เชียงใหม่เมืองไม่มีอนาคต

เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน

เรียนจบแล้ว จะไปทำงานที่ไหน

อยากทำงานอยู่เชียงใหม่ แต่คงอยู่ไม่ได้…”

บทสนทนาของนักศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังขึ้นข้างหู ทำให้ฉันตั้งคำถามขึ้นมาว่าทำไมมหาวิทยาลัยที่ผลิตนักศึกษาบัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงงานปีละหลายหมื่นคน แต่ผู้จบการศึกษาจำนวนมากถึงเลือกที่จะไม่อยู่ทำงานในจังหวัดเชียงใหม่ แม้กระทั่งตัวฉันที่กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็อาจจะต้องจำใจแบกกระเป๋าเข้าเมืองกรุง เพื่อโอกาสด้านหน้าที่การงานในอนาคต 

แล้วเมื่อไหร่ความเจริญจะเลิกกระจุกอยู่แค่ที่กรุงเทพ ?

เชียงใหม่ ถือเป็นเมืองแห่งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาที่ได้รับความนิยมจากนักศึกษาทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ ปัจจุบันในเมืองเชียงใหม่มีมหาวิทยาลัยมากถึง 10 แห่ง ทำให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษาของภาคเหนือ และเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ โดยมหาวิทยาลัยทั้ง 10 แห่งนี้ ให้บริการการศึกษาขั้นสูงแก่นักศึกษากว่า 82,000 คน ครอบคลุมกว่า 480 สาขาวิชาใน 8 กลุ่มศาสตร์ (UNESCO, 2554) และผลิตบัณฑิตป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานทักษะสูงเฉลี่ยปีละ 2 หมื่นคน (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, 2563)

อย่างไรก็ตาม การมีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่จำนวนมาก ก็ไม่ได้แปลว่าจะเหนี่ยวรั้งแรงงานทักษะสูงไว้เป็นกำลังขับเคลื่อนเมืองนั้นได้เสมอไป เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จะทำให้บัณฑิตตัดสินใจว่าจะอยู่หรือย้ายออกจากเมืองที่จบการศึกษามา ในบทความชิ้นหนึ่งของ The Urbanis ระบุว่าในกรณีของเชียงใหม่ถือเป็นเมืองกำลังเผชิญภาวะสมองไหลออกสู่เมืองหลวง เพราะรูปแบบเศรษฐกิจและการจ้างงานสวนทางกับปริมาณและคุณสมบัติของบัณฑิตที่ผลิตได้ในแต่ละปี

เมืองไม่มีเงิน

เงินเดือนเชียงใหม่มัน 9,000 บาท จริง คือกูงงมากว่าอีจังหวัดนี้ทุกอย่างแพงชิบหาย น้ำมันก็แพงกว่ากรุงเทพฯ ด้วยเพราะมีเรื่องค่าขนส่ง อาหารก็แพง แพงไปหมดทุกอย่าง มึงเอาอะไรมาค่าครองชีพต่ำ นี่ยังดีนะคนในจังหวัดมีบ้านพ่อแม่อยู่แล้ว มันเลยอยู่รอดได้ในเงินเดือนเท่านี้อะ แต่มันควรมั้ย

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งโพสต์ข้อความตัดพ้อ ทำให้คนที่ทำงานในจังหวัดเชียงใหม่จำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นในทางเดียวกัน โดยปกติแล้วแต่ละสายงาน แต่ละอาชีพ ต่างมีอัตราเงินเดือนเริ่มต้นหรือช่วงเงินเดือนที่ไม่เท่ากัน ซึ่งมาตรฐานส่วนใหญ่ของเด็กจบใหม่เฉลี่ยประมาณ 15,000 บาท ไปถึงราว 40,000 บาท แต่เมื่อถูกมองว่าเป็นต่างจังหวัด เงินเดือนขั้นต่ำก็น้อยลงไปอีก แรงงานรุ่นใหม่จึงไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ ในเมืองที่ค่าแรงแทบจะเท่ากับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

เพจเฟซบุ๊ก iChiangmai ได้โพสต์ยกตัวอย่างรายได้ของแต่ละอาชีพในเชียงใหม่ อย่างอาชีพช่างภาพที่ต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ มีรายได้อยู่ที่เดือนละ 12,000-15,000 บาท อาชีพกราฟิกดีไซน์เนอร์ที่ต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ มีรายได้อยู่ที่เดือนละ 10,000-15,000 บาท อาชีพตัดต่อวิดีโอที่ต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ มีรายได้อยู่ที่เดือนละ 15,000-18,000 บาท อาชีพบาริสต้าที่ต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ มีรายได้อยู่ที่เดือนละ 9,000-15,000 บาท อาชีพพยาบาลมีรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 20,000-30,000 บาท ไม่รวมค่าล่วงเวลา และอาชีพนักดนตรี มีรายได้ขั้นต่ำ 250 บาทต่อชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการว่าจ้างงาน

นันท์ณิชา ศรีวุฒิ Communication Designer ประจำ Book Re:Public กล่าวว่านอกจากการเผชิญกับเงินเดือนขั้นต่ำแล้ว ขณะเดียวกันบริษัทบางแห่งในเชียงใหม่กำหนดคุณสมบัติและความสามารถคนทำงานให้สามารถทำเป็นทุกอย่าง และเกินกว่าหน้าที่ รายได้สวนทางกับความทุ่มเท แม้ค่าครองชีพไม่ต่างจากกรุงเทพฯ ถึงจะขอเงินเดือนอย่างเป็นธรรม นายทุนจะขอความสามารถทุกอย่างเท่าที่จะขอได้อยู่ดี จึงไม่แปลกที่หลายคนจะหันหน้าเข้าสู่เมืองหลวง หรือย้ายไปทำงานที่ต่างประเทศ ที่ให้เงินเดือนที่เป็นธรรมกว่า 

พอเราลองมาแกะทีละองค์ประกอบตั้งแต่ต้นเลยก็จะเห็นว่าคนเชียงใหม่เองเนี่ยค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่ค่อยมี เงินก็ไม่ค่อยมีอยู่แล้ว หรือการที่คนจบใหม่มาเองเริ่มทำงานที่สตาร์ทด้วยค่าแรงขั้นต่ำมาก แต่ค่าใช้จ่ายมันก็เหมือนกันทั่วประเทศ สิ่งที่มันเกิดขึ้นกับคนเชียงใหม่ที่เป็นฟรีแลนซ์แล้วยังผูกโยงกับคำว่าปราบเซียนเองด้วย เขาก็จะกดค่าแรงตัวเองโดยอัตโนมัติ เพื่อที่จะยอมให้มีงานตอนนี้ ดีกว่าปฏิเสธงานไปเพราะเล่นตัว บางคนเขายังมีฐานความคิดที่ว่า ถ้าไม่รับงานตอนนี้แล้วจะเอาไรกิน มันยิ่งทำให้เรื่องกลไกราคาของงานประเภทฟรีแลนซ์ในด้านการออกแบบ มันอยู่กันที่เรนจ์ราคาที่มันกดกันอยู่

เมืองไม่มีงาน

โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ไม่ได้เอื้ออำนวยให้คนรุ่นใหม่สามารถที่จะมีอนาคตที่ดีได้เลย ถ้าคุณไม่ได้โชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่มีทรัพย์สินเยอะ หรือว่าเป็นคนกรุงเทพฯ อยู่แล้ว

ผศ.ดร. ณพล หงสกุลวสุ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายกับบีบีซีไทยว่าที่จังหวัดเชียงใหม่ไม่มีอาชีพรองรับบัณฑิตที่จบแล้ว มีสาเหตุมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจของภาคเหนือหรือยุทธศาสตร์ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้ประโยชน์จากแรงงานที่ถูกผลิต ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ภาคเหนือ แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่ว่าแต่ละจังหวัดจะผลิตบัณฑิตป้อนตลาดแรงงานมากแค่ไหน ท้ายที่สุดแล้วทุกคนที่ต้องการโอกาสด้านการทำงานและความก้าวหน้าต่างต้องมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ทั้งหมด 

ข้อมูลจากสำนักงานแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ระบุว่า ในปี 2565 มีตำแหน่งงานที่ยังว่างในจังหวัดเชียงใหม่รวม 12,335 ตำแหน่ง โดยเป็นงานที่ต้องการแรงงานวุฒิป.ตรีขึ้นไปเพียง 2,282 ตำแหน่ง หรือ 18% ของงานทั้งหมด และน้อยกว่าจำนวนบัณฑิตจบใหม่ถึง 7 เท่า สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำสถานการณ์ที่ว่า บัณฑิตจบใหม่ไม่มีงานทำ นอกเสียจากจะอยู่ในสายงานกลุ่มวิชาชีพ เช่น ครู หมอ พยาบาล และตัดสินใจย้ายออกเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในเมืองอื่น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล จนเกิดเป็นภาวะสมองไหลในที่สุด

ญาณาธร เทียนชัยสิริ ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ไปทำงานอยู่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโอกาสในการทำงานที่กรุงเทพฯ ว่ามีความหลากหลายในสายงานมากกว่า ขณะที่เชียงใหม่เองกลับมีจำนวนงานในพื้นที่ไม่มากพอ และไม่ค่อยมีความหลากหลายเมื่อเทียบกับสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เปิดสอน

เริ่มจากการฝึกงาน คิดว่าตอนฝึกงานถ้าเลือกได้ อยากเลือกไปศึกษาองค์กรใหญ่ บริษัทใหญ่ ก่อน เพราะต้องการเรียนรู้ระบบการทำงาน การจัดการ กระบวนการทำงานต่าง เราคิดว่าองค์กรใหญ่ มันจะมีหน้าที่ของแต่ละคนที่เป็นหน้าที่หลัก แบ่งอย่างชัดเจนไปเลย และอีกอย่างมีสายงานให้เลือกค่อนข้างหลากหลายกว่าในเชียงใหม่ด้วย

ในปี 2562 กลุ่มผู้ประกอบการเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านไมซ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำรวจผลทางเศรษฐกิจจากดิจิทัลโนแมดในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีกลุ่มดิจิทัลโนแมดเดินทางเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในเชียงใหม่มากกว่า 30,000 คน ประกอบกับข้อมูลจากเว็บไซต์ By Digital Nomads จัดอันดับให้ ‘เชียงใหม่’ ติดอันดับ 3 ของโลก ในการจัดอันดับ The 16 Best Places For Digital Nomads To Live In 2023 หรือ 16 เมืองที่เหมาะสำหรับการทำงานยุคดิจิทัลแบบไร้ออฟฟิศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเชียงใหม่เป็นเมืองในฝันสำหรับบรรดา Digital Nomad ชาวต่างชาติหลาย ๆ คนที่ตั้งใจหาพื้นที่ทำงานตาม Co-Working Space หรือร้านกาแฟ แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนเชียงใหม่เองกลับต้องไปหางานทำที่อื่น

เมืองไม่มีอนาคต

เด็กจบใหม่ต้องมีความประสาทกินหรือต้องคิดหนักว่าสุดท้ายแล้วเราต้องเลือกอะไรกันแน่ คือมันไม่ได้เลือกในพื้นฐานที่ว่าเราอยากจะทำอะไร แต่เลือกในพื้นฐานที่ว่าเงื่อนไขการใช้ชีวิตมาก่อนเป็น Priority แรก มีเด็กจบใหม่หลายคนเหมือนกันที่ประสบปัญหากับการหาคำตอบให้กับตัวเองว่า คำว่าความมั่นคงในชีวิตหลังเรียนจบคืออะไร บางคนก็ใช้สูตรสำเร็จใน Mindset ของคำว่า ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ แล้วลืมตั้งคำถามกับรากของปัญหาโครงสร้างทางสังคมไปเลยว่า ความจริงแล้วรัฐไม่มีสวัสดิการว่ะ งานแม่งกระจุกอยู่ที่กรุงเทพว่ะ ลืมนึกไปว่านายทุนเองแม่งเอื้อระบบอาชีพต่าง ให้กลุ่มคนที่ แน่นอนว่ามันมีเรื่องของชนชั้นวรรณะอยู่แล้ว

วิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผ่านมานั้นถือเป็นการแก้ไขปัญหาเพียงแค่ชั่วคราวและส่วนใหญ่มักมองข้ามเรื่องการสร้างงาน ซึ่งถ้าไม่มีการงาน ก็ไม่มีรายได้มาจับจ่ายใช้สอย ฉะนั้น เราต้องทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง โดยคำนึงถึงการจ้างงานในพื้นที่ให้มากขึ้น

จนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลไทยยังไม่ ‘ตกผลึก’ ว่าการกระจายอำนาจคือคำตอบของทุกอย่าง แม้ว่าจะมีความพยายามจากทั้งภาคเอกชนและกลุ่มนักวิชาการ เพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่มาทำงานในพื้นที่และต่อยอดฐานเศรษฐกิจของเมืองให้มีความหลากหลาย มีแหล่งงานที่ดีรองรับกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่มากขึ้น แต่หากไร้การสนับสนุนจากภาครัฐ ความเจริญคงไม่กระจายไปอยู่ในพื้นที่อื่นนอกจากเมืองหลวง

แล้วเชียงใหม่จะพัฒนาต่อได้อย่างไร ถ้าคนรุ่นใหม่ย้ายออกไปหมดจนกลายเป็นสังคมที่เหลือแต่ผู้สูงอายุ ?

อ้างอิง

นักศึกษาวารสาร ผู้ชื่นชอบการเขียน การหาข้อมูลและการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม สนใจประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และศิลปะวัฒนธรรมในชุมชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง