รถไฟล่องหน เมื่อไร้รถไฟฟ้า ประชาชนเลยขอเดิน

27 กรกฎาคม 2566 มีการแสดงสาธิตรถไฟฟ้าเชียงใหม่สายสีแดงผ่านการเดินด้วยการ Performance Art “รถไฟล่องหน” โดย จักรพันธ์ ศรีวิชัย ตั้งแต่เวลา 07.00-12.00 น. 

Performance Art ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือการตั้งคำถามต่อระบบขนส่งสาธารณะที่เคยจะเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่อย่าง รถไฟฟ้า ที่มีการออกแบบจากระบบราชการส่วนกลางที่มองไม่เห็นคนในพื้นที่ ซึ่งถ้าหากเกิดรถไฟฟ้าขึ้นอาจจะไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อประชาชนชาวเชียงใหม่ แต่อาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับสถานที่ของรัฐรวมไปถึงกลุ่มทุนบางกลุ่ม ซึ่งอาจจะไม่ได้แก้ไขการพัฒนาของเมืองเชียงใหม่

การ Performance Art เริ่มต้นการเดินตั้งแต่บริเวณหน้าโรงพยาบาลนครพิงค์ไปจนถึงแยกแม่เหียะสมานสามัคคีซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของสถานี โดยมีการหยุดตามสถานีรายทางเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสถานีละประมาณ 1 นาที ทั้งหมด 16 สถานี ดังนี้

1.สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์

2.สถานีศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่

3.สถานีสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี

4.สถานีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่

5.สถานีแยกหนองฮ่อ

6.สถานีโพธาราม

7.สถานีข่วงสิงห์

8.สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

9.สถานีขนส่งช้างเผือก

10.สถานีมณีนพรัตน์

11.สถานีประตูสวนดอก

12.สถานีแยกหายยา

13.สถานีแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่

14.สถานีท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่

15.สถานีบ้านใหม่สามัคคี

16.สถานีแยกแม่เหียะสมานสามัคคี

โดยหลังจากเดินถึงที่สถานีแยกแม่เหียะสมานสามัคคีที่หมายสุดท้าย จักรพันธ์ ศรีวิชัย ได้เล่าถึงที่มาในการเดินในครั้งนี้ว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ใช้จักรยานในการเดินทาง ซึ่งทำให้ตนนึกถึงขนส่งสาธารณะของเชียงใหม่ก็คือรถไฟฟ้า ซึ่งเชียงใหม่มีแผนในการสร้างรถไฟฟ้ามาตั้งแต่ 20-30 ปีที่แล้ว จักรพันธ์ได้สืบค้นว่ามันมีเส้นทางไหนบ้างที่จะมีการสร้างขึ้น แล้วใครเป็นคนที่ตามเส้นทางนั้นบ้างจึงเกิดเป็นงานชิ้นนี้ขึ้นมา จักรพันธ์ ได้เล่าเสริมถึงตำแหน่งแต่ละที่หลังจากการเดินเสร็จ ว่ามีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก เช่น ถนนบริเวณโรงพยาบาลนครพิงค์มีความขรุขระเป็นอย่างมาก ส่วนถนนบริเวณศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ มีความสวยงามและเรียบง่าย ในส่วนของการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าในอนาคตก็อาจจะเป็นข้อถกเถียงต่อว่านอกจากระบบรถไฟฟ้าแล้ว ยังมีข้อเสนอที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ อีกหรือไม่

“คนที่เกิดที่นี่ โตที่นี่ เรียนจบที่นี่ ทำไมไม่สามารถอยู่ที่นี่ได้ มันมีหลายปัจจัยมาก ซึ่งการเดินทางก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้”

จักรพันธ์กล่าว
พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง