24 มีนาคม 2566
“วันนี้จะเป็นวันหนึ่งให้พวกเราตื่นตัว และเฝ้าระวัง ให้ประเทศไทยไม่มีการทรมาน-อุ้มหายอีกต่อไป”
สมชาย หอมลออ – ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ สมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน (Association for the Prevention of Torture) และศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจัดงานเสวนาอภิปรายถึงความสำคัญของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ในหัวข้อ “ประเทศไทยที่ไร้การทรมาน: พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานอุ้มหายและการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ” โดยวิทยากรทั้งหมด 6 ท่าน พรพิมล มุกขุนทด ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ,สมศักดิ์ ชื่นจิตร ครอบครัวผู้เสียหายจากการทรมาน ,ไมตรี จำเริญสุขสกุล นักกิจกรรมชาวลาหู่ ,สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ,ปวีณา จันทร์เอียด สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ภายในงานได้ยกกรณีศึกษาของผู้เสียหาย อาทิ ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร และ ชัยภูมิ ป่าแส มาร่วมทบทวน วิเคราะห์ปัญหา และเจาะลึกไปถึงระบบกฎหมายและประวัติศาสตร์ ที่มีส่วนในการเอื้อและยุติความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และการบังคับใช้ พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายในทางปฏิบัติ รวมไปถึงบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในการป้องกันและเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สมศักดิ์ ชื่นจิตร ครอบครัวผู้เสียหายจากการทรมานกล่าวว่า
“เสียอะไรก็เสีย อย่าเสียกำลังใจ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันทุกคน ค่าความยุติธรรม มีทั้งภาระและค่าใช้จ่าย ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนจากความกลัวให้เป็นความกล้า เพื่อความยุติธรรมของเรา”
อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า
“อคติที่เรามีต่อกลุ่มคน ชาติพันธุ์ คนจน อื่นๆ นี่เป็นเงื่อนไข ปัจจัยนึงที่ทำให้ความเอนเอียงของจนท.รัฐทำงานง่ายมากขึ้น ” “ระบบกฎหมายที่เอื้อต่อความรุนแรงของรัฐ ตัวกฏหมาย พ.ร.บ. จะช่วยไปกำกับการทำงานของ เจ้าหน้าที่รัฐได้มากขึ้น กำกับการทำงาน ต้องถูกบันทึก ตรวจสอบได้”
โดยในช่วงเย็นเวลา 18.00-20.00 น. มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับลานยิ้มการละคร จัดกิจกรรม Human library : Memories Melody (ห้องสมุดมีชีวิต: ท่วงทำนองของความทรงจำ) ณ ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา
ภายในกิจกรรมประกอบด้วยหนังสือมีชีวิตทั้งหมด 10 เล่มจากทั้งหมด 8 หมวด นักวิชาการ, ผู้เสียหาย, ทนายความ, หน่วยงานภาครัฐ, นักกิจกรรม, สื่อ, ผู้ต้องหาทางการเมือง, มุมมองต่างประเทศ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องราวชีวิต ความคิด มุมมอง ภายใต้หัวข้อ “เรื่องเล่าของความเจ็บปวดและการต่อสู้เพื่อสังคมที่ปราศจากความรุนแรงโดยรัฐ”
ผู้จัดงานได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์และไอเดียในการกิจกรรมในครั้งนี้ว่า เราอยากให้คนที่ทำงาน คนที่ได้รับความเสียหาย จากการความรุนแรงจากรัฐได้มีพื้นที่ที่จะสื่อสารเรื่องราวของตนเองออกไปกับสาธารณะ และคิดว่าจะมีวิธีการไหนบ้างที่จะบอกเล่าเรื่องราวความรุนแรงจากรัฐไม่ว่าเป็น การอุ้มหาย ซ้อมทรมาน การละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มันค่อนข้างที่จะโหดร้ายและมีผลกระทบต่อจิตใจของใครหลาย ๆ คน ก็เลยหากิจกรรมที่เหมือนเป็นสื่อกลางในการบอกเล่าเรื่องราวที่มันหนักอึ้งนี้ออกไปได้แบบเฟลนลี่ขึ้นให้คนทั่วไปสามารถที่จะเข้ามารับฟังเลยเกิดเป็นกิจกรรมนี้ขึ้นมา โดยกิจกรรมแนวนี้เราสามารถพบเห็นอยู่แล้วในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งกิจกรรมนี้มันเกิดมาจากแนวคิดที่ว่า Don’t judge a book by its cover หลายคนที่เป็นหนังสือเราอาจจะคุ้นหน้ากันอยู่แล้วแต่อาจจะไม่เคยพูดคุย กิจกรรมนี้ก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้สามารถพูดคุยได้ง่ายมากขึ้น
อภิรักษ์ (นามสมมุติ) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นนักศึกษากฏหมาย กล่าวว่า หลังจากเข้าไปแลกเปลี่ยนกับหนังสือมนุษย์ก็ได้เห็นมุมมองอีกด้านหนึ่งของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายสิทธิในคดีที่มีความยุ่งยากและเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ มันไม่ได้ง่ายเหมือนกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายระหว่างเอกชนกับเอกชน มันมีอำนาจเหนือความคุ้มกันบางอย่างที่รัฐนั้นมีมากกว่า ดังนั้นในการต่อรองในส่วนของผู้เสียหายมันมีต้นทุนในการดำเนินกระบวนยุติธรรมที่มากกว่าตามไปด้วย สร้างความลำบากใจทั้งผู้เสียหายและประชาชนข้างนอกเวลาที่มันมีเหตุเกิดขึ้นแล้ว ผลตอบรับมาไม่ได้แสดงให้ถึงความเป็นธรรมเท่าที่ควร พอได้ฟังก็รู้สึกว่ากฎหมายของไทยมันไม่เท่ากันสำหรับทุกคน
และน้อมจิต (นามสมมุติ) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นนักกิจกรรม กล่าวว่า หลังจากเข้าร่วมก็เห็นหลากหลายมิติ ทั้งผู้ถูกกระทำ รวมไปถึงคนที่มีหน้าที่พิทักษ์สิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการหรือ NGOs เราได้เห็นปัญหาลึกขึ้น รายละเอียดของการต่อสู้หรือการไม่ได้รับความยุติธรรมที่ชัดเจนขึ้น เราเห็นเคส ชัยภูมิ ป่าแส ที่นอกจากที่เขาต่อสู้ทางด้านกฎหมาย เขาต้องต่อสู้กับสังคมโดยเฉพาะชุมชนหมู่บ้านที่มีความเข้าใจแตกต่างกันไป และมุมมองของผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างพ่อแม่พี่น้องหลังจากนั้น ไม่ได้อยู่แค่ในการต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรมทางศาล แต่เขาต้องประสบปัญหากับชุมชน กับผู้อำนาจ รวมไปถึงการถูกคุกคาม
สรุปสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 แบ่งออกได้ 13 ประเด็นหลัก ๆ ก็คือ
1. ให้การกระทำทรมาน การกระทำ และลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ เป็นความผิดในทางอาญา มีโทษทั้งจำ และปรับ หากผู้ถูกกระทำเสียชีวิตรับโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต ผู้บังคับบัญชาที่ทราบไม่ป้องกันหรือระงับการกระทำผิดต้องรับผิดกึ่งหนึ่ง
2. ไม่ให้อ้างสถานการณ์พิเศษใดๆ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นใดมาเป็นเหตุแห่งการอนุญาตให้มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ได้
3. การห้ามผลักดันหรือส่งกลับบุคคล หากมีเหตุให้เชื่อว่าจะถูกกระทำทรมาน กระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหายเมื่อถูกส่งกลับประเทศ
4. การบัญญัติให้ผู้เสียหายครอบคลุมถึง สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะ และผู้อยู่ในอุปการะของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย
5. ตั้งคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมาจากหน่วยงานต่างๆ โดยตำแหน่ง 11 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง 6 คน เพื่อติดตามตรวจข้อเท็จจริงการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้
6. เมื่อมีการจับกุม และควบคุมตัวบุคคล จะต้องมีการบันทึกภาพ และเสียงต่อเนื่องขณะจับกุม และระหว่างการควบคุมตัว และต้องแจ้งให้พนักงานอัยการ และพนักงานฝ่ายปกครองในท้องที่นั้นๆ ทราบโดยทันที
7. เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการควบคุมตัวบุคคล จะต้องลงบันทึกการจับกุมซึ่งเป็นข้อมูลอัตลักษณ์ตัวตนบุคคล วัน เวลา สถานที่จับ และปล่อยตัว รวมทั้งข้อมูลเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งจับกุม
8. ผู้มีส่วนได้เสีย สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน และผู้อยู่ในอุปการะ ผู้แทนหรือทนายความ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตาม พ.ร.บ. นี้ มีสิทธิเข้าถึงข้อมูล และขอให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวได้
9. สามีภริยา คู่ชีวิต บุพการี ผู้สืบสันดาน และผู้อยู่ในอุปการะ สามารถร้องศาลกรณีรับทราบข้อมูลการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำดังกล่าว หรือถ้าไม่มีเหตุจำเป็นให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว รวมทั้งให้ได้พบญาติ ผู้ไว้วางใจ และทนายความเป็นการส่วนตัว และต้องได้รับการรักษาการฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและจิตใจ
10. การกระทำให้บุคคลสูญหายก่อน พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับให้ดำเนินการสอบสวนจนกว่าจะพบผู้ถูกกระทำให้สูญหาย และทราบรายละเอียดของผู้กระทำผิด และรู้ตัวผู้กระทำผิด
11. นอกจากตำรวจแล้ว ให้ ดีเอสไอ อัยการ และฝ่ายปกครองมีอำนาจในการสืบสวน สอบสวนดำเนินคดี และมีหน้าที่แจ้งสิทธิให้แก่ผู้เสียหายในการเรียกค่าสินไหมทดแทนเบื้องต้นจากการถูกกระทำตาม พ.ร.บ. นี้
12. แม้ผู้กระทำความผิดเป็นทหารกระทำผิดตาม พ.ร.บ. นี้จะต้องขึ้นศาลยุติธรรม โดยให้ศาลทุจริตประพฤติมิชอบเป็นศาลพิจารณาคดีความผิดตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้
13. ผู้พบเห็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า และคุ้มครองผู้พบเห็น ผู้แจ้ง ผู้ร้องเรียนโดยสุจริต ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย
ขอบคุณข้อมูลจาก Thaipost
สามารถอ่าน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ฉบับเต็มฉบับเต็มได้ที่นี่
โดยปัจจุบันนั้น (24 มีนาคม 2566) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้แล้ว เพียงถูกเลื่อนไปเพียง 4 มาตรา (การติดกล้องบันทึกต่อเนื่องและการแจ้งการจับ) เลื่อนไปถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2566 นอกจากนั้นอีก 39 มาตรามีผลบังคับใช้แล้วกับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติในระดับปฏิบัติงานยังไม่พร้อม โดยเฉพาะการจัดซื้ออุปกรณ์และการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรสำหรับปฏิบัติตามมาตราการป้องกันตาม พ.ร.บ.นี้
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...