เปิดตัววิจัย ‘ไฟป่า ฝุ่นควัน ชาติพันธุ์ ไร่หมุนเวียน’ หวังสังคมเข้าใจวิถีชีวิตและลดอคติต่อชาติพันธุ์

28 พฤษภาคม 2567 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ร่วมกับศูนย์สนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่า โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงาน ‘ไฟป่า ฝุ่นควัน ชาติพันธุ์ ไร่หมุนเวียน’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 4 เพื่อเปิดตัวงานศึกษาวิชาการด้านการบริการทางนิเวศและศักยภาพในการดูดซับฝุ่นละอองขนาดเล็กในระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนและพื้นที่ป่าชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง อีกทั้งมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับศักยภาพของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือในการจัดการทรัพยากร เช่น การสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการจัดการปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางอคติทางสังคมที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้ร่วมกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ภาคเหนือจำนวน 22 ชุมชน ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง และน่าน ที่มีรูปแบบการจัดการไฟป่าในพื้นที่การจัดการทรัพยากรของชุมชนด้วยศักยภาพของชุมชนเอง และผู้ดำเนินโครงการยังได้เดินหน้างานศึกษาทางวิชาการร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ในด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรของชุมชนกะเหรี่ยง การชะล้างพังทลายของดินและการไหลบ่าน้ำผิวดินในพื้นที่การเกษตรไร่หมุนเวียน และการระบายและการกักเก็บฝุ่นจากกระบวนการทำไร่หมุนเวียน

ด้าน มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) กล่าวว่า วิถีการเกษตรและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ถูกมองด้วยอคติเหมารวมว่าเป็นเหตุของวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง ฝุ่นควัน และไฟป่า คิดอะไรไม่ออกก็ชี้นิ้วโทษ ‘ชาวเขา’ จนความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำทวีบานปลาย ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็แก้ไม่ได้ ซ้ำร้ายยังทิ้งประชาชนคนชายขอบไว้เบื้องหลัง เป็นจำเลยในทุกฤดูกาลผ่านรุ่นสู่รุ่น คำถามคือการกล่าวหาจับแพะเช่นนั้นอยู่บนฐานวิชาการหรือเป็นเพียงอคติที่พาเราห่างไกลจากความเป็นจริงในการแก้ปัญหากันแน่ จึงขอเชิญทุกท่านร่วมฟังเสียงของประชาชนผู้ถูกกดทับ เบิกเนตรไปกับงานวิจัยชิ้นใหม่ที่จะพาทลายมายาคติทางสังคมต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่ทำ ‘ไร่หมุนเวียน’ หวังฝ่าฟันวิกฤตโลกรวนร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ พร้อมกับคืนความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถึงประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่อไป

ต่อมาในวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 มีเวทีเปิดตัวงานศึกษาวิชาการและมีการแถลงการณ์ศูนย์สนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่า และ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ใจความว่า ชุมชนชาวกะเหรี่ยงมีการทำทำไร่หมุนเวียนที่เป็นหัวใจหลักในการหล่อเลี้ยงชีวิตภายในชุมชนและชุมชนก็ช่วยกันปกป้องมาอย่างยาวนาน หลายชุมชนกำลังเผชิญเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะนโยบาย กฎหมาย กระแสมายาคติ อคติทางสิ่งแวดล้อมและสังคมวัฒนธรรม ที่ส่งผลให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตทั้งโดยสมัครใจ ทั้งโดยความจำเป็น หรือด้วยความจำยอม แต่ยังมีอีกหลายชุมชนที่ยังยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิตบนระบบไร่หมุนเวียน วันนี้พวกเราจึงได้ร่วมกันส่งเสียงอีกครั้ง เพื่อให้เพื่อนร่วมสังคมเข้าใจวิถีชีวิตบนความหลากหลายวัฒนธรรมที่ยังสัมพันธ์กับผืนป่า และแม้ว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศ มลพิษสิ่งแวดล้อมอย่างแสนสาหัส แต่ก็ไม่ควรมีเพียงคนบางกลุ่ม คนบางวัฒนธรรมที่ต้องถูกตราหน้า ติดป้ายให้ต้องกลายเป็นตัวการดั่งแพะรับบาปในเรื่องนี้อย่างไม่ธรรม อีกสิ่งที่สำคัญคือการผลักดันกฎหมายฉบับสำคัญที่ว่าด้วยสิทธิทางชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมืองที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าภายใต้กลไกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จะร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าทางสังคม 

“ณ ห้วงเวลานี้ ชุมชนกะเหรี่ยงหลายแห่งคงกำลังช่วยกันเดินหยอดปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวและสรรพอาหารลงบนผืนดินอันเป็นไร่หมุนเวียน ที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนในชุมชน ท่ามกลางสมดุลของดิน น้ำ ป่าที่พวกเราต่างพยายามปกป้องมาหลายชั่วอายุคน

และไม่ใช่ทุกชุมชน ทุกชาติพันธุ์ที่จะสามารถดำรงวิถีเช่นนี้ให้คงอยู่อย่างปกติได้ หลายชุมชนไร่หมุนเวียนเป็นประวัติศาสตร์ กลายเป็นเพียงอดีตอดีตชุมชนที่เคยทำไร่หมุนเวียนเท่านั้น หลายชุมชนกำลังเผชิญเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะนโยบาย กฎหมาย กระแสมายาคติ อคติทางสิ่งแวดล้อมและสังคมวัฒนธรรม ที่ส่งผลให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตทั้งโดยสมัครใจ ทั้งโดยความจำเป็น หรือด้วยความจำยอม

แต่ยังมีอีกหลายชุมชนที่ยังยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิตบนระบบไร่หมุนเวียน อันหมายถึงการปกป้องสมดุลนิเวศเพื่อผู้คนในสังคม ปกป้องจิตวิญญาณ จักรวาลทัศน์ ความเป็นชุมชน ปกป้องผืนป่าที่สืบสานจากบรรพชน ท่ามกลางสังคมทุนนิยมที่คอยแต่จะแปรเปลี่ยนดิน น้ำป่า อากาศให้เป็นทรัพย์สิน เป็นสินค้าเพื่อการครอบครอง ค้ากำไร

วันนี้ พวกเราจึงได้ร่วมกันส่งเสียงอีกครั้ง เพื่อให้เพื่อนร่วมสังคมเข้าใจวิถีชีวิตบนความหลากหลายวัฒนธรรมที่ยังสัมพันธ์กับผืนป่า ก็เพราะวิถีชีวิตที่ยังคงพึ่งพาป่าและดูแลป่าให้เหลือรอดเช่นนี้มิใช่หรือที่ทุกคนปรารถนาต้องการ หรือหลายคนต้องการเพียงผืนป่า สัตว์ป่าโดยปราศจากผู้คน ชุมชนดั้งเดิมอย่างพวกเรา

และแม้ว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศ มลพิษสิ่งแวดล้อมอย่างแสนสาหัส แต่ก็ไม่ควรมีเพียงคนบางกลุ่ม คนบางวัฒนธรรมที่ต้องถูกตราหน้า ติดป้ายให้ต้องกลายเป็นตัวการดั่งแพะรับบาปในเรื่องนี้อย่างไม่ธรรม ตอกย้ำอคติ มายาคติทางสังคม กดทับให้พวกเรากลายเป็นอื่นอยู่ทุกยุคสมัย

บนเส้นทางการต่อสู้เรียกร้องของพวกเรา เดินทางมาถึงอีกห้วงสำคัญในการผลักดันกฎหมายฉบับสำคัญที่ว่าด้วยสิทธิทางชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมืองที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าภายใต้กลไกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จะร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าทางสังคม

ร่วมกันขจัดอคติ มายาคติทางชาติพันธุ์ ปกป้อง ส่งเสริมวิถีวัฒนธรรมบนผืนป่า ผืนทะเล ในฐานะหนึ่งในวิถีการอนุรักษ์ที่หลากหลาย การอนุรักษ์ที่มีชีวิตของชุมชนบนวิถีไร่หมุนเวียนอย่างที่เรากำลังพยายามส่งเสียงในวันนี้

หากเราต้องการผืนป่า ผืนน้ำ ต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี การร่วมกันหยุดสร้างมายาคติ สร้างแพะรับบาปด้านผืนป่าและสิ่งแวดล้อม การร่วมกันปกป้องชุมชนคนกับป่าบนความเป็นธรรมทางสังคมวัฒนธรรมมากกว่าการมุ่งใช้อำนาจการปกครองแบบรวมศูนย์ จะเป็นก้าวสำคัญ เป็นดั่งทางรอด มากกว่าทางเลือกของสังคม”

ในกิจกรรมยังมีงานนิทรรศการติดผนัง ซึ่งติดตั้งให้ได้เข้าชมตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง