2 ชุมชน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ขอระงับ ชะลอ โครงการภายใต้นโยบายคทช. ยันยึดรูปแบบโฉนดชุมชนจัดการทรัพยากร

23 กุมภาพันธ์ 2566

ภาพ : สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ( สกน.)

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ( สกน.) รายงานว่า วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ตัวแทนชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ยและบ้านแม่อมยะ  ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เข้ายื่นหนังสือถึงสำนักอนุรักษ์ที่ 4 จ.ตาก ผ่านหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ตก.3 (แม่ตะวอ) หลังหน่วยป้องกันรักษาป่าฯ ลงพื้นที่เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจแนวทางนโยบายคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.)  ชุมชนกังวลหน่วยงานชี้แจงเงื่อนไขของคทช.ไม่ครบถ้วนทุกด้าน ยืนยันหน่วยงานควรทำความเข้าใจความต้องการของชุมชนอย่างถ่องแท้ ด้านหน่วยป้องกันรักษาป่าฯ ย้ำเป็นการลงพื้นที่เพื่อสำรวจการใช้สอยประโยชน์ในที่ดิน ไม่ใช่การสำรวจตามแนวทางนโยบายคทช.แต่อย่างใด

ตัวแทนชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ย หมู่ที่ 5 และบ้านแม่อมยะ หมู่ที่ 7  ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก  ในนามสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จังหวัดตาก และสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ประมาณ 15 คน ได้เดินทางไปยังหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ตก.3 (แม่ตะวอ) อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เพื่อยื่นหนังสือขอให้มีการระงับและชะลอการดำเนินโครงการภายใต้นโยบายคณะกรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในพื้นที่ และยืนยันแนวทางยกระดับการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน โดยได้ยื่นหนังสือถึงหัวหน้าสำนักอนุรักษ์ที่ 4 จังหวัดตาก

การยื่นหนังสือดังกล่าวสืบเนื่องมาจากชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ย ชุมชนบ้านแม่อมยะ  ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติจากรัฐมายาวนาน และได้ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาทางนโยบายมาอย่างต่อเนื่องร่วมกับเครือข่ายสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) อย่างไรก็ตาม แม้ชุมชนจะพยายามเสนอข้อเรียกร้องรูปแบบโฉนดชุมชน และชี้ให้เห็นถึงปัญหา ข้อจำกัดจากนโยบายของรัฐ ตามแนวทาง มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 รถไฟ 5 ขบวน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มาอย่างต่อเนื่อง แต่ชุมชนเห็นว่าการแก้ไขปัญหาด้วยการดำเนินการตามแนวมติคณะรัฐมนตรีฯ ดังกล่าวยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม และโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ดังกล่าว ไม่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของชุมชน เต็มไปด้วยข้อจำกัด และเข้าข่ายการละเมิดสิทธิชุมชน 

หนังสือของชาวบ้านขุนแม่เหว่ยและแม่อมยะ ระบุว่า การประกาศพื้นที่ป่าของรัฐทับพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยมาก่อน เป็นรากสาเหตุสำคัญที่สร้างความขัดแย้ง ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน กลายเป็นปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมเรื้อรังมายาวนาน โดยเฉพาะกฎหมายป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ ยิ่งสร้างข้อจำกัดและความเปราะบางให้กับสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่า การบังคับใช้กฎหมายในอดีตไม่ต่างจากการบีบบังคับไล่ชุมชนดั้งเดิมออกจากป่า บั่นทอนวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน ดังจะเห็นได้จากแนวทาง มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 รถไฟ 5 ขบวน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนในหลายประการสำคัญ ได้แก่ การใช้ประโยชน์ที่ดินในระบบไร่หมุนเวียน พืชผสมผสานและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า รวมถึงอุปสรรคพ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 มาตรา 4 ที่ชุมชนในที่อยู่พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จะเข้าข่ายไม่สามารถขอขึ้นทะเบียนจัดตั้งเป็นป่าชุมชนได้

ด้วยข้อจำกัดตามกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ เป็นอุปสรรคต่อรูปแบบการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ที่ชุมชนเรียกร้อง เป็นการสร้างเงื่อนไขที่ลดทอนความหลากหลายในรูปแบบการจัดการที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งตัวแทนชาวบ้านได้ยืนยันข้อเรียกร้องตามหนังสือร้องเรียน  4 ข้อ ได้แก่ 

1.ขอให้มีการระงับและชะลอการสำรวจการดำเนินโครงการภายใต้นโยบายคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.)ตามแนวทาง มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 รถไฟ 5 ขบวน ไว้ก่อน ซึ่งชุมชนยืนยันแนวทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” และเร่งผลักดันยกระดับให้เกิดการแก้ไขปัญหารูปแบบการรับรองสิทธิชุมชน ภายใต้พระราชบัญญัติคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 10 (4) ที่กำหนดมาตรการหรือแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เท่านั้นจนกว่านโยบายการยกระดับโฉนดชุมชนจักแล้วเสร็จ ตาม มติครม. 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566

2. ขอให้เร่งรัดดำเนินการศึกษาและออกระเบียบการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน สอดรับในมาตรา 10 (4) ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 โดยต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในหลากหลายพื้นที่ และสามารถแก้ไขปัญหา ข้อจำกัด อุปสรรคจากกฎหมายและนโยบายด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติดังที่กล่าวมาข้างต้น

3.ขอให้ใช้แนวทาง มติ คณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม พ.ศ.2553 เรื่อง  แนวนโยบายในการฟนฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ยึดถือเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาหลักให้กับชุมชน

4.ขอให้เร่งรัดประสานงานเพื่อให้พิจารณาชะลอการบังคับใช้ร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชนและสร้างข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต ทำมาหากิน และอยู่อาศัยกับป่าตามวิถี จนกว่าการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ  “คณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขและปรับปรุงพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562” ตามคำสั่งคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจักแล้วเสร็จ

ด้าน สมคิด  ตรงจิตสุนทร เจ้าหน้าที่ตรวจป่า หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ตก.3 (แม่ตะวอ)  ได้มารับหนังสือจากชาวบ้าน และกล่าวว่า การลงพื้นที่ในชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ยและบ้านแม่อมยะ เป็นเพียงการสำรวจการใช้ประโยชน์ในที่ดินเท่านั้น และรับทราบความต้องการของชุมชนทั้งสองชุมชนที่ยืนยันชัดเจนว่า ทางชุมชนยืนยันใช้รูปแบบโฉนดชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร และไม่ประสงค์รับโครงการภายใต้นโยบายคทช.  พร้อมทั้งย้ำว่าจะระบุความต้องการของชุมชนลงในบันทึกการสำรวจพื้นที่ร่วมกับทางชุมชนในครั้งต่อไปอย่างชัดเจน

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง