พฤษภาคม 18, 2024

    ไม่ใช่ April Fool’s Day สมชายฟาดรัฐล้มเหลวในการแก้ปัญหาฝุ่นและการบริหารประเทศ

    Share

    วันนี้ 1 เมษายน 2566 เวลา 07.22 น. เพจศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง ได้เผยแพร่โพสต์ที่เขียนโดย รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหาฝุ่นและการบริหารประเทศตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาดังนี้

    เชียงใหม่เมืองอากาศอันตรายร้ายแรง

    เรื่องจริง ไม่ใช่ April Fool’s Day

    เป็นเวลามากกว่าสัปดาห์แล้วที่ปริมาณฝุ่น 2.5 ในเชียงใหม่และจังหวัดอื่นในภาคเหนือขึ้นไปแตะระดับภาวะ “อันตราย” สถานการณ์นี้สามารถมองเห็นได้แม้กระทั่งด้วยสองตาว่าอยู่ในห้วงเวลาวิกฤติ แต่ไม่น่าเชื่อว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกลับเงียบเชียบ 

    จนราวกับว่าบ้านนี้เมืองนี้ไม่มีนายกฯ, ไม่มีรัฐมนตรีฯ สิ่งแวดล้อม, ไม่มีรัฐมนตรีฯ สาธารณสุข, ไม่มีผู้ว่าฯ และไม่มีหน่วยงานรัฐใดที่จะแสดงความกระตือรือร้นในการรับมือกับปัญหานี้ 

    (นอกจากการเอารถพ่นน้ำไปวางในจุดใกล้เครื่องวัดฝุ่น หรือการประกาศให้คนระมัดระวังการอยู่นอกบ้าน ขอโทษนะครับ อันนี้ไม่ได้ช่วยแก้ไขอะไรแม้แต่น้อยเลย)   

    แม้จะไม่ใช่โรงงานสารเคมีระเบิด ไม่ใช่น้ำท่วม ไม่ใช่พายุถล่ม ที่นำมาซึ่งความเสียหายอย่างชัดเจน แต่ภาวะฝุ่นอันตรายจะเป็นปัญหาสุขภาพในระยะยาว ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้ชี้แจงแล้วว่าจะเป็นสาเหตุต่อการเกิดโรคร้ายแรง ยิ่งกับผู้อ่อนแอ ผู้สูงอายุ หรือที่มีโรคประจำตัว ก็จะได้รับผลกระทบเร็วและรุนแรงมากขึ้น

    ไม่น่าเชื่อนะครับ พอนักศึกษาไปยืนถือป้าย “มาหาป้อคิงหยัง” (มาหาพ่อคุณหรือ) ต้อนรับนายกฯ หน่วยงานรัฐทั้งตำรวจ มหาวิทยาลัย กลับบูรณาการได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านบุคลากร ทรัพยากร ความมีประสิทธิภาพ

    แน่นอนว่าปัญหาฝุ่นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดการ แต่ 8 ปีที่อยู่ในตำแหน่งมาได้ทำอะไรไปบ้างที่แสดงให้เห็นถึงสติปัญญาในการแก้ไขอย่างยั่งยืน ฝุ่นก็ยังคงอยู่เหมือนเดิมและทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่มีแนวทางอะไรที่ทำให้ประชาชนได้มีความหวังต่อการแก้ไขปัญหานี้เลย

    ถ้าคิดอะไรไม่ออก อย่างน้อยหน่วยงานรัฐทั้งระดับประเทศและรัฐบาลกลางก็สามารถรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ อย่างน้อยก็มีหลายเรื่องที่ต้องทำก่อน เช่น การประกาศพื้นที่อันตายด้านสิ่งแวดล้อม, การแจกหน้ากากให้กับประชาชน, การสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นให้ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องฟอกอากาศ, การทำงานอยู่ที่บ้านในหน่วยงานรัฐที่เป็นไปได้ เป็นต้น เรื่องแค่นี้ไม่ได้ใช้สติปัญญาอะไรมากมายหรอก คนธรรมดา ๆ ก็สามารถคิดได้

    มีอีกหลายเรื่องที่สามารถทำได้แม้ในระยะเวลาเฉพาะหน้า หากยังมีสติปัญญาและที่สำคัญก็คือการมองเห็นชีวิตและสุขภาพของประชาชนว่ามีความสำคัญ มากกว่าการพะวงถึงความมั่นคงในตำแหน่งหรือมุ่งจะเลียชนชั้นนำแต่เพียงอย่างเดียว

    ปัญหาฝุ่น 2.5 สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวอย่างมากของรัฐและการปกครองท้องถิ่นของไทยและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข การเลือกตั้งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสะท้อนความเดือดร้อนของประชาชน บรรดานกหวีด เหล่าสลิ่ม ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ยังคิดว่า พล.อ. ประยุทธ์ ยังมีสติปัญญาและความสามารถในการบริหารบ้านเมืองก็ควรเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติต่อไป เลือกไปเลยครับและควรป่าวประกาศให้คนอื่น ๆ มาร่วมลงคะแนนให้ต่อไป แต่หากใครที่เห็นในทางตรงกันข้ามก็ควรถอยห่างออกมาได้แล้ว 

    คนเราสามารถผิดพลาดได้ในบางครั้ง แต่ใครที่เห็นความจริงแล้วยังคงทำผิดพลาดต่อไป นั่นไม่ใช่แค่เป็นความโง่เขลา หากเป็นความสิ้นคิดอย่างแท้จริง

    สมชาย ปรีชาศิลปกุล

    วันที่อากาศเป็นอันตราย แต่รัฐไทยเงียบเชียบราวป่าช้า

    1 เมษายน 2566

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...