พฤษภาคม 20, 2024

    ชาวปกาเกอะญอแม่ลาน้อย ค้านโครงการจัดที่ดิน คทช. ห่วงผลกระทบวิถีชาติพันธุ์

    Share

    12 ก.ค. 2566 ชาวปกาเกอะญอบ้านหนองม่วน ม.4 ต.แม่นาจาง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายอำเภอแม่ลาน้อย ณ ที่ว่าการอำเภอแม่ลาน้อย ซึ่งสุรศักดิ์ ริยะนา ปลัดอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมดำเภอแม่ลาน้อย เป็นตัวแทนรับเรื่องร้องเรียน และหัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ แม่ลาน้อย ณ หน่วยป้องกันฯ โดยมี สมเพชร วงค์ษา หัวหน้าชุดพนักงานตรวจป่าไม้แม่ลาน้อย มส.4 เป็นตัวแทน โดยเรียกร้องให้ยุติการดำเนินโครงการภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) หลังพบความพยายามของเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปดำเนินการชี้แจงโครงการดังกล่าวและสำรวจพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งพบว่ามีหลักเกณฑ์หลายประการของ คทช. ที่กระทบกับวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์

    ภาพ : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

    หนังสือร้องเรียนระบุว่า ชุมชนบ้านหนองม่วน เป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมาอย่างยาวนาน มีวิถีการทำกินแบบไร่หมุนเวียน ไร่ข้าวโพด นา ปลูกกาแฟ และการเก็บหาของป่า ภายหลังได้ถูกประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ทับซ้อนพื้นที่ทั้งชุมชน โดยกรมป่าไม้มีแนวนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พ.ย. 2561 ว่าด้วยแนวทางแก้ไขปัญหาป่าไม้ (ทุกประเภท) ซึ่งเป็นแนวนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) นั้น

    ที่ผ่านมา เมื่อเดือน ส.ค. 2565 ได้มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาในชุมชนเพื่อเร่งรัดการปลูกป่าในพื้นที่ทำทำกินของชาวบ้าน ซึ่งไม่ผ่านการประชาคมหรือการพูดคุยกับชุมชนมาก่อน รวมถึงเมื่อเดือน เม.ย. 2566 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้กลับเข้ามาอีกครั้งเพื่อตรวจสอบแผนที่ชุมชนและเร่งรัดดำเนินการตาม คทช. ซึ่งชุมชนเห็นว่าข้อมูลยังไม่ตรงกันระหว่างข้อมูลของหน่วยงานกับชาวบ้าน และชุมชนยืนยันไม่เข้าร่วมกับโครงการดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ามีผลกระทบหลายประการ อาทิ การอนุญาตตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ที่ดินแทนชุมชน ขัดกับหลักการรับรองสิทธิชุมชน, การกำหนดเงื่อนไขชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ซึ่งชุมชนบ้านหนองม่วนทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1,2 จะต้องเข้าสู่มาตรการการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัดจากหน่วยงานรัฐ และการฟื้นฟู ปลูกป่า กระทบกับวิถีทำกิน รวมถึงการกำหนดเงื่อนเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 ม.ย. 2541 ใช้ภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 และเงื่อนเวลาตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีการทำกินแบบไร่หมุนเวียนที่ต้องมีการพักฟื้นพื้นที่ จะไม่ปรากฏร่องรอยตามภาพถ่ายทางอากาศ อาจนำไปสู่การถูกยึดคืนพื้นที่ในอนาคต

    โดยชุมชนบ้านหนองม่วน มีข้อเรียกร้องมายังนายอำเภอแม่ลาน้อย ในฐานะประธาน คทช. อำเภอ และหัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ แม่ลาน้อย

    1. ให้ยุติการดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 รวมถึงโครงการปลูกป่า ในพื้นที่บ้านหนองม่วน ม. 4 ต.แม่นาจาง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

    2. การดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ต้องคำนึงถึงมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เป็นสำคัญ

    พัชรพร โชคนที คณะกรรมการหมู่บ้าน บ้านหนองม่วน กล่าวว่า อยากให้หน่อยงานที่รับเรื่องร้องเรียนดำเนินการยุติการเข้าร่วม คทช. ในพื้นที่ชุมชน อยากให้หน่วยงานใส่ใจผลกระทบที่ชาวบ้านต้องเจอ เพราะชุมชนได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากพื้นที่ชุมชนอยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่ 1 และ 2 นอกจากนั้นที่ผ่านมาชุมชนไม่ค่อยรับรู้ข่าวสาร ทำให้การตัดสินใจอาจจะผิดพลาดได้ในหลายพื้นที่ที่พี่น้องไม่รู้ถึงผลกระทบ แต่พอได้รับรู้เงื่อนไขของ คทช. ชุมชนก็กังวลใจถึงที่ดิน ที่อยู่อาศัย ผลกระทบถึงลูกหลานในอนาคต จึงยืนยันปฏิเสธ คทช.

    “พี่น้องที่อยู่ในหมู่บ้านหนองม่วน ในพื้นที่ป่าสงวนฯ จะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะเรื่องการทำไร่หมุนเวียน ที่มีรอบการหมุนเวียน 7 ปี การใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศตามเงื่อนไขของกรมป่าไม้จะทำให้เห็นว่าพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่พักฟื้นไว้จะกลายเป็นพื้นที่ป่าสีเขียว เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็จะเหมารวมเป็นป่า และชุมชนนี้ตั้งมาแล้ว 300 ปี เราอยู่มาก่อนประกาศเขตป่า เรามีวิถีชีวิตที่ใช้ประโยชน์จากป่าและดูแลป่าอยู่แล้ว เราไม่ควรต้องเข้าสู่นโยบายที่มาจำกัดสิทธิเราทีหลัง” พัชรพรกล่าว

    ด้าน สุรศักดิ์ ริยะนา ปลัดอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมดำเภอแม่ลาน้อย กล่าวกับชาวบ้านว่าเข้าใจถึงความกังวลของชาวบ้าน เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายชุมชนยืนยันปฏิเสธแนวทางของ คทช. แล้วเช่นกัน

    Related

    60 กว่าปีที่รอคอย ขบวนความหวัง รถไฟสายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คุ้มไหมกับที่หวัง?

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน “เชียงรายจะมีรถไฟแล้ว” ประโยคขายฝันที่ฉันได้ยินตั้งแต่เด็กจนตอนนี้ใกล้จะเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ยังไม่เคยเห็นรถไฟที่ว่านั้นสักที ด้วยภูมิประเทศอันประกอบไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ที่ยากลำบากต่อการก่อสร้างและความคุ้มค่าต่อการลงทุน ทำให้เส้นทางรถไฟสายเหนือของไทยสิ้นสุดอยู่เพียงที่ชานชาลาเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน  จากทางรถไฟที่เฝ้ารอมาหลายสิบปี ผู้เฒ่าหลายคนล้มหายตายจากไปทั้งที่ยังไม่ได้เห็นแม้ร่องรอย คำบอกเล่าว่าทางรถไฟจะผ่านบ้านเราแล้ว ประโยคดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นจริง...

    ไกลศูนย์กลาง: กลับไปอ่าน “แก้วหยดเดียว” ของศรีดาวเรือง: การตั้งคำถามต่อการไม่มีสวัสดิการของแรงงานไทยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีวันสำคัญของสามัญชนคนธรรมดาที่น้อยนักจะปรากฏได้ในปฏิทิน นั่นคือวันแรงงานสากล หรือเมย์เดย์ (May Day) ผู้เขียนจึงนึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ได้ถ่ายทอดชีวิตและน้ำเสียงของแรงงานจากวรรณกรรม แม้ว่าวรรณกรรมชิ้นนี้จะเก่าไปสักหน่อย แต่ก็ยังคงนำพาให้ได้เห็นร่องรอยเคล้าลางบางอย่างที่แช่แข็งและไปไม่ถึงไหนจวบจนปัจจุบัน...

    “ฝันเราไม่เคยจนตรอก” เชียงใหม่ส่งพลังบอลเกงกิ สมัครเพื่อโหวต สว. เปลี่ยนอนาคตประเทศ

    19 พฤษภาคม 2567 เครือข่าย Senate67 จัดกิจกรรม สมัครเพื่อเปลี่ยน: จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ บริเวณประตูท่าแพ...