เมื่อวานนี้ (22 พฤษภาคม 2566) ได้มีการแถลงลงนาม ข้อตกลงร่วม หรือ MOU โดยแกนนำจาก 8 พรรคร่วมรัฐบาล เพื่อจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยเพื่อประชาชนขึ้น ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพมหานคร
ร่างข้อตกลงร่วม หรือ MOU นี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แกนนำและหัวหน้าพรรคก้าวไกลชี้ว่าได้มีการรวบรวมวาระที่เห็นร่วมกันเพื่อผลักดันผ่านกลไกของรัฐบาล และรัฐสภา และความรับผิดชอบที่จะเสนอกับพี่น้องทั้งประเทศ โดยบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งรัฐบาลทำขึ้นเพื่อสร้างพื้นฐานตัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรค
ทุกพรรคเมืองเห็นพ้องต้องกันสำหรับภารกิจของรัฐบาลที่การผลักดันจะไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ขององค์พระมหากษัติย์
โดยเนื้อหาทั้ง 23 ข้อในร่าง MOU ฉบับดังกล่าวมีดังนี้
1.ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
2.เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในสังคม ทุกพรรคจะร่วมผลักดันการอำนวยความยุติธรรมในคดีที่เกี่ยวข้องกับ การแสดงออกทางการเมืองผ่านกลไกของรัฐสภา
3.ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับ ประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ
4.เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งการเกณฑ์ทหารยามศึกสงคราม
5.ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลัก ประชาธิปไตย โดยยึดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน
6. ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของ ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต
7. แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน
8. ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโต อย่างเป็นธรรม
9. ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ ชั่วคราวซึ่งใบอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่อง ทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุน อุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
10. ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโต อย่างเป็นธรรม
11. ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ขอสงวนสิทธิเฉพาะพรรคประชาชาติในการไม่ส่งเสริมเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลด้านศาสนา
12. ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักดันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผล จากนโยบายทวงคืนผืนป่า
13. จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based budgeting)
14. สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระ ทางการคลังระยะยาว
15. แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเร่งด่วน
16. นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา
17. ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี และแหล่งน้ำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์เกษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
18. แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน
19. ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้อง กับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
20. ยกระดับสาธารสุขให้ประชาชนเข้าภถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ
21.ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
22. สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด
23. ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของ อาเซียน และรักษาสมดุล การเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ
และอีก 5 ประเด็นในการร่วมกันบริหารประเทศ
1. ทุกพรรคจะคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน
2. ทุกพรรคจะทํางานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชัน ทุกพรรคจะ ยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ ทันที
3. ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือ ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง
4. ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอ้านาจฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง
5. ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าใน 23 ข้อและ 5 ประเด็นข้างต้้นจะไม่มีการกล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 แต่ พิธา ได้ให้การยืนยันกับสื่อมวลชนไว้ว่าจะเดินหน้าแก้ไขแน่นอน โดยในปัจจุบันก็ได้มีการยื่นเข้าไปในสภาตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แล้ว ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการบรรจุก็ตาม โดยมีจุดประสงค์เพื่อไม่เป็นเครื่องมือโจมตีและทำลายทางการเมือง โดยในร่าง MOU ก็ได้มีการกล่าวอย่างชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
นอกจากนี้ยังมีประเด็น ‘สมรสเท่าเทียม’ ที่มีข้อสงสัยจากสื่อมวลชน ว่าจะมีผลกระทบต่อหลักศาสนาหรือไม่ โดย พิธา และ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ชี้ว่าการผลักดันกฎหมายในประเด็นดังกล่าวจะเป็นเพียงการเคารพสิทธิของประชาชนเท่านั้น ไม่มีการบังคับเพราะจะขัดกับหลักศาสนา
ร่าง MOU ดังกล่าวถือเป็นหมุดหมายสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะที่ผ่านมา ข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างพรรคการเมืองมักจะใช้ ‘การให้สัตยาบัน’ เป็นหลักประกันในการจัดสรรตำแหน่ง ผลประโยชน์ทางการเมือง และความรับผิดชอบของแต่ละพรรคเท่านั้น นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...