พฤษภาคม 9, 2024

    พลังนุ่ม ส่งเสียง-หวังเห็นเมืองที่สนับสนุนคนทำงานสร้างสรรค์หน้าใหม่อย่างยั่งยืน

    Share

    28 ธันวาคม 2566

    ภาพ: พลังนุ่ม : Fluffy Force

    เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม เวลา 17.00 น. กลุ่มพลังนุ่ม หรือ Fluffy Force จัดแสดงนิทรรศการ “ละ【__】ลาน” รุงลัง Gallery ณ บริเวณลานอาคารร้างหน้าตึก Media Arts and Design หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยนิทรรศการดังกล่าว เป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องจาก รุงลัง Gallery พื้นที่สร้างสรรค์ทดลองที่เชิญชวนนักสร้างสรรค์หน้าใหม่ได้ออกแบบและจัดแสดงผลงานในพื้นที่จำกัด (อ่านข่าวเพิ่มเติม ’พลังนุ่ม‘ ร้องรัฐหนุนคนทำงานสร้างสรรค์หน้าใหม่ โดยรวบรวมงานสร้างสรรค์มากกว่า 30 ชิ้น นำเสนอในรูปแบบกล่องรุงลัง (24 x 40 x 17 ซม.) 

    กลุ่มพลังนุ่ม หรือ Fluffy Force เหล่าศิษย์เก่าโครงการ Human ร้าย, Human Wrong และเพื่อนๆคนรุ่นใหม่ รวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อระดมสมองวิเคราะห์ปัญหาใกล้ตัว ใช้เครื่องมือที่ได้เรียนรู้ร่วมกันออกแบบแคมเปญทางสังคมในประเด็นที่จับต้องได้ พวกเขาอยากเห็นทรัพยากรความรู้สร้างสรรค์ที่มีคุณภาพ เข้าถึงได้ง่าย ไม่กระจุกอยู่กับเพียงบางกลุ่มบางคน เพื่อลดต้นทุนให้คนรุ่นใหม่และนักสร้างสรรค์มือใหม่ทุกคน และผลักดัน เรียกร้องให้องค์กรและหน่วยงานที่รับผิดชอบทบทวนนโยบายและหน้าที่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเข้าถึงองค์ความรู้สร้างสรรค์ของประชาชนส่วนใหญ่ ผู้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของสังคมอย่างแท้จริง 

    ภาพ: พลังนุ่ม : Fluffy Force
    ภาพ: พลังนุ่ม : Fluffy Force
    ภาพ: พลังนุ่ม : Fluffy Force
    ภาพ: พลังนุ่ม : Fluffy Force

    ภายในงาน มีกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น นิทรรศการ ““ละ【__】ลาน” รุงลัง Gallery, ตลาดนัดเฉพาะกิจ “หมด Passion Market” รวบรวมสินค้ามือสองปลดระวางจากคนทำงานสร้างสรรค์ให้ผู้เข้าร่วมได้จับจ่าย เพื่อให้นักสร้างสรรค์ได้มีต้นทุนทำงานต่อ มากกว่านั้นยังมีกิจกรรมเขียน ส.ค.ส. (เสนอ – ความเห็น – สร้างสรรค์)  เสนอความเห็นหรือบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่อส่งต่อข้อเสนอนโยบายสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป มากกว่านั้นยังมีกิจกรรม performance art และคำแถลงการณ์จากกลุ่มพลังนุ่มที่มีความหวังเดียวกันคือการเข้าถึงพื้นที่สร้างสรรค์ได้อย่างเท่าเทียม

    ภาพ: พลังนุ่ม : Fluffy Force

    เนื้อหาแถลงการณ์จากกลุ่มพลังนุ่ม

    เชียงใหม่ เมืองที่เต็มไปด้วยการเกิดขึ้นของ “กิจกรรม” ในนามของความสร้างสรรค์ จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีพันธกิจสนับสนุนความสร้างสรรค์ เป็นต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2014  และถูกนิยามว่าเมืองที่มีองค์ประกอบของวัฒนธรรม กิจกรรม ผู้คน และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์  แต่คนทำงานสร้างสรรค์รุ่นใหม่กลับโดน “ละ【___】 ” ไว้ในตำแหน่งที่ยากจะเปล่งเสียงหรือสร้างบทสนทนาของตนเอง

    เชียงใหม่แวดล้อมไปด้วย “ลาน” ในบริบทของพื้นที่ที่กำลังถูกทำให้เป็น “พื้นที่สร้างสรรค์” แต่กลับเป็นพื้นที่สร้างสรรค์โดยนิยามของรัฐ ทำให้พื้นที่เหล่านั้นอาจกำลังจะรกร้างและไร้ซึ่งร่องรอยของนักสร้างสรรค์มือใหม่ที่อยู่นอกเหนือนิยามนั้น ในขณะเดียวกันผู้คนจำนวนมากที่กำลังเริ่มต้นชีวิตทำงานสร้างสรรค์ พวกเขาเหล่านั้นเป็นนักสร้างสรรค์มือใหม่ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพตัวเอง ต้องการพื้นที่ในการลองผิดลองถูก และยังไม่มีต้นทุน ในโมงยามที่การเข้าถึงทรัพยากรเพื่อพัฒนาความสร้างสรรค์มีค่าใช้จ่ายสูง ผู้คนเหล่านี้จึงตกอยู่ในสภาวะไร้เสถียรภาพ อีกทั้งขาดการสนับสนุนจากรัฐทั้งในด้านต้นทุนความรู้ พื้นที่ และองค์ประกอบอื่น ๆ  นักสร้างสรรค์เหล่านี้จึงถูก “ละ【___】 ” ออกจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งพื้นที่ทางกายภาพ(ของรัฐ) พื้นที่ทางจินตภาพ(ของรัฐ) และพื้นที่สำหรับพัฒนาศักยภาพ(ของรัฐ) อีกทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่าหน่วยงานที่ควรรับผิดชอบสนับสนุนศักยภาพด้านความรู้ ความสร้างสรรค์ กลับทำงานไม่เป็นไป

    ตามพันธกิจเท่าที่ควร ทั้งในการสร้างเครือข่าย สนับสนุนคนทำงานสร้างสรรค์รุ่นใหม่ แต่กลับสนับสนุนคนทำงานสร้างสรรค์เพียงบางกลุ่มเท่านั้น ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมที่จะเข้าถึงทรัพยากรของหน่วยงานเหล่านี้ นำไปสู่การตั้งคำถามว่าทำไมพื้นที่ของหน่วยงานเหล่านั้นทั้งที่รัฐเป็นผู้จัดสรร กลับเข้าถึงได้อย่างยากลำบาก มีเงื่อนไขมากมาย ซ้ำยังมีค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงและใช้บริการทรัพยากรด้านองค์ความรู้สร้างสรรค์ ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงของประชาชน แต่หน่วยงานที่จัดสรรทรัพยากรกลับมองไม่เห็น (หรือทำเป็นมองไม่เห็น) ปัญหาที่เกิดขึ้น เสมือนว่ากำลังผลักคนทำงานสร้างสรรค์รุ่นใหม่ออกไปไกลขึ้นเรื่อย ๆ และอาจละเลยพันธกิจของตนโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่แท้จริงแล้ว รัฐไม่สามารถ “ละ【___】”ความรับผิดชอบนี้ได้

    “ละลาน รุงลัง Gallery” ชวนให้ทุกคนได้เข้ามาสำรวจกลุ่มนักสร้างสรรค์ในหลากหลายนิยาม แต่มีความหวังเดียวกันคือการเข้าถึงพื้นที่สร้างสรรค์ได้อย่างเท่าเทียม ภายใต้การแสดงงานในรูปแบบ “กล่อง” ที่บรรจุผลงานสร้างสรรค์ภายใต้ข้อจำกัดของขอบเขตพื้นที่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขายังคงเผชิญหน้ากับข้อจำกัดของพื้นที่ที่คับแคบและมีจำนวนจำกัด รวมถึงทรัพยากรการพัฒนาศักยภาพด้านความสร้างสรรค์ที่เข้าถึงได้ยาก แต่แท้จริงแล้วพวกเขาเอง รวมถึงทุกคนคือผู้ที่มีอำนาจในการเข้าถึงและใช้สอยทรัพยากรเหล่านั้นได้ ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่ต้องไม่ถูก “ละ【___】” ออกจากพื้นที่ทางความสร้างสรรค์

    พวกเราอยากเห็นพื้นที่เชียงใหม่ ละลานตาไปด้วยความสร้างสรรค์ที่ปราศจากความเหลื่อมล้ำและขอบเขตทางจินตภาพ พวกเราอยากให้ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรด้านองค์ความรู้สร้างสรรค์ได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด ห้องสมุด เฉพาะทาง ทรัพยากรสารสนเทศ หอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์ ที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นหนึ่งในการต่อยอดให้กับผู้คนในเชียงใหม่ ได้มีไอเดีย ทรัพยากรในการทำงานสร้างสรรค์ และสนับสนุนคนทำงานสร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่อย่างยั่งยืนโดยไม่ “ละ【___】” ใครไว้ข้างหลัง

    “La Lan Rung Lang” by Fluffy Force

    From vibrant creativity-championing agencies established in 2014, Chiang Mai has cultivated a burgeoning creative economy. This very scene silences the voices of the next generation. These aspiring creatives struggle to find platforms for dialogue and expression within the existing structures, feeling excluded from the equation of the so-called “creative economy.”

    Chiang Mai’s state-defined “creative spaces” risk exclusionary emptiness, ignoring budding talents beyond their narrow vision. New creatives, yearning for affordable trial-and-error, face instability due to a lack of state support for knowledge, space, and more. Marginalized in physical, imaginary, and developmental realms, these creators remain on the creative periphery.

    Agencies officially accountable for Chiang Mai’s creative scene fail to deliver true support to the emerging generation. Biased support, steep resource costs, and inaccessible knowledge leave new creatives on the margins. While the state funds hard-to-reach, exclusionary spaces, it ignores the rising tide of talent struggling to access basic creative resources.

    The La Lan Rung Lang Gallery confronts the creative economy’s exclusivity, inviting both creatives and the public to engage. Displayed within a confined space, young talents facing resource limitations showcase their work. These constraints should not hold them back; they deserve the resources to flourish and contribute to a truly inclusive creative space and economy.

    Imagine Chiang Mai aglow with limitless creativity, unchained from stifling limits and false barriers. We dream of a city where anyone can tap into a boundless stream of knowledge founded in public libraries, art galleries and museums – all open doors for every citizen to explore. Through these spaces, the city can ignite ideas, nurture talents, and empower every individual to contribute to a vibrant, sustainable Chiang Mai.

    อย่างไรก็ดี “ละ【__】ลาน” รุงลัง Gallery จะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 10 มกราคม 2567 และในวันที่ 6-7 มกราคม 2567 กลุ่มพลังนุ่มร่วมกับ untitled for film เปลี่ยนลานร้างเป็นลานฉายหนัง (เวลา 18.00 – 22.00 น.) พบกับหนังสั้นของเหล่านักสร้างสรรค์มือใหม่ที่อยากฉายแสงในกระแสแต่สะดุด จึงถูกคัดกลับมาฉายในกิจกรรมนี้

    Related

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย” นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ...