เมษายน 28, 2024

    “ไปให้พ้นรัฐธรรมนูญวิปริต การเมืองวิปลาส”

    Share

    เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม 2566 เวลา 14.00 – 16.00 น. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดงานเสวนา “ไปให้พ้นรัฐธรรมนูญวิปริต การเมืองวิปลาส” โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาดังนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ ,ดร.กฤษณ์พชร โสมณวัตร และรองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล เสวนาในครั้งนี้เป็นการตีความ รัฐธรรมนูญวิปริต การเมืองวิปลาส ที่ส่งผลให้การจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้าและไม่ไปไหน

    นายทุน ขุนศึก ศักดินา และตุลาการ เครือข่ายของโครงสร้างปัญหา ‘ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย’

    รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล

    สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันคือการเจอกันระหว่างระบอบอำนาจอนุรักษ์นิยมกับสถาบันทางการเมืองที่มาจากประชาชน หรือเรียกว่าสถาบันปฏิปักษ์ประชาธิปไตยกับสถาบันที่มาจากเสียงประชาชน ซึ่งสถาบันปฏิปักษ์ประชาธิปไตยคือสถาบันที่เกี่ยวข้องทางการเมือง แต่ไม่ได้สัมพันธ์กับประชาชนหรือสัมพันธ์แบบเบาบางมาก ยกตัวอย่าง สว. และองค์กรอีกมากมายจำนวนมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

    สมชาย ได้เสนออีกว่า เครือข่ายที่สำคัญที่เป็นโครงสร้างของปัญหา มีอยู่ 4 กลุ่ม ได้แก่ นายทุน ขุนศึก ศักดินา และตุลาการ ซึ่งค้ำยันระบอบอำนาจอนุรักษ์นิยมไว้อยู่ สมชายได้อธิบายเพิ่มเติมแต่ละหัวข้อไว้ดังนี้

    นายทุน เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์และกระจายผลประโยชน์สู่เครือข่ายอย่างกว้างขวาง หลัง 2549-2557 จะเห็นกลุ่มทุนเติบโตอย่างกว้างขวางในธุรกิจผูกขาด จะเห็นได้ชัดหลังพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ถูกทำให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ สส. ชั่วคราว หุ้นขึ้น หุ้นพลังงานขึ้น เพราะพรรคก้าวไกลมีนโยบายที่จะเข้าไปสลายการผูกขาดของกลุ่มทุน

    ขุนศึก หลัง 2549 การขยายอำนาจและงบประมาณของราชการที่เกี่ยวกับความมั่นคงเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีการขยายอำนาจสู่พื้นที่การเมืองมากขึ้น ผบ.เหล่าทัพมีบอร์ดบริหารต่างๆ มากยิ่งขึ้น หลังปี 2557 นายทหารนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น เหล่าพลเอกมีทรัพย์สินหลังเกษียรมีทรัพย์สินมากกว่า 100 ล้าน เราจะเห็นภาวะนี้ที่อำนาจนิยมแข็งแรง

    ศักดินา เน้นการเข้าไปทำงานในอุดมการณ์ที่ยืนยันว่าสถาบันจารีตมีความสำคัญกับสังคม ซึ่งถูกหยิบฉวยไปใช่ในแต่ละกลุ่ม อาทิกรณีการกีดกันพรรคก้าวไกลในเรื่องของการแก้ไข ม.112 โดยบอกว่าจะเป็นการนำไปสู่การละเมิดต่อสถาบัน ซึ่งเป็นการหยิบอุดมการณ์แบบเดิมเข้ามา

    ตุลาการและองค์กรอิสระ ตั้งแต่ 2540 เป็นต้นมาองค์กรเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่และหลักวิชาที่เป็นกลาง แต่ภายใต้อุดมการณ์กษัตริย์นิยมและความผันผวนทางการเมือง หลัง 2549 สิ่งที่เห็นคือ เหล่าองค์กรตุลาการและองค์กรอิสระทั้งหลายเหล่านี้พากันเลี่ยวขวากัน คือการสนับสนุนอำนาจนิยมอนุรักษ์นิยมแบบชัดเจนมากขึ้น

    ทั้งนี้สมชาย ได้ตั้งคำถามต่อว่า แล้วในฐานะประชาชนสามารถทำอะไรได้บ้างและควรทำอะไรบ้าง 

    “อย่าปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์ (สูตรต่างๆ) เพียงอย่างเดียว ต้องทำให้พรรคการเมืองตระหนักว่าทุกตัวเลขมีความปรารถนาของประชาชนอยู่ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว เราต้องมีส่วนร่วมในการติเตียนควบคุมพรรคการเมือง การแบนหรือการคว่ำบาตรก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ประชาชนสามารถทำได้ ซึ่งถือว่าเป็นการต่อสู้แบบสันติวิธี”

    “อำนาจทางการเมืองต้องอยู่ด้วยความชอบธรรมและความยอมรับของผู้คน”

    ความไม่สมบูรณ์ของ 112 และ ความอ่อนแอทางสถาบันทางกฎหมาย ผลพวงปัญหาจากอดีตสู่ปัจจุบัน

    ดร.กฤษณ์พชร โสมณวัตร

    กฤษณ์พชร โสมณวัตร ได้เสนอในประเด็นรัฐธรรมนูญวิปริต การเมืองวิปลาส นี้ไว้ว่าเป็นสภาวะที่หนีห่างจากและไม่ยึดจากหลักความเป็นจริง หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา ได้เสนอใน 2 ประเด็นที่เป็นผลพวงที่สืบทอดปัญหามาถึงปัจจุบันได้แก่ ความไม่สมบูรณ์ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ ความอ่อนแอทางสถาบันทางกฎหมาย

    กฤษณ์พชร เสนอว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกใช้เป็นเหตุผลหรือข้ออ้าง 112 ที่สำคัญที่สุดในการปฏิเสธพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาต่อรัฐธรรมนูญและสถาบันทางกฎหมาย ประชาชน สถาบันพระมหากษัตริย์ รวมไปถึง ความสัมพันธ์ของประชาชนและสถาบันพระมหากษัตริย์ 

    พรรคการเมืองที่เสนอแก้ 112 เป็นการแสวงหาการอยู่ร่วมกันระหว่างประชาชน และสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้การด่าและการวิจารย์กลายเป็นเรื่องเดียวกัน สร้างความคลุมเครือ ส่งผลให้ความชอบธรรมในการวิพากษ์ที่เป็นเสรีภาพนั้นเป็นเรื่องที่ผิดหรือกลายเป็นการด่าไปได้

    กฤษณ์พชร เสนอต่อว่าในเรื่องของความอ่อนแอของสถาบันทางกฎหมาย ว่า สถาบันทางกฎหมายไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ใครได้ นักวิจารย์หลายท่าน บอกว่าหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา ที่เสนอญัตตินายกรัฐมนตรีหรือ การหยุดปฎิบัติหน้าที่ชั่วคราวของหัวหน้าพรรคก้าวไกล เรียกว่าตุลาการรัฐประหาร แต่กฤษพชร เสนอว่ามันคือ นิติรัฐรัฐประหาร คือการนำองคาพยพทั้งหมดถูกออกแบบให้กฎหมายสามารถยึดอำนาจรัฐ ซึ่งไร้หลักนิติรัฐซึ่งส่งผลเกิดความวิปริต ไม่ยอมรับความจริง อาทิ หุ้นสื่อ ITV ที่ไม่เป็นสื่ออีกต่อไป แต่กฎหมายอุปโลกน์ความเป็นสื่อขึ้นมา เป็นการปฏิเสธความจริงและอยู่ในโลกของตัวเองและอยู่กับมัน รวมไปถึงเรื่องการเสนอญัตติการเสนอชื่อนายกฯ การแต่งตั้งสว. ให้สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เป็นการสร้างบรรทัดฐานปลอมๆ ขึ้นมา 

    เมื่อสถาบันกฎหมายอ่อนแอวัฒนธรรมทางกฎหมายอ่อนแอ จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือของสถาบันการเมืองอื่นๆ ได้ง่าย กฎหมายไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้เลย กฎหมายในไทยทำให้เข้าใจไม่ได้ สร้างความวุ่นวายกว่าปกติ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงของรัฐ และมีอำนาจพิเศษในการแทรกทางการเมือง อาทิ การรัฐประหาร หรือการใช้กลไกศาลรัฐธรรมนูญในการขัดแข้งขัดขาทางการเมือง

    “ความไม่สมบูรณ์ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ ความอ่อนแอทางสถาบันทางกฎหมาย ทั้งหมดทำให้การเมืองไม่มั่นคง ทั้งหมดทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนฉีกขาดออกจากกัน”

    รุก รับ ครองเกม รักษาพื้นที่ ยุทธศาสตร์ทางการทหาร ลมหายใจสุดท้ายของเขา?

    รองศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์

    ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ เสนอว่า รัฐธรรมนูญวิปริต การเมืองวิปลาส คือ มาตรการสุดท้าย ลมหายใจหรือพลังสุดท้ายที่พวกเขา ซึ่งหมายถึงชนชั้นนำไทย คือ กองทัพหรือระบบการราชการ เรียกว่า The Militarized Constitution หรือการใช้ยุทธศาสตร์ทางการทหารทำให้รัฐธรรมนูญเป็นอาวุธทางการเมือง เป็นการแปลงยุทธวิธีเข้ามาสู่กฎหมาย ปฏิเสธไม่ได้ว่ากองทัพหรือระบบราชการเข้ามาแทรกแทรงการเมืองการปกครองของไทย ที่ควรจะเป็นระบอบของประชาชนก็จะมีการแทรกแทรงเป็นระยะ 

    ทศพล อธิบายว่า ขั้นแรกคือการแช่แข็งสังคมไทย สามารถควบคุมได้ ให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่วุ่นวาย ซึ่งเขียนไว้ในรับธรรมนูญ เป็นเป้าหมายที่ไม่ใช้อาวุธปืน แต่เป็นข้อกฎหมายที่รองรับยุทธวิธีในการ รุก รับ ครองเกม และรักษาพื้นที่ ได้ยังไง 

    ครองเกม คือ ในรัฐธรรมนูญนี้ได้อธิบายถึงวิธีการได้มาซึ่งอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น อำนาจรัฐบาล อำนาจสภา  อำนาจตุลาการ รวมไปถึงอำนาจขององค์กรอิสระต่างๆ ว่าจะสามารถเข้าสู่ตำแหน่งเหล่านี้ได้ยังไง สัดส่วนตัวแทนของในคณะกรรมการต่างๆ เปลี่ยนไปเป็นอย่างมากตั้งแต่ รัฐธรรมนูญปี 50 รวมไปถึงวิธีการใช้อำนาจ

    รักษาพื้นที่ คือ วิธีการไม่ให้หลุดจากอำนาจแบบทันที ซึ่งปรากฎในรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก เช่นการคงสถาบันทางการเมืองที่สร้างขึ้นมาให้ดำรงอยู่ และดัดแปลงองค์กรอิสระให้กลายเป็นเครื่องมือในการหน่วงรั้งการทำงานของรัฐบาล 

    รุก คือการทำลายความเข้มแข็งของฝั่งตรงข้ามเสียเปรียบ หรือทำให้หลักประกันของฝั่งตรงข้ามน้อยลง 

    รับ คือการตั้งมั่นให้ฝ่ายของตนเข้มแข็ง ได้เปรียบต่อคู่ต่อสู้ การออกแบบนำไปสู่แผนการผลักดัน พ.ร.บ.การเลือกตั้ง เข้าสู่อำนาจและปรับ พ.ร.บ. ให้เหมาะสมกับยุทธศาสตร์ของผู้กุมอำนาจ

    Related

    อยู่-ระหว่าง-เหนือล่าง : เหนือล่างกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก...

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...