Human Rights Agenda ภาคประชาสังคมเหนือ ตั้งคำถาม 7 พรรคตอบ ย้ำสิทธิมนุษยชนต้องไปกับเลือกตั้ง 66

29 เมษายน 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดเวที Human Rights Agenda “วาระนโยบาย ประชาสังคม สิทธิมนุษยชนและการเลือกตั้ง ปี 2566 : เพราะประเด็นสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ต้องถูกมองเห็น” ณ ลานประตูท่าแพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 17.00 – 21.00 น. โดยเวทีในครั้งนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองได้พูดถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนของพรรค พร้อมตอบคำถามจากภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือ



โดยมีตัวแทนจาก 7 พรรคการเมืองร่วมตอบคำถาม ได้แก่ พุธิตา ชัยอนันต์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 4 พรรคก้าวไกล , จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ , วัชรกรณ์ กันธิ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคประชาไทย , ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ หัวหน้าพรรคพลังสยาม พรรคพลังสยาม , วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้สมัครส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 3 พรรคไทยสร้างไทย , ลักษณารีย์ ดวงตาดำ โฆษกพรรคสามัญชน พรรคสามัญชน และจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ผู้สมัครส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 5 พรรคเพื่อไทย

คำถามที่ต้องการคำตอบ 7 ประชาสังคมตั้งคำถามสิทธิมนุษยชน

1.สิทธิเสรีภาพ การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐที่เกินขอบเขต

นพพล อาชามาส เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งคำถามต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ ถึงนโยบายการจัดการกับคดีความทางการเมืองที่ยังดำเนินอยู่ และจะจัดการกับอำนาจที่ถูกใช้โดยรัฐอย่างไร คำตอบที่ได้จากตัวแทนจากแต่ละพรรคการเมืองมีดังต่อไปนี้

พุธิตา ชัยอนันต์ บอกว่าทางพรรคก้าวไกลจะทำการเสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั้งหมดภายใน 100 วันหลังจากทำการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น ยกเว้นเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้การบัญชาของคณะรัฐประหารซึ่งจะมีคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเกณฑ์การนิรโทษกรรม ประกอบไปด้วยภาคประชาชน, นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชนด้วย

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ ตอบคำถามนี้พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีประมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่สิทธิหน้าที่ของประชาชนก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ และยังมีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

วัชรกรณ์ กันธิ เชื่อว่าการที่ตนเข้ามาต่อสู้บนเวทีการเมืองจะทำให้สามารถจัดการกฎหมายได้

ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ เสนอการแก้ปัญหานี้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง พูดถึงนโยบายของพรรคไทยสร้างไทยที่จะผลักดันให้เกิดบทลงโทษสูงสุดแก่การทำรัฐประหาร ทั้งนี้ถ้าพรรคไทยสร้างไทยได้เป็นรัฐบาล จะสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผ่านการบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่มีผู้เสียสละเลือดเนื้อและโอกาสมากมาย รวมถึงส่งเสริมเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนที่จะร่วมต่อสู้กับประชาชน

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ กล่าวว่าสิทธิการแสดงออกถือเป็นเรื่องเร่งด่วน พรรคสามัญชนเสนอยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 รวมไปถึงการเปิดพื้นที่หารือเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา113 และ 116 ด้วย โดยเชื่อว่าสิทธิแสดงออกเป็นจุดเริ่มต้นในการมองเห็นปัญหาทุกอย่าง



2.เชียงใหม่เมืองที่ทิ้งคนทำงานสร้างสรรค์แบบไม่เห็นหัว

ภราดล พรอำนวย ศิลปินเจ้าของร้าน North gate และ ChiangMai Trust co-founder ได้ตั้งคำถามถึงประเด็นการสนับสนุนรัฐมุ่งไปที่การท่องเที่ยว แต่ไม่สนับสนุนต้นทุนทางวัฒนธรรม และย้ำว่าช่วงโควิด-19 มีผู้คนหลายอาชีพต้องเผชิญความยากลำบาก

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ ได้เสนอการกระตุ้นธุรกิจ SME และการสนับสนุนเงินกองทุนหมู่บ้าน 2 ล้านบาทเพื่อส่งเสริมเศษรฐกิจฐานรากในชุมชน

วัชรกรณ์ กันธิ กล่าวว่าจะผลักดันศิลปะประเพณีท้องถิ่นว่าจะส่งเสริมประเด็นนี้อย่างจริงจังถ้าได้เป็นรัฐบาล

ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ ชี้ว่าการท่องเที่ยวรูปแบบดังกล่าวและการรักษาวัฒนธรรมประเพณี สามารถเป็นแหล่งรายได้ในมิติการท่องเที่ยวได้มาก

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ชี้ให้เห็นการเติบโตของ SME ขนาดกลางและเล็ก ที่ต้องชะลอตัวเพราะใบอนุญาต มีข้อเสนอคือปลดล็อคให้เจ้าของธุรกิจขนาดกลางและเล็กสามารถประกอบอาชีพได้สะดวกขึ้น รวมไปถึงการสร้างกองทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุน

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ เสนอในเรื่องของการทำลายเพดานทางศิลปะ โดยการยกเลิกพ.ร.บ.ความสะอาด และมาตรา 112 ให้กับศิลปินที่เรียกร้องเสรีภาพ ยกเลิกวัฒนธรรมรวมศูนย์ที่ถือเป็นการทำลายความหลากหลาย

พุธิตา ชัยอนันต์ กล่าวว่าพรรคก้าวไกลมีความคิดในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนชื่อจากกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกระทรวงวัฒนธรรม เป็นกระทรวงเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เพื่อมุ่งเป้าสนับสนุนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น



3.เมื่อรัฐไม่เคยเห็นหัวใจชนเผ่าพื้นเมือง

สุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ตั้งคำถามถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง ว่าที่ผ่านมามีการละเมิดสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองอยู่บ่อยครั้ง

วัชรกรณ์ กันธิ แสดงจุดยืนในการแก้ไขการเข้าถึงกฎหมายของชนเผ่าพื้นเมือง

ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ เผยว่าปัญหาในเชิงปฏิบัติของประเทศไทยในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นจุดที่ต้องแก้ไข โดยเสนอให้พรรคการเมืองและคนรุ่นใหม่ร่วมเสนอความเห็น

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ชี้ว่ารัฐต้องเร่งรัดกระบวนการมากขึ้น ทบทวนการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ ผลักดันให้ที่ดินส.ป.ก.กลายเป็นหลักในการส่งเสริมเศษรฐกิจ

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ กล่าวว่าพรรคสามัญชนเสนอนโยบายกำจัดความเหลื่อมล้ำด้วยการยกเลิกกฎหมายทวงคืนผืนป่าที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลคสช. การทำงานเชิงรุกในการให้สถานะบุคคลกับกลุ่มชาติพันธุ์และสามารถเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ และสนับสนุนการทำงานข้ามแดน

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เสนอการผลักดันกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน

พุธิตา ชัยอนันต์ เสนอนโยบายการปลดล็อคที่ดิน การให้สัญชาติและการเข้าถึงสวัสดิการ

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ บอกว่าพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนพ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งจะเป็นหลักประกันสิทธิแก่กลุ่มชาติพันธุ์



4.อากาศสะอาดไร้ฝุ่นพิษจากทุนใหญ่

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้ตั้งคำถามต่อพรรคการเมืองถึงนโยบายการแก้ปัญหา PM2.5 อย่างยั่งยืนอย่างไร

ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ กล่าวว่าการทำงานของรัฐกลายเป็นจุดขัดแย้งและครอบงำกับการทำงานและนโยบายของคนในพื้นที่ที่มีปัญหาที่มีระบบการจัดการไฟป่าอยู่แล้ว ต้องแก้ที่ความคิดของรัฐ

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ยืนยันจุดยืนสนับสนุนพ.ร.บ.อากาศสะอาด ต้องมีการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านในประเด็นฝุ่นควันข้ามพรมแดน

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ เสนอนโยบายการตรวจสอบกระบวนการดังกล่าวที่เป็นการบีบบังคับเกษตรกรจนหมดทางเลือก ต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยวตามความต้องการของตลาดจนเกิดการเผาเพื่อเพาะปลูก เสนอให้มีการคืนสิทธิให้คนพื้นเมืองได้อยู่กับป่าเพื่อร่วมกันดูแลจัดการไฟป่าด้วยตัวเองได้อย่างเต็มที่ และพื้นที่สาธารณะที่ปลอดฝุ่นที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ แสดงจุดยืนว่าพรรคเพื่อไทยจะอาสาเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาฝุ่นภายใน 4 ปี ต่อสู้กับกลุ่มนายทุนที่เป็นสาเหตุฝุ่นข้ามพรมแดน

พุธิตา ชัยอนันต์ เสนอว่าพรรคก้าวไกลมีข้อเสนอเรื่องงบ 3 ล้านบาทในแต่ละตำบลเพื่อจัดการป้องกันการเผา อีกทั้งยังต้องผลักดันพ.ร.บ.อากาศสะอาดเชิงรุก

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ เสนอให้มีการติดตามปัญหาและผลักดันพ.ร.บ.อากาศสะอาด

วัชรกรณ์ กันธิ แสดงจุดยืนดันพ.ร.บ.อากาศสะอาด



5.เพศ การศึกษา สมรสเท่าเทียม

ชัญญา รัตนธาดา นักสิทธิประชาธิปไตย และ LGBTQ+ กลุ่ม Young Pride Club ได้เสนอคำถามต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกให้พรรคการเมืองตอบคำถามว่าระหว่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมและพ.ร.บ.คู่ชีวิต , การแก้กฎหมายมาตรา 127 , พ.ร.บ.รับรองเพศ , การยกเลิกกฎหมายมาตรา 301 และ 305 , นโยบายคุ้มครองอาชีพประเวณี และนโยบายการสนับสนุนหลักสูตรเพศศึกษาและสิทธิมนุษยชนในทุกโรงเรียน

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง กล่าวว่าพรรคไทยสร้างไทยได้นำเสนอหลายนโยบายไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปพพ.1448 การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศรวมไปถึงการเข้าถึงสวัสดิการของบุคคลข้ามเพศ การสนับสนุนให้อาชีพค้าประเวณีถูกกฎหมาย คุ้มครองให้มีความปลอดภัยและมีสิทธิเท่าเทียมอาชีพอื่น ๆ และนโยบายเรียนฟรีจนถึงป.ตรี

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ บอกว่าพรรคสามัญชนผลักดันพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และการส่งเสริมให้มีการให้ความรู้ด้านเพศศึกษาตั้งแต่วัยดรุณเพื่อเตรียมพร้อมให้เยาวชนสามารถกำหนดเพศของตัวเองได้เมื่อพร้อมก็สำคัญ รวมถึงผลักดันการทำแท้งปลอดภัยด้วยการยกเลิกกฎหมายมาตรา 301 และ 305 และนโยบายการคุ้มครอง Sex workers ให้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม นโยบายเรียนฟรีจนถึงป.ตรีและสนับสนุนการศึกษา Home School

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กล่าวว่าแม้พรรคเพื่อไทยจะสนับสนุนให้มีการผลักดันพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

พุธิตา ชัยอนันต์ บอกว่าหากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะดันพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมทันทีภายใน 100 วัน เพื่อรับรองทุกอัตลักษณ์ทางเพศด้วยการเปลี่ยนคำนำหน้านามตามความสมัครใจและสอดคล้องกับเพศสภาพ จัดสวัสดิการให้ความรู้ทางเพศ ทำแท้งปลอดภัย และสนับสนุนให้ Sex worker ถูกกฎหมาย

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ กล่าวว่าทางพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนพ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และสมรสเท่าเทียม รวมไปถึงนโยบายสนับสนุนการศึกษาเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ สนับสนุน Soft Power ของ LGBTQ  และสวัสดิการการทำแท้งปลอดภัยเช่นเดียวกับผู้หญิง

วัชรกรณ์ กันธิ แสดงจุดยืนในการให้สิทธิความเป็นมนุษย์แก่สมาชิก LGBTQ+ สนับสนุนการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ เช่นฮอร์โมนเพศฟรีผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ เผยว่าการผลักดันพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมและการรับรองเพศเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะมีความเกี่ยวโยงกับหลักสิทธิมนุษยชน

ว่าด้วยแรงงานข้ามชาติ กฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มและที่นั่งในสภาของผู้หญิง

ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา ที่ปรึกษาจัดตั้งแรงงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ตั้งคำถามเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของแรงงานข้ามชาติ กฎหมายควบคุมการรวมกลุ่ม รวมไปถึงประเด็นบทบาทในสภาของผู้หญิง

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ เสนอนโยบายโอบรับแรงงานข้ามชาติพร้อมการคุ้มครองและสวัสดิการอย่างเท่าเทียม ผลักดันรัฐบาลให้รับอนุสัญญา ILO 87 และ 98 พร้อมทั้งเสนอให้มีการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อความปลอดภัยของแรงงาน

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ชี้ว่าสิทธิ์ในการเลือกตั้งของแรงงานขึ้นอยู่กับทะเบียนบ้านของแรงงาน ซึ่งถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกล่าวว่าการจัดสัดส่วนบัญชีรายชื่อนั้นก็ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่พรรคการเมืองต่าง ๆ รวมถึงพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ให้ความสนใจในการเรียงลำดับรายชื่ออย่างจริงจัง และจุลพันธ์ยังทิ้งท้ายสนับสนุนให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือให้แรงงานข้ามชาติ

พุธิตา ชัยอนันต์ กล่าวถึงการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เสนอนโยบายการเข้าถึงประกันสังคมมาตรา 33 ของแรงงานข้ามชาติ สิทธิลาคลอด 180 วัน และพุธิตาย้ำว่าต้องเริ่มต้นจากสัดส่วนในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองด้วย

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ เสนอที่จะขยายนโยบายประกันรายได้เกษตรกรไปสู่แรงงานในภาคส่วนอื่น ๆ นโยบายการตรวจสุขภาพฟรีซึ่งถือเป็นสวัสดิการพื้นฐานในนโยบายสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า รวมไปถึงการขยายสิทธิ์ของแรงงานนอกระบบตามกฎหมายมาตรา 40

วัชรกรณ์ กันธิ ดันการทดสอบฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตลาดแรงงาน

ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ สนับสนุนให้มีสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติ การดูแลบุตร การเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพ ที่อยู่อาศัยเป็นต้น

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ชี้ว่าแรงงานข้ามชาติต้องมีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานไทย โดยกระบวนการรับแรงงานข้ามชาติเข้าประเทศต้องมีความโปร่งใส ไม่เป็นเครื่องมีของธุรกิจสีเทา และพรรคไทยสร้างไทยยังแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.รวมกลุ่มและสนับสนุนอิสระในการทำงานของภาคประชาสังคม



7.ถึงเวลากระจายอำนาจ

ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์สำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยกปัญหาการกระจายอำนาจ เป็นคำถามต่อพรรคการเมืองถึงนโยบายการกระจายอำนาจคืนสู่ท้องถิ่น

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เสนอนโยบายการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ที่ท้องถิ่นสามารถตัดสินใจได้เองว่าตนมีความพร้อมพอจะเลือกผู้ว่าฯ ของจังหวัดหรือไม่

พุธิตา ชัยอนันต์ ชี้ว่าการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นคือการระเบิดพลังทางเศษรฐกิจ เป็นการแจกจ่ายงบประมาณไปใช้อย่างตรงจุดโดยคนที่รู้จักปัญหาในพื้นที่จริง พรรคก้าวไกลเสนอนโยบายยกเลิกคำสั่งรัฐบาลคสช.ภายใน 100 วัน.จัดทำประชามติการกระจายอำนาจภายใน 1 ปี และกระจายงบประมาณให้กับท้องถิ่นทั่วประเทศ 2 แสนล้านบาทต่อปีภายใน 4 ปี

จักรวาลธวัฒน์ วรรณาวงค์ ชี้ว่าการให้ท้องถิ่นตัดสินใจอนาคตของตัวเองคือหัวใจสำคัญของการกระจายอำนาจ

วัชรกรณ์ กันธิ ชี้ว่าการกระจายอำนาจเป็นการเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้รับรู้ถึงปัญหาและหาทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง

ทรงธรรม โรจนเครือวัลย์ ยกประเด็นการตรวจสอบความโปร่งใส่ของการกระจายอำนาจเพื่อที่การกระจายอำนาจจะสามารถกระจายสู่ท้องถิ่น

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง มองว่าควรรวบนายกอบจ.และผู้ว่าฯให้เป็นสิ่งเดียวกัน โดยมีประชาชนเป็นผู้เลือกและมีอำนาจสูงสุดในการปกครองท้องถิ่นพร้อมส่วนกลางที่ทำหน้าที่ผู้ประสานงาน

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ เชื่อว่าทุกจังหวัดพร้อมที่จะเลือกตั้งผู้ว่าฯของตัวเอง พรรคสามัญชนเสนอการปฏิรูประบบภาษีให้กลับคืนสู่พื้นที่

โดยสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/lanner2022/videos/1293391147921500

สามารถดาวน์โหลด Human Rights Agenda “วาระสิทธิมนุษยชน” ได้ที่ https://www.amnesty.or.th/files/1316/8109/5175/Human_Rights_Agenda_Booklet.pdf


พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa
Wanita Karawang Jackpot 800 Juta dari Mahjong Ways 2