มีนาคม 19, 2024

    โรงงานเย็บผ้าถอดสิทธิแรงงานข้ามชาติ บันทึกกรณีตัวอย่างของการละเมิดแรงงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ในพื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก

    Share

    เรื่อง: sips tea quietly

    ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2563 ลูกจ้างโรงงานเย็บผ้าส่งแบรนด์ดังในต่างประเทศจำนวน 136 คน ถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหันในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยไร้ซึ่งการเยียวยา ทำให้ส่งผลกระทบความเป็นอยู่ของลูกจ้างในสถานการณ์นี้อย่างแสนสาหัส นับเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้สิทธิเรียกร้องสิทธิแรงงานผ่านกระบวนการตามกฎหมาย  เมื่อลูกจ้างได้ร่วมกันบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นขณะทำงานจนกระทั่งถูกเลิกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงาน[1] ให้มีการสอบสวนโรงงานดังกล่าว และออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้าง รวมไปถึงค่าตอบแทนการทำงานที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายย้อนหลัง

    ลูกจ้างทั้ง 136 คนเป็นแรงงานสัญชาติเมียนมาที่เดินทางเข้ามาอาศัยและทำงานในพื้นที่ชายแดนแม่สอด ทำหน้าที่ตัดเย็บเสื้อผ้าตามแบบที่ผู้จัดซื้อหรือแบรนด์กำหนด เพื่อนำออกสู่ตลาดและจัดจำหน่ายให้ถึงมือผู้บริโภคต่อไป ลูกจ้างเหล่านี้จึงนับว่าเป็นกำลังสำคัญในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นกิจกรรมทางธุรกิจลำดับต้นของห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจเสื้อผ้าและสิ่งทอ 

    จากคำบอกเล่าของลูกจ้างถึงสภาพการทำงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า พบว่ามีการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน และละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ โดยอาศัยความเปราะบางของสถานะทางกฎหมายและเศรษฐกิจของลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ มีการกดดันให้ลูกจ้างปิดบังสภาพการทำงานและค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด  ซึ่งแท้จริงแล้วลูกจ้างได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยเพียง 150 บาทต่อวัน สำหรับการทำงานตั้งแต่เวลา 08.00 – 23.00 น. (พัก 12.00 – 13.00 น. และ 17.00 – 18.00 น.) ทุกวันโดยไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดประจำปี บางครั้งลูกจ้างต้องทำงานตัดเย็บเสื้อผ้าติดต่อกันจนถึงเช้าอีกวัน

    ด้วยค่าตอบแทนการทำงานที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้รับ ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีวิต รวมไปถึงค่าใช้จ่ายจำเป็นในการทำเอกสารประจำตัวเพื่ออาศัยและทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย  มีค่าใช้จ่ายสูงและขั้นตอนที่ยุ่งยาก ทำให้เกิดสภาพจำยอมด้วยสภาพเศรษฐกิจและนโยบายการบริการจัดการการทำงานของรัฐ เนื่องจากเอกสารประจำตัวของลูกจ้างชาวเมียนมาซึ่งประกอบด้วย หนังสือเดินทาง CI[2] ประกอบบัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย สำหรับแรงงานตามประกาศคณะรัฐมนตรี[3] หรือหนังสือผ่านแดน สำหรับกลุ่มจ้างงานชายแดน มาตรา 64[4] และใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย เป็นสิ่งยืนยันว่าลูกจ้างสามารถอาศัยและทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตรวจจับและดำเนินคดีเอาผิด หากลูกจ้างมีเอกสารประจำตัวและสามารถนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ แต่อย่างไรก็ดี ใบอนุญาตทำงานซึ่งเป็นเอกสารประจำตัวของลูกจ้างกลับถูกเก็บโดยโรงงานเสียเอง  ยิ่งไปกว่านั้น สมุดบัญชีธนาคารและบัตรเอทีเอ็มของลูกจ้าง ยังถูก

    [1] พนักงานตรวจแรงงาน คือ เจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

    [2] Certificate of Identity คือ เอกสารที่แสดงว่าคนต่างด้าวผู้นั้นได้รับการรับรองสัญชาติพม่า มีสิทธิอยู่และขออนุญาตทำงานในไทยได้

    [3] แรงงานตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี

    [4] แรงงานสัญชาติเมียนมา และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานบริเวณชายแดนในลักษณะไป – กลับ หรือตามฤดูกาลในพื้นที่ความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างประเทศทั้งสอง (มาตรา 64)

    เก็บและนำไปใช้ทำธุรกรรมอย่างต่อเนื่องทุกเดือน โดยตรวจพบจากรายการเดินบัญชีธนาคารของลูกจ้างภายหลังจากได้รับสมุดบัญชีธนาคารและบัตรเอทีเอ็มคืนหลังจากถูกเลิกจ้าง

    โรงงานเย็บผ้าแห่งนี้มีลูกจ้างกว่า 200 คนซึ่งนับว่าเป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีการจดทะเบียนบริษัทและเป็นคู่สัญญาตัดเย็บเสื้อผ้าส่งบริษัทแบรนด์ชั้นนำในต่างประเทศ ดังนั้น บริษัทที่ตัดเย็บเสื้อผ้าจะต้องได้รับการควบคุมมาตรฐานสินค้าและกระบวนการผลิตด้วยข้อกำหนดจรรยาบรรณทางการค้า (Codes of conduct) โดยผู้ตรวจประเมินเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท (Social audit) ที่ทำสัญญากับบริษัท เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้ซื้อหรือผู้บริโภคว่าไม่มีการละเมิดสิทธิแรงงานในกระบวนการผลิตสินค้า อย่างไรก็ตาม รายงานการตรวจประเมินกลับไม่สะท้อนสภาพของการทำงานที่แท้จริง ขณะที่เป็นลูกจ้างของโรงงานเย็บผ้าแห่งนี้ลูกจ้างถูกกดดันไม่ให้รายงานความเป็นจริงที่เกิดขึ้น โดยโรงงานอ้างว่าการตรวจประเมินจะไม่เป็นไปตามข้อกำหนดหรือมาตรฐาน แต่ในทางกลับกัน ลูกจ้างต้องรายงานว่าตนได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ รวมไปถึงได้รับสิทธิประโยชน์ด้านแรงงานตามกฎหมายครบถ้วนต่อผู้ตรวจประเมินที่เข้าตรวจโรงงานเป็นประจำทุกปี

    กระทั่งปี 2563 ตัวแทนแรงงานตัดสินใจรายงานสภาพการทำงานที่แท้จริงต่อผู้ตรวจประเมิน ทำให้เกิดเหตุการณ์ตามล่าผู้รายงานความจริงต่อผู้ตรวจประเมินโดยฝ่ายโรงงาน และไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไขสภาพการจ้างให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานตามกฎหมายกำหนดแต่อย่างใด แต่ลูกจ้างต้องถูกเลิกจ้างโดยไม่มีการบอกกล่าวและจ่ายค่าชดเชย

    การที่พนักงานโรงงานเย็บผ้าถูกปลดออกจากงานร้อยกว่าคนเพราะแค่เรียกร้องสิทธิที่ตนสมควรจะได้รับ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการขูดรีดแรงงานและการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษที่จะถูกแสวงประโยชน์เนื่องจากสถานะทางกฎหมายและเศรษฐกิจ กระบวนการทางกฎหมายจึงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับแรงงานไม่ว่าจะเป็นการช่วยเรียกร้องสิทธิแรงงาน และเรียกร้องค่าชดเชยที่เป็นธรรมสำหรับการทำงานที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม บริษัทตัดเย็บเสื้อผ้าจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อสภาพการทำงานในห่วงโซ่อุปทานของตน และตรวจสอบให้แน่ใจว่าหลักปฏิบัติของพวกเขาไม่ใช่แค่คำสัญญาที่ว่างเปล่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอต้องทำงานร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางในการผลิตที่ยุติธรรมและมีจริยธรรมที่เคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีของคนงานทุกคน

    Related

    7 ปี ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ยุติธรรมไม่คืบหน้า

    ภาพ: มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมจัดงานเสวนา...

    ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ แจงงบแก้ฝุ่นยังไม่ออก ชี้ “ประกาศภัยพิบัติ” ไม่ใช่ทางออกตอนนี้

    เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานการชี้แจงของ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่...

    ครบ 7 ปี ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ถูกทหารวิสามัญฆาตกรรม ความยุติธรรมยังไม่คืบ

    เช้าวันที่ 17 มี.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้ทำการตรวจค้นรถยนต์ของ...