30 สิงหา วันผู้สูญหายสากล บ้านไม่ได้กลับ หายก็หาไม่เจอ

วันที่ 30 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันผู้สูญหายสากล การตั้งวันรำลึกนี้ได้แรงบันดาลใจจากองค์กรพัฒนาเอกชนในคอสตาริกาชื่อ Federation of Associations for Relatives of Detained-Disappeared (F.E.D.E.F.A.M.) องค์กรนี้ทำงานในประเด็นการบังคับสูญหายทั้งในลาตินอเมริกาและหมู่เกาะแคริเบียนซึ่งเกิดเหตุการบังคับให้สูญหายบ่อยครั้ง ซึ่งสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 30 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันผู้สูญหายสากลเมื่อปี พ.ศ. 2554

การบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “การอุ้มหาย” เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง ซึ่งหมายถึงการที่เจ้าหน้าที่รัฐ บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่กระทำ ได้รับคำสั่ง สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจในการจับกุม คุมขัง ลักพา หรือลิดรอนเสรีภาพของบุคคล โดยพยายามปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้น ๆ 

เหยื่อมักถูกทรมานด้วยวิธีการที่โหดร้ายป่าเถื่อน ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่มักไม่ได้รับการปล่อยตัวและถูกปกปิดชะตากรรม ทำให้สังคมหรือแม้แต่ครอบครัวของเหยื่อไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ หากว่าเหยื่อรอดชีวิตออกมากได้ รอยแผลทั้งบนร่างกายและจิตใจก็ยังคงติดตัวเหยื่อไปตลอดชีวิต

การบังคับให้สูญหายนั้นเกิดขึ้นในสังคมไทยมาโดยตลอดตั้งแต่กรณีสังหาร 4 รัฐมนตรีอีสานในปีพ.ศ. 2492 ที่ถูกควบคุมตัว คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายจำลอง ดาวเรือง, นายถวิล อุดล และนายเตียง ศิริขันธ์ที่ถูกบังคับให้สูญหายและถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในภายหลัง และกรณีหะยีสุหลง อับดุลกอร์เดที่ถูกอุ้มหายพร้อมผู้ติดตามในปี พ.ศ. 2497 กรณีการอุ้มหายและสังหารนักศึกษา ผู้นำแรงงานและชาวนาก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตรในปีพ.ศ .2547 กรณีอุ้มหายนักกิจกรรมไทยที่ลี้ภัยในต่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2559-2563

ในพื้นที่ภาคเหนือก็มีเหตุการณ์บังคับสูญหายด้วยเช่นกัน กรณีนี้เกิดขึ้นในช่วงลอบสังหารผู้นำกรรมการและชาวนาก่อนเข้าสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา มีผู้นำชาวนา 6 คนถูกอุ้มหายโดยไม่ทราบชะตากรรม คือ
1. นายวงศ์ มูลอ้าย อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519

2. นายมี สวนพลู อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518

3. นายตา แก้วประเสริฐ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518

4. นายตา อินต๊ะคำ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518

5. นายพุฒ บัววงศ์ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519

6. นายทรง กาวิโล อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519

การอุ้มหายเกิดขึ้นพร้อมกับการลอบสังหารผู้นำชาวนาในภาคเหนืออีกหลายคน ซึ่งความรุนแรงนี้เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เมื่อขบวนการนักศึกษาสามารถโค่นรัฐบาลระบอบถนอม-ประภาสลงได้ ทำให้เกิดช่วงระยะเปลี่ยนผ่านที่มีสิทธิและเสรีภาพในระดับหนึ่ง และชัยชนะของขบวนการนักศึกษาเองทำให้ขบวนการภาคประชาชนเฟื่องฟูอย่างมาก เกิดขบวนการสามประสาน คือ นักศึกษา-แรงงาน-ชาวนาที่มีพลังอย่างมากในการขับเคลื่อนสังคมและต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งขบวนการนี้ถูกมองว่าเป็นภัยกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม จึงเป็นที่มาของการอุ้มหายและสังหารผู้นำขบวนการดังกล่าว

นอกจากนี้ในช่วงปี พ.ศ.2546 ประเทศไทยได้ดำเนินตามนโยบายปราบปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 29 พ.ศ. 2546 ถือเป็นการประกาศสงครามยาเสพติดอย่างเป็นทางการ ผลของการปราบปรามขบวนการยาเสพติดนี้ที่ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และการบังคับสูญหายที่ยังคงเป็นปริศนามีเงื่อนงำก็ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เฉกเช่นกรณีของ ‘จะวะ จะโล’ ที่ถูกเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือจับ ในปี พ.ศ. 2546 ขณะเจ้าหน้าที่ตรวจค้นสวนลิ้นจี่ที่จังหวัดชายแดนทางภาคเหนือของประเทศไทยตามนโยบายปราบปราบปรามยาเสพติด ในวันที่จะวะถูกจับตัวไปมีชาวบ้านระบุว่าเห็นเหตุการณ์การจับตัวและการซ้อมทรมานจะวะและเจ้าหน้าที่ที่จับตัวเขาไปได้รายงานผู้บังคับบัญชาว่าไม่พบยาเสพติดที่จะวะ แต่ก็ตัดสินใจพาเขาไปควบคุมตัวที่ห้องขังในค่ายทหารพรานไม่กี่วันต่อมาลูกสาวของจะวะเดินทางไปที่ค่ายทหารพรานสองครั้งเพื่อตามหาพ่อ ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่บอกว่าได้ปล่อยตัวจะวะแล้วและไม่ทราบเรื่องที่จะวะหายไปเป็นครั้งที่สอง ครั้งที่สองเจ้าหน้าที่บอกว่าจะวะถูกพาไปที่เชียงใหม่ และจนถึงปัจจุบันนี้จะวะ จะโล ยังคงหายสาบสูญ​

ภาพ: ประชาไท

รวมไปถึงชนเผ่าชาติพันธุ์ลาหู่กว่า 20 คน ถูกบังคับสูญหาย จากฝีมือทหารพรานหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายใต้นโยบาย “สงครามยาเสพติด” ในปี พ.ศ.2546 ชาวลาหู่ที่อาศัยอยู่ตะเข็บชายแดนระหว่างประเทศเมียนมาร์กับจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ ต่างตกอยู่ในความหวาดกลัว เจ้าหน้าที่รัฐเชื่อว่า อำเภอตะเข็บชายแดนเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการลักลอบขนยาเสพติด จากรัฐว้า ในประเทศเมียนมาร์ และ “ชาวเขา” บางส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด​

ปัจจุบันยังมีกรณีการบังคับให้สูญหายทั้งสิ้น 92 กรณี มี 76 กรณีที่ยังไม่ทราบชะตากรรม แม้ว่ารัฐบาลไทยจะไปลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – CAT) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disapperance – ICPPED) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 แต่การบังคับให้สูญหายก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

กระนั้นประเทศไทยกำลังจะมีกฎหมายต่อต้านการอุ้มหายคือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ซึ่งจะบังคับในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2566 ซึ่งบัญญัติให้การกระทำทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นความผิดในทางอาญา และการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ไม่ให้อ้างสถานการณ์พิเศษใดๆ ไม่ว่าภาวะสงคราม ภาวะความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นใด อาจหวังได้ว่ากฎหมายนี้อาจเป็นก้าวแรกที่ช่วยขจัดความรุนแรงโดยรัฐในรูปแบบนี้ลงได้

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง