จากช่างซอพลัดถิ่นศิลปินล้านนาสู่ดาราสมทบหน้าจอเงินและจอแก้ว เล่าหลังฉาก “ตัวละครผียายช่วย” ผ่านชีวิตและผลงานของ “แม่ครูจำปา แสนพรม”

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง 

ความนำ

ภาพยนตร์ไทยแนวสยองขวัญเหนือธรรมชาติที่สร้างความหลอนจนเป็นกระแสมาอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างปี 2566 ถึงปี 2567 แฟนภาพยนตร์ไทยต่างให้การตอบรับคงหนีไม่พ้นเรื่อง “ธี่หยด” ภาพยนตร์ชวนขนหัวลุกที่สร้างจากเรื่องเล่าเมื่อ 50 กว่าปีก่อนในปี 2515 ที่เล่าถึงเรื่องราวเด็กสาวในหมู่บ้านห่างไกลในอำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาการดำเนินเรื่องอย่างสยองขวัญที่ว่ามานี้ได้ส่งผลให้คนในครอบครัวของเธอนั้นจำต้องเผชิญกับสิ่งที่มีความลี้ลับและน่าหวาดหวั่นจนยากที่จะอธิบายได้

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเล่าผ่านตัวละครที่นำโดย ‘แย้ม’ ผู้เป็นน้องสาวคนกลางในครอบครัวที่มีพี่น้อง 6 คน ซึ่งมีอาการป่วยหนักโดยไม่ทราบสาเหตุที่อาศัยการดำเนินเรื่องผ่านการสร้างความน่ากลัวที่ไม่มีวิธีรับมือความสยองที่คืบคลานเข้ามาสู่ครอบครัวนี้อย่างไม่มีเหตุผล ยักษ์ผู้เป็นพี่ชายคนโตจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้แย้มหายจากอาการประหลาดและทำให้ครอบครัวมีชีวิตรอดไปจากเสียงเรียกสยองอันเป็นปริศนาในยามค่ำคืนมีนัยว่า “ธี่….หยด….”

ไม่เพียงเท่านั้นเรื่องเล่าผีสุดสะพรึงเมื่อ 50 ปีก่อนนี้เคยปรากฏเป็นกระทู้สยองยอดฮิตในตำนานในเว็บไซต์พันทิป ว่ากันว่าเคยมีคนติดตามอ่านและแสดงความคิดเห็นร่วมด้วยกว่า 2,000 ความเห็นและยอดแชร์มากกว่า 130,000 ครั้ง ขณะเดียวกันแพรวสำนักพิมพ์ก็หยิบเรื่องเล่านี้มาเรียบเรียงเป็นนิยายผ่านปลายปากกาของ “กฤตานนท์” หรือ กิตติศักดิ์ กิตติวิรยานนท์ ผู้เป็นบุตรชายเจ้าของเรื่องเล่าแสนลึกลับจนมียอดพิมพ์เกือบ 20,000 เล่ม ตลอดจนถูกนำมาเล่าใหม่ในรายการวิทยุเล่าเรื่องหลอนชื่อดังอย่าง The Ghost Radio และกลายเป็นเรื่องที่หลอนติดอันดับ มียอดผู้ฟังภายใน 3 วัน สูงกว่า 2,000,000 วิว

มากไปกว่านั้นเรื่องเล่าที่ถูกเล่าผ่านสื่อที่กล่าวมาถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และได้กระแสตอบรับเป็นอย่างดี การเข้าฉายในวันแรกของภาพยนตร์เรื่อง ‘ธี่หยด’ ถึงขนาดกวาดรายได้ถึง 39 ล้านบาท และหลังเข้าฉายได้เพียง 5 วัน ก็ทำรายได้ไปแล้ว 300 ล้านบาท ขึ้นแท่นหนังไทยทำรายได้เปิดตัวสูงสุดแห่งปีและทำรายได้เร็วที่สุด แม้ทุนสร้างเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท แต่เป็นภาพยนตร์ที่สามารถทำเงินได้ถึง 197.53 ล้านบาท (เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเชียงใหม่) และมีรายได้รวมกว่า 502 ล้านบาททั่วประเทศ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีการขยายเรื่องราวของธี่หยดให้กว้างออกไปมากกว่าเเค่ครอบครัวหลักไปสู่จักรวาลภาพยนตร์ธี่หยด 2 และเข้าโรงฉายในปี 2567 ที่สร้างกระแส โดยมีรายได้ถึง 600 ล้านบาทในเวลาเพียง 13 วัน โดยวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมานั้นสร้างรายได้รวมกว่า 650 ล้านบาททั่วประเทศกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดในประเทศไทยประจำปี 2567 และยังสามารถทำลายสถิติของภาคแรกได้สำเร็จ ซึ่งในวันที่บทวามนี้เผยแพร่ (28 ตุลาคม 2567) ก็ยังมีรอบฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์อยู่

สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นที่จดจำไม่ใช่แค่การสร้างฉากหลอนที่สมจริงเท่านั้น แต่คาแรกเตอร์ของตัวละคร ‘ยายช่วย’ หญิงชราผู้โดดเดี่ยวที่อาศัยอยู่คนเดียวท่ามกลางป่าเขา แสดงโดย แม่ครูจำปา แสนพรม ที่ถ่ายทอดบทบาทจนกลายเป็นภาพจำติดตาทั้งยังช่วยสร้างภาพจำความน่าสะพรึงกลัวได้เป็นอย่างดี ซึ่งเรื่องราวและบทบาทของยายช่วยดูจะเป็นเหมือนคนไร้สติทำอะไรเลื่อนลอย แต่จริงๆ แล้วเป็นร่างให้กับผีชุดดำที่มีวิชาอาคมที่ต้องหาร่างใหม่เพื่อให้ผีชุดดำที่สิงร่างอยู่ได้ย้ายร่างเพื่อคงอยู่ต่อไปและหนึ่งในลูกสาวของ “เฮียฮั่ง” หรือแย้มผู้ที่ถูกหมายตาเพราะหล่อนนั้นมีเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติเพียงพอที่จะสิงร่างได้

แม่ครูจำปา แสนพรม รับบทเป็น ยายช่วย

แม้การปรากฏตัวของแม่ครูจำปาจะไม่นานเท่านักแสดงหลักแต่ด้วยผลงานและทักษะการแสดงที่ถูกสั่งสมมานานการรับบทเป็นยายช่วยจึงเป็นการใช้ความสามารถและความตั้งใจมีผลทำให้ฉากอารมณ์หลอนของยายช่วยกลายเป็นภาพจำติดตาของผู้ชม แม่ครูจำปา แสนพรม สามัญชนคนธรรมดาที่มีจุดเริ่มต้นของขึ้นทางของชีวิตจากศิลปินพื้นบ้านล้านนาแม่หญิงที่มีถิ่นกำเนิดในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

เธอยังได้มีการถ่ายทอดการขับซอให้กับบรรดาลูกศิษย์ลูกหาเพื่อจัดตั้งคณะซอชื่อว่า “จำปานารีศิลป์” มาตั้งแต่เธอเป็นสาวรุ่นอายุวัย 15 ปี โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีจึงกลายเป็นคณะขับซอที่มีชื่อเสียงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา ซึ่งมักได้รับการว่าจ้างให้ขับซอในงานประเพณีหรืองานบุญประจำปีและบันทึกเสียงละครซอผ่านทางวิทยุเพื่อโฆษณายาแผนโบราณจากห้างขายยาพูดดังในจังหวัดลำปางจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ

แม้ตอนช่วงหลังเธอก็ได้พลัดที่นาคาที่อยู่เมื่อเธอแต่งงานมีครอบครัวแล้วมุ่งสู่กรุงเทพฯ แต่ด้วยลมหายใจและจิตวิญญาณที่มีต่อต่อศิลปวัฒนธรรม ตลอดจน ความเป็นศิลปินช่างซอที่เธอเฝ้ารักและฝักใฝ่ ได้ทำให้เธอมีชีวิตโลดแล่นบนเวทีด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายในพื้นที่เมืองหลวง แน่นอนว่าบทบาทความเป็นศิลปินช่างซอของเธอได้นำพาให้เธอไปรู้จักกับศิลปินและคนทำงานทางด้านศิลปะในแขนงต่างๆ ที่กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งศิลปะการละครก็เป็นสิ่งที่เธอให้ความสนใจที่จะร่วมสร้างสรรค์ผลงานการแสดงออกมายังหลากหลาย รวมไปถึงบทบาทนักแสดงในภาพยนตร์หลายเรื่อง

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากการสัมภาษณ์แม่ครูจำปาเมื่อหลายปีก่อน ที่จะพาย้อนไปสู่อดีต ฉากและชีวิตในแต่ละช่วงของแม่ครู เพื่อชวนมองให้รู้ที่มาที่ไปด้วยความเคารพในฐานะศิษย์ตัวน้อยๆ อีกคนที่ก็เคยพลัดถิ่นสู่เมืองใหญ่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และขอสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมล้านนานี้ไว้

“จุ๋มป๋าล้านนา” เมื่อดอกจำปาพลัดถิ่น : ชีวิตศิลปิน “เมืองพานล้านนา” สู่ “มหานครบางกอก”

“จำปา แสนพรม” เป็นชื่อจริงของหญิงสามัญชนคนหนึ่งซึ่งฝากผลงานการแสดงไว้ผ่านจอภาพยนตร์และโทรทัศน์อย่างเช่น “ผี” ในธี่หยดภาค 1 และ 2 รวมทั้งหอแต๋วแตกแหกสัปะหยด และรับบทยายในภาพยนตร์วัยเป้งนักเลงขาสั้น 2 ที่กำลังเข้าฉายอยู่ ณ ช่วงเวลานี้ ตลอดจน หรือละครเรื่อง “อาชญาโกง” ซึ่งออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอสไปก่อนหน้านี้

นอกจากฐานะนักแสดงตัวประกอบที่มีผลงานละคร และภาพยนตร์ในช่วง 2-3 ปีมานี้อย่าง การที่เธอเป็นคนเมืองโดยเลือดเนื้อและเชื้อชาติ ที่แบบเอาทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของเธออย่าง “ศิลปะการขับขานจ๊อยซอ”เข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักในชุมชนชาวเหนือ หรือสมาคมคนเหนือในกรุงเทพฯ ในฐานะ “ช่างซอพลัดถิ่น” ไม่ว่าผู้คนทั่วไปจะมักคุ้นในนาม “คุณแม่จำปา แสนพรม” “แม่ครูจำปา แสนพรม” “จำปา ติดลม” “จำปา มักไมค์” หรือ “จำปา ช่างซอบ้านดงป่าคา” หรือ “จำปา นารีศิลป์” 

เธอมีบุคลิกท่าทางยิ้มแย้มแกมใจดีที่เข้าถึงง่าย เป็นที่รักของผู้คนที่มีโอกาสพบปะและร่วมงานต่างยืนยันในความเป็น “คนปันเกย” เส้นทางชีวิตของสาวบ้านนาสามัญชนที่ขยับตำแหน่งจากศิลปินบ้านนอกสู่เมืองหลวงจึงน่าถูกเล่าผ่านข้อเขียนไว้ มากกว่าอธิบายว่า “นักแสดงผียายช่วย คือใคร?” 

จำปา แสนพรม เกิดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2497 เป็นบุตรสาวคนที่ 8 จากพี่น้องจำนวนทั้งหมด 9 คนบิดาคือพ่อมา แสนพรมและมารดาคือแม่น้อย แสนพรม ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา โดยที่เหล่าบรรดาสมาชิกพี่น้องส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาตามรอยพ่อแม่ ซึ่งถิ่นฐานบ้านเกิดเป็นชาวบ้านดงป่าคง หมู่ที่ 8 ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ทำให้ชื่อการแสดงซอของเธอในระยะแรกๆ สมัยที่ยังรับงานแสดงอยู่ที่เชียงรายเมื่อหลายทศวรรษก่อนใช้ชื่อว่า “จุ๋มป๋า ดงป่าคา”

จุ๋มป๋า คือภาษากำเมืองที่ใช้เรียก “ดอกจำปา” นั่นเองซึ่งหมู่บ้านของเธอในปัจจุบันนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนจากทางราชการให้ มาใช้ชื่อหมู่บ้านดงดอนเต้า หมู่ที่ 11 ซึ่งก็ยังอยู่ในตำบลแม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายอันเป็นพื้นที่ใกล้กับน้ำตกปูแกงหรือเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวงในปัจจุบัน

ด้วยภาระที่มากของครอบครัวต้องสู้กับความยากลำบาก แม้เด็กหญิงจำปาในครานั้นมีอายุยังน้อย ก็ต้องแบ่งเบาภาระด้วยการช่วยพ่อแม่เลี้ยงวัวเลี้ยงควายและหากินอยู่ตามท้องไร่ท้องนา ครอบครัวนี้จึงไม่มีใครได้รับโอกาสทางการศึกษาเพียงสักคนเดียว แต่เมื่อถึงเกณฑ์ที่จำปาจะต้องเข้าเรียน เธอถูกส่งมาเรียนที่โรงเรียนบ้านดง ตำบลแม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ต้องเตรียมอาหารเพื่อนำไปรับประทานที่โรงเรียน เพราะสมัยก่อนไม่มีการเลี้ยงอาหารกลางวันในโรงเรียน ดำเนินชีวิตด้วยความทุกข์ยากลำบาก

ครั้งหนึ่งไปเที่ยวงานวัดในหมู่บ้าน คนที่มีฐานะในหมู่บ้าน ได้จ้างช่างซอให้มาขับซอจึงเกิดแรงบันดาลใจว่าหากได้ฝึกเป็นช่างซอ จะสามารถสร้างรายได้และทำให้มีฐานะของเธอดีขึ้นเหมือนช่างซอที่กำลังทำการแสดงอยู่ ด้วยเหตุผลนี้ แม่ครูจำปาจึงอยากประกอบอาชีพช่างซอนับแต่นั้น

เมื่อเด็กหญิงจำปาที่มีอายุได้ 9 ปี ขณะที่เธอเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ได้มีช่างซอช่างปี่ ซึ่งย้ายมาจากอำเภอเมืองเชียงราย มาสร้างครอบครัวที่หมู่บ้านดงป่าดา แถมยังมีฐานะเป็นญาติห่างๆ เธอจึงรบเร้าบิดาและมารดาพาเอาเธอไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของช่างขับซอและช่างเป่าปี่จุมฝีมือดีท่านหนึ่งซึ่งมีนามว่า พ่อครูปั๋นแก้ว คำน้อย (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) แต่ด้วยความที่ยากจนไม่มีเงินตอบแทน จึงไปทำงานบ้านทุกอย่าง ที่บ้านของพ่อครูเพื่อแลกกับการเรียนขับซอโดยใช้เวลาเรียนอยู่ประมาณ 3 ปี เมื่ออายุได้ 12 ปี พ่อครูพาเธอไปประกวดการขับซอที่สถานีวิทยุ ว.ป.ด. 2 จังหวัดแพร่ ได้รับรางวัลชมเชย ในปีต่อมาจึงได้ไปประกวดการขับซออีกครั้งที่สถานีวิทยุ ว.ป.ถ. 10 จังหวัดเชียงรายและได้รับรางวัลชนะเลิศ

ชีวิตช่างซอสาวน้อยจึงมีโอกาสได้หัดขับซอก็ต่อเมื่อทำงานบ้านทุกอย่างเสร็จแล้วในแต่ละวัน ซึ่งพ่อครูปั๋นแก้วจะเป่าปี่จุมซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประกอบการขับซอให้เป็นจังหวะและทำนองต่างๆ  จากนั้นจึงสอนให้ขับซอทีละบทสองบทเพื่อให้ได้เรียนรู้เป็นทีละน้อย และพ่อครูก็ได้พาไปหัดขับซอในงานบุญจริงๆ เพื่อให้มีประสบการณ์ เด็กหญิงจำปาจึงค่อยๆ เรียนรู้เรื่อยมา ในช่วงปี  2516 การขับซอได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ในเวลาต่อมามีความบันเทิงประเภทอื่นๆ เช่น รำวง วงดนตรีลูกทุ่ง วงสตริง เข้ามาแทนที่ การแสดงส่วนใหญ่นิยมมีหางเครื่องมาเต้นประกอบการร้อง ผู้คนหันไปนิยมการแสดงสมัยใหม่กันมากขึ้น ส่งผลให้ไม่มีผู้ว่าจ้างช่างซอ ไปขับตามงานเหมือนในอดีต

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะมีการผสมเป็นละครซอ โดยแม่ครูจันทร์สม สายธารา ศิลปินแห่งชาติสาขาเพลงพื้นบ้าน (ซอพื้นเมือง) ประจำปี 2539 (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) แม่ครูจำปา จึงนำแนวคิดของท่านมาใช้บ้าง โดยเริ่มจากการนั่งซอเป็นคู่ แล้วจึงพัฒนามาเป็นการเล่นละครซอ (เนื้อเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ) พ.ศ. 2515 อายุ 18 ปี แม่ครูจำปา แสนพรม จึงได้ตั้งคณะซอเป็นของตนเอง ในชื่อคณะจำปานารีศิลป์

ภาพแม่จำปา แสนพรม (ช่างซอที่เฟี้ยวที่สุดในโลก) กลับมาแสดงซอที่บ้านเกิดในปี 2521 โดยในภาพยังมี พ่อครูศรีทวน สอนน้อย และ แม่ครูแสนคำ นางแลใน อีกด้วย

จนมีโอกาสได้พบกับพ่อครูศรีทวน ช่างขับซอฝีปากเอก (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)  พ่อครูศรีทวนเป็นครูสอนขับซอที่มีความสามารถในการประพันธ์บทขับซอจนมีชื่อเสียง ถือว่าเป็นช่างซอคู่ “ศรีทวน-จุ๋มป๋า” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่เชียงราย พะเยา ลำปางและแพร่ จำปาจึงอาศัยการเรียนแบบครูพักลักจำ จากที่ได้ร่วมงานกันมา และขอคำแนะนำจากพ่อครูศรีทวน เพื่อพัฒนาการขับซอของตนเองให้มีรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เธอจึงได้มีโอกาสขับซอร่วมกับช่างขับซอวัยหนุ่มหลายคนจนเกิดความรู้ความสามารถที่แตกฉานและอีกหนึ่งคู่ขับร้องซอที่ได้ถูกจารึกอยู่ในจิตใจของชาวบ้านภาคเหนือพ่อครูดวงเงิน แม่สรวย ช่างซอคู่ “จุ๋มปา-ดวงเงิน”

เส้นทางเดินชีวิตของจำปา พลิกผันอีกครั้งในปี  2521 เมื่อเธอแต่งงานกับสามีคือ สาธิต เสวาอรรจน์ พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เป็นเหตุต้องย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งทำให้คณะซอจำปานารีศิลป์ที่กำลังโด่งดังอยู่ในขณะนั้นปิดตัวลงไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนลูกศิษย์ของแม่ครูจำปาก็แยกย้ายกันไปบ้างก็หางานอย่างอื่นทำ บางคนก็เปิดคณะซอเป็นของตนเอง

หลังจากเข้ามาอยู่ในเมืองหลวงเธอได้ทำงานเป็นลูกจ้างในร้านเสริมสวย  ด้วยความพากเพียร แต่ความเป็นศิลปินของจำปายังอยู่ในสายเลือดไม่เคยจางไปแม้แต่สักวันเดียว  ในระยะเเรกสามีก็ไม่สนับสนุนให้ประกอบอาชีพช่างขับซอดั่งที่เคยทำมา  

จำปาต้องแอบขับซออยู่ในห้องน้ำหรือรอให้สามีไม่อยู่บ้านจึงสามารถร้องเล่นขับซอได้   นับว่าเป็นความลำบากใจที่อัดอั้นอยู่ยากจะบอกแก่ใครต่อใครให้เข้าใจได้ สำหรับจิตวิญญาณช่างซอล้านนาที่มาอยู่ในกรุงเทพฯ  ต่อมาจำปาก็ได้รับความช่วยเหลือจากสามีที่รักมอบเงินในการลงทุนเปิดร้านทำเสริมสวยให้เป็นของตนเองในย่านถนนสุขุมวิทซอย 50 เริ่มเปิดกิจการมาตั้งแต่ปี 2525  เป็นต้นมา  และปัจจุบันนี้ได้มอบกิจการให้แก่ลูกหลานทำแทน

ขณะที่ตัวเธอเองได้แสวงหาความก้าวหน้าในชีวิตทางการเล่าเรียนการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) โดยศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2536 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนปทุมคงคากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2537 และสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปี ที่ 6 ที่โรงเรียนพระโขนงวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2540

แม้จำปาจะละทิ้งถิ่นฐานจากบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อมาใช้ชีวิต แต่ความเป็นศิลปินยังคงเป็นสิ่งที่ดำรงในตัวตน บ่อยครั้งที่เธอเล่าติดตลกให้กับผู้เขียนในฐานะลูกศิษย์อีกคนหนึ่งของเธอว่าสมัยก่อนเธอ “แอบปิดร้านเสริมสวย”  ได้แอบสามีไปร่วมงานขับซอในงานบุญประเพณีต่างๆ  ที่เกิดจากชาวเหนือที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ จัดขึ้นในนามของสมาคมชาวเหนือ  ตลอดจนงานเล็กงานน้อยที่ชาวเหนือจัดกันขึ้นเองเพื่อความสนุกสนาน  เพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ไม่ว่างานใดๆ ใกล้ไกลขนาดไหน ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่  ยากลำบากขนาดไหนกับการที่จะแอบครอบครัวไปขับซอ  จำปาก็ต้องยอมทำเพราะว่าหัวใจเรียกร้องหาเสียงปี่  เสียงขับซอ  ดังที่เคยเรียนมาอย่างไม่สามารถหักห้ามหัวใจดวงนี้  

ในระยะแรกเริ่มจำปา  แสนพรม  ได้ร่วมบันทึกการขับซอสตริงในแบบร่วมสมัย  โดยมีคนขับซอแต่เพียงเธอเพียงผู้เดียวกับวงดนตรี การที่ได้กลับมาขับซออีกครั้งถึงแม้จะไม่ใช่ในแบบโบราณตามที่เคยเป็นมาในสังคมล้านนาที่เธอเคยเป็น ซึ่งเธอต้องปรับเปลี่ยนทุกอย่างเพื่อให้คนในกรุงเทพฯ ฟังถ้อยคำของเธอออก  ในระยะเเรกอาจลำบากยิ่งกับการสื่อสารแต่ต่อมาผู้คนในกรุงเทพฯกลับเข้าใจในสิ่งที่เธอพยายามจะสื่อสารออกมาในด้านศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรมการขับซอที่ถือว่าเป็นภูมิปัญญาชั้นสูงของบรรพชนชาวล้านนาในเมืองหลวงกรุงเทพฯที่ใครๆ ก็ต่างรู้จักคำว่า “ซอ” นั้น  เป็นเครื่องดนตรีประเภท ซออู้  ซอด้วง  ซอสามสาย ฯลฯ

แต่ซอของจำปานั้นคือการขับซอที่เป็นการร้องเพลงพื้นบ้านภาคเหนือประกอบเครื่องดนตรีปี่จุมที่ใครๆ ต่างไม่เคยรู้จัก  อาจพูดได้ว่าแทบไม่เคยพบเห็นก็ว่าได้ในกรุงเทพฯ ภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่ถือเป็นเกียรติและศักดิ์ศรีของจำปา และชาวเหนือทุกคนในกรุงเทพฯ คือการช่วยเหลือสมาคมชาวเหนือร่วมจัดงานประเพณีตานก๋วยสลากที่วัดเบญจมบพิตร ซึ่งจำปาได้ทุ่มเทเพื่อการสร้างสรรค์ความงามทางด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนามาตั้งแต่ 2525  ซึ่งไม่เคยมีปีใดขาดการเข้าร่วมงานนี้มาจนถึงปัจจุบัน  จนแทบจะพูดได้ว่าภาพการขับซอของจำปา  แสนพรม  เป็นภาพที่ติดตาและอยู่ในความรู้สึกของชาวเหนือในกรุงเทพฯ และประชาชนทั่วไปในกรุงเทพฯและจังหวัดในปริมณฑล

จำปาได้แวะเวียนไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมล้านนาอันเป็นที่รักอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเลยแม้แต่สักงานเดียว  ความเป็นจริงแล้วจำปาไม่สามารถขับซอด้วยตนเองโดยขาดเสียงดนตรีประกอบ ดังนั้นการที่มีดนตรีประกอบเธอต้องว่าจ้างนักดนตรีล้านนาที่อยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยเงินส่วนตัวของเธอเอง  เพื่อให้คนเหล่านั้นมาเล่นดนตรีประกอบการขับซอให้ทุกครั้งไป  ซึ่งก็ถือว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อยในแต่ละปีที่จำปาต้องเสียไปเพื่อแลกกับความสุขใจของตนที่ต้องซื้อมาด้วยเงิน  จนบางครั้งใครต่อใครต่างแซวว่าจำปานั้น “ซื้อซอ” หมายความว่าเป็นศิลปินที่ต้องซื้อเวทีและซื้อตัวนักดนตรีมาเพื่อตนจะได้แสดงออกในแต่ละงาน  ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ถึงเรื่องราวเช่นนี้หากมิได้มาสัมผัสกับชีวิตของจำปา  แสนพรม อย่างแท้จริง  

จนจำปามีฉายาที่คนเรียกอยู่หลายชื่อ เช่น “จำปา  แสนแมน” หมายถึงจำปาผู้พบอยู่ในงานต่างๆ เป็นแสนงาน  “จำปา  ติดลม” หมายถึงจำปาผู้ขับซอแล้วไม่ยอมลงจากเวทีสักที ตามที่เรียกว่าติดลมบน  “จำปา มักไมค์” หมายความว่า  จำปาผู้ชอบไมโครโฟนอย่างแยกกันไม่ออก  ฯลฯ

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ชื่อของจำปา  แสนพรม  เลยกลายมาเป็นแม่ครูจำปา  แสนพรม  ด้วยเหตุว่านักศึกษาทุกๆ มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ได้ให้เกียรติมาเชิญไปร่วมแสดงการขับซอในงานต่างๆ เช่น  งานเลี้ยงขันโตก  การบุญประเพณี  ฯลฯ  ซึ่งมีการเชิญมาอยู่ไม่ขาด  แทบจะพูดได้ว่าไม่มีช่วงเดือนใดได้ว่างเว้นเลยก็ว่าได้การที่จำปาไม่ละทิ้งการขับซอ เนื่องจากที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามมีการจัดงานบุญประเพณีตานก๋วยสลากชาวเหนือขึ้นทุกปี

แม่ครูจำปาและกลุ่มคนชาวเหนือที่อาศัยอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ จังหวัดใกล้เคียงหรือแม้แต่ผู้คนจากภาคเหนือ ก็จะเดินทางเพื่อเข้าร่วมงาน ส่วนแม่ครูจำปาก็ทำหน้าที่ขับซอ ร่วมงานกับวงน้ำพริกหนุ่มหรือช่างซอคนอื่นๆ ที่มาจากต่างถิ่นเป็นประจำทุกปี จนะกระทั่งในปี พ.ศ. 2539 แม่ครูจำปา แสนพรม จึงได้รับการติดต่อจากนายชาญยุทธ (ไม่ทราบนามสกุล) ซึ่งเป็นช่างซออีกท่านหนึ่งได้ติดต่อให้ขับซอที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง ร่วมขับซอหลังจากที่ห่างหายเวทีไปนาน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการหันกลับมาขับซออาชีพอีกครั้ง ทั้งยังสร้างสรรค์ผลงานในการขับซอมากมาย มีทั้งการบันทึกเสียงเพลงซอหลายชุด และได้รับเชิญจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้ไปสาธิตการขับซอ เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก เป็นต้น

เมื่อเธอเริ่มต้นขับซอจนเป็นที่รู้จักสำหรับผู้คนในชุมชนวัฒนธรรมชาวเหนือที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ สักระยะเวลาหนึ่งแล้ว สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ศิลปินและผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใจกลางย่านทองหล่อ ได้ชักชวนเธอมาร่วมบันทึกเสียงเพลง และร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนิทรรศการตลอดจนงานศิลปะเพื่อสังคมที่จะขึ้นโดยสถาบันดังกล่าวด้วยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในมิติของศิลปะกับการรับใช้สังคมให้แก่ศิลปินพื้นบ้านล้านนาอย่างจำปาอย่างยิ่งยวด

ในพื้นที่แห่งนี้เองได้สร้างทั้งโอกาสและเครือข่ายให้กับแม่ครูจำปาได้ใช้เป็นสะพานทอดจากเวทีศิลปินพื้นบ้านไปสู่เวทีศิลปะการแสดงในรูปแบบมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินนักการละครที่เป็นคนเหนือบ้านเดียวกับเธออย่าง “วัลลภ แสงจ้อย” สมาชิกกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละครในขณะนั้น ได้ชักชวนเธอไปรับบทเป็นนักแสดงสมทบในเรื่อง “14 ตุลา สงครามประชาชน” 

แม่ครูจำปาเล่าว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เธอมีโอกาสได้เล่นโดยครั้งนั้นเธอรับบทเป็น “แม่ของอาจารย์เสกสรรค์” (ที่แสดงโดยคุณอู ภาณุ สุวรรโณ) และตามมาด้วยผลงานแสดงสมทบในภาพยนตร์ ละคร ภาพยนตร์สั้น ตลอดจนละครเวทีอีกหลายเรื่อง ซึ่งภาพจำที่ผู้คนจดจำเธอได้คือบทแม่ค้าขายไส้อั่วในภาพยนตร์บุญชูภาค 2

นอกจากนี้แม่ครูจำปายังเล่าให้กับผู้เขียนฟังว่า สถาบันปรีดี พนมยงค์นั้นเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่สร้างโอกาสและเครือข่ายให้เธอรู้จักและมีโอกาสได้ร่วมงานกับนักการละครในระดับนานาชาติทำให้มีโอกาสได้ร่วมงานกับองค์กรด้านการละครทั้งในและต่างประเทศอย่างเช่น BIPAM ประเทศไทย, Singapore International Festival of Arts ประเทศสิงคโปร์ และ George Town Festival ประเทศมาเลเซีย โดยหลังจากเปิดตัวครั้งแรกที่ไทยแล้ว โปรดักชันนี้ก็จะเดินทางไปจัดแสดงในอีกสองประเทศในช่วงกลางปี 2566 รวมไปถึงได้มีโอกาสเดินทางไปแสดงละครในประเทศอินเดียอีกด้วย

ในทศวรรษ 2550 แม่ครูจำปา แสนพรมและเครือข่ายทางด้านศิลปวัฒนธรรมของเธอได้ร่วมกันก่อตั้ง โรงเรียนสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนา วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เพื่อยังเปิดทำการสอน ดนตรีพื้นเมืองเหนือ การฟ้อน ดนตรีไทยโดยมีผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาสอนเพื่อมาให้ความรู้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านในทุกด้านโดยท่านพระราชวชิรโสภณ เจ้าอาวาสวัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร มีดำริให้ก่อตั้ง โดยได้รับอนุญาตให้ใช้อาคารในวัดเพื่อดำเนินการจัดการเรียนการสอน รับผู้เรียนหลากหลายช่วงวัย มุ่งเน้นการถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนาทุกแขนง โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลาง โดยได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไป เข้ามาศึกษาเล่าเรียนมากกว่า 10 ปี

ผลงานต่างๆ ที่แม่ครูจำปา แสนพรม ได้สร้างสรรค์ขึ้นมานั้น ส่งผลให้ได้รับรางวัลเกียรติยศ ได้แก่รางวัลเชิดชูเกียรติผู้มีผลงานดีเด่นและบุคคลผู้ส่งเสริมวัฒนธรรมในระดับต่างๆ อย่างมากมาย ผลงานด้านการใช้ศิลปะวัฒนธรรมในการรับใช้สังคมของเธอที่มีมาหลายทศวรรษนั้นได้ปรากฏเห็นเป็นที่รู้จักและอยู่ในความรับรู้ของผู้คนอย่างล้นหลาม กระทั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง  พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ แสดงความยินดีกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ปริญญาศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานาฏกรรมไทย ได้แก่ นางจำปา  แสนพรม ศิลปินซอพื้นบ้าน ครูใหญ่โรงเรียนสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนาวัดวชิรธรรมสาธิต ในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 5 เมษายน  2565

ทิ้งท้าย แต่ไม่ท้ายสุด : สามัญชนคนธรรมดากับการรักษาและสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมล้านนาในมหานคร

สามัญชนคนธรรมดา ก็สามารถทำงานบริการสังคมเพื่อเผยแพร่และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้คนพี่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมในกรุงเทพฯ ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับซอยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในกรุงเทพฯ ประกอบกับภาษาและสำเนียงถิ่นซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะภูมิภาคจึงเป็นเรื่องยากที่คนต่างวัฒนธรรมจะเข้าใจได้ แม่ครูจึงได้คิดค้นรูปแบบ วิธีการ ที่จะทำให้ผู้คนหันมาฟังการขับซอ

เมื่อใดก็ตามที่มีการแสดงการขับซอ  แม่ครูจำปาก็จะไม่นั่งขับซอเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่ท่านยืนขับซอและฟ้อนแสดงท่าทางไปด้วยพร้อมกับมีชุดการแสดงฟ้อนต่างๆ เพิ่มเติมเข้ามาให้เกิดความหลากหลาย 

การแสดงรูปแบบดังกล่าวนั้น สามารถชักชวนให้ผู้คน เข้ามาฟังการขับซอเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญในการขับซอของแม่ครูจำปา แสนพรม สิ่งเหล่านี้คือเอกลักษณ์ในการขับซอของแม่ครูจำปา แสนพรม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นงานแสดงใดๆ ก็ตาม ท่านก็จะใช้ศักยภาพที่มีอยู่ ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบ ที่น่าประทับใจอีกทั้งยังทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่กับทุกๆ การแสดง ขณะเดียวกัน แม่ครูจำปาก็ใช้เวลาในการขับซอที่สั้นกระชับ ไม่ยืดเยื้อ ประกอบกับการแสดงฟ้อนรำเป็นสีสันประกอบการขับซอ เช่น ฟ้อนขันดอก ฟ้อนเจิง ฟ้อนสาวไหมเขาประกอบร่วมด้วยเพื่อดึงดูดให้มีผู้คนมาชมมาฟังการแสดงการที่จะดึงความสนใจของผู้คนในสมัยนี้ให้มาสนใจศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านได้นั้น นับว่าเป็นงานที่ค่อนข้างยากและท้าทายสำหรับศิลปินยุคก่อนคนหนึ่ง ที่มีความตั้งใจที่จะเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาวล้านนาหรือวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทย ให้ได้รู้จักอย่างเป็นที่แพร่หลาย 

แน่นอนว่าเธอผู้นี้ เป็นผู้ที่มีทัศนคติที่เปิดกว้างและพร้อมรับความรู้ใหม่ๆ เสมอ ในการสร้างสรรค์ศิลปะการแสดงได้อย่างมีอรรถรส ยิ้มแย้มพร้อมกับกระเซ้าเย้าแหย่ผู้ฟังอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการสร้างสีสันให้ผู้ชมอีกด้วย เรื่องเล่าเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตแม่ครูจำปา แสนพรม คงเป็นการเขียนซ้ำเพื่อเล่าย้ำชีวิตของผู้หญฺิงคนหนึ่งที่ขยายขอบเขตของคำตอบมากไปกว่าที่เปิดไว้ในความนำของข้อเขียนนี้ที่ว่า “นักแสดงผียายช่วยคือใคร?” ทว่าเป็นการอธิบายให้เห็นชีวิตของ “แม่หญิง” และการเดินทางของศิลปินล้านนาสามัญชนคนบ้านๆ คนหนึ่งที่ใช้เส้นทางเดินด้านศิลปะการแสดงนำพาเธอก้าวมาไกลเกินกว่าที่จะฝัน

ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง