พฤษภาคม 4, 2024

    Rocket Media Lab ชวนส่อง ผู้สมัคร ส.ส. ประชาธิปัตย์ ว่ามาจากพรรคเดิม หน้าใหม่ หรือย้ายพรรค

    Share

    จากการรับสมัครผู้สมัคร ส.ส. ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 3-7 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา Rocket Media Lab ชวนสำรวจผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ทั้ง 387 คน และบัญชีรายชื่อ 98 คน ของพรรคประชาธิปัตย์ ว่าเป็นใคร มาจากไหนบ้าง เป็นผู้สมัครพรรคเดิม หน้าใหม่ หรือย้ายพรรค?

    เลือกตั้ง 66 พรรคประชาธิปัตย์ มีผู้สมัครหน้าใหม่กว่า 50% 

    ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 Rocket Media Lab จัดทำฐานข้อมูลทางการเมืองของผู้สมัคร ส.ส. โดยแยกกลุ่มผู้สมัครเป็น 3 ประเภท ได้แก่

    1. ผู้สมัครจากพรรคเดิม หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น

    2. ผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น โดยนับปีล่าสุดที่ผู้สมัครคนนั้นลงสมัคร ส.ส. 

    3. ผู้สมัครหน้าใหม่ หมายถึง ผู้ที่ไม่เคยลงสมัคร ส.ส. มาก่อน ทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ

    เมื่อแยกผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน จากพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2566 ตามการจัดประเภทดังกล่าว พบว่า มีผู้สมัครจากพรรคเดิม จำนวน 131 คน คิดเป็น 32.75% มีผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 60 คน คิดเป็น 15% และมีผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 209 คน คิดเป็น 52.25%

    และเมื่อแยกตามภูมิภาค จะเห็นได้ว่าผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดิม มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคใต้ คิดเป็น 48.33% ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวน ส.ส. เขตมากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2562 ถึง 22 คน และมีสัดส่วนน้อยที่สุดที่ภาคเหนือ คิดเป็น 27.03% ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา (ไม่รวมการย้ายพรรคและเลือกตั้งซ่อม) พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ที่นั่ง ส.ส. จากภาคเหนือเลย

    ส่วนผู้สมัคร ส.ส. 2566 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคตะวันตกคิดเป็น 21.05% ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 ได้มา 4 ที่นั่ง และมีสัดส่วนน้อยที่สุดที่ภาคใต้คิดเป็น 3.33% และในส่วนของผู้สมัครหน้าใหม่ จะพบว่า มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคกลาง คิดเป็น 57.38% และน้อยที่สุดที่ภาคตะวันตกคิดเป็น 31.58%

    จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ ใช้ผู้สมัครพรรคเดิมมากที่สุดในภูมิภาคที่พรรคเคยได้ที่นั่งมากที่สุดจากการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งก็คือภาคใต้ ขณะที่ในภูมิภาคที่ไม่เคยได้ ส.ส. เลย อย่างภาคเหนือใช้ผู้สมัครหน้าใหม่เป็นส่วนมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ และในภาคที่ได้ ส.ส. น้อยมาก แต่มีที่นั่ง ส.ส. จำนวนมากอย่างภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งเพียงภาคละ 2 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ใช้ผู้สมัครหน้าใหม่มากกว่าครึ่งเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้ที่นั่ง ส.ส. ที่มากขึ้น

    ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดิม 

    เมื่อพิจารณาว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 387 คนจากพรรคประชาธิปัตย์ เทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่มาจากพรรคเดิม จำนวน 131 คน ของพรรคประชาธิปัตย์ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

    1. ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์เดิมจากปี 2562 จำนวน 23 คน คิดเป็น 17.56%

    2. อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์เดิมจากปี 2562 จำนวน 89 คน คิดเป็น 67.94%

    3. อดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 2 คน คิดเป็น 1.53%

    4. อดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 2 คน คิดเป็น 1.53%

    5. อดีต ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 3 คน คิดเป็น 2.29%

    6. อดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 12 คน คิดเป็น 9.16%

    จากข้อมูลจะเห็นว่า ผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้ง 2566 ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มาจากพรรคเดิม เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เดิมในปี 2562 มากที่สุด จำนวน 89 คน และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับจำนวน ส.ส. เดิมจากปี 2562 ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีจำนวน 35 คน* จะพบว่า มี ส.ส. ปี 2562 ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในนามพรรคเดิม 23 คน 

    และเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวน ส.ส. เดิมในปี 2562 รายภูมิภาค ก็จะพบว่าภาคตะวันออกเป็นภาคเดียวที่มีอดีต ส.ส. เดิมจากปี 2562 กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งครบทั้ง 3 คน ใขณะที่ภาคกลาง อดีต ส.ส. ทั้ง 2 คนในปี 2562 ไม่ได้กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์เลย และภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดพบว่า อดีต ส.ส. ปี 2562 ของพรรคประชาธิปัตย์กลับมาลงมัครรรับเลือกตั้งในนามพรรค 17 คนจาก ส.ส. เดิม 23 คน 

    ในขณะเดียวกัน ส.ส. เดิมจากปี 2562 ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 12 คนนั้น พบว่าย้ายไปพรรคอื่น 7 คน แยกเป็น รวมไทยสร้างชาติมากที่สุด 5 คน พลังประชารัฐและภูมิใจไทยอีกพรรคละ 1 คน ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง 4 คน และย้ายไปลงสมัครแบบปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาธิปัตย์ อีก 1 คน 

    จากนั้นเมื่อพิจารณาอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 316 คน จะพบว่า กลับมาลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 2566 นี้เพียง 89 คนเท่านั้น โดยภาคตะวันตกมีสัดส่วนมากที่สุด 35.71% ส่วนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุด ตามมาติดๆ ที่ 35% และน้อยที่สุดคือภาคกลาง 25% 

    ในจำนวนอดีตผู้สมัคร ส.ส. ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งในปี 2562 ของพรรคประชาธิปัตย์ 316 คน มี 227 คน ที่ไม่ได้กลับมาลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคประชาธิปัตย์อีกในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ โดยสามารถแยกเป็น ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วมากที่สุด 151 คน ย้ายไปลงพรรคอื่นๆ 69 คน แบ่งเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติมากที่สุด 23 คน พรรคพลังประชารัฐ 9 คน พรรคภูมิใจไทย 7 คน พรรคไทยสร้างไทย 6 คน พรรคชาติพัฒนากล้า 5 คน พรรคไทยภักดีและพรรคเพื่อไทย พรรคละ 4 คน พรรคก้าวไกล พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคละ 3 คน พรรครวมแผ่นดิน 2 คน พรรคประชาชาติ ไทยชนะ และเสรีรวมไทย พรรคละ 1 คน

    นอกจากนี้ยังมี อดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 2 คน อดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 2 คน อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ 3 คน อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ 3 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 12 คน ที่ถือเป็นผู้สมัครพรรคเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ที่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2566 นี้กับประชาธิปัตย์

    ผู้สมัคร ส.ส. ที่มาจากการย้ายพรรค

    เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คนจากพรรคประชาธิปัตย์ เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า มีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ย้ายมาจากพรรคอื่น 60 คน ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

    1. อดีตผู้สมัคร ส.ส. เดิมจากปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 51 คน คิดเป็น 85%

    2. อดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 9 คน คิดเป็น 15%

    จากข้อมูลจะพบว่าผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 60 คนที่เป็นผู้สมัครย้ายมาจากพรรคการเมืองอื่นของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้ง 2566 ย้ายมาจาก

    1. พรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทย พรรคละ 8 คน คิดเป็น 13.33%

    2. พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคเสรีรวมไทย พรรคละ 4 คน คิดเป็น 6.66%

    3. พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคเพื่อชาติ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคละ 3 คน คิดเป็น 5%

    4. พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อนเกษตรไทย พรรคละ 2 คน คิดเป็น 3.33%

    5. พรรคชาติไทย ถิ่นไทย แทนคุณแผ่นดิน ประชาชนไทย ประชาชนปฏิรูป ประชาธิปไตยใหม่ ประชานิยม ประชาภิวัฒน์ ประชามติ พลเมืองไทย พลังไทยรักชาติ พลังธรรมใหม่ เพื่อไทย เพื่อแผ่นดิน รวมใจไทยชาติพัฒนา อนาคตใหม่/ก้าวไกล พรรคละ 1 คน คิดเป็น 1.67% 

    จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ที่ย้ายมาจากพรรคอื่นนั้น ไม่มีอดีต ส.ส. จากพรรคอื่น ไม่ว่าจะในปี 2562 หรือปีก่อนนั้นย้ายมาลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งนี้เลย โดยในส่วนที่เป็นอดีตผู้สมัครจากพรรคอื่นที่ย้ายมาลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งนี้นั้น พรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทยมากที่สุด พรรคละ 8 คน คิดเป็น 13.33% รองลงมาก็คือ พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคเสรีรวมไทย พรรคละ 4 คน คิดเป็น 6.66% และพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคเพื่อชาติ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคละ 3 คน คิดเป็น 5%

    ผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ 

    เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คนจากพรรคประชาธิปัตย์เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ 209 คน สามารถแบ่งออกได้ดังนี้*

    1. ประกอบอาชีพส่วนตัว 71 คน คิดเป็น 33.97%

    2. นักการเมืองระดับท้องถิ่น 58 คน คิดเป็น 27.75%

    3. ข้าราชการ/หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 32 คน คิดเป็น 15.31%

    4. เครือญาตินักการเมืองระดับชาติ 22 คน คิดเป็น 10.53%

    5. นักธุรกิจ 13 คน คิดเป็น 6.22%

    6. เครือญาตินักการเมืองระดับท้องถิ่น 12 คน คิดเป็น 5.74%

    7. ผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 12 คน คิดเป็น 5.74%

    8. นักเคลื่อนไหวทางการเมือง/สังคม 6 คน คิดเป็น 2.87%

    9. นักวิชาการ/นักวิจัย 4 คน คิดเป็น 1.91%

    10. บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคม 2 คน คิดเป็น 1.64%

    **พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีผู้สมัครหน้าใหม่ที่เป็นนักการเมืองระดับชาติ

    *ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 1 คน อาจมีได้มากกว่า 1 สถานะ

    จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 209 คน มาจากกลุ่มผู้ประกอบอาชีพส่วนตัวมากที่สุด 71 คน คิดเป็น 33.97% โดนเมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่ามีอาชีพเกษตรกรมากที่สุด ซึ่งมีมากที่สุดในภาคกลาง ตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ 

    อันดับสองคือนักการเมืองระดับท้องถิ่น จำนวน 58 คน คิดเป็น 27.75% โดยเป็นอดีตคนที่ทำงานใน อบจ. อบต. ในตำแหน่งต่างๆ รวมไปถึงอดีตผู้สมัคร นายก อบจ. อบต. และ ส.อบจ. ส.อบต. อีกด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายพื้นที่ก็จะพบว่า ผู้สมัครหน้าใหม่ในประเภทนี้มีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งในภาคตะวันตก ภาคใต้ และภาคเหนือ 

    อันดับสามก็คือ ข้าราชการ/หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 32 คน คิดเป็น 15.31 % ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการสาธารณสุข การศึกษา ตำรวจ และหน่วยงานราชการอื่นๆ 

    ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 98 คน

    เมื่อพิจารณาว่าผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 98 คนจากพรรคประชาธิปัตย์ เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า เป็นพรรคเดิมมากที่สุด 48 คน รองลงมาก็คือหน้าใหม่ 39 คน และย้ายมาจากพรรคอื่น 11 คน 

    โดยในส่วนของผู้สมัครจากพรรคเดิมนั้น พบว่าเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากปี 2562 มากที่สุดที่ 29 คน เป็นอดีต ส.ส. จากปี 2562 จำนวน 17 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 อีก 2 คน

    ในส่วนของผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นหน้าใหม่จำนวน 39 คนนั้น พบว่าเป็นกลุ่มคนที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ มาก่อนมากที่สุด เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่าเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีมากที่สุด ส่วนอันดับต่อมาก็คือนักการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งก็คืออดีตคนที่ทำงานใน อบจ. อบต. ในตำแหน่งต่างๆ รวมไปถึงอดีตผู้สมัคร นายก อบจ. อบต. และ ส.อบจ. ส.อบต. อีกด้วย และดันดับสามก็คือประกอบอาชีพส่วนตัว

    ในส่วนของผู้สมัคร แบบบัญชีรายชื่อที่มาจากการย้ายพรรค จำนวน 11คน นั้น พบว่ามาจากพรรครวมพลังประชาชาติมากที่สุด 2 และพรรคชาติไทย ประชาชาติ พลเมืองไทย พลังท้องถิ่นไท พลังประชารัฐ เพื่อนเกษตรไทย ภูมิใจไทย มหาชน และแรงงานไทย พรรคละ 1 คน โดยเมื่อพิจารณาในรายะเอียดจะพบว่ามีอดีต ส.ส. จากปี 2562 จากพรรคอื่นที่ย้ายมาลงปาร์ตี้ลิสต์พรรคประชาธิปัตย์เพียง 1 คน นั่นก็คือ วทันยา บุนนาค จากพรรคพลังประชารัฐ

    ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-election-66-3 


    หมายเหตุ

    ข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. เป็นข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ

    ข้อมูลผู้สมัครและประวัติ สืบค้นจากการประกาศของพรรค การนำเสนอของสื่อและโซเชียลมีเดียของผู้สมัครแต่ละเขต

    การนับ ส.ส. ปี 2562 นับจากการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562

    ปีที่ลงสมัคร ส.ส. ไม่นับปี 2557 ที่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

    ดูฐานข้อมูลว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ปี 2566 แบบแบ่งเขต รายจังหวัด (อย่างไม่เป็นทางการ) พร้อมประวัติทางการเมืองว่า เป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม ย้ายมาจากพรรคไหน หรือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยลง ส.ส. มาก่อน ภายใต้ชื่อโครงการ DEMO Thailand ได้ที่ https://demothailand.rocketmedialab.co 

    Related

    และนี่คือเสียงของ We are the 99% ฟังเสียง 6 แรงงานที่อยากเห็นคุณภาพชีวิตที่ดี

    เรื่อง: วิชชากร นวลฝั้น ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว 1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานสากล (International Workers’...

    ค่าแรงมันร้าย กดขี่ขั้นโหด ถึงเวลา ‘สหภาพแรงงาน’

    เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ร้อนแรงไม่แพ้อากาศประเทศไทย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ในงานเวทีวาระเชียงใหม่ Chiangmai...

    กลุ่มศึกษาแรงงานฯลำปาง จัดงาน MAY DAY วอนรัฐตระหนักถึงแรงงานและสิทธิของพวกเรา

    วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00 น. กลุ่มศึกษาแรงงานและสวัสดิการลำปาง ประสานงานเพื่อจัดงานวันแรงงานสากล...