เรื่อง: ศตวรรษ ไรนุ่น
ถ้าถามถึงเดือนพฤศจิกายน มีวันสำคัญอะไร? หลายคนคงตอบได้ว่ามี “วันลอยกระทง”
วันลอยกระทงเป็นที่รู้จักกันดีของคนทั่วไปในประเทศ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา มักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติ โดยจะมีกิจกรรมที่ให้ผู้คนพากันทำ “กระทง” จากวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตกแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน แล้วนำไปลอยในสายน้ำ โดยตามความเชื่อในปัจจุบันเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา หรือเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก
แนวคิดและที่มาของประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ มาจากนายนิคม มูสิกะคามะ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เมื่อ พ.ศ.2520 และต่อมาได้เป็นอธิบดีกรมศิลปากรในระหว่าง พ.ศ. 2541-2542 ได้เสนอให้จังหวัดสุโขทัย “พลิกฟื้น” ประเพณีนี้ขึ้นและจัดให้เป็นงานใหญ่ระดับชาติ มีจุดประสงค์สำคัญคือสร้างสุโขทัยให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่สนใจ
ประเพณีนี้อาศัยการตีความจากศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ได้มีการกล่าวถึงเทศกาลประเพณีในเมืองสุโขทัยคือ “…คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้ญีง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสน ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อโอกพรรษากรานกฐิน เดือนณึ่งจิ่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน บริพารกฐินโอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัติกฐิน เถิงอรัญญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกันแต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวลาน ดํบงคํกลอง ด้วยเสียงพาดเสียงพิณ เสียงเลื้อนเสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน เมืองสุโขทัยนี้ มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้ มีดั่งจักแตก…”
โดยเนื้อความในจาลึกที่กล่าวถึง ประเพณีและพิธีกรรมหลังช่วงออกพรรษา ในเดือน 11 ถึงเดือน 12 โดยเฉพาะเนื้อความที่กล่าวว่า “ท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ” นั้น นายนิคม มูสิกะคามะและคณะได้ตีความถึงเทศกาลว่าเป็น การลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที และได้ให้ชื่อเทศกาลนี้ตามคำในศิลาจารึกว่า “งานเผาเทียนเล่นไฟ” ซึ่งนำไปสู่แนวคิดการจัดงานประเพณี โดยมีจุดเน้นที่เป็นหัวใจคือ การ “ฟื้นฟู” ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน และการเล่นไฟ พลุ ตะไล ไฟพะเนียง ดอกไม้ไฟชนิดต่าง ๆ มีการเริ่มจัดงานอย่างใหญ่โตตั้งแต่ พ.ศ.2520
โดยจัดงานขึ้นครั้งแรก วันที่ 24-26 พฤศจิกายน พ.ศ.2520 ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีกิจกรรมในงานเริ่มต้นด้วยการทำพิธีบวงวรวงพระแม่ย่า หน้าศาลกลางจังหวัดสุโขทัย จากนั้นเคลื่อนขบวนไปประกอบพิธีสดุดี บูรพกษัตราธิราชและบรรพชนสุโขทัย ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และทางจังหวัดสุโขทัยจัดขบวนแห่กระทงจำนวน 11 ขบวน ประกอบด้วย
ขบวนที่ 1.ขบวนพนมหมาก พนมดอกไม้, ขบวนที่ 2.ชุดรำบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช, ขบวนที่ 3.ดนตรีปี่พาทย์ ประกอบขบวนที่, ขบวนที่ 4.ขบวนช้างประมาณ 20 เชือก, ขบวนที่ 5.ขบวนเกวียนกระทงและนางนพมาศ, ขบวนที่ 6.ขบวนกระทงจากลูกเสือชาวบ้านอำเภอต่างๆ ในจังหวัดสุโขทัย, ขบวนที่ 7.ดนตรีปี่พาทย์สำหรับฟ้อนกระทง, ขบวนที่ 8.ขบวนม้า, ขบวนที่ 9.ขบวนวัว เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อความในจารึกที่ว่า “…จูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย…”, ขบวนที่ 10.ขบวนกลองยาวการฟ้อนรำพื้นเมือง และขบวนที่ 11.ขบวนเบ็ดเตล็ด มีทั้งการฟ้อนรำ ตลกหัวโต และเดินไม้สูง
ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานทรงลอยพระประทีปเป็นปฐมฤกษ์
หลังจากจัดงาน “ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย” ในครั้งแรก การจัดงานประสบความสำเร็จได้รับความสนใจจากคนไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนการ ทำให้การจัดงานประเพณีดังกล่าวได้รับการสืบต่อมาจนกลายเป็นงานเทศกาลประจำปีระดับจังหวัดและระดับประเทศ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมงานมากขึ้นตามลำดับ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นภายในงานมีการปรับปรุงปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมในแต่ละปี
ในปี พ.ศ.2526 ซึ่งเป็นปีฉลอง 700 ปี ลายสือไท จึงได้มีการขยายวันขึ้นเป็น 7 วัน 7 คืน และในปีต่อๆมาได้มีการเพิ่มจำนวนวันจัดงานติดต่อกันขึ้นเรื่อยๆจนถึง 10 วัน 10 คืน มีรูปแบบการจัดกิจกรรมมากยิ่งขึ้น เช่น ช่วงเช้ามีพิธีรับรุ่งอรุณแห่งความสุข ด้วยการตักบาตรทำบุญ ต่อด้วยประกวดกระทง โคมชัก โคมแขวน ขบวนแห่จุลกฐิน รับ 12 กัณฑ์ ในช่วงบ่ายแห่อัญเชิญพระประทีป กระทงพระราชทาน ขนวบแห่ประเพณีวัฒนธรรม 9 อำเภอจังหวัดสุโขทัย และในช่วงเย็นการแสดงประกอบแสงสีเสียง พิธีเผาเทียนเล่นไฟ เป็นต้น
ซึ่งในปี พ.ศ.2566 จะเริ่มจัดตั้งแต่วันที่ 18-27 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ที่ วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยภายในงานจะมีกิจกรรมที่หลากหลายตลอดทั้งวันและหลายโซน ดังนี้
โซนที่ 1 : การแสดงแสงเสียงสุดตระการตา
โซนที่ 2 : Check in Landmark โซนสีสันแห่งสายน้ำมหกรรมลอยกระทง บริเวณหน้าวัดชนะสงคราม (จัดโดย ททท.)
โซนที่ 3 : การประกวดโคมชัก โคมแขวน พนมหมาก พนมดอกไม้ กระทงเล็ก บริเวณหน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
โซนที่ 4 : การประกวดกระทงใหญ่ บริเวณตระพังตาล
โซนที่ 5 : การแสดงพลุตะไล ไฟพะเนียง
โซนที่ 6 : การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ และละครหุ่น
โซนที่ 7 : การแสดงจำลองวิถีชีวิตสมัยกรุงสุโขทัย
โซนที่ 8 : เที่ยวชมตลาดบ้านบ้านสุโขทัย
โซนที่ 9 : เที่ยวชมตลาดแลกเบี้ยสุโขทัย – ตลาดรอบรั้วเมืองพระร่วง
โซนที่ 10 : การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์สุโขทัย (จัดโดย อพท.4)
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ที่น่าตื่นตาตื่นใจ และสนุกสนานที่รอให้ทุกคนมาสัมผัสกันอีกมากมายทั้ง การจัดตลาดโบราณ ตลาดประสาน การจัดประกวดกระทง โคมซัก โคมแขวน ประกวดนางนพมาศ การแสดงทางศิลปะวัฒนธรรม การแสดงพลุตะไล ไฟพะเนียง และการแสดงแสงเสียง สุโขทัย
จากหลักฐานเราจึงทราบได้ว่าจังหวัดสุโขทัยได้มีการเริ่มจัดงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ขึ้นผ่านมาแล้ว4ทศวรรษ ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และยังเป็นเทศกาลที่เป็นเอกลักษณ์และนำรายได้มาสู่จังหวัดสุโขทัยนั่นหมายถึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่จะเข้ามาสู่จังหวัด ในช่วงเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่สร้างรายได้ในธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัยที่สุดในรอบปี
อ้างอิง
1.วริศรา ตั้งค้าวานิช, ประวัติศาสตร์ “สุโขทัย” ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๗), หน้า ๒๕๔-๒๖๐.
2.คนลูกทุ่ง.ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ : เทศกาลและประเพณีประดิษฐ์ หนึ่งในประวัติศาสตร์สุโขทัยที่เพิ่งสร้าง(ออนไลน์).2558. (30 กันยายน 2566)
3.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย (ออนไลน์).2566. (1 พฤศจิกายน 2566)
4.กระทรวงวัฒนธรรม, ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ สุโขทัยเมืองมรดกโลก (กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕63), หน้า 37-49.