เมษายน 27, 2024

    เวียงแก้ว : พระราชวังล้านนา คุกข่มดวงเมือง และมรดกโลกที่ยังมาไม่ถึง

    Share

    เรื่อง: สิตานันท์ สุวรรณศิลป์  นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

    *บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ เรื่อง การศึกษาเครือข่ายการประกอบสร้างความรู้ทางโบราณคดีภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

    หลายคนอาจเคยสัญจรผ่านพื้นที่รกร้างขนาดใหญ่กลางเมืองเชียงใหม่ใกล้กับอนุสาวรีย์สามกษัตริย์  ด้านข้างของอำเภอเก่าแล้วนึกสงสัยว่าพื้นที่แห่งนี้คืออะไร เหตุใดยังไม่ถูกจับจองก่อสร้างเพื่อใช้ประโยชน์ สภาพปัจจุบันนั้นรกร้าง ถูกตีปิดด้วยสังกะสีทุกด้าน มองเห็นเพียงอาคารเก่า ๆ ที่มีหน้าต่างเป็นซี่ลูกกรง ประตูไม้หนา หนัก และหอสังเกตการณ์ที่ยังพอทำให้ทราบได้ว่าที่นี่เคยเป็นคุกมาก่อน ประวัติของพื้นที่นี้แต่เดิมเคยเป็นที่ตั้งของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในบริเวณที่เชื่อว่าเป็นที่ตั้งของคุ้มหลวงเวียงแก้ว พระราชวังของกษัตริย์ ล้านนาในอดีต เป็นพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างล้านนา-สยามที่มีข้อครหาว่าสยามนั้น ‘สร้างคุก ข่มดวงเมือง’ จนมีผู้ออกมาเรียกร้องให้รื้อคุกแห่งนี้ออกเสียจากกลางเมืองเชียงใหม่  

    ความพยายามเปลี่ยนแปลงพื้นที่เวียงแก้วให้พ้นจากการเป็นคุกนั้นเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 โดยมีนายไกรศรี นิมมานเหมินท์ เป็นผู้นำในการรณรงค์เพื่อใช้พื้นที่บริเวณเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ (ชาย) เป็นสวนสาธารณะ  และมีมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองได้รับช่วงรณรงค์ต่อโดยเรียกร้องเรื่อยมา ในปีพ.ศ. 2541 กรมราชทัณฑ์ได้ย้าย เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ (ชาย) ออกไปอยู่บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ แล้วเปลี่ยนพื้นที่นี้เป็น​​ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ จนกระทั่งปีพ.ศ. 2544 มีการรวมกลุ่มกันก่อตั้งสถาบันล้านนาร่วมกันกับมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง และองค์กรภาคประชาชนร่วมกันเรียกร้องให้ย้ายทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ออกไปนอกเมือง ถัดมาในปีพ.ศ.  2545 กรมราชทัณฑ์เริ่มดำเนินการจัดสร้างและโยกย้ายไปยังทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่แห่งใหม่ในพื้นที่อำเภอแม่แตง ในขณะที่สำนักนโยบายและแผน กระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้เทศบาลเมืองเชียงใหม่ใช้พื้นที่นี้สร้างเป็น สวนสาธารณะ ต่อมาในปีพ.ศ. 2555 สำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติต้องการจะรื้อทุบอาคาร เก่าทั้งหมดทิ้งและใช้พื้นที่ราว 22 ไร่ของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิมนี้สร้างเป็น “ข่วงหลวงเวียงแก้วพุทธมณฑล” เป็นพื้นที่พุทธอุทยานและสวนสาธารณะ ด้วยงบประมาณการก่อสร้าง 1,200 ล้านบาท ใช้ในการ ประดิษฐาน “พระพุทธชยันตี 2600 ปี” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และในโอกาสที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษาครบ 100 ปี ณ ขณะนั้น (ธีระพล คุ้มทรัพย์, 2013) แต่เพราะตำแหน่งพื้นที่นี้ ตรงกับพื้นที่ของ ‘เวียงแก้ว’ ที่ปรากฏในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 ทำให้จำเป็นต้องแทรกขั้นตอนการ ขุดค้นทางโบราณคดีเข้ามา ซึ่งหลังจากการขุดค้นทางโบราณคดีจนพบแนวโบราณสถานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นคุ้มหลวงในอดีตจริงตามที่ปรากฏในแผนที่และในเอกสารหลักฐานอื่น ๆ ทำให้การบริหารจัดการพื้นที่เวียงแก้ว ได้รับความสนใจจากสาธารณะและองค์กรการศึกษาต่าง ๆ มากขึ้น แผนการดำเนินงานถูกปรับเปลี่ยน ชาวเชียงใหม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวโดยไม่ใช่การกำหนดแนวทางจากส่วนกลาง เพียงฝ่ายเดียว มีการจัดเสวนาเพื่อสำรวจความคิดเห็นโดยเชิญตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุ สล่าเมือง พ่อครู ผู้นำชุมชน กลุ่มนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน สถาปัตยกรรม นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ องค์กรที่มีส่วน เกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ (MGR Online, 2556)

    ภาพแผนที่พื้นที่เวียงแก้ว และหอพระแก้วร้าง (ภาพ: ศิลปวัฒนธรรม)

    อย่างไรก็ตาม จากประเด็นความขัดแย้งเรื่อง ‘คุกข่มดวงเมือง’ จากความเชื่อที่ว่าคุกนั้นเป็นสิ่งอัปมงคล  เป็นเครื่องมือของสยามในอดีตในการแผ่อำนาจมาปกครองครอบงำล้านนา โดยการสร้างคุก หรือคอก ทับลงบนคุ้มหลวงของเจ้าเมืองเชียงใหม่ นั้นเป็นการกระทำทางไสยศาสตร์ที่มุ่งกดทับความศักดิ์สิทธิ์ของราชวงศ์ทิพย์จักร  เชื้อสายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนของพระเจ้ากาวิละ และหลายคนอาจเคยเห็นหรือได้ฟังเรื่องราวของความพยายามที่จะย้ายเรือนจำออกไปจากพื้นที่กลางเมืองเชียงใหม่ให้พื้นที่นี้พ้นไปจากความเป็นเสนียดบ้านเสนียดเมือง แนวคิดนี้ สอดคล้องกับงานการศึกษาของสุเทพ สุนทรเภสัช (2540) และธงชัย วินิจจะกูล (2544) ที่ได้กล่าวถึงการขยายอำนาจเข้าปกครองดินแดนล้านนาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยชี้ว่ารัฐบาลสยามใช้ระบบ อาณานิคมภายใน (Internal Colonialism) ที่รัฐบาลกลางเข้าไปจัดการท้องถิ่นที่เป็นอาณานิคมตามความต้องการของรัฐบาล โดยลบความสำคัญของสถานที่สำคัญ หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อหรือจารีตของคนท้องถิ่นและให้เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลเห็นว่ามีความเหมาะสม นั่นคือการเปลี่ยนพื้นที่คุ้มหลวง เวียงแก้ว ซึ่งตามทัศนะของชาวล้านนาถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หรือศูนย์กลางของรัฐให้เป็นสถานที่ราชการของรัฐบาล กรุงเทพฯ (โดม ไกรปกรณ์, 2556) นำมาสู่ปัญหาว่าอาคารเรือนจำเดิมนั้นสมควรต้องรื้อถอนออกไปทั้งหมดเพื่อ กำจัดความเป็นเสนียด หรือควรอนุรักษ์ไว้ในฐานะโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ ระหว่างล้านนาและสยาม ซึ่งทำให้มีความจำเป็นต้องย้อนไปถึงต้นทางของการสร้างคุกในพื้นที่แห่งนี้ว่ามีที่มา อย่างไร ความเชื่อเช่นนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นเลยหรือไม่ ถ้าใช่ เจ้าล้านนาคิดอะไรอยู่ เหตุใดจึงยอมให้สยามเข้ามาใช้พื้นที่สำคัญนี้ได้  

    มูลเหตุเริ่มต้นของการสร้างคุกที่กลางเมืองเชียงใหม่นั้นเกิดจากเหตุน้ำท่วมที่ว่าการมณฑลพายัพที่ริมน้ำปิง เมื่อกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2448 เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลพายัพ ต้องย้ายที่ว่าการมณฑลพายัพเข้ามาเปิดทำการร่วมกับที่ว่าการเค้าสนามหลวงที่กลางเวียง โดยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ได้ยกที่ดินฝั่งตรงข้ามที่ว่าการเค้าสนามหลวง ซึ่งในแผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2436 ระบุว่า เป็น “หอพระแก้วร้าง” ให้เป็นสถานที่ก่อสร้างที่ว่าการมณฑลพายัพแทนอาคารเดิมที่ริมแม่น้ำปิงดังความว่า “… ปรึกษากันกับเจ้าอินทรวโรรส เอาที่เวียงแก้วสร้างเรือนจำสำหรับเมืองเชียงใหม่…” (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ,  2469) โดยสาเหตุที่ต้องสร้างเรือนจำขึ้นใกล้กับที่ว่าการมณฑลพายัพ เนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ข้าหลวงเทศาภิบาลและผู้ว่าราชการเมืองดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำในมณฑลด้วย ดังปรากฏในข้อบังคับเรือนจำสำหรับคุมขังนักโทษตามหัวเมือง ความว่า “…น่าที่ ผู้ว่าราชการเมืองบังคับการทั่วไป ข้อ 1. ผู้ว่าราชการเมือง เปนผู้บังคับการคุมขังนักโทษในตะราง บรรดามีในจังหวัดเมืองนั้นทั่วไป เมื่อผู้ว่าราชการเมืองติดราชการอย่างอื่นจะให้ปลัดทำแทนก็ได้ แต่ผู้ว่าราชการเมืองต้องเปน ผู้รับผิดชอบด้วยตรวจตะรางเนืองๆ ข้อ 2. ผู้ว่าราชการเมืองต้องหมั่นไปตรวจตะรางที่คุมขังนักโทษในเมืองนั้น เนืองๆ อย่างน้อยที่สุดไม่ต่ำกว่า 7 วัน ต่อครั้ง ตรวจกลางคืนบ้าง ข้อ 3. ในการที่ผู้ว่าราชการเมืองไปตรวจตะรางนั้น ต้องมีเวลาจู่โจมไปตรวจในกลางคืนเพื่อให้รู้เห็นอาการที่เจ้าพนักงานประจำรักษาประการใดด้วยพบกับตัวนักโทษ ข้อ 4. ในเวลาที่ผู้ว่าราชการเมืองไปตรวจตะรางในเวลากลางวันนั้น ควรตรวจให้พบกับตัวนักโทษบรรดามีถ้วนทุกคน และควรไต่ถามฟังคำร้องทุกข์ของนักโทษ ที่จะร้องเรียนขอความอนุเคราะห์ประการใดโดยสมควร”  (ราชกิจจานุเบกษา, 2440 ; วรชาติ มีชูบท, 2555) การก่อสร้างเรือนจำในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ว่าการมณฑลจึงสะดวกต่อการตรวจตราตามข้อบังคับดังกล่าว 

    ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงพื้นที่คุ้มหลวงเวียงแก้วเป็นสถานที่ราชการอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับเจ้านายเชียงใหม่ในช่วงนั้น เนื่องจากความเชื่อและทัศนะที่ให้ความสำคัญต่อพื้นที่กลางเวียงและตัวคุ้มหลวงเวียงแก้วในฐานะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ได้เสื่อมคลายไปแล้ว เพราะพื้นที่นี้ถูกลดความสำคัญตั้งแต่ปีพ.ศ. 2413 และปล่อยร้างเรื่อยมาจนถึงปีพ.ศ. 2448 แต่อาจขัดกับความเชื่อของราษฎรชาวล้านนา ณ ขณะนั้น ที่ยังคงมีโลกทัศน์แบบจารีต ดั้งเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปดังเช่นเจ้านายผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ (คมเนตร เชษฐพัฒนวนิช, 2540) ราษฎรล้านนายังคงมองว่าพื้นที่กลางเวียงและคุ้มหลวงเวียงแก้วเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งนี้โดยตีความจากทัศนะที่ระบุว่า เรือนของเจ้านายที่สร้างนอกกำแพงเมือง “บ่ใช่คุ้มเพราะบ่ได้อยู่ในเมือง” (อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, 2554) ซึ่งเป็นการแสดงทัศนะต่อการย้ายตำแหน่งสิ่งก่อสร้างของเจ้าล้านนาเอง ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างของสยาม การยกพื้นที่ให้สยามยังมีหลักฐานจากการสอบความใน “พระดำรัสตรัสเล่า” ที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงเล่าประทาน คุณแสงดาว ณ  เชียงใหม่ พบความว่า “เวียงแก้ว เป็นเนื้อที่สี่เหลี่ยมจดถนนทุกทิศเป็นมรดกของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่ เจ้าอินทวโรรสฯ ได้ยกทูลเกล้าฯ ถวายให้เป็นเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ ในด้านทิศใต้ ส่วนด้านทิศเหนือ  เจ้าอินทวโรรสฯ ได้จัดทำเป็นสวนสัตว์ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งได้ยกให้ข้าบริพาร คือ พระญาติๆ หลานเหลน และ เหล่าเสนาของท่าน เช่น หมื่น ท้าว พญาทั้งหลายในสมัยนั้น” (แสงดาว ณ เชียงใหม่, 2517) เมื่อประกอบกับข้อมูลจากเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ที่กล่าวไปแล้ว (ถึงแม้จะไม่ใช่หลักฐานถ้อยคำหรือบันทึกจากฝั่งล้านนา) แต่การเปลี่ยนแปลงคุ้มหลวงเวียงแก้วให้เป็นสถานที่ราชการตามนโยบายของสยามนั้น และยังไม่พบหลักฐานเรื่องความไม่พอใจของราษฎรชาวล้านนาในขณะนั้น หรือแม้แต่ชนชั้นสูงของล้านนาเองก็ไม่ได้แสดงออกถึงการต่อต้านในเรื่องการใช้พื้นที่นี้อย่างชัดเจนเท่ากับการแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาลสยามในรูปแบบอื่น ๆ 

    ภาพเรือนจำในอดีต

    อย่างไรก็ตาม ทัศนะความเชื่อเรื่องพื้นที่อัปมงคลข่มดวงเมืองนี้ยังคงอยู่และสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้ จากการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่าง ๆ รวมไปถึงความเห็นจากนักวิชาการและผู้สนใจประวัติศาสตร์ล้านนา แต่การ”ทุบ” หรือ “ไม่ทุบ” อาคารเรือนจำภายในพื้นที่เวียงแก้วนั้นขึ้นอยู่กับสถานภาพการ ‘เป็น’ หรือ ‘ไม่เป็น’ โบราณสถานของเวียงแก้วด้วย หากพิจารณาจากพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ  ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535) ในมาตรา 4 กล่าวว่า “มาตรา ๔ ใน พระราชบัญญัตินี้ “โบราณสถาน” (๑) หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี  ทั้งนี้ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหลงโบราณคดีแหล่งประวัติศาสตร์และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย” (กรมศิลปากร,  2556) อาคารเรือนจำ ได้แก่ อาคารเรือนเพ็ญ อาคารบัญชาการ อาคารแว่นแก้ว ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6  และแนวโบราณสถานที่ขุดพบจึงถูกจัดให้เป็นโบราณสถานได้อย่างแน่นอน แต่อยู่ในสถานะโบราณสถานที่ยังไม่ได้ รับการขึ้นทะเบียน แต่ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ก็ให้ความคุ้มครองต่อตัวโบราณสถานประเภทนี้ การกระทำใด ๆ ที่ส่ง ผลกระทบต่อตัวโบราณสถานยังต้องได้รับการพิจารณาจากกรมศิลปากร (Archaeology 7 Chiang Mai, 2016)

    ดังนั้น หากมีการรื้อถอนอาคารทั้งหมดของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ตามความต้องการของคนบางกลุ่ม จะผิดพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพ.ศ. 2504 (แก้ไขเพิ่มเติม  พ.ศ. 2535) ในมาตรา 32 วรรค 1 ความว่า “มาตรา ๓๒[๓๖] ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย  ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ” (กรมศิลปากร, 2556, 23) จึงทำให้ อาคาร 3 หลัง ถูกพิจารณาโดยอธิบดีกรมศิลปากรแล้วว่า ให้เก็บรักษาไว้ นำไปสู่การพิจารณาปรับแบบการสร้างสวนสาธารณะในพื้นที่ดังกล่าวให้ไม่กระทบต่อแนว โบราณสถานและมีแผนการอนุรักษ์ฟื้นฟูอาคารเรือนจำมณฑลพายัพขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้งานพื้นที่ด้วย  ถือเป็นวิธีการที่จะแสดงออกถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่เวียงแก้วทั้งในช่วงที่มีสถานะเป็นคุ้มหลวงหรือพระราชวังของล้านนา และในช่วงที่ร้างไปจนกระทั่งถูกใช้เป็นพื้นที่เรือนจำในเวลาต่อมา แต่สภาพการณ์ในปัจจุบัน พื้นที่เวียงแก้วยังคงไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ทั้งที่มีการขุดค้น-ขุดแต่งทางโบราณคดี มีการทำแผนผังโบราณสถานประกอบรายงานการขุดค้น-ขุดแต่งทางโบราณคดีเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนคิดว่าปัญหาส่วนหนึ่งอาจมา จากความซับซ้อนของบริบททางสังคมของพื้นที่ ทั้งในฐานะที่เวียงแก้วเป็นพระราชวังเก่าของกษัตริย์ล้านนาและเวียงแก้วในฐานะการเป็นเรือนจำมณฑลพายัพที่ถูกมองว่าแสดงถึงอำนาจการปกครองของสยามเหนือล้านนาในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง คือ กรมศิลปากรไม่สามารถทำตามความต้องการของประชาชนบางส่วนที่ต้องการให้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานเฉพาะส่วนที่เป็นร่องรอยสิ่งก่อสร้างและโบราณสถานสมัยล้านนาก่อนการสร้างเรือนจำมณฑลพายัพ เพราะอาคารเรือนจำมณฑลพายัพก็เข้าเกณฑ์เป็นโบราณสถานเช่นกัน  และส่วนของการกำหนดขอบเขตโบราณสถานก็อาจมีปัญหา เพราะบางส่วนของโบราณสถานอยู่ชิดกับอาคารพาณิชย์ทางทิศตะวันออก สามารถสันนิษฐานได้ว่า แนวโบราณสถานเหล่านั้นทอดยาวต่อเข้าไปใต้พื้นที่อาคารพาณิชย์บริเวณนั้น ถ้าประกาศเขตโบราณสถานอาจต้องเวนคืนที่ดินอาคารพาณิชย์บริเวณนั้น อาจก่อให้เกิดความไม่พอใจจากประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีราคาประเมินที่ดินรายถนนที่ยังไม่รวมราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างราคาสูง ได้แก่ ถนนจ่าบ้าน (ทิศตะวันออกของเวียงแก้ว) 54,000 บาท/ตารางวา ถนนราชวิถี (ทิศใต้ของ เวียงแก้ว) 90,000 บาท/ตารางวา ถนนข้างเรือนจำ (ทิศตะวันตกของเวียงแก้ว) 57,500 บาท/ตารางวา (กรมธนารักษ์, 2566) 

    ภาพ: MGR Online

    ความสำคัญของพื้นที่เวียงแก้วยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อเกิดโครงการมรดกโลกเชียงใหม่ โดย “สถานที่ อนุสรณ์ สถาน และพื้นที่ทางวัฒนธรรมในเชียงใหม่ เมืองหลวงแห่งล้านนา” ถูกบรรจุเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative  List) ของศูนย์มรดกโลกในปี พ.ศ. 2558 ขั้นตอนหนึ่งในการขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ตาม แนวทางของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (MGR Online, 2560 ; สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, 2023) มีหน่วยงานหลักที่ผลักดันการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ภายใต้สำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ศึกษาวิจัย  ดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเชียงใหม่ตามแนวทางเมืองมรดกโลก ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน  (MGR Online, 2565) เมืองเชียงใหม่มีคุณสมบัติที่เข้าข่ายการพิจารณาหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยจากการประชุมขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก  เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ได้ข้อสรุปว่า จะนำเสนอคุณค่าของเมืองเชียงใหม่ใน 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านผังเมือง ด้านมรดกวัฒนธรรม และด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม แบ่งออกเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ที่ 1) กลุ่ม แหล่งมรดกที่มีความสำคัญในรูปสัณฐานและการวางผังเมืองเดิม พื้นที่ที่ 2) กลุ่มศาสนสถานและแหล่งโบราณคดีที่สะท้อนอัตลักษณ์ล้านนา พื้นที่ที่ 3) กลุ่มมรดกที่แสดงถึงคุณค่าอันโดดเด่นทางประวัติศาสตร์ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมล้านนา และ พื้นที่ที่ 4) กลุ่มแหล่งมรดกทางประวัติศาสตร์ภายในพื้นที่กันชนที่เกี่ยวข้อง (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 2566)  

    ภาพทางเข้าคุ้มเวียงแก้วในปัจจุบัน

    ในปีพ.ศ. 2566 พบว่ามีการใส่ชื่อแหล่งโบราณคดี “คุ้มหลวงเวียงแก้ว” ลงไปในแหล่งมรดกเมืองเชียงใหม่ ในหัวข้อ กลุ่มแหล่งมรดกที่มีความสำคัญในรูปสัณฐานและการวางผังเมืองเดิม บนเว็บไซต์ระบบฐานข้อมูลมรดกโลกของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีการแก้ไขล่าสุดในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2566) ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 เป็นต้นมา ไม่ปรากฏชื่อของแหล่งโบราณคดีนี้แต่อย่างไร แตกต่างจากโบราณสถานอื่น ๆ ในประเภทเดียวกัน เช่น คูเมือง แนวก าแพงเมือง แจ่ง 4 มุมเมือง และอื่น ๆ ที่ปรากฏชื่อให้เห็นอยู่โดยตลอด ระยะเวลาการทำโครงการ ซึ่งการเลือกใช้เวียงแก้วเป็นข้อสนับสนุนความโดดเด่นด้านรูปสัณฐานและการวางผังเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยล้านนา แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมต้องการใช้โบราณสถานและหลักฐานทางโบราณคดีของเวียงแก้วในช่วงที่ยังคงมีการใช้งานเป็น คุ้มหลวงหรือที่ประทับของกษัตริย์ล้านนา แต่กลับไม่กล่าวถึงเวียงแก้วในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การสร้างเรือนจำแบบตะวันตกในประเทศไทย แม้ว่าแหล่งโบราณคดีนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอนุสรณ์สถานหรือแหล่งโบราณคดีที่เป็นตัวแทนปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ล้านนา-สยาม-ชาติตะวันตก) นั่นแสดงให้เห็นว่า  ประวัติศาสตร์ล้านนาในช่วงกึ่งก่อน-หลังการผนวกรวมกับสยามไม่ถูกพูดถึง ทั้งที่ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว อาจเข้าเกณฑ์ข้อที่ 6 ของหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม นั่นคือ มีความเกี่ยวข้องโดยตรงด้านความคิดหรือความเชื่อที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์หรือบุคคลที่มีความสำคัญหรือความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์  (ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก, ม.ป.ป.) นอกจากนี้ การที่เวียงแก้วมีรายชื่อในแหล่งมรดกเมืองเชียงใหม่ควรกระตุ้นให้เกิด การบริหารจัดการพื้นที่นี้อย่างจริงจังหลังจากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในพื้นที่นี้หลังจากการขุดค้นทางโบราณคดี ระยะสุดท้ายแล้วเสร็จในปลายปีพ.ศ. 2565 ทั้งในส่วนของการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แผนการบูรณะ และอนุรักษ์โบราณสถาน การบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบโบราณสถาน ซึ่งเป็นการย้อนกลับไปหาคำตอบให้ จุดเริ่มต้นของการดำเนินงานในพื้นที่นี้ว่าต้องการให้ออกมาเป็นพื้นที่สาธารณะในรูปแบบใดที่จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดจนประชาชนทั่วไปให้ได้มากที่สุด โดยไม่ลืมที่จะคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในฐานะคนที่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่รอบ ๆ เวียงแก้วตั้งแต่อดีต และจะเป็นผู้รับผลของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่นี้ในอนาคต

    ท้ายนี้ ผู้เขียนยังคงรอที่จะได้เห็นโฉมหน้าของเวียงแก้วหลังการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่แล้วเสร็จในเร็ววัน ไม่ยืดเวลาให้ช้าออกไปจนทำให้โบราณสถานอันเป็นข้อมูลที่มีค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีนั้น เสียหายจากการถูกละเลยให้ต้องตากแดดลมฝนโดยไม่ผ่านกระบวนการอนุรักษ์ ให้เวียงแก้วได้ทำหน้าที่ส่งต่อ ประวัติศาสตร์ล้านนา-สยามให้คนรุ่นหลัง ในแบบที่ครบถ้วนที่สุดแม้ว่าจะมีคนอยากลืมก็ตาม  

    อ้างอิง 

    • กรมธนารักษ์. (2566). สรุปราคาประเมินที่ดินรายหน่วยที่ดิน รอบบัญชี พ.ศ.2566-2569.  https://reportassessprice.treasury.go.th/SUMMARY/2566%20-%202569/50/สรุปราคาประเมิน คุณทรัพย์ที่ดิน 
    • กรมศิลปากร. (2556). พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.  2504 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 พร้อมด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง. บริษัท ส านักพิมพ์สมาพันธ์ จ ากัด. 
    • ข้อบังคับเรือนจำสำหรับคุมขังนักโทษตามหัวเมือง. (4 กุมภาพันธ์ 118). ราชกิจจานุเบกษา. 116. 635-646. คมเนตร เชษฐพัฒนวนิช. (2540). ขึด : ข้อห้ามในล้านนา. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 
    • โดม ไกรปกรณ์. (2556). คุ้มหลวงและเวียงแก้วของเจ้าเชียงใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 : เรื่องราวที่ไม่ถูกเล่าถึงใน พงศาวดารสยามและร่องรอยที่พบในหลักฐานอื่น. หน้าจั่ว. 10. 10-25. 
    • ธงชัย วินิจจะกูล. (2544). ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยมจากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือ ลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน. ศิลปวัฒนธรรม. 23(1). 57-61. 
    • ผู้จัดการออนไลน์. (3 สิงห าคม 2565). อบ จ .เชียงใหม่ เดินหน้ า “เชียงใหม่ เมืองมรดกโลก” .  https://mgronline.com/travel/detail/9650000073866
    • วรชาติ มีชูบท. (2555). เวียงแก้ว จากคุ้มหลวงสู่คอกหลวงนครเชียงใหม่. ศิลปวัฒนธรรม. 33(10). 144-155. ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก. (ม.ป.ป.). อนุสัญญามรดกโลก. http://164.115.22.96/convention.aspx 
    • สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. (2566). จังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้าขับเคลื่อนเมืองมรดกโลก.  https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230707153715872 
    • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2023). แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและ ธรรมชาติของไทยที่บรรจุอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น ( Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก.  https://www.onep.go.th/tentative-list/ 
    • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2023). 
    • อนุสรณ์สถานแหล่งต่างๆ และภูมิทัศน์ วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงล้านนา (เชียงใหม่). https://worldheritagesite.onep.go.th/ สุเทพ สุนทรเภสัช. (2540). 
    • มานุษยวิทยากับประวัติศาสตร์มานุษยวิทยากับประวัติศาสตร์ : รวมความเรียงว่าด้วยการประยุกต์ใช้แนวความคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยาในการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์.  เมืองโบราณ.  
    • แสงดาว ณ เชียงใหม่. (2517).“พระดำรัสตรัสเล่า”, พระประวัติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี26 สิงหาคม 2416-9 ธันวาคม 2476. (อนุสรณ์ท าบุญสตมวาร (100 วัน) วันถึงแก่กรรม เจ้าแสงดาว ณ เชียงใหม่). โรง พิมพ์กลางเวียง.  
    • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร.0201.32/1 เรื่อง ตึกหอคำ นครน่าน (พ.ศ. 2472-2482). อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. (2554). สังคมและวัฒนธรรมล้านนา จากคำบอกเล่า. โรงพิมพ์ ส.การพิมพ์. 
    • Archaeology 7 Chiang Mai. (2016). #คลีนิคโบราณสถาน #โบราณสถานขึ้นทะเบียนและโบราณสถานไม่ ขึ้นทะเบียน. https://www.facebook.com/959237684143410/posts/1195932867140556/ 
    • MGR Online. (2556). เชียงใหม่เดินหน้ารับฟังความเห็นพัฒนา “ข่วงหลวงเวียงแก้ว” ตั้งเป้าเก็บข้อมูล 3  เดือนก่อนสรุป ก.ย.นี้. https://mgronline.com/local/detail/9560000065224
    • MGR Online. (2560). รู้จัก “6 มรดกไทย” ใน “บัญชีรายชื่อเบื้องต้น” มรดกโลก. https://mgronline.com/ sitedetail/20travel/detail/9600000068995

    บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ประชุมสัมมนาวิชาการล้านนาศึกษา Lanna Symposium: Lanna Decolonized “ล้านนาทะลุกรอบอาณานิคม” วันที่ 4 มีนาคม 2567 

    Related

    อยู่-ระหว่าง-เหนือล่าง : เหนือล่างกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก...

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...