อำเภอเสริมงาม: ประวัติศาสตร์การต่อสู้ การเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาเมือง

อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง อำเภอที่ไม่ได้อยู่ห่างไกลจากอำเภอเมืองลำปาง แค่เดินทางผ่านอำเภอเกาะคา จะถึงอำเภอเสริมงามในไม่ช้า  เมืองแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหลายประการ ทั้งการก่อร่างสร้างเมืองจากกลุ่มชาติพันธุ์ “ลั๊วะ” หรือประวัติศาสตร์อีกกระแสที่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ “ยอง” หรือ “ลื้อ” อาศัยอยู่มาก่อน แต่ด้วยการร่วมมือกันของผู้คนส่งผลให้ “เมืองเสริม” ก่อตั้งขึ้น สำหรับชื่อเมืองเสริมนั้น มาจากการที่เมืองมีแม่น้ำเสริมไหลผ่านพื้นที่ อันเป็นหนึ่งในสี่แม่น้ำที่ประกอบด้วย แม่น้ำเสริม, แม่น้ำเลียง, แม่น้ำลา และแม่น้ำต๋ำ 

ส่วนการปกครองพื้นที่ ช่วงแรกด้วยเมืองมีขนาดเล็ก ถูกจัดวางการปกครองเป็นตำบล ต่อมามีการขยับขยายเป็นกิ่งอำเภอเสริมงาม อำเภอเกาะคา เวลาถัดมามีพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอเสริมงาม ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการโดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น  ยกระดับเป็นอำเภอเสริมงามอย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2518  ด้วยเหตุผลที่ว่า ท้องที่มีขนาดกว้างขวาง มีชุมชนและชุมนุมการค้าหนาแน่น มีสภาพเจริญขึ้นกว่าเดิมมาก สมควรยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ

ปัจจุบันอำเภอเสริมงามมีการแบ่งเขตการปกครองเป็น 4 ตำบล คือ ตำบลทุ่งงาม, ตำบลเสริมขวา, ตำบลเสริมซ้าย และตำบลเสริมกลาง  มีประชากรประมาณ 32,774 คน มีขนาดพื้นที่กว่า 394,829 ไร่

แม่เลียง เมืองแห่งการต่อสู้ ประวัติศาสตร์การต่อต้านในห้วงยามสงครามเย็น

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว De Lampang มีโอกาสได้เข้าไปทำความรู้จักกับพื้นที่แห่งหนึ่งที่ต้องเดินทางจากศูนย์กลางของอำเภอเสริมงาม ระยะทางประมาณ 15 – 20 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางไม่นานนัก สภาพพื้นที่ถูกห้อมล้อมด้วยภูเขาและลำธาร ขนาบด้วยพื้นที่บ้านเรือนและท้องนา ความเป็นชุมชนของพื้นที่มีลักษณะเป็นหย่อม ๆ หากจะเดินทางไปหมู่บ้านถัดไปจะต้องเดินทางผ่านไร่นาของชาวบ้าน 

เมื่อถึงจุดหมาย ณ บ้านแม่เลียง ตำบลเสริมขวา อำเภอเสริมงาม คำบอกเล่าของประชาชนในพื้นที่ต่อประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ ส่งผลให้เรารู้สึกตื่นเต้นขึ้นทันที เรื่องเล่าของการต่อสู้ของประชาชนในยุคสมัยที่การเมืองไทยมีความเร่าร้อน ความหวาดกลัว “คอมมิวนิสต์” ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หลังจากกัมพูชา, ลาว และเวียดนามเปลี่ยนแปลงการปกครอง พื้นที่ห่างไกลศูนย์กลางของประเทศหรือศูนย์กลางของจังหวัดลำปาง อย่างอำเภอเสริมงาม กลายสภาพเป็นจุดหมายปลายทางของเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างไร 

หากย้อนไปด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ รัฐไทยมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ครั้งแรก ชื่อว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ 2476” โดยอธิบาย “ลัทธิคอมมิวนิสต์” ว่า ลัทธิใด ๆ ซึ่งสนับสนุนส่งเสริมการรวมกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือรวมการอุตสาหกรรม หรือรวมทุน หรือรวมแรงงานเข้าเป็นของรัฐบาล”

เรื่องราวของเหมืองแร่แม่เลียง มีการบันทึกบรรยายถึงเหตุการณ์ไว้ว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2518 กรณีนักศึกษาและประชาชนปิดล้อมเหมืองแร่ของ บริษัท แร่แม่เลียง จำกัด บ้านแม่เลียง ตำบลเสริมขวา อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง เรียกร้องให้มีการปิดกิจการ เป็นเหตุให้มีการปะทะกัน กระทั่งประชาชนถึงแก่ความตายจำนวน 15 คนและบาดเจ็บอีกหลายคน 

สำหรับบริษัท แร่แม่เลียง จำกัด หรือ Mae Liang Mining CO,LTD จดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2513 ปัจจุบันมีสถานภาพกิจการร้างมาตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2546 มีวัตถุประสงค์เพื่อการทำเหมืองแร่ทุกชนิดที่รัฐบาลอนุญาตให้ทำได้ตามกฎหมาย

ส่วนสาเหตุเกิดจากเหมืองแร่ดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำ ข้อมูลบ่งชี้ว่าเหตุแห่งการต่อต้านมาจากผลกระทบต่อการทำนาในพื้นที่ ความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนและคนในรถเหมืองแร่ “กิเลน ประลองเชิง” ให้ข้อมูลผ่านคอลัมน์ “ตามหาคนที่ไม่ถ่ายภาพ” ของสำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์ ไว้ว่า 

“รัฐบาลส่ง 5 ตัวแทนมาดูเหตุการณ์ แต่เข้าไปที่เกิดเหตุไม่ได้ สส. พินิจ จันทรสุรินทร์ และนักข่าว นสพ. สองฉบับ อาสาทางการจัด ฮ. บินเข้าไป ฮ. บนลงที่บ้านพงป่าป๋อ (คาดว่าเป็นบ้านปงป่าป๋า ในปัจจุบัน) มีการพูดจากับตัวแทนชาวบ้าน ผลไม่เป็นที่พอใจ ฮ. พาเราบินกลับเสริมงาม ตัดสินใจลุยน้ำซ้อนมอเตอร์ไซต์ เดินเท้า เริ่มต้นใหม่ลุยเข้าแม่เลียงเอง สองทุ่มถึงที่ชุมนุม หีบศพ “อ้ายนวล กาวิโล” ตั้งตระหง่าน มีเสียงสะล้อ ซอ ซึง ขับกล่อมกลางลาน หกทุ่ม อากาศกลางหุบเขายิ่งหนาว แรงไฟจากขอนไม้ไม่พิอ นักรบสาวมาดมั่นในชุดทหารป่า หมวกติดดาว สะพายปืนยาว เดินจากความมืดในราวป่าเข้ามาสนทนา” 

สำหรับรายชื่อผู้ที่เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับขบวนการเคลื่อนไหวช่วงปี 2518 – 2519 ในพื้นที่อำเภอเสริมงาม ประกอบด้วย  นายนวล กาวิโล ผู้นำชาวนา เสียชีวิต 12 ตุลาคม 2518,

– นายมี กาวิโล ผู้นำชาวนา เสียชีวิต 12 ตุลาคม 2518

– นายบุญรัตน์ ใจเย็น ผู้นำชาวนา เสียชีวิต 21 ตุลาคม 2518

– นายลา สุภาจันทร์ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ ฯ อำเภอเสริมงาม เสียชีวิต 12 ธันวาคม 2518

– นายคำ ต๊ะมูล ผู้นำชาวนา เสียชีวิต 31 มีนาคม 2519

– นายวงศ์ มูลอ้าย ผู้แทนชาวนา ถูกอุ้มหาย 13 มีนาคม 2519

– นายพุฒ บัววงศ์ ผู้แทนชาวนา เสียชีวิต 19 พฤษภาคม 2519

– นายทรง กาวิโล ผู้แทนชาวนา เสียชีวิต 19 พฤษภาคม 2519

ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เริ่มเลือนหาย ผู้คนที่อยู่ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทะยอยหายไปสิ้นด้วยอายุขัยของกาลเวลา การบันทึกข้อมูลในขณะนั้นที่อาจจะน้อยจนเกินไป คนที่ยังอยู่มีช่วงอายุที่เยาว์วัย เรื่องราวบางอย่างอาจจะเลือนหาย แต่คำบอกเล่ายังคงอยู่  “เมื่อก่อนประชาชนในหมู่บ้านเคยเป็นผู้ส่งข้าวส่งน้ำให้กับนักศึกษาขบวนการคอมมิวนิสต์” พี่เอ (นามสมมติ) ประชาชนในพื้นที่หมู่ 7 บ้านแม่เลียง กล่าวกับเรา จึงเป็นแรงบันดาลใจของการค้นหาข้อมูลต่อ

“มนัส จินตนะดิลกกุล” อดีตนักศึกษาและผู้ประสานงานชาวภาคเหนือ ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านเพจบันทึก 6 ตุลา – Documentation of Oct 6 ตอนจากแรงมาเป็นรวง อธิบายถึงความเป็นมาของขบวนการนักศึกษาที่มาร่วมต่อสู้กับขบวนการชาวนา มีการแบ่งแยกหน้าที่เป็น 3 กลุ่ม คือ นักศึกษาที่ทำงานเต็มเวลากับชาวนา คลุกคลีปัญหาด้วยการอยู่กินกับชาวบ้าน, กลุ่มที่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา แต่จะเข้ามาทำงานช่วงที่มีการเคลื่อนไหวใหญ่, กลุ่มของมนัสที่จะเตรียมค่ายในหมู่บ้านให้นักศึกษาไปเรียนรู้ชนบท 

จากการจัดกลุ่มดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือในการพึ่งพาอาศัยด้วยอุดมการณ์และการลงมือต่อสู้ จากการประมวลความสำเร็จของการขับเคลื่อนงาน พบว่า มีหนึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอำเภอเสริมงาม คือ ให้ยกเลิกประทานบัตรทำเหมืองแร่ที่บ้านแม่เลียง อำเภอเสริมงาม จากการมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2518 โดยมีเนื้อหาว่า

“คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบกรณีราษฎรร้องเรียนให้เลิกกิจการเหมืองแร่แม่เลียง จำกัด ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (พ.ต.ท. บุญเลิศ เลิศปรีชา) และคณะอันประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ฝ่ายปกครองและตำรวจ ได้ออกเดินทางไปจังหวัดลำปาง เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง และหาทางระงับและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงทุกด้านแล้ว ก็พอจะอนุมานได้ว่า การปฎิบัติงานของบริษัทแร่แม่เลียงและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้เป็นไปโดยถูกต้องเท่าที่ควร และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นว่าการเพิกถอนประทานบัตรน่าจะเป็นทางเดียวที่จะทำให้ปัญหาเรื่องนี้ยุติลงได้”

ด้าน กนกศักดิ์ แก้วเทพ อธิบายถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ว่านิสิตนักศึกษาที่ลงชนบทภายใต้โครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยสู่ชนบทเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ชาวนาสามารถมองเห็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ชาวนาได้ตระหนักว่าตนถูกกดขี่ ขูดรีดและเอารัดเอาเปรียบ

บทความ ขบวนการชาวนาชาวไร่ในสังคมไทย : จากอดีตสู่ปัจจุบัน โดย ประภาส ปิ่นตบแต่ง อธิบายถึงเหตุการณ์การต่อสู้ของชาวนาในยุคนั้นไว้ว่า 

“ชาวนาในยุคนี้ไม่ใช่การเคลื่อนไหวแบบพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ได้มุ่งยึดอำนาจรัฐ หากแต่การปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐด้วยการใช้ประเด็นความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ ซ้าย – ขวา ได้ผลักดันให้ผู้นำชาวนาต้องเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์”

“ขบวนการชาวนาในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือ การเคลื่อนไหวของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ โดยประเด็นเรียกร้องที่สำคัญ คือการเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้มาซึ่งการกระจายทรัพยากรของสังคม โดยเฉพาะในเรื่องปัจจัยการผลิต ราคาผลผลิต ปัญหาหนี้สิน”

“การปราบปรามที่รุนแรงของรัฐได้ผลักให้ชาวนาไม่มีทางเลือกในการต่อสู้ภายใต้ระบบประชาธิปไตย ทำให้ขบวนการชาวนาถูกทำลายลงและผลักให้ชาวนาต้องเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและการที่ชาวนาหันกลับมาตอบโต้ด้วยวิธีการที่รุนแรงได้ทำให้เกิดบทเรียนที่สำคัญ คือ ชาวนาถูกโดดเดี่ยวจากกลุ่มที่เป็นกลาง”

สายธารการต่อต้าน จากอดีตสู่ปัจจุบัน แม่เลียงไม่เอาเหมือง

“อ่างเก็บน้ำแม่เลียงพัฒนา เป็นที่ตกปลาของเพื่อน ๆ ” 

คำตอบอย่างเรียบง่ายของลูกพี่เอ (นามสมมติ) อายุ 13 ปีที่กำลังเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น คำพูดคำจาดูฉะฉาน 

“ไม่เคยได้ยินเรื่องของการที่มีคนถูกสังหารมาก่อน เกิดไม่ทัน และไม่มีใครเล่าให้ฟัง”

สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่เลียงเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่คาดการณ์ว่าเป็นพื้นที่ของการปะทะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

บทบาทของพี่เอ (นามสมมติ) ในตอนนี้เป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่ายต่อต้านเหมืองแร่แม่เลียง  กล่าวว่า 

“ประชาชนในพื้นที่ยืนยันเจตนารมย์ไม่เอาเหมือง จะไม่หยุดการต่อสู้เรียกร้อง ขณะนี้ความเคลื่อนไหวของบริษัทที่จะเข้ามาทำเหมืองยังเงียบอยู่ ผู้นำชุมชนผู้นำท้องที่กล่าวว่าจะเป็นกลาง ปัจจุบันต้องจับตาความเคลื่อนไหวภายในพื้นที่ สาเหตุที่ออกมาต่อต้าน เพราะ ไม่อยากให้ลูกหลานต้องเผชิญกับธรรมชาติที่แย่ลง”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ประชาชนบ้านแม่เลียงและประชาชนตำบลเสริมขวาได้รวมตัวประท้วงกว่า 200 – 300 คน เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ในพื้นที่บ้านแม่เลียง

บทสัมภาษณ์ของประชาชนในเว็บไซต์ Lanner ระบุไว้ว่า “บ้านแม่เลียงในอดีตเคยมีประวัติศาสตร์การต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่เพื่อปกป้องผืนป่าและพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งเราได้เห็นและมีบทเรียนเรื่องผลกระทบต่าง ๆ มาแล้ว แน่นอนว่าการทำเหมืองแร่ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่สำหรับชาวบ้านที่นี่ที่ไม่ได้มีแค่บ้านแม่เลียง แต่ยังหมายถึงหมู่บ้านอื่น ๆ หรืออาจหมายถึงลำปางทั้งจังหวัด การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานคนในพื้นที่ การเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และประเด็นอื่น ๆ เมื่อเทียบกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้วก็ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนด้วยว่า การพัฒนาที่เข้ามาจะคุ้มกันกับวิถีชีวิตปัจจุบันและอนาคตของชาวบ้านหรือไม่”

“ไม่กลัวที่แม่เป็นแกนนำ”

ลูกพี่เอ (นามสมมติ) กล่าวทิ้งท้าย

เสริมงาม เมืองที่มีโอกาสสำหรับทุกคน (หรือไม่?)  : วันนี้และอนาคตจะเป็นอย่างไร

เสร็จสิ้นจากบ้านแม่เลียง เราได้เดินทางย้อนกลับเข้ามาในตัวเมืองอำเภอเสริมงามอีกครั้ง ด้วยความสงสัยว่าปกติคนเสริมงามเขาทำอะไรกันในวันหยุด เราจึงเลือกที่จะมาพบปะกับมิตรสหายที่เคยพบเจอกันเมื่อ 1 – 2 ปีก่อน ในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง บทสนทนาของเรา คือ คนรุ่นใหม่ของอำเภอเสริมงามในปัจจุบัน

“คนไปต่างประเทศเยอะ อำเภอนี้มีไว้ส่งออกแรงงาน ส่วนคนเรียนเก่ง มีกำลังก็เรียนต่อมหาวิทยาลัย  เยาวชนมองไม่เห็นอนาคต การเรียนขอแค่มีที่เรียน หากเรียนไม่ไหว จบ ม. ปลาย ไปต่างประเทศเลย บางคนเรียนจบมา พยายามหางานในพื้นที่ ถ้าไม่มีก็ไปต่างประเทศเหมือนกัน”

“บางคนกลับมาจากเมืองนอก กลับมาทำธุรกิจที่บ้าน สุดท้ายไปไม่รอด เสริมงามเป็นเมืองเล็ก ไม่มีกำลังซื้อ ถ้าไม่แข็งจริงอยู่ไม่ได้ แม้แต่เปิดอาคารให้เช่า ยังไม่มีใครเช่า”

“ทุกวันนี้ประชาชนเป็นหนี้กันเยอะมาก หนี้ในระบบก็มี แต่หนี้นอกระบบเยอะกว่า”

“ค่าแรงน้อยมากและไม่เป็นธรรม เคยทำงานตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงสองทุ่ม ได้วันละ 250 บาท อยากให้ค่าแรงเป็นไปตามเกณฑ์และมีความเป็นธรรมต่อการทำงาน”

คำบอกเล่าจากมิตรสหายชวนให้เราตั้งคำถามต่อวันนี้และอนาคตของเมืองแห่งนี้ หนึ่งในสิ่งที่จะตอบคำถามว่าวันนี้และอนาคตของเสริมงามจะเป็นอย่างไร “แผนพัฒนา” ย่อมเป็นหมุดหมายของการหาคำตอบนั้น จากการค้นคว้าพบว่าอำเภอเสริมงามมีแผนพัฒนาอำเภอ 5 ปี “2566 – 2570” จัดทำโดยคณะกรรมการบริหารงานอำเภอแบบบูรณาการ อำเภอเสริมงาม จากข้อมูลที่ปรากฎอยู่มีความน่าสนใจว่าประชากรวัยแรงงานไปใช้แรงงานในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, ไต้หวัน และสิงคโปร์ ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยจากข้อมูล จปฐ. อยู่ที่ 58,475.06 บาท (จปฐ. ปี 2564) ส่วนโครงการพัฒนาอำเภอ เน้นเรื่องของการซ่อมแซมลำเหมือง,  ปรับปรุงถนน เป็นหลัก

ยังพบข้อมูลคาดการณ์แนวโน้มของอำเภอเสริมงามว่า ลักษณะความเป็นอยู่ยังคงเป็นพื้นที่ชนบท เป็นสังคมที่มีความเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย การประกอบอาชีพของคนในชุมชนยังเป็นวิถีเกษตรกรรม ยังไม่มีความเจริญทางเศรษฐกิจและสาธารณูปโภคพื้นฐาน ยังคงต้องพึ่งพาทรัพยากรทางธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดสภาพสังคมแบบกึ่งเมืองกึ่งชนบท เกิดการกำหนดทิศทางของเมืองด้วยสโลแกน “เสริม เมือง ให้งาม”

บทสำรวจวาทกรรมชนบทและบ้านนอกในความเป็นไทย : รื้อ สร้าง ทบทวน สำนึกและมายาคติต่อความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำของเมือง ตั้งแต่ไพร่ ชาวนา คนเสื้อแดง จนถึงชนชั้นกลางใหม่ โดย สามชาย ศรีสันต์  อธิบายความเป็นชนบทไว้ว่า “มีความหมายปนเปกันอยู่สองลักษณะ คือ ชนบทในฐานะพื้นที่ทางกายภาพที่ห่างไกล เป็นป่าเขา ไม่รู้จัก และชนบทที่เต็มไปด้วยอันตราย ไร้ระเบียบ อำนาจเอื้อมเข้าไปไม่ถึง” “ชนบทในฝันที่ควรจะเป็น คือ ชนบทที่ชาวชนบทกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ การพัฒนาต้องไม่ทำลายความสัมพันธ์ทางสังคม ความมีตัวตนของท้องถิ่น รัฐจะต้องมีส่วนรับผิดชอบพื้นที่ชนบทร่วมกับพลเมืองในพื้นที่ ไม่ใช่ปล่อยให้พึ่งตนเอง แต่ต้องกระจายสิทธิเสรีภาพและการได้รับบริการขั้นพื้นฐานจากรัฐให้เทียบเท่ากับเมือง” “ชนบทและหลังชนบทมีความหมายไม่ต่างกัน คือ เป็นพื้นที่ สถานที่ เขตแดน ซึ่งแตกต่าง ห่างไกลและถูกทำให้แปลกแยกออกไปจากสังคมแบบเมือง แต่แทนที่ชนบทจะกลายเป็นบริวารของเมือง ชนบทกลายเป็นเมืองใหม่ที่ยังคงมีกิจกรรมกลางแจ้ง เศรษฐกิจภาคการเกษตร มีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมแตกต่าง”

เราชวนทุกคนศึกษาอดีต – สร้างความเข้าใจต่อปัจจุบัน – มุ่งสู่ความหวังของอนาคตของอำเภอเสริมงาม แม้ว่าประวัติศาสตร์กำลังสูญหายไปตามกาลเวลาท่ามกลางเมืองที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ในความเป็นจริงสิ่งที่ประชาชนต้องการมาตั้งแต่อดีต คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่มีความจำเป็นและสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การปลดเปลื้องพันธนาการของพื้นที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาตามความเป็นจริง ภายใต้เงื่อนไขของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปนั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ตราบใดที่ผู้คนยังเรียกร้อง เสริมเมืองให้งาม (ท่ามกลางการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีขึ้น) ย่อมทำให้เมืองนี้เจริญรุดหน้าได้

อ้างอิง

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง