เมษายน 30, 2024

    คนหาบขาย หายสาบสูญ เสียงจากแม่ค้าหาบเร่ เมื่อการขายของบนรถไฟอาจไม่กลับมาอีกแล้ว

    Share

    เรื่องและภาพ: วิภาวี จุลสำรวล/ The Isaan Record

    รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges เผยแพร่ครั้งแรกทางเว็บไซต์ theisaanrecord.co เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2566

    แสงอาทิตย์ยามเช้าสาดส่องเข้ามาภายในอาคารสถานีรถไฟจังหวัดขอนแก่น ผู้คนมากมายรายล้อมยืนรอซื้อตั๋วเพื่อไปยังจุดหมายที่แตกต่างของตัวเอง

    หนึ่งในนั้น คือ สมร พมรลี หรือ ตึ่ง หญิงวัย 61 ปี ที่ต่อแถวซื้อตั๋ว พร้อมกับตะกร้าและหาบสองฝั่งแขน ในตะกร้าทั้งสองใบมีขนม ซึ่งเป็นเงินที่เธอลงทุนไปกับสินค้าที่คาดว่าวันนี้จะขายพวกมันหมด 

    สมพรขายของบนรถไฟมานานกว่า 20 ปี อาศัยอยู่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น แต่ใช้ชีวิตบนรถไฟเหมือนบ้านหลังที่สอง เพราะเป็นแหล่งทำมาหากินที่เลี้ยงดูครอบครัวเธอมาแสนนาน

    เริ่มต้นชีวิตบนรถไฟด้วยการขายฝักบัว

    ตึ่งเข้าสู่อาชีพนี้ด้วยการนำฝักบัวจากบ้านมาขายบนรถไฟ แต่ก่อนขายเฉพาะช่วงกลางวัน แต่ตอนนี้ต้องเปลี่ยนมาขายทั้งกลางวันและกลางคืน  

    “วันนี้มาขายขนมที่ขอนแก่น เพราะบนรถไฟเค้าไม่ให้ขายแล้ว”

    หลังพิษของโรคระบาดโควิด 19 ทำให้มีมาตรการในการควบคุมโรคระบาด ห้ามผู้โดยสารรับประทานอาหารและน้ำดื่มบนรถไฟ อีกทั้งห้ามขายอาหารและเครื่องดื่มบนรถไฟอีกด้วย

    นายสถานีรถไฟแห่งหนึ่ง เล่าว่า ก่อนที่จะมีอาชีพนี้ การรถไฟฯ ก็ไม่ได้อนุญาตตั้งแต่แรก แต่เป็นการขึ้นไปขายกันเอง เนื่องจากการรถไฟฯ มีตู้เสบียง มีตู้ขายของอยู่แล้ว โดยจะอนุญาตแค่ผู้ประกอบการที่เขาประมูลกับรถไฟแค่นั้น

    “แต่เมื่อ 7 มกราคม 2564 กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขออกแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19 การรถไฟฯ จึงงดการเดินรถบางเที่ยวและงดการขายสินค้าบนรถไฟไปโดยปริยาย” 

    เมื่ออาชีพเดียวที่สร้างรายได้ถูกสั่งห้ามในชั่วข้ามคืน “ขายไม่ได้ ไม่ให้ขาย” นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สมรต้องปรับตัว ด้วยการเพิ่มการขายของตอนกลางคืนด้วย ซึ่งทำแบบนี้มาแล้วประมาณ 4 ปี 

    จากเสาหลักสู่การค้นหาเส้นทางใหม่

    ความหวังสุดท้ายในการเลี้ยงดูอีก 7 ชีวิตกับอาชีพคนขายของบนรถไฟกลับกลายเป็นอดีต เพราะเธอถือเป็นเสาหลักของบ้าน ภาระทั้งหมดจึงถูกรับไว้แต่เพียงผู้เดียว 

    “ไม่ขายของ ก็ไม่รู้จะทำอะไร” อดีตแม่ค้าขายของบนรถไฟกล่าวด้วยความสิ้นหวัง 

    “ทำมาตั้งนานแล้ว รายได้ดีเลยนะ คนใจดีเยอะ มีคนอยากช่วยซื้อเยอะเลย”

    เมื่อไม่อนุญาตให้ขายของบนรถไฟแล้ว แสงสุดท้ายจึงเริ่มดับลง การหาบคอนตะกร้าไม้ไผ่ที่หนักอึ้งในวัยชราทำให้ผู้คนอุดหนุนเธอด้วยความสงสาร หลายคร้ังน้ำใจเหล่านั้นถูกเปลี่ยนเป็นเงินให้เปล่า 

    “เขาให้ตังค์เปล่าๆ แม่ก็ไม่เอา ในเมื่อเขาไม่ซื้อของ เราก็ไม่เอาของเขา” เสียงที่แหบพร่าของหญิงวัย 61 ปี เล่าถึงผู้คนรายวันที่เธอได้พบเจอ

    เมื่อรายได้ลดลง

    อาชีพขายของบนรถไฟเป็นอาชีพที่ผู้คนเดินทางโดยรถไฟจะพบเห็น แม่ค้าพ่อค้าหาบเร่อาหารเครื่องดื่มขึ้นมาเดินขายตั้งแต่ท้ายขบวนยันต้นขบวน มีทั้งอาหารกล่องสำเร็จรูป น้ำดื่มน้ำหวานน้ำอัดลม กาแฟร้อน กาแฟสด ผลไม้ ไปจนถึงเครื่องดื่มชูกำลัง 

    พิษจากโรคระบาดไม่เพียงส่งผลต่อแม่ค้าที่ขายของเท่านั้น ผู้โดยสารบางคนที่ต้องการทานอาหารบนรถไฟ เนื่องจากเร่งรีบไม่มีเวลาเตรียมตัวก่อนออกจากบ้าน โดยหวังจะซื้ออาหารระหว่างเดินทางก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

    “มันก็สะดวก ถ้าสมมติว่า วันนั้นเป็นวันที่เรารีบมากและต้องเดินทางเช้า ส่วนตัวเป็นคนที่ต้องกินข้าวก่อนออกเดินทางตลอด เพราะหากท้องว่างจะเมารถ” พิมพ์นารา นาคำ หรือปราย นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่โดยสารรถไฟเป็นประจำกล่าวถึงการหายไปของอาชีพหาบเร่

    หาบเร่ อาชีพที่เสี่ยงถูกคนด่าและรำคาญ

    อาชีพขายของบนรถไฟเป็นอาชีพที่ต้องใช้เสียงในตะโกนเรียกลูกค้าเพื่อขายของที่แข่งกับเสียงดังของรถไฟที่ดังเป็นทุนเดิม ผู้โดยสารหรือบางคนที่ต้องการพักผ่อนก็ยังต้องมาฟังเสียงพ่อค้าแม่ค้าที่ตะโกนเรียกให้ซื้อของตลอดเส้นทาง

    “รำคาญบ้าง เนื่องจากเราเดินทางสั้นๆ ไม่ได้ต้องการซื้อของอยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่เดินทางไกลก็อาจจะสะดวกต่อเขา” กอล์ฟ อนุชา (ไม่ขอเปิดเผยนามสกุล) เล่าความรู้สึกที่มีต่ออาชีพขายของบนรถไฟ แต่สำหรับ ปราย พิมพ์นารา เธอกลับมองอีกแบบ

    “ไม่ค่อยรำคาญนะ เพราะเขาขึ้นมาขายตามเวลาแล้วก็ลง แต่ก็จะมีรำคาญบ้างเวลาที่เรารีบแล้วต้องหลบให้เขาวิ่งขึ้นมาขายของ”

    ภาระกิจ ภาระใจ

    แม้ว่า เธอจะปรับตัวกับโรคระบาดได้ทัน แต่เส้นทางการใช้ชีวิตของ “สมร” ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เมื่อรู้ว่า หลานคนโตที่เป็นดั่งแก้วตาดวงใจหลงผิดไปใช้ยาเสพติด จนทำให้เธอเสียใจและผิดหวังอย่างยากจะอธิบาย

    “แม่มาขายของ แม่นั่งร้องไห้เลยนะ นั่งร้องไห้ 2 วัน 3 วัน เพราะรับไม่ได้” เธอเล่าด้วยความเจ็บปวดที่แสดงออกมาทางแววตา

    แม้ตอนนี้หลานคนโตจะได้เข้ารับการบำบัดที่สถานบำบัดแห่งหนึ่งที่จังหวัดขอนแก่นแล้ว แต่ก็ยังไม่ทำให้เธอหายกังวล  

    “จะให้ดีเหมือนเดิมมันเป็นไปไม่ได้อะ เพราะว่าแก้วมันร้าวแล้ว จะให้ดีอย่างเดิมมันเป็นไปไม่ได้หรอกลูก”

    ซ้ำร้ายภาระใจของตึ่งอีกเรื่อง คือ ต้องดูแลสามีที่พิการขาหนึ่งข้าง เดินไม่ได้ ต้องใช้รถเข็นอย่างเดียว 

    “รถเข็นเขาก็เอามาให้ แต่ตาก็ไม่นั่ง จะขี่แต่สามล้อ” ตึ่งเล่าถึงสามีที่รัก แม้ต้องรับผิดชอบชีวิตผู้คนในครอบครัวหลายคน แต่เธอไม่เคยปฏิเสธหน้าที่เสาหลักของครอบครัว

    การต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวที่เจ็บปวดและติดยาเสพติดทำให้มีหนี้สินพัลวันเป็นหางว่าว แต่เธอก็ยังยิ้มเมื่อพูดถึงครอบครัว 

    “หนี้สินภายในบ้านยายก็เป็นคนรับผิดชอบหมดนะ ไม่ว่าจะนอกระบบ ในระบบ ก็ใช้ให้หมด หลานอีก 4 คน หรือ 7 คน ยายเลี้ยงได้”

    แม่ค้าหาบเร่ ที่มีเสน่ห์เรื่องร้องเพลง

    อาชีพขายของเอาแน่เอานอนไม่ได้ บางวันขายได้ดี บางวันก็ไม่ หากผลลัพธ์ออกมาไม่ค่อยน่าพอใจ พ่อค้าแม่ค้าบางคนก็คงจะมีแผนสำรองมาช่วยให้ตนขายของหมด 

    ตึ่ง คือ หนึ่งในแม่ค้าที่อาวุธลับหลากหลาย ไม่ว่าจะขายได้หรือขายไม่ได้เขาก็ไม่เคยคิดที่จะเอาเปรียบลูกค้า ทั้งยังตอบแทนลูกค้าให้คุ้มกับเงินด้วยความรักและความซื่อสัตย์จริงใจ

    “แม่ชอบร้องเพลง ใจแม่ปรารถนาทุกวันนี้นะ ถ้าแม่ขายของไม่ได้ ทำงานกลางคืนไม่ได้ แม่ก็อยากจะไปร้องเพลง” เธอเล่าและว่า “จริงๆ แล้วเป็นคนชอบร้องเพลง เพราะว่าเวลาไปตามสถานที่ต่างๆ เวลาไปขายขนม มักจะมีคนให้เงินมาเยอะเกิน 400 – 500 บาท แม่ก็จะร้องเพลงให้ฟัง เพื่อเป็นความสุขเล็กๆ ที่อยากมอบให้กับลูกค้า”

    “แม่ได้เงินครึ่งตะกร้า บางวันได้ 3,000 บาท จากการร้องเพลงนะ” เธอเล่าด้วยความภาคภูมิใจ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลงานไหม จ.ขอนแก่น เธอมีโอกาสไปขายขนมที่นั่น และได้ขึ้นโชว์เสียงร้องเพลง

     “บ้างก็ให้ติ๊บ บ้างก็ซื้อของให้”

    เสียงร้องแหบเสน่ห์ของเธอทำให้คนที่ได้ฟังต้องชอบใจและให้รางวัลมากมาย แต่การจะได้มาก็ไม่ใช่เป็นการขอเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการตอบแทนด้วยบทเพลงอันไพเราะและเสียงร้องอันแสนหวาน

    “วันไหนเหนื่อย แม่ก็พักวันไหนที่อดนอนได้ จะเดินขายทั้งคืน ค่อยมานอนตอนเช้า บางทีก็ไม่ได้นอน ปวดหลังปวดตัว บางทีก็ลุกขึ้นยาก แก่ขนาดนี้แล้ว จะไปทำอะไรได้” 

    คนหาบขาย หายสาบสูญ

    แม้จะเคยขายของบนรถไฟมานานและมีความผูกพันกับหวูดแผดเสียง แต่ก็ไม่คิดว่าอาชีพนี้จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง 

    “กลับมาหรอ หึ ไม่ได้ ไม่มีคนขายหรอกอาชีพนี้จะไม่มีวันกลับมาได้อีก เพราะเป็นเรื่องยากที่คนจะขึ้นไปขายของบนรถไฟแบบเต็มขบวนเหมือนเมื่อก่อนได้อีก”

    ไม่เพียงแต่แม่ค้าเท่านั้นที่เห็นแบบนั้น ผู้โดยสารก็มีความเห็นไม่ต่างกัน 

    “ไม่ดีกว่า เพราะบางวันบนรถไฟคนแออัด แล้วเวลาขึ้นรถไฟต้องทำเวลาหาที่นั่ง ถ้ามีคนขึ้นมาขายของอาจจะแออัดกว่าเดิมทำให้เสียเวลาตอนเดินหาที่นั่ง” ปราย พิมพ์นารา แสดงความเห็นต่อคำถามว่าถ้าอาชีพนี้กลับมาอีก 

    “สำหรับผมเฉยๆ มีก็ได้ไม่มีก็ได้ บางทีก็อาจจะอยากให้มี เพราะมันเป็นวิธีหาเงินของเขา รายได้เขาอาจจะมีแค่ทางนี้” กอล์ฟ อนุชา เล่าถึงความรู้สึก

    “แม่ก็จะขายของแม่อยู่อย่างนี้แหละ ให้ไปเดินขอเงินยายรับไม่ได้ ยายไม่โอเค ขออยู่แบบนี้ดีกว่า” แม้จะไม่มีความหวังว่าโอกาสที่จะได้กลับมาขายของบนรถไฟได้อีก แต่เธอก็ยังยืนยันที่จะขายของต่อไปในวิธีที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา


    หมายเหตุ
    ผลงานชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดย สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO

    Related

    ยก ‘ครูบาเจ้าศรีวิชัย’ เป็นบุคคลสำคัญล้านนา ดันวันเกิดหรือวันมรณภาพเป็น “วันศรีวิชัย”

    วันที่ 29 เมษายน 2567 วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ร่วมกับ มูลนิธิครูบาศรีวิชัย จัดกิจกรรมงานวันครูบาเจ้าศรีวิชัย เปิดถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ...

    สมาคมฅนยองจัด ‘มหาสงกรานต์ล้านนา’ มุ่งอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นคนยอง

    เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา สมาคมฅนยอง ร่วมกับ บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่...