เมษายน 27, 2024

    Food culture: “ถั่วเน่า” อีกหนึ่งของกิ๋นของผู้คนที่หลากหลายชาติพันธุ์ในพะเยา

    Share

    เรื่องและภาพ : กมลชนก เรือนคำ

    แม้ว่าเราจะถูกใจหรือไม่ถูกใจ ผลคัดเลือก “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการการส่งเสริม และพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย รสชาติ…ที่หายไป ประจำปีงบประมาณ 2566 ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังการประกาศผลแล้วเกิดการวิพากษณ์วิจารณ์กันนั้น พบว่าคนไทยได้ออกตามหาอาหารพื้นถิ่นของตนมากขึ้น

    สำหรับจังหวัดพะเยา อาหารที่ได้รับคัดเลือก 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่นคือ “หลนปลาส้มพะเยา” ซึ่งข้อมูลจากชมรมร้านอาหารและเครื่องดื่มจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่าเบื้องต้นจังหวัดพะเยาเสนอไป 3 เมนู ประกอบด้วย 1.ต้มยำไก่เหลืองบุษราคัม 2.ห่อหมกปลานิลพะเยาจำปาทอง 3.หลนปลาส้มพะเยา 

    ทั้งนี้ “ปลาส้มพะเยา” มีความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษที่หาปลาในแม่น้ำอิง กว๊านพะเยา และนำปลามาแปรรูปเป็นปลาส้ม จนในปัจจุบันถูกนำมาประยุกต์ทำอาหารกลายเป็นเมนูระดับประเทศ เป็นที่รู้จักทั้งชาวไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

    แต่พะเยาก็มีอาหารที่หลากหลายมากกว่านั้น ผู้เขียนเองจึงได้ถือโอกาสนี้ ลองออกไปตามหาอาหารพื้นถิ่นที่น่าสนใจอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือ “ถั่วเน่า”

    “ประวัติศาสตร์” ของ “ถั่วเน่า”


    ถั่วเน่า (ภาพ : กมลชนก เรือนคำ)

    “ถั่วเน่า” ถือเป็นอาหารที่มีให้เห็นแพร่หลายตามประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย เช่น ในญี่ปุ่นมีอาหารพื้นเมืองที่เรียกว่า “นัตโตะ” (natto) ทำจากถั่วเหลืองหมัก ส่วนถั่วเน่าของชาวเนปาลและอินเดีย เรียกว่า “คีเนมา” (kenema) นอกจากนี้ในเกาหลียังมี “ชองกุกจัง” (chungkookjang) ซึ่งเป็นอาหารดั้งเดิมที่ทำโดยการหมักถั่วเหลืองด้วยเช่นกัน เป็นต้น

    สำหรับละแวกบ้านเรานั้น ถั่วเน่าจัดเป็นอาหารพื้นเมืองในภาคเหนือหรือ “ล้านนา” ที่สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับถั่วเน่ามากมาย ในบางตำนานเชื่อว่าถั่วเน่ามีต้นกำเนิดมาจากคน “เงี้ยว” หรือที่นิยมเรียกว่า “ไทใหญ่” ในปัจจุบัน

    ถั่วเน่าได้รับการยกย่องอย่างสูงในล้านนา มีเรื่องเล่าว่าในอดีตนั้นถั่วเน่าเคยเป็นของบรรณาการอันทรงคุณค่าที่พญาละคอน (เจ้าเมืองลำปาง) เคยเอาถั่วเน่าถวายเป็นบรรณาการแก่พญาแม่กุ แห่งเมืองเชียงใหม่ ทำให้เมืองละคอนไม่ถูกทัพเชียงใหม่และทัพเงี้ยวเมืองนายเมืองเชียงทองตียึดเมืองเพราะพึงพอใจในรสชาติถั่วเน่า ส่วนชาวพม่าก็รับประทานถั่วเน่า เรียกว่า “แบโบ๊ะ” โดยทำเป็นแผ่นๆ ใส่พริกป่นกัดกินมีรสชาติเผ็ด 

    ถั่วเน่าเป็นอาหารที่คนล้านนาชื่นชอบและมักมีไว้ติดในครัวเช่นเดียวกับกะปิของคนภาคกลาง และปลาร้าของคนอีสาน ถั่วเน่าเป็นอาหารจานหลัก เป็นวัตถุดิบ หรือเป็นเครื่องปรุงรส สามารถรับประทานเป็นกับข้าวหรือใช้แกล้มกับอาหารชนิดอื่นๆ ได้การรับประทานถั่วเน่าของชาวล้านนา มักนิยมรับประทานกันโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นคนไทลื้อ ไทใหญ่ ไทเขิน ไทโยน และไทยอง

    ปัจจุบัน ถั่วเน่าเป็นอาหาร วัตถุดิบ และเครื่องปรุงรส ที่สำคัญของห้องครัวของชาวล้านนา มีคุณค่าทางโภชนาการสูงเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งทางการแพทย์เชื่อว่ามีผลในการลดอัตราการเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ใช้ลดความอ้วนและบำรุงสมองได้อีกด้วย

    “ถั่วเน่าป้าไฮ่” ถั่วเน่าคู่เมืองพะเยา 


    บ้านป้าไฮ่ (ภาพ : กมลชนก เรือนคำ)

    ผู้เขียนได้ลงพื้นที่ชุมชนวัดศรีจอมเรือง ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เพื่อสัมภาษณ์คุณ “ลุงต๋อม” ผู้ที่ทำถั่วเน่าขายส่งตลาดในจังหวัดพะเยา ได้บอกประวัติการทำถั่วเน่าของครอบครัวว่าถั่วเน่าป้าไฮ่ ทำมาได้ 4 รุ่นแล้ว รุ่นที่ 1 มาก็เป็นคนเงี้ยว (ไทใหญ่) จริงๆ ทำมาร่วม 100 ปี 

    เลยใช้ชื่อถั่วเน่า 100 ปี คนเมือง 

    ลุงต๋อมบอกว่าในอดีตคนเงี้ยว (ไทใหญ่) ไม่นิยมกินกะปิกัน มีถั่วเน่านี่แหละที่ใช้แทนกะปิ ใช้แทนปลาร้า ที่ลุงต๋อมทำอยู่ก็เป็นถั่วเน่าเมอะ คนส่วนใหญ่จะรู้จักผ่านชื่อถั่วเน่าทรงเครื่อง ในตัวเมืองพะเยาเองก็ไม่มีถั่วเน่าแค็ป (ถั่วเน่าแผ่น) ซึ่งคุณลุงต๋อมเองได้นำอุปกรณ์ทำถั่วเน่าแผ่นมาให้ชมอีกด้วย


    อุปกรณ์การกดถั่วเน่า (ภาพ : กมลชนก เรือนคำ)

    ถั่วเน่ามีสองประเภทคือแบบเปียก (ถั่วเน่าเมอะ) และแบบแห้ง  (ถั่วเน่าแผ่น) วิธีการทำถั่วเน่าประกอบด้วยการแช่ถั่วเหลืองดิบในน้ำค้างคืนก่อนนําไปต้มในน้ำเดือดประมาณ 3 ถึง 4 ชั่วโมงและทำการหมักตามธรรมชาติ 3 ถึง 4 วัน

    สำหรับวิธีการทำถั่วเน่าแผ่นนั้น จะนำถั่วเน่าซา มาบดละเอียด วางบนใบผาแป้งสองใบประกบกัน นำไปตากแดดจนแห้งออกเป็นสีน้ำตาล เมื่อจะรับประทาน ต้องนำไปย่างไฟก่อน ใช้ทำอาหารได้เหมือนถั่วเน่าเมอะ

    คุณลุงต๋อมได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ถั่วเน่าเข้าถึงคนทุกเเพศทุกวัย เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดี และตัวถั่วเน่าอยู่คู่กับอาหารเหนือตลอดมา”

    ความนิยมของถั่วเน่าในปัจจุบัน ยังคงได้รับความนิยมอยู่เสมอ เพราะตัวถั่วเน่าเองเป็นอาหารและวัตถุดิบที่อยู่คู่กับการกินของคนหลากหลายชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดพะเยาเสมอ


    อ้างอิง

    Related

    อยู่-ระหว่าง-เหนือล่าง : เหนือล่างกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก...

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...