เครือข่ายคนไร้บ้าน 7 จังหวัด ออกแถลงหลังกรณี ‘ป้าบัวผัน’ ย้ำยุติมายาคติแง่ลบ-แก้ปัญหาเหยื่อซ้ำซาก

เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา เครือข่ายคนไร้บ้าน 7 จังหวัด ออกแถลงการณ์ประเด็นความเป็น “เหยื่อซ้ำซาก” ของคนไร้บ้าน รวมถึงเรียกร้องให้มีการยุติมายาคติเชิงลบต่อผู้คนไร้บ้านจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง หลังจากเกิดกรณีการใช้ความรุนแรงจนทำให้ บัวผัน ตันสุ หรือ “ป้ากบ” ต้องเสียชีวิต และเกือบทำให้ ปัญญา คงแสนคำ หรือ “ลุงเปี๊ยก” ผู้เป็นสามีกลายเป็นผู้ต้องหาฆาตกรรมภรรยาของตนเอง กลายเป็นคดีใหญ่ในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เมื่อไม่นานมานี้

ป้ากบ และ ลุงเปี๊ยก ต่างเป็นกลุ่มคนที่เรียกว่า “คนเร่ร่อนไร้บ้าน” ซึ่งภายในแถลงการณ์ชี้ว่าเป็นภาพสะท้อนและขยายปัญหาที่สั่งสมมายาวนาน โดยเฉพาะมุมมองเหมารวมของคนในสังคมที่มีต่อผู้คนไร้บ้านและผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมักมองคนกลุ่มนี้ว่า “เป็นตัวอันตราย ไม่ใช่คนปกติ” จนทำให้เกิดการอนุญาตให้มีการใช้ความรุนแรงต่อคนกลุ่มดังกล่าวอย่างเป็นปรกติ

แถลงการณ์ของทางเครือข่ายฯ ยังได้เผยผลจากการสำรวจ “ข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง” เมื่อปี พ.ศ.2559 โดยพบว่าคนไร้บ้านร้อยละ 32.5 เคยตกเป็นเหยื่อการละเมิดและความรุนแรงจากคนในสังคม และร้อยละ 41.4 เคยขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มคนไร้บ้านด้วยกัน ดังนั้นแล้วมายาคติที่เชื่อว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นคนอันตราย เสี่ยงต่ออาชญากรรมจึงไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่คนกลุ่มนี้คือเหยื่อของความรุนแรงที่ยากต่อการขอความช่วยเหลือและสนับสนุนจากสังคมและรัฐ

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายฯ ก็ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาในประเด็นดังกล่าวที่ต้นทางทั้งหมด 4 ข้อ ประกอบไปด้วย

1.ขอให้สื่อและสังคม ยุติการผลิตซ้ำมายาคติมองว่าคนไร้บ้านและกลุ่มคนเปราะบางในสังคมเชิงลบ เนื่องจากจะทำให้เกิดการเลือกปฎิบัติ ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่งผลให้เกิดกระบวนการอนุญาตให้เกิดความรุนแรงได้จนเป็นเรื่องปรกติ

2.รัฐต้องมีกลไกที่จะดูแลกลุ่มคนไร้บ้านและกลุ่มคนเปราะบางในสังคม ให้สามารถเข้าถึงบริการสิทธิทางสุขภาพ สิทธิทางสวัสดิการ และสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ อย่างเท่าเทียมและรวดเร็ว

3.รัฐต้องเร่งรัดดำเนินการกรณีของป้าบัวผัน ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย บนพื้นฐานหลักการสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียม

4.จากกรณีที่ป้าบัวผันที่เป็นคนเร่ร่อนไร้บ้านที่มีอาการป่วยจิตเวช รัฐต้องมีระบบในการรักษาดูแล และศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชที่เป็นกลุ่มคนเร่ร่อนไร้บ้านอย่างจริงจัง


พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง