ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก เหตุจากภูมิภาคนี้มีลักษณะความเป็นกึ่งกลางระหว่างความไทยกับความเป็นอื่น หากพิจารณาความเป็นกึ่งกลางของภูมิภาคเหนือล่างเราอาจเห็นร่องรอยของประวัติศาสตร์ รวมถึงร่องรอยความเป็นไปของชีวิตผู้คนบนพื้นที่นี้ ผมจึงอยากพาทุกคนไปสำรวจความน่าสนใจนี้อย่างคร่าวผ่านงานเขียนชิ้นนี้ โดยหวังให้เกิดข้อถกเถียงที่กว้างไกลกว่าบทความที่ผู้เขียนจะเขียนต่อไปนี้
จังหวัดตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ และอุทัยธานี คือจังหวัดที่ถูกจัดให้อยู่ในภูมิภาคเหนือล่าง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 บทความนี้จึงขอนับจังหวัดที่ได้กล่าวมานี้ในฐานะภาคเหนือตอนล่าง อาจเป็นการเหมารวมตามแบบรัฐราชการไทยไปเสียหน่อย อย่างไรก็ตาม หากพินิจแล้วจังหวัดเหล่านี้ก็เชื่อมโยงกันในทางภูมิศาสตร์จริง และยังมีประวัติศาสตร์ของชีวิตทางสังคมที่เชื่อมร้อยกันไว้ในด้วยเช่นกัน
ร่องรอยของอยุธยา
ต้องขอกล่าวไปตั้งแต่เสียตอนนี้ว่า การเขียนถึงร่องรอยของอยุธยาบนพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างนี้ผมมิได้ประสงค์เชื่อมโยงภาคเหนือตอนล่างให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แบบไทย ๆ ที่ยึดโยงเอาอยุธยาเป็นประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของชาติไทย ผมเพียงอยากให้เราพิจารณาภาคเหนือตอนล่างในฐานะประวัติศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งมีความเชื่อมโยงกับราชอาณาจักรอยุธยาเพียงเท่านั้น
พิษณุโลกครั้งหนึ่งเคยถูกกล่าวขานในฐานะหัวเมืองเหนือของราชอาณาจักรอยุธยา นิโกลาส์ แชรแวส บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เข้ามายังราชอาณาจักรอยุธยาในสมัยพระนารายณ์ได้เขียนบันทึกถึงเมืองพิษณุโลกในฐานะหัวเมืองฝ่ายเหนือที่สำคัญราชอาณาจักรอยุธยาว่า เป็นเมืองอันดับสองของอยุธยา และลา ลูแบร์ที่เข้าอยุธยาในช่วงเวลาเดียวกันก็ได้กล่าวถึงเมืองพิษณุโลกว่า เป็นเมืองที่มีการค้าขายมาก ช่วยยืนยันความสำคัญของพิษณุโลกในฐานะหัวเมืองและเมืองแห่งการค้า มีการสร้างพระราชวังให้แก่พระราชโอรสที่เมืองพิษณุโลกตามแบบอย่างของเมืองคู่ในสมัยการปกครองของพระเจ้าปราสาททอง
กำแพงเพชรตามบันทึกของแชรแวสระบุว่า กำแพงเพชรเป็นเมืองเก่าและเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง ทั้งขนาดของอาณาเขตและจำนวนผู้คนก็มีอยู่มากพอกับอยุธยา นอกจากนี้ในมิติทางเศรษฐกิจกำแพงเพชรก็เป็นแหล่งผลิตน้ำตาลไปขายที่ญี่ปุ่นและมะละกา (เมืองในมาเลเซีย)
นครสวรรค์เป็นเมืองสำคัญเช่นเดียวกันในฐานะชุมทางและแหล่งการค้าสำคัญในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จากรายงานของเดอ ชัวซีย์ ราชทูตจากฝรั่งเศสได้บันทึกความสำคัญของนครสวรรค์ รวมถึงตากและสุโขทัยว่าเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าสำคัญของราชอาณาจักรอยุธยา
คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร ได้รวบรวมรายชื่อเมืองที่ปรากฏในเอกสารและแผนที่ของชาวต่างชาติที่บันทึกถึงอยุธยา ปรากฏชื่อเมืองที่ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ไม่ว่าจะเป็นเมืองพิชัยในจังหวัดอุตรดิตถ์ เมืองพิจิตร เมืองสวรรคโลก นอกจากนั้นยังระบุถึงเมืองขนาดเล็กและชุมชนขนาดใหญ่อื่นอีกที่อยู่รายรอบแม่น้ำเจ้าพระยา
เราจะเห็นได้ว่าหลายพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่างมีประวัติศาสตร์ที่ย้อนกลับไปได้ถึงช่วงที่ราชอาณาจักรอยุธยาเรืองอำนาจ หรือคือกว่า 300 ปี หลายแห่งได้มีลักษณะของความเมืองแล้วคือ มีความหนาแน่นของผู้คนสูง มีสถาปัตยกรรมที่วิจิตร และมีความหลากหลายของอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นช่างฝีมือ อู่ต่อเรือ การผลิตผ้าหรือกระดาษ เป็นต้น โดยเฉพาะพิษณุโลกที่ถูกกล่าวว่าเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งที่สองของราชาอาณาจักรอยุธยา
นิทานเรื่อง ขุนช้างขุนแผนได้เล่าถึงการเดินทางจากหัวเมืองเหนือลงมาสู่อยุธยาได้ปรากฎรายชื่อเมืองกว่า 40 เมืองที่บางแห่งไม่ได้ปรากฏในแผนที่หรือเอกสารของชาวต่างชาติ อาทิ น้ำซึม โกรกพระ หนองบัว วังไผ่ ชุมแสง บอระเพ็ด บางคลาน หรือท่าโรง เป็นต้น ชื่อสถานที่เหล่านี้ที่ได้กล่าวไปอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างในปัจจุบัน อาจอนุมาลได้ว่าพื้นที่เหล่านี้เชื่อมโยงกับอยุธยาผ่านการค้าและการเดินทางผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาหรือแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเชื่อมโยงชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้คนในพื้นที่นี้กับราชอาณาจักรอยุธยา และเชื่อมต่อชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจของพวกเขาออกไปสู่เมืองอื่น ๆ ด้วยผ่านการค้า
การมีความเชื่อมโยงผ่านการค้าและการเดินทางตั้งแต่สมัยราชาอาณาจักรอยุธยาช่วยเผยให้เราเห็นความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ของภาคเหนือตอนล่างกว่าสามร้อยปี และพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างนี้เชื่อมร้อยกันผ่านประวัติศาสตร์ดังกล่าว
ภูมิศาสตร์แห่งการเคลื่อนย้าย
เมื่อพิจารณาจากแผนที่ในปัจจุบันจังหวัดในภาคเหนือตอนล่างเชื่อมต่อทั้งภาคเหนือตอนบนกับภาคกลางก็จริง และมีประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับราชอาณาจักรอยุธยา แต่ภูมิภาคนี้ก็เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อบ้านรอบข้างเราเช่นกัน มองไปซ้ายสุดที่จังหวัดตากเป็นพื้นที่เชื่อมโยงกับเขตของประเทศเมียนม่า (พม่า) ไล่ไปจนขวาสุดยังจังหวัดอุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ และพิษณุโลกที่ใกล้กับประเทศลาวในปัจจุบัน ก่อนการเกิดขึ้นรัฐสยาม (รัฐไทยในปัจจุบัน) การเคลื่อนย้ายของผู้ในอุษาคเนย์ภาค (อาเซียนในปัจจุบัน) เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างนี้ โดยผมอยากเล่าเรื่องการเคลื่อนย้ายของผู้คนบนพื้นที่ดังกล่าวอย่างคร่าว ๆ ผ่านการมองแผนที่และสำรวจประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้ายเบื้องต้น
ซ้ายสุดของแผนที่ภาคเหนือล่างคือ จังหวัดตากกล่าวโดยเฉพาะเจาะจงลงไปที่อำเภอแม่สอดในปัจจุบัน คือพื้นที่แห่งความหลากหลายของผู้คนและวัฒนาธรรมอย่างยิ่ง ทั้งจีน ไต ล้านนา (ไทยเหนือ) มุสลิมบังคลาเทศ (ปาทาน) พม่า ม้ง กระเหรี่ยง และมูเซอร์ การเคลื่อนย้ายของผู้คนเหล่านี้จากพื้นที่อำเภอแม่สอดสู่พื้นที่อื่นเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ในปัจจุบัน ทั้งการเคลื่อนตัวของกระเหรี่ยงมาสู่พื้นที่อำเภอบ้านไร่ในจังหวัดอุทัยธานีที่อยู่ใกล้กับอำเภอแม่สอด หรือมุสลิมบังคลาเทศ (ปาทาน) ที่เรามักเรียกว่าแขกปาทานก็เคลื่อนตัวจากพื้นที่บังคลาเทศสู่พม่า จนเข้าสู่ประเทศไทยผ่านอำเภอแม่สอดจังหวัดตากและพื้นที่บางส่วนของจังหวัดกาญจนบุรี การค้าวัวเป็นหนึ่งในอาชีพของแขกปาทานที่ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส. ชื่อดังของจังหวัดอุทัยธานีก็เป็นหนึ่งในหลักฐานของการเคลื่อนย้ายของแขกปาทานผ่านการค้าวัว เราจะเห็นว่าเพียงพื้นที่แม่สอดจังหวัดตากเพียงพื้นที่เดียวก็ได้เผยให้เราเห็นถึงการเคลื่อนตัวของผู้คนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ผมขอก้าวไปสู่พื้นที่จังหวัดต่อไปที่จะเผยให้เห็นการเคลื่อนย้ายของผู้คนในภูมิภาคนี้
ขวาสุดของแผนที่ภาคเหนือตอนล่างคือ จังหวัดอุตรดิตถ์ซึ่งปัจจุบันมีชายแดนติดต่อกับแขวงไซยบูลีประเทศลาว เป็นผลให้การเคลื่อนย้ายของผู้คนจากลาวเป็นไปอย่างไม่ยากเย็นนัก สังเกตเห็นได้จากร่องรอยของวัฒนธรรมและภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาวที่ยังปรากฏอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมกันนี้จังหวัดพิษณุโลกและเพชรบูรณ์ก็พบร่องรอยของการเคลื่อนย้ายและการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาวในหลายพื้นที่ อาทิ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ที่เพิ่งขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกสด ๆ ร้อน ๆ ก็เป็นพื้นที่ที่พบร่องรอยของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวพวน ที่เดินทางจากเมืองเชียงขวางมายังเมืองหลวงพระบางและเดินทางต่อมายังเมืองนาน (น่านในปัจจุบัน) จากนั้นเดินเท้าต่อมายังเมืองด่านซ้ายและเมืองหล่มสัก แล้วเดินทางลงมาตามลำน้ำป่าสักผ่านเมืองเพชรบูรณ์และเมืองศรีเทพตามลำดับ โดยกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่มากกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่มากในภาคเหนือตอนล่าง เนื่องจากการเคลื่นย้ายของผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาวเกิดหลายครั้งในหลายช่วงเวลาก่อนเกิดรัฐสยาม (รัฐไทยในปัจจุบัน)
กลุ่มไทดำหรือลาวโซ่ง คือหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว พบการกระจายตัวของผู้คนในกลุ่มไทดำในหลายพื้นที่ตั้งแต่ภาคใต้ของประเทศไทยอย่างจังหวัดเพชรบุรีมาจนถึงภาคเหนือตอนล่าง แต่เดิมลาวโซ่งหรือไทดำเดินทางออกจากเมืองเดียนฟูและเมืองข้างเขียนเข้าสู่เมืองหลวงพระบาง (ลาวในปัจจุบัน) แล้วเคลื่อนย้ายผ่านแม่น้ำป่าสักเช่นเดียวกับลาวพวนที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า หลังจากผ่านเมืองเพชรบูรณ์และเมืองศรีเทพแล้วจึงเดินทางต่อเข้าสู่เมืองสระบุรี กระทั่งเข้ามาสู่พื้นจังหวัดอยุธยาที่แต่เดิมคือราชอาณาจักรอยุธยา หลังจากเข้ามาอยู่ภายใต้ราชอาณาจักรอยุธยา ผู้คนกลุ่มไทดำหรือลาวโซ่งก็ได้กระจายตัวออกสู่พื้นที่อื่น โดยเฉพาะเมืองเพชรบุรี จากนั้นจึงได้กระจายตัวออกไปสู่พื้นที่อื่น ๆ โดยในภาคเหนือตอนล่างพื้นที่กลุ่มไทดำเคลื่อนย้ายมาอาศัยคือพื้นที่จังหวัดพิจิตรและนครสวรรค์ นอกจากนั้นยังมีผู้คนกลุ่มไทดำบางส่วนที่เคลื่อนย้ายไปสู่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม กระทั่งเวลาผ่านไปผู้คนกลุ่มไทดำบางส่วนในจังหวัดนครปฐมก็เดินทางขึ้นมาสู่จังหวัดพิษณุโลกในพื้นที่ตำบลบางระกำใหม่ (สำหรับข้อมูลการย้ายถิ่นของกลุ่มไทดำมายังตำบลบางระกำใหม่นี้ ผมได้จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ชาวบ้านในรายวิชาหนึ่ง)
จากการมองแผนที่และสำรวจประวัติศาสตร์อย่างคร่าว พอจะทำให้เราเห็นได้ว่าภาคเหนือตอนล่างเป็นพื้นที่แห่งการเคลื่อนย้ายพื้นที่หนึ่ง ซึ่งรองรับชีวิตของผู้คนในอุษาคเนย์ภาคที่แต่เดิมแล้วการเคลื่อนย้ายไปมาอยู่ภูมิภาคนี้อย่างอิสระมากกว่าปัจจุบัน ก่อนเกิดความเป็นรัฐและความเป็นชาติขึ้น งานศึกษาหลายชิ้นได้เผยให้เห็นความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรมบนพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างนี้ ไม่ว่าจะเป็น ภูมิหลังการตั้งถิ่นฐานกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว และการเคลื่อนย้ายสู่ประเทศไทย โดยเกรียงไกร เกิดศิริ หรือแม่สอดศึกษา: หลากชาติพันธุ์สู่พหุลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา ของวรพจน์ วิเศษศิริ และ พระปลัดระพิน พุทธิสาโร หรือชุมชนมุสลิมในเมืองตลาดชายแดนไทย-พม่า สัมพันธภาพระหว่าง พหุสังคม วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ และการธำรงชาติพันธุ์ โดยจักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง กระทั่งงาน เป็นต้น ยังรวมไปถึงงานศึกษาอื่น ๆ ที่ผมไม่ได้กล่าวไว้ก็มีข้อค้นพบที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายของผู้คนบนภาคเหนือตอนล่างนี้ และแน่นนอนยังมีหัวข้อการศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายของผู้คนบนภูมิภาคนี้อีกมากที่ยังรอการศึกษาอยู่ ผู้เขียนคาดหวังว่าจะได้อ่านงานศึกษาที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่าใจจดใจจ่อ เนื่องจากภาคเหนือตอนล่างนี้ก็ยังมีความน่าสนใจในฐานะวัตถุแห่งการศึกษาทางประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์
เมื่อกล่าวถึงการศึกษาประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์ ภาคเหนือตอนล่างก็มิใช่เพียงพื้นที่แห่งการเคลื่อนย้ายของผู้คนเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งร่องรอยทางประวัติศาสตร์และชีวิตที่เชื่อมโยงไปถึงเศรษฐกิจและพลังทางการเมืองของราชอาณาจักรอยุธยาบนพื้นที่นี้เช่นเดียวกัน ผมจึงอยากพาเราไปสำรวจต่อในประเด็นที่ได้กล่าวไปนี้
การเคลื่อนย้ายของผู้คนบนพื้นที่ และประวัติศาสตร์หลากหลาย
การเขียนถึงการเคลื่อนย้ายของผู้คนและประวัติศาสตร์ของภาคเหนือตอนล่างครั้งนี้ ผมประสงค์จะชวนทุกคนให้ทุกคนลองให้ไปพินิจภาคเหนือตอนล่างในฐานะของร่องรอยแห่งชีวิตของผู้คนที่เดินทาง เคลื่อนย้าย และดำเนินชีวิตบนภูมิภาคแห่งนี้ให้ลึกขึ้นกว่าที่เคย เนื่องจากปัจจุบันการกล่าวถึงภาคเหนือตอนล่างในฐานะพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้ายและชีวิตทางเศรษฐกิจยังมีอยู่น้อยมาก หากเทียบเคียงกับพื้นที่อื่นในประเทศไทย อาจด้วยเรามักติดกับดักประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่มองเห็นและเหมารวมภาคเหนือตอนล่างนี้เข้ากับภาคกลางจนเสมือนเป็นประวัติศาสตร์ชุดเดียวกัน แต่ในทางกลับกันภาคเหนือตอนล่างในมุมมองของการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ดูเหมือนจะไม่แตกต่างมากพอให้ทำการศึกษา ภาคเหนือตอนล่างไม่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมเหมือนกับภาคเหนือที่เป็นพื้นที่วัฒนธรรมล้านนา หรือภาคอีสานที่เป็นพื้นที่วัฒนธรรมอีสาน-ลาว อาจเป็นผลให้ไม่มีความน่าเย้ายวนใจมากพอที่จะหันมาศึกษา
อย่างไรก็ตามพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างนี้ ผมได้เสนอไปเบื้องต้นแล้วว่ามีความหลากหลายอยู่สูง ทั้งจากการที่ครั้งหนึ่งเคยได้อธิพลจากราชาอาณาจักรอยุธยา แต่ขณะเดียวกันก็ปรากฎการเคลื่อนย้ายไปมาของผู้คนในอุษาคเนย์ภาคบนพื้นที่นี้ จึงทำให้การจะกล่าวว่าภาคเหนือตอนล่างนี้มีความเป็นเนื้อเดียวกับอยุธยาหรือความเป็นไทย ๆ ในวงเล็บก็คงไม่ถูกต้องนัก ซ้ำด้วยความหลากหลายนี้เองปรากฏเป็นลักษณะเฉพาะรูปแบบหนึ่งของพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง คือการกระจายตัวของผู้และวัฒนธรรม ในพื้นที่จังหวัดเราอาจพบเห็นคนไทยเชื้อสายจีนที่พูดภาษากลางและมีสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาอยู่กลางเมือง แต่เมื่อเดินทางไปอีกอำเภอหนึ่งเรากลับได้ยินผู้คนที่พูดกันด้วยภาษาที่คล้ายว่าจะเป็นภาษาอีสาน หรืออาจพบเห็นผู้คนหน้าตาคมเข้มเดินเข้ามัสยิด เหล่านี้เป็นความหลากหลายที่เราอาจพบเห็นได้ในภาคเหนือตอนล่าง
ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ชอบมากเป็นการส่วนตัว ชื่อ Siamese Melting Pot ก่อร่างเป็นบางกอก เขียนโดย เอ็ดวาร์ด แวน รอย ที่เขียนขึ้นเพื่อเล่าเรื่องความหลากหลายของผู้คนที่อยู่ในบางกอกก่อนจะกลายมาเป็นกรุงเทพ เขาเล่าถึงผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมที่อาศัยอยู่ในบางกอก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะเขาเล่าถึงเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่ชักนำผู้คนที่หลากหลายเข้ามาสู่พื้นที่นี้ได้อย่างไร พวกอยู่อย่างไร และพวกเขาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และประวัติศาสตร์อย่างไร การได้อ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมหวนนึกถึงภาคเหนือตอนล่างในทันที คงดีไม่น้อยที่ความหลากหลายในภาคเหนือตอนล่างจะได้ปรากฏตัวออกมาให้พวกเราได้เห็น เช่นเดียวกับที่เอ็ดวาร์ด แวน รอย ได้เห็นในบางกอก
ความหลากหลายและประวัติศาสตร์ของชีวิตผู้คนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างนี้คงรอให้ นักสำรวจประวัติศาสตร์หลายคนรอการค้นพบ และผมหวังว่าผมคงได้เห็นการค้นพบนี้ในเร็ววัน
อ้างอิง
- เกรียงไกร เกิดศิริ. (2554). ภูมิหลังการตั้งถิ่นฐานกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว และการเคลื่อนย้ายสู่ประเทศไทย ส่วนที่ 1. วารหน้าจั่ว, 7, 83-107
- เกรียงไกร เกิดศิริ. (2554). ภูมิหลังการตั้งถิ่นฐานกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว และการเคลื่อนย้ายสู่ประเทศไทย ส่วนที่ 2. วารหน้าจั่ว, 7, 108-131
- คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2564). ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่. สำนักพิมพ์มติชน
- จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง (2543). ชุมชนมุสลิมในเมืองตลาดชายแดนไทย-พม่า สัมพันธภาพระหว่าง พหุสังคม วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ และการธำรงชาติพันธุ์. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- วรพจน์ วิเศษศิริ และ พระปลัดระพิน พุทธิสาโร. (2564). แม่สอดศึกษา: หลากชาติพันธุ์สู่พหุลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา. วารสารพุทธนวัตกรรมและการจัดการ, 12 (4), 96-110
เกิดและโตในภาคเหนือตอนล่าง เรียนตรีจิตวิทยา กำลังเรียนโทสังคมศาสตร์ สนใจอ่านสังคมจากการมองประเด็นเล็ก ๆ