พฤษภาคม 10, 2024

    การกลับมาของ ‘ทักษิณ’ และการเมืองของประชาชนในรัฐบาลใหม่ ผ่านมุมมองของ ‘อรรถจักร์’

    Share

    วันนี้ (27 กรกฎาคม 2566) เฟซบุ๊คเพจ ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง ได้โพสต์บทวิเคราะห์ของ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมุมมองต่อประเด็นการกลับมาของ ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นผลมาจากการตกลงกันระหว่างชนชั้นนำในสังคม ทักษิณ และแกนนำพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงสถานการณ์การเมืองของประชาชนในรัฐบาลใหม่ ที่อาจเปลี่ยนแปลงเพื่อนร่วมอุดมการณ์ให้กลายเป็นศัตรูที่ต้องเผชิญหน้า โดยบทวิเคราะห์ดังกล่าวมีเนื้อหนาดังนี้


    ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    “การกลับมาของทักษิณเป็นผลมาจากการตกลงร่วมกันระหว่างชนชั้นนำในสังคมกับทักษิณและแกนนำพรรคเพื่อไทย การตกลงครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความตื่นตระหนกของชนชั้นนำพบว่ากระแสมวลชนที่หนุนพรรคก้าวไกลที่มีจำนวนประมาณสิบสี่ล้านคน หากเข้าไปประสานร่วมกับเสียงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็เป็นจำนวนถึงยี่สิบสี่ล้านคน การปล่อยให้มวลชนยี่สิบสี่ล้านคนเข้ามาสู่พื้นที่การเมืองอย่างเสรีโดยสร้างปฏิบัติการณ์ทางการเมืองได้อย่างหลากหลายนั้นน่ากังวลอย่างยิ่ง ที่สำคัญก็คือ มีแนวโน้มว่ามวลชนของเพื่อไทยจะโอนเอนไปสู่กระแสของก้าวไกลมากขึ้น

    ขณะเดียวกัน ทักษิณและกลุ่มแกนนำพรรคเพื่อไทยก็ตกใจเช่นกันในปรากฏการดังกล่าว และหากปล่อยให้ดำเนินต่อไป พรรคเพื่อไทยที่ครั้งหนึ่งเป็นหัวใจของความเปลี่ยนแปลงก็จะสูญสิ้นพลังลงไป

    ดังนั้น การตกลงของกลุ่มชนชั้นนำกับทักษิณก็คือ จะต้องทำให้มวลชนยี่สิบสี่ล้านคน/เสียงนี้ไม่กลมเกลียวกันให้ได้ และถึงที่สุดแล้วต้องทำให้แตกแยกกัน เพื่อที่จะผลักไปให้ได้ไกลถึงกับให้เป็นศัตรูกันได้ก็ยิ่งดี เพราะการลดทอนพลังมหาศาลของมวลชนนี้ลงไปได้ย่อมเป็นผลดีต่อการจรรโลงโครงสร้างและสถานะอันสูงส่งของชนชั้นนำเดิม

    การกลับมาของทักษิณจึงสะดวกสบายในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าการรับโทษก็จะเป็นเพียงการจำกัดพื้นที่ คดีบางคดีก็จะตัดสินอย่างพอเหมาะกับเวลาว่าไม่ผิด (หลักฐานไม่พอ ฯลฯ) แต่ทักษิณจะต้องดำเนินการทุกอย่างเพื่อที่จะสลายความเข้มข้นของความสัมพันธ์ของมวลชนเพื่อไทยและก้าวไกลให้ได้ ซึ่งทักษิณและกลุ่มแกนนำเพื่อไทยเชื่อว่าทำได้

    การจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยเพื่อไทยก็จะเป็นไปได้โดยง่ายด้วยข้ออ้างว่าไม่เอาพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลเพื่อให้สังคมไทย “เดินต่อไป” ได้ พรรคร่วมรัฐบาลเดิมก็จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนใหญ่ มวลชนเพื่อไทยที่เคยเดือดดาลในช่วงก่อนหน้านี้ก็จะถูกลดอารมณ์ความรู้สึกลงไปเพราะทักษิณได้กลับมาแล้ว

    รัฐบาลใหม่ที่จะมาถึงก็จะเน้นการทำงานกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น “ประชานิยมแบบไม่มีการผลิตต่อเนื่อง” รวมไปถึงสวัสดิการต่าง ๆ ที่เป็นการขยายตัวด้านบริการของรัฐก็จะเพิ่มมากขึ้น โดยเชื่อว่าจะเป็นการกล่อมประชาชนให้หลุดออกจากจินตนาการของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ขับเน้นโดยพรรคก้าวไกล

    การเมืองที่กำลังเกิดขึ้นจึงเป็นการเมืองเพื่อรักษาโครงสร้างที่ได้เปรียบของชนชั้นนำโดยแท้ การหันเหพลังของมวลชนจำนวนมหาศาลให้กลับกลายมาเป็น “ศัตรู” กัน ก็ยิ่งจะทำให้การจรรโลงความได้เปรียบทางชนชั้นดำเนินต่อไปได้อีกนาน

    การเมืองของประชาชนในรัฐบาลใหม่จึงยากลำบากมากขึ้น เพราะ “ศัตรู” เฉพาะหน้าที่จะเผชิญหน้าทันทีไม่ใช่กลุ่มทหารจำแลง กลุ่มบ้าคลั่งฝ่ายขวา หรือกลไกอำนาจรัฐ หากแต่เป็นกลุ่มที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพื่อนร่วมทางเดินแห่งอุดมการณ์ร่วมกัน และกลุ่มเพื่อนที่เคยร่วมทางนี้ก็จะเปิดทางให้กลุ่มขวาบ้าคลั่งสำแดงเดชได้มากขึ้นอีกด้วย

    สภาวะความตึงเครียดทางสังคมจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป แต่แรงกดดันทั้งหมดจะตกมาที่มวลชนคนรุ่นใหม่ที่ปรารถนาจะแก้ไข/ปรับเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจ กลุ่มคนรุ่นใหม่จะถูกกดดันให้มีพื้นที่น้อยลง ส่งเสียงได้ลำบากมากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แม้จะมีความยากลำบากของมวลชนคนรุ่นใหม่ในช่วงเวลาต่อไปนี้ แต่สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ถูกทำให้แปรผันไปก็เป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นแน่ ๆ ในอนาคตย่อมจะเป็นพลังในการชักนำพลังประชาธิปไตยให้เดินหน้าต่อไปตามวิถีทางแห่งประวัติศาสตร์”

    Related

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย” นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ...