เมษายน 26, 2024

    Rocket Media Lab ชวนส่อง ผู้สมัคร ส.ส. รวมไทยสร้างชาติ ว่ามาจากพรรคเดิม หน้าใหม่ หรือย้ายพรรค

    Share

    จากการรับสมัครผู้สมัคร ส.ส. ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 3-7 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา Rocket Media Lab ชวนสำรวจผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ทั้ง 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่าเป็นใคร มาจากไหนบ้าง เป็นผู้สมัครหน้าใหม่เท่าไร ย้ายพรรคเท่าไร มาจากพรรคไหนมากที่สุด

    เลือกตั้ง 66 พรรครวมไทยสร้างชาติ มีผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรคกว่า 50%

    ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 Rocket Media Lab จัดทำฐานข้อมูลทางการเมืองของผู้สมัคร ส.ส. โดยแยกกลุ่มผู้สมัครเป็น 3 ประเภท ได้แก่

    1. ผู้สมัครจากพรรคเดิม หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น

    2. ผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น โดยนับปีล่าสุดที่ผู้สมัครคนนั้นลงสมัคร ส.ส. 

    3. ผู้สมัครหน้าใหม่ หมายถึง ผู้ที่ไม่เคยลงสมัคร ส.ส. มาก่อน ทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ

    เมื่อแยกว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน* จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ในปี 2566 ตามการจัดประเภทดังกล่าว พบว่า มีผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 207 คน คิดเป็น 51.75% และมีผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 193 คน คิดเป็น 48.25% โดยไม่มีผู้สมัครจากพรรคเดิมเนื่องจากพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่เพิ่งจะลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ปี 2566 นี้เป็นครั้งแรก 

    และเมื่อแยกตามภูมิภาค จะเห็นได้ว่ามีผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรคมากกว่าผู้สมัครหน้าใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค 78 คน ผู้สมัครหน้าใหม่ 55 คน ในขณะที่ภาคเหนือมีผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค 21 คน ผู้สมัครหน้าใหม่ 16 คน ส่วนภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และภาคใต้นั้น มีผู้สมัครหน้าใหม่มากกว่าผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค

    *มีผู้สมัครเสียชีวิต 2 คน 

    ผู้สมัคร ส.ส. ที่มาจากการย้ายพรรค

    เมื่อพิจารณา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน* จากพรรครวมไทยสร้างชาติ เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า มีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ย้ายมาจากพรรคอื่น 207 คน ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

    1. ส.ส. เดิม จากปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 34 คน คิดเป็น 16.42%

    2. อดีตผู้สมัคร ส.ส. เดิมจากปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 154 คน คิดเป็น 74.40%

    3. อดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 2 คน คิดเป็น 0.97 %

    4. อดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 17 คน คิดเป็น 8.21%

    จากข้อมูลจะพบว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 207 คนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการเลือกตั้ง 2566 ย้ายมาจาก

    1. พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 52 คน คิดเป็น 25.12%

    2. พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 32 คน คิดเป็น 15.46%

    3. พรรคภูมิใจไทยและพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคละ 16 คน คิดเป็น 7.73%

    4. พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล จำนวน 11 คน คิดเป็น 5.31%

    5. พรรคเพื่อชาติ จำนวน 10 คน คิดเป็น  4.83%

    6. พรรคไทยรักษาชาติและพรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคละ 7 คน คิดเป็น 3.38%

    7. พรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคเพื่อไทย พรรคละ 6 คน คิดเป็น 2.9% 

    8. พรรคเศรษฐกิจใหม่ พลเมืองไทย และเสรีรวมไทย พรรคละ 4 คน คิดเป็น 1.93%

    9. พรรคเพื่อนไทยและพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคละ 3 คน คิดเป็น 1.45%

    10. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ความหวังใหม่ ประชาชาติ ประชานิยม และรวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคละ 2 คน คิดเป็น 0.97%

    11. พรรคชาติไทย ชาติพัฒนา ดำรงไทย ไทยศรีวิไลย์ ประชาไทย ประชาภิวัฒน์ แผ่นดินธรรม พลังชาติไทย พลังประชาชน พลังประชาธิปไตย พลังปวงชนไทย พลังแรงงานไทย เพื่อไทยพัฒนา เพื่อธรรม รักษ์ผืนป่าประเทศไทย และสยามพัฒนา พรรคละ 1 คน คิดเป็น 0.48%

    จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าผู้สมัคร ส.ส. พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มาจากการย้ายมาจากพรรคอื่นนั้น มาจากพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 52 คน คิดเป็น 25.12% ซึ่งประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ คืออดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ รองลงมาก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 32 คน คิดเป็น 15.46% และพรรคภูมิใจไทยและพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่จำนวนเท่ากัน พรรคละ 16 คน คิดเป็น 7.73%

    นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดเฉพาะผู้สมัคร ส.ส. ของพรรครวมไทยสร้างชาติที่เป็นอดีต ส.ส. ปี 2562 ที่มาจากการย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 34 คน ก็จะพบว่า มาจากพรรคพลังประชารัฐ มากที่สุด จำนวน 18 คน รองลงมาคือจากพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 6 คน ตามมาด้วยพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล จำนวน 4 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทยและพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 2 คน  และพรรคพลเมืองไทยและเพื่อไทย พรรคละ 1 คน 

    ส่วนผู้สมัคร ส.ส. ของพรรครวมไทยสร้างชาติที่เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 ที่มาจากการย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 154 คน พบว่ามาจากพรรคพลังประชารัฐ มากที่สุด 34 คน รองลงมาก็คือพรรคประชาธิปัตย์ 22 คน ตามมาด้วยพรรครวมพลังประชาชาติไทย 14 คน ภูมิใจไทย 12 คน เพื่อชาติ 10 คน 

    ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรครวมไทยสร้างชาติที่เป็นอดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 มีจำนวน 2 คน มาจากพรรคเพื่อแผ่นดินและพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 มีจำนวน 17 คน มาจากพรรคภูมิใจไทยมากที่สุด 4 คน รองลงมาก็คือ ประชาธิปัตย์ 3 คน ความหวังใหม่ เพื่อแผ่นดิน รวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคละ 2 คน

    จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรครวมไทยสร้างชาตินั้นเป็นการรวมตัวกันของอดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ของพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์เดิมมากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ที่ถือเป็นพรรคเดิมของประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น เมื่อพิจารณาในรายละเอียดในระดับภูมิภาคจะพบว่า ลงสมัครในภาคกลาง 17 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 คน ภาคใต้ 7 คน และภาคเหนือ 6 คน ภาคตะวันตก 5 คน และภาคตะวันออก 2 คน 

    แต่หากพิจารณาเฉพาะอดีต ส.ส. ปี 2562 จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ย้ายมาลงสมัครในนามพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นรายภูมิภาคในการเลือกตั้งครั้งนี้ จำนวน 18 คน จะพบว่าลงสมัครในภาคกลางมากที่สุด 8 คน ภาคใต้ 5 คน ภาคตะวันตก 2 คน ภาคตะวันออก 2 คน และภาคเหนือ 1 คน แต่ไม่มีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเลย 

    *มีผู้สมัครเสียชีวิต 2 คน หนึ่งในนั้นเป็นผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค

    ผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ 

    เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน* จากพรรครวมไทยสร้างชาติเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรครวมไทยสร้างชาติ 193 คน** สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

    1. นักการเมืองระดับท้องถิ่น 99 คน คิดเป็น 51.3%

    2. ข้าราชการ/หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 39 คน คิดเป็น 20.21%

    3. ผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 28 คน คิดเป็น 14.51%

    4. นักธุรกิจ 25 คน คิดเป็น 12.95%

    5. ประกอบอาชีพส่วนตัว 22 คน คิดเป็น 11.4%

    6. เครือญาตินักการเมืองระดับชาติ 19 คน คิดเป็น 9.84%

    7. เครือญาตินักการเมืองระดับท้องถิ่น 12 คน คิดเป็น 6.22%

    8. นักเคลื่อนไหวทางการเมือง/สังคม 3 คน คิดเป็น 1.55%

    9. นักวิชาการ/นักวิจัย 2 คน คิดเป็น 1.04%

    10. บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคม 1 คน คิดเป็น 0.52%

    ***พรรครวมไทยสร้างชาติไม่มีผู้สมัครหน้าใหม่ที่เป็นนักการเมืองระดับชาติ

    *มีผู้สมัครเสียชีวิต 2 คน หนึ่งในนั้นเป็นผู้สมัครที่เป็นหน้าใหม่

    **ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 1 คน อาจมีได้มากกว่า 1 สถานะ

    จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าผู้สมัคร ส.ส. พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 193 คนมาจากกลุ่มนักการเมืองระดับท้องถิ่นมากที่สุด 99 คน คิดเป็น 51.3% โดยเป็นอดีตคนที่ทำงานใน อบจ. อบต. ในตำแหน่งต่างๆ รวมไปถึงอดีตผู้สมัคร นายก อบจ. อบต. และ ส.อบจ. ส.อบต. อีกด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายพื้นที่ก็จะพบว่า ผู้สมัครหน้าใหม่ในประเภทนี้มีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งในทุกภาค

    รองลงมาก็คือ ข้าราชการประจำ/หน่วยงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 39 คน คิดเป็น 15.3% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการด้านการศึกษาและข้าราชการตำรวจ ผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 28 คน คิดเป็น 14.51% ซึ่งในหมวดหมู่นี้ส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้ดำเนินการให้กับนักการเมืองตำแหน่งต่างๆ ทั้งในระดับกระทรวงและ ส.ส. หรือเคยทำงานให้พรรคการเมืองอื่นๆ มาก่อน ตามมาด้วย นักธุรกิจ 25 คน คิดเป็น 12.95% และประกอบอาชีพส่วนตัว 22 คน คิดเป็น 11.4%

    ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

    เมื่อพิจารณาว่าผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 100 คนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า เป็นหน้าใหม่มากที่สุด 52 คน และที่มาจากการย้ายพรรค 48 คน 

    โดยเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่มีจำนวนมากที่สุดเป็น มาจากผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 13 คน ซึ่งมีทั้งตำแหน่งในพรรคและเคยทำงานพรรคการเมืองอื่นมาก่อน รองลงมาก็คือข้าราชการประจำ/หน่วยงานของรัฐ ซึ่งส่วนมากเป็นข้าราชการการเมืองและข้าราชการการปกครองส่วนภูมิภาค ตามมาด้วยนักการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่เคยมีตำแหน่งหรือลงสมัคร อบจ. อบต. 

    ในส่วนของผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อที่มาจากการย้ายพรรค 48 คนนั้น พบว่ามาจากพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด 14 คน พรรคพลังประชารัฐ 8 คน พรรคพลังท้องถิ่นไท เพื่อแผ่นดินและภูมิใจไทย พรรคละ 4 คน พรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่/ก้าวไกล พรรคละ 3 คน พรรคเพื่อชาติ 2 คน พรรคกล้า ครูไทยเพื่อประชาชน ชาติพัฒนา พลังชาติไทย รักษ์สันติ และเสรีรวมไทย พรรคละ 1 คน 

    ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-election-66-3   


    หมายเหตุ

    ข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. เป็นข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ

    ข้อมูลผู้สมัครและประวัติ สืบค้นจากการประกาศของพรรค การนำเสนอของสื่อและโซเชียลมีเดียของผู้สมัครแต่ละเขต

    การนับ ส.ส. ปี 2562 นับจากการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562

    ปีที่ลงสมัคร ส.ส. ไม่นับปี 2557 ที่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

    ดูฐานข้อมูลว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ปี 2566 แบบแบ่งเขต รายจังหวัด (อย่างไม่เป็นทางการ) พร้อมประวัติทางการเมืองว่า เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม ย้ายมาจากพรรคไหน หรือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยลง ส.ส. มาก่อน ภายใต้ชื่อโครงการ DEMO Thailand ได้ที่ https://demothailand.rocketmedialab.co  

    Related

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...

    รอนานบั่นทอนปอด ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

    ล่าสุดวันนี้ (24 เมษายน 2567) ทีมทนายความมีความคืบหน้าสำหรับความคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ โดยศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีคำสั่งให้ประชาชนผู้ฟ้องคดีทำคำแก้อุทธรณ์คดีตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือภายใน...

    ‘วาระเชียงใหม่’ เปิดเวทีสุขภาพ ยกระดับ รพ.สต. ดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

    เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)...