ร่วมมือ 3 ฝ่าย ศึกษาปลากระเบนแม่ลาว แก้วิกฤติระบบนิเวศแม่น้ำโขง

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับชุมชนชาวประมงริมฝั่งแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย 10 ชุมชน ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดประชุมวางแผนการศึกษาปลากระเบนแม่น้ำโขง ณ หอประชุมหมู่บ้านดอนที่ หมู่ที่ 3 ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 35 คน



จากการทำงานวิจัยชาวบ้านแม่น้ำโขงเรื่องการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงที่ส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลา ได้พบว่ามีพันธุ์ปลา 96 ชนิด ​ ปลากระเบนเป็น 1 ในปลาหายาก ที่เคยหายไปจากแม่น้ำโขงในหลายชุมชน แต่ยังคงมีการจับได้ของชาวประมงเพียงแห่งเดียวที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

การประชุมครั้งนี้เป็นการต่อยอดงานวิจัยชาวบ้านที่ได้ทำร่วมกันมากับชุมชน เพื่อวางแผนการทำงานวิจัยชาวบ้านเรื่องปลากระเบน ศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่น แหล่งที่อยู่ระบบนิเวศ สถานการณ์ของปลากระเบน และหาแนวทางการอนุรักษ์ปลากระเบนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนริมแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย โดยร่วมมือทางนักวิชาการ การศึกษา eNDA จากระบบนิเวศในแม่น้ำโขง ระบบนิเวศที่มีการจับได้ปลากระเบนของชุมชนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2547-2567) พบจุดที่ชาวบ้านจับปลากระเบนถึง 23 จุด ตลอดลำน้ำโขงจังหวัดเชียงรายระยะทาง 96 กิโลเมตร



นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้กล่าวถึงการศึกษาปลากระเบนในครั้งนี้ว่า “จากการศึกษาวิจัยชาวบ้านพบว่าระบบนิเวศแม่น้ำโขงได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว จากเขื่อนในแม่น้ำโขง ตอนนี้ทางชุมชนอยากจะศึกษาสถานการณ์ความหลากหลายของปลาในแม่น้ำโขงที่หายไปหลายชนิด โดยเฉพาะครั้งนี้ปลากระเบนถือว่าเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศแม่น้ำโขงเลยก็ว่าได้ การศึกษาครั้งนี้จะนำองค์ความรู้ท้องถิ่นและความรู้ทางวิทยาศาสตร์มายืนยันว่าสาเหตุการเปลี่ยนแปลงจากเขื่อนแม่น้ำโขงได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณของปลา โดยใช้ปลากระเบนเป็นตัวแทนกรณีศึกษา และต้องการสร้างความร่วมมือกับชุมชนในการดูแล ฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งที่อยู่อาศัยโดยองค์ความรู้ท้องถิ่นเพื่อให้ปลาสามารถกลับคืนมาได้ ในท่ามกลางที่แม่น้ำโขงมันเปลี่ยนแปลงไป”

ปลากระเบนลาว หรือ ปลากระเบนแม่น้ำโขง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Mekong stingray, Mekong freshwater stingray มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dasyatis laosensis เป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae)มีรูปร่างคล้ายปลากระเบนในวงศ์นี้ทั่วไป แต่ส่วนหัวจะออกเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม ตาโต หางมีริ้วหนังบาง ๆ โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 1 หรือ 2 ชิ้น ที่เมื่อหลุดหรือหักไปแล้วสามารถงอกใหม่ทดแทนได้ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลนวล กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว และมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือส้มปน ความกว้างของลำตัวประมาณ 40 เซนติเมตร พบใหญ่ที่สุด 80 เซนติเมตร ส่วนหางยาว 1.2 เมตร น้ำหนักมากที่สุดมากกว่า 10 กิโลกรัม หากินตามพื้นท้องน้ำ อาหารได้แก่ สัตว์หน้าดิน, ปลาขนาดเล็ก และสัตว์มีเปลือกต่าง ๆ จะว่ายขึ้นมาหากินบริเวณผิวน้ำบ้างเป็นบางครั้งพบเฉพาะแม่น้ำโขงตอนกลาง ในช่วงของประเทศกัมพูชา, ลาว, ไทย และอาจพบได้จนถึงจีนตอนล่างปลากระเบนแม่น้ำโขง ถูกจัดอยู่ในสภาพภาพ ใกล้สูญพันธุ์ IUCN Red List Status (Ref. 126983)Endangered (EN) ชาวบ้านแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงรายเรียกชื่อว่า “ปลาผาไม”



นายสมศักดิ์ นันทะรักษ์ ตัวแทนนักวิจัยชาวบ้าน บ้านดอนที่กล่าวถึงปลากระเบนว่า “ปลาฝาไมกิโลกรัมละ 400 บาท ​ ที่บ้านดอนที่ จับได้บริเวณดอนมะเต้า มันเป็น คก มีน้ำนิ่ง จับได้ช่วงน้ำลดใหม่ประมาณเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม ส่วนมากจะใส่เบ็ดระแวง คือคล้ายเบ็ดค่าว ใส่ไว้พื้นท้องน้ำสายเบ็ดห่างกันประมาณ 1 คืบ ไม่ใช้เหยื่อ ให้ขอเบ็ดอยู่บนพื้นท้องน้ำ มีบางคนก็ไหลมอง หรือใส่ไซลั่นได้ จุดที่ปลากระเบนอยู่ส่วนใหญ่เป็นพื้นน้ำจะเป็นดินโคลน ปลามันจะมาหากินใส้เดือนตามพื้นน้ำ แต่ก่อนจับได้กันตลอด มา 20 ปีมานี่เริ่มหาปลาได้ยาก เพราะน้ำมันขึ้นๆ ลงๆ หน้าแล้งไม่แล้ง หน้าน้ำหลากน้ำไม่เยอะ ระบบนิเวศน์มันเปลี่ยนทำให้หาปลายาก อยากศึกษาเรื่องปลากระเบน เพื่อจะหาแนวทางการอนุรักษ์ให้มันไม่สูญพันธุ์”

การศึกษาวิจัยชาวบ้านเรื่องปลากระเบนใช้กระบวนการศึกษาแบบงานวิจัยชาวบ้าน ที่ให้ชาวประมงมาเป็นนักวิจัยทำการศึกษาข้อมูลจากองค์ความรู้ท้องถิ่นของตัวเอง โดยมีทางทีมสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตเป็นผู้ช่วยนักวิจัย และในการศึกษาครั้งนี้ใช้กระบวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเสริมองค์ความรู้ท้องถิ่น ร่วมกับทาง รศ.ดร.มัสลิน โอสถานันต์กุล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.ฉัตรมงคล สุวรรณภูมิ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยใช้วิธีการศึกษาeDNA หรือการศึกษาสารพันธุกรรมจากสิ่งแวดล้อมของปลากระเบน โดยการเก็บตัวอย่างน้ำในระบบนิเวศที่อยู่อาศัยของปลากระเบนในระบบที่ทางชุมชนเคยพบปลากระเบนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาของชุมชน ในพื้นที่ทั้ง 23 จุด ว่ายังคงมีปลากระเบนอาศัยอยู่ในระบบนิเวศนั้นๆอยู่หรือไม่ ​ มีมากน้อยแค่ไหน โดยการเก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจหาสารพันธุกรรมปลากระเบน



ทางด้าน รศ.ดร.มัสลิน โอสถานันต์กุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงกระบวนการศึกษา eDNA ว่า “กระบวนการศึกษา eDNA มีขั้นตอนหลักๆ สามขั้นตอน คือ ขั้นที่หนึ่งเก็บตัวอย่างจากน้ำหรือดิน ขั้นที่สองสกัด eDNA ออกมาจากตัวอย่าง ขั้นตอนที่สามวิเคราะห์ eDNA ที่พบ ว่าเป็นของสิ่งมีชีวิตชนิดใด มีมากหรือมีน้อยแค่ไหน การศึกษาeDNA เป็นวิธีการที่มีความละเอียดสูง และไม่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตที่ทำการศึกษาหรือแหล่งที่อยู่อาศัย ลดข้อจำกัดวีการสำรวจแบบที่ต้องจับตัวสัตว์ การศึกษา eDNAจึงเหมาะกับการใช้ในงานอนุรักษ์เป็นอย่างมาก”

การศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่นร่วมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศถิ่นที่อยู่ปลากระเบนน้ำโขงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย เสริมศักยภาพการตั้งรับปรับตัวของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง การเรียกร้องแก้ไขปัญหาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงพันธุ์ปลาที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตชาวประมงในจังหวัดเชียงรายต่อไป








พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง