ทิ้งไว้กลางทาง ระบบขนส่งเชียงใหม่ ทำไม่ถึง 

เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเยอะเป็นอันดับต้น ๆ ของภาคเหนือ รวมถึงยังเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงในด้านขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมอันสวยงาม การแสดงศิลปะ และงานเทศกาลดนตรี ล้วนเป็นแลนมาร์คที่ขึ้นชื่อให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้หลั่งไหลเข้าสู่เชียงใหม่

ถึงแม้จะมีนักท่องเที่ยวมากมายสัญจรอยู่ทั่วมุมเมือง แต่ระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดเชียงใหม่ ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ผลักให้ประชาชนต้องมีรถส่วนตัวเพื่อใช้ในการเดินทาง และการใช้รถส่วนตัวนี้เอง ที่กลายเป็นสาเหตุที่เอื้อต่อปัญหาอื่น ๆ ที่ทะยอยตามกันมา แม้จะมีความพยายามของประชาชนในการส่งเสียงให้เกิดระบบขนส่งสาธารณะมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ถึงฝั่งฝัน รัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง “ทำไม่ถึง” และถึงแม้ปัจจุบันจะมีการขับเคลื่อนเรื่องขนส่งมวลชนแต่ก็จะเป็นการเคลื่อนจากประชาชนและเอกชนเพียงเท่านั้น และยังขาดการส่งเสริมของภาครัฐในเรื่องการเดินทางของประชาชนเลย

ระบบขนส่ง(ไม่)สาธารณะ

“รถเยอะมากเลยค่ะ ในเชียงใหม่ส่วนใหญ่หลายพื้นที่มีแต่รถติด” นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนหนึ่งกล่าว ซึ่งก็เป็นจริงดังคำกล่าว เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าเชียงใหม่มีหลายพื้นที่ ๆ มีปัญหารถติด และรถติดแต่ละครั้งก็แสนจะยาวนาน ด้วยจำนวนรถที่มากโข บางส่วนก็เป็นคนวัยทำงานที่ต้องรีบไปทำงาน บางส่วนก็เป็นนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องเดินทางไปสถานศึกษาด้วยตนเอง สาเหตุที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้รถส่วนตัว ในการเดินทางก็เพราะระบบขนส่งยังไม่สามารถตอบสนองในเส้นทางที่จะต้องเดินทางได้

“หนูใช้รถมอเตอร์ไซค์ ขี่ไปมอทุกวันเลยค่ะ” นักศึกษายังกล่าวเสริม ในกรณีนี้ คงมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทำให้การใช้รถส่วนตัวมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับการเดินทาง แต่ด้วยข้อมูลนี้ก็ทำให้เราได้รู้ว่าเพราะระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่สามารถตอบสนองได้ ความเป็นไปได้ในปัจจุบันจึงมีเพียงแต่การที่ประชาชนต้องช่วยเหลือตนเอง

จากข้อมูลของแบบสอบถามความพึงพอใจและความคิดเห็นต่อการพัฒนาระบบบริการขนส่งสาธารณะในเขตเมือง พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดย สภาองค์กรของผู้บริโภค รายงานว่า ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 502 คน เคยใช้บริการขนส่งสาธารณะทั้งหมด 403 คน นับเป็น 80.3% ให้ความเห็นต่อสาเหตุที่ไม่ใช้บริการขนส่งสาธารณะทั้งหมด 3 สาเหตุ คือ 1.การใช้รถส่วนตัวสะดวกสบาย เนื่องจากรถสาธาณะในเมืองไม่ตอบโจทย์ความสะดวกสบายของชีวิตประจำวัน 2.ข้อจำกัดและปัญหาของรถสาธารณะ เนื่องจากมีข้อจำกัดและปัญหาส่งผลต่อการเลือกไม่ใช่บริการ เช่น การวางแผนในการเดินทาง การรอรถไม่สามารถควบคุมเวลาการเดินทางได้ ไม่ตรงเวลา จำนวนที่นั่งแออัด เส้นทางการเดินทาง จำนวนรถไม่พอต่อการใช้งาน สภาพอากาศร้อน ราคาแพง ราคาไม่มีมาตรฐาน 3.ทางเลือกอื่นในการเดินทาง การบริการรถส่วนตัวจากแอพพลิเคชั่น

ภาพ: TCIJ

“ถ้าระบบขนส่งดี ก็คงไม่ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ เพราะการขี่มอเตอร์ไซต์แต่ละที ก็ต้องเจอฝุ่นควันบนท้องถนน” ด้วยประโยคนี้ ทำให้คิดขึ้นได้ว่าจังหวัดเชียงใหม่ที่ทุกคนมองว่าเป็นเมืองอากาศดี น่าอยู่ ก็ต้องเผชิญกับฝุ่นควันในฤดูหนึ่ง ๆ ซึ่งกระทบต่อหลายภาคส่วนและมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก จนทำให้เราต้องเผชิญกับปัญหาที่ภาครัฐก็ไม่สามารถแก้ไขให้เราได้ สู่การสูญเสียหลาย ๆ อย่างที่ไม่อาจหวนคืนมา 

ซึ่งสาเหตุของปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือรวมไปถึงจังหวัดเชียงใหม่นั้นเกิดจาก การเผาชีวมวล หรือวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร จากพืช 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากความต้องการการบริโภคเนื้อสัตว์ของประชาชนที่สูงขึ้น ถึงแม้ปัจจัยหลักของฝุ่นควัน PM2.5 ในภาคเหนือจะเกิดจากการเผาชีวมวล แต่ส่วนหนึ่งที่สำคัญที่เป็นที่มาของฝุ่น PM2.5 มาจากควันรถที่เราขับขี่กันอยู่ทุกวัน กลายเป็นว่าสาเหตุสำคัญที่แท้จริงก็คือการใช้รถของเราในทุก ๆ วัน แต่หากจะบอกให้ประชาชนลดการใช้รถก็คงจะเป็นเรื่องยาก ถ้าหากระบบขนส่งสาธารณะยังไม่เอื้ออำนวย และรองรับให้ความสะดวกสบายแก่ประชาชน เราจึงอาจจะต้องวนลูปกับชีวิตที่ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 อีกนานแสนนาน จนกว่าปัญหาเหล่านี้จะถูกแก้ไขที่ต้นตออย่างแท้จริง 

ระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ถูกเหลียวแล

อีกด้านหนึ่ง ผศ.ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อธิบายถึงสาเหตุสำคัญของการเกิด PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร และทำไมเชียงใหม่ถึงมีฤดูหมอกควัน? ภายใต้บทความที่น่าสนใจ ที่ชื่อว่า “รถไฟฟ้าต่างจังหวัด: มันคงไม่จบที่รุ่นเรา”

“เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ จำนวนผู้คนมีอยู่มาก อีกทั้งเทศกาลต่าง ๆ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้อยากมาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ก็เยอะ” ซึ่งความหมายของประโยคนี้ ต้องการจะสื่อให้เห็นว่าในขณะที่ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้ามาสู่เชียงใหม่ ก็ทำให้จำนวนรถอันมหาศาลหลั่งไหลเข้าสู่จังหวัดนี้ และสาเหตุที่เป็นข้อกังขาว่า รถเยอะก็ดีแล้ว นักท่องเที่ยวเยอะก็ดีแล้ว แต่ทำไมถึงต้องมองว่าเป็นปัญหา?

แน่นอนว่าประชาชนชาวเชียงใหม่ต้องยินดีปรีดาอย่างแน่นอนที่มีแขกบ้านแขกเมืองและนักท่องเที่ยว ที่ชื่นชอบและสนใจในมาท่องเที่ยวในจังหวัดนี้ ซึ่งเป็นจังหวัดที่พรั่งพรูไปด้วยวัฒนธรรม ศิลปะ หัตถกรรม และทิวทัศน์อันสวยงาม แต่อย่างไรก็ตาม ยานพาหนะเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญของการเกิด PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ 
จากข้อมูลและปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้นจากจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลในเมืองเชียงใหม่ น่าจะเป็นหลักฐานที่ดีพอที่จะชี้ให้เห็นว่าระบบขนส่งสาธารณะที่ดีมีความจำเป็นมากแค่ไหนสำหรับเมืองเชียงใหม่ แต่ถึงอย่างนั้น กรมทางหลวงก็ได้เตรียมเสนอโครงการทางยกระดับทางหลวงหมายเลข121 ถนนคันคลอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเริ่มต้นที่จุดตัดทางหลวง107 และสิ้นสุดที่จุดตัดทางหลวง108 เป็นระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร ด้วยงบประมาณถึง 17,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มออกแบบในปี 2568 และเริ่มการก่อสร้างในปี 2569 ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ความพยายามในการแก้ปัญหาอย่างไม่ตรงจุดครั้งแรกของกรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคมแต่อย่างใด

โดยในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา กรมทางหลวงได้ดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาจราจรบนทางหลวงหมายเลข 121 หรือวงแหวนรอบ 3 ช่วงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 108-จุดตัดทางหลวงหมายเลข 1006 จ.เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 16.3 กิโลเมตร ด้วยงบประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งทางหลวงหมายเลข 121 ก็เป็นโครงการที่เปิดตัวไปตั้งแต่ปี 2562 และมีแผนเชื่อมโครงข่ายถนนวงแหวนรอบ 4 ไปเมื่อปี 2563 และผลลัพธ์ของความพยายามที่มีให้เห็นอยู่รายปีเป็นอย่างไร ก็มีภาพให้เห็นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันมีการนำรถเมล์เชียงใหม่ RTC กลับมาเปิดบริการอีกครั้งหลังจากต้องปิดให้บริการเนื่องจากผลกระทบจาก Covid-19 เป็นการนำขนส่งสาธารณะที่มีมาตรฐานเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการ และยังเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 และเส้นทางที่เดินทางมีการขยายเส้นทางใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ ให้ครอบคลุมผู้ใช้งานหลากหลายกลุ่มมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ

โดยในอดีตจังหวัดเชียงใหม่นั้นก็เคยมีรถเมล์ในการรับส่งประชาชนชาวเชียงใหม่ นั้นก็คือรถเมล์เหลือง ดำเนินกิจการโดยบริษัทเชียงใหม่ไทยเดินรถ จำกัด ที่เปิดบริการตั้งแต่ปี 2522-2538 มีรถโดยสารทั้งหมด 53 คัน และยังปรากฏอยู่ในสื่อภาพยนตร์ในเรื่อง ความรักของคุณฉุย (2532)

มีการขอสัมปทานเดินรถทั้งหมด 3 เส้นทางในเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ 

– สาย1 หนองประทีป – สวนดอก 

– สาย2 หนองหอย – ป.พัน7  

– สาย3สถานีรถไฟ – น้ำตกห้วยแก้ว

แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า รถเมล์เหลืองที่เคยให้บริการประชาชนในอดีตนั้นกลับมีอายุเพียง 16 ปี โดยได้ให้บริการตั้งแต่ปี 2522-2538 และได้ปิดกิจการไป ซึ่งก็เป็นข้อกังวลถึงแม้จะมีการนำ รถเมล์ RTC มาให้บริการอีกครั้งจะซ้ำรอยเดิมกับรถเมล์เหลืองหรือไม่หากภาครัฐยังผลักภาระให้แก่ประชาชนหรือเอกชนในการจัดการเรื่องขนส่งสาธารณะกันเอง ไม่ส่งเสริมและสนับสนุน และไม่เคยเหลียวแลเลย

ภาพ: รถเมล์เชียงใหม่ RTC Chiang Mai City Bus


ถึงแม้ว่าทั้งกรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคมจะพยายามแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองเชียงใหม่เพียงใด ก็ดูจะเป็นเพียงการช่วยเหลือและสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ส่วนตัวกันเพียงเท่านั้น แต่กลับไม่เคยมีความพยายามในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนเลย รถโดยสารสาธารณะที่ควรจะมีเพียงพอรองรับประชาชนในเมืองเชียงใหม่ กลับกลายเป็นสวัสดิการที่เข้าถึงยาก และกลายเป็นเพียงสวัสดิการที่มีไว้รองรับนักท่องเที่ยวเพียงเท่านั้น เมื่อผนวกกับการแก้ไขปัญหาที่ไม่ได้ตรงจุดมากนักอย่างการพัฒนาทางยกระดับ เจตนาในการแก้ไขปัญหาการจราจรจึงกลายเป็นการตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำที่คนเมืองเชียงใหม่ต้องพบต้องเจออยู่ทุกวันโดยไร้การเหลียวแลจากภาครัฐ

อ้างอิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง