เรื่อง: วรัญญู คงสถิตย์ธรรม/ The Isaan Record
“เมื่อก่อนต้นไม้สีเขียวร่มรื่น วัวควายมีหญ้ากิน ทำนาได้ทุกปี หาเก็บผัก จับปลากินได้ตลอด พอมีเหมืองขึ้นมา ทุกวันนี้ผักปลาก็ต้องไปซื้อกิน ปลูกข้าวก็ยุบตายหมด ขนาดวัวยังหาหญ้าให้กินยากแล้ว บ้านก็พัง”
นี่เป็นเสียงแห่งความขมขื่นของ สุปราณี ทองอุลัย ชาวบ้าน ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่ต้องเผชิญกับผลกระทบที่เกิดจากโครงการของบริษัทเอกชนที่รัฐเอ่ยอ้างว่า จะช่วยทำให้คนในพื้นที่มีงานทำ แต่ผลกลับไม่เป็นอย่างที่ขายฝัน ซ้ำยังเกิดพิษตรงกันข้าม
“ตอนแรกคนของเหมืองแร่ก็พูดกับเราดีนะ เขาบอกว่า ข้อดีของการมีเหมืองแร่จะมีอะไรบ้าง เช่น หมู่บ้านจะมีถนน จะมีการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้ชาวบ้านได้มีรายได้ ซึ่งมีหลายบ้านเลยที่เข้าไปทำงานกับเขาและเปิดพื้นที่หน้าโรงงานให้ชาวบ้านไปขายของด้วย มันก็ฟังดูดีเลย”
เมื่อเหมืองเกลือเริ่มกระทบชุมชน
สุปราณี เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดที่เพิ่งตั้งได้ไม่นาน เธอเกิดและเติบโตที่นี่ กระทั่งเรียนจบ ม.6 ก็ย้ายเข้าไปเรียนต่อในเมือง แต่ก็ยังเทียวไปเทียวมาโคราช-หนองไทรอยู่ตลอด
“ก่อนจะมีเหมืองแร่เข้ามา ที่ดินแถวนี้เป็นไร่นา ชาวบ้านทำเกษตรกรรม ปลูกข้าว ปลูกมัน ขุดเผือกขุดมันกินได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ดินโล้น กลายเป็นดินแล้ง บางที่ก็มีน้ำซึม แฉะ ปลูกอะไรไม่ได้เลย มันเปลี่ยนไปมาก”
เหมืองแร่โพแทช อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้รับการอนุมัติ เมื่อปี 2557 พร้อมกับ เหมืองแร่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ขณะที่ จ.ชัยภูมิ ยังไม่มีการทำเหมืองแร่ แต่เวลาไม่ถึง 8 ปี เหมืองแร่ด่านขุนทดกลับสร้างความเจ็บปวดให้กับชุมชนอย่างยากจะกู่กลับ
“ตอนแรกเราไม่รู้นะว่า จะมีเหมืองมาตั้ง เดิมทีรู้เพียงว่า เขาจะมาทำสนามกอล์ฟ มาทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเขาก็มากว้านซื้อที่ดินชาวบ้านไปเป็นพันๆ ไร่เลย ผ่านมาปีกว่าๆ ถึงรู้ว่าเขามาขุดหาแร่”
สุปราณี เล่าว่า หลายปีก่อนหน้านี้ มีการรั่วไหลของน้ำเค็มออกมาจากโรงงาน จากนั้นปีถัดมาก็เริ่มมีผลกระทบเกิดขึ้นกับชุมชน พื้นที่ไร่นารอบโรงงานเพาะปลูกอะไรไม่ได้ ข้าวในที่นาชาวบ้านหลายคนทยอยยืนต้นตาย ไม่เว้นกระทั่งต้นไม้อายุเป็นหลายสิบปีเป็นร้อยปีบัดนี้แม้ยังยืนต้นแต่ก็ปราศจากชีวิต
“บ่อน้ำในหมู่บ้านเค็มจนทำน้ำประปาใช้ไม่ได้ ต้องไปต่อน้ำมาจากที่อื่น ทำให้ค่าน้ำแพง บ้านเรือนหลายๆ หลัง ก็มีคราบเกลือขึ้น เสา ผนัง ผุกร่อนเสียหาย แม้แต่วัดหนองไทร ที่เมรุเผาศพก็เกิดรอยร้าว”
ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นทำให้เธอเห็นความสำคัญของการรวมตัวกันของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
“พอคนเดือดร้อนกันมากขึ้น เลยต้องหาทางให้มันบรรเทาความเดือดร้อน ทั้งของเราและคนอื่นให้ได้ เลยเกิดการรวมตัวกันขึ้นมา ตอนแรกก็ยากนะ บางคนเขาก็กังวลว่า เราเป็นแค่ชาวบ้าน เขาเป็นใหญ่เป็นโต มีเงินมีเส้นสาย จะเอาอะไรไปสู้เขา แต่สุดท้าย พอหาใครช่วยไม่ได้ เราก็ต้องช่วยตัวเอง แม้แต่ผู้นำชุมชนก็ไม่ได้ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อเราเลย”
ตั้งกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด
เมื่อเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนเมื่อต้นปี 2565 จึงเกิดการตั้งกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด อ.ด่านขุนทด ขึ้น โดยมีภาคประชาสังคมและได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดได้เข้าร้องเรียนต่อนายอำเภอหลายครั้งเพื่อให้การตรวจสอบความเสียหายที่เกิดจากการประกอบกิจการของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด แต่ยังไม่มีคำตอบ
ระหว่างนั้นชาวบ้านร้องเรียนไปยังสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษภาค 11 กระทั่งวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบข้อเท็จจริงที่บ้านหนองไทร อ.ด่านขุนทด ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เหมืองแร่
ผลตรวจสอบพบว่า แนวท่อ PPE พาดข้ามคันดินขอบเขตพื้นที่โครงการออกมาสู่พื้นที่ภายนอก อีกทั้งยังพบว่า มีน้ำรั่วซึมออกมาจากพื้นดินบริเวณวัดหนองไทร ติดกับคันดินบ่อพักน้ำของโครงการเหมืองแร่โพแตช ตรวจสอบพบค่าความเค็ม 46.4 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำในบ่อน้ำวัดหนองไทร ซึ่งเป็นแหล่งรองรับการรั้วซึมพบค่าความเค็มเท่ากับ 29.3 กรัมต่อลิตร ผลการตรวจสอบดังกล่าวหมายถึง น้ำมีคุณภาพต่ำ และมีเกลือมาก
“บริษัทฯ มิได้สร้างคูน้ำจืดโดยรอบพื้นที่โครงการ ซึ่งไม่เป็นไปตามแผนผังโครงการพื้นที่บนผิวดิน ที่ระบุไว้ใน EIA มีการประกอบกิจการโรงงานผลิตเกลือ บริเวณด้านทิศใต้ของโครงการ ซึ่งไม่ปรากฏอยู่ใน EIA” รายงานจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ ระบุ แม้ผลการตรวจสอบพบว่า โครงการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีคำสั่งจากรัฐให้แก้ไขปัญหา
เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 กลุ่มฅนรักษ์บ้านฯ ร้องเรียนกับนายอำเภออีกครั้งเพื่อให้ตรวจสอบกรณีการรั่วไหลของน้ำภายในอุโมงค์จุดเจาะเหมืองและการนำเกลือใต้ดินขึ้นมาขายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พร้อมเรียกร้องให้จ่ายค่าชดเชยกับผลกระทบที่เกิดขึ้น
ขณะนี้เรื่องร้องเรียนยังอยู่ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนครราชสีมาตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันเพื่อรายงานผลต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
4 หมู่บ้านได้รับผลกระทบจากเหมือง
จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่กล่าวว่า เครือข่ายฯ ร่วมสนับสนุนชาวบ้านตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา ด้วยการให้ข้อมูล วิธีการ และกระบวนการเจรจากับภาครัฐ เพื่อให้ชาวบ้านรู้แนวทางในการต่อสู้
“เราต้องการให้รัฐมอบอำนาจตัดสินใจให้แก่ประชาชน ให้แต่ละชุมชนตัดสินใจกันเองว่า อะไรเหมาะสมกับชุมชนของเขา เพราะสุดท้ายแล้ว เขาคือคนที่ต้องอยู่กับมัน ต้องเจอกับปัญหา และอยากให้การทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทำบนพื้นฐานของการมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย”
จุฑามาส แสดงความเห็นอีกว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมกับการทำเหมืองแร่ใต้ดิน โดยอิงจากผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์นี้ โดยหลังจากการรั่วไหลของน้ำจากอุโมงค์ใต้ดินของเหมืองเมื่อปี 2563 ส่งผลกระทบกับ ต.หนองไทร เป็นวงกว้าง ขณะนี้มี 4 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ คือ บ้านหนองไทร 2 หมู่ บ้านดอนแต้ว และบ้านหัวนา
“ยกตัวอย่างบ้านหัวนา แหล่งน้ำในชุมชนใช้ทำน้ำประปาไม่ได้ เพราะมีค่าความเค็มสูงจนช่วงหนึ่ง ชาวบ้านต้องไปซื้อน้ำจากโรงงานเหมืองแร่ ในราคาหน่วยละ 25 บาท แต่ก่อนชาวบ้านซื้อน้ำหน่วยละแค่ 6 – 7 บาท ตอนนี้เท่าที่รู้มาก็เริ่มมีพื้นที่ใหม่ๆ ที่เริ่มเพาะปลูกไม่ขึ้นแล้ว และบางพื้นที่ก็มีน้ำซึมหรือผุดขึ้นในที่นาของชาวบ้าน”
ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ บอกอีกว่า ตามแบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่โรงงานยื่นไว้ จะต้องมีการทำคูน้ำจืดรอบเหมือง เพื่อป้องกันการรั่วซึม หรือแพร่กระจายของความเค็ม แต่ก็ไม่ได้มีการทำตามนั้น และมีการซื้อที่ดินขุดบ่อน้ำใหม่กระจายตัวอยู่หลายพื้นที่รอบๆ เหมือง มีการถ่ายเทน้ำออกมาจากในเหมืองอยู่ตลอดและน้ำเหล่านั้นคือน้ำเค็มหรือไม่ นี่เป็นข้อสังเกตที่ตนตั้งไว้เป็นข้อสงสัย และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านโดยเร็ว
เอกชนยอมจ่ายค่าชดเชย แต่ไม่มีเงิน
โครงการเหมืองแร่โพแทชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด อยู่ในพื้นที่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้รับอนุญาตตามประทานบัตรเลขที่ 28831/16137 ระหว่างวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 – 6 กรกฎาคม 2583 อายุ 25 ปี เนื้อที่ 9,005 ไร่ 1 งาน 63 ตารางวา และเริ่มเกิดปัญหาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งชาวบ้านได้เข้าร้องเรียนหลายครั้งแต่บริษัทฯ ชี้แจงต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า น้ำที่ปนเปื้อนไม่เกี่ยวกับบริษัท แต่ก็ยอมจ่ายค่าชดเชย
กระทั่งล่าสุดเมื่อปี 2564 ชาวบ้านได้เรียกร้องค่าชดเชยอีกครั้ง แต่บริษัทฯ กลับให้เหตุผลว่า “ไม่มีเงิน”
“ตอนนี้ข้อร้องเรียนของชาวบ้านหนองไทรยังอยู่ในระหว่างการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง แม้จะผ่านมานานหลายปีก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จริงๆ แล้วใครต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น” จุฑามาส กล่าวในฐานะผู้ติดตามปัญหาให้ชาวบ้าน
“พวกเราจะยังเคลื่อนไหวเรียกร้องอยู่อย่างนี้ ควบคู่กับการเก็บรวบรวมข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นใหม่ ในเมื่อพึ่งใครไม่ได้ เราก็ต้องสู้ ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มันเกิดการแก้ปัญหา เพราะเราห่วงอนาคตลูกหลาน สุดท้ายก็เป็นพวกเรานี่แหละที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นี่” สุปราณี เน้นย้ำถึงจุดยืนของกลุ่มฯ ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
หมายเหตุ : ผลงานชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดย สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO