เรียน ลี้ หนีสงคราม

เรื่อง : ลักขณาวดี สาริบุตร

การรัฐประหาร สงคราม สถานการณ์การเมืองที่ไม่มั่นคง ก่อให้เกิดปัญหามากมายตามมา แต่เหตุการณ์เหล่านี้ กลับเกิดขึ้นอย่างห้ามไม่ได้ หลายต่อหลายครั้งที่ “พม่า”
ประเทศเพื่อนบ้านของเราไม่สามารถหลีกหนีได้พ้น และกลายเป็นผู้ลี้ภัยกันอย่างไม่เต็มใจ นอกจากมันจะทำให้ประเทศถอยหลังลงไปเรื่อย ๆ แล้ว ยังทำให้เศรษฐกิจในประเทศผันผวน การศึกษาย่ำแย่ เพียงเพราะความปรารถนาในอำนาจ และความไม่ลงรอยกันของกลุ่มผู้นำ

“ผู้ลี้ภัย” สถานะที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็น เพราะต้องวิ่งหนีการตามล่าของวิกฤตการณ์ หรือปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง การถูกคุ้มครอง สิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่มั่นคงแน่นอน ความใฝ่ฝันที่จะได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม มีอาหารลงท้องครบทุกมื้อ อยู่ในบ้านที่ปลอดภัยไม่ต้องคอยหวาดระแวง แต่กลับต้องตื่นขึ้นมาพบกับความจริงที่โหดร้าย และสำหรับเรื่องราวของผู้ลี้ภัยที่ผู้เขียนจะนำมาเล่าคือนักศึกษาพม่าที่ลี้ภัยมาเรียนในมหาวิทยาลัยจำนวน 2 คน ที่มีฐานะความเป็นอยู่แตกต่างกัน

คนแรกคือ “Hline” เธอเป็นหญิงสาวคนหนึ่งที่สูงราว ๆ 156 เซนติเมตร ดูตัวเล็กกว่าฉันนิดหน่อย พวกเราเจอกันในหอพักนักศึกษา และเริ่มพูดคุยทักทายกัน เธอพูดภาษาไทยไม่ได้เลย แต่เราสองคนก็ยังมีเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง ถึงความเป็นมาว่าเธอมาจากไหน จึงได้รู้ว่า เธอมาจากประเทศพม่า เพราะว่ามีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ทำให้ “Mandalay Technological University” มหาวิทยาลัยที่เธอเรียนอยู่ปิดตัวลง เนื่องจากมีระเบิด สงครามการเมือง และไม่ปลอดภัย แต่เธอก็ไม่ย่อท้อ และค้นหาที่เรียนใหม่ จนได้มาเรียนต่อที่ประเทศไทย จากการได้พบกับ pop-up บนเว็บไซต์ เธอจึงสนใจที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับทุนการศึกษา ในคณะวิศวกรรมศาสตร์สาขาวิศวกรรมเครื่องกล

แม้ในความเป็นจริงแล้วเธอต้องการไปเรียนต่อที่ยุโรปมากกว่า แต่แม่ของเธอเป็นห่วงเพราะมันอยู่ห่างไกลบ้านเกินไป ฉันถามเธอต่อว่า แล้วทำไมถึงไม่เป็นกรุงเทพฯ
เธอตอบว่า “ค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าเทอมที่เชียงใหม่ถูกกว่าที่กรุงเทพฯมาก และเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความคล้ายคลึงกับมัณฑะเลย์ (Mandalay) ตรงที่เป็นเมืองเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวรองจากเมืองใหญ่ที่เคยเป็นเมืองหลวงอย่างย่างกุ้ง (Yangon) ในบ้านเกิดของฉัน รวมถึงวัฒนธรรม อาหาร และอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ทำให้สามารถปรับตัวได้ไม่ยาก และคนที่นี่ใจดี”

เธอเกิดในครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างดี มีน้องชายอยู่ 1 คนที่กำลังเรียนอยู่เกรดสิบ แต่ว่าพ่อและแม่ของเธอหย่าร้างกันตั้งแต่เธออายุได้เพียง 13 ปี เธอเล่าว่า “หย่ากันไปยังดีกว่าอยู่ด้วยกันแล้วมีเรื่องให้ทะเลาะกันอยู่เสมอ”

ตั้งแต่เด็ก Hline มีความฝันว่าอยากเป็นนักแสดง แต่ดูเหมือนว่าแม่ของเธอจะไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่นัก หนำซ้ำยังบอกว่า “อย่างลูกเนี่ยนะจะไปเป็นนักแสดง
ไม่มีทางหรอก” เธอจึงดับฝันนั้นลง และเริ่มใหม่ที่นักกฎหมาย วิศวกรรมคอมพิวเตอร์

แต่สุดท้ายแล้วเธอก็เลือกที่จะเรียน “Mechanical Engineering” หรือ “วิศวกรรมเครื่องกล” เธอได้ร่ำเรียนในสาขานี้จนถึงชั้นปีที่ 3 ที่วิทยาลัยแห่งหนึ่งในตัวเมืองมัณฑะเลย์ การเรียนเหมือนจะกำลังไปได้สวย แต่กลับเกิดเรื่องที่ไม่คาดคิดอย่างเหตุการณ์ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 กองทัพพม่า “ทัดมาดอว์” (Tatmadaw) ได้ปฏิบัติการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่เพิ่งมาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) ด้วยการกล่าวหาว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นเต็มไปด้วยการทุจริต ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานมายืนยันพร้อมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้การบริหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing)

จึงทำให้ประชาชนจากหลายเมืองทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็น บุคลากรทางการแพทย์ ครู อาจารย์ ข้าราชการ และคนในอีกหลากหลายอาชีพ ได้ออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลทหาร แต่ว่าพวกเขาได้ถูกจัดการด้วยความรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่เด็กและเยาวชน ส่งผลให้มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีผู้ที่ถูกจับขังคุกเพื่อดำเนินคดี แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนหยุดออกมาชุมนุมประท้วง เหตุการณ์จึงทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนแล้ว ผลกระทบจากสงครามกลางเมืองที่ตามมาคือการซ้ำเติมปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำในประเทศพม่าให้ทรุดลงหนักกว่าเดิม มีการปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์ การตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ไม่ให้ประชาชนได้มีการสื่อสารถึงกัน ส่วนด้านต่างประเทศ พม่าต้องเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรหรือมาตรการอื่น ๆ โดยโลกตะวันตก

ถึงแม้ว่า Hline จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก แต่เธอก็มิได้ละทิ้งความพยายาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ในพม่ามีความใฝ่รู้และให้ความสำคัญกับการศึกษา แตกต่างจากภาพจำที่คนทั่วไปมักเห็นว่าคนพม่าคือแรงงานต่างด้าว ที่คอยจะเข้ามาแย่งงาน เป็นอันตราย พาหะเชื้อโรค หรือผู้ก่ออาชญากรรม เป็นพวกคนล้าหลังไม่ทันโลกและอีกสารพัดคำดูถูกดูหมิ่นพวกเข

เมื่อเดินทางออกจากบ้านเกิดเพื่อมาหาที่เรียนใหม่ เธอเล่าว่าตอนแรกมันยากมากที่จะสื่อสารกับคนในสาขาเดียวกัน เพราะแชทกลุ่มไลน์ทุกคนล้วนใช้ภาษาไทย ทำให้ต้องพึ่งพา Google Translate อยู่เสมอ โชคดีที่เริ่มมีเพื่อนเป็นคนไทยบ้างแล้ว เวลามีงานกลุ่มจึงง่ายขึ้น เพื่อนคนไทยก็ใจดีกับเธอมาก ชวนไปเที่ยวสารพัดที่ในเชียงใหม่ ทำให้เธอมีวันหยุดที่แสนสนุก ได้ชื่นชมบรรยากาศและเก็บภาพถ่ายไว้เป็นความทรงจำ

คนต่อมาคือ “Win” มาจากรัฐกะเหรี่ยง (Karen State) ซึ่งปัจจุบันที่นั่นมีทั้งคนมอญ พม่า กะยา ปะโอ

ความเป็นมาของกะเหรี่ยงที่ได้มีบันทึกไว้คือการมีความเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนสืบเชื้อสายมาจากเผ่ามองโกล และได้อพยพมาจากบริเวณริมฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง ลงมาทางใต้ของพม่าในศตวรรษที่ 7 ชุมชนกะเหรี่ยงในพม่า ตั้งแต่สมัยโบราณถึงสมัยอาณานิคมไม่เคยพัฒนารูปแบบการปกครองสูงเกินกว่าระดับหมู่บ้าน ผู้นำของชาวกะเหรี่ยงจึงมีฐานะแค่ผู้นำหมู่บ้านเท่านั้น และตำแหน่งยังสามารถส่งต่อไปยังลูกหลานในตระกูลได้ ถ้าหากผู้นำคนอื่นที่หวังตั้งตัวเป็นหัวหน้าต้องแยกออกไปตั้งหมู่บ้านใหม่

รัฐพม่าไม่นับหมู่บ้านกะเหรี่ยงอยู่ในระบบการปกครองของพม่า แต่จะส่งข้าราชการออกไปคอยเก็บภาษี เครื่องบรรณาการ และเกณฑ์แรงงานชาวบ้านไปทำงานให้รัฐ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงไม่ชอบข้าราชการพม่า จึงย้ายหนีไปบนเทือกเขาสูง เมื่อมีการเข้ามาของอาณานิคมอังกฤษ กะเหรี่ยงพื้นราบจึงได้รับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งการศึกษาและศาสนา

ส่วนกะเหรี่ยงบนเทือกเขายังคงทำตามขนบธรรมเนียมเดิม จึงไม่ค่อยมีการพัฒนาหรือความเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุที่กะเหรี่ยงมีใจโน้มเอียงมาฝ่ายอังกฤษ จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกะเหรี่ยงและพม่าไม่ดีนัก และชาวกะเหรี่ยงก็พยายามเรียกร้องให้พวกตนเองเป็นรัฐอิสระจากพม่าเสมอมา Win มาที่ประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552

เพราะตอนนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการสู่ระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2551 และเริ่มมีการเลือกตั้งในปี 2553 การเมืองจึงมีความผันผวนและเกิดปัญหามากขึ้นพอสมควร อีกทั้งพ่อกับแม่ตกงาน จึงทำให้ไม่มีเงินมากพอจะส่งเขาเรียนต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น

เขาจึงจำเป็นต้องลี้ภัยออกมาอยู่กับป้าและลุงในศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ (Maela Refugee Camp) ที่ตั้งอยู่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งที่นี่ถือว่าเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่บนพื้นที่ 1,150 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงมากถึงร้อยละ 80 เป็นชาวมุสลิมร้อยละ 15 ที่เหลือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในอดีตค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละเคยมีผู้คนมากถึง 60,000 คน โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองพม่ายังเต็มไปด้วยความตึงเครียดและไม่ได้มีความผ่อนคลายมากเ ท่าในปัจจุบัน

Win เล่าว่าการใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยมันไม่ง่ายเลย ทุกอย่างดูยากลำบาก เพราะพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปข้างนอกค่าย ไม่ว่าจะหางานทำ หรือเรียนพิเศษเพิ่มเติม ฟังแล้วดูเหมือนค่ายกักกันมากกว่าเสียด้วยซ้ำ มันให้ความรู้สึกหดหู่และไม่เป็นอิสระ คนภายนอกไม่สามารถรู้ได้เลยว่าข้างในนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ด้วยความเครียดหรือปัจจัยอะไรหลาย ๆ อย่าง จึงทำให้ช่วงการแพร่ระบาดของ covid-19 ความเป็นอยู่เริ่มแย่ลงกว่าเดิม เพราะมาตรการการจัดการของเจ้าหน้าที่ในช่วงนั้นเข้มงวดและกดดันจนเกินไป มีการทำร้ายร่างกายและการควบคุมตัว ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากต่อผู้ลี้ภัยที่ถูกกระทำและได้ออกมาชุมนุมประท้วง

การที่ผู้ลี้ภัยถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมคงเป็นเพราะว่ากฎหมายในไทยไม่ได้รองรับการเข้ามาของพวกเขา Win เล่าอีกว่า สมัยที่ยังเรียนอยู่ที่ค่ายนั้น หลังเลิกเรียนหรือในวันหยุดเขาจะไปรับจ้างเก็บข้าวโพด ในตอนนั้นได้เงินเพียงวันละ 150 บาท ทั้งที่จริงแรงงานต่างด้าวควรได้รับเงินค่าจ้างเท่ากับแรงงานไทยทั่วไป เพราะในกฎหมายแรงงานก็มีระบุไว้ แต่เขาก็จำเป็นต้องทำงานนี้ เพราะต้องนำเงินที่ได้มาซื้ออาหารและของใช้จำเป็น นอกจากจะต้องทำงานและเรียนไปด้วยแล้ว Win ก็บอกว่าการเรียนในค่ายนั้นใบรับรองการจบการศึกษา หรือ Certificate

ไม่สามารถนำไปใช้เพื่อการศึกษาต่อได้ ก่อนที่เขาจะได้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยจึงต้องเรียน GED (General Educational Development) และสอบให้ผ่าน โดยจะมีวิชาภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เขาใช้เวลาทั้งหมด 1 ปี จึงสอบเข้ามหาวิทยาลัย และได้ทุนการศึกษาในการเรียนในคณะสังคมศาสตร์ ภาคนานาชาติ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายสุดท้ายในชีวิต คือการได้กลับบ้านเกิดของพวกเขา แต่ Win ชายหนุ่มชาวกะเหรี่ยงคนนี้กลับต่างกันออกไป เมื่อฉันเอ่ยถามว่า “คุณอยากอยู่ที่ประเทศไทยตลอดไปเลยหรือเปล่า” เขาตอบกลับมาทันทีว่า “ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ก็ดีน่ะสิ” เขาไม่ได้กลับบ้านเกิดมานานกว่า 3 ปี เพราะ covid-19 ระบาด และพ่วงยาวไปถึงเหตุการณ์รัฐประหาร ฉันถามเขาเรื่องสถานศึกษาที่นั่นว่าเป็นอย่างไร เขาเล่าว่าโรงเรียนที่นั่นไม่สามารถเปิดและควบคุมได้ อีกทั้งยังมีไม่เพียงพอต่อหนุ่มสาวที่ต้องการจะเรียน ทั้งเศรษฐกิจตกต่ำ ระบบการศึกษามีปัญหา เรียนไม่ได้ ต้องวุ่นอยู่กับการเคลื่อนย้าย และถึงแม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายบ้างแล้ว โรงเรียนก็เปิดได้เพียง 2-3 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น เมื่อนักเรียน นักศึกษา ไม่สามารถเรียนต่อที่ประเทศของตนได้ จะมาเรียนต่อที่ไทย โดยส่วนมากจะมาจากย่างกุ้ง Win ยังบอกอีกว่า การได้จบการศึกษาในไทยจะทำให้เขามีโอกาสที่จะหางานได้ง่ายกว่าคนที่จบจากพม่าสูงมาก และทุนการศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญในการมาเรียนที่ไทย

Win คิดว่า สถานการณ์ในพม่าน่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกหลายปี ถ้ายังมีการรัฐประหารอยู่ แต่ถ้าทหารเป็นฝ่ายแพ้ และมีรัฐบาลจากพลเรือน สถานการณ์อาจจะดีขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คือการมองเห็นประชาชนทุกคนเป็นมนุษย์เฉกเช่นพวกพ้องของตน และปฏิบัติต่อทุกคนอย่างมีมนุษยธรรม

เรื่องราวของ Hline และ Win ได้ถูกส่งต่อจากการสัมภาษณ์พวกเขาโดยตรง แล้วผู้เขียนจึงนำมาเรียบเรียง ชีวิตของทั้งคู่มีความน่าสนใจ และต่างก็ผ่านเรื่องราวมามากมาย แม้จะมาจากแผ่นดินผืนเดียวกัน แต่ภูมิหลังทางครอบครัวและกำลังในการซัปพอร์ตกลับไม่เหมือนกันเลย การก้าวเดินไปข้างหน้าไขว่คว้าโอกาสที่ได้มาเรียนหนังสือจึงถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดในตอนนี้

ส่วนเรื่องสำคัญอย่างขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง (Political Movement) ทั้งสองคนต่างก็บอกว่าไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมือง เหตุผลคือ “ความปลอดภัย” (Safety) ของตนเองและครอบครัว ในด้านของ Hline เธอเป็นคนที่ค่อนข้างจะระมัดระวังตัวในทุก ๆ การกระทำ เพราะว่าเธอต้องเดินทางไปมาระหว่างไทยและพม่า แต่เธอก็เล่าให้ฟังมามันมีกิจกรรมทางการเมืองที่จัดขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมระหว่างคนพม่า หรือการแปะรูปภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่าบนบอร์ดประกาศบริเวณมหาวิทยาลัย ส่วน Win เขาได้ให้เหตุผลในเรื่องของความปลอดภัยเช่นกัน เพราะว่านักศึกษาสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่ในพม่าจะเป็นกลุ่มคนที่เข้าร่วมกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากที่สุด และเขาจะต้องคอยตอบคำถามกับเจ้าหน้าที่ที่ทำ Passport และ Visa ให้กับเขา และถ้าเขามีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก็จะทำให้เข้าและออกประเทศได้ยากมาก

เพราะตัวเขาเองก็เป็นนักศึกษาสังคมศาสตร์เพียงแต่ว่าเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยในไทยเช่นกัน เขาต้องเล่าเหตุผลต่าง ๆ และปฏิเสธอย่างชัดเจนถึงการเข้าร่วมกิจกรรมอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

กำแพงภาษาถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการสัมภาษณ์พวกเขาทั้งสองคน เพราะฉันอาจจะไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่พวกเขาพยายามจะสื่อออกมาได้ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มันทำให้ฉันได้รับรู้ถึงความเป็นมาของพวกเขาทั้งสองคน และเพื่อนชาวพม่าคนอื่น ๆ ที่ต้องลี้ภัยข้ามมาฝั่งไทย พวกเขาเป็นตัวอย่างของคนที่พยายามและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่ขวางหน้า

อย่างไรก็ตามนักศึกษาพม่าไม่มีทางอยู่ที่ไทยตลอดไปได้ พวกเขามีบ้านให้ต้องกลับ มีภาระที่ต้องรับผิดชอบ อนาคตของชาติจะต้องไม่หยุดอยู่ที่การต่อกรกับกลุ่มอำนาจเก่าที่ไม่ยอมปลดปล่อยประเทศชาติให้พัฒนาในทางที่ดีขึ้น ดังคำกล่าวของ เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ “ชายชราประกาศสงคราม แต่เป็นเยาวชนที่ต้องต่อสู้และตาย”

เอกสารอ้างอิง

  • ไทยรัฐออนไลน์. (2564). รัฐประหารพม่า ซ้ำเติมความยากจน กระทบการค้าลงทุนลามไปทั่วอาเซียน. สืบค้น
    26 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.thairath.co.th/scoop/world/2028427
  • บูรพา เล็กล้วนงาม. (2566). ส่องกลุ่มต่อต้านรัฐประหารพม่า เพื่อสหพันธรัฐที่ยังไปไม่ถึง. สืบค้น 28
    พฤษภาคม 2566, จาก https://plus.thairath.co.th/topic/spark/103052
  • ลลิตา หาญวงศ์. (2565). รัฐประหารเมียนมา: 1 ปีผ่านกับงานการทูตที่ไทยเลือกแสดง. สืบค้น 26 พฤษภาคม
    2566, จาก https://www.bbc.com/thai/60163964
  • วีรพจน์ อินทรพันธ์. (2566). ครบรอบ 2 ปี รัฐประหารพม่า. สืบค้น 26 พฤษภาคม 2566, จาก
    https://www.thairath.co.th/news/foreign/2620901
  • สมจิต รุ่งจำรัสรัศมี. (2564). บ้านแม่หละ : ศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยจากเมียนมาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย. สืบค้น
    28 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.bbc.com/thai/international-59670680
  • สำนักข่าวชายขอบ. (2564). ผู้อพยพ ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ ท่าสองยาง จ.ตาก ชุมนุมไม่พอใจเจ้าหน้าที่ไทย.
    สืบค้น 28 พฤษภาคม 2566, จาก https://www.js100.com/en/site/news/view/112432
  • โสภณ องค์การณ์. (2564). ผลกระทบรัฐประหารในพม่า. สืบค้น 26 พฤษภาคม 2566, จาก
    https://mgronline.com/daily/detail/9640000010089
  • อรรถสิทธิ์ พานแก้ว. (ม.ป.ป.). รัฐประหารในเมียนมาร์ 2564. สืบค้น 26 พฤษภาคม 2566, จาก
    wiki.kpi.ac.th/index.php?title=รัฐประหารในเมียนมาร์_2564
  • CHERRYMAN. (2566). ประวัติศาสตร์ : รัฐกะเหรี่ยง. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2566, จาก
    https://www.youtube.com/watch?v=7BP_kK0AK0g

ข่าวที่เกี่ยวข้อง