พฤษภาคม 2, 2024

    เสียชีวิตในไซต์ก่อสร้าง 3 ปี ไม่ได้รับเงินทดแทน  แรงงานข้ามชาติฟ้องประกันสังคมเชียงใหม่ คกก.กองทุนเงินทดแทน

    Share

    29 สิงหาคม 2566 เวลา 9.00 – 12.00 น. ที่ ห้องพิจารณาคดีหมายเลข 4 ศาลแรงงานภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ทนายความมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้เดินทางไปยังศาลแรงงานตามคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่  ร.50/2566 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2566 ซึ่ง มสพ.ได้เป็นทนายความให้แก่แรงงานข้ามชาติฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนสำนักงานประสังคม กระทรวงแรงงาน กรณีที่สามีของแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมาเสียชีวิตขณะทำงานก่อสร้างในโครงการหมู่บ้านจัดสรรจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในวันนี้เองศาลได้มีสืบพยานเสร็จสิ้น และนัดฟังคำตัดสินคดีในวันที่ 25 กันยายน 2566  

    “คดีนี้ประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่กับคณะกรรมการกองทุนฯ เขายอมรับว่าลูกจ้างแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตจากการทำงานจริง และยอมรับว่านายจ้างเป็นบริษัทนี้จริง แต่ว่าที่มันผิดเพี้ยน คือ การออกคำสั่งให้นายจ้างมาจ่ายเงินทดแทน ซึ่งเรามองว่ามันผิดวัตถุประสงค์ของการสร้างกองทุนนี้ขึ้นมา มันคือการออกกระดาษมาหนึ่งใบแล้วให้ลูกจ้างไปบังคับเอาเงินกับนายจ้าง เรามองว่ามันไม่เป็นธรรมกับลูกจ้าง” ปสุตา ชื้นขจร

    ปสุตา ชื้นขจร ทนายความมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) กล่าวว่า ในฐานะทนายความของคดีนี้การที่ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ จำเลยที่ 1  และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประสังคม กระทรวงแรงงาน จำเลยที่2 เพราะว่าคดีแรงงานลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว กรณีลูกจ้างแรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงกองทุนเงินทดแทนที่เป็นสิทธิของแรงงานที่นายจ้างต้องทำให้ลูกจ้าง และหน่วยงานรัฐมีหน้าที่กำกับดูแลในการใช้กฎหมายกองทุนเงินทดแทน ซึ่งหากเมื่อไปดูวัตถุประสงค์ของการตั้งกองทุนนั้นระบุไว้ชัดเจนว่ามีวัตถุประสงค์ในการที่จะคุ้มครองและเยียวยาฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพราะว่าเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ลูกจ้างประสบอันตรายและไม่ได้เงินทดแทนจากนายจ้างนั้น เป็นเรื่องยากที่ลูกจ้างจะเรียกร้องต่อนายจ้างด้วยตัวเอง รัฐจึงมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้เพื่อประสานระหว่างนายจ้างและลูกจ้างรวมทั้งดูแลแรงงาน ดังนั้น การฟ้องร้องโดยตรงเมื่อลูกจ้างเจอสถานการณ์ที่ไม่ได้รับเงินทดแทนจึงใช้เวลายาวนานมากในชั้นศาล ดังนั้น การคุ้มครองแรงงานมันควรให้ลูกจ้างเข้าถึงเงินทดแทนเลยเมื่อเกิดความเสียหาย เช่น คนที่ทำหน้าที่หลักในครอบครัวเสียชีวิต แปลว่าคนที่เหลือในครอบครัวจะได้รับความเดือดร้อน 

    ความรู้สึกของภรรยาผู้ตาย-แรงงานข้ามชาติ 

    “อยากให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิที่กฎหมายแรงงานไทยมีไว้ให้อย่างถูกต้อง บางคนที่เป็นคนใช้แรงงานไม่รู้ว่าสิทธิมีอะไรบ้าง อยากให้มีเจ้าหน้าที่บุคคลแนะนำ เราทำงานในเมืองไทยเราต้องได้รับการคุ้มครองอะไรบ้าง เพราะเวลาเราทำบัตรแรงงานข้ามชาติเราจ้างทุกอย่าง ตัวเราเองไปดำเนินการอะไรไม่ได้อยู่แล้ว แม้แต่นายหน้าเราก็ต้องจ้างเป็นรายปี ค่าเอกสาร ค่าอะไรต่างๆ เราต้องจ่ายทุกบาททุกสตางค์ เราก็ควรได้รับการคุ้มครองสิทธิในฐานะแรงงานที่มาทำงานในประเทศไทยด้วย”  แรงงานข้ามชาติ 

    ภรรยาแรงงานข้ามชาติผู้เสียชีวิต โจทก์ฟ้องคดีนี้ กล่าวว่า ตนเองรู้สึกเสียใจกับการตายของสามีในขณะทำงานก่อสร้างแต่กลับไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายที่ควรได้ ตนมองว่าคนงานตายทั้งคนนายจ้างให้เงินเพียงแค่ค่าสินน้ำใจ 30,000 บาท สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อครอบครัวแรงงานข้ามชาติอย่างมาก ซึ่งภรรยาเล่าว่าตอนที่สามีทำงานตำแหน่งคนงานก่อสร้างให้แก่บริษัทโครงการหมู่บ้านจัดสรรในจังหวัดเชียงใหม่ และประสบอุบัติเหตุจากการทำงานให้นายจ้างจนเสียชีวิต ตนเผชิญกับภาวะยากลำบากเพราะการที่ต้องสูญเสียสามีและต้องดูแลลูกชายโดยลำพังทำให้ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่หรือมีใครช่วยเหลือได้ ความรู้สึกไม่เป็นธรรมที่ไม่ได้รับค่าทดแทนตามสิทธิกฎหมายแรงงานทำให้ภรรยาผู้เสียชีวิตเดินทางไปยังมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เพื่อขอความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย โดยต่อมาทางมูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือติดตามขอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนกรณีแรงงานข้ามชาติผู้เสียหายนี้เสียชีวิตขณะปฏิบัติงานในโครงการหมู่บ้านจัดสรรจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้ระบุชัดเจนว่านายจ้างคือใคร และต้องชดเชยเท่าไหร่ให้แก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537  ซึ่งแม้จะมีคำสั่งจากหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ แต่นายจ้างซึ่งก็คือบริษัทโครงการหมู่บ้านจัดสรรจังหวัดเชียงใหม่ก็ให้การปฏิเสธโดยอ้างถึงสัญญาจ้างต่อแรงงานผู้เสียชีวิตว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ โดยทำกับผู้รับเหมา ดังนั้นบริษัทโครงการบ้านจัดสรรจึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างผู้เสียชีวิตและไม่จำเป็นต้องทำตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน

    #แรงงานข้ามชาติ #การเรียกร้องสิทธิ์ทางกฎหมาย #เสียชีวิตจากการทำงานก่อสร้าง #ช่องว่างของสัญญาจ้าง #ประกันสังคม #กองทุนเงินทดแทน

    Related

    กลุ่มศึกษาแรงงานฯลำปาง จัดงาน MAY DAY วอนรัฐตระหนักถึงแรงงานและสิทธิของพวกเรา

    วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00 น. กลุ่มศึกษาแรงงานและสวัสดิการลำปาง ประสานงานเพื่อจัดงานวันแรงงานสากล...

    We Watch ชวนลงชื่อคัดค้านระเบียบ กกต. ในการเลือก สว.  หยุดปิดปากประชาชน-สื่อ

    สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 วางกรอบที่เข้มงวดจนสร้างบรรยากาศของความกังวลและความหวาดกลัวให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นวุฒิสมาชิก...

    “ความรวยของเขา มาจากความจนของเรา” เครือข่ายแรงงานภาคเหนือเดินขบวน-จัดเวทีชูค่าแรงต้องเพียงพอเลี้ยงครอบครัว

    วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานแห่งชาติ หรือวันกรรมกรสากล (International Workers’ Day) คือวันที่จะให้ทุกคนได้ระลึกถึงหยาดเหยื่อของผู้ใช้แรงงาน...