จรัล มโนเพ็ชร: 23 ปีที่จากไป

เรื่อง: ธเนศวร์  เจริญเมือง

จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในล้านนาในรอบเกือบ 1 ศตวรรษที่ผ่านมา จากไปเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544  หรือ 23 ปีที่แล้วจากปีนี้ พ.ศ. 2567 กว่า 2 ทศวรรษเศษที่ผ่านมาผู้คนในล้านนาโดยเฉพาะในจังหวัด เชียงใหม่-ลำพูน-เชียงราย จัดงานรำลึกถึงเขาทุก ๆ ปี ที่เชียงใหม่ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของจรัลมีจัดทุกๆ ปีในคืนวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา อย่างน้อย 3-4 จุด ได้แก่  

1. ร้าน อาหารชื่อ “เฮือนสุนทรี” ของศิลปินนาม สุนทรี เวชานนท์  นักร้องหญิงชื่อดังซึ่งร้องเพลงไม่น้อยที่จรัลแต่ง  เช่น “ล่องแม่ปิง” “สาวเชียงใหม่”  และ “หมะเมียะ” 2. ร้านอาหารชื่อดังริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออกย่านวัดเกต  3. “ลานดิน” ไม่ไกลจากวัดร่ำเปิงที่มีวงดนตรีนับสิบมาสลับกันร้องเพลงจรัลยามค่ำคืน และ 4. อีกหลายๆ ร้าน  และที่อำเภอเชียงดาว รวมทั้งสถานีวิทยุต่างๆ ในเขตเมืองก็เปิดเพลงของจรัลเกือบทั้งวัน ปรากฏการณ์นี้ยังมีในตัวอำเภอเมืองของจังหวัดอื่นๆ ในล้านนาด้วย

ย้อนไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2563 หรืออีกปีเศษจะครบรอบ 20 ปีการจากไปของจรัล ลูกสาวผมซึ่งได้ยินพ่อพูดเรื่องงานรำลึกจรัลทุกๆ ปี ก็เอ่ยว่า “จะทำอะไรก็คงต้องรีบแล้ว เวลาไม่รอท่า”

เท่านั้นเองผมก็รีบติดต่อหาเพื่อนพ้องทันที จนในวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 พวกเราเราได้จัดตั้ง คณะกรรมการจรัลรำลึก (ค.จ.ร.) ร่วมกัน 12 คน เปิดบัญชีขอรับเงินบริจาคสร้าง อนุสาวรีย์จรัล มโนเพ็ชร ประกาศจะเปิดเผยยอดเงินฝากทุกสัปดาห์และจะไม่ถอนแม้แต่บาทเดียวจนกว่าจะได้เงินบริจาค 5 แสนบาทขึ้นไปเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ฯ โดยแบ่งงานเป็นฝ่ายๆ เช่น การจัดรายการให้ความรู้, การหารูปแบบอนุสาวรีย์และที่ตั้ง, การออกแบบและก่อสร้าง 

ประติมากรรม จรัล มโนเพ็ชร บริเวณสวนบวกหาด

จนกระทั้งวันที่ 1 มกราคม 2565 ครบรอบวันเกิดจรัล มโนเพ็ชร 71 ปี มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์จรัล มโนเพ็ชร ที่ สวนบวกหาด (สวนสาธารณะหนองบวกหาด) ตั้งแต่ปีนั้น เมืองเชียงใหม่ก็มี “ข่วงจรัล” ที่สวนนี้ เป็นลานกว้างที่สามารถจัดเวทีการแสดงและการอภิปรายหรือบรรยายได้ตลอด และจาก 3 กันยายนปีนั้นจนถึงปีนี้ แม้ ค.จ.ร. จะสิ้นสุดลงเพราะหมดภารกิจแล้ว แต่ยังมีกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มคนฮักจรัล มาจัดงานรำลึก 3 กันยาทุกปี เช่นกันในปีนี้ (2567) ได้เชิญนักเรียนจากโรงเรียนพุทธิโสภณ และโรงเรียนเมตตาศึกษา (โรงเรียนเก่าของจรัล) มาร้องเพลงที่หน้าอนุสาวรีย์ฯ ในเช้าวันนั้น และเพราะอีกวงหนึ่งมีติดภารกิจในวันที่ 3 กันยา จึงมาแสดงในวันที่ 19 กันยา นั้นก็คือ “วง มช.สะล้อหวาน” สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดตั้งโดยนักดนตรีและนักร้องโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และครูอาจารย์ เป็นวงดนตรีพื้นบ้านกับดนตรีสมัยใหม่ ทำดนตรีและขับร้อง 12 เพลงของจรัลในบ่ายวันนั้น เช่น น้อยไจยา, ล่องแม่ปิง, อุ๊ยคำ, รางวัลแด่คนช่างฝัน, หมะเมียะ, บ้านบนดอย ฯลฯ 

อ้ายจรัลจากโลกนี้ไปเมื่ออายุได้ 50 ปี (2544) ต้องยอมรับว่าจนถึงขณะนี้ หากนึกถึงเพลงกำเมืองของล้านนา เพลงของอ้ายจรัลก็ถูกเอ่ยถึงทันที อีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่ายังไม่มีเพลงกำเมืองจำนวนหนึ่งหรือนักร้องคนเมืองคนใดที่มีผลงานได้รับความนิยม และเป็นที่รู้จักและชื่นชมกว้างขวางเช่นอ้ายจรัล 23 ปีมาแล้ว นับเป็นเวลานานพอสมควร เคยมีความเห็นพ้องกันว่าช่วงเวลา 20-30 ปี เป็น a generation แปลว่า ยุคหนึ่ง หรือ สมัยหนึ่ง คำถามคือ ยุคหนึ่งหรือสมัยหนึ่งผ่านไปแล้ว แต่เหตุใด ยังไม่มีศิลปินคนใดเข้ามาแทนศิลปินล้านนา นามว่า “จรัล มโนเพ็ชร” ได้เล่า??

บททดลองเสนอคำตอบ ปัจจัยรอบตัว พัฒนาการ สิ่งที่สร้างไว้ของ ‘จรัล มโนเพ็ชร’

บททดลองเสนอคำตอบที่จะเสนอต่อไปนี้เกิดจากความพยายามที่จะ 1. ศึกษาปัจจัยต่างๆ ในช่วง 50 ปี (พ.ศ. 2444-2494) ที่ล้อมรอบตัวของจรัล, ครอบครัวของเขา และเมือง 2. มอง 26 ปี (พ.ศ. 2494-2520) ของตัวจรัลและพัฒนาการของเขา ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่ล้อมรอบตัวเขา 3. มอง 24 ปี (พ.ศ. 2520-2544) ของตัวจรัลและพัฒนาการของเขา รวมทั้งปัจจัยที่ล้อมรอบตัวเขา และ 4. มอง 23 ปี (พ.ศ. 2544-2567) จากปีที่เขาจากไปเหลือแต่ชื่อเสียง, ผลงาน, สังคม และสิ่งที่หลงเหลือเป็นแหล่งศึกษา-รำลึกถึง ฯลฯ 

นี่น่าจะเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์สำคัญชิ้นหนึ่ง แต่ในเวลาอันจำกัดนี้ ข้อเสนอนี้ยังห่างไกลมาก แต่เป็นเพียงประเด็นและข้อสังเกตเพราะไม่มีรายละเอียดหรือการศึกษาเจาะลึกอะไร ขอท่านผู้อ่านได้ช่วยพินิจทบทวนและคิดว่ามีตรงไหนผิดพลาดหรือขาดหาย ควรเพิ่มเติมเพื่อการศึกษาค้นคว้าต่อไปในอนาคต

ช่วงที่ 1  ล้านนา-สยาม และย่านประตูเชียงใหม่ในห้วง 50 ปีก่อนจรัลถือกำเนิด (พ.ศ. 2494) 

1. สนธิสัญญาเชียงใหม่ พ.ศ. 2417 ลงนามโดยสยามและอังกฤษ  ให้อำนาจแก่สยามในการบริหารจัดการไม้สักในล้านนามากขึ้น  อิทธิพลของสยามในเมืองเชียงใหม่จึงเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ปีเดียวกัน สยามได้ส่งขุนนางขึ้นไปบริหาร 3 หัวเมือง (เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง) โดยตรงเป็นครั้งแรก

2. พ.ศ. 2429  เจ้าดารารัศมี (2416-2476) ธิดาองค์สุดท้องของเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ (2360-2440) วัย 13 ปีไปถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาของในหลวงรัชกาลที่ 5 ตามคำสั่ง นับเป็นหมุดหมายสำคัญยิ่งของยุคสมัย

3. พ.ศ. 2442  สยามยกเลิกฐานะประเทศราชของล้านนาและผนวกดินแดนล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของสยามรัฐ ส่วนฐานะของเจ้าหลวงในแต่ละเมืองให้ดำรงตำแหน่งต่อไป  แต่ไม่มีอำนาจใดๆ ต่อจากนั้นสยามได้ออก พ.ร.บ. ลักษณะปกครองสงฆ์ พ.ศ. 2445 ให้สยามบริหารคณะสงฆ์อย่างเป็นเอกภาพทั่วประเทศ

4. ช่วง พ.ศ. 2445-2456  สยามค่อยๆ สถาปนาโรงเรียนประถมของรัฐในท้องถิ่นต่างๆ และให้สอนภาษาไทยเป็นมาตรฐาน ให้ยุติการเรียนสอนและการใช้ตัวอักษรล้านนาทั้งที่โรงเรียนและวัดต่างๆ

5. พ.ศ. 2457 เจ้าดารารัศมีเสด็จกลับเชียงใหม่เป็นการถาวรหลังในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต

6. ปลายทศวรรษ 2450-ต้นทศวรรษ 2460  สยามสร้างศาลากลางจังหวัด เร่งขยายโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย คุ้มหลวงเวียงแก้วทรุดโทรมจนต้องรื้อเพราะไม่มีคนอยู่, เจ้านายกระจัดกระจายไปสร้างบ้านตามที่ต่างๆ,  มีการก่อกำแพงสร้างเรือนจำจังหวัดข้างศาลากลางฯ, ข้างประตูเชียงใหม่ด้านนอกเป็นชุมชนชาวไท-เขินจากเชียงตุง ด้านในเป็นตลาด มีวัดฟ่อนสร้อย (สร้างในปี 2031) และรอบๆ เป็นบ้านของสกุล ณ เชียงใหม่และคนรับใช้

6. ครูบาศรีวิชัย (2421-2482) ถูกนำตัวไปสอบสวน 2 ครั้งที่กรุงเทพฯ ครั้งแรกในปี 2463 และครั้งที่ 2 ในปี 2478 (หลังสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพเสร็จ 30 เม.ย. 2478) ข้อหาละเมิด พ.ร.บ. คณะสงฆ์ 2445  โดยก่อนหน้านั้น ท่านเคยถูกสงฆ์และจังหวัดลำพูนลงโทษหลายครั้งในข้อหาละเมิด พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะการบวช (อุปัชฌาย์) พระและสามเณร  ที่ครูบาศรีวิชัยยืนหยัดทำแบบจารีตเดิมของล้านนาที่เรียกว่า “หัวหมวดวัด” บริหารกันเอง ปรึกษาหารือและเลือกตั้งกันเอง ฯลฯ 

7. พ.ศ. 2493 เจ้าต่อมคำ ณ เชียงใหม่ (2467-2535) สมรสกับน้อยสิงห์แก้ว มโนเพ็ชร  เจ้าต่อมคำเป็นมารดาของจรัล เป็นธิดาเจ้าหนานดวงฤทธิ์ และเป็นหลานของเจ้าบุรีรัตน์ – ดูแลฝ่ายตุลาการของเวียงเชียงใหม่ บ้านของเจ้าบุรีรัตน์อยู่ฝั่งตรงข้ามของวัดฟ่อนสร้อย ใกล้ประตูเชียงใหม่ บ้านของเจ้าต่อมคำก็ไม่ไกลจากบ้านของคุณตา 

โดยสรุป ล้านนาสูญเสียอัตลักษณ์แทบทุกด้านในช่วงเกือบ 100 ปี ด้านพุทธศาสนา ยังคงมีข้อแตกต่าง

ช่วงที่ 2 (พ.ศ. 2494-2520)  จรัล มโนเพ็ชร ในช่วง 26 ปีแรกของชีวิต   

น้อยสิงห์แก้ว มโนเพ็ชร (2462-2549) พ่อของจรัล เคยบวชเรียนมาก่อน มีความสามารถอย่างสูงด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา เก่งในด้านจัดขบวนแห่ การตัดและตกแต่งโคม-ตุง เล่นดนตรีพื้นเมืองได้ดีมากโดยเฉพาะซึงและสะล้อ เก่งด้านภาษาล้านนา การใช้ถ้อยคำ, การแต่งเพลง ร้องเพลงและขับจ๊อย-ซอ และเมื่อบวกกับความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของล้านนาจากเจ้าต่อมคำแม่ของจรัล ส่งผลให้จรัลรับเอาข้อดีของพ่อและแม่มาได้ทั้งหมด  

พ.ศ. 2496  หนังสือพิมพ์คนเมือง เกิดขึ้นโดยคนท้องถิ่นในตัวเมืองเชียงใหม่ เปิดคอลัมน์อู้กำเมือง จัดงานขันโตก-ดินเน่อร์ เลี้ยงอาหารเหนือในงานเลี้ยงข้าวแลงแบบตะวันตก และรณรงค์ให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ. 2503  เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ได้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ  อภิปรายในสภาเป็นกำเมือง 

พ.ศ. 2504-2518  วัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้าไทย นำโดยเอลวิส เพรสลี่ย์-คลิฟ ริชาร์ด-เดอะ บีทเทิ้ล นำกีต้าร์เข้ามาขย่าหัวใจวัยรุ่น เขาชื่นชมดนตรีและเพลงตะวันตก  ใช้เวลาไม่นาน คนดีดซึงเก่งก็กลายเป็นนักกีต้าร์มือดี ปี 2518-2519 จรัลผสมผสานดนตรีสากลกับการใช้เนื้อเพลงกำเมืองเป็น “โฟล์คซองคำเมือง”

ช่วงที่ 3 (พ.ศ. 2520-2544) โมงยามแห่งความรุ่งโรจน์ ฟื้นฟูวัฒนธรรมล้านนา

ด้วยความไพเราะของเนื้อเพลงและท่วงทำนอง โฟล์คซองคำเมืองของจรัลโด่งดังไปทั่วประเทศ เขาไปเปิดร้านอาหารคนเมืองและร้องเพลงที่เมืองกรุง จากนั้นกิจกรรมก็ขยายออกมีทั้งละครเวที ภาพยนตร์ งานการกุศล จรัลจัดให้เยาวชนลำพูนฝึกแต่งและเล่นละครที่มีเนื้อหาท้องถิ่น ให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชน เชิญศิลปินในท้องถิ่นล้านนาให้มาร่วมแสดงฝีมือ ริเริ่มโครงการสำนึกรักสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ช่วงที่ 4 (พ.ศ. 2544-2567) 23 ปีที่อ้ายจากไป คนเมืองยังร้องเพลงของอ้ายไม่ลืม

จรัลจากไปในปี 2544 ด้วยวัย 50 ปี ขณะกำลังเตรียมจัดงานใหญ่ฉลอง “25 ปีโฟล์คซองคำเมือง” (2519-2544) 23 ปีที่อ้ายจากไป คนเมืองยังร้องเพลงของอ้ายไม่ลืม ปี้สุนทรี เวชานนท์เคยฝันว่าได้ร้องเพลงใหม่ที่อ้ายจรัลแต่งบ้างไหมหนอ? แต่ 23 ปีมานี้ ไม่มีจรัลและจนป่านนี้ก็ยังหาใครมาแทนไม่ได้

คิดถึงปู่ย่าตายาย อุ๊ยหม่อนที่อยู่ห่างไกลหรือบนท้องฟ้า ก็ร้องเพลง “อุ๊ยคำ” “ตากับหลาน” “สองเฒ่า”

คิดถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ก็ขับขาน “ล้านนา” “หมะเมียะ” “เจ้าดวงดอกไม้” “เจ็ดร้อยปีเชียงใหม่”

คิดถึงท้องถิ่น คิดถึงต่างจังหวัด ก็ขับขาน “สาวเชียงใหม่” “ล่องแม่ปิง” “ลูกข้าวนึ่ง”   “ของกิ๋นบ้านเฮา”  “ผักกาดจอ” “สาวมอเตอร์ไซค์” “มิดะ”

คิดถึงชีวิตในท้องถิ่นที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน ก็ขับร้อง “สาวโรงบ่ม” “สามล้อ” “แม่ค้าปลาจ่อม” “ลุงต๋าคำ”

คิดถึงสิ่งแวดล้อมและโลกที่อาศัย ก็ร้องเพลง “ศิลปินป่า” “บ้านบนดอย” “น้ำแม่ปิง”

คิดถึงชีวิต-การต่อสู้ของคนในเมือง ก็ขับขาน  “กลับบ้านไม่ได้”  “แด่หนุ่มสาวผู้ร้าวราน” “คิดถึงบ้าน” 

คิดถึงชีวิตที่ต้องต่อสู้  อยู่อย่างมีความหวังเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ก็ร้องเพลง “ลมเหนือ” “ให้ฉันฝันต่อ” “รางวัลแด่คนช่างฝัน” “หวังเอย หวังว่า” “ความหวัง ความฝันของวันนี้” ฯลฯ

จาก “วง มช.สะล้อหวาน” ถึงการศึกษาในท้องถิ่น

หากมองย้อนไปในช่วง 24 ปีของการทำงานของจรัล (2520-2544) เขามีเรื่องราวดีๆ และเป็นคุณูปการทั้งหมด 5 เรื่อง แก่แผ่นดินล้านนา คือ 1. เขาแต่งและขับร้องเพลงให้ผู้คนมีความสุข-ความบันเทิง 2. เขาแต่งเพลงและขับร้องเพลงให้คนรู้จักประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่น และศิลปวัฒนธรรมที่มีมายาวนาน 3. เขาแต่งและขับร้องเพลงให้คนฟังมีกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่และสู้ต่อไป 4. เขาแต่งและขับร้องเพลงให้คนเรารักและเห็นใจกันใส่ใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสังคม และ 5. เขาไม่เพียงแต่ง-ขับร้องและฝัน หากได้ลงมือทำด้วยการจัดตั้งกลุ่มเยาวชน ให้ทุนการศึกษา และสนับสนุนศิลปินท้องถิ่นได้ทำงาน เผยแพร่ความรู้ท้องถิ่นให้กว้างขวางออกไป

จากที่กล่าวมาข้างต้น บวกกับเมื่อได้เห็นและฟังคณะนักเรียน-นักศึกษาและอาจารย์กลุ่มเล็กๆ วง มช.สะล้อหวาน ขับขานเพลงของอ้ายจรัลและเล่นดนตรีผสมผสานกันอย่างไพเราะ ผมก็เกิดคำถามว่าในเมื่อประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นสมบัติร่วมของทุกคนในท้องถิ่นแต่เหตุใดผู้คนจึงให้ความสนใจและสนับสนุนไม่มากนัก

ปีนี้มหาวิทยาลัยที่คนเชียงใหม่เคยรณรงค์ขอมีเหมือนที่กรุงเทพฯ ได้ฉลองการก่อตั้งที่มีอายุครบ 60 ปี (2507-2567) แต่ 60 ปีผ่านไป สถาบันนี้มีถึง 20 กว่าคณะและโครงการต่างๆ นับร้อย แต่กลับไม่มีองค์ความรู้ร่วมกันเรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่น และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น  สิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น ที่ควรจะเป็นสมบัติร่วมของทุกๆ คนในสถาบัน

การไม่มีวิชาเหล่านี้เป็นวิชาพื้นฐานในชั้นปี 1-2 แต่เป็นเพียงวิชาอื่นๆ และต่อจากนั้นก็เป็นวิชาเอกของคณะและวิชาโทของแต่ละคน อาจจะพูดได้ว่าเนื่องจากระบบการศึกษาของเรามีลักษณะแยกส่วน นั่นคือการมุ่งสร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น แพทย์ เภสัชกร วิศวกร นักบัญชี ครู นักดนตรี ฯลฯ และด้วยกรอบกำหนดดังกล่าว แต่ละคณะจึงพยายามบรรจุวิชาเรียนตามที่ตั้งเป้าไว้ให้มากที่สุด แต่ลืมไปว่าวิชาร่วมของคนเราที่ต้องอยู่ร่วมกันช่วยกันดูแลและแก้ไขปรับปรุงปัญหาร่วมของสังคมนั้นเขาจะได้เรียนรู้มากแค่ไหนและจากที่ใด

น่ามหัศจรรย์อย่างยิ่งที่แม่ของจรัลและญาติฝ่ายแม่ได้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นรากฐานให้เด็กชาย และพ่อก็พร่ำสอนการเล่นดนตรีล้านนาแต่ละชนิด สอนตัวเมืองและเพลงต่างๆ ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมล้านนาจนจรัลเจนจบ ส่วนตัวนักเรียนที่เผชิญระบบการศึกษาที่ยอดเยี่ยมแบบนี้ ก็จะเป็นผลของระบบการศึกษาแต่วัยเด็กที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียนใฝ่ซักถามและค้นคว้าพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นผลของสามประสานที่ไม่มีอยู่ในหลายสิบปีมานี้ และด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่อาจมีใครขึ้นมาแทนจรัลได้ในยุคสมัยปัจจุบัน หรือ 20 กว่าปีที่ผ่านมา  

หลายคนอาจแย้งว่าก็มีการสอนวิชาเหล่านั้นบ้างแล้วในชั้นมัธยม แต่เราลืมไปว่าเพราะการศึกษาของเรามุ่งไปที่การสอบเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา ยิ่งไปกว่านั้น ยังแบ่งแยกการเรียนระดับมัธยมไปเป็นสายวิทยาศาสตร์และสายศิลปะ ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นกลายเป็นการจัดลำดับความสำคัญของสายหนึ่งที่สังคมตัดสินว่าเก่งกว่าอีกสายหนึ่งหลายสิบเท่า

นอกจากนี้การเรียนก็ยังเป็นการสอนแบบท่องจำ สอบแบบปรนัยเป็นหลัก ไม่ส่งเสริมการซักถามและอภิปรายในห้องเรียน ไม่ส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้ความคิดและการวิเคราะห์อันเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาสติปัญญาหลังจากการศึกษา ฯลฯ    

เมื่อการเรียนในระดับมัธยมมุ่งเน้นไปที่การเรียนเพื่อสอบให้จบและสอบติดคณะในมหาวิทยาลัยที่ตนเองใฝ่ฝัน จึงมีการมุ่งกวดวิชา การไปแสวงหาครูฝีมือดี การเรียนที่หนักมากเกินไปทั้งช่วงหลังเลิกเรียนและสุดสัปดาห์ แทบไม่มีเวลาในการอ่านหนังสืออื่นๆ และทำกิจกรรมอื่นๆ ดังนั้นการเรียนชั้นมัธยมจึงมิใช่การเรียนเพื่อความรู้และเป็นรากฐานในการเข้าใจโลกที่เป็นจริง แต่เป็นแค่บันไดเลื่อนขั้นเรียนให้ผ่านและเรียนเพียงเพื่อการสอบเข้าในชั้นอุดมศึกษา

จรัล มโนเพ็ชร จบการศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิค แต่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น-ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นผลมาจากการเรียนรู้จากพ่อและแม่ ครอบครัวและปัจจัยภายในของเขาเอง หลายสิบปีมานี้ใครเล่าที่มีโอกาสแบบนั้น คำตอบก็คือสังคมต้องการระบบการศึกษาที่ดีเพื่อสร้างคนคุณภาพ

คำถามคือ 24 ปีของการทำงานของศิลปินผู้นี้ (2520-2544) ซึ่งได้แพร่หลายออกไปทั่วประเทศ  ได้ส่งผลสะท้อนมายังสถาบันการศึกษาต่างๆ อย่างไร แต่เพราะการจัดการศึกษาแบบรวมศูนย์อำนาจ ถูกต้องที่สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ กำหนดให้มีวิชาเอกของแต่ละคณะ แต่องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์-ศิลปวัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อมท้องถิ่นเล่าอยู่ที่ไหน กลายเป็นว่าคนที่รู้ก็คือคนสนใจไปศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ด้วยเหตุนั้น ชมรมต่างๆ จึงมีกลุ่มคนจำนวนน้อยเข้าร่วม แต่ละสถาบันมีไว้เพียงเพื่อจะบอกใครๆ ว่า “เราก็มีนะ”

น่าคิดมากว่า 24 ปีของการทำงานอย่างหนึ่ง เปรียบเทียบกับ 60 ปีของการศึกษาที่เน้นอีกอย่างหนึ่ง สังคมของเราจะศึกษาเก็บรับบทเรียนจากปัญหานี้อย่างไร สถาบันชั้นสูงที่ใช้งบประมาณของรัฐจำนวนมหาศาลควรจะสร้างชนชั้นนำทางสติปัญญาไปนำพาสังคมไปในทางทิศใด

หลายปีมานี้ โบราณสถานในแต่ละท้องถิ่นชำรุดทรุดโทรม กระทั่งถูกทำลาย คนท้องถิ่นมีบทบาทน้อย ศิลปวัฒนธรรมและภาษาท้องถิ่นอ่อนล้าและถูกทอดทิ้ง คนรุ่นใหม่ไม่สนใจที่จะสืบสานภาษาของพ่อแม่และบรรพบุรุษอีกแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องเมือง แม่น้ำลำคลอง ป่าไม้ ขยะ ฝุ่นควัน การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ฯลฯ นับวันเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้นๆ

ศิลปินคนหนึ่งทำงาน 20 กว่าปีแล้วก็จากไปเมื่อปี พ.ศ. 2520 ที่เพลงของจรัลเริ่มส่งเสียงเพลง  สถาบันอุดมศึกษายังไม่มีแม้แต่คำว่า “สหวิทยาการ” หรือคำว่า “มหาวิทยาลัยรับใช้ชุมชน”  มีเพียงชมรมศิลปวัฒนธรรม ชมรมดนตรีพื้นบ้าน  (ไม่มีชมรมรื้อฟื้นภาษาท้องถิ่น) และที่ว่ามีก็เป็นเพียงชมรมไม่ใช่เข็มมุ่งของสถาบันหลัก

อีกกี่ปีหนอต่อจากนี้ไปที่สังคม, นักการศึกษา, ผู้บริหารสถาบันการศึกษาแต่ละระดับ, ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นและสมาชิกสภา, ข้าราชการส่วนภูมิภาค, ผู้บริหารระดับกรมและกระทรวงการศึกษา สภาฯ และผู้บริหารของประเทศนี้จะตระหนักถึงความผิดพลาดที่ได้เกิดขึ้นตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา??

ข่าวที่เกี่ยวข้อง