พฤษภาคม 7, 2024

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    Share

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเวทีประชุมสัมมนาทางวิชาการ                หัวข้อ “Lanna Symposium : Lanna Decolonized ล้านนาทะลุกรอบอาณานิคม” งานดังกล่าวนี้                ได้มีนักวิชาการที่ให้ความสนใจในประเด็นล้านนนาคดีจากหลากหลายมุมมองเข้าร่วมนำเสนอบทความ รวมทั้งได้มีการอภิปรายและถาม-ตอบเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประเด็นความรู้ด้านล้านนาคดีศึกษากับสภาวะความเป็นอาณานิคม

    หนึ่งในการนำเสนอที่ได้มีการอภิปรายผ่านเวทีวิชาการล้านนาคดีศึกษาดังกล่าว การอภิปรายกลุ่มผ่านหัวข้อ “ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา” ซึ่งประเด็นนี้มี ผศ.ดร.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ จากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.สุชล มัลลิกะมาลย์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ผศ.ดร.ปนัดดา ฤกษ์เปลี่ยน จากภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรศ.ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา จากภาควิชาสังคมศาสตร์กับการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ผศ.ดร.พิสิษฎ์ นาสี จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ

    ประวัติศาสตร์ของ ‘ชาวลัวะ’ กับความเป็นอิสระจากประวัติศาสตร์ส่วนกลาง

    พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ได้กล่าวถึงชาวลัวะในฐานะกลุ่มคนที่มีความสำคัญทั้งในเชิงวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองที่ลงหลักปักฐานอยู่อาศัยในดินแดนแถบนี้ตั้งแต่ก่อนจะมีดินแดนที่เรียกว่าล้านนาก่อกำเนิดขึ้น ประเด็นสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวจึงเป็นการตั้งคำถามเพื่อชี้ชวนและท้ทายให้คิดต่อไปอีกว่าจะทำอย่างไรให้ประวัติศาสตร์และเรื่องราวของชาวลัวะ มีความเป็นอิสระในตัวเอง

    ผศ.ดร.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

    ชื่อ “ลัวะ” เป็นคำที่ถูกใช้เรียกกลุ่มคนบนพื้นที่สูงที่ใช้ภาษามอญ-เขมร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ภาษาลัวะอย่าง ลัวะ, ละว้า, พะล็อก, ว้า, ปลัง และปะหล่อง กลุ่มชาติพันธุ์ภาษาขมุ และกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ใช้ภาษาลัวะเลย แม้ว่าโดยส่วนใหญ่ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้จะถูกเรียกว่าเป็นชาวลัวะ แต่ในทางการสื่อสารกลับไม่สามารถเข้าใจภาษาของกันและกันได้อย่างสมบูรณ์ แม้ว่าจะมีคำบางคำที่มีความคล้ายคลึงกัน แต่ตัวภาษาที่คนแต่ละกลุ่มใช้ก็แตกแขนงกันออกไปอย่างสิ้นเชิง

    ความหมายของคำว่า “ลัวะ” ซึ่งแปลว่า “ประตู” หรือในบางพื้นที่ก็กล่าวถึงคำว่าลัวะ ว่ามีที่มาจากคำว่า ละ จากการ “ละทิ้งจากพื้นที่” 

    สำหรับประเด็นด้านหลักฐานทางโบราณคดี พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ยังนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ชาติพันธ์ในชั้นประวัติศาสตร์ของชาวลัวะนั้น มิได้มีความเป็นเนื้อเดียวกันมากนัก ความหลากหลายดังกล่าวนี้ได้ทำให้มีความหลากหลายทางโบราณวัตถุเกิดขึ้นอย่างมากมาย ขณะเดียวกันหลักฐานทางโบราณคดีอีกชุดหนึ่งในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17-18 พบว่ามีพื้นที่เนินดินรูปวงกลมที่ถูกกล่าวถึงว่าอาจมีอายุตั้งแต่ 500-2,000 ปีขึ้นไป ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนั้นมักถูกเข้าใจว่าเป็นพื้นที่สำหรับการฝังศพ ทว่าจากการสำรวจและขุดค้นพื้นที่บริเวณซึ่งมีลักษณะดังกล่าวโดยพิพัฒน์และทีมร่วมขุดค้นของเขากลับไม่พบซากโครงกระดูกในพื้นที่เลย จึงทำให้เกิดการตีความต่อพื้นที่ซึ่งมีลักษณะดังกล่าวว่า อาจเป็นพื้นที่สำหรับใช้เพื่อการประกอบพิธีกรรมบางอย่างและอาจจะมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” อีกด้วย

    พิพัฒน์กล่าวนำเสนอผลงานและข้อค้นพบทางโบราณคดีว่า พื้นที่ในลักษณะที่เป็นเนินดินรูปวงกลมที่ถูกพบในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชียงราย, เชียงใหม่, กาญจนบุรี, อุทัยธานี หรือแม้แต่ในเขตพม่าอย่าง เชียงตุง หรือสิบสองปันนา นั้น ยังน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับมิติการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคม อีกทั้งภายในพื้นที่ขุดค้นยังมีการพบเครื่องถ้วย-ชาม ในช่วงล้านนา, สุโขทัย หรือพม่า ทำให้นอกจากที่อาจจะมีความหมายในฐานะพื้นที่ประกอบพิธีกรรมแล้ว พื้นที่เนินดินดังกล่าวยังอาจจะมีความสำคัญในแง่ของการเป็นส่วนประกอบในเครือข่ายการแลกเปลี่ยนด้วย 

    ขณะเดียวกัน พื้นที่เนินเขาเหล่านี้ยังมีความสัมพันธ์กับความเชื่อในช่วงก่อนการเข้ามาของพระพุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้อีกด้วย อย่างเช่นในพื้นที่ดอยคว่ำหล้อง (หล้องในภาษาเหนือแปลว่า โลงศพ) หรือดอยคว่ำโลงโลงศพของขุนหลวงวิลังคะ (ที่อ้างอิงตามตำนานของขุนหลวงวิลังคะและพระนางจามเทวี) ซึ่งได้เคยออกคำสั่งว่าภายหลังการตายของตนให้ไพร่พลชาวลัวะนั้นนำร่างของตนไปฝั่งไว้บนภูเขาสูงให้พอมองเห็นเมืองหริภุญชัยหรือเมืองลำพูนซึ่งเป็นบ้านเมืองพระนางจามเทวี นางอันเป็นที่รักให้ชัดเจน แต่ในระหว่างการเคลื่อนย้ายศพของขุนหลวงวิลังคะขึ้นไปสู่ยอดดอยสูง โลงศพของเขากลับคว่ำอยู่บริเวณที่เวลาต่อมาเรียกว่า “ม่อนคว่ำหล้อง” หรือ ม่องหล้อง (หรือเนินที่มีลักษณะเป็นโลงศพ) ขณะที่ไพร่พลชาวลัวะของเขาก็ลงหลักปักฐานอยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงเรียกชื่อหมู่บ้านนั้นว่า บ้านเมืองก๊ะ ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง คำว่า “ก๊ะ” ก็มาจากชื่อเรียกของ “ขุนหลวงวิรังคะ” หรือ “หมะลังก๊ะ” ในภาษาถิ่นนั่นเอง ทั้งนี้ ความเชื่อที่ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีต่อทั้งขุนหลวงวิรังคะแถวม่อนดอยหล้องก็ดี การบูชาปู่แสะย่าแสะในพื้นที่ดอยคำก็ดี ความเชื่อเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับการบูชาภูเขาทั้งสิ้น

    พิพัฒน์ พบว่าลัวะในหลากหลายพื้นที่ต่างมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ผ่านระบบ “ยวง” (ออกเสียงว่าหย่วง) หมายถึงหมู่บ้านปลีกย่อยที่รวมตัวกันภายในหมู่บ้านใหญ่หนึ่งหมู่บ้านของชาวลัวะ ซึ่งแต่ละหมู่บ้านภายในหย่วง จะมีรากฐานมาจากตระกูลตระกูลหนึ่ง ทำให้การเข้าใจในระบบและความเป็นมาของแต่ละหย่วง จะทำให้สามารถเข้าใจประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย รวมไปถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างเช่นภาษาได้ด้วย 

    “อย่างบ้านปาดแป๊ จริง ๆ แล้วมี 3 สำเนียง พอเรารู้ว่าหมู่บ้านนี้มียวงโคงนะ เราก็จะรู้ว่าเราจะต้องไปสืบประวัติศาสตร์ที่หมู่บ้านที่มีหย่วงโคง ในปัจจุบันก็คือบ้านช้างหม้อตามที่คนไทยแปลให้”      

    การปกครองผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายขอบ

    สุชล มัลลิกะมาลย์ ได้กล่าวถึงงานวิจัยของเขาที่ได้ทำร่วมกับProf.Hjorleifur Jonsson แห่ง Arizona State University ในงานที่มีหัวข้อว่า “การปกครองผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายขอบทางเหนือของสยาม ในช่วงปี 1870-1910” จุดเริ่มต้นของงานดังกล่าวนี้มาจากข้อถกเถียงต่อประเด็นที่ว่าด้วยสถานะของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปรากฎในงานเขียนประวัติศาสตร์เชิงทฤษฎี ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์และในประวัติศาสตร์บอกเล่าที่มีความแตกต่างกัน

    ดร.สุชล มัลลิกะมาลย์

    หนึ่งในงานเขียนเชิงทฤษฎีซึ่งมีอิทธิพลต่อการก่อรูปทางความคิดในงานวิจัยของสุชลและคณะ             คือ “Siam Mapped : A History of the Geo-Body of a Nation” ผลงานวิชาการอันเลื่องชื่อของธงชัย วินิจจะกูลที่มีการอธิบายถึงการก่อรูปขอบเขตของประเทศสยามไว้ว่าเป็นพื้นที่ว่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นผืนป่าหรือภูเขา โดยมีกลุ่มคนที่เป็นเอกเทศดำรงชีวิตอยู่ นอกจากนี้ยังมีงานเขียนของ James C. Scott ที่บรรยายลักษณะของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายขอบแบบดังกล่าวไว้ 3 ข้อ คือบุคคลที่ไม่มีรัฐ, การยังชีพด้วยการทำไล่เลื่อนลอย เพื่อหลบหนีจากการจับกุมของรัฐ สุดท้ายคือการที่บุคคลกลุ่มดังกล่าวไม่มีภาษาหรือประวัติศาสตร์ เพื่อหลบหนีจากการขูดรีดของรัฐ

    งานเขียนที่กล่าวมา ได้ส่งผลต่อเนื่องมาถึงงานเขียนในยุคปัจจุบัน อย่างเช่นงานเขียนเรื่อง แผนที่สร้างชาติ: รัฐประชาชาติ กับการทำแผนที่หมู่บ้านไทย ในยุคสงครามเย็น โดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ(2561) ซึ่งได้อธิบายลักษณะของชาวเขา ว่ามีลักษณะที่จะอพยพไปเรื่อย ๆ ทำให้ความพยายามของรัฐในการเข้าไปทำแผนที่หรือหมู่บ้านชาวเขาไม่ประสบความสำเร็จ ต่อเนื่องมาถึงงานเรื่องสภาวะการกลายเป็นมณฑลพายัพ:ประวัติศาสตร์ของอำนาจ ความรู้และการผลิตพื้นที่โดยสยาม (พ.ศ. 2416 2475) โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ (2562)  ที่ได้เสนอประเด็นการสร้างรัฐอาณานิคมในพื้นที่ล้านนา

    ทิศทางการศึกษามนุษยวิทยาในแวดวงวิชาการระดับนานาชาติมีความแตกต่างกับแวดวงวิชาการในประเทศไทย ซึ่งงานศึกษาเชิงมนุษยวิทยาระดับนานาชาตินั้นพยายามที่จะนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ นำมาสู่คำถามของงานวิจัยชิ้นดังกล่าว ที่ถามถึงความสัมพันธ์ของผู้คนชาติพันธุ์ในกลุ่มต่าง ๆ เป็นอย่างไรในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่งานเขียนของ ธงชัย วินิจจะกูล ใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งคำถามถึงการเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ และข้อมูลในประเด็นดังกล่าวจะสามารถค้นคว้าได้จากที่ใดบ้าง

    ข้อมูลที่ตนค้นพบในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ภายใต้บริบทการต่อสู้เพื่อกำหนดเขตแดนระหว่างสยามและอังกฤษ ซึ่งพบว่ามีการเดินทางของเจ้าหน้าที่รัฐสยามไปยังพื้นที่หมู่บ้านห้วยกิ้วและเขาช้าง (ดอยช้าง) เพื่อเข้าเกลี้ยกล่อมให้ชาวลาหู่ (ชาวมูเซอ) ให้มาอยู่ฝ่ายเดียวกับตน โดยหลังจากเกลี้ยกล่อมสำเร็จ ก็ได้พาผู้นำของชาวลาหู่มาถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ เมืองฝาง ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2431 และแต่งตั้งด้วยตำแหน่ง “พระยา” 

    โดยผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะพระยาในช่วงเวลานั้น มีส่วนช่วยพาและรวบรวมรายชื่อชาวชาติพันธุ์ที่ต้องการเข้ามาอยู่ในฝักฝ่ายเดียวกับรัฐสยาม ซึ่งเป็นเวลาที่รัฐสยามต้องการกำลังคนในการช่วงชิงอำนาจในการกำหนดพื้นที่เขตแดนกับอังกฤษพอดิบพอดี เกิดเป็นคำถามใหม่จาก ดร.สุชล ว่าเหตุใดรัฐสยามจึงไม่แต่งตั้งผู้นำเหล่านี้เป็นพระยาด้วยตัวเอง แต่ต้องให้เมืองฝางเป็นผู้แต่งตั้ง

    ตามข้อมูลจากจดหมายเหตุภารกิจการปักปันเขตแดน ร.ศ.111 กล่าวไว้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐสยามไม่สามารถเป็นผู้แต่งตั้งตำแหน่งพระยาให้แก่เหล่าผู้นำชาวชาติพันธุ์ได้ เพราะไม่รู้ธรรมเนียมปฏิบัติ ทำให้ต้องมีการส่งเรื่องไปที่เจ้าเมืองฝางผ่านเจ้าเมืองเชียงใหม่ด้วยหนังสือที่ถูกเรียกว่า “ศุภอักษร” 

    การปรับตัวและอยู่ร่วมกับความหลากหลายระดับล้านนา 

    ปนัดดา ฤกษ์เปลี่ยน กล่าวถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในมิติของภาษา ที่แทบจะไม่มีพื้นที่ใดในโลกอีกแล้วที่ผู้คนในพื้นที่ใช้ภาษาเพียงภาษาเดียว และถึงแม้ว่าการมีอยู่ของภาษาก็เป็นสิ่งที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ แต่ก็ยังมีประชากรแฝงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยที่ไม่ได้ใช้ภาษาหลักของพื้นที่นั้น ๆ อยู่ด้วย

    ผศ.ดร.ปนัดดา ฤกษ์เปลี่ยน 

    ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความหลากหลายทางภาษาถูกแบ่งออกโดยนักภาษาศาสตร์เป็น 5 ตระกูลสำคัญ ได้แก่ตระกูลไทย ที่มีผู้ใช้ประเทศจีน, เวียดนาม, ลาว, ไทย, พม่า และอินเดีย ตระกูลออสเตรเลียเชียติก ที่มีความเก่าแก่และถูกใช้โดยผู้คนที่อยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิแต่ดั้งเดิม อย่างเช่นชาวชาติพันธุ์ลัวะ ตระกูลออสโตรเนเซียน ถูกพูดโดยผู้คนที่อยู่ใกล้พื้นที่ทะเลและภูมิภาคเกาะ อย่างเช่นประเทศอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และบรูไน ตระกูลม้งเหย้า และตระกูลจีน ,ทิเบต ,พม่า

    ส่วนในพื้นที่ของประเทศไทยนั้น ปนัดดา ยกข้อมูลจากงานเขียน “Linguistic Diversity and National Unity” งานของWilliam A.  Smalley ในปี 1994 ที่กล่าวถึงความหลากหลายของภาษา ซึ่งถ้านับแค่ภาษาตระกูลไทย ก็มีจำนวนถึง 24 กลุ่ม อย่างในภาคกลางที่จังหวัดต่าง ๆ อย่างเช่น อยุธยา, สุพรรณบุรี หรือสิงห์บุรี ต่างก็มีสำเนียงที่แตกต่างกัน แต่ก็ถูกนับว่าเป็นภาษาไทยกลางทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีส่วนของภาษาไทยที่ใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งเป็นภาษาไทยที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองการสร้างรัฐชาติ ผ่านการบังคับให้ประชากรในประเทศต้องเรียนภาษาไทยรูปแบบดังกล่าว แต่เมื่อมองในภาพรวมก็จะพบว่าภาษาไทยในประเทศไทยก็มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในแต่ละพื้นที่

    “การได้ฟังเสียงคนที่พูดสำเนียงต่าง ๆ เหล่านี้มันมีความสุขมาก เขาได้พูดในภาษาที่เป็นของตัวเอง มีคำมากมายที่อยู่ในแต่ละภาษาที่ไม่เหมือนกัน มีความเป็นมาจากพื้นฐานความเชื่อ ความคิด และวัฒนธรรม” 

    ภาษาล้านนาซึ่งมักถูกเรียกโดยรวมว่าเป็นภาษา “คำเมือง” ทำให้เกิดความรู้สึกว่าชื่อเรียกดังกล่าวทำให้ภาษาอื่น ๆ เสียตัวตนไปจากพื้นที่ล้านนา ทั้ง ๆ ที่นี่เป็นพื้นที่ที่เรียกได้ว่ามีความหลากหลายทางภาษามากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งภาษาไทยวน, ไทลื้อ, ไทเขิน, ไทยอง, ไทพวน, ไทใหญ่ หรือภาษาที่เพิ่งจะเกิดขึ้นใหม่อย่างภาษาไทหย่า รวมไปถึงภาษาแถบจีน, ทิเบต, พม่า อย่างภาษาจีนยูนนาน, จีนฮ่อ, ภาษากะฉิ่น, กระเหรี่ยง, อาข่า, ละหู่ และลีซู นอกจากนี้ยังมีภาษาตระกูลออสเตรเลียเชียติกอยู่ในพื้นที่ล้านนาอยู่ด้วย

    ประเด็นนโยบายและความไม่เท่าเทียมในสิทธิทางภาษา โดยในบริบทของประเทศไทยที่รัฐชาติถูกสร้างโดยมีภาษาไทย “กรุงเทพฯ” เป็นภาษาส่วนกลาง เป็นข้อบังคับที่ประชาชนทุกคนจำเป็นจะต้องเรียนรู้และใช้ภาษาดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่เป็นภาษาที่มีคนใช้น้อยมากเมื่อเทียบกับภาษาไทยกลางกลุ่มอื่น ๆ ภาษาไทยกลางจึงกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างชาติที่ฝังความหลากหลายทางภาษาไว้เบื้องล่าง จึงเกิดเป็นคำถามถึงหนทางที่จะดำรงไว้ซึ่งความเอกภาพของชาติ โดยที่ไม่ลดทอนความหลากหลายของท้องถิ่นไปด้วย

    “ถ้าเราปล่อยให้ภาษาต่าง ๆ สูญหายไป มันหมายความว่าความรู้ของเจ้าของภาษานั้น ๆ มันก็หายไปด้วย” 

    แม้จะเป็นประเทศที่ดำรงอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีภาษาหลากหลาย ผศ.ดร.ปนัดดา ยังกล่าวเสริมอีกว่าสังคมไทยยังคงขาดนโยบายด้านภาษาที่มีความหลากหลาย สังคมไทยที่ผ่านมายังคงใช้นโยบายการจัดการทางภาษาโดยมีพื้นฐานภาษาเพียงภาษาเดียว ส่งผลให้ประเทศไทยขาดแคลนผู้ผลิตศิลปะในภาษาอื่น ๆ โดยกรณีดังกล่าวมีตัวอย่างในต่างประเทศอย่างเช่น สิงคโปร์ ที่มีกลุ่มคนที่ผลักดันการร่างนโยบายเพื่อรองรับภาษาที่หลากหลาย

    ในประเทศไทยเองก็มีกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนในประเด็นดังกล่าวด้วยเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือสมาคมศูนย์รวมการศึกษาเพื่อชาวไทยภูเขา ซึ่งได้ขับเคลื่อนให้มีการร่างนโยบายทางภาษา เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มมีโอกาสที่จะผลิตประวัติศาสตร์วรรณกรรมด้วยตัวของตัวเองภายใต้ภาษาของตัวเอง

    หลากหลายชาติพันธุ์ สีสันท้องถิ่นล้านนา

    ประสิทธิ์ ลีปรีชา กล่าวถึงสีสันและความโดดเด่นของชาติพันธุ์ท้องถิ่นในดินแดนล้านนาที่มีการดำรงอยู่ท่ามกลางการกีดกันและกดทับ

    ประสิทธิ์ เริ่มต้นบทสนทนาจากการชวนทำความเข้าใจกรอบความคิดความเป็น “อาณานิคมภายใน” พื้นที่ล้านนา ซึ่งได้มีการตีความผ่านบริบทการล่าอาณานิคมเป็นการกระทำของผู้ปกครองในรัฐชาติสมัยใหม่ต่อคนในท้องถิ่นเหมือนกับประเทศล่าอาณานิคมกระทำต่อประเทศใต้การปกครอง ในบริบทของชาวชาติพันธุ์เอง การกระทำของรัฐก็ไม่ต่างจากการกีดกันให้กลุ่มคนเหล่านี้หลายเป็นกลุ่มชายขอบ แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกหลอมรวมให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกระแสหลักในระดับชาติ

    รศ.ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา

    โดยหลักจากการเปลี่ยนผ่านจากสยามมาสู่การเป็นชาติไทยที่ผูกโยงเข้ากับความเป็นชนชาติไทย ทำให้ผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ ถูกผลักออกไปสู่พื้นที่ชายขอบ ไม่มีส่วนในการเป็นคนชาติไทย และคนชาติไทยเองก็กลายเป็นเจ้าของประเทศไปโดยปริยายซึ่งลักษณะดังกล่าวก็มีให้เห็นอยู่ในระดับล้านนาด้วยเช่นกัน โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา หลังจากล้านนาถูกทำให้กลายเป็นคนเมือง นั่นทำให้กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่น ๆ ให้กลายเป็น “คนอื่น” ไม่ใช่คนไทยวน เป็นกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่อาศัยใหม่ ซึ่งไม่ใช่ความจริง

    ในบริบทดังกล่าวจำเป็นต้องมองภาพรวมที่กว้างใหญ่ ซึ่งเป็นภาพที่กลุ่มคนชาติพันธุ์ได้รับผลกระทบจากนโยบายสร้างชาติของรัฐส่วนกลาง โดยเฉพาะในยุคสงครามเย็น ที่รัฐส่วนกลางมองกลุ่มคนชาติพันธุ์เป็นภัยความมั่นคงต่อสังคม ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้พยายามแสดงตัวตนในฐานะคนไทย ไม่กล้าแสดงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตน เพื่อไม่ให้ถูกกีดกันออกไปจากสังคม หรือแม้แต่การถูกดำเนินคดี

    อีกหนึ่งปัจจัยที่มีส่วนในการกดทับคนชาติพันธุ์ คืองานศึกษาล้านนาในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่มักจะมองล้านนาในเชิงการวิพากษ์รัฐไทยที่เข้ามาครอบงำล้านนา แต่ในทางตรงกันข้าม นักวิชาการที่มักจะเน้นความเป็นล้านนาในฐานะคนไทยวน หรือคนเมืองเป็นหลัก กลายเป็นการกดทับกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายในสังคมไทย

    ปัจจุบัน การเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ออกมาจัดกิจกรรม หรือแสดงจุดยืนในฐานะชาวล้านนามีให้เห็นบ่อยตาขึ้น หรือกิจกรรมในระดับจังหวัดที่มักจะใส่ความเป็นชาติพันธุ์ลงไปให้เห็นด้วย อย่างเช่นงานแสดงดอกไม้ของจังหวัดเชียงรายที่มักจะมีการนำความเป็นชาติพันธุ์เข้ามาเป็นองค์ประกอบของกิจกรรม ที่แม้จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นสีสันแก่การท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นเวทีที่ทำให้คนกลุ่มนี้ได้แสดงความเป็นชาติพันธุ์ของตัวเองแก่สาธารณะด้วย

    Related

    ชิวๆ กับความไม่แน่นอน: อารมณ์สายมูกับระบอบเวลาที่ยืดหยุ่น

    เรื่อง: ณีรนุช แมลงภู่* ในยุคสมัยที่การดิ้นรนทำมาหากินเพื่อให้อยู่รอดภายใต้เศรษฐกิจที่ผันผวนและอากาศแบบละติจูดเดียวกับ ‘สวรรค์’ เป็นประสบการณ์สามัญของคนทั่วไป เคยสงสัยไหมว่าทำไมเพื่อน ‘สายมู’ ของเราถึงยังมีเวลาไปกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระดังทั่วไทย สวมชุดขาวร่วมพิธีกกรรมเสริมแต้มบุญ...

    โทษทีพี่ ‘ติด’ งาน

    เรื่อง: การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์*  คุณติดโซเชียลมีเดียหรือไม่ หากคำถามนี้เกิดขึ้นก่อนปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่เฟซบุ๊กนำปุ่มกดถูกใจมาใช้งาน คนส่วนใหญ่จะตอบปฏิเสธ หรือไม่ก็บอกว่าตัวเองก็แค่ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ถึงกับขั้น “เสพติด”...

    ชีวิตบนเส้นด้ายของเกษตรกรหลังบ้านอีอีซี

    เรื่อง: กัมปนาท เบ็ญจนาวี เกษตรกรหลังบ้านอีอีซีส่วนใหญ่ถูกจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรและอำนาจหลังการปิดล้อมใหม่ โดยเฉพาะการขาดการเข้าถึงที่ดิน ทรัพยากรท้องถิ่น รวมถึงอำนาจในการมีส่วนร่วมกำหนดภูมิทัศน์การพัฒนาในท้องถิ่น ทำให้เกษตรกรมีเงื่อนไขที่จำกัดในการคาดเดาและกำหนดอนาคตของตนเอง จนนำไปสู่การก่อตัวขึ้นของสถานการณ์ความขัดแย้งและความแตกต่างทางสังคม มากกว่าจะเป็นผลลัพธ์ที่นำไปสู่การกระจายผลประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม...