กลายเป็นว่า “ป่า” รุกที่ทำกิน: ปัญหาที่ดินกับความย้อนแย้งของป่าสงวน

ช่วงเวลาหนึ่งในปี พ.ศ.2564 ผมเคยได้ไปใช้ชีวิตช่วงสั้นๆ อยู่ในพื้นที่หนึ่งในเขตตำบลพันชาลี อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก อันเป็นพื้นที่ที่ผู้คนต้องเผชิญกับปัญหา “ไร้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน” ของตน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ป่าสงวน การอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินจึงมิอาจทำได้ หลังจากการเดินทางสำรวจพื้นที่ และพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่และผู้นำการขับเคลื่อนประเด็นเรื่องที่ทำกิน ผมจึงคิดไม่ตกกับคำถามที่ว่า “ทำไมพื้นที่นี้จึงถูกประกาศได้ว่าเป็นป่าสงวน” ทั้งที่รูปแบบพื้นที่ในเชิงกายภาพและการดำเนินชีวิตของผู้คนไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่าป่าเลย



ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ.2566 ตัวผมพร้อมกับผู้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาไร้กรรมสิทธิ์ในที่ดินก็ได้ไปสนทนาในพอตแคสของช่อง Pud (พูด) ชื่อหัวข้อการสนทนาคือ ป่าสงวนของไทย (สงวนไว้ให้ใคร?) เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าสงวน จากการพูดคุยกันในครั้งนั้นก็เป็นการตอกย้ำกับผมว่าปัญหาไร้กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังไม่หายไปไหน อีกทั้งยังดูไม่ได้คืบหน้าไปมากกว่าเมื่อครั้งปี พ.ศ.2564 เลยด้วยซ้ำ ความคืบหน้ามากที่สุดเท่าที่ผมจะสัมผัสได้คงจะเป็นการที่พรรคก้าวไกลได้หยิบยกประเด็นปัญหาที่ดินทำกินขึ้นมาเป็นหนึ่งในนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเมื่อช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่ก็ปัญหานี้ก็ยังไม่ได้ถูกนำขึ้นมาพูดคุยกันอย่างจริงจังมากนัก โดยเฉพาะหลังการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ที่แลดูจะไม่นำเอาปัญหานี้ขึ้นมาพูดคุยกันอย่างจริงจังแต่อย่างใด เพราะอาจนำไปสู่การปะทะกับโครงสร้างอำนาจรัฐเดิมที่เปิดทางให้เกิดรัฐบาลข้ามขั้วนี้ขึ้นมา



ก่อนจะไปต่อ ผมอยากชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจปัญหาไร้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกันเสียก่อน การไร้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะกล่าวต่อไปในบทความนี้ คือ “การไร้กรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเนื่องมาจากการประกาศเขตป่าสงวน” ที่ประกาศให้พื้นที่ที่ตนอาศัยและ/หรือทำกินของตนเป็นพื้นที่เขตป่าสงวน ซึ่งเป็นการสร้างความทับซ้อนของพื้นที่ กล่าวคือเป็นการสร้างความเข้าใจต่อพื้นที่โดยรัฐที่ขัดแย้งกับความเข้าใจเดิมของคนในพื้นที่ รัฐมองหรือต้องการจะให้มองว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่า ทั้งที่ในมุมมองของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ มองว่าเป็นพื้นที่ทำกิน แต่ด้วยอำนาจของรัฐที่มีมากกว่า จึงประกาศให้มุมมองของตนเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย พื้นที่ทำกินตามความเข้าใจของชาวบ้านจึงกลายเป็นพื้นที่ป่าตามกฎหมายในท้ายที่สุด 

ป่าที่ถูกขีดทับคน

จากการสำรวจในรายการวิจัยเรื่อง “โครงการศึกษาและสำรวจข้อพิพาทและความขัดแย้งปัญหาที่ดินในประเทศไทย ระยะที่ 1 : ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง” ที่ทำการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2548 พบว่า มีครัวเรือนในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางกว่า 6 พันครัวเรือนที่ต้องเผชิญกับการประกาศเขตป่าสงวนทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นจำนวนครัวเรือนสูงสุดที่เผชิญกับข้อพิพาทและความขัดแย้งปัญหาที่ดิน การประกาศเขตป่าสงวนทับที่ดินทำกินจนเกิดเป็นการไร้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน 

สำหรับคำว่า “ป่าสงวน” ปรากฏขึ้นครั้งแรกในพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ.2481 อันเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองและสงวนป่าไว้เพื่อประโยชน์แก่รัฐและประชาชน อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นโดยคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิของประชาชนอยู่มาก ทั้งการบังคับให้ต้องมีการแจ้งประชาชนในพื้นที่ทราบล่วงหน้าตั้งแต่เริ่มต้นการสำรวจป่า พร้อมทั้งแบ่งแยกป่าคุ้มครองกับป่าสงวนออกจากกัน การจะเพิกถอนสิทธิในที่ดินก็ให้คำนึงถึงผลกระทบ และต้องมีการจ่ายเงินทดแทนในพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นป่าสงวน นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ยังสามารถหาของป่าและไม้ได้อยู่ เพียงแต่ห้ามการเข้าไปจับจองหรือทำการก่อสร้างใดๆ ในพื้นที่ เราจะเห็นว่าแม้จะมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกาศเขตป่าสงวนตั้งแต่ปี พ.ศ.2481 แต่กฎหมายดังกล่าวยังคำนึงถึงผลประโยชน์และสิทธิของประชาชนอยู่มาก

ผมคิดว่ากฎหมายที่เป็น “ต้นทางของปัญหา” จริงๆ แล้วคือ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งเป็นกฎหมายที่คลอดออกมาในช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของจอมพลถนอม กิตติขจร เผด็จการทหารเต็มรูปแบบ ซึ่งมีการเพิ่มคำว่า “แห่งชาติ” เข้ามาพ่วงท้ายป่าสงวน กลายเป็นกฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่ป่าฉบับแรก ที่ยึดกุมป่าให้กลายเป็นของรัฐแต่เพียงผู้เดียว โดยมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของทั้งรัฐและประชาชนเหมือนพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ.2481 ที่กล่าวไว้ข้างต้น 



ความแตกต่างระหว่างพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 กับพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ.2481 มิใช่เพียงการเพิ่มคำว่าแห่งชาติ แต่คือความแตกต่างของฐานทางความคิดในการตรากฎหมายขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ กล่าวคือพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ.2481 ตราขึ้นภายใต้ฐานทางความคิดที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน แต่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 กลับตราขึ้นภายใต้ฐานทางความคิดที่มุ่งจะควบคุมพื้นที่และประชาชน เราจะเห็นได้จากการกำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติไม่มีการระบุถึงการสำรวจพื้นที่แต่อย่างใด ให้มีแต่เพียงมติของคณะรัฐมนตรีที่จะเป็นหลักในการกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติ พร้อมกับมีการเพิ่มหมวดการ “ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติ” เข้าไปด้วย การหาประโยชน์หรืออยู่อาศัยถือเป็นการละเมิดการควบคุม พร้อมกับยังมีการเพิ่มโทษทางกฎหมายหากกระทำผิด เป็นการสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มุ่งที่จะ “ควบคุม” มากกว่าที่จะสงวนสิทธิเหนือพื้นที่บางประการ กล่าวคือเป็นการขีดเส้นหวงข้ามสิทธิใดๆ ของประชาชนบนพื้นที่หนึ่ง ไม่ใช่เพียงการสงวนสิทธิของประชาชนเพียงบางประการ

หลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มีการระบุถึงการพิสูจน์สิทธิในที่ดินที่ถูกประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยกำหนดให้ภาระการพิสูจน์สิทธิในที่ดินตกอยู่กับผู้ที่ยังอาศัยและทำกินบนพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และยังจำเป็นต้องแจ้งขอพิสูจน์สิทธิแก่นายอำเภอภายใน 120 วันหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว หากพิสูจน์ได้ว่ามีสิทธิเหนือที่ดินพื้นดังกล่าวก็จะได้รับค่าทดแทน หากไม่ยื่นขอพิสูจน์ถือว่าสละสิทธิ์บนที่ดินผืนนั้นไป แต่กลับไม่มีการกำหนดให้นายอำเภอต้องส่งหนังสือต่อภายในกี่วัน เช่นนี้หากบุคคลผู้อาศัยและทำกินในที่ดินผืนที่ถูกประกาศให้เป็นป่าสงวนรับรู้ถึงข้อกำหนดดังกล่าวในวันที่ 116 หลังการประกาศ กว่าบุคคลผู้นั้นจะเขียนคำร้องและเดินทางมาส่งให้นายอำเภออาจต้องใช้เวลามากกว่า 2 วัน หากวันที่นำมาส่งเป็นวันศุกร์ บุคคลผู้นั้นก็ต้องรอไปอีก 2 วัน กว่าจะส่งคำร้องดังกล่าวในวันจันท์ถัดมา ซึ่งนับเป็นวันที่ 5 หลังการรับรู้ถึงข้อกำหนดหรือวันที่ 121 หลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 อันหมายถึงการเสียสิทธิในที่ดินไปแล้วโดยปริยาย หรือหากบุคคลผู้นั้นมาส่งคำร้องตั้งแต่วันที่ตนรับรู้ถึงข้อกำหนดดังกล่าว ก็ใช่ว่าจะรับประกันได้ว่านายอำเภอจะส่งคำร้องดังกล่าวตามกำหนด หมายความว่าภาระดังกล่าวตกอยู่เพียงกับประชาชนหรือผู้คนในพื้นที่แต่เพียงฝ่ายเดียว ฝ่ายรัฐและราชการไม่ได้มีความรับผิดชอบแต่อย่างใด 

สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 คือมีคนจำนวนหนึ่งหรืออาจจะเป็นจำนวนมาก ที่ที่ดินของตนถูกประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติและมิได้แจ้งคำร้อง จนทำให้พวกเขาเหล่านั้น “กลายเป็น” คนที่บุกรุกป่าสงวน

ปัญหาเมื่อป่ารุกที่คน

ในหลายพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นป่าสงวนสามารถสืบร่องรอยกลับไปได้ว่ามีการตั้งถิ่นฐานก่อนการประกาศให้พื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อย่างเช่น ตำบลพันชาลี จังหวัดพิษณุโลก หนึ่งในพื้นที่ซึ่งถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย ผู้คนในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า “อยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายา” มีผู้อ้างถึงวัดบ้านมุง ซึ่งเป็นวัดที่สร้างตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2370 เช่นนั้นเราก็อาจอนุมานได้ว่ามีผู้คนอยู่อาศัยในพื้นที่นี้อยู่ก่อนแล้ว ที่แน่นอนคือมีผู้คนอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ก่อนปี พ.ศ.2507 ที่สำคัญพื้นที่ตำบลพันชาลีถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนหลังปี พ.ศ.2509 โดยประกาศกระทรวงทรัพยากรณ์ธรรมชาติฯ  ซึ่งขัดแย้งกับความทรงจำและประวัติศาสตร์ของผู้คนที่อาศัยในพื้นที่นี้ การประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเช่นนี้คือการนำป่าไปทับที่คน หรือก็คือการขีดเส้นเขตแดนความเป็นป่าและประกาศว่าใครที่อยู่ในเขตแดนนี้คือคนรุกป่า ทั้งที่จริงคนอยู่มาก่อนป่าสงวน



ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนของปัญหาป่าทับที่คน คือกรณีตัวอย่างของคุณลุงท่านหนึ่ง คุณลุงพัน(นามสมมติ) เป็นคนที่อาศัยในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นป่าสงวน วันหนึ่งต้นไม้หน้าบ้านลุงพันโคน ลุงกับลูกชายจึงเอารถมาลากไม้ที่ล้มขว้างหน้าบ้านของคุณลุงออก กลับกลายเป็นว่าลุงพันถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้กล่าวหาว่าแผ้วถางต้นไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งที่ต้นไม้ต้นนั้นล้มลงมาและลุงเพียงขนย้ายออกจากบริเวณหน้าบ้านของตนเองเท่านั้น นี่เองเป็นหนึ่งตัวอย่างที่ฉายให้เห็นปัญหาของการไร้กรรมสิทธิ์ป่าทับที่คน



อีกหนึ่งตัวอย่างที่ขยายภาพปัญหาของป่าทับที่คน ขยับมาที่ภาพใหญ่ในส่วนของ “ป่าทับที่ทำกิน” พี่ลัก (นามสมมติ) ผู้ขับเคลื่อนประเด็นปัญหาปัญหาไร้กรรมสิทธิ์ในที่ทำกินเนื่องจากที่ดินถูกประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติในตำบลพันชาลี พี่ลักกล่าวว่า “ปัญหาที่ดินของเราเริ่มต้นตั้งแต่เราไม่สามารถนำที่ดินเปลี่ยนเป็นทุนใดๆ ได้” เหตุจากการไร้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเอง นำมาสู่การต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ ปัญหาหนี้สินจึงตามมาเป็นเงาตามตัว 

ต่อมาคือ “ความลำบากในการทำการเกษตรและปัญหามูลค่าของสินค้าเกษตรที่ลดลง” พี่ลักเล่าให้ฟังถึงความยากลำบากของการทำการเกษตรในที่ดินของตน “ไม่ใช่แค่การไม่มีกรรมสิทธิ์ แค่จะขุดน้ำบาดาลมาทำเกษตรยังทำได้ยากเลย” เนื่องจากเป็นพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ การขุดเจาะน้ำบาดาลจึงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย พี่ลักเล่าว่าต้อง “วิ่งเต้นกันอยู่นาน 1-2 ปี เพียงเพื่อแค่ขอขุดเจาะน้ำบาดาล” การปลูกพืชที่ต้องใช้น้ำเยอะจึงตัดออกไปได้เลย ทำให้ตัวเลือกของการทำการเกษตรจึงเหลืออยู่ไม่กี่ชนิดเท่านั้น การของบประมาณสนับสนุนจากทางส่วนราชการเพื่อปลูกโรงเรือนหรือลานตากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ก็ทำได้ยากเช่นกัน เนื่องจากการปลูกสร้างใดๆ ภายในเขตป่าสงวนถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย และการจะยกระดับสินค้าทางการเกษตรเพื่อส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศก็ทำได้ยากเช่นกัน พี่ลักเล่าว่า “การจะขอให้มีการรับรอง GMP และ GIP ของผลผลิตในพื้นที่ก็ทำได้ยาก” มาตราฐานที่พี่ลักกล่าวถึงคือมาตรฐานรับรองคุณภาพของสินค้าและการบรรจุ ซึ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้การเพิ่มมูลค่าทางการผลิตของเกษตรกรทำได้ยากจนอาจถึงขั้นทำไม่ได้เลย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ดินทำกินถูกประกาศเป็นป่าสงวนหรือ “ป่ารุกที่ทำกิน”

แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามของภาครัฐและราชการ ในการเยียวยาผลกระทบจากการประกาศป่าสงวนทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ตั้งแต่การประกาศให้พื้นที่ป่าสงวนเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่สามารถร้องขอให้ตนอาศัยและทำกินในพื้นที่นั้นได้ แต่การร้องขอก็มีระยะเวลาจำกัดไม่เกิน 30 ปี หรือการจัดตั้งโครงการ คณะกรรมการ และหน่วยงานต่างๆ เข้ามาแก้ปัญหาป่าทับที่คน เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง (พมพ.) โครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เป็นต้น แต่การแก้ปัญหาต่างๆ ก็ยังเหมือนการทำงานภายใต้เขาวงกตของปัญหาที่แลดูจะหาทางออกได้ยาก เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายมากมาย หลายครั้งยังมีการทำงานที่ซ้อนทับกัน การแก้ปัญหาการไร้กรรมสิทธิ์ในที่ทำกินหรือป่าทับที่คนก็ดูเหมือนจะพบแต่ทางตัน อาจมีการเยียวยาผู้คนที่เผชิญปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่

ในสมัยที่ผมและผู้อ่านหลายท่านยังเป็นเด็ก เราคงเคยได้ยินข่าวจำพวกที่ดินทำกินรุกที่ป่า แต่จากการฉายภาพปัญหาไร้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินเบื้องต้นที่ผมได้กล่าวไป ผมข้อเปลี่ยนหัวข้อข่าวเสียใหม่เป็น “ป่ารุกที่ทำกิน” จะเหมาะกับการพูดถึงปัญหานี้มากกว่า

เราต้องพยายามหาทางออกจากทางตัน

ผมคิดว่าความพยายามที่จะหาหนทางออกจากปัญหาป่ารุกที่ทำกิน คงเป็นการค้นหาที่ทั้งยากและหนักหน่วง ทั้งการพาสังคมออกจาก “วาทกรรมรุกป่า” วาทกรรมนี้เป็นสิ่งแรกที่ผมรับรู้ได้ทันทีหลังการสนทนาในรายการของช่อง Pud มีหลายความคิดเห็นที่กล่าวถึงการบุกรุกป่าหรือเบียดเบียนสัตว์ป่า (ผมขออนุมานก่อนว่าคนที่แสดงความคิดเห็นเหล่านี้คงไม่ได้ฟังการสนทนา) ก่อนอื่นผมคิดว่า เราต้องทำความเข้าใจคำว่า “ป่า” เสียใหม่ โดยป่าของเราในที่นี้ ไม่ใช่ป่าแบบในจินตภาพของหลายๆ คน ที่อุดมไปด้วยต้นไม้ มีสัตว์ป่ามากมายอยู่อาศัย แต่ป่าในบริบทนี้ คือป่าที่ถูกเขียนขึ้นผ่านกฎหมายและปฏิบัติการต่างๆ ของภาครัฐและราชการ ที่กระทำผ่านกฎหมายเพียงช่องทางเดียว แต่ไม่เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เนื่องป่าที่ถูกเขียนขึ้นนี้ “หมดสภาพ” ความเป็นป่าแบบในจินตภาพของเราไปนานแล้ว หมดก่อนที่คำว่าป่าสงวนแห่งชาติจะถูกเขียนขึ้นเสียอีก ฉะนั้นเราต้องยอมรับความเป็นจริงของสภาพพื้นที่ และคืนความเป็นในสิทธิเหนือที่ดินให้ผู้คนในพื้นที่ 

หนทางในการเปลี่ยนผ่านอาจยากพอๆ กับการพาสังคมออกจากวาทกรรมรุกป่า แต่ผมคิดว่าเป็นกระบวนการที่ต้องทำควบคู่กันไป เราอาจต้องเริ่มต้นตั้งแต่การตั้งคณะทำงานที่ทำงานจริงจังและทำงานอย่างบูรณาการทุกภาคส่วน เนื่องจากความทับซ้อนที่เกิดขึ้นจากการขีดเส้นป่าทับที่คนหรือป่ารุกที่ทำกิน จะนำมาสู่ปัญหาต่างๆ อีกมากมาย ทั้งปัญหาคุณภาพชีวิต วงจรหนี้สิน มูลค่าสินค้าเกษตรที่ไม่สูง และอื่นๆ ซึ่งครอบคลุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย เกินกว่าขอบเขตของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปแล้ว การทำงานจึงต้องเป็นในรูปของการบูรณาการเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กันในทุกปัญหา ไม่ให้เกิดการทำงานที่ทับซ้อน

การมีส่วนร่วมก็เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญในการทำงานอย่างบูรณาการ เนื่องจากต้นต่อหนึ่งของปัญหาคือ “การขาดการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น” เห็นได้จากการประกาศเขตป่าสงวนมิได้คำนึงถึงความเป็นจริงของสภาพพื้นที่และการทำงานร่วมกับผู้คนในพื้นที่ พึ่งพิงเพียงภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลักในการประกาศ การแก้ปัญหานี้จึงมิอาจตัดผู้คนในพื้นที่ ซึ่งนับว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางตรง 

การแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ “ต้อง” ดำเนินการ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ที่สร้างปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย การลดการควบคุมจะช่วยให้การทำงานอย่างบูรณาการของหน่วยงานทำได้ง่ายขึ้น รวมถึงสร้างความปลอดภัยในการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ประชาชนที่อาจไม่ไว้วางใจภาครัฐมานาน การกลับไปมองการสงวนที่คำนึงผลประโยชน์และสิทธิของผู้คนในพื้นที่ก็เป็นสิ่งที่อาจเป็นสารตั้งต้นที่น่าสนใจ มิใช่การสงวนเอาไว้ให้เป็นของชาติ ซึ่งชาติก็เป็นสิ่งที่ลอยอยู่ในอากาศ และดูเหมือนจะไม่บรรจุคำว่าประชาชนเอาไว้เลย กฎหมายฉบับนี้จึงควรแก้ไขอย่างแน่นอนหากเราจะหาทางออกจากปัญหาป่าทับที่คน/ป่ารุกที่ทำกิน

ข้อเสนอสุดท้ายอาจเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดและทำได้อย่างรวดเร็ว คือการกำหนดนโยบายโดยรัฐบาล ให้กลั่นกรองข้อกล่าวหาการบุกรุกป่าเสียใหม่ ซึ่งจะลดภาระของรัฐและเป็นสัญญาณความปรองดองระหว่างรัฐกับประชาชนในระดับเริ่มต้นได้ดี และการหาหนทางออกจากปัญหาป่าทับที่คน/ป่ารุกที่ทำกินทำได้ง่ายขึ้น

แม้จะดูเป็นหนทางที่ยากลำบาก แต่หากเราพิจารณาบนหลักของความเสมอภาคและความยุติธรรม การเดินทางไปบนเส้นทางที่ยากลำบากนี้ คงเป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลังภายใต้ความอยุธรรม หรือให้กล่าวเพื่อล้อไปกับบทความนี้ ผมควรกล่าวว่า “ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้ในป่า”


อ้างอิง

  • กฎกระทรวงฉบับที่ ๑๖๗ (พ.ศ.๒๕๐๙) ออกตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗. (13 ธันวาคม พ.ศ.2509). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 83 ตอน 19 หน้า 31-32
  • พูด. (27 มีนาคม 2566). ป่าสงวนไทย (สงวนไว้ให้ใคร?) | พูดมาก Podcast EP.51
  • พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗. (28 เมษายน พ.ศ.2507). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 81 ตอน 38 หน้า 263-281
  • ศยามล ไกยูรวงศ์ และคณะ. (2548). การศึกษาและสำรวจข้อพิพาทและความขัดแย้งปัญหาที่ดินในประเทศไทย ระยะที่ 1 (ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง): รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

เกิดและโตในภาคเหนือตอนล่าง เรียนตรีจิตวิทยา กำลังเรียนโทสังคมศาสตร์ สนใจอ่านสังคมจากการมองประเด็นเล็ก ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง