เมดอินพะเยา: เปิดรายงานศึกษาความเป็นไปได้สร้าง “สนามบินพะเยา” อีกหนึ่งความฝันเมกะโปรเจคต์ของพะเยา

เรื่อง: กมลชนก เรือนคำ

รูปภาพประกอบด้วย ภาพหน้าจอ, อากาศยาน, เครื่องบิน, สนามบิน

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

ปัจจุบันพะเยาเป็นจังหวัดเดียวใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง, ลำพูน, แม่ฮ่องสอน, พะเยา, แพร่ และน่าน) ที่ไม่มีสนามบิน (อนึ่งก่อนหน้านี้ลำพูนเป็นอีกจังหวัดที่ไม่มีสนามบิน แต่ในปัจจุบันสนามบินเครือสหพัฒน์ซึ่งเป็นสนามบินเอกชน ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมให้บริการแล้ว) ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดพะเยาประสบปัญหาในการเดินทางทางอากาศ ต้องเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่จังหวัดอื่น เช่น สนามบินเชียงใหม่ สนามบินเชียงราย หรือสนามบินลำปาง ทำให้เกิดความไม่สะดวก เสียเวลา และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น 

ในปี 2564 กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้รับการอนุมติงบประมาณเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานในพื้นที่จังหวัดพะเยา และได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีเคท คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท อลานา เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด วงเงิน 5.79 ล้านบาท ทำรายงานศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยา หรือ “สนามบินพะเยา” ซึ่งผ่านขั้นตอนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) และได้รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงผลการศึกษา โดยได้เสนอรายงานฉบับนี้ต่อกระทรวงคมนาคมไปแล้วเมื่อปี 2565

หากกระทรวงคมนาคม และทุกหน่วยงานเห็นชอบ จึงจะจัดจัดทำรายงานกระประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (เออีไอ) และเสนอแบบก่อสร้างต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะอนุญาตในการสร้างสนามบิน รวมทั้งเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าหากสามารถดำเนินการก่อสร้างได้สนามบินพะเยาได้ สนามบินแห่งนี้จะเป็นสนามบินน้องใหม่ถัดจากสนามบินเบตง ที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวที่รองรับการขนส่งผู้โดยสารและการส่งสินค้าทางอากาศสู่จังหวัดพะเยา

เปิดข้อมูลเบื้องต้นจากรายงานศึกษาความเป็นไปได้การก่อสร้างสนามบินพะเยา

ข้อมูลจากรายงานศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสนามบินพะเยาที่เผยแพร่เว็บไซต์ของกรมท่าอากาศยานเมื่อช่วงปี 2565 ระบุว่าในการศึกษาความเป็นไปได้ (Fesibility Study) ในการก่อสร้างสนามบินพะเยา ระบุว่าสำหรับตำแหน่งการก่อสร้างสนามบินพะเยานั้น พะเยาเป็นจังหวัดที่อยู่ระหว่างเชียงรายและลำปาง ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดนี้มีสนามบิน รวมสามารถต่อรถไฟได้จากลำปาง ยิ่งไปกว่านั้น ในอนาคตจะมีทางรถไฟสาย เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ผ่านตัวเมืองพะเยาอีกด้วยแต่มีการศึกษาเพื่อจะลดเวลาการเดินทาง ซึ่งเดิมต้องเดินทางด้วยรถ ไปต่อเครื่องบินที่ใช้เวลารวมกว่า 3.30 ชั่วโมง 

จากการศึกษามีการเปรียบเทียบตำแหน่งก่อสร้างสนามบินพะเยา 5 จุด รอบพื้นที่อำเภอเมืองพะเยา โครงการได้เลือกตำแหน่ง ตำบลดอนศรีชุม อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ซึ่งอยู่ด้านตะวันออกของ อำเภอเมืองพะเยา ซึ่งมีระยะห่างจากตัวอำเภอเมืองพะเยา ประมาณ 20 กิโลเมตร ใกล้กับถนน 1021 โดยพื้นที่ในการก่อสร้างสนามบิน จะใช้พื้นที่ทั้งหมด 2,812 ไร่ แบ่งเป็น Landside 1,862 ไร่ และ Airside 1,350 ไร่ 

รายละเอียดการก่อสร้างสนามบินพะเยา

Concept ในการออกแบบสนามบินพะเยา
– รองรับเครื่องบิน A320 และ 737 
– Runway รองรับ Code 4E
– ทางวิ่ง กว้าง 45 เมตร ยาว 2,500 เมตร
– มีหลุมจอด 2 หลุม อนาคตสามารถขยายได้ถึง 3 หลุม พร้อมรองรับการติดสะพานเทียบเครื่องบินการคาดหวังผลประโยชน์สนามบิน
– คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 78,000 คน/ปี ในปีแรก 2570 
– ขยายไปจนถึง 320,000 คน/ปี ในปี 2600
– มูลค่าการก่อสร้างโครงการ ประมาณ 2,000 ล้านบาท
– มูลค่าการเวนคืน (จากการประเมิน ปี 2562) ประมาณ 1,700 ล้านบาท
– มูลค่าการดูแลรักษาสนามบิน ตลอด 30 ปี ประมาณ 720 ล้านบาท
– คาดว่าจะออกแบบเสร็จในปี 2566
– ทำการเวนคืนเสร็จในปี 2569
– เริ่มก่อสร้าง 2569-2572 
– เปิดให้บริการในปี 2572

ตัวอย่างเสียง ‘สนับสนุน-คัดค้าน’

โครงการสนามบินพะเยา มีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน โดยผู้เขียนประมวลตัวอย่างเสียงสะท้อนบางส่วนได้ดังนี้

สนับสนุน:

ในปี 2559 มีนักวิชาการเคยโพสต์ในโซเชียลมีเดียว่าหากสนามบินพะเยามีแค่เครื่องบินเล็กมาลงอาจจะไม่คุ้มค่า แต่หากเป็นเป็นสนามบินนานาชาติอาจจะพัฒนาศักยภาพได้ดีกว่าเนื่องจากจังหวัดพะเยาอยู่ตรงกลางของภูมิภาคภาคเหนือตอนบน

ในปี 2565 จีรเดช ศรีวิราช สส.พะเยา เคยอภิปรายไว้ในสภาผู้แทนราษฎรว่า “จังหวัดพะเยามีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี เพราะมีธรรมชาติที่สวยงามมีวัฒนธรรมที่หลากหลายในเมืองเก่าแกอายุกว่า 900 ปี หากมีสนามบินก็จะเป็นการสร้างความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว สามารถเดินทางไปสู่จุดหมายได้อย่างรวดเร็วใน 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนบนจังหวัดพะเยาคงเป็นจังหวัดเดียวที่ยังไม่มีสนามบิน ไม่นับรวมกับจังหวัดลำพูนกับเชียงใหม่ ซึ่งกำลังจะมีสนามบินแห่งที่สองในเร็ว ๆ นี้” จีรเดช ยังชี้ว่าความเหลื่อมล้ำของโอกาสนี้คือความไม่เท่าเทียมของการบริหารประเทศ จะการเดินทางในแต่ละทีโดยเครื่องบิน ต้องเดินทางจากเชียงรายซึ่งห่างไกลเป็นร้อยกว่ากม. หรือไปเชียงใหม่ถึง 145 กม. จะไปลำปางก็ห่าง 135 กม. ต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 2 ชั่วโมง การที่ไม่มีสนามบินทำให้จังหวัดพะเยา ต้องเสียโอกาสในการพัฒนาในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศในระดับต้น ๆ หากมีสนามบินเกิดขึ้นก็จะสามารถยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนได้เป็นอย่างดี ดังนั้นขอให้กรมอากาศยานดำเนินการก่อสร้างอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างโอกาสและศักยภาพให้กับจังหวัดพะเยา

(เสียงจากโซเชียลมีเดีย)

“ถ้ามีจริง ๆ ก็คงดีมาก ๆ สำหรับนักเดินทาง เพราะบางทีต่อเครื่องไปต่างประเทศใช้เวลาตั้งแต่ตี 3 เช้าตรู่ออกเดินทางไปสนามบินแม่ฟ้าหลวง ถ้าสร้างจริงคงดีมากๆค่ะจะได้สะดวกต่อการเดินทางค่ะ”

“มีก็ดี แล้วจะไปคิดแทนว่าจะขาดทุนทำไม มันอยู่ที่ระบบงานของบุคลากร ของสนามบินปะครับ ทุกวันนี้คนที่อยู่พะเยาจะขึ้นที ลำบากมาก ไหนจะค่าที่จอดรถ ไหนจะค่าเดินทาง คนเดินทางบ่อยจะรู้มันจำเป็นจริง ๆ 1 ชั่วโมง ถึง กทม. กับ 10 ชั่วโมง ถึง กทม.”

คัดค้าน:

(เสียงจากโซเชียลมีเดีย)

“เชียงใหม่ เชียงรายก็มีสนามบินอยู่แล้ว จะมีสนามบินที่พะเยาไปทำไม”

“สนามบินไม่จำเป็นเอางบมาพัฒนาอย่างอื่นดีกว่าพะเยาจะได้เจริญมากกว่านี้”

“ผมว่าทำพะเยาให้ไม่เป็นเเค่ทางผ่านก่อนเถอะครับ และค่อยคิดทำสนามบิน ทำไปก็เอางบไปทิ้งเปล่า”

“เรื่องสนามบินพะเยา ส่วนตัวมองว่าไม่จำเป็นครับ ถึงจะมีแผนสร้างก็ตาม  เพราะจังหวัดรอบ ๆ ก็มีสนามบิน แต่เที่ยวบินก็ไม่ได้เยอะอะไร ถ้าไม่นับสนามบินเชียงราย ที่มีเที่ยวบินเยอะพอสมควร น่านก็มีวันล่ะ 2 เที่ยวบิน ลำปาง ของบางกอกแอร์ วันล่ะ 4 เที่ยวบิน แพร่ ไม่มีเที่ยวบิน และดูแล้ว สนามบินน่าน อีกไม่นานน่าจะตามไปก็เป็นได้ และถ้าสร้างสนามบินแพร่ แล้วไม่มีเที่ยวบินลง หรือ มีแค่วันล่ะ 1-2 เที่ยว ก็จะซ้ำรอยสนามบินเบตงนั่นล่ะครับ”

“คงเป็นไปได้ยาก พะเยาเป็นแค่เมืองผ่าน นักท่องเที่ยวแวะพักน้อยมาก จุดสนใจมีแค่กว๊านพะเยา หยุดพักรถแล้วไปต่อ ปลายทางนักท่องเที่ยวอยู่ที่เชียงรายมากกว่า ส่วนทางเชียงคำ ภูซาง เทิง น่าจะใช้บริการทางเชียงรายมากกว่าพะเยา”

“จังหวัดพะเยามีประชากรราวสามแสนคน ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวมีไปก็ขาดทุน  ขนาดสุรินทร์ ศรีสะเกษประชากรเกินล้านยังไปลงบุรีรัมย์หรืออุบล”

“จากที่เคยไปเที่ยวมา จังหวัดเค้าไม่ได้ใหญ่มากดู ๆ ประชากรเบาบาง ถ้าจะเอาเรื่องนักท่องเที่ยวขึ้นเครื่องมาลงก็ไม่น่าจะคุ้มทุน ทำทางรถไฟน่าจะคุ้มสุดแล้วครับ ทางสายเหนือวิวสวย จะไปพะเยาก็นั่งเครื่องลงเชียงรายแล้วนั่งรถไฟลงมาพะเยา”

ความคืบหน้าล่าสุด รอกระทรวงคมนาคมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

บทความชิ้นนี้เขียนเมื่อเดือนมกราคม 2567 สามารถค้นความคืบหน้าล่าสุดของโครงการสนามบินพะเยานี้พบอยู่ใน รายงานสรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 90 วันที่ 19 มกราคม 2566 โดยระบุว่า แม้จะมีการเสนอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสนามบินพะเยาไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร โดยผู้แทนกรมท่าอากาศยานได้ชี้แจงว่าหลังเสนอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ฯ ให้กับกระทรวงคมนาคมแล้วหากกระทรวงคมนาคมเห็นชอบก็จะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติโครงการก่อสร้างและงบประมาณ ถึงจะเดินหน้าออกแบบรายละเอียดต่าง ๆ ในการก่อสร้างสนามบินและจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่าขั้นตอนดังกล่าวจะดำเนินการของบประมาณในปี 2568 วงเงินงบประมาณ 75 ล้านบาท และหากขั้นตอนดังกล่าวแล้วเสร็จ ถึงจะของบประมาณในการจัดซื้อที่ดินทำการก่อสร้างในปี 2569 วงเงินงบประมาณ 1,700 ล้านบาท และจะมีการเปิดประมูลโครงการในปี 2570 และดำเนินการก่อสร้างโดยใช้งบประมาณผูกพันในปีงบประมาณ 2571-2573 คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งหากเป็นไปตามนี้สนามบินพะเยาก็จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2573-2574 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ในอำเภอดอกคำใต้

นอกจากนี้ในช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จังหวัดพะเยา เบอร์ 6 พรรคพลังประชารัฐ นักการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจังหวัด ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไว้ว่าเรื่องสำคัญที่ได้พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดพะเยา คือการพัฒนาแหล่งน้ำและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องทำต่อเนื่องจากสี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงโครงการสร้างสนามบินพะเยา ทั้งนี้ภายหลังการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่าโครงการสนามบินพะเยาจะได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากฝ่ายการเมืองอีกทางด้วยหรือไม่.

ที่มาข้อมูล

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เริ่มสนใจงานเขียนตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นทั้งนักเขียน นักเรียน นักดนตรี และนักรัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง