เรื่อง: ธนพงษ์ หมื่นแสน
“….ฟากฟ้ายามเย็นเห็นแสงรำไร
อาทิตย์จะลับโลกไปพระจันทร์จะโผล่ขึ้นมา
หมู่มวลวิหคเหินลมอยู่กลางเวหา
จะหลับคืนสู่ชายคาชายป่าคือแหล่งพักพิง.…”
ผู้เขียนมุ่งใช้ข้อความสี่บรรทัดนี้ ทำหน้าที่แทน “ตัวอักษรที่มีเสียง” ซึ่งใครหลายคนคงพอที่จะฮึมฮำร่ำร้องได้ในใจหรือสามารถเปล่งคำและความออกมาเป็นเสียงที่แสนไพเราะเสนาะโสต แม้เนื้อความของบทเพลง “แม่สาย” ได้เคยขยายและยังคงฉายภาพถึงเรื่องราวชีวิตของเด็กหญิงสาวที่ถูกพรากจากหมู่บ้านฐานถิ่นเพื่อเดินทางไกลไปเป็นเสมือนดั่งเช่นนกน้อยที่รอคอยวัน “กลับมาแค่ทันพระสวด” ทว่าความเจ็บปวดรวดร้าวของเนื้อหาในบทเพลงๆ นี้ ก็คงจะถูกแทนที่ด้วยพรรณนาโวหารที่เตะใจต้องอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนทั่วไปอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้วงเวลาที่ผู้เขียนกำลังตกอยู่ในอารมณ์และห้วงเวลาแห่งการดื่มด่ำร่ำรสคราฟต์เบียร์พื้นถิ่นยี่ห้อหนึ่งอยู่ตรงคาเฟ่ริมฟุตบาท ณ ฝั่งตรงข้ามปากทางขึ้นวัดพระธาตุดอยเวาอันเป็นพื้นที่ชุมทางแหล่งการค้าของผู้คนในท้องที่ของเมืองแม่สาย ถัดจากโค้งคุ้งชุมทางแหล่งการค้าแถบที่ว่านี้เลยไปอีกนิด ติดตั้งแต่เชิงสะพานข้ามแดนเป็นถนนสายเล็กๆ เลาะเลียบตีนดอยเวายาวไปทางทิศตะวันตก คนในพื้นที่แถบนั้นรู้จักกันดีในชื่อ “ถนนสายลมจอย” (หรืออาจจะเรียกว่า “สันลมจอย” เพราะอยู่ติดสันเขาก็ได้ คงไม่ผิดมากนัก) เส้นทางที่ว่านี้คือช่องเขาขนาบแนบร่องลำน้ำแม่สายที่มีสายลมจอยลอยพัดเอื่อยเฉื่อยชิวปลิวมากระทบผิวของผู้เขียน บรรยากาศร้านรวงต่างๆค่อนข้างเป็นไปอย่างสงบ คงเป็นผลกระทบอันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่แลดูจะย่ำแย่ก่อนการจะมาถึงห้วงเวลาการแพร่ระบาด Covid-19 เสียด้วยซ้ำไป พ่อค้าแม่ขายหลายคนต่างก็บ่นแทบเป็นเมโลดี้เดียวกันแล้วกระมั้งว่า “แม่สายเวลานี้ ไม่ใช่ทำเลทองของการทำมาค้าขายเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน อะไรต่อมิอะไร มันได้เปลี่ยนฝ่ายโยกย้ายไปฝั่งโน้น (หมายถึง ฝั่งท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาร์) หมดแล้วว”
เสียงฮึมฮำคร่ำครวญเพลง ละเล้าละเลงกับจินตนาการ ผสมผสานเสียงของรถราที่คลาคล่ำเป็นทิวแถวแนวยาว ตลอดจน ผู้คนที่จับเจ่าจอแจแน่นขนัดซึ่งรอต่อคิวรอข้ามด่านพรมแดนจากฝั่งแม่สายเพื่อไปยังฝั่งท่าขี้เหล็กนั้น มีอยู่อย่างขวักไขว่ไปทั้งยวดยานพาหนะและการเดินเท้าจ้ำอ้าวเพื่อประชันขันแข่งกับช่วงเวลาอันเร่งด่วนที่จวนใกล้จะถึง 18.00 น. โมงยามของ “ความเป็นเมืองแม่สาย” ณ ปลายสุดเขตของประเทศไทยในด้านทิศเหนือสุดจึงเป็นไปอย่างคำและความที่ผู้เขียนพยายามสาธยายไว้ ชีวิตของฝูงชนคนหนุ่มสาวอายุรุ่นราว 20 กว่าๆ ขึ้นไปถึงช่วงวัย 30 แก่ๆ ร้อยพ่อพันแม่กลุ่มหนึ่งก็เปรียบเสมือนหมู่มวลวิหคเหินลมกลางเวหา พวกเขาเหล่านี้จึงมีทั้งกำลังเดินทางกลับคืนสู่ชายคามาตุภูมิของพวกเขาในฝั่งแม่สาย ในขณะเดียวกันก็มีคนหนุ่มสาวอีกกลุ่มที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าเรียบง่ายสะดวกสบายมีสัมภาระในมือที่ถือไว้ไม่มากนักเดินเท้าจากทางฝั่งแม่สายเพื่อข้ามไปยังฝั่งท่าขี้เหล็กเพื่อรอการกลับข้ามมาในช่วงอรุณรุ่งพรุ่งนี้เช้าของวันถัดไป
ผู้คน การดำเนินชีวิต สภาพเศรษฐกิจและสังคมของ “ท่าขี้เหล็ก” เป็นเฉกเช่นไร ข้อเขียนนี้ จึงรับหน้าที่ขันอาสานำพาผู้อ่านให้ข้ามไปสำรวจตรวจตราอย่างละเอียดละออของ “เพื่อนบ้านข้างๆ” อย่างละเมียดละไมเท่าที่พอจะซักไซ้ ไต่สวน ทวนความ ตามติด หามาได้ เพื่อสร้างความเข้าใจและบทสนทนาบางประการที่ต่อ “ยักษ์หลับ” อย่าง “เมืองท่าขี้เหล็ก” ที่ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นภาพจำลองของ “รัฐเท็กซัสแห่งลุ่มน้ำแม่สายและเมืองมุมไบแบบขนาดย่อส่วน” ทั้งๆที่ส่วนตัวผู้เขียนเองไม่เคยสัมผัสประสบการณ์ของเมืองทั้งสอง แต่นั่งลองนึกติดจินตนาการจากหนังอินเดียที่ใช้มุมไบเป็นฉากในการเล่าหลายๆเรื่อง หรือหนังบู๊อเมริกันแอ๊คชั่นคาวบอยเป็นแนวในการมโนนึก
ย้อนกลับไปในช่วงท้ายปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนและมิตรสหายท่านหนึ่งผู้ซึ่งเดินทาง มาจากเชียงใหม่ได้วางแผนว่าจะใช้ช่วงเวลาสักหนึ่งวันในการเดินทางข้ามแดนเพื่อไปสำรวจพื้นที่และภูมิทัศน์ของ “เมืองท่าขี้เหล็ก” เราสองคนตกลงกันว่าจะเน้นการเช่าเหมารถสามล้อเพื่อใช้ในการเที่ยวแบบชะโงกทัวร์และตบท้ายการกินเมนูพื้นถิ่นที่คาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่นานมากนัก เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทำบัตรผ่านแดน (Border Pass) จากบริเวณที่ว่าการอำเภอแล้ว ผู้เขียนก็ได้นำพามิตรสหายผู้ร่วมทริปซ้อนมอเตอร์ไซต์มาจอดไว้บริเวณจุดจอดหน้าด่านพรมแดนเพื่อเตรียมยื่นเอกสารให้กับเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรเพื่อเดินทางข้ามแดนที่เป็นไปด้วยความเรียบง่ายทั้งในฝั่งไทยและในฝั่งเมียนมาร์ เมื่อข้ามมาถึงผู้เขียนได้พามิตรสหายเดินจ้ำอ้าวเข้าไปหาลุงแสง หนุ่มใหญ่ชาวไทลื้อที่ผู้เขียนคุ้นเคยสำหรับการว่าจ้างให้พาผู้เขียนเที่ยวท่องล่องถนนของเมืองท่าขี้เหล็ก ยิ่งไปกว่านั้นรถสามล้อเครื่องของลุงแสงดูแล้วก็คงจะมีกำลังส่งหลายแรงม้ามากพอที่จะลากสังขารผู้เขียนไปตามที่ต่างๆในเมืองท่าขี้เหล็กดั่งที่ใจผู้เขียนปรารถนาได้ไม่ยากเย็นมากนัก เกริ่นมายืดยาว ขอเข้าเล่าและเข้าเรื่องเข้าความเลยแล้วกัน
“ท่าขี้เหล็ก” เป็นเมืองชายแดนของประเทศเมียนมาร์โดยมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในรัฐฉานตะวันออก พื้นที่ของตัวเมืองตั้งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายของประเทศไทย ลักษณะภูมิประเทศ มีภูเขาสูงใหญ่โอบอ้อมทางทิศเหนือไปทางทิศตะวันตก ในขณะที่ทางทิศใต้มีแม่น้ำแม่สายเป็นเส้นปักปันเขตแดน ทางธรรมชาติกับประเทศไทย นอกจากนี้ ตัวเมืองท่าขี้เหล็กนั้นมีลักษณะทอดตัวยาวไปตามที่ราบลุ่มของแม่น้ำสาย ไล่เรียงจากทิศตะวันตกลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกจรดแม่น้ำรวก (ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าแม่น้ำสาย) ที่ไหลมาจาก ทางทิศเหนือเป็นเขตแดนและยังมีลำน้ำสายเล็กเกิดจากภูเชาทางทิศเหนือไหลผ่านพื้นที่ตัวเมืองอย่างเช่นน้ำแม่ขาว เป็นต้น ความเป็นเมืองของท่าขี้เหล็กจึงมีอาคารบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างและการอยู่อาศัยของผู้คนที่มีความหนาแน่นของจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก โดยผู้เขียนประมาณขนาดโดยอาศัยจากวิธีการนั่งรถสามล้อเครื่องชมเมือง การเทียบเคียงภาพจาก Google Map ตลอดจนการสังเกตการบนดอยเวาทำให้คาดว่าเมืองท่าขี้เหล็กน่าจะกินพื้นที่ความเจริญหรือพื้นที่ตัวเมืองมากกว่าเมืองแม่สายประมาณ 3-4 เท่าตัว
ผู้คนทั่วไปหลายคนอาจเคยรู้จักมักคุ้นและรับรู้ต่อ “ความเป็นเมืองท่าขี้เหล็ก” อยู่เพียงเฉพาะบริเวณตลาดท่าล้อและร้านค้าบริเวณสะพานข้ามแดนที่มีชื่อเรื่องแผงจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมราคาถูก สินค้าปลอดภาษีหรือสินค้าเลียนแบบเกรดเอที่มีวางจำหน่ายรายเรียงมากมายหลายชนิด ตลอดแผ่น CD DVD ในวันวาน ณ โมงยามที่เทคโนโลยีเครื่องเล่นดิจิตอลยังไม่ก้าวหน้ามาอย่างเช่นทุกวันนี้ การข้ามแดนมาเพื่อเที่ยวฝั่งท่าขี้เหล็กในความรับรู้ของผู้คนเมื่อซัก 1-2 ทศวรรษก่อนหน้า จึงเป็นการมาเที่ยวหา “ของถูก” เท่านั้น ในขณะเดียวกันกิจกรรมทางเศรษฐกิจลักษณะที่ว่านี้ในพื้นที่ตลาดท่าล้อ เมืองท่าขี้เหล็กกลับถูก เทคโนโลยี วันเวลาและแพลตฟอร์มการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบใหม่โถมถั่งหลั่งไหลเข้ามาทดแทนที่ แต่ถ้าหากพิจารณาเมืองท่าขี้เหล็กในมิติการเมืองการปกครองแล้ว เมืองดังกล่าวเป็นที่ตั้งอาคารศูนย์ราชการทั้งในฐานะที่เป็นตัวจังหวัดและเป็นตัวอำเภอเมือง ขณะเดียวกัน ผลสำมะโนประชากรเมื่อกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา (พ.ศ. 2557) กล่าวว่ามีประชากรในฐานข้อมูลมากกว่า51,553 คน โดยถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในภาคตะวันออกของรัฐฉาน ในขณะที่ผู้เขียนมองตัวเลขดังกล่าวนี้ มิได้มีนัยยะสำคัญใดๆเลยในทางสถิติของประชากรจังหวัดท่าขี้เหล็กที่มีการเคลื่อนย้ายไหลเวียนของผู้คน ตลอดจนเป็นประชากรแฝงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองซึ่งมีความหนาแน่นมาอย่างต่อเนื่อง จะมีอีกซักกี่หมื่นกี่แสนคนในอาณาบริเวณนี้ที่ยังไม่ผ่านการสำมะโนประชากรที่ควรดำเนินการโดยรัฐบาลเมียนมาร์ นอกจากนี้เมืองที่เต็มไปด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งบนดินและใต้ดิน ทั้งด้านสว่าง ด้านเทาและด้านมืดอย่างท่าขี้เหล็กซึ่งมีอยู่อย่างอุ่นหนาฝาคั่งก็น่าจะเป็นเครื่องยืนยันถึงปัจจัยในการดึงดูดซับรับเอาผู้คนเข้ามาสู่พื้นที่ทองคำแห่งนี้ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงข้อมูลการเดินทางข้ามแดนของฝูงชนคนหนุ่มสาวอายุรุ่นราว20กว่าๆขึ้นไปถึงช่วงวัย30แก่ๆ ซึ่งถูกประมาณการณ์โดยเจ้าหน้าที่ข้ามแดนไว้อย่างน้อยวันละจำนวน 2,000-3,000 คน ต่อวัน
ความหนาแน่นในการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองท่าขี้เหล็กนั้นสามารถสังเกตได้โดยง่ายที่สุดคือ สภาพการจราจรตามท้องถนนของเมืองท่าขี้เหล็กที่มีความแน่นแน่น หรือ รถติดตลอดทั้งวันแบบไร้ชั่วโมงเร่งด่วน เพราะทุกๆชั่วโมงการใช้ชีวิตของพวกเขาบนท้องถนนนั้น อะไรต่อมิอะไรมันก็ช่างดูด่วนไปเสียหมดเลย ซึ่งชาวท่าขี้เหล็กส่วนใหญ่มักจะมีรถยนต์ส่วนตัว เนื่องจากรถยนต์ที่จำหน่ายในเมืองท่าขี้เหล็กนั้นมีราคาค่อนข้างถูก เพราะรัฐบาลเมียนมาร์ไม่ได้มีการเรียกเก็บภาษีรถยนต์อย่างประเทศไทย หรือสปป.ลาว และรถยนต์ที่ใช้ในพื้นที่จะเป็นรถยนต์นำเข้าหลายสัญชาติ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเป็นรถยนต์ใหม่แทบทั้งนั้น และยังเป็นรถที่มียี่ห้อ โดยที่บางยี่ห้อก็ไม่มีให้เห็นในประเทศไทย เนื่องจากเป็นรถสำหรับผู้ที่มีรายได้สูงจากประเทศต่างๆ
ขณะเดียวกันการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในเมียนมาร์เกิดจากการที่รัฐบาลเมียนมาร์มีนโยบายการทดแทนรถยนต์เก่า (Old Car Replacement Plan) และยังอนุญาตให้ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี สามารถนำเข้ารถยนต์ใหม่มาใช้โดยตรง ทำให้มีกลุ่มบริษัทต่างชาติแห่กันเข้ามาเจาะตลาดเมียนมาร์ในพื้นที่เมืองท่าขี้เหล็กมากยิ่งขึ้นอย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรของเมืองท่าขี้เหล็กเองนั้นยังคงมีปัญหาในด้านการจัดระบบระเบียบ ทั้งชนิดและประเภทการใช้งานของรถ ประกอบกับเส้นทางคมนาคมหลายจุกที่ยังคงชำรุดและมีความคับแคบ อย่างไรก็ตามการขนส่งทางถนน ด้านทิศเหนือมีเส้นทาง R2B เชื่อมไปยังเมืองเชียงตุงเป็นระยะทาง 106 กิโลเมตร และยังต่อไปทางตะวันตกถึงตองจีเมืองหลักของรัฐฉาน ขณะเดียวกันถนนทางด้านตะวันออกนั้นมีเส้นทางR3B ไปยังเมืองลา ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่บริเวณชายแดนจีนและต่อไปยังมณฑลยูนนาน ประเทศจีนอีกด้วย ส่วนการเดินทางและการขนส่งในเมืองท่าขี้เหล็ก นิยมใช้สามล้อและรถสองแถวที่วิ่งจากชายแดนท่าขี้เหล็กไปยังด่านเก็บเงินข้ามเมือง (ด่านหมากยางซึ่งห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 15 กิโลเมตร)
ครั้นเมื่อย้อนหวนทวนความกลับไปในโมงยามช่วงความวุ่นวาย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ส่งผลให้มีการปิดด่านข้ามพรมแดนเป็นการชั่วคราวยาวนานกว่า 3 ปี และสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมาร์ที่แทรกตัวเข้ามาจนกระทั่งสร่างซาลงไปแล้วนั้น เป็นเงื่อนไขสำคัญอันทำให้เมืองท่าขี้เหล็กได้เกิดฟื้นตัวตื่นจากการฟูมฟักหลับใหล จนกระทั่งคืนมาสู่ความสว่างและความสดใส ในอีกคำรบหนึ่ง ชีวิตชีวาของผู้คนที่ผู้เขียนได้ยินจากคำบอกได้ถูกส่งผ่านมาสู่ผู้เขียนทั้งในรูปแบบข้ามรัฐและลอดรัฐ มาตั้งแต่สถานการณ์การปิดด่านพรมแดนยังคงดำเนินไป โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขและความไม่ลงรอยในเชิงผลประโยชน์ทางการเมืองระดับระหว่างรัฐกับรัฐ และรัฐกับชนกลุ่มน้อยหรือกองกำลังติดอาวุธ ตลอดจนผู้มีอิทธิพลที่ยังคงครุกรุ่นอุ่นอักเต็มพื้นที่ จนกระทั่ง การกำหนดเปิดด่านข้ามพรมแดนถูกลากยาวข้ามเดือนข้ามปีมาเปิดเอาเมื่อเพียงต้นปีที่ผ่านมานี้เอง แต่ผู้เขียนเองก็พอทราบเป็นเลาๆมาว่า ทั้งชีวิตชีวาจากบรรดาแสง สี เสียงและเสียงหัวเราะของนักท่องราตรีและนักพนัน มันต่างก็ได้ย้อนคืนกลับมานานแล้ว นานก่อนที่ด่านจะเปิดอย่างเป็นทางการแล้วด้วยซ้ำ เพราะข้าวของเครื่องใช้สารพัดสารพันต่างก็ได้ถูกขนถ่ายเพื่อจำหน่ายจ่ายแจกได้อย่างเป็นปกติผ่านผ่านสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่สองซึ่งก็มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ผู้คนถูกห้าม(แม้จะห้ามได้ยากเย็น) สินค้าก็ยังถูกขาย เมื่ออุปสงค์หรือความต้องการซื้อมีมากเพียงใด กฎระเบียบหรือพิธีกรรมศุลกากรก็เป็นเพียงแค่นาฏยกรรมของรัฐเท่านั้นเอง
ชีวิตของผู้คนในฝั่งท่าขี้เหล็กจึงเป็นไปด้วยความปกติก่อนด่านพรมแดนจะเปิดให้ผู้คนข้ามไปมาอย่างเป็นทางการแล้วล่วงหน้าอย่างน้อยเป็นปี ความไม่เป็นทางการจึงเป็นสิ่งที่ดำเนินไปตามกลไกในภาวะไม่ปกติตามแนวตะเข็บชายแดนให้ผู้มีอำนาจและนายทุนในพื้นที่แสวงหาช่องว่างเพื่อตัดตวงผลประโยชน์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้น พญามังกรซึ่งมีฐานะเป็นพี่ใหญ่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก็ยังสามารถเป็นหลังพิงทางเศรษฐกิจให้กับเมียนมาร์และเมืองท่าขี้เหล็กได้เป็นอย่างดี ชะโงกทัวร์ของผู้เขียนและมิตรสหายจึงได้มองเห็นกับตาว่าที่นั่นมีร้านซูชิและอาหารญี่ปุ่น ร้านชาบูหม่าล่าที่ลงทุนโดยนายทุนชาวจีนตั้งแต่ขั้นเรียบหรู ขั้นดูดี และขั้นมีระดับ ให้คนมีเงินเลือกกินเลือกใช้ ในขณะที่การปล้น ฉกชิง วิ่งราว ก็มีให้เป็นเป็นปกติ เงินทองปลิวว่อนอยู่กลางอากาศ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะวิ่งมาหยิบฉวยเอา เสียงสำลักความสุขดังก้องกลบเสียงความหวาดกลัวทั้งในเรื่องเหตุบ้านการณ์เมืองและ Covid-19 ไปตั้งนานแล้ว
ประเด็นแฟชั่น อาหารการกินและรถราพาหนะ จึงเป็นสิ่งละอันพันละน้อยที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของเมืองชายแดนท่าขี้เหล็กมีไปค่อนข้างมากและมีแนวโน้มว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย ท่าขี้เหล็กเป็นเมืองที่ตั้งของศูนย์กลางการค้า การส่งออก ธุรกิจด้านการเงิน การธนาคาร และอุตสาหกรรมเบามากมายหลายสาขา จึงเป็นแหล่งดึงดูดนักธุรกิจ พ่อค้า และนักลงทุนหลายชาติ หลายภาษา มาหลอมรวมกันอยู่ในเมืองหุบเขาแห่งนี้นอกจากนี้ยังเป็นเมืองการค้าและเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาค และชายแดนด้านตะวันออกของเมียนมา และเป็นเมืองที่มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากที่สุดเมืองหนึ่งของเมียนมา ขณะเดียวกันตามถนนสายหลักก็ได้นักธุรกิจก็เริ่มเข้ามาลงทุนในการก่อสร้าง ตึกสูง อาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม และบ้านจัดสรรมากขึ้น หากมองจากภาพมุมสูงจากบนดอยเวาในฝั่งประเทศไทยทำให้เห็นว่าการสร้างบ้านหรือตึกกระจัดกระจายดูไม่เป็นระเบียบเหมือนกับไม่ได้มีการจัดผังเมืองอย่างเป็นระบบ ขาดการวางโครงสร้างผังเมืองที่ดี เมื่อเมืองมีการเจริญเติบโตขึ้น สิ่งปลูกสร้างก็จะเพิ่มขึ้นตามเช่นกัน ส่งผลให้หลายบริเวณมีการกระจุกตัวอย่างหนาแน่นมากเกินไปอันจะนำมาสู่ปัญหาแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความเสื่อมโทรมอย่างเช่น สลัม ที่จะเป็นปัญหาเกิดขึ้นตามมา สิ่งเหล่านี้จึงเป็นข้อท้าทายที่เมืองชายแดนอย่างท่าขี้เหล็กจะต้องรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงและการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า
นอกจากนี้ พื้นที่ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตสูงนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างยิ่งที่นักลงทุนจากทั่วสารทิศเข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร รวมถึงการที่เมียนมาร์ยังคงไม่มีมาตรการ หรือกฎหมายที่เข้ามาควบคุมราคาที่ดิน ทำให้ราคาที่ดินในท่าขี้เหล็กนั้นมีราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ได้อิงตามราคาหรือกลไกตลาดแต่อย่างใด จึงเป็นอุปสรรคสำหรับนักลงทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งราคาที่ดินมีราคาสูงถึงประมาณ 7 – 8 ล้านบาทต่อที่ดินหนึ่งแปลงการสร้างที่อยู่อาศัยนั้น จากการสัมภาษณ์ลุงแสงคนขับสามล้อเครื่องพบว่า ก่อนหน้านี้ราคาที่ดินในเมืองท่าขี้เหล็กมีราคาสูงกว่าอำเภอแม่สายถึงสามเท่าซึ่งราคานี้อาจลดลงมาบ้างหลังช่วงการระบาดโควิทสิ้นสุดลงทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งที่เป็นชาวไทใหญ่หรือชาวไทลื้อซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองท่าขี้เหล็กได้พากันขายที่ดินและย้ายถิ่นฐานพำนักอาศัยห้ามมาอยู่ในฝั่งประเทศไทยโดยให้ญาติหรือลูกหลานที่มีสัญชาติไทยตลอดจนผู้ที่มีความไว้วางใจในการหาซื้อที่ดินที่มีราคาถูกกว่าในฝั่งเมืองท่าขี้เหล็กตามบ้านจัดสรร หัวไร่ปลายนาในหลายพื้นที่ของอำเภอแม่สาย ประกอบกับช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาอัตราการรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งขายในพื้นที่อำเภอแม่สายมีการเจริญเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเพื่อรองรับการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนที่หลีกลี้หนีความหนาแน่นของเมืองท่าขี้เหล็กเพื่อมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ฝั่งประเทศไทย อันเป็นที่ๆพวกเขาเชื่อว่ามีความสะดวกสบายและมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินตลอดจนความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศต้นทาง
เมืองท่าขี้เหล็กมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว พลังทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้กลายมาเป็นพลังแม่เหล็กที่ดึงดูดนักลงทุนและนักธุรกิจทั้งจากประเทศไทยและประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ตลอดจนนักธุรกิจและนักลงทุนที่เป็นชนกลุ่มน้อยผู้มีอิทธิพลกลุ่มต่างๆสามารถเข้ามารวมตัวกันในพื้นที่นี้อย่างมากมายเพื่อแข่งขันสร้างธุรกิจโดยมุ่งทำกำไรให้เกิดความร่ำรวยผ่านทุกกลไกและไปในทุกๆช่องทางที่พอจะเล็ดรอดสอดแขนสอดหาเข้าไปได้ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมานั่นก็คือด้านมืดของเมืองอันนำมาสู่การเติบโตของธุรกิจสีเทาและสีมืดแน่นอนผู้เขียนคงจะกล่าวถึง บ่อนคาสิโน บ่อการพนัน สถานบันเทิง แม้ว่าจะยังคงผิดกฎหมายเมียนมา แต่หลายแห่งสร้างขึ้นภายใต้ข้อยกเว้นของกฎหมายการปกครองพื้นที่พิเศษ (ของเมียนมา) ทั้งนี้เส้นทางหรือวิธีการสร้างธุรกิจสีเทา ที่บรรดานักลงทุนด้านนี้นิยมทำกันมากสุดก็คือ การสร้างโรงแรม พ่วงคาสิโน พ่วงสถานบันเทิงครบวงจร กล่าวคือทั้งหมดต้องเริ่มจากการมีโรงแรมที่พักเป็นฐานเริ่มต้นก่อน แล้วอาศัยช่องว่างเปิดธุรกิจพ่วงตามมา ทั้งบ่อนพนัน สถานบันเทิงพ่วงที่พัก และรวมถึงเปิดเป็นคาสิโนพ่วงเข้ามาซึ่งในพื้นที่ของเมืองท่าขี้เหล็ก มีบ่อนและคาสิโน ตลอดจนสถานบันเทิงครบวงจรอยู่นับสิบแห่งซึ่งผู้เขียนจะยกเอาตัวอย่างที่เป็นดาวเด่นของเมืองรวมทั้งเป็นที่กล่าวขวัญของบรรดานักพนันและนักท่องราตรีที่พอสืบเสาะหาความถามได้จากมิตรสหายอยู่ประมาณ 4 แห่ง ได้แก่ โรงแรมอัลลัวร์ รีสอร์ต ตั้งอยู่บ้านปงถุง จ.ท่าขี้เหล็ก ติดลำน้ำสาย ที่กั้นชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณตรงข้ามท่าข้ามสายลมจอยเชิงวัดพระธาตุดอยเวาโดยมีทั้งกิจการโรงแรมพ่วงกับบ่อนคาสิโนซึ่งจะเน้นลูกค้า VIP จากประเทศไทยเป็นหลัก รองลงมาคือ คนจีนและนักธุรกิจชาวว้า ในขณะที่คาสิโนเรจิน่า แอนด์ กอล์ฟคลับ ตั้งอยู่ที่บ้านมะก๋าหัวคำ ห่างจากแนวชายแดนประมาณ 3 กิโลเมตร ก็ได้มีการดำเนินกิจการโรงแรม สนามกอล์ฟ บ่อนคาสิโน สปอร์ตคอมแพ็ค และศูนย์บันเทิงครบวงจรสำหรับลูกค้าหลักเป็นคนไทยด้วยเช่นกัน อีกแห่งหนึ่งที่ผู้เขียนมีโอกาสนั่งรถสามล้อเครื่องอ่านนั้นก็คือโรงแรมว้าเก้าชั้นซึ่งตั้งอยู่ริมถนนท่าขี้เหล็ก-เชียงตุงโดยตั้งอยู่เยื้องกับวัดพระธาตุสายเมืองมีเจ้าของเป็นนักธุรกิจเสื้อสายว้า ที่ร่ำรวยมาจากธุรกิจสีเทา ลักษณะเป็นสถานบันเทิงสำหรับวัยรุ่นเข้ามาเที่ยวหาความบันเทิงเพลิดเพลินใจ เจ้าของธุรกิจมักจ้างนักร้องนักแสดงจากประเทศไทย ทำให้เป็นจุดดึงดูดให้ผู้เข้ามาใช้บริการ ที่เรียกว่า “สถานบันเทิงครบวงจร” มีบริการ ที่พัก บ่อนคาสิโน และสถานบันเทิง และสุดท้ายคือโรงแรม 1G1 ตั้งอยู่ห่างจากสะพานแห่งที่ 1 ราว 2 กิโลเมตร ที่แห่งนี้ถือว่าเป็นสวรรค์แห่งใหม่ของนักท่องราตรี เพิ่งจะมีชื่อเสียงโด่งดังโดดเด่นสุดๆซึ่งปรากฏภาพจากสื่อและโฆษณาของไทยเป็นที่นิยมสำหรับชาวเมียนมาร์ จึงเป็นจุดดึงดูดให้ผู้คนเข้าไปเที่ยวเป็นจำนวนมาก เรียกว่าเป็นสถานบันเทิงอย่างครบวงจรที่มีบริการที่พัก บ่อนกาสิโน และสถานบันเทิงจุดเด่นอยู่ที่บรรดาผีเสื้อราตรี หรือบรรดาสาวงามนางเมืองที่คอยทำหน้าที่ให้การต้อนรับผู้มาใช้บริการ ทั้งนักร้องสาวสวย พีอาร์ เด็กเอนเตอร์เทน พริตตี้ โคโยตี้ มาร์กเกอร์โต๊ะสนุกฯ สารพัด คอยบริการปรนนิบัติอย่างดีที่ส่วนใหญ่เป็น “สาวไทย” หน้าตาดี หุ่นเกรดเอเอบวก เรือนร่างระดับนางแบบ ที่ผ่านการคัดสรรและเดินทางมาจากแทบทุกภูมิภาคของไทย พวกเธอคือนักแสวงโชคยุคใหม่ ที่เดินทางไปขุดทอง เสี่ยงกับโชคชะตา และวาสนา สลับสับเปลี่ยนหมุ่นเวียนไปตามการบริหารจัดการของเอเย่นต์ใหญ่ที่มีเครือข่ายทั้งในไทยและท่าขี้เหล็ก
ปิดท้ายทริปการเดินทางช่วงบ่ายวันนี้ที่ร้านอาหารพม่าใกล้วงเวียนก่อนจะข้ามด่านพรมแดนกลับมาสู่ประเทศไทยที่มีชื่อว่าร้าน Valentine Tea & Food Center ท่าขี้เหล็ก ผู้เขียนได้สั่งชาพม่ากินกับปาท่องโก๋ที่ทอดไว้เลยดูค่อนข้างจะเนิ่นนานมาแล้ว ในขณะที่มิตรสหายท่านหนึ่งของผู้เขียนนั้นรับประทานขนมจีนน้ำหยวกที่มีส่วนผสมจากปลาช่อนกับหยวกกล้วยอย่างเอร็ดอร่อย พื้นที่ของร้านอาหารดังกล่าวสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมที่ยังคงปรากฏอยู่อย่างหนึ่งครับนั่นคือวัฒนธรรมการดื่มชาของผู้คนในพื้นที่เมืองท่าขี้เหล็กในช่วงเที่ยงวัน ผู้คนนึงร้านอาหารกลางค่ำบางคนไม่ได้สั่งอาหารแต่เข้ามาเพื่อที่จะดื่มน้ำชาและนั่งฟังเพลง เราสองคนสรุปบทเรียนของการเดินทางในวันนี้ไว้ประมาณว่าดูจากภาพรวมแล้วเมืองท่าขี้เหล็กในฐานะเมืองที่มีความเป็นสมัยใหม่นั้นยังถือได้ว่าเพิ่งก่อกำเนิดและยังสามารถพัฒนาให้มีความเจริญเติบโตไปได้อีกมากสิ่งสำคัญอันจะก่อเกื้อให้เมืองแห่งนี้ดำรงอยู่ต่อไปได้นั่นคือการประสานงานการจัดการและการบริหารที่ดีขึ้น ซึ่งอุปสรรคสำคัญสำหรับสิ่งที่กล่าวมานั้นคือสถานการณ์ความเป็นประชาธิปไตยในประเทศเมียนมาร์ตลอดจนอิทธิพลและระบบอุปถัมภ์ของหุ้นส่วนได้ส่วนเสียในระดับพื้นที่ที่พร้อมจากแผ่นซ้ายหันขวาหรือส่งสัญญาณไฟเขียวไฟแดงให้กับทุกๆกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองเพื่อการขับเคลื่อนเมืองท่าขี้เหล็กให้เป็นไปสมดังใจและประโยชน์โภชน์ผลที่พวกตนพึงจะได้รับ
เรื่องเล่าว่าด้วยความเจริญเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของเมืองท่าขี้เหล็กนี้ ขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสันแม้ว่าตามกฎหมายของเมียนมาร์ไม่ได้บ่งบอกว่าการพนันเป็นสิ่งกฎหมาย ทำให้การพนันกลายเป็นเรื่องธรรมดาในทุกพื้นที่ในประเทศเมียนมาร์รวมถึงบ่อนคาสิโนด้วยแม้ว่า “การพนันในเมียนมา” เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในทางปฏิบัติสำหรับท่าขี้เหล็ก ยังมี “พื้นที่ยกเว้น” จากการต่อรองระหว่างภาคราชการกับชนกลุ่มน้อยให้เป็นเขตปกครองตนเองอีกทั้ง “ทางกฎหมาย” ก็ผลักดันแก้กฎหมายให้มีคาสิโนในโรงแรมได้ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ “ท่าขี้เหล็ก” จึงกลายเป็นสวรรค์บนดินของนักเที่ยว นักเล่น ที่มีอัตราการเติบเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดยิ่งไปกว่านั้นเมืองท่าขี้เหล็กยังเป็นพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความต้องการนำเข้าแรงงานมีฝีมือจากประเทศไทยก็ไปรองรับธุรกิจคลับบาร์ ร้านอาหาร ตลอดจนร้านกาแฟที่แลดูเปิดกิจการเพิ่มขึ้นอย่างเท่าทวีคูณ การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศแห่งนี้อาจเป็นสิ่งที่ชี้ชะตาให้เห็นว่าความพลิกผันย่อมเป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นกับเมืองท่าขี้เหล็กได้เสมอแต่นั่นก็อาจเป็นแรงสูงให้ยักษ์หลับอย่างท่าขี้เหล็กตื่นขึ้นมาและสามารถสร้างสะพานพลังทางการผลิตตลอดจนเป็นแหล่งพึ่งพิงด้านรายได้ให้กับคนที่ไม่มีที่ไปหลากหลายกลุ่มก้อนทางสังคมที่เป็นแรงงานจากประเทศไทยซึ่งได้เดินทางข้ามไปใช้ชีวิตอยู่ในตลาดแรงของเมืองไทยวันละ กว่าหลายพันคนต่อวัน
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว รัฐบาลไทยควรจะหันมาทบทวนบทบาทและนโยบายด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดน ตลอดจนควรมุ่งยกระดับการพัฒนาเมืองชายแดนให้อยู่ในอนาคตมากกว่านี้อย่างน้อยก่อนที่อาทิตย์จะอัสดงลับเหลี่ยมดอยในฝั่งประเทศไทย แล้วรอให้อรุณรุ่งตะวันฉายในฝั่งเพื่อนบ้าน