วิถีเมือง วิถีดอย

เรื่อง: ภักดิ์ รตนผล

เด็กสาว ปกาเกอะญอ ชื่อว่าสุพาแปลว่าหวานละมุน

เป็นดั่งหยาดน้ำค้างกลางดอยเชียงดาว

ในอ้อมแขนภูเขาสีครามใต้ท้องฟ้าสีฟ้า

ผ่านการบ่มด้วยแสงแดด ริ้วหมอกไหมสายฝน

ที่ฤดูกาลนำพามาสม่ำเสมอ

กินเวลาไป สิบเก้าวงรอบ

วัยสาวกำดัดส่องแสงพราวในดวงตา

อกอวบหนั่นแน่นราวผลมะตูม

ริมฝีปากดังกลีบพบูเริงน้ำค้าง

เรียวขาแข็งแรงราวเสือดาว

ซ่อนเร้นมิดเม้นในชุดสีขาวกรอมเท้า

กุหลาบในเรือนกายเต่งตูมทุกช่อ

ที่มิเคยเผยให้ใครได้เห็น

แม้ในอ้อมกอดแม่น้ำในห่มคลุมของราตรี

ยังเลือนรางรำไรในแสงเงา

เธอเฝ้ารอมอบการเปิดเผยครั้งแรก

กับหนุ่มน้อยบ้านใกล้เรือนเคียง

ชื่อ กอราซู แปลว่า สีดำ

ด้วยวัยสาวอาบแสงเสน่หา

เธอเฝ้าชม้ายชายตาส่งสัญญาณดอกไม้ให้

โอหนอโลกของสาวน้อยดอยเชียงดาว

ช่างไพศาลเพียงไม่กี่วา

หนุ่มกอราซู มาสู่ขอด้วยสินสอดวัวหนึ่งคู่

ม้าแกลบสีทองแดง มันปลาบหนึ่งตัว

ผืนนาขั้นบันไดบนไหล่ดอยสามไร่

กับหัวใจหนึ่งดวงแช่อิ่มด้วยน้ำหวาน

และดอกเอื้องสีเหลืองที่เบ่งบาน

แล้วก็ถึงเวลาสุพาเปลี่ยนชุดสีขาวเป็นสีแดง

ออกเรือนครองรักกันอย่างเปี่ยมสุข

ปลูกข้าวสาลี ข้าวไร่ ข้าวโพด ผักหวาน

เพียงขวบปีผันผ่านราวลมหนาววูบเดียว

ป่าและท้องฟ้าได้ประทานของขวัญมา

เป็นเด็กหญิงแสนสวย ชื่อทีลอซู แปลว่าน้ำตก

เธอกลายเป็นศูนย์กลางของครอบครัวปกาเกอะญอน้อย

ครั้นแล้ววัยและวันอันเบิกบานของหนุ่มสาวก็สิ้นลง

ความห่วงกังวลต่ออนาคต ทีลอซู ทับถมทวีขึ้น

ไหนจะต้องไปฉีดยา ปลูกฝีที่โรงมดโรงหมอ

ไหนจะต้องตระเตรียมเงินทองไว้รองรับการศึกษา

ในโรงเรียนที่ต้องข้ามไปอีกฟากหนึ่งของภูเขา

ครั้นแล้วดวงความคิดเปล่งประกาย

ไฉนเลยจะต้องดำเนินตามรอยวิถีเมือง

เราจะเดินตามวิถีดอยที่คุ้นเคยกันมาเจ็ดชั่วโคตร

เราจะสอนให้เธอ เรียนรู้วิธีและวิถีอยู่รอดบนภูเขา

สอนให้เธอช่ำชองการไถหว่านและเก็บเกี่ยว

ทั้งนาดำ นาดอย นาขั้นบันได

ให้รู้เคล็ดการฟูมฟักข้าวโพด ข้าวฟ่าง ฟักแฟง กาแฟ

ขมังธนูยามออกล่าหมูป่าแถวโป่งดิน

ขำนัญจับปลาด้วยมือเปล่าในลำธาร

รู้ตำหรับถนอมเนื้อ ปลาด้วยน้ำค้างและแสงแดด

รู้คุณสมุนไพร หยูกยารักษาโรค

ทอหูก ทอผ้าประจำเผ่าสีขาวแดง

ดีดซึงเสียงไพเราะเสนาะใสในยามค่ำ

และเน้นย้ำความเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันในชุมชน

แล้วเธอจะอยู่รอดได้

เติบใหญ่ และเสรี

ในชุมชนที่ไม่มีความสลับซับซ้อนทั้งโครงสร้าง

และจิตใจ

โดยมิพักต้องพึ่งพารัฐและสังคมคนกินคน

ในนาคร

๒๘/๕/๕๙

ดอยหลวงเชียงดาว


Lanner เปิดพื้นที่ให้ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขยายพื้นที่การสื่อสารสังคมอย่างมีส่วนร่วม เพื่อร่วมกันส่งเสียงของพวกเราให้ดังขึ้น! เปิดรับต้นฉบับงานสื่อสารทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น บทความ ความคิดเห็น บทความวิชาการ สารคดีเชิงข่าว ความเรียง บทบันทึก เรื่องสั้น บทกวี Video Photo-essay และงานสื่อสารอื่นๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวและประเด็นทางสังคมในพื้นที่ภาคเหนือและประเด็นที่เกี่ยวข้อง ​

สามารถส่งต้นฉบับ ประวัติขนาดสั้นของเจ้าของผลงาน มาที่ lanner.editor@gmail.com ระบุ “ส่งต้นฉบับ Lanner” ​

ข่าวที่เกี่ยวข้อง