พฤษภาคม 21, 2024

    ยุติปลูกป่าทับพื้นที่จิตวิญญาณ ชาวบ้านขวัญคีรีลำปาง-จนท.ป่าไม้ ลงนามข้อตกลงร่วม

    Share

    20 มิ.ย. 2566 ณ ศาลาประชาคมหมู่บ้านขวัญคีรี ชาวปกาเกอะญอ บ้านขวัญคีรี หมู่ที่ 11 ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลป. 19 แม่โป่ง ยุติข้อพิพาทโครงการปลุกป่าทับพื้นที่ชุมชนบ้านขวัญคีรี ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน พ.ค.-ต้นเดือน มิ.ย. 2566 โดยลงนามร่วมกันระหว่าง ศรีทอง สมพงษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง, มะลิวัลย์ นุแฮ ส.อบต. และราษฎรบ้านขวัญคีรี และ สุมาลี เอนกคณา หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลป. 19 แม่โป่ง ระบุว่า ตามที่ราษฎรบ้านขวัญคีรีได้ดำเนินการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยกเลิกการปลูกป่าในหมู่บ้านขวัญคีรีนั้น เจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงได้มาทำข้อตกลง ดังนี้

    1.การดำเนินการปลูกป่าหรือกิจกรรมอื่นๆ ของหน่วยฟื้นฟูฯ นั้นไม่ได้มีการดำเนินการในเขตพื้นที่บ้านขวัญคีรี และไม่ได้มีผลกระทบต่อพื้นที่ทำกินและพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชนบ้านขวัญคีรีและภาครัฐ ยินดีรับฟ้งข้อห่วงใยจากชุมชนเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

    2.ร่วมสนับสนุนพัฒนาคุณภาพชีวิตและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในพื้นที่ชุมชน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เช่น ถนน ระบบประปา สะพาน เป็นต้น

    3.ส่วนโครงการอื่น เช่น คทช. (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) ทางชุมชนจะเป็นผู้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะมีการเข้าร่วมกับภาครัฐหรือไม่ อย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับมติของชุมชนต่อไป

    มะลิวัลย์ นุแฮ ชาวปกาเกอะญอบ้านขวัญคีรี ให้ข้อมูลว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นคำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง สั่งการมายัง อ.งาว และอำเภอก็สั่งการให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปเคลียร์กับชาวบ้านเรื่องโครงการปลูกป่า ให้ยืนยันกับชาวบ้านให้ได้ว่าไม่มีการมาปลูกป่าในพื้นที่บ้านขวัญคีรี หมู่ที่ 11 แล้ว จะต้องยกเลิกและไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้นในพื้นที่อีกต่อไป โดยจะมีการรายงานผลการจัดทำบันทึกข้อตกลงไปยังนายอำเภองาวและผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางต่อไป

    “รู้สึกสบายใจขึ้นระดับหนึ่งที่เขายังมายืนยันแล้วเซ็นร่วมกับชาวบ้าน แต่ยังไม่สบายใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องรอดูต่อไปว่าเขาได้ไปเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอจริงไหม ทางชุมชนก็ยังจะติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก” มะลิวัลย์กล่าว

    สำหรับข้อพิพาทเกี่ยวกับโครงการปลูกป่าดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อนที่ 30 พ.ค. 2566 ได้มีผู้รับเหมาจากหน่วยฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ที่ 3 (ลำปาง) เข้าไปแผ้วถางพื้นที่ในป่าชุมชนของบ้านขวัญคีรี และปลูกป่าในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นพื้นที่การจัดการทรัพยากรของชุมชน โดยไม่แจ้งให้ชุมชนทราบหรือทำประชาคมร่วมกับชุมชนแต่อย่างใด ชุมชนจึงประสานไปยังหน่วยฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ที่ 3 (ลำปาง) เพื่อให้ดำเนินการรื้อถอนหลักแนวเขตและกล้าไม้ออกจากพื้นที่ป่าชุมชนบ้านขวัญคีรี ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2566 ได้มีเจ้าหน้าที่หน่วยฟื้นฟูสภาพป่าสงวนฯ เข้าไปดำเนินการปลูกป่าทับพื้นที่ป่าชุมชนอีกครั้ง

    จนเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2566 หน่วยฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ที่ 3 (ลำปาง) ได้เข้ามาชี้แจงต่อชาวบ้านในพื้นที่ โดยอ้างว่าที่ผ่านมามีการทำประชาคมระดับตำบลซึ่งมีมติรับดำเนินการโครงการปลูกป่าดังกล่าวในพื้นที่ อย่างไรก็ตามชุมชนบ้านขวัญคีรียืนยันว่าได้ปฏิเสธการเข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าวมาโดยตลอด และไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำประชาคมระดับตำบลดังที่เจ้าหน้าที่ฯ กล่าวอ้างแต่อย่างใด ทำให้ชุมชนบ้านขวัญคีรีเรียกร้องให้เพิกถอนโครงการฯ ดังกล่าวออกจากพื้นที่ชุมชน ซึ่งทำให้เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2566 ได้มีการดำเนินการรื้อถอนหลักแนวเขตและกล้าไม้ออกจากพื้นที่บ้านขวัญคีรีนอกทั้งหมดแล้ว โดยเจ้าหน้าที่หน่วยฟื้นฟูสภาพป่าฯ รับรู้

    ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2566 ชาวบ้านขวัญคีรีได้เดินทางไปยังศาลากลาง จ.ลำปาง เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาข้อพิพาทในพื้นที่ ยืนยันปฏิเสธการดำเนินการโครงการปลูกป่าในพื้นที่ทำกินและป่าชุมชนทั้งหมด และขอให้มีหลักประกันว่าโครงการฯ ดังกล่าวได้ยุติลงแล้ว โดยให้สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) และหน่วยฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง ที่ 3 (ลำปาง) จัดทำหนังสือยุติการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวมายังชุมชนบ้านขวัญคีรี โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางและผู้แทนจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (ลำปาง) เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน

    Related

    60 กว่าปีที่รอคอย ขบวนความหวัง รถไฟสายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คุ้มไหมกับที่หวัง?

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน “เชียงรายจะมีรถไฟแล้ว” ประโยคขายฝันที่ฉันได้ยินตั้งแต่เด็กจนตอนนี้ใกล้จะเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ยังไม่เคยเห็นรถไฟที่ว่านั้นสักที ด้วยภูมิประเทศอันประกอบไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ที่ยากลำบากต่อการก่อสร้างและความคุ้มค่าต่อการลงทุน ทำให้เส้นทางรถไฟสายเหนือของไทยสิ้นสุดอยู่เพียงที่ชานชาลาเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน  จากทางรถไฟที่เฝ้ารอมาหลายสิบปี ผู้เฒ่าหลายคนล้มหายตายจากไปทั้งที่ยังไม่ได้เห็นแม้ร่องรอย คำบอกเล่าว่าทางรถไฟจะผ่านบ้านเราแล้ว ประโยคดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นจริง...

    ไกลศูนย์กลาง: กลับไปอ่าน “แก้วหยดเดียว” ของศรีดาวเรือง: การตั้งคำถามต่อการไม่มีสวัสดิการของแรงงานไทยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีวันสำคัญของสามัญชนคนธรรมดาที่น้อยนักจะปรากฏได้ในปฏิทิน นั่นคือวันแรงงานสากล หรือเมย์เดย์ (May Day) ผู้เขียนจึงนึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ได้ถ่ายทอดชีวิตและน้ำเสียงของแรงงานจากวรรณกรรม แม้ว่าวรรณกรรมชิ้นนี้จะเก่าไปสักหน่อย แต่ก็ยังคงนำพาให้ได้เห็นร่องรอยเคล้าลางบางอย่างที่แช่แข็งและไปไม่ถึงไหนจวบจนปัจจุบัน...

    “ฝันเราไม่เคยจนตรอก” เชียงใหม่ส่งพลังบอลเกงกิ สมัครเพื่อโหวต สว. เปลี่ยนอนาคตประเทศ

    19 พฤษภาคม 2567 เครือข่าย Senate67 จัดกิจกรรม สมัครเพื่อเปลี่ยน: จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ บริเวณประตูท่าแพ...