เครือข่ายชาติพันธุ์‘ ประกาศ Kick off ร่างกฎหมายชาติพันธุ์ สนับสนุนสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 18-20 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับ จังหวัดแม่ฮ่องสอน, องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม, สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย, มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ, มูลนิธิชุมชนไทย และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย รวมทั้งประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 60 กลุ่มในประเทศไทย จัดกิจกรรม“ขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. เดินหน้ากฎหมายชาติพันธุ์: โอกาสบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ณ บ้านผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

กิจกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสื่อสารให้สังคมมีความเข้าใจหลักการ สาระสำคัญ และความจำเป็นของการมีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งเป็นหมุดหมายเริ่มต้นที่ภาครัฐและภาคประชาสังคมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมี โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), เชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ขึ้นกล่าวสนับสนุนในประเด็นดังกล่าว



“กิจกรรม KICK OFF ในวันนี้ อยากให้ทุกคนแสดงความเห็นในสิ่งที่ต้องการได้รับการคุ้มครองและการส่งเสริมอย่างเต็มที่ เช่น อาชีพ สิทธิต่าง ๆ ที่ควรจะได้รับ ซึ่งจะมีกลไกสภาชนเผ่าทุกชนเผ่าเป็นคณะกรรมการ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานสมัชชา เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในฐานนะคนไทยอย่างเท่าเทียม รวมถึงสิทธิทางการเมือง สิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับการคุ้มครองและการส่งเสริม” เสริมศักดิ์กล่าว

จากนั้นในเวลา 14.00 น. ได้มีการจัดวงเสวนาวิชาการ “กฎหมายชาติพันธุ์: ตัวตนและศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์” โดยมีศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม, ศูนย์พัฒนาราษฎรพื้นที่สูง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และภาคเอกชนที่ทำงานด้านชาติพันธุ์ ร่วมวงเสวนา โดยมีนาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) เป็นผู้ดำเนินรายการ


ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้แทนศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หรือศมส. กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์ เกิดจากแนวทางการดำเนินการที่ผ่านมาจะเป็นแนวนโยบาย หลักการ ในการดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ และยกระดับให้เป็นกฎหมายด้วยความเชื่อว่า คนทุกคนคือ ชาติพันธุ์ และความเป็นชาติพันธุ์ คือการสำนึกรู้ว่าเราคือใคร ดังนั้น เรื่องชาติพันธุ์จึงเป็นเรื่องของทุกคนในสังคม เพื่อให้เกิดการยอมรับของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยระหว่างกระบวนการออกกฎหมายนี้ กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองควรเสริมสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ ส่วนทางศมส.เห็นว่ายังคงมีชาติพันธุ์อีกหลายพื้นที่ที่ยังไม่ทราบสถานการณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้น ระหว่างการรอกระบวนการออกกฎหมาย ทางศมส.จะเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้แก่ชาติพันธุ์ให้ครอบคลุม เมื่อกฎหมายนี้ประกาศใช้จะได้สามารถดำเนินการในทางปฏิบัติได้โดยทันที

“กลยุทธ์สำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้คือ ‘ความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม’ โดยกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองได้แสดงศักยภาพให้สังคมเห็นว่า เรามีศักยภาพในการจัดการทรัพยากร การอยู่กับป่าด้วยวิถีชีวิตปกติวิถีของชาติพันธุ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนสำคัญทางวัฒนธรรมและทรัพยากรมนุษย์ที่ช่วยสรรค์สร้างประเทศนี้ได้เช่นเดียวกับประชากรไทยทุกคน โดยระหว่างการผลักดันและขับเคลื่อนกฎหมายนี้ มีการทำงานร่วมกันของภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาควิชาการคอยหนุนเสริม และที่สำคัญหลังจากนี้ คือ การติดตามความคืบหน้าของกฎหมาย เพื่อไม่ให้ยืดเยื้อและล่าช้าเกินกว่าแผนที่ควรจะเป็น และเพื่อให้กฎหมายที่ออกมาตรงกับอุดมการณ์และเจตนารมณ์ของการออกกฎหมาย” อภินันท์กล่าว

ศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกลไกการรวบรวมความเห็นกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในการเสนอกฎหมาย ที่สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยขับเคลื่อนเรื่องนี้นานกว่า 10 ปี เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจในประเด็นชาติพันธุ์ และการรวมกลุ่มกันเป็นสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นกลไกในการร่วมแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง

ไมตรี จงไกรจักร์ มูลนิธิชุมชนไท ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) กล่าวถึงขับเคลื่อนงานด้านกฎหมายชาติพันธุ์ ในเครือข่ายภาคประชาชน ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 จากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เดิมในพื้นที่ถูกมองว่าเป็นคนไทยกลุ่มใหม่ และคนเร่ร่อนตามแถบทะเล ทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกที่ดิน ถูกไล่ต้อน จนนำมาสู่การฟื้นฟูประวัติศาสตร์และนำเสนอข้อมูลต่อรัฐบาล ซึ่งการผลักดันเรื่องนี้มีการดำเนินการมาโดยตลอดในภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ในช่วงปี 2553 ได้ร่วมงานกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อยกร่างเรื่องมติคณะรัฐมนตรี และนำเสนอจนเกิดมติ ครม. 2 มิถุนายน 2553 และได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายกะเหรี่ยงยกระดับการทำงานวางรูปแบบการทำงานผลักให้เกิดมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ตามมา

“โดยปกติระยะเวลในการออกกฎหมายเร็วที่สุด คือ 2 ปี แต่หากมีประเด็นใหม่ ๆ มาแทรก การออกกฎหมายก็จะล่าช้าไปอีก เพราะฉะนั้น ทุกครั้งทึ่มีกระบวนการในสภา การเคลื่อนไหวและแสดงตัวตน แสดงถึงการติดตามกระบวนการ ก็จะเป็นหนึ่งในตัวเร่งสำคัญที่จะทำให้กระบวนการออกกฎหมายไม่ถูกทำใหัยืดเยื้อ และระหว่างที่รอกฎหมายออก เราต้องสื่อสารสิ่งที่เราทำอยู่ และดำรงอยู่ ที่มันไม่ได้ต้องการได้รับความคุ้มครองที่พิเศษไปกว่าคนอื่นแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการการรับรองสิ่งที่เราเป็นอยู่เท่านั้นเอง” ไมตรีกล่าว

นอกจากนั้นยังมีการแสดงดนตรีจาก สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ และ บัญชา มุแฮ ชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ก่อนจบกิจกรรมของวันที่ 18 มกราคม และในวันที่ 19-20 มกราคม ก็ได้มีกิจกรรมประชุมเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อทบทวนสถานการณ์กลุ่มชาติพันธุ์ ถอดบทเรียนการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ การจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์และกำหนดแนวทางการพัฒนาฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ในทางวิชาการและการขับเคลื่อนในระดับนโยบายอีกด้วย


พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง