมวดวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต อันถือได้ว่าเป็นการสร้างชุดประสบการณ์และความรับรู้ร่วมกันให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยไม่ว่าจะอยู่บนดอยของภาคเหนือ ริมเลของภาคใต้หรือแล้งแห้งขอดอย่างในบางพื้นที่ของอีสานก็ล้วนแล้วแต่ “น้ำนองริมสองตลิ่ง ในช่วงเดือนสิบสอง” ได้เหมือนกันทั้งนั้น นี่

หากพิจารณาข้อเท็จจริงจากประเด็นความรู้ด้านภูมิศาสตร์ของประเทศไทย เราก็อาจสามารถสร้างคำอธิบายความใหม่ให้ผู้เรียนได้ด้วยซ้ำไปว่า เหตุการณ์ “น้ำนองสองฝั่งตลิ่ง” ที่เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่จังหวัดทางภาคกลางนั้น มันมีสาเหตุที่เกิดขึ้นมาจากปริมาณน้ำ หรือเรียกกันใหม่ในช่วงหลังๆ อย่างอิหลักอิเหลือว่า “มวลน้ำ” ที่ไหลหลากมาจากภาคเหนือของล้านนาได้พัดพาบ่าลงไปสู่ที่ราบลุ่มลำน้ำเจ้าพระยาอันเป็นพื้นที่ของภาคกลาง  โดยใช้ระยะเวลาเดินทางกะประมาณสองถึงสามเดือนนับจากช่วงกลางฤดูฝนจนถึงต้นฤดูหนาวนั่นเอง ช่วงเวลาที่ว่านี้ หลากหลายพื้นที่ทั่วอาณาบริเวณของภาคกลางจึงเป็น “ฤดูน้ำหลาก” ที่ท้องทุ่ง คุ้งน้ำ ลำคลอง  เจิ่งนองด้วยมวลน้ำเต็มสองฝั่งตลิ่งให้เราทั้งหลายชายหญิงได้สนุกกันจริงวันลอยกระทงนั่นเอง ขณะเดียวกันนั้น ในช่วงวันเวลาของประเพณีเดียวกันนี้ ณ ที่ราบลุ่มภาคกลางปริมาณน้ำอันมีปริมาณมากมายมหาศาลเหล่านี้ ก็คงไม่ได้เจิ่งนองอยู่สองฝั่งตลิ่งแถวท่าน้ำวังสิงห์คำ ท่าน้ำวัดเกต ริมน้ำแม่วังของเมืองลำปาง เป็นแน่ ยกเว้นเสียแต่ มีความผันผวนของภูมิอากาศที่ช่วงหลังมานี้ มักมีฝนหล่นพรำในช่วงฤดูหนาวอยู่เสมอ

ความเข้าใจที่ผู้เขียนมีต่อบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในล้านนานั้น คงมิได้มีลักษณะที่ผูกพัน แนบแน่นหรือเป็นปึกแผ่นกับสายน้ำหรือแม่น้ำแต่อย่างใดมากนัก โดยหากมีความเกี่ยวดองหนองยุ่งกับ “น้ำ” บ้าง ก็คงจะเป็นไปในลักษณะของต้นน้ำ ขุนน้ำ หรือเหมืองฝายในท่วงทำนองนั้น ยิ่งไปกว่านั้น ภาพตัวแทนที่มีต่อ “น้ำ” ในฐานะสิ่งเหนือธรรมชาติของสังคมวัฒนธรรมล้านนาในความรับรู้ของผู้คนทั่วไปนั้น ก็มักปรากฎผ่านรูปแบบผีขุนน้ำ ผีเงือกน้ำ หรือผีล้องต๊องฝาย มากกว่ารูปแบบของ “เทพเจ้าอินเดียที่มีลักษณะเป็นสุภาพสตรี” อย่างพระแม่คงคา  แง่มุมทางคติชนวิทยาที่สร้างความหมายและให้คุณค่าน้ำผ่านการเล่าเรื่องหรือเรื่องเล่าว่าด้วยพระแม่คงคาจึงน่าจะเป็นการ “มาใหม่” ในแง่มุมของคติความเชื่อมากกว่าเพราะล้านนาน่าจะไม่ได้รู้จักมักคุ้นกับพระแม่คงคามากถึงเพียงนั้น ทว่าหากพิจารณาเพื่อหาสาแหรกในการถกเถียงเพิ่มเติมว่า แล้วบางพื้นที่ของจังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูนและจังหวัดตากซึ่งมีประเพณีที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับแม่น้ำอย่างการ “ล่องสะเปา” หรือไหล “กระทงสาย” ละประเด็นนี้ ก็คงต้องทำให้เราหันกลับมาย้อนคิดและพิจารณากันต่อไปในรายละเอียดของประเพณีนี้เพิ่มเติมอีกว่าถูกขับเน้นผ่านเล่าเรื่องหรือเรื่องเล่าว่าด้วยการบูชาพระแม่คงคา การบูชารอยพระพุทธบาทในท้องสะดือมหาสมุทรหรือว่าเป็นการการอุทิศข้าวของในผู้ที่ตายลับดับชีวิตมากกว่ากัน

ภาพ: องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง

กล่าวไปอย่างให้ถึง (และอาจจะไม่ถึง) ซึ่งแก่นสารของข้อเขียนนี้ ที่ผู้เขียนเปิดเป็นประเด็นสาธารณะไว้นั้น มันเป็นเพียงแค่จุดเริ่มของหนทางการสร้างความเข้าใจใหม่เพื่อให้เกิดคำถามในทางวิชาการเล็กๆ น้อยๆ ภายใต้ประเด็นสำคัญในทางวิชาการใหญ่ๆ ที่ว่า ปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมแบบในส่งผลให้ความสำคัญที่มีต่อ “ยี่เป็ง” ของคนล้านนาในภาคเหนือเกิดการพร่าเลือนทางวัฒนธรรม การถูกทำให้มีการแทนที่ทางวัฒนธรรมอย่าง “เพ็ญเดือนสิบสอง” หรือทั้งสองเทศกาลงานประเพณีนี้ สามารถมีที่ทางอย่างเท่าเทียมบนพื้นที่สาธารณะและนโยบายการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น เราอาจเคยได้ยินถึงเวทีการประกวด “หนูน้อยนพมาศ” “นางนพมาศ” “หรือธิดากระทง” แต่คงจะดีกว่านี้ หากมีการเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ของความหมาย (Relocate of meaning) เพื่อคลี่คลายการจำกัดความศักดิ์สิทธิ์บางประการให้เกิดเวทีประกวด “ธิดากาเผือก”บ้าง ก็คงแปลกหูแปลกตาหรือเป็นที่น่ายินดีปรีดากับวัฒนธรรมล้านนาอยู่ไม่มากก็น้อย มากไปกว่านั้น ข้อเขียนนี้อาจชี้ให้เห็นข้อสรุปสำคัญอันชัดเจนว่า “ลอยกระทง” คือ วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลางที่ถูกสถาปนาเป็นวัฒนธรรมแห่งชาติมีอำนาจนำ (Hegemony) ที่เข้ามาแทนที่ ยื้อแย่งและปรับแต่งความหมายวัฒนธรรมท้องถิ่น ในขณะที่ “ยี่เป็ง” และ “ลอยกระทง” ก็เป็นเทศกาลงานประเพณีที่แตกต่างด้วยวิธีคิดทางคติชนที่อยู่คนละบริบททางสังคมวัฒนธรรมซึ่ง “บังเอิญ” มาตรงกับวันเดียวกันตามการนับระบบวันเดือนปีตามปฏิทินจันทรคติ

นวลคำ ขะยอมแดง นั่งเทียนเขียนบอกความไว้โดยมิได้ใช้ระบบการอ้างอิงใด ๆ ในทางวิชาการ

ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง