เมษายน 20, 2024

    เปิดรายงานการศึกษาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มน้ำอิง จ.พะเยา และจ.เชียงราย

    Share

    เต่าปูลูหรือเต่าปากนกแก้ว Siamese Big-headed Turtle เป็นเต่าน้ำจืดชนิดหนึ่ง เต่าปูลูที่พบในลุ่มน้ำอิงตอนปลายเป็นชนิดเต่าปูลูสายพันธุ์เดียวกันกับที่พบอยู่ในเขตพื้นที่ทางตอนเหนือในประเทศไทย เต่าปูลูเป็นสัตว์ที่อยู่อาศัยเฉพาะในพื้นที่ตอนใต้ของจีน และในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น ได้แก่ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม เต่าปูลูมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Platysternon megacephalum จําแนกได้เป็นสามชนิดย่อย คือ ชนิดแรก P. m. megalorcephalum หรือเต่าปูลูเหนือหรือเต่าปูลูจีน ชนิดที่สอง P. m. peguense พบในไทยและในพม่า และชนิดที่สาม P. m. shiui พบในเวียดนามเหนือ กัมพูชา และลาว

    ในประเทศไทยพบเต่าปูลูเพียงชนิดเดียวคือ P. m. peguense นี้เท่านั้น ในทางกฎหมายจัดให้เต่าปูลูเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ในปีพ.ศ. 2546 IUCN (2011) จัดสถานภาพการอนุรักษ์เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ (EN – Endangered) การคุ้มครองตามอนุสัญญา CITES จัดอยู่ในบัญชี 2 (Appendix ll) เต่าปูลูมีรูปร่างแตกต่างไปจากเต่าชนิดอื่น ๆ คือมีหัวโต ปากงุ้มแหลมคล้ายปากนกแก้ว เล็บมีความแหลมคม มีหางยาว และไม่สามารถหดหัวเข้ากระดองได้ เป็นเต่าที่พบในลําธารน้ำตกบนภูเขาสูง ในประเทศไทยพบอยู่ในแถบภาคเหนือของประเทศไทย และพบในเกือบทุกลําห้วยสาขาในลุ่มน้ำอิงตอนปลายในเขตจังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงราย

    โดยสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้จัดทำรายงานการศึกษาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มน้ำอิง จังหวัดพะเยาและจังหวัดเชียงราย ภายใต้โครงการ : การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิงและแม่น้ำกกในภาคเหนือของประเทศไทย (Conservation and Restoration of Wetland Ecosystems in Ing and Kok River Basins in Northern Thailand) สนับสนุนโดย Synchronicity Earth (SE)

    ชุมชนต่าง ๆ บริเวณลุ่มแม่น้ำอิง เริ่มพบเต่าปูลูบริเวณป่าต้นน้ำที่มีน้ำตก มีหินผา แต่การตามหาตัวเต่าปูลูก็เป็นเรื่องที่ยากสำหรับคนในชุมชน เนื่องจากเป็นสัตว์หายาก อาศัยอยู่ในระบบนิเวศน์ที่เป็นลําธารอยู่ป่าต้นน้ำที่มีความลึกห่างไกลชุมชน ประกอบกับพื้นที่อยู่อาศัยมักเป็นพื้นที่วัง ที่มีโขดหิน ซอกหินผา และเต่าปูลูมักอาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ตามระบบนิเวศน์อย่างกลมกลืนกับหินในลําห้วยมีการซ่อนตัว พรางตัวอยู่ในซอกหิน โคลนดิน ถ้ำใต้รากไม้หรือหินผา ใต้ใบไม้ และชุมชนไม่มีองค์ความรู้เฉพาะในการจับเต่าปูลู แต่จะมีคนที่มีองค์ความรู้เฉพาะ แต่เป็นคนภายนอกชุมชน ที่เรียกว่า กลุ่มคนบนดอย ที่อาศัยอยู่บ้านพื้นที่ป่าต้นน้ำ มีองค์ความรู้เฉพาะกลุ่มโดยการส่องหาตอนกลางคืน ใช้ตะขอเหล็กขูดตามร่องห้วยในช่วงฤดูน้ำหลาก บางส่วนออกล่าส่องไฟหาตอนกลางคืนในฤดูแล้ง

    และด้วยความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งแต่พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน ที่เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจด้านสังคม เริ่มปลูกพืชเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างด้านต่าง ๆ เรื่อยมา เกิดการบุกเบิกพื้นที่การเกษตรไปยังป่าต้นนําในพื้นที่ลุ่มน้ำอิง ประกอบกับการใช้สารเคมีเพื่อปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เกิดภาวะภัยแล้ง และภัยคุกคามจากมนุษย์อีกมากมายที่ทําให้จํานวนเต่าปูลูลดลง และมีแนวโน้มจะสูญพันธุ์เต็มที

    สาเหตุที่ทำให้เต่าปูลูใกล้สูญพันธุ์ ประการแรก คือการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์จากการทําพื้นที่การเกษตร การขยายตัวของพื้นที่เพราะปลูกพืชเศรษฐกิจที่ขยายตัวไปยังป่าต้นน้ำซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเต่าปูลู ส่งผลต่อเต่าปูลูทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือการบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัยของเต่าปูลู สารเคมีที่ลงไปสู่แหล่งน้ำ ทางอ้อมคือสารเคมีจากการเกษตรที่ไหลลงสู่แม่น้ำทําให้พันธุ์สัตว์น้ำลดลงทําให้แหล่งอาหารของเต่าปูลูลดลง รวมถึงเกิดภาวะน้ำแห้งขอดทําให้สภาพนิเวศน์และความอุดมสมบูรณ์พื้นที่ลดลง ประการที่สอง ไฟป่า เป็นอีกภัยคุกคามที่สําคัญของเต่าปูลู เนื่องจากในฤดูแล้งป่าต้นน้ำมีเศษใบไม้ที่ทับถมเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ส่วนใหญ่ไฟป่ามีสาเหตุมาจากการจุดไฟเผาของคน เช่นการเผาในพื้นที่การเกษตรแล้วลุกลามไปยังป่า การจุดเพื่อให้ป่าโล่งเพื่อที่จะได้ง่ายในการหาของป่าหรือล่าสัตว์ ไฟป่าส่งผลโดยตรงต่อเต่าปูลู เนื่องจากเต่าปูลูเคลื่อนไหวที่ช้า และไม่สามารถหดหัวเข้าในกระดองได้ นอกจากส่งผลต่อเต่าโดยตรง ยังส่งผลต่อสภาพผืนป่า ป่าต้นน้ำหรือป่าริมฝั่งห้วยหากมีการเกิดไฟป่าทําให้ป่าเสียหาย ไม่มีพืชขึ้นปกคลุมผิวดินริมฝั่งห้วยทําให้ความชื้นลดลงและทําให้เกิดปัญหาน้ำแห้ง ประการที่สาม เกิดจากการออกล่าของคนบนดอยทำให้เกิดการใกล้สูญพันธุ์ของเต่าปูลู เพราะเต่าปูลูเป็นอาหารจากแหล่งน้ำที่สําคัญนอกจากหาปลา ปู หอย และผักริมน้ำในลําห้วย และประการสุดท้าย คือความเชื่อเกี่ยวกับเต่าปูลู เนื่องจากเต่าปูลูเป็นสัตว์หายาก จึงเป็นความเชื่อเฉพาะบุคคลที่ว่า เต่าปูลูเป็นยาบำรุงร่างกาย เป็นยาบํารุงสมรรถภาพทางเพศ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่เชื่อว่าการได้กินเลือดเต่าปูลูจะทําให้ร่างกายแข็งแรง วิธีการทําเป็นยาบํารุงมีหลายวิธี ได้แก่ บางส่วนนําเต่าปูลูทั้งตัวดองเหล้า แล้วดื่มกินเหล้าที่ดองเต่าปูลูทั้งตัวเป็นยาบํารุงแก้กระสัย บางคนนําเลือดจากโคนหางเต่าปูลูโดยตัดหางให้เลือดออกแล้วนําไปใส่ในเหล้าแล้วดื่มเป็นยาบํารุงร่างกาย บางคนนําเต่าปูลูมาทําแกง เนื้อเต่าปูลูมีสารอาหารที่ทําให้ร่างกายแข็งแรง และมีการล่าเต่าปูลูเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน เพื่อขายเป็นยาบํารุงกําลัง โดยมีทีมออกล่าจับเต่าปูลูในพื้นที่หรือรับซื้อเต่าปูลูในราคาที่สูง เต่าปูลูตัวขนาดเล็กรวมกันน้ำหนัก 1 กิโลกรัมราคา 3,000 บาทถึง 3,500 บาท ส่วนเต่าปูลูตัวใหญ่ที่มีขนาดน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 5,000 ถึง 5,500 บาท

    ชุมชนต่าง ๆ บริเวณลุ่มแม่น้ำอิงเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของเต่าปูลู เพราะเต่าปูลูเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ลักษณะธารน้ำตก ที่มีน้ำไหล มีความสะอาดและมีระบบนิเวศน์ย่อยที่เหมาะสม มีวังน้ำตกหรือตาด มีโขดหิน มีอึงหรือถ้ำ ซอกหิน โคนต้นไม้ขอนไม้เป็นที่หลบอยู่อาศัย มีความร่มรื่นของต้นไม้ และมีความหลากหลายของปู ปลา หอย และสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นอาหารที่สําคัญของเต่าปูลู การพบเจอตัวเต่าปูลู จึงเป็นตัวชี้วัดว่าพื้นที่แหล่งน้ำเหล่านั้นยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ ทําให้ชุมชนส่วนใหญ่ที่เห็นความสําคัญของการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ หันมาอนุรักษ์เต่าปูลูร่วมกับอนุรักษ์ต้นน้ำตามไปด้วย เพื่อให้สัตว์น้ำกลับมาและเป็นแรงผลักดันให้ชุมชนหันมาอนุรักษ์ป่าต้นน้ำมากยิ่งขึ้นจนถึงมีข้อเสนอชุมชนให้มีมาตราการการห้ามล่าเต่าปูลู ซึ่งเป็นภัยคุกคามสําคัญที่ทําให้เต่าปูลูลดจํานวนลง โดยเฉพาะการล่าเต่าปูลูของคนนอกพื้นที่

    จึงเกิดเป็นข้อสรุปแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนี้

    1) จัดตั้งคณะทํางานในการทําหน้าที่ในการดูแลเต่าปูลูหรือกรรมการป่าชุมชน สําหรับชุมชนที่ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการมาก่อน

    2) มติชุมชนเพิ่มเรื่องการห้ามล่าเต่าปูลูเพิ่มเข้าไปยังกฎของหมู่บ้าน โดยการประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับรองเพิ่มเติม

    3) รณรงค์เรื่องการห้ามล่าเต่าปูลู โดยการทําป้ายติดตามจุดสําคัญในป่า ประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย ประสานงานชุมชนใกล้เคียงเรื่องการขอความร่วมมือห้ามล่าเต่าปูลูในห้วยม่วงชุม หากละเมิดจะดําเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    4) กําหนดพื้นที่ห้ามล่าเต่าปูลูในชุมชน กันเขตพื้นที่เป็นแหล่งอนุรักษ์บ้านเต่าปูลู โดยใช้พื้นที่ป่าชุมชนเดิมที่ทําการอนุรักษ์อยู่แล้วหรือจะกําหนดพื้นที่ขึ้นมาใหม่แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละชุมชน

    5) จัดกิจกรรมการอนุรักษ์พื้นที่อาศัยเต่าปูลู เช่น ทําแนวกันไฟ ฝายน้ำล้น ลาดตระเวนสอดส่อง ทําพิธีสืบชะตา/บวชป่า ลําห้วย หรือเลี้ยงผีขุนน้ำ เพื่อเป็นการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่เต่าปูลูและเป็นการประชาสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้น

    6) ประชาสัมพันธ์ รณรงค์กฎหมู่บ้านเรื่องการห้ามล่าเต่าปูลู ให้กับชุมชนใกล้เคียง บุคคลภายนอกหรือคนในชุมชนห้ามล่าเต่าปูลูโดยเด็ดขาด หรือให้ทางคณะกรรมการไปบอกโดยตรงกับคนต่างถิ่นที่เข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชน รวมถึงการประชาสัมพันธ์เสียงตามสายในชุมชนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ

    7) จัดตั้งกองทุน “บ้านเต่าปูลู” เพื่อสนับสนุนกิจกรรมคณะทํางานในการทําการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ เช่น ฝายชะลอน้ำ แนวกันไฟ ลาดตระเวนตรวจตรา เป็นต้น ให้กับชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงเพื่อทํากิจกรรมการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เต่าปูลู

    8) สร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับตําบล หรือระดับลุ่มน้ำ โดยใช้เครือข่ายความร่วมมือ สภาประชาชนแม่น้ำอิง เป็นพื้นที่ผลักดันให้เต่าปูลูเป็นวาระของชุมชนในการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลู

    9) ผลักดันเทศบัญญัติสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ตําบลยางฮอม โดยมีข้อกําหนดย่อยอยู่ในมติชุมชนเรื่องการห้ามล่าเต่าปูลูอยู่ในกฎของแต่ละหมู่ทั้ง 21 ชุมชนในพื้นที่ตําบลยางฮอม และเพื่อเป็นแนวทางการทํางานในระดับตําบลให้กับพื้นอื่น ๆ ได้เรียนรู้

    10) สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ในการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยชุมชน รวมถึงความร่วมมือกับนักวิชาการในพื้นที่เพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งอาศัยเต่าปูลูให้ครอบคลุมทุกชุมชนและขยายแนวคิดสู่ลุ่มน้ำใกล้เคียง

    11) ให้สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่ทํางานด้านสิ่งแวดล้อม ระดมทุน เพื่อสนับสนุนกองทุนบ้านเต่าปูลูให้กับชุมชน เพื่อทํากิจกรรมขับเคลื่อนการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้ชื่อ “กองทุนบ้านเต่าปูลู”

    สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต Living River Association (LRA) และสามารถโหลดไฟล์ PDF และ QR Code ได้ตามรูป

    Related

    สงกรานต์เมียนมาในวันที่ดอกประดู่ไม่บาน

    เรื่อง: Lanner Burmaภาพ: วิศรุต แสนคำ /  ฮวาน (ไม่ใช่ชื่อจริง) /...

    ฝุ่นพิษข้ามแดนในห้วงยามที่ “ทุน” สยายปีก

    เรื่อง: กองบรรณาธิการ การเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจทุนนิยมในนามของเสรีนิยมใหม่ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำให้เอกชนเกิดแรงจูงใจเพื่อจะสามารถเข้าสู่การแข่งขันได้อย่างเสรีโดยปราศจากการผูกขาดโดยรัฐ จนเมื่อมีการเปิดให้ทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี จึงนำไปสู่ปัญหาการย้ายถิ่นฐานของธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล หนึ่งในปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ “ปัญหาหมอกควัน”...