Lanner JOY : DEN Souvenir ร้านขาย Zine และของที่ระลึกซิ่ง ๆ กับการเป็นที่รู้จักในระดับโลก  

ในมหาสมุทรแห่งคอนเทนต์และโซเชียลมีเดีย ทำให้เราเกิดคำถามว่า สื่อสิ่งพิมพ์ตายแล้วจริงหรือ? คงใช่และไม่สำหรับใครบางคน แต่สำหรับ “จง – กิติวัฒน์ มัทนพันธ์” ผู้ก่อตั้งร้าน DEN กับการขาย Zine ในเชียงใหม่มาแล้วกว่า 6 ปี จึงทำให้เราคิดว่าสิ่งพิมพ์คงไม่มีวันตาย ตราบใดที่มีคนบ้าคลั่งทำมันอยู่ 

ซีน (Zine) คืออะไร?  — การเกิดขึ้นของ Zine ที่ย่อมาจากคำว่า Magazine เรียกง่าย ๆ คือ ‘หนังสือทำมือ’ เป็นเสมือนพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่มวัฒนธรรมย่อย (Subculture) โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้จัดทำได้อย่างเต็มที่ เราจะได้เห็นหรือสัมผัส Zine เยอะ ๆ ก็ต่อเมื่อมีอีเวนต์เปิดตลาดขาย และอย่างที่กล่าวไปตอนต้น เมื่อยุคสมัยออนไลน์เกิดขึ้น ก็ทำให้ความนิยมของ Zine ลดลงไปด้วย 

Lanner Joy อยากชวนทุกคนไปเยือนอาณาจักร ‘DEN Souvenirตั้งอยู่ย่านราชวิถี ตึกแถว 2 ชั้น ที่เต็มไปด้วยของเท่ ๆ สารพัดไม่ว่าจะเป็น Zine ที่ตีพิมพ์เองและของเพื่อน ๆ จนไปถึงของที่ระลึก เสื้อผ้า และเครื่องประดับ ภายในตึกยังมี เรดิโอสเตชั่นโดย Abandon Radio และ Television Gallery ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากความชอบส่วนตัวของ ‘จง – กิติวัฒน์ มัทนพันธ์’ จากร้านเล็ก ๆ จนออกไปเปิดตลาดหลายประเทศในเอเชีย 

ทำความรู้จัก ‘จง – กิติวัฒน์ มัทนพันธ์’ และความเป็นมาของ DEN

“ผมเป็นคนเชียงใหม่แต่ได้ไปเรียนออกแบบจิวเวลรี่ดีไซน์ที่สิงคโปร์ แล้วก็ได้มีโอกาสมาเปิดร้านอยู่กรุงเทพฯ ตอนนั้นยังไม่ใช่ DEN ของที่ขายก็จะเน้นเป็นเสื้อผ้า Streetwear มากกว่านี้ ตอนนั้นขายที่สยาม แล้วก็ย้ายไปเอกมัย ทำไปเรื่อย ๆ ก็มีโอกาสเปิดสาขาที่เชียงใหม่ อยู่ตรง Think Park เกือบ 10 ปีก่อนแล้วมั้ง  (พ.ศ. 2557) สมัย Think park ยังใหม่ๆ เป็นร้านเล็กมาก”

“แต่สำหรับ DEN ปีนี้เข้าปีที่ 6 แล้วครับ (พ.ศ. 2560-2567) จากนิมมาน ย้ายไปช้างม่อยหลังจากนั้นก็ย้ายมาที่ปัจจุบัน บริเวณถนนราชวิถี มาเปิดร้านแรกอยู่ตรงนิมมานซอย 3 ตรงข้ามทางลงจอดรถโรงแรม Art Mai ร้านก็เล็ก ๆ เลยฮะ เล็กแบบเท่าร้านตรง Think Parkเลยนะ 2 x 4 เมตร เริ่มมาก็ทำเสื้อผ้า ทำซีนขาย ปรินท์เอง ซัพพอร์ตงานเพื่อนมาขายบ้าง และของทั่วไปที่เราชอบ  แล้วก็ให้เพื่อน ๆ มา Pop-up เป็น Mini Exhibition เราตั้งใจให้เป็นธุรกิจ ตอนแรกก็คิดว่าจะไม่รอด แต่มันก็ยังได้ไปอยู่”

“ร้านผมขายราคา International ไม่ได้หมายความว่าขายราคาฟันหัวต่างชาตินะครับ มันมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งทางด้านต้นทุนการผลิต ต้นทุนการออกแบบ และต้นทุนการจัดการ มันจึงต้องทำให้ขายราคานั้นครับ และแบรนด์เรายังมีระบบขายส่ง (Wholesale) มีทุกอย่าง เสื้อยืด basic ของแบรนด์เราเริ่ม 1,590 บาท ของนำเข้าก็ประมาณ 1,890 บาท ส่วน Zine เล่มนึงก็ 350 บ้าง 590 บ้าง อย่างในยุคโควิด ถือว่าเป็นยุคค่อนข้างที่จะโอเคสำหรับ DEN เพราะร้านค้าต่างประเทศก็ให้ความสนใจกันเยอะ”

เล่าถึงกระบวนการผลิต Zine ในแบบของ DEN หน่อย

“เราเป็นพับลิชชิ่ง (Publishing) หรือสำนักพิมพ์ ที่เริ่มจากขายงานของเพื่อน ตอนแรกระบบไม่ได้แน่นมาก เราได้เงินบ้าง ไม่ได้เงินบ้าง มั่วซั่ว เพราะเรายังไม่ได้มีระบบจัดการที่ดี แต่หลัง ๆ พยายามจะพัฒนาระบบตรงนี้ โดยการให้เปอร์เซ็นต์กับศิลปินที่มาทำ Zine กับเราไปเลย แล้วทางเราจะเป็นคนจัดการดูแลเรื่องการจัดจำหน่ายและประชาสัมพันธ์เอง” 

“เริ่มจากเอา Artwork ของศิลปินที่มีอยู่มารวมเล่ม จัดเลย์เอาท์ แล้วก็สั่งโรงพิมพ์ ผมเคยลองพิมพ์จีนครั้งหนึ่ง โคตรเทพเลย ทํา 7 วันเสร็จ เล่มค่อนข้างหนา ส่วนมากสินค้าผมไม่ค่อยมีงานฝีมือ ไม่มีการกระจายรายได้ให้ท้องถิ่นอะไรเท่าไหร่ แต่เมื่อก่อนเคยพิมพ์กับ ‘สมพรการพิมพ์’ ร้านอยู่สันกําแพง หลัง ๆ มาก็ปริ้นท์ร้าน จรัส (JARAS Digital Print Chiangmai) ง่ายดีครับ  วิ่งได้ พิมพ์ไม่เยอะมาก ตอนสั่งที่จีนก็ดูในเว็บไซต์ Alibaba แต่ขั้นตอนเค้าเยอะ คือรัฐบาลเค้าโหด บางคอนเทนต์ก็พิมพ์ให้ไม่ได้อย่างภาพนู้ด การเมือง ก็พิมพ์ไม่ได้”


“เราสั่งพิมพ์แล้วเราก็ขายเอง ถ้าสมมุติเราจะพิมพ์จำนวน 20 เล่ม แต่ให้ส่วนแบ่งศิลปิน 20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดไปก่อนเลย เราขายเท่าไหร่ เราก็ให้ศิลปินไปเลย จะได้ไม่ต้องวุ่นวาย หลัง ๆ มาพยายามทําอย่างงี้ฮะ หรือจะพิมพ์ 50-100 เล่ม แล้วก็หักให้ศิลปินไปเลยโดยที่ไม่ต้องรอให้สินค้าขายได้”

นอกจากทำ Zine เองแล้ว เปิดรับคนนอกให้เสนอวางขายมั้ย รวมถึงงานนิทรรศการ มีระบบการคัดเลือกยังไง?

“เสนอมาให้ขายก็มีครับ แต่ก็จะเลือกตามความชอบของตัวผมเองเลย  ถ้าเกิดจะผลิตให้ ผมต้องเลือกหนักหน่อย เพราะเราพยายามทำให้ Direction ของร้านไปในทิศทางเดียวกัน งานนิทรรศการก็เช่นกันครับ ต้องดูอีกทีว่าจะรับหรือไม่รับ ก็ลองเอามาเสนอได้ สำหรับนิทรรศการตอนนี้เต็มทั้งปี น่าจะช่วงต้นปีหน้าถึงว่าง แต่ Zine เสนอได้เรื่อย ๆ แต่ขอย้ำว่าต้องดูอีกทีว่าจะรับมั้ย ” 

เล่าถึงงานแฟร์หรืองานเทศกาลแต่ละครั้งที่เอา Zine ไปขาย

“อย่าง Bangkok Art Book Fair ก็เคยเห็นผ่านมาบ้าง เราก็เลยก็ตัดสินใจสมัครไป ผมว่าบางทีการทำ Zine ถ้าเกิดไม่มีงาน ไม่มีอีเวนต์ เขาก็ไม่ทํา แต่ของผมต้องทําทั้งปีอ่ะ มันก็เลยดูมีคอนเทนต์เรื่อย ๆ ไม่ได้หายหน้าหายตา Publishing บางเจ้าเค้าอาจจะปีนึงทําครั้ง สองครั้ง แต่หลัง ๆ มาก็ไม่ได้เน้นหนังสือมากเหมือนแต่ก่อนแล้ว อย่างตอนนี้เดี๋ยวผมน่าจะออก Zine ใหม่อีกสักสองอาทิตย์กับศิลปิน Local ชื่อ Lookyee (@yeeeeyore) เค้าเป็นศิลปินเพ้นท์ติ้งและดีเจ ส่วน Zine ที่จะผลิตมาแล้วอาจจะไม่ขายตลอด จะขายเป็น Edition ไปแต่ซีนที่ขายดีก็คือ “Chiang Mai Punk Zine” จะมี Restock เรื่อย ๆ ราคาอยู่ที่ 590 บาท  Restock  มาประมาณ 400 เล่ม” 

ภาพจาก densouvenir.com 
ภาพจาก densouvenir.com 

“จากเมื่อก่อนทำเป็นแค่ 50 Edition อย่างที่เคยออกเล่มแรก ทำกับหมิง (@kanrapee.chok) ช่างภาพแนว Street photography เป็นเล่มแรกของร้านเลย (เท่าที่จำได้) ประมาณ 5-6 ปี แล้วก็ไปเปิดตัว ที่ Bankok Art Bookfair  ผลิตไป 50 เล่ม หมด จองก็หมดแล้ว รู้งี้ทําสัก 300 ดีกว่า ฮ่า ๆ”

แล้วเทศกาล Zine Fair ที่เชียงใหม่ล่ะ? 

“เคยทำแล้วครับ ชื่อว่า ‘Worse Zine Fair’ จัดที่ร้าน My BEER Friend ย่านช้างม่อย วันที่ 22-23 มกราคม 65  สนุกฮะ งานเท่ดี ผมว่าเท่เลย อยากทําอีก แต่เชียงใหม่คอนเทนต์แม่งโคตรน้อย ผมก็ต้องชวนเพื่อนกรุงเทพฯ มา แต่คนจัดไม่ได้เงิน คอมมูนิตี้ล้วน ๆ ตอนนั้นพี่เหมา (ธีรวุฒิ แก้วฟอง) เจ้าของ My BEER Friend ก็ให้ใช้ที่ฟรีแล้วให้เค้าขายเบียร์ งานก็จัดแบบกากๆ แบบ “เวิร์ส (Worse)” ที่แปลว่า “แย่” เป็นงานซีนแฟร์ที่แย่กว่าที่อื่นอะไรอย่างเงี้ยฮะ” 

ภาพจาก Facebook Worse Zine Fair

“แต่ต้นปีที่ผ่านมาเราได้จัดอีกครั้งกับ papars & peers ซึ่งเป็นงานแฟร์ที่ทำกับเพื่อน ๆ สำนักพิมพ์อื่น ชื่อ Arcpress กับ Tyezine ที่ The Corner Hosue กรุงเทพฯ ที่นั่นก็มี Newsstand ของ DEN อยู่”

นอกจาก Shop หน้าร้านแล้วยังมี Television Gallery บนชั้น 2 

“Television Gallery ก็คืออยู่ภายใต้ DEN ระบบก็คือมีการเซ็นต์สัญญาศิลปิน 3 คน แล้วก็พยายามผลัก 3 คนนั้น แต่ก็จะมีศิลปินที่เป็นเกสต์เข้ามาแสดงเรื่อย ๆ การเลือกศิลปินแต่ละครั้ง ก็เลือกจากความชอบส่วนตัว” 

ศิลปินและ Exhibition ในแบบ DEN 

“ศิลปินสองคนแรกคือ Ppow กับ Tulrexxx ครับ อย่างงานของศิลปิน Ppow จะเป็น Contemporary Art, Graffiti Writer รูปแบบ Painting แล้วเขาก็อยู่ในวงการเพลงฮาร์ดคอด้วย ก็ดีครับ สนุกดี ทำงานเฟรมใหญ่ ได้โชว์ศักยภาพของจริง”

ภาพจากเพจ Television Gallery 

เห็นว่าเคยมีการจัดอีเวนต์ดนตรีด้วย  

“ใช่ครับ อยู่ในส่วนของนิทรรศการ อย่างนิทรรศการของ Tulrexx  ก็มีวง Soft Pine จากกรุงเทพ ในส่วนของ Ppow ก็จะเป็นวง The Shredder วงฮาร์ดคอร์จากเชียงใหม่ที่ไปทัวร์กรุงเทพ, มาเลเซีย, เวียดนาม, สิงคโปร์มาแล้ว”

“วงดนตรีที่มาเล่นก็แล้วแต่ศิลปินครับ แต่ส่วนมากจะเป็นดีเจยืนพื้น ก็คือจะมี 2 รอบ รอบแรกเป็น Opening แล้วรอบสองก็จะคั่นกลางเป็นดนตรี ส่วนใหญ่นิทรรศการก็จะจัดประมาณ 2-3 เดือน”

ภาพจาก Facebook The Shredder 

“ศิลปินที่เคยทำ Collaboration ด้วยก็จะมี Pandasex  ศิลปินที่มีผลงานจัดแสดงในนิวยอร์ก โตเกียว ฟุกุโอกะ โซล ไทเป เม็กซิโกซิตี้ แวนคูเวอร์ เคยร่วมงานกับหลายแบรนด์อย่างเช่น RVCA, Tenbox, Supreme, และ Stussy”

“KIN LAO” exhibition by PANDASEX ภาพจาก Facebook Television Gallery 

ออกไปจัดบูธหรือนิทรรศการต่างประเทศที่ไหนมาแล้วบ้าง?

“ถ้าไม่ใช่งานแฟร์ก็มีเยอะ ของ DEN มีไปทั้ง เกาหลี มีญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ จาร์กาต้า บาหลี ถ้าญี่ปุ่นมีหลายเมือง อย่างโตเกียว นาโกยา ถ้าเกาหลีก็จะมีทั้งโซล ทั้งปูซาน ในเอเชียก็จะประมาณนี้ฮะ ส่วนนิทรรศการก็จะไปในพาร์ทคิวเรเตอร์ของ Television Gallery จะมีที่โซลสองนิทรรศการ ที่ไต้หวันหนึ่งนิทรรศการ ศิลปินที่คิวเรทไปก็ Ppow กับ Tulrexx เนี่ยแหละฮะ”  

“คนที่สะสมงานของศิลปินมีตั้งแต่ดารงดารา คิวเรเตอร์ เจ้าของแกลเลอรี่ก็มี บางคนก็รู้จักศิลปินอยู่แล้ว หรือรู้จักผ่านเราด้วย พอเสร็จแล้วก็มีพรีเซลล์เล็ก ๆ แต่ก็แบบไม่ได้จริงจังมาก ก็ส่งแคตตาล็อคให้เขาดู บางคนก็กลับมาซื้ออีก บางคนก็ไม่ซื้อ”

ภาพจาก Facebook Television Gallery 

นอกจาก Shop, Gallery แล้วยังมี Radio Station อยู่ด้วย?

“เมื่อก่อน DEN ทํา Radio เองคนเดียว ชื่อว่า DEN Radio อยู่ใน Soundcloud

แล้วก็หลัง ๆ มาก็ ได้ที่ตรง Maispace Gallery เก่า อยู่ชั้น 2 ของร้านบุญปั๋น แล้วก็แบบ ทําอะไรดีวะเลยนึกคำว่า “Abandon” เพราะว่าเค้าเพิ่งทิ้งสเปซ ตอนแรกก็คิดว่า Abandon Gallery ดีมั้ยวะ แต่แกลลอรี่ก็มีแล้ว ก็เลยมาเป็น Abandon Radio แต่ตอนนี้ไม่มีแล้วที่นั่น ปัจจุบัน Radio Station มีสองที่ ที่คือ DEN เชียงใหม่ กับที่ กรุงเทพฯ ตรง The Corner House ตลาดน้อย เจริญกรุง 35” 

ความท้าทายในการขายงานศิลปะหรือการทำสิ่งที่ชอบให้เป็นธุรกิจ

“ต้องมีระบบและการจัดการที่ดี มันค่อนข้างวุ่นวายเหมือนธุรกิจอื่น ๆ ทั่วไป ก็ต้องมีคนช่วย ก็ต้องค่อย ๆ พัฒนาครับ” 

อยากแนะนำอะไรให้กับคนที่อยากทำร้านหรือธุรกิจที่มีแนวทางชัด ๆ 

“ไม่รู้จะแนะนำอะไรเลยครับ ติดเน็ตบ้านแรง ๆ เสพงานเยอะ ๆ มั้งครับ ฮ่า ๆ

ผมว่าต้องมีเซนส์ก่อนรู้จุดยืนของตัวเองก่อน”

“ที่เชียงใหม่ลูกค้า Local แทบไม่มีครับ ไม่มีตังค์ นับเป็นเปอร์เซ็นต์ได้เลยว่าไม่เกิน 5% ค่าครองชีพแม่งไม่สัมพันธ์น่ะผมว่า  แต่หลัง ๆ มา เด็กเชียงใหม่ก็เริ่มเข้าบ้างฮะ แต่ก็ไม่ได้เยอะ Target เราเด็ก ไม่ได้ผู้ใหญ่ขนาดนั้น”

เคยคิดอยากไปเปิดสาขาต่างจังหวัดบ้างมั้ย ?

“ภูเก็ตฮะ   มีความคิดภูเก็ตมาสักพักนึงละครับ เพราะเป็นเมืองนักท่องเที่ยว แต่ก็แบบ แม่งไกลอะ แล้วก็เรามีนิวสแตนด์ที่เพชรบูรณ์ Pop-up ก็มีที่กรุงเทพ 2 ที่ครับ กรุงเทพอ่ะคือต่างจังหวัดสำหรับผม”

อะไรที่ทำให้ยังรันต่อถึงทุกวันนี้?

“ได้กำไรครับ ฮ่า ๆ แล้วเวลาทำได้ตามเป้าหมายแล้วเราก็รู้สึกมันส์ สะใจดี มันคือการทำธุรกิจทั่วไปแหละฮะ เหมือนเป็นบันได แล้วก็มี Goal เล็ก ๆ ถ้าเกิดเราทำได้เรื่อยๆ มันก็ฟูลฟิลเรา แล้วก็ยังมีเงินมาหล่อเลี้ยงด้วย  พยายามทําให้มันยั่งยืน น่าจะไปได้เรื่อย ๆ แหละผมว่า

“ล่าสุดมี POPEYE Magazine นิตยสารแฟชั่นประเทศญี่ปุ่นมาสัมภาษณ์

เป็นนิตยสารแฟชั่นที่โหดที่สุดตอนนี้นะฮะ เค้าบินจากญี่ปุ่นเพื่อมาสัมภาษณ์เลย แล้วก็ Ollie Magazine เป็นคอลัมน์ที่เค้าพูดถึง Underground scene ใน Asia ”

มุมมองต่อต่างจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ

“จริง ๆ มุมมองของผมสำหรับต่างจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองหลวงก็ทั่วไปครับ ถ้าไม่ใช้เมืองท่องเที่ยวก็เป็นเมืองเกษตรกรรม เมืองท่องเที่ยวมีวัฒนธรรมหลากหลายที่มากับนักท่องเที่ยวและก็จะมีงานที่หลากหลายมากขึ้น ส่วนเมืองเกษตรกรรมก็จะชิว ๆ แต่รายได้กับอาชีพก็จะไม่หลากหลายเท่าไหร่ครับ”

อยากให้เชียงใหม่เป็นยังไง ?

“อยากให้คนเชียงใหม่มีเงินเดือนเยอะขึ้น จะได้มาซื้อของ DEN ครับ” 

(ไอซ์) เกิดและโตที่เชียงใหม่ ก่อตั้งกลุ่ม SYNC SPACE ผลักดันพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะโดยชุมชนและคนรุ่นใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง