เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา สมาคมฅนยอง ร่วมกับ บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด, ร้านอาหาร คุ้มเวียงยอง, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จัดงานมหาสงกรานต์ล้านนา สืบสานผญาฅนยอง สระเกล้าดำหัว ประจำปี 2567 ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ณ ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่
ก่อนเริ่มงานทางสมาคมฅนยองเชิญชวนผู้มาในงาน ร่วมทำบุญทอดผ้าป่า ในเทศกาลสงกรานต์ เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกทั้งยังมีการเชิญชวน ร่วมทำบุญปล่อยปลาลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ และแม่น้ำปิง เพื่อรักษาระบบนิเวศ พิธีกรดำเนินงานในช่วงเช้านี้ นำโดย กันตินันท์ วงศ์เชษฐ์ และ คีรินทร์ หินคงและ
งานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงศ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน มหาสงกรานต์ล้านนา สืบสานผญาฅนยอง สระเกล้าดำหัว ประจำปี 2567 ซึ่งได้มีขบวนช่างฟ้อนนับ 100 คน ทำการแสดงฟ้อนต้อนรับประธานในพิธี
ก่อนเปิดงาน โรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลตำบลห้วยยาบ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน นำโดย นางสายตา ปาลี ผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงวัยตำบลห้วยยาบ ได้ทำการแสดงฟ้อนยองให้ประธานและผู้ร่วมงานได้ชม โดยการฟ้อนยอง เป็นศิลปะการฟ้อนรำที่ใช้ท่ารำและเครื่องแต่งกายที่ได้มาจากเมืองยอง ประเทศพม่า พระครุเวฬุวันพิทักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทตากผ้า ซึ่งท่านเป็นคนเชื้อสายยองได้นำกลุ่มคนจากบ้านนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ไปเยี่ยมเยือนกลุ่มคนยองประเทศพม่า ได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมไปแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เมื่อกลับมายังจังหวัดลำพูนก็ได้นำการฟ้อนยองเผยแพร่แก่กลุ่มชาวยองในจังหวัดลำพูน การฟ้อนยองจึงแพร่ขยายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันมีการประยุกต์ในรูปแบบใหม่ที่คิดค้นขึ้นในจังหวัดลำพูนอีกมากมาย เป็นการผสมผสานเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ดังนั้นเราจะเห็นการฟ้อนรำที่มีรูปแบบหลากหลายอยู่เป็นประจำในจังหวัดลำพูน
นายแสวง มาละแซม นายกสมาคมฅนยอง กล่าวต้อนรับประธานในพิธีและกล่าวประวัติความเป็นมาของสมาคมฅนยอง รวมถึงอธิบายวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่าเพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในเทศกาลสงกรานต์ โดยสมาคมฅนยองมีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งเพื่ออนุรักษ์ และส่งเสริมวัฒนธรรมภูมิปัญญาของคนยอง โดยจัดให้มีกิจกรรมทางสังคมร่วมกันกับส่วนราชการและองค์กรสถาบันอื่น ๆ สมาคมยังได้เห็นถึงความสำคัญของบทบามและการมีส่วนร่วมของสมาชิกที่หลากหลายช่วงวัย โดยเฉพาะที่เป็นเยาวชนคนยองที่จะรับช่วงกิจการของสมาคมต่อไปในวันข้างหน้า
นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงศ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเปิดงานและได้กล่าวชื่นชมทางสมาคมฅนยองในการจัดงานครั้งนี้ การจัดงานมหาสงกรานต์ล้านนา สืบสานผญาฅนยอง สระเกล้าดำหัว เป็นการรักษาวัฒนธรรมประเพณี และเป็นเสน่ห์ของชาวเชียงใหม่และชาวลำพูน เมื่อกล่าวเสร็จ รัตน์ ปาละพงศ์ ประธานที่ปรึกษาสมาคมฅนยอง ได้มอบของที่ระลึกแก่ประธานในพิธี และประธานในพิธีได้มอบของที่ระลึกให้แก่ผู้สนับสนุนการจัดงาน
“จะเห็นได้ว่าในจังหวัดเชียงใหม่ของเรามีพี่น้อง ไม่ว่าจะเป็นคนพื้นเมืองหรือชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งในเชียงใหม่มีถึง 17 ชนเผ่าชาติพันธุ์ ดังนั้นสิ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ของเราได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านศิลปะ ด้านหัตถกรรม และศิลปะพื้นบ้าน จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ทำให้เราได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO นั่นก็คือเรื่องความเป็นภูมิปัญญา ความเป็นวัฒนธรรมประเพณีของชาวล้านนาของเรา จะเห็นได้ว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ จะเข้ามาชมวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับบ้านเมืองเรา ในปีต่อ ๆ ไปก็จะขอสนับสนุนกิจกรรมเช่นนี้ตลอดไป” วิภาวัลย์ กล่าว
ต่อมาเป็นการแสดงทางวัฒนธรรมของวงดนตรีเยาวชนกลุ่มอนุรักษ์มรดกล้านนาผญาฅนยอง หรือ “วงผญายอง” จาก ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ นำทีมโดย นายทยุตภัทร อินต๊ะมูล อดีตครูบำนาญชำนาญการพิเศษ มาบรรเลงเพลงพื้นเมืองของชาวยองให้ผู้เข้าร่วมงานได้ฟัง ซึ่งวงผญายองเกิดขึ้นเมื่อครูทยุตภัทร เกษียณราชการเมื่อ 30 กันยายน 2563 พอเกษียณก็เจอสถานการณ์โควิด 19 ทำให้โรงเรียนปิดยาวตั้งแต่ปี 2564-2565 เลยมีความคิดว่าอยากให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ จึงได้ชวนเยาวชนในหมู่บ้านมาเรียนการเล่นดนตรีพื้นเมืองล้านนาในอดีตที่สืบกันมายาวนานชั่วลูกหลาน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ จากที่มีเยาวชน 2-3 คน ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนสามารถตั้งเป็นวงดนตรีได้ โดยมีอายุตั้งแต่ 8-10 ทั้งชายและหญิง เมื่อฝึกฝนจนเก่งแล้วสามารถนำออกแสดงตามงานต่าง ๆ ในชุมชนเช่น งานศพ งานประเพณี และกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนตลอดจนถึงงานต้อนรับนักท่องเที่ยว ตามแต่โอกาสอันควร
ถัดจากการแสดงของวงผญายองเป็นการแสดงทางศิลปะ “ลำนำเล่าขาน ตำนานฅนยอง” เป็นการเล่าเรื่องที่ผสมผสานการฟ้อนรำที่มีเครื่องดนตรีประกอบ ไฮไลท์ของการแสดงนี้คือการน้ำสีมาทางบนผ้าถุง หรือที่คนล้านนาเรียกว่า “ซิ่น” ขณะฟ้อนรำ การแสดงนี้สร้างสรรค์ขึ้นโดย แววดาว ศิริสุข นักออกแบบการแสดงและช่างฟ้อนล้านนาร่วมสมัย เป็นหนึ่งในอาจารย์ประจำที่คณะวิจิตรศิลป์ ภาควิชาศิลปะไทย สาขาศิลปะและการดนตรีการแสดง
ก่อนจบงานกิจกรรมในช่วงเช้ามีการแสดงร้องเพลงพิเศษจาก “น้องใบบุญ” หรือเจ้าของวลี “น้องใบบุญหละอ่อนหน้ามนคนยองป่าซาง” และปิดท้ายด้วยการยกย่องเยาวชนคนยองดีเด่นในหัวข้อ “อู๋จ๋า สื่อสารภาษายอง” หลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรได้กล่าวพักรับประทานอาหารและกล่าวขอบคุณผู้จัดการแสดงทางวัฒนธรรมทุกท่าน
ภายในงานช่วงกลางวันมีการตั้งซุ้มอาหารพื้นเมืองและการสาธิตภูมิปัญญาวิถีชีวิตพื้นบ้านของคนยอง อาทิเช่น ซุ้มเสื้อผ้าและการแต่งกายของคนยอง ซุ้มสาธิตทำขนมครกและข้าวแคบ ซุ้มสาธิตการสานใบมะพร้าวทำต้นเทียน ซุ้มสาธิตการถักกระดุมด้วยผ้าฝ้าย สาธิตการฟั่นเชือกจากต้นป๋อ ซุ้มอาหารพื้นเมืองและขนมจากผึ้งน้อยเบเกอรี่
ในช่วงบ่ายพิธีรดน้ำดำหัวพระสงฆ์ ที่ปรึกษาสมาคมฅนยอง ประกอบด้วย พระเทพวชิราธิบดี วัดป่าดาราภิรมย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และพระสุวรรณเมธี วัดพระธาตุศรีจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ หลังจากรดน้ำดำหัวเสร็จสิ้น พระเทพวชิราธิบดี และพระสุวรรณเมธี ได้เทศนาธรรมสั้น ๆ ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานได้ฟัง สุดท้ายเป็นพิธีรดน้ำดำหัวผู้อาวุโส สมาชิกสมาคมฅนยอง และถ่ายรูปเพื่อเป็นที่ระลึกร่วมกันก่อนปิดงาน
สำหรับช่องทางการติดตามข่าวสารและกิจกรรมดี ๆ จากสมาคมฅนยองสามารถติดตามผ่านทาง Facebook ได้ที่ Page : สมาคมฅนยอง Khon Yong Association
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...