พฤษภาคม 16, 2024

    ยก ‘ครูบาเจ้าศรีวิชัย’ เป็นบุคคลสำคัญล้านนา ดันวันเกิดหรือวันมรณภาพเป็น “วันศรีวิชัย”

    Share

    วันที่ 29 เมษายน 2567 วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ร่วมกับ มูลนิธิครูบาศรีวิชัย จัดกิจกรรมงานวันครูบาเจ้าศรีวิชัย เปิดถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ครบ ๘๙ ปี และมหกรรมชุมนุมรถโบราณล้านนา ณ มณฑลพิธีมูลนิธิสถาบันครูบาเจ้าศรีวิชัย, อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย และวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ระหว่างวันที่ 28-30 เมษายน 2567 ซึ่งกิจกรรมในวัน 29 เมษายน 2567 เป็นกิจกรรมเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “ครูบาเจ้าศรีวิชัยคนสำคัญของโลก” ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบไปด้วย 1.พระครูธีรสุตพจน์, ดร. เจ้าอาวาสวัดผาลาด 2.รศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3.ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  4.นายพงษ์เทพ มนัสตรง ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน และ5.นายสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ โดยเสวนาร่วมกันตั้งแต่เวลา 09.00 – 11.00 น.

    เริ่มต้นการเสวนา ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้ตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ที่ครูบาศรีวิชัยได้นำขบวนประชาชน พระสงฆ์ และข้าราชการทุกหมู่เหล่าไปสร้างถนนเพื่อขึ้นไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพ มีกระบวนการการขนย้ายในการก่อสร้างอย่างไร และก่อนหน้าที่มีการสร้างถนนทางขึ้นนั้น การสร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพจะต้องทำการขนวัสดุด้วยวิธีการใด เนื่องจากวัสดุที่ใช้สร้างวัดนั้นมีขนาดใหญ่ มีความอลังการในการสร้าง

    ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง

    วสันต์ ปัญญา ได้ตอบคำถามดังกล่าว โดยอธิบายว่า การขนวัสดุในเมื่อก่อนมีการใช้ลูกหาบนับร้อยคนเพื่อระดมแรง เนื่องจากต้องใช้คนเดินเท้าขึ้นไปก่อสร้างพร้อมกับต้องนำวัสดุขึ้นไปยังจุดสร้างวัด ซึ่งในระหว่างช่วงการก่อสร้างทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพนั้นได้มีพระที่ประจำอยู่ก่อนแล้ว นั่นก็คือ ‘ครูบาเถิ้ม’ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ และเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยเหลือครูบาศรีวิชัยในการสร้างถนนทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ

    รศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว

    ด้าน สมฤทธิ์ ลือชัย ได้เสนอความเห็นต่อตัวครูบาศรีวิชัย 3 ประเด็น ประเด็นแรกคือความคิดและอุดมการณ์ของครูบาศรีวิชัย ซึ่งเวลาทุกคนมองครูบาศรีวิชัยว่าเป็นนักบุญแห่งล้านนาและมองที่ผลงาน แต่ต้องมองว่าขณะนั้นเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในล้านนา ในสยาม และในอาเซียนขณะนั้น ไม่ได้มีครูบาศรีวิชัยคนเดียวที่ทำแบบนี้ ครูบาศรีวิชัยเป็นคนนักสู้ ถ้าหากครูบาฯ นับถือศีล 227 ข้อ และเชื่อฟังโอวาทของคณะสงฆ์โดยส่วนใหญ่ ครูบาศรีวิชัยจะไม่โด่งดังเช่นนี้ แต่เพราะครูบาฯเกิดมาไม่เหมือนใคร เกิดมาในช่วงที่สยามกำลังกลืนล้านนาแต่ยังกลืนไม่หมด และเมื่อครูบาฯ บวชครั้งแรกเมื่ออายุ 18 ปี ขณะนั้นประเทศข้างเคียงกำลังถูกอาณานิคมตะวันตกกลืนกิน แต่ในขณะเดียวกันล้านนาก็กำลังถูกอาณานิคมภายในกลืนกิน นั่นก็คือสยาม ฉะนั้นครูบาฯ ต้องทราบเรื่องเหล่านี้และครูบาฯ จะต้องมีวิธีคิดว่าต้องทำอย่างไร เมื่อสืบค้นดูแล้วพบว่าครูบาศรีวิชัยชอบอ่านหนังสือพุทธตำนสน “พระเจ้าเลียบโลก” ซึ่งพระเจ้าเลียบโลกเป็นตำนานเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้สถานที่สำคัญต่าง ๆ ในแผ่นดินล้านนา ต่อมาในปี พ.ศ.2463 ครูบาศรีวิชัยเริ่มเป็นครูบาฯ เลียบโลก เนื่องจากได้ศึกษาและมีอุดมการณ์ใหญ่ที่จะเดินรอยตามพระเจ่าเลียบโลก จึงกลายมาเป็น “ครูบาฯ เลียบโลก”

    นายสมฤทธิ์ ลือชัย

    “ผมไม่เชื่อว่าครูบาฯ เป็นคนสร้าง 200-300 วัด ที่เขาว่ากันนั้นไม่จริง ไม่มีทางครับ พูดง่าย ๆ คือถ้าวัดไหนบอกว่าครูบาฯ สร้างมันจะมีมูลค่าเพิ่มในแง่ของการตลาด แต่ครูบาฯ เดินและไม่เอาวัดไหนเป็นของตัวเอง ไม่เคยเครมว่าเป็นของข้า วันตายของครูบาฯ ครูบาฯ ได้ตายที่บ้านเกิด และไม่มีสมบัติติดตัวแม้แต่อย่างเดียว นี่คือความยิ่งใหญ่ของครูบาศรีวิชัย” สมฤทธิ์ กล่าว

    สมฤทธิ์ ได้อธิบายประเด็นที่สองต่อว่า ในช่วงที่ครูบาศรีวิชัยเสมือนเป็นครูบาฯ เลียบโลกนั้น ถูกกดดันทางการเมืองอย่างมาก เนื่องจากในขณะนั้นตรงกับเหตุการณ์ ร.ศ.112 หรือการรวมศูนย์อำนาจของสยามและได้รวมศาสนาเข้าไปด้วย รัชกาลที่ 5 ได้ครองทั้งทางโลกและทางธรรม ทำให้ครูบาศรีวิชัยโดนกระแสตีกลับและทำให้เกิดการต่อสู้ขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงพระที่ทำถนนอย่างเดียว แต่ครูบาฯ เป็นสิ่งที่สยามไม่พอใจ การที่ครูบาฯ สร้างถนนทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่เราต้องมาย้อนคิดว่าทำไมถึงใช้เงินจากผู้ศรัทธาแทนงานจากรัฐ

    “ครูบาฯ ถูกรัฐกระทำมาโดยตลอด แล้วสิ่งที่ครูบาฯ สร้างมันคือ Mega Project ครูบาฯ ไม่ใช้เงินหลวงแม้แต่สลึงเดียว แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี และอรหันต์ จะเห็นได้ว่าครูบาฯ ไม่ทิ้งอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนาแม้แต่อย่างเดียวในแง่นักบวช ถนนเส้นนี้มันจึงไม่ธรรมดา มันไม่ใช่แค่ถนนขึ้นดอยสุเทพ มันมีวาระที่ซ้อนเร้นของหลักปรัชญาพุทธศาสนาที่ผมคิดว่าคนปัจจุบันน่าจะลืมไปแล้ว นั่นก็คือ นิพพาน แต่ครูบาฯ ซ้อนไว้” สมฤทธิ์ กล่าว

    ประเด็นสุดท้ายเรื่องการเสนอให้ครูบาศรีวิชัยเป็นบุคคลสำคัญของโลก สมฤทธิ์ มองว่าบุคคลสำคัญของโลกเป็นเรื่องของ UNESCO แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นบุคคลสำคัญของล้านนา ซึ่งหลายคนบอกว่าทำแล้ว ยกย่องแล้ว แต่หากถามเยาวชนรุ่นใหม่กลับไม่มีใครรู้จักครูบาฯ โดย สมฤทธิ์ เสนอให้วันเกิดหรือวันมรณภาพของครูบาฯ กลายเป็น “วันศรีวิชัย” เฉลิมฉลองทำบุญ จัดให้เป็นงานยิ่งใหญ่ของล้านนา ไม่ต้องรอให้หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรจากส่วนกลางประกาศ แต่เราจะประกาศกันเอง

    สมฤทธิ์ ยังได้กล่าวถึงทุนที่ยิ่งใหญ่ของครูบาศรีวิชัย นั่นก็คือ ชาวบ้าน และพ่อค้าคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งไม่ใช่พวกเชื้อเจ้าราชวงศ์ ซึ่งในปี พ.ศ.2472 ที่ครูบาฯ กลับเข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ ปรากฏว่าไม่มีเจ้าคนไหนที่มาหาครูบาฯ มาเพียงครั้งเดียวคือวันแรกที่ขุดจอบสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ เนื่องจากมาเป็นประธานเปิดพิธีการก่อสร้าง และจากเหตุการณ์ที่โค้งขุนกัณฑ์ ที่ทำให้ครูบาฯ สาบส่งไว้ว่า “ถ้าแม่น้ำปิงไม่ไหลย้อนกลับ จะไม่เหยียบเชียงใหม่อีก” นี่คือสิ่งที่ประกาศว่าครูบาฯ กับเจ้านั้นตัดกันอย่างเด็ดขาด เพราะฉะนั้นการที่ครูบาฯ คิดจะสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ครูบาฯ ต้องมั่นใจในทุนของตัวเองอย่างมาก และนี่คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สยามไม่พอใจบทบาทของครูบาฯ เป็นอย่างมาก ครูบาฯ จึงถูกลงโทษและทำให้พระล้านนาต้องยอมอำนาจจากสยาม

    “ครูบาฯ แพ้การเมืองคราวนั้น แต่ครูบาฯ ชนะมาถึงทุกวันนี้ นี่คือความยิ่งใหญ่ของครูบาฯ ฉะนั้นครูบาฯ มีทุนและทุนของครูบาฯ นั้นยังไม่หมดจนถึงทุกวันนี้” สมฤทธิ์ กล่าว

    ด้าน พงษ์เทพ มนัสตรง อธิบายในส่วนการดำเนินงานของจังหวัดลำพูน ถึงการมีเสียงส่วนใหญ่ผลักดันให้ครูบาศรีวิชัยเป็นบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งพงษ์เทพได้อธิบายไว้ว่า ในสมัยที่ นายวรยุทธ เนาวรัตน์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ได้บรรจุเสนอชื่อครูบาศรีวิชัยเป็นบุคคลสำคัญของโลกไว้ในแผนพัฒนาจังหวัด เมื่ออยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดทำให้มีความเกี่ยวข้องกับ สว. ทำให้กลุ่ม สว. ในจังหวัดรวมตัวและผลักดันให้เกิดคณะกรรมการสำหรับแผนการใช้ครูบาฯ เป็นสิ่งที่พัฒนาจังหวัด แต่การที่จะเป็นบุคคลสำคัญของโลกต้องไม่ทำเพียงแค่ภายในประเทศไทยหรือในล้านนา ซึ่งทางที่ประชุม UNESCO ได้ถามกลับมาว่า “ถ้าครูบาฯ ดังในล้านนา ทำไมล้านนาไม่ประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญ ครูบาฯ ทำประโยชน์ให้ประเทศไทย ทำไมประเทศไทยถึงไม่ประกาศ ให้ UNESCO ประกาศทำไม” อีกทั้งโจทย์ของ UNESCO กล่าวแบบง่าย ๆ ในกรณีของครูบาศรีวิชัยก็คือ แนวทาง วิถีปฏิบัติ หรือผลงานต่าง ๆ ของครูบาฯ ต้องมีผลต่อการดำรงชีวิตหรือคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติ อย่างน้อยต้องในระดับภูมิภาคหรือในเอเชีย ทั้งหมดนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องตอบ UNESCO ให้ได้

    นายพงษ์เทพ มนัสตรง

    พงษ์เทพ เสนอว่าควรส่งครูบาศรีวิชัยให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกใน 2 สาขาด้วยกันคือ 1.ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และ2.ด้านวัฒนธรรม โดยในด้านสังคมศาสตร์จะดูครูบาศรีวิชัยในฐานะเป็นต้นแบบของพลเมืองโลก ซึ่งมีคุณสมบัติประกอบด้วย ความซื่อสัตย์ ความน่าเชื่อถือ การเป็นที่เคารพ เป็นผู้ที่เอื้ออาทรต่อมนุษยชาติ และลักษณะของการรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งหมดนี้ต้องสืบหาในหลักฐานของครูบาฯ เพื่อนำไปตอบ ในส่วนด้านวัฒนธรรมจะเก็บข้อมูลศึกษาและนำเสนอว่าครูบาฯ เป็นพระสงฆ์แบบอย่างในการรักษาศีลอย่างเคร่งครัด ใช้ศีล 5 ในการเป็นตัวอย่างของการดำเนินชีวิต วิถีปฏิบัติของครูบาฯ โดดเด่นของการเผยแพร่ศาสนาและรวมประชาชนให้รู้จักทำบุญทำทาน ทั้งหมดนี้เป็นกรอบแนวคิดที่คณะทำงานทั้งจังหวัดลพูนและเชียงใหม่ช่วยกันดำเนินการเสนอชื่อครูบาศรีวิชัยให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งจะต้องรวบรวมข้อมูลศึกษาและเสนอ UNESCO ภายในธันวาคมปี พ.ศ.2568

    ด้าน พระธีรสุตพจน์ กล่าวถึงครูบาศรีวิชัยว่าในอดีต หากมีผู้บริหารจากส่วนกลางเดินทางมายังเชียงใหม่ จะถูกเตือนว่าให้ระวังผู้ที่เป็นดั่งศูนย์รวมใจของผู้คน คนแรกคือทางบ้านเมือง ให้ระวังทางแม่เจ้าทิพเกสร และคนที่สองคือพระศรีวิชัย ซึ่งเป็นพระธรรมดาไม่มีตำแหน่ง แต่เวลาท่านทำงานมีคนติดตามหลักพันถึงหลักหมื่นคน แต่ครูบาศรีวิชัยไม่เคยพาผู้คนก้าวล่วงเข้าไปในมิติการเมือง สิ่งที่ครูบาฯ ทำคือการมั่นคงในกรทำบุญกุศล ในขณะที่สยามปราบกบฏผีบุญในภาคอีสาน แต่พอมาเจอครูบาฯ ที่ภาคเหนือสยามกลับทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะครูบาฯ มีแต่การยอม แต่เป็นการยอมภายใต้พระธรรมวินัยและศีลธรรมของพระพุทธเจ้า ในประเด็นของครูบาฯ จะเห็นได้ว่ายอมแต่ไม่หยุดทำดี

    พระครูธีรสุตพจน์

    พระธีรสุตพจน์ กล่าวเสริมถึงครูบาศรีวิชัยในเหตุการณ์ที่ต้องโทษในคดีอาญา เนื่องจากทำการบวชให้พระขาวปี๋ และถูกคนที่รับปากว่าจะช่วยเหลือหากถูกดำเนินคดีผิดคำพูด ครูบาฯ จึงอุทานไว้ว่า “เอ้อ เนี่ยเนาะคน” หลังจากนั้นคนที่ตามไปหาครูบาฯ ก็คือหลวงศรีประกาศ และอธิบายเหตุการณ์ครั้งนั้นต่อครูบาฯ ว่าที่ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ เนื่องจากมีอำนาจบางอย่างที่สูงกว่าทำให้เข้าไปช่วยไม่ได้ และถึงแม้ว่าครูบาฯ จะย้ายกลับมาอยู่ที่ลำพูนแล้วแต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลือครูบาได้โดยตรง ต้องผ่านนักหนังสือพิมพ์ต่างประเทศเพื่อช่วยเหลือกิจกรรมของครูบาฯ ในขณะนั้น สิ่งนี้เป็นการเมืองในอดีตที่ทำร้ายครูบาฯ แต่ครูบาฯ ไม่เคยโกรธแต่ที่ไม่กลับมาเชียงใหม่แล้วเพราะเป็นการป่าวประกาศให้ศัตรูได้ใจคลาย แต่สิ่งที่ พระธีรสุตพจน์ มั่นใจเหตุผลที่ครูบาฯ ไม่กลับเชียงใหม่ เนื่องจากครูบาฯ รู้ตัวเองว่าเหลือเวลาที่จะมีชีวิตอยู่อีกไม่นานแล้ว อีกทั้งรู้ว่าตัวเองจะทำอะไรบ้างให้กับลำพูน ประเด็นเหล่านี้ทำให้รู้ว่าเรื่องอาฆาต พยาบาท หรือจองเวรสำหรับครูบาฯ นั้นไม่มีเลย

    ก่อนปิดเวทีเสวนา พงษ์เทพ ได้ส่งท้ายถึงการยกย่องให้ครูบาศรีวิชัยเป็นบุคคลสำคัญของโลกไว้ว่า แม้ว่าจะเสนอชื่อไปแล้วหรือไม่ผ่านการพิจารณาก็ตาม แต่ในจุดนี้จะเป็นประเด็นที่ทำให้คนล้านนาได้รู้จักครูบาฯ มากขึ้น ลูกหลานได้รู้จักมากขึ้นว่าครูบาศรีวิชัยนั้นไม่ธรรมดา ด้วยความเคารพและความศรัทธาต่อครูบาศรีวิชัย การที่เสนอชื่อไปก็จะทำให้ดีที่สุด และสุดท้ายเชื่อว่าจะทำให้ลูกหลานชาวล้านนาและคนทั่วประเทศไทยรู้จักครูบาศรีวิชัยมากขึ้น อยู่ในจิตใจทุกคนมากขึ้น

    Related

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน:  บทสนทนาต่อ “ปฏิบัติการด้านศิลปะ” และ “ประวัติศาสตร์” ยวนย้ายถิ่น

    เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง มองศิลปะจัดวางและอ่านอย่างเข้าใจ “ไทยวนปิ๊กบ้าน: การสืบทอดและส่งต่อ” มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang...

    สำรวจความนิยมการใช้ ‘รถแดงเชียงใหม่’ ผ่านงานวิจัย

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ถือเป็นอีกเรื่องร้อนแรงในโซเชียลมีเดียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสข้อความตัดพ้อว่ารถตุ๊กตุ๊กและรถแดงในจังหวัดเชียงใหม่ที่ใกล้ถึงทางตัน เมื่อ 11 พฤษภาคม...

    ประณามศาล-รัฐ เพิกเฉย ก่อการล้านนาใหม่แถลงการจากไป ‘บุ้ง เนติพร’

    14 พฤษภาคม 2567 คณะก่อการล้านนาใหม่ - NEO LANNA ร่วมกับ กลุ่มนิติซ้าย...