ยถากรรมเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมลำพูน ขายขาดทุน-แบกรับค่าใช้จ่ายรายวัน

เรื่อง: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

ภาพ: วิชชากร นวลฝั้น

  • 24 เมษายน 2568 เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม อ.แม่ทา จ.ลำพูน เทน้ำนมทิ้ง หลังถูกบริษัทเอกชนยกเลิกสัญญารับซื้อนมดิบกะทันหัน สร้างความเดือดร้อนอย่างหนัก
  • เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมยังคงประสบภาวะต้นทุนสูง รายได้ไม่คุ้มทุน บางรายต้องขายวัวในราคาต่ำกว่าตลาด ลูกจ้างในฟาร์มเสี่ยงตกงาน 
  • สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด และ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ช่วยรับซื้อน้ำนมไปผลิตเป็นนมผง ในกิโลกรัมละ 18 บาท จากราคาเดิม 22 บาท แต่ยังไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ทั้งหมด

จากกรณีเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม อ.แม่ทา จ.ลำพูน เทน้ำนมดิบทิ้งบริเวณสหกรณ์การเกษตรแม่ทา จำกัด เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568​ เพื่อเรียกร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา หลังบริษัทเอกชนที่รับซื้อน้ำนมดิบจากสหกรณ์ ยุติการรับซื้อน้ำนมดิบตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมในแม่ทาต่างได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่สามารถระบายน้ำนมดิบจำนวน 7 ตันต่อวันได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 จังหวัดลำพูนจัดประชุมหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม เพื่อแก้ปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด โดยมีข้อสรุปสำคัญให้ สหกรณ์การเกษตรแม่ทา จำกัด รับซื้อน้ำนมดิบจากสมาชิกทั้ง 32 ราย และส่งต่อให้กับ สหกรณ์โคนมหนองโพ จังหวัดราชบุรี ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2568 เพื่อช่วยระบายผลผลิตและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในการนี้ ปศุสัตว์จังหวัดลำพูน ร่วมกับ สหกรณ์จังหวัดลำพูน ได้ประสานความร่วมมือและกำหนดแนวทางการระบายน้ำนมดิบเพิ่มเติม ดังนี้

1.นำไปแปรรูป เพื่อเคลียร์พื้นที่ถังเก็บน้ำนมของสหกรณ์การเกษตรแม่ทา

2.ฝากนมไว้กับศูนย์นมในภาคเหนือ เพื่อลดภาระการเก็บนมที่สหกรณ์แม่ทา และเพิ่มความสามารถในการรับซื้อนมจากสมาชิก

3.ส่งเสริมการใช้น้ำนมเลี้ยงลูกโค โดยให้เกษตรกรใช้น้ำนมดิบจากแม่โคแทนนมผง

4.ลดการให้อาหารข้นลงเหลือ 1 ใน 3 เพื่อควบคุมปริมาณการให้นมของแม่โค

5.ประสานงานกับโรงงานแปรรูป ผลิตนม UHT และนมผง เก็บสต๊อกไว้เพื่อรอการจำหน่าย

ขณะเดียวกัน สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำนมดิบเกินข้อตกลง (MOU) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด รวมถึงผู้บริหารจากกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ และสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ ณ ห้องประชุมพระพิรุณ ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์ พญาไท

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นตามข้อสั่งการของ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอิทธิ ศิริลัทยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อบริหารจัดการน้ำนมดิบส่วนเกินอย่างเป็นระบบ ลดความสูญเสีย และเสริมสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมนมไทย

ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานและมอบหมายหน้าที่ให้แต่ละหน่วยงาน ดังนี้

1.องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) รับผิดชอบบริหารจัดการรับซื้อน้ำนมดิบจากสหกรณ์ในราคา 18 บาทต่อกิโลกรัม โดยว่าจ้างสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็นผลิตนมผง

2.กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดทำแผนการส่งน้ำนมดิบเพื่อการแปรรูปเป็นนมผง

3.สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด รับจ้างดำเนินการผลิตนมผง โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2568

4.สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย เป็นผู้รับซื้อนมผงผ่านองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย

5.กรมปศุสัตว์ กำกับติดตามการซื้อขายนมผงให้เป็นไปตามข้อตกลงที่กำหนด

เสียงสะท้อนและยถากรรมที่เกษตรกรต้องเผชิญ

ดำรงศักดิ์ วงค์ฐาน เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม อ.แม่ทา จ.ลำพูน เผยว่า สถานการณ์ตอนนี้เริ่มคลี่คลายลงแล้ว โดยได้ประสานไปยังสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด เพื่อส่งนํ้านมดิบประมาณวันละ 11 ตัน โดยมีเงื่อนไขตามที่สหกรณ์กำหนด ในส่วนของ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ได้ช่วยรับซื้อนมไปผลิตเป็นนมผง กิโลกรัมละ 18 บาท

“ตอนนี้เราเริ่มมีช่องทางระบายนมจากการช่วยเหลือในหลายภาคส่วน แต่ราคารับซื้อเป็นราคาที่ตํ่ากว่าต้นทุนมาก แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีที่ไป อย่างน้อยก็พอได้ไปถึงช่วง 15 พฤษภาคม ก่อนจะมี MOU ใหม่ ที่น่าจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น” 

ดำรงศักดิ์ เล่าที่มาของเหตุการณ์ที่เกษตรกรจำใจต้องเทน้ำนมดิบทิ้งว่า มีสาเหตุมาจากการที่เกษตรกรถูกบริษัทที่ทำ MOU ร่วมกันได้ยกเลิกสัญญากะทันหันตั้งแต่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งที่สัญญาระบุถึงวันที่ 15 พฤษภาคม โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า หรือช่วยประสานหาที่รับซื้อใหม่ นอกจากนั้นบริษัทเอกชนในพื้นที่ก็ไม่รับสมาชิกใหม่ เกษตรกรทั้งหมดจึงต้องหาช่องทางการระบายนมเอง

“ในช่วงแรกที่บริษัทเอกชนยกเลิกสัญญากะทันหัน เราต้องหาบริษัทรับซื้อใหม่ทั้งหมด เคยไปขายลพบุรีในราคาแค่ 13–15 บาท ซึ่งขาดทุนแน่นอน ไม่คุ้มค่าขนส่งและค่าเสียเวลาต่างๆ ลำบากมากครับช่วงนั้น” 

แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น แต่ดำรงศักดิ์ยังมีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะยังขายนมได้ในราคาต่ำกว่าทุนอย่างต่อเนื่อง ยิ่งขายก็กำไรหดเข้าเนื้อเรื่อยๆ 

ดำรงศักดิ์ ทิ้งท้ายว่าอยากให้มีบริษัทเอกชนมารับซื้อน้ำนมในราคาปกติ ตอนนี้เกษตรกรต้องจำใจขายแบบขาดทุนเพื่อพยุงสหกรณ์ไปก่อน เพราะถ้าไม่ขายเลยน้ำนมเหล่านั้นก็จะไม่มีที่ไป และสุดท้ายก็ต้องจบลงที่เททิ้ง

ขาดรายได้ แบกภาระค่าใช้จ่าย ลงท้ายที่ขายวัวทิ้ง 

“เราเทนมทิ้งเพื่อให้เรื่องนี้เป็นข่าว เผื่อว่าจะมีใครเข้ามาช่วยเหลือ เพราะสถานการณ์มันถึงทางตันแล้ว เทวันนี้ พรุ่งนี้ก็ต้องเทอีก เพราะวัวรีดนมทุกวัน ไม่เหมือนผลไม้ที่ยังสามารถเก็บไว้ได้ แต่นมดิบเสียเร็วมาก”

เกียรติศักดิ์ มูลพนัสสัก เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมอีกรายใน อ.แม่ทา จ.ลำพูน เล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหาที่เกษตรผู้เลี้ยงวัวนมต้องเผชิญไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องราคาน้ำนมตกต่ำและขายไม่ได้จนต้องนำไปเททิ้ง แต่เกษตรกรยังได้รับผลกระทบมากไปกว่านั้น นั่นคือการที่ไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในฟาร์มได้เหมือนเดิมอีกต่อไป

“เฉลี่ยแล้วเรามีค่าใช้จ่ายวันละประมาณ 6,000 บาท มีค่าอาหารเม็ด อาหารหยาบ เช่น ต้นข้าวโพดสับ ฟาร์มของเรามีวัวประมาณ 100 ตัว และวัวต้องกินอาหารทุกวัน แล้วก็มีค่าจ้างแรงงานด้วยเพราะเราต้องรีดนมวันละสองรอบ ทั้งเช้าและเย็น”

เกียรติศักดิ์เล่าว่า แม้ว่าราคาน้ำนมจะตก หรือแม้พวกเขาจะขาดรายได้จากการที่น้ำนมขายไม่ออก แต่ก็ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้เท่าเดิมทุกวัน เพื่อให้วัวในฟาร์มอยู่รอด และคนงานในฟาร์มมีกิน 

เกียรติศักดิ์เล่าอีกว่าในช่วงที่สหกรณ์หยุดรับซื้อนํ้านมกะทันหัน เขาเครียดมากจนส่งผลให้นอนไม่หลับ กังวลไปหลายวัน ถึงขั้นต้องตัดสินใจขายวัวก่อนฟาร์มอื่นจะเริ่มขาย  เพราะฟาร์มในสหกรณ์แม่ทามีถึง 32 ฟาร์ม จำนวนวัวรวมกันก็สองพันกว่าตัว มีหลายคนรีบขายวัวเหมือนกัน ทำให้พ่อค้าคนกลางกดราคาหนักเข้าไปอีก เพราะวัวออกมาพร้อมกันเยอะมาก

“ขายไป 2 ตัวก่อนครับ ยอมขาดทุน เพราะยังไงเราก็ต้องเอาเงินมาหมุน ค่าอาหารวัว ค่าดูแลมันรอไม่ได้ บางวันต้องจ่ายเป็นหมื่น ถ้ามัวรอนานกว่านี้ให้สถานการณ์ดีขึ้น ต้นทุนก็สูงไปเรื่อยๆ” เกียรติศักดิ์ กล่าวด้วยนํ้าเสียงทุกข์ใจ

เมื่อค่าใช้จ่ายสวนทางกับรายรับ เกษตรกรจึงต้องหันมาหาทางเลือกสุดท้ายนั่นคือการขายวัว เพราะไม่สามารถเลี้ยงต่อได้ไหว ซํ้าร้ายวัวที่เคยขายได้ในราคาตัวละ 20,000 – 30,000 บาท แต่ตอนนี้กลับถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาลงตัวละ 2,000 – 5,000 บาท ยิ่งเป็นการตอกยํ้าซํ้าเติมเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมมากไปกว่าเดิม

เกียรติศักดิ์อธิบายว่า ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ บวกกับเป็นช่วงที่โรงเรียนยังปิดเทอม ทำให้นักเรียนก็ยังไม่ได้ดื่มนมจากโครงการพัฒนาสุขภาพเด็ก น้ำนมจึงยิ่งระบายได้น้อย ปกติแล้วเกษตรกรจะขายน้ำนมได้ประมาณ 22 บาท 10 สตางค์ต่อกิโลกรัม แต่ตอนนี้ต้องขายแค่ 18 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้นำไปแปรรูปเป็นนมผงตามแนวทางที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ

“ฟาร์มเราเริ่มเลี้ยงเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ตอนประมาณปี 2555 เลือกเลี้ยงวัวนมเพราะเรารู้สึกว่าได้อยู่บ้านแล้วมันดูยั่งยืนดี วัตถุดิบมันก็หาได้ง่ายในพื้นที่ แถมที่นี่ก็มีโรงรับนมอยู่ก่อนแล้วด้วย โรงนี้ตั้งมาประมาณ 10 ปีครับ ก่อนหน้านี้ก็มีของเชียงใหม่ เช่น TK Dairy Gold หลังจากนั้นก็มีของสหกรณ์ และกลุ่มใหม่อย่าง CP ก็เข้ามา ตรงนี้เลยกลายเป็นแหล่งผลิตนมหลักของชุมชน”

เกียรติศักดิ์เล่าที่มาของการทำฟาร์มวัวนมของเขาว่า ตอนนั้นในชุมชนก็มีโรงงานที่รับซื้อน้ำนมดิบอยู่ก่อนแล้ว จึงรู้สึกว่าเป็นอาชีพที่ดูยั่งยืนดี และยังได้อยู่บ้านด้วย แต่กว่าที่ฟาร์มจะมีวัวนมที่พร้อมสำหรับรีดนมอย่างทุกวันนี้ก็ต้องเสียต้นทุนทั้งรูปแบบเงินและเวลาไปค่อนข้างมาก กว่าจะตั้งหลักได้ก็ใช้เวลาหลายปี พอต้องมาเจอสถานการณ์เช่นนี้ก็ทำให้รู้สึกเศร้าใจไม่น้อย

“โดยปกติจะมีแค่ปัญหาเรื่องโรคระบาด อาทิตย์สองอาทิตย์ก็หายแล้ว มีช่วงนี้แหละถือว่าวิกฤตที่สุดเลย ปกติจะมีคนรับตลอด แต่นี่ไม่มีเลยจริงๆ” 

สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม วิกฤติครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ใหญ่และหนักหนาเกินกว่าที่เขาเคยพบเจอมาก่อน ทำให้หลายคนก็ยังรับมือไม่ถูกกับเหตุการณ์นี้ เกียรติศักดิ์มองว่า สาเหตุหลักที่ทำให้น้ำนมราคาตกจนบริษัทไม่รับซื้อต่อ เป็นเพราะการนำเข้านมผงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากนิวซีแลนด์กับออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ ที่มีต้นทุนต่ำ และยังมีภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ด้วย ทำให้นมไทยนั้นสู้ราคาไม่ได้ ทั้งที่เป็นนมที่ผลิตในประเทศ

“เกษตรกรก็ไม่รู้จะทำยังไง มันเหมือนชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย ธุรกิจนี้เหมือนร่มที่ขาด น้ำนมขายไม่ได้ ที่อื่นก็ไม่รับซื้อ เพราะก็ล้นตลาดเหมือนกัน เราได้ประชุมกับกลุ่มโคนมลำพูน ที่เขาก็เจอปัญหาเดียวกัน มีการแนะนำให้ทำ SML แบบเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ทำเบเกอรี่ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะถนัด หรือมีความรู้ทางนั้น”

เกียรติศักดิ์ขยายต่อว่า โดยปกติฟาร์มของเขาจะรีดนมได้วันละประมาณ 600 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่เยอะมาก และเมื่อรีดนมเสร็จต้องรีบนำเข้าห้องเย็น เพราะถ้าปล่อยไว้นานเกิน 6 ชั่วโมง โดยไม่แช่เย็นน้ำนมก็จะเน่าเสียทันที เขาเล่าต่อว่า ในเรื่องของการแปรรูปน้ำนม เขาเองก็ยังไม่ได้ศึกษาอย่างเต็มที่ แต่ถ้าจะทำจริงก็ต้องลงทุนต่อีกเยอะ แต่ก็ไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่าจะสามารถบรรเทาปัญหานี้ได้มากแค่ไหน

“ถ้าเรามีนมวันละ 600 กิโลกรัม แต่ร้านกาแฟใช้แค่วันละ 5-10 ลิตร แล้วนมที่เหลือจะเอาไปไว้ไหน? ต่อให้เอาไปแจกทั้งหมู่บ้านก็กินไม่หมด เพราะเราผลิตได้ทุกวันจริงๆ”

ทั้งนี้ เกียรติศักดิ์มองว่าวิกฤตนี้เกษตรกรเองก็ต้องปรับตัวด้วย โดยต้องอัปเกรดตัวเองขึ้นมา ดูแลคุณภาพน้ำนมให้ดีขึ้น เพื่อให้ได้ราคาที่ดีขึ้น และมีต้นทุนที่ต่ำลง อีกทั้งยังต้องกระจายความเสี่ยงในการแปรรูป เพราะถ้าเรามีวัวเพิ่ม มีลูกวัวเพิ่ม แต่นมโควต้าเท่าเดิม เกษตรกรต้องหาทางไปต่อ เช่น ทำชีส เค้ก หรือเครื่องดื่มนมพร้อมดื่ม อย่างน้อยให้มีสัก 10% ของน้ำนมที่แปรรูปได้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้เยอะ

“อยากให้ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยกัน ไม่ใช่รอแต่ภาครัฐครับ พวกเราเกษตรกรต้องยกระดับตัวเองก่อน แล้วค่อยให้สหกรณ์หาทางตลาด หาวิธีแปรรูปต่อไป อนาคตมันไม่ง่าย แต่ถ้าเราร่วมมือกัน ผมเชื่อว่าเราผ่านได้ครับ” เกียรติศักดิ์ กล่าว

ด้าน หม่อง (นามสมมติ) แรงงานชาวเมียนมา วัย 38 ปี  ที่ทำงานรับจ้างในฟาร์มวัวนม ก็ได้เล่าว่า เขาเองก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ค่อนข้างหนัก เพราะไม่รู้เลยว่าจะถูกเลิกจ้างหรือลดเงินค่าจ้างลงไหม เดิมทีค่าแรงของเขาเองก็น้อยอยู่แล้ว และยังต้องแบ่งส่วนหนึ่งส่งไปให้ครอบครัวที่อยู่เมียนมาอีก หากโดนลดค่าแรงก็อาจจะไม่มีเงินพอสำหรับหล่อเลี้ยงครอบครัว

“ถ้าสมมติว่าเงินเดือนถูกปรับลดลงอีกก็คงอยู่ไม่ได้ครับ อยู่ไม่ได้จริงๆ เงินเดือนมันน้อยอยู่แล้วครับ ถ้าลดลงไปอีก มันก็ไม่พอใช้ ไม่พอเลี้ยงครอบครัว”

ทางออกของนมโคจังหวัดลำพูน

จุฬารัตน์ นุ่มนิ่ม พาณิชย์จังหวัดลำพูน มอบหมายให้ คันธารัตน์ สารสมลักษณ์ หัวหน้ากลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ จัดกิจกรรมเชื่อมโยงการตลาดผลิตภัณฑ์นมกล่อง UHT เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโคนมในพื้นที่

การเจรจาครั้งนี้จัดขึ้นระหว่าง สหกรณ์การเกษตรแม่ทา จำกัด และ บริษัท แจ่มฟ้าเซฟมาร์ท จำกัด โดยมี จณภพ กาญจนประดิษฐ์ สหกรณ์จังหวัดลำพูน และ สุพจน์ รังรองธานินท์ ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรแม่ทา จำกัด ร่วมสังเกตการณ์

ผลการเจรจา บริษัท แจ่มฟ้าเซฟมาร์ท จำกัด โดย อัญเชิญ วงศ์มณีรุ่ง กรรมการผู้จัดการ ตอบรับที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือโดยนำผลิตภัณฑ์นมกล่อง UHT ตราโกลด์มิลค์ ของสหกรณ์การเกษตรแม่ทา มาจัดจำหน่ายในร้านแจ่มฟ้าเซฟมาร์ททั้ง 22 สาขา ครอบคลุมจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ ซึ่งผลิตภัณฑ์นมกล่อง UHT ดังกล่าวจะวางจำหน่ายในราคาลังละ 285 บาท (บรรจุ 36 กล่องต่อลัง) โดยเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป

ด้านกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมสนับสนุนการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์นมกล่อง UHT จากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจังหวัดลำพูน เพื่อจำหน่ายในงาน มหกรรมธงฟ้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค ทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ “ชูใจ วัยเก๋า” โดยล็อตแรกจะเริ่มวางจำหน่ายระหว่างวันที่ 28-30 เมษายน 2568 ณ ศาลากลางจังหวัดนครพนม

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามารับซื้อน้ำนมดิบ แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงนมวัวก็ยังไม่อาจวางใจกับวิกฤตนี้ได้ และยังคงตั้งตารอการทำ MOU ฉบับใหม่ ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้

สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

นักศึกษาวารสารศาสตร์ ทาสรักคาเฟอีนที่ชอบบันทึกความทรงจำผ่านชัตเตอร์ สนใจประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ มีเป้าหมายชีวิตคือการเป็นหัวหน้าแก๊งแมวมอมทั่วราชอาณาจักร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง