‘คนจมฝุ่น’ พรรคการเมืองหาทางรอดนโยบายแก้ฝุ่นควัน ก่อนจะสายและตายกันหมด

ในช่วงเวลาที่ถนนทุกสายมุ่งสู่การเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาทุกที พรรคการเมืองแต่ละพรรคก็ต่างงัดนโยบายชูโรงออกมาให้ประชาชนได้เห็นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่ปกคลุมไปทั่วน่านฟ้าไทย สภาพความจริงที่ดำรงอยู่อย่างไม่มีมาตราการในการแก้ปัญหาจากรัฐบาลปัจจุบัน ผู้คนกำลังจมฝุ่น! เลือกตั้งคราวนี้ฝุ่นจะไปหรือจะอยู่

ภาพ :PM2.5 Forum

โดยเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อลมหายใจ และภาคีเครือข่ายได้จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนนโยบายการแก้ปัญหา PM2.5 และบทบาทพรรคการเมืองกับนโยบายการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายในการแลกเปลี่ยนมุมมอง รวมไปถึงแบบแผนขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมของการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เรื้อรังจนเป็นวิกฤต โดยตัวแทนพรรคการเมือง ประกอบไปด้วย จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ พรรคประชาธิปัตย์, มานพ คีรีภูวดล พรรคก้าวไกล, จักรพล ตั้งสุทธิธรรม พรรคเพื่อไทย, ธันวา ไกรฤกษ์ พรรคไทยสร้างไทย, ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช พรรคเพื่อชาติ และพงศ์พรหม ยามะรัต

ภาษีบาป-ก่อมากจ่ายมาก ดันกฏหมายควบคุมผู้ก่อมลพิษ

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม พรรคเพื่อไทย กล่าวจากมุมมองของการทำงานในฐานะฝ่ายค้านในสภาช่วงที่ผ่านมาว่าความพยายามในการแก้ปัญหาฝุ่นจากพรรคเพื่อไทยนั้นถูก ‘ซุกไว้ใต้พรม’ โดยฝ่ายบริหารไว้กว่า 400 วันนับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2565 ทั้ง ๆ ที่นายกรัฐมนตรีสามารถอนุมัติให้กฎหมายแก้ไขปัญหาฝุ่นเข้ารับหลักการที่หนึ่งได้โดยไม่ต้องผ่าน ครม.

ภาพ :PM2.5 Forum

กฎหมายแก้ไขปัญหาฝุ่นในช่วงก่อนที่จะยุบสภา ถูกปัดตกไปโดยกระทรวงต่าง ๆ ด้วยเหตุผลของความเกี่ยวพันกับ พ.ร.บ.การเงิน เกิดเป็นแรงผลักดันให้ตนและพรรค ตั้งใจที่จะผลักดันกฎหมายแก้ไขปัญหาฝุ่นไปจนกว่าปัญหาเหล่านี้จะหายไป หรือไม่ก็ลมหายใจของตนจะหมดไปเสียก่อน 

จักรพล ชูการแก้ไขปัญหาฝุ่นด้วยการใช้กฎหมาย ด้วยการประยุกต์ใช้ระบบ ‘PPP’ หรือ Polluter Pay Principle หรือคือการปรับเงินผู้ก่อมลพิษ ยิ่งก่อมากก็ยิ่งต้องจ่ายมาก โดยก้อนเงินที่ได้มาจากระบบนี้จะถูกแจกจ่ายไปให้กับกลุ่มที่ทำงานแก้ไขปัญหามลพิษ แต่ระบบการปรับเงินดังกล่าวกลายเป็นการยกกรอบการเจรจาในประเทศกลุ่มอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีการพูดถึงปัญหา PM2.5 มากเท่าที่ควร 

จักรพล เล่าต่อถึงการทำงานในฐานะโฆษกกรมการต่างประเทศ ว่าที่ผ่านมาเกิดการพูดคุยระหว่างตน กระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการเพิ่มภาษีนำเข้าเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดนเป็นไปได้ยาก เพราะสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งผลให้การเข้าไปยุ่งเกี่ยวในการจัดการธุรกรรมของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนกลายเป็นประเด็นทางความมั่นคง จำเป็นต้องมีการปรึกษากับกระทรวงกลาโหม

จักรพล ยังเสนอวิธีการเจรจากับต่างประเทศในประเด็นการนำเข้า-ส่งออก ที่เป็นสาเหตุให้เกิดกิจกรรมการเผาในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเสนอพรรคตนเป็นตัวแทนการเจรจาด้วยความเชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยมีอำนาจและศักดิ์ศรีมากพอที่จะเข้าไปเจรจากับกลุ่มทุนและประเทศเพื่อนบ้าน

การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพื่ออากาศสะอาดที่ยั่งยืน

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบายเชิงสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นโดยภาคประชาชน ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐช้ากว่าที่ควร แม้ว่าแนวทางจากภาคประชาชนจะมีรูปแบบชัดเจน มีแนวทางปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้ทันทีก็ตาม

ภาพ :PM2.5 Forum

จักรวาลธวัฒน์ ได้ชูการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ที่ดึงเอานักวิชาการและคนทำงานแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เข้ามาร่วมงานกับพรรคในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และด้วยความที่เป็นพรรคระดับกลาง จักรวาลธวัฒน์เชื่อว่าประชาธิปัตย์จะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมและผลักดันการกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมได้

นอกจากนี้ จักรวาลธวัฒน์ ยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของหลักเศรษฐศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งกระทบกับประชาชนและชุมชนโดยตรง และมองว่าภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางมากกว่านี้เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยหลักเศรษฐศาสตร์จะมีความสำคัญในการแจกจ่ายเงินเข้าไปเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รวมไปถึงการเป็นเจ้าของสมบัติสาธารณะ และชดเชยด้านภาษี

จักรวาลธวัฒน์ เล่าต่อถึงการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ในการสนับสนุนมิติต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้แก่ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมและมีส่วนได้ส่วนเสียด้วย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาที่ทั่วถึง และการนำผู้ก่อมลพิษมาร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

ปัญหาท้องถิ่นที่ท้องถิ่นไม่มีอำนาจ

ในส่วนของ มานพ คีรีภูวดล พรรคก้าวไกล ชูการทำงานของพรรคก้าวไกลเพื่อสนับสนุน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งก้าวไกลผลักดันร่าง พ.ร.บ. ที่มาจากทุกภาคส่วน รวมไปถึงร่างจากภาคประชาชน เพื่อที่ภาคประชาชนจะสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกรรมาธิการร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ อีกทั้ง มานพ ยังมองว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ ควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ออกมา

มานพ กล่าวต่อในประเด็นอำนาจท้องถิ่น ที่ตนพบปัญหาที่ต้องมีการเริ่มสื่อสารใหม่ทุกครั้งที่เปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ นายอำเภอ หรือหัวหน้าอุทยาน ในส่วนนี้พรรคก้าวไกลเสนอปรับปรุงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นด้วยการแจกจ่ายเม็ดเงินให้คนในพื้นที่ เพื่อที่จะสามารถพูดคุยออกแบบการจัดการทรัพยากรของตัวเอง ซึ่ง มานพ มองว่าควรบรรจุเรื่องนี้ไว้ พ.ร.บ.อากาศสะอาด

ภาพ :PM2.5 Forum

นอกจากนี้ มานพ ยังชูการร่วมมือกับภาคเกษตรกร ที่พรรคก้าวไกลดันการสนับสนุนด้วยการรับซื้อวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกร อีกทั้งยังยกประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มานพเสนอการตั้งมาตรฐานการนำเข้าพืชเกษตร ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายตามความเห็นของ มานพ ถ้าพรรคตนเข้ามามีอำนาจได้

ความเข้าใจถือเป็นประเด็นสำคัญในความคิดของ มานพ ในภาคเหนือที่ปัญหาฝุ่นมีปัจจัยส่วนใหญ่เกี่ยวโยงกับประเด็นป่าไม้ มานพเชื่อว่าปัญหาฝุ่นในภาคเหนือไม่สามารถแก้ไขได้หากคนทำงานขาดความเข้าใจในการจัดการระบบนิเวศป่าไม้ คนในพื้นที่จึงต้องมีอำนาจในการจัดการและตัดสินใจ ประยุกต์ใช้ความรู้ท้องถิ่นร่วมกับเทคโนโลยี

สุดท้ายมานพ ชี้ปัญหาที่ดินผิดกฏหมาย ที่เป็นสาเหตุให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่สามารถปรับตัวได้ จำเป็นต้องทำการเกษตรเพื่อตอบสนองนายทุนเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่สามารถประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจสีเขียวได้ โดยมานพ เชื่อว่าการแก้ปัญหาที่ดินผิดกฏหมายจะทำให้สามารถลดพื้นที่การเพาะปลูกได้ เนื่องจากชาวบ้านมีทางเลือกในการปรับตัว สามารถใช้พื้นที่เพาะปลูกในรูปแบบต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่นการใช้พื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น

คืนสิทธิที่จะมีอากาศสะอาดในการหายใจแก่ประชาชน

ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช พรรคเพื่อชาติ กล่าวถึงปัญหาการบริหารจัดการของรัฐที่มีการรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวคือการกระจายอำนาจการบริหารคืนสู่ท้องถิ่น จัดตั้งคณะทำงานที่ประกอบไปด้วยองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่จะเข้ามาทำงานตลอดทั้งปีเพื่อสามารถแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ภาพ :PM2.5 Forum

ปวิศรัฐฐ์ เสนอผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ต่อไม่ว่าพรรคตนจะได้เข้าไปทำงานในฐานะรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ตาม โดยจะผลักดันกฏหมายว่าด้วยสิทธิที่จะมีอากาศสะอาดในการหายใจ ซึ่งสามารถฟ้องร้องรัฐบาลถ้าถูกละเมิดสิทธิดังกล่าว อีกทั้งยังเสนอบทลงโทษแก่ผู้ก่อมลพิษให้กลายเป็นโทษทางอาญา เพราะตนมองว่าการก่อมลพิษถือเป็นการฆ่าคนทางอ้อม

ปวิศรัฐฐ์ กล่าวต่อถึงการผลักดันวาระฝุ่นให้กลายเป็นวาระแห่งโลก ที่ควรออกกฎหมายให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการออกมาเป็นผู้นำในประเด็นหลักการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาฝุ่นควัน 

ถัดมา ปวิศรัฐฐ์ เสนอแนวทางปฏิบัติให้กับองค์กรปกตรองส่วนท้องถิ่น เสนอให้มีการสร้าง ‘ห้องปลอดฝุ่น’ ให้คนในชุมชนมีสิทธิ์เข้าถึงอากาศสะอาดได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และเสนอให้มีการสนับสนุนเครื่องมือการเกษตรแก่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อลดการเผาสำหรับการเพาะปลูก นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับประกันสุขภาพแก่คนในพื้นที่ที่ต้องประสบปัญหามลพิษนี้ด้วย

ปวิศรัฐฐ์ เสนอผลักดันนโยบายสวัสดิการแก่นักดับไฟป่า ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่นในภาคเหนือที่มีไฟป่าเป็นสาเหตุสำคัญ แต่กลับถูกละเลย โดยเสนอให้มีสวัสดิการต่าง ๆ แก่คนทำงานกลุ่มนี้

ไม่ใช่แค่ภาคเหนือแต่เป็นทั่วประเทศ ฝุ่นจากคนบางกลุ่มที่ประชาชนต้องแบกรับ

ธันวา ไกรฤกษ์ พรรคไทยสร้างไทย มองว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศมีสาเหตุหลักมาจากการที่มีฝ่ายบริหารและนักการเมืองที่ไม่มีคุณภาพมากเกินไป ซึ่งถือเป็นปัญหาคอขวดที่ถึงแม้จะมีนักวิชาการและตัวแทนภาคประชาชนหลายคนเข้าไปร่วมเข้าไปให้คำปรึกษาให้กับรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ต่อ

ภาพ :PM2.5 Forum

ธันวา กล่าวต่อถึงแผนฝุ่นแห่งชาติ ซึ่งมีความในการแก้ปัญหาฝุ่นที่มีสาเหตุมาจากหลายภาคส่วน โดยธันวา ยกปัญหาจากส่วนของการใช้รถยนต์ขึ้นมาเป็นอย่างแรก ซึ่งแผนฝุ่นแห่งชาติได้สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถใหม่ แต่ผลที่ได้กลับเป็นซากรถเก่าที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ชี้ให้เห็นว่ามาตรการที่รัฐบาลกำลังปฏิบัติอยู่นั้นไม่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการจัดตรวจสภาพรถยนต์ก่อนต่อภาษี ซึ่งต้องปฏิบัติอย่างจริงจังมากกว่านี้ 

ส่วนต่อมาที่ถูกพูดถึงในแผนฝุ่นแห่งชาติ คือปัญหาฝุ่นจากภาคอุตสาหกรรม โดยธันวา กล่าวถึงการทำทำเนียบการปล่อยฝุ่นกับโรงงานทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ แต่ในปัจจุบันมีเพียงโรงงานขนาดใหญ่เท่านั้นที่ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด เช่นในพื้นที่จังหวะระยองและชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกรายล้อมไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก ที่ถึงแม้จะช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่ขยายตัว แต่ก็ส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่เช่นกัน

ธันวา ยกประเด็นการเผาในภาคการเกษตร โดยกล่าวถึงการปฏิรูปที่ดินทางการเกษตร ตนเชื่อว่าด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐที่เพียงพอ เกษตรกรในหลายพื้นที่จะมีทางเลือกในการเลือกพืชสำหรับการเพาะปลูกได้ โดยมีพืชหลากหลายชนิดที่ไม่ต้องพึ่งการเผาในห่วงโซ่การผลิต

คิดแบบวิทยาศาสตร์แล้วเราจะเข้าใจ

ในส่วนของ พงศ์พรหม ยามะรัต เชื่อว่าอย่างแรกสุดคือ ‘ต้องคิดทางวิทยาศาสตร์’ ให้ได้เสียก่อน เพื่อที่จะได้เกิดความรู้ความเข้าใจว่าฝุ่น PM2.5 คืออะไร ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดได้ อีกทั้งยังแนะนำให้คิดไว้เสมอว่าไม่ใช่แค่ฝุ่น PM2.5 ที่สำคัญ แต่ปัญหาฝุ่นโดยรวมไม่ว่าจะเป็นฝุ่นแบบนั้นก็ล้วนอันตรายทั้งสิ้น 

ภาพ :PM2.5 Forum

นอกจากการสร้างความเข้าใจผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แล้ว พงศ์พรหมมองว่าอีกส่วนที่สำคัญสำหรับการแก้ปัญหาคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับปากท้องของประชาชน แต่ที่ผ่านมาคำสั่งถูกสั่งมาจากอำนาจของกระทรวงมหาดไทย โดยที่พงศ์พรหม เชื่อว่าปัญหาฝุ่นต้องแก้โดยใช้ระบบนิเวศของประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้นอำนาจการจัดการควรจะถูกกระจายไปสู่ประชาชน

ถัดมา พงศ์พรหม ยกปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของเกษตรเชิงเดี่ยวในพื้นที่ภาคกลางและเหนือ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ พงศ์พรหม แนะว่านี่เป็นเครือข่ายที่ต้องจับมือกันแก้ไขปัญหาเกษตรเชิงเดี่ยวที่เกิด โดยพงศ์พรหม เชื่อว่าเกิดขึ้นจากนโยบายจากกระทรวงทั้งสองที่รับผิดชอบเรื่องนี้อยู่

พงศ์พรหม เน้นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีราคาต่ำ จึงเสนอให้กระทรวงเกษตรฯ พาณิชย์ และมหาดไทยร่วมกันแก้ปัญหาโดยเริ่มจากการศึกษาท้องถิ่นว่าพื้นที่ต่าง ๆ สามารถใช้ปลูกพืชชนิดใดได้บ้าง เข้าพูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่เพิ่มหารือถึงแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งนี่เป็นวิธีที่พงศ์พรหมเชื่อว่าสามารถเริ่มต้นทำได้ทันที

พงศ์พรหม ยกปัญหาจากภาคอุตสาหกรรมขึ้นโดยชี้ให้เห็นว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการขนส่ง โดยในจังหวัดสระบุรีและระยองที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดสูงที่สุดล้วนมีการเติบโตของโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น ทำให้มีปริมาณการใช้รถยนต์ขนส่งสูง โดยปัญหานี้พงศ์พรหม ชี้ว่าเกิดมาจากการที่เชื้อเพลิงที่ใช้ภายในประเทศไม่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไขเช่นกัน

ภาพ :PM2.5 Forum
พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง