พฤษภาคม 7, 2024

    เราล้วนสมดุลซึ่งกันและกัน

    Share

    เรื่องและภาพ : ธันย์ชนก กันธิยาใจ, นันทัชพร ศรีจันทร์


    ในวันนี้โลกนี้เต็มไปด้วยวิกฤตและปัญหาสิ่งแวดล้อม เราก็มักจะกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอว่า ตัวเราจะสามารถทำอะไรเพื่อแก้ปัญหานี้ได้บ้าง? ชนกนันทน์ นันตะวัน หรือ หนุ่ย จากกลุ่มสม-ดุลเชียงใหม่ ที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคน สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำสิ่งดี ๆ เพื่อปรับสมดุลของธรรมชาติได้ โดยไม่อิงแค่ที่เชียงใหม่ แต่มันโยงใยไปสู่สังคมที่เต็มไปด้วยปัญหา ก่อนที่จะหยุดเพื่อทำความเข้าใจปัญหาเหล่านั้น และลงมือลงแรงสร้างสมดุลให้กลับมาก่อนจะเกินแก้

    เริ่มต้นก่อนสมดุล

    “เราเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี ที่มาอยู่เชียงใหม่เพราะมาเรียนมหาวิทยาลัย แล้วก็อยากออกจากสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ถึงจะเกิดที่อุบลฯ ก็ไม่ได้มีความรู้สึกผูกพัน ด้วยความที่เป็นเพียงจังหวัดที่เกิด ชีวิตก็มีแค่ที่บ้านกับโรงเรียน เลยอยากออกจากบ้านไปอยู่ที่ใหม่ ๆ และที่เลือกมาเชียงใหม่ เพราะพระธาตุดอยสุเทพเป็นพระธาตุประจำปีเกิดด้วย ตอนนั้นก็เลยคิดว่ามาอยู่ใกล้สิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ”

    หนุ่ยเล่าว่าตอนที่ยังเรียนอยู่ ตัวหนุ่ยเองมีความสนใจที่หลากหลายมาก แต่เรื่องที่สนใจเป็นพิเศษก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเรียนกฎหมายสิ่งแวดล้อมแล้วสนุกกับการเรียน เวลาที่มหาลัยมีค่ายก็ไป เรียกว่าเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง พอเรียนจบก็มีโอกาสได้ช่วยอาจารย์ทำโปรเจกต์เกี่ยวกับประเด็นคนไร้บ้าน ในมุมมองสิ่งแวดล้อมเมืองและผังเมือง ในแง่สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

    ชนกนันทน์ นันตะวัน หรือ หนุ่ย จากกลุ่มสมดุลเชียงใหม่

    “เราเห็นสิ่งแวดล้อมที่คนไร้บ้านอยู่ ในพื้นที่สีเทา ๆ หมายถึง น้ำเสีย ขยะเยอะ อยู่ในมุมมืดของเมือง จึงมีความสนใจเรื่องคน สิ่งแวดล้อม เมือง จนกระทั่งความรับรู้ของเราชัดเจนขึ้นตอนได้ทำงานในศูนย์ประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภาคเหนือ ทำหน้าที่รับเรื่องแล้วส่งต่อไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอีกที แต่ก็รู้สึกว่าการรับเรื่องตรงนี้มันล่าช้า ค่อนข้างที่จะเป็นระบบราชการ ซึ่งประเด็นที่มาขอความช่วยเหลือเป็นเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรทั้งดิน น้ำ ป่า กฎหมายอุทยานฯ เราเลยรู้สึกว่าเราต้องทำอะไรบางอย่าง เพราะเห็นว่ากฎหมายของประเทศไทยมีปัญหา และเห็นว่าแต่ละเรื่องที่เข้ามาเป็นปัญหาปลายเหตุ ต้องเกิดปัญหาก่อนจึงจะมีกฎหมายมาแก้ จึงเกิดคำถามกับตัวเองว่าจะเป็นไปได้มั้ยที่เราจะเข้าไปทำงานที่ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ว่าจะเป็นคน ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมที่คนเหล่านั้นอยู่”

    “การออกแบบผังเมืองมีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะทฤษฎีอาชญาวิทยาในยุโรป เรามักจะหาสถานที่เกิดเหตุ ตามรอยคนร้ายได้จากผังเมือง ความเป็นบริบทพื้นที่ คน และพฤติกรรมมันมีความสอดคล้องกัน แต่พอมาฝั่งบ้านเราไม่มีรากความคิดนี้ โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ มีลักษณะเป็นเมืองซ้อนเมือง เป็นเมืองที่โตภายใต้เมืองเก่า ในด้านของโครงสร้างเมืองเติบโตแบบไร้ทิศทาง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติ มีการใช้พื้นที่เกษตรกรรมไปทำบ้านจัดสรร ใช้พื้นที่เมืองสะเปะสะปะ วัดโรงเรียน สถานบันเทิง โรงแรมมันอยู่ร่วมกันหมดเลย”

    หนุ่ยเล่าต่อว่า ในมิติของมนุษย์กับความสัมพันธ์ของพื้นที่ล้วนสัมพันธ์และแยกขาดออกจากกันไม่ได้ เช่น ปัญหามันเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีทั้งตลาดห้าง โรงแรม สถานบริการ เป็นพื้นที่ที่คนเข้าออกเยอะและต้องใช้คนเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรม เช่น ย่านตลาดก็จะมีคนที่มาจากข้างนอก ขนผลผลิตเข้ามาด้านในเป็นครั้งคราวเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อย ๆ จะเห็นคนที่เป็นแม่ค้า แรงงานเข็นของ พูดแบบสรุปรวมก็คือในพื้นที่เดียวกันซึ่งเป็นย่านธุรกิจมูลค่าในพื้นที่จึงที่สูงมาก มีคนหลายระดับมากตั้งแต่รวยมาก จนกระทั่งแรงงานรับจ้าง ใช้พื้นที่เดียวกันอยู่

    “พอเรามองด้วยมุมมองทุนนิยม เรามองว่าคนที่สามารถใช้พื้นที่นั้นได้อย่างอิสระและเป็นเจ้าของได้ คือคนรวย คนที่มีเงินเท่านั้น ไม่มีพื้นที่สำหรับคนที่มีรายได้น้อยในพื้นที่เศรษฐกิจเลย แต่ในเชิงกลไกเราขาดคนเหล่านี้ไม่ได้ทุกคนคือฟันเฟือง แต่เมืองและผังเมือง รวมถึงคนออกแบบกฎกติกา ไม่ได้บรรจุคนเหล่านี้ลงไปในความคิด ในแผนมันเลยทำให้คนที่เป็นแรงงานที่มีทุนน้อยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่มันเป็นฟันเฟืองตรงนั้น”

    บทเรียนสำคัญที่หนุ่ยได้เรียนรู้จากการทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนไร้บ้านนั้น ได้พาให้หนุ่ยได้ตั้งคำถามกับกฎหมายว่ากฎหมาย หรือนโยบายต่าง ๆ ต้องออกแบบโดยคำนึงถึงคนทุกระดับ ไม่งั้นปัญหาความเหลื่อมล้ำจะไม่มีวันหมดไปจากสังคม ขณะเดียวกัน เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นความสนใจตั้งแต่เริ่มต้นของหนุ่ยก็วนกลับมาให้คิดถึง

    “หลังจบโปรเจกต์คนไร้บ้าน เลยไปสมัครเป็นผู้ช่วยวิจัยที่ Reginal Center foe Social Science and Sustainable Development (RCSD) เป็นศูนย์พัฒนาบัณฑิตศึกษา และความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศ ทำให้ได้เรียนรู้ผู้คน เห็นกระบวนการร่วมแก้ไขปัญหาของคน ทำไปประมาณ 4-5 ปี เริ่มอิ่มตัว เราเข้าใจคนมากขึ้นก็จริง แต่ปัญหาของสังคมไม่ได้มีแค่มนุษย์ แต่ยังมีอย่างอื่นที่ไม่ใช่คน ก็คือสิ่งแวดล้อม ก็เลยรวมตัวกันกับเพื่อน ๆ มาทำสมดุลเชียงใหม่ สมดุลเชียงใหม่คือมนุษย์เข้าใจและเคารพในธรรมชาติ และเราต่างดูแลกัน”

    ก่อนหน้าที่จะเป็นสมดุลเชียงใหม่ในทุกวันนี้ หนุ่ยตั้งต้นจากการทำงานร่วมกับสภาลมหายใจ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของภาคประชาสังคมในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อตอนที่ไฟไหม้ใหญ่ดอยสุเทพ ในปี 2562 โดยหนุ่ยได้เข้าไปทำงานข้อมูล ในช่วงเวลานั้นความเข้าใจเรื่อง PM2.5 เกิดจากไฟป่า คนที่อยู่กับป่ากลายเป็นจำเลย เกิดการชี้นิ้วของคนเมืองไปยังคนที่อยู่กับป่า

    “เราพยายามสื่อสารเรื่องฝุ่นควันไปยังคนเชียงใหม่ผ่านสภาลมหายใจเชียงใหม่ ว่าสาเหตุของฝุ่นควันนั้นมีหลายสาเหตุ ในเมืองก็มี PM 2.5 จาก ควันรถ ร้านอาหาร อุตสาหกรรม บริเวณชานเมืองก็จะมีการใช้ไฟของเกษตรกรเพื่อเปิดหน้าดินในการเพาะปลูก รวมถึงมีการใช้ไฟในการดูแลป่า อย่างป่าผลัดใบนั้น คนกับป่าเรียนรู้เรื่องไฟและมีวิวัฒนาการร่วมกันมากว่า 40,000 ปีแล้วนะ เนื่องจากป่าผลัดใบมีใบไม้เป็นเชื้อเพลิงชั้นยอด จึงควรมีการจัดการเพื่อไม่ให้มีใบไม้ที่ทับถมมากเกินไป นอกจากนี้ด้านอุทยานได้ใช้ความรู้เกี่ยวกับไฟในการจัดการป่าอยู่แล้ว ซึ่งทางรัฐก็มีงบประมาณสำหรับตรงนี้ แต่ไม่ได้มีการชี้แจงเนื่องจากภาพที่คนในเมืองจะเห็นก็คือไฟป่า ดังนั้นจึงควรเป็นการร่วมมือกันระหว่างคนในเมือง และคนกับป่า หากเราสามารถควบคุมได้ เราก็สามารถควบคุมฝุ่นได้” 

    “หากเราจะอนุรักษ์ป่า เราไม่แทบจะไม่มีคำว่าคนอยู่ในนั้น แต่ในมุมมองของป่า ป่าอาจจะบอกว่าให้ไฟเปิดหน้าดินเพื่อให้เมล็ดของฉันได้ขยายพันธุ์ แต่ในปัจจุบันมีเส้นแบ่งชัดเจนในเรื่องคนกับป่า คนไม่ได้ใส่ใจเรื่องธรรมชาติเท่าไหร่นัก มองว่าป่าเป็นเครื่องนันทนาการ มีไว้เพื่อพักผ่อน เพื่อความสบายใจ 

    มันเกิดอะไรขึ้นไม่รู้นะกับชุดความคิดที่ว่าคนต้องอยู่ในเมืองเท่านั้น แต่คนที่อยู่ในป่าเท่ากับบุกรุก ควรจะเปลี่ยนมุมมองว่ามีผู้คนหลายแบบ ที่สามารถเลือกถิ่นที่อยู่อาศัยได้ คนที่อยู่กับป่ามีการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เขารู้ว่าป่าจะให้ประโยชน์อะไรแก่เขา และเขาจะให้ประโยชน์อะไรแก่ผืนป่า”

    นี่คือสิ่งที่หนุ่ยต้องการเน้นย้ำเพื่อไม่ให้ลืมไปว่าป่ากับคนล้วนสมดุลซึ่งกันและกัน ทั้งนี้อีกปัญหาสำคัญที่ถูกทำเป็นมองไม่เห็น และถูกผลักให้กลายเป็นเรื่องส่วนบุคคลไป เรื่องนั้นคือพืชเชิงเดี่ยว

    “เราเคยไปศึกษาประเด็นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ถ้าเราตัดระบบอุตสาหกรรม และทุนนิยมออกทั้งหมด คนที่อยู่ในป่านี่เกื้อกูลกันมากนะ เหมือนกับคนในเมือง ที่เกื้อกูลระบบนิเวศน์ในเมือง ทุกคนต่างมีทางเลือก แต่พอโลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ต้องทำการผลิตขนาดใหญ่ ทรัพยากรป่าไม้ต่างถามหาความเป็นเจ้าของของทรัพยากรนั้นโดยเฉพาะรัฐ การขยายตลาดของพืชเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยว จึงเกิดการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของคนที่อาศัยอยู่กับป่า อย่างตอนนี้คนที่อยู่กับป่าถูกรุกเข้ามาด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้เกิดการเลือกว่าจะอยู่กับป่าเช่นเดิม หรือเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต”

    หนุ่ยย้ำอีกว่าถ้ามองในมิติของทุนนิยม การผลิตแบบอุตสาหกรรมย่อมตอบโจทย์ในเรื่องของรายได้ แต่หากมองถึงความยั่งยืน วิถีแบบดั้งเดิมก็ตอบโจทย์เหมือนกัน อย่างไรก็ดีคนในพื้นที่ชนบทเองก็ไม่สามารถต้านวิถีกระแสหลักไม่ไหว อย่างพืชเศรษฐกิจเองก็ยิ่งเห็นชัดว่ายิ่งปลูกมาก ยิ่งได้รายได้ แต่ต้องแลกกับการใช้พื้นที่เยอะ เกิดการขยายพื้นที่เพาะปลูก และปัญหาอื่น ๆ ตามมา

    “คนในเมืองก็จะมองว่าทำไมถึงทำให้ดอยถึงหัวโล้น แต่หากถอยออกมาอีกก้าวจะเห็นว่าการที่เขาทำลายทรัพยากรอาจเป็นเพราะทุนและรัฐ การได้รับการตีตราว่าเป็นพืชเศรษฐกิจ แน่นอนว่ารัฐต้องมีการสนับสนุน ทั้งการเข้าถึงปุ๋ย ยาและ สวัสดิการทางการเงิน แม้ไม่มีหลักประกัน คำถามคือแล้วใครได้ประโยชน์? ทุนได้ประโยชน์ คนกินเยอะ ก็ขายได้เยอะ ก็มีการสนับสนุนเกษตรกรให้ทำยอดได้เยอะ ๆ บีบให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจจำนวนเยอะ ๆ อีก เป็นห่วงโซ่แบบนี้ เลยมีการสื่อสารว่าถ้าไม่อยากให้ป่าหัวโล้นแบบนี้ ก็เอาคนเหล่านี้ออกจากพื้นที่”

    “เรามองว่าการที่มีกฎหมายออกมาบังคับใช้ให้คนออกจากป่าเนื่องด้วยเหตุรุกล้ำพื้นที่ป่า มันไม่แฟร์ เราไม่เคยตั้งคำถามว่าวงจรที่มันกดทับอยู่คืออะไร สื่อมวลชนในปัจจุบันก็แสดงให้เห็นแค่มุมเดียว ยิ่งคนรับรู้เพียงด้านเดียว กฎหมายก็ทำงานอัตโนมัติ กฎหมายก็จะเป็นฮีโร่จะตามหาตัวผู้ร้ายแล้วก็จบไป งานที่เรากำลังทำอยู่ก็เพื่อสื่อสารว่าเราทุกคนก็ต่างเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา”

    “เราเสนอว่าต้องทำข้อมูลให้เห็นว่าใครเป็นผู้ได้ประโยชน์ และผู้เสียประโยชน์ ซึ่งจะทำให้เห็นแนวทางในการออกนโยบาย หรือกฎหมายแบบไหนในการจัดการทรัพยากรร่วมกัน ถ้ามองภาพรวมของประเทศว่าใครได้ประโยชน์จากทรัพยากรมากที่สุด ก็คือ รัฐ และทุน ซึ่งคนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากที่สุดในประเทศก็มีไม่กี่กลุ่ม และพื้นที่ที่ถูกใช้ในการให้ประโยชน์แก่ระบบทุนก็คือพื้นที่ของรัฐ อย่างเช่น เชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำปาง เชียงราย จะเห็นพื้นที่เพาะปลูกอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เห็นภาพภูเขาหัวโล้นว่าปลูกสับปะรด มันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด ลำไย แต่ถ้าเรามองภาพที่กว้างขึ้นว่าผลผลิตเหล่านี้ไปอยู่ที่อุตสาหกรรม หรือถ้ามองถึงนโยบายเกี่ยวกับการเกษตรและอุตสาหกรรม ก็จะไปเอื้อกับอุตสาหกรรมที่กำลังไปได้ดีในช่วงเวลานั้น ในทางกลับกันไม่เคยเห็นนโยบาย หรือกฎหมายที่ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีสิทธิต่อรอง”

    ชนกนันทน์ นันตะวัน หรือ หนุ่ย จากกลุ่มสมดุลเชียงใหม่

    สิทธิที่จะมีอากาศหายใจที่ดี

    นี่เป็นเรื่องที่สภาลมหายใจพยายามผลักดัน เพราะว่าปัจจุบันนี้โลกเองก็กำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างชนชั้นยังคงสูงมาก หนุ่ยบอกว่าพอเอามาจับกับมิติสิ่งแวดล้อมยิ่งเห็นชัด เช่นเรื่องฝุ่น ก็มรหลายสิ่งที่คนทั้งสังคมไม่สามารถจับต้องได้เหมือนกันทั้งหมด ทั้ง หน้ากาก N95 เครื่องฟอกอากาศ ที่เป็นค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง และผลักให้คนส่วนหนึ่งกลายเป็นชายขอบ

    “แต่ถ้าอากาศดี ไม่มีมลพิษทางอากาศ แต่กลุ่มชายขอบเองก็ใช้ชีวิตลำบากอยู่แล้ว แล้วยิ่งซ้ำเติมด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อม หน้ากาก N95 ราคาเกือบร้อย เครื่องฟอกอากาศราคาหลายพัน แล้วยังต้องไปตั้งในห้องในบ้านที่มีโครงสร้างที่มิดชิด ปัญหาสิ่งแวดล้อมยิ่งไปถมความเป็นชายขอบสูงขึ้นไปอีก

    ตอนฝุ่นเชียงใหม่หนัก ๆ ผู้ว่าฯ ฉีดน้ำ แจกหน้ากากที่ไม่ใช่ N95 สั่งห้ามเผา จับชาวบ้าน ถึงบอกไงเรากำลังเข้าใจปัญหาแบบผิด ๆ แล้วเราก็แก้ปัญหาแบบผิด ๆ กันอยู่ โดยเฉพาะรัฐ แต่การกระทำของรัฐก็เป็นภาพสะท้อนของความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ในสังคม ถ้าคนในสังคมตระหนักถึงปัญหาและเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง การกระทำของรัฐก็จะเปลี่ยนไป

    เราจะมาหวังพึ่งรัฐให้หูตาสว่าง ในขณะที่คนในสังคมยังหูตาไม่สว่างไม่ได้ เราอาจจะเป็นคนส่วนน้อยก็ได้ที่ตระหนักถึงปัญหา แต่เพื่อนเราอีก 50 ล้านคนยังไม่ตระหนักถึงเรื่อง จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เชียงใหม่ยังมีฤดูฝุ่นไม่กี่ปี แต่แม่เมาะมีสารเคมีทั้งปี ผู้คนจะติดภาพว่าถ้าอากาศขุ่นมัวนั่นคือฝุ่น  แต่ที่แม่เมาะไม่ใช่ แม่เมาะมีมลพิษทางอากาศที่มองไม่เห็นอย่างซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งก็คือสารเคมีเหมือนกัน มลพิษทางอากาศคือมีมากกว่าฝุ่น ซึ่งคือสารเคมีที่มาจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่”

    ก้าวสู่ “สม-ดุล เชียงใหม่”

    จากการทำงานร่วมกับสภาลมหายใจเชียงใหม่ ค่อย ๆ ขยับเข้าสู่การรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ในนามเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ ที่ขับเคลื่อนประเด็นปัญหาฝุ่นควันมลพิษทางอากาศและประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ จนเล็งเห็นว่าน่าจะสามารถขยับขยายและไปได้ไกลกว่าเรื่องฝุ่นควัน

    “เราอยากปรับเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมที่ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิต ผู้คนและธรรมชาติเอื้อประโยชน์ต่อกัน และต้องเคารพซึ่งกันและกัน จึงเกิดการพัฒนาเป็น สม-ดุล เชียงใหม่”

    แม้จะเพิ่งก่อรูปในชื่อนี้ แต่ด้วยประสบการณ์ ความรัก และความเชื่อมั่นยังคงอบอวลอยู่ในบทสนทนาในครั้งนี้

    “พื้นที่ในการทำงานสมดุลเชียงใหม่ ตอนนี้ยังอยู่ในเชียงใหม่ ถ้าในระยะยาวจะมีเครือข่าย และทีมงานที่แข็งแรงกว่านี้ก็อยากขยายงานออกไปมากกว่านี้ เพราะปัญหาที่เจอไม่ใช่แค่ที่เชียงใหม่ เราอยากเผยแพร่อุดมการณ์ออกไป เรามองว่าเป็นหน้าที่ของทุก ๆ คนที่ตระหนักและรับรู้ถึงปัญหานี้ ซึ่งตอนนี้มีพื้นที่ที่เชียงดาว จอมทอง แม่แจ่ม เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ เราไปหาเพื่อน ๆ ที่มีอุดมการณ์ หลักการทำงานคล้ายคลึงกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เรามองว่าเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งบนโลก เป็น Global citizen เป็นมนุษย์ในโลกใบใหญ่ ที่อยากทำอะไรบางอย่างที่ดีต่อเรา ดีต่อโลก ณ ที่ใดที่หนึ่งในโลกนี้ ที่ใหญ่กว่าเชียงใหม่ หรือที่บ้าน”

    เทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่

    ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานที่เน้นการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาสร้างการมีส่วนร่วมในเรื่องสิ่งแวดล้อม ในปี 2564 เทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ลดการเผาและลดฝุ่นควัน ก่อนที่ปีนี้ 2565 เทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ จะกลับมาอีกครั้ง ในธีม Eat Healthy, Breath Happily

    “เทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่เริ่มมาจากแผนงานรณรงค์ในเรื่องวิถีการบริโภคและการกิน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อที่จะแก้ไขปัญหา PM 2.5 โดยใช้ศิลปะ ดนตรี สื่อ Workshop ร้านค้าต่าง ๆ ในการสื่อสารรณรงค์ ปีที่แล้วได้รับการตอบรับดีมาก ๆ ปีนี้กรีนพีซประเทศไทยเสนอเข้ามาเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน โดยมีกลุ่มสมดุลเชียงใหม่เป็น Organizer ภายในงานจะมีการรณรงค์ให้ผู้เข้าร่วมงาน และบูธร้านค้างดใช้พลาสติก รวมถึงมีเวิร์กช็อปเรื่องการคัดแยกขยะ เพื่อสื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งยังมีเวิร์กช็อป บล็อกพริ้นต์ลายผ้า สีจากดินธรรมชาติ จัดระบบนิเวศน์สวนขวด”

    หนุ่ยเล่าให้ฟังด้วยความตื่นเต้น พร้อมถึงเชื่อมโยงเข้าสู่ประเด็นอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อชี้ให้เห็นถึงการบริโภคของคนในเมือง เชื่อมโยงกับพื้นที่ในการปลูกอาหารเพื่อเป็นอาหารของสัตว์ของระบบอุตสาหกรรมรายใหญ่ เพื่อชี้ให้ทุกคนเห็นว่าเราต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน แบบที่แยกจากกันไม่ได้

    “ช่วงเดือนมีนาคม ถึงเมษายนของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาที่เกษตรกรใช้ไฟในการเผาเพื่อเปิดหน้าดินสำหรับการเกษตรในรอบปีถัดไป อีกทั้งยังเป็นการชี้เห็นว่าการบริโภคของเราส่งผลต่อการผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการก่อ PM 2.5  กล่าวคือชี้ให้เห็นตั้งแต่รากฐานของการผลิต อันได้แก่ เกษตรกร ผู้ผลิตและผู้บริโภคว่ามีส่วนร่วมในการสร้างมลพิษอย่างไร”

    “เทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ครั้งนี้ คือ สร้างความตระหนักรู้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมสามารถแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ตัวเรา และเพื่อเรียกร้องให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับประโยชน์จากการบริโภคของประชาชนออกมารับผิดชอบต่อปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นเชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งทางเราคาดหวังให้ผู้เข้าร่วมเทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ได้เห็นแนวทาง เพื่อเป็นแรงกระเพื่อมในการร่วมกันยุติปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เริ่มได้จากตัวเอง และเชื่อมโยงการบริโภคกับร้านค้ารายย่อยมากกว่าการพึ่งหา หรือผูกขาดการบริโภคจากอุตสาหกรรมรายใหญ่”

    นี่อาจจะเป็นย่างก้าวเล็ก ๆ แต่ว่าต่อเนื่อง ที่จะเชื่อมโยงพวกเราทุกคนให้สมดุลกันอย่างมั่นคงก็เป็นได้ : )

    “เทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ ครั้งที่2” จะจัดขึ้นในวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2565 นี้ ณ ป่าในเมือง แม่เหียะ เชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 17:00 น.

    รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/SomdulChiangMai

    เกี่ยวกับผู้เขียน  
    ธันย์ชนก กันธิยาใจ และ นันทัชพร ศรีจันทร์ โดยผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม (Journer) ภายใต้โครงการ JBB

    Related

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย” นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ...

    ชิวๆ กับความไม่แน่นอน: อารมณ์สายมูกับระบอบเวลาที่ยืดหยุ่น

    เรื่อง: ณีรนุช แมลงภู่* ในยุคสมัยที่การดิ้นรนทำมาหากินเพื่อให้อยู่รอดภายใต้เศรษฐกิจที่ผันผวนและอากาศแบบละติจูดเดียวกับ ‘สวรรค์’ เป็นประสบการณ์สามัญของคนทั่วไป เคยสงสัยไหมว่าทำไมเพื่อน ‘สายมู’ ของเราถึงยังมีเวลาไปกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระดังทั่วไทย สวมชุดขาวร่วมพิธีกกรรมเสริมแต้มบุญ...