พฤษภาคม 4, 2024

    เยาวชน 10 พื้นที่ทั่วประเทศ ผนึกกำลัง Voice Of Youth เสียงที่เปลี่ยน มุ่งสร้างศักยภาพและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสังคม

    Share

    1 ธันวาคม 2565

    วันที่ 26 – 27 พฤศจิกายน 2565 องค์การหน่วยอาสาสมัครอังกฤษ Voluntary Service Overseas (VSO) มูลนิธิวายไอวาย (why i why Foundation) และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับเครือข่ายเยาวชน Voice Of Youth 10 เครือข่ายทั่วประเทศ จัดงานมหกรรมเยาวชน ‘Voice of Youth Voice of Change: เสียงที่เปลี่ยน’ ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่



    โครงการเสียงเยาวชน Voice Of Youth หรือ “โวย” เป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมศักยภาพและการมีส่วนร่วมเยาวชนในการพัฒนาชุมชนและสังคม ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2563 – 2565 ระยะเวลา 3 ปี ดำเนินการโดยองค์การหน่วยอาสาสมัครอังกฤษ Voluntary Service Overseas (VSO) มูลนิธิวายไอวาย (why i why Foundation) และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนโดยสหภาพยุโรป (European Union: EU) มีเครือข่ายเยาวชนกว่า 10 เครือข่ายทั่วประเทศ ได้แก่

    1. สภาเด็กและเยาวชนตำบลเขื่อนผาก จังหวัดเชียงใหม่ มีเป้าหมายในการสร้างเครือข่าย พัฒนาศักยภาพ สร้างพื้นที่ให้เยาวชนริเริ่มและลงมือทำกิจกรรมสร้างสรรค์ และมีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่น
    2. กลุ่มเด็กมีเรื่องเล่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการรวมตัวของเด็กและเยาวชนที่เรียนแบบการศึกษาทางเลือก เช่น การเรียนที่บ้าน และศูนย์ศึกษาทางเลือก เพื่อสะท้อนมุมมองการเรียนแบบการศึกษาทางเลือก
    3. ศูนย์สร้างสรรค์การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ (CCDC) และกลุ่มสันทรายน้ำหนึ่ง จังหวัดเชียงใหม่ ทำโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนให้เก่ง ดี มีจิตอาสา และสร้างสรรค์ รวมทั้งทำงานรณรงค์สร้างความตระหนักและการผลักดันเชิงนโยบาย ในระดับพื้นที่
    4. สภาเด็กและเยาวชนตำบลท่าสาป จังหวัดยะลา มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมกิจกรรมที่เหมาะสำหรับเด็ก รวมทั้งการป้องกันแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับเด็กร่วมกับ อบต.ท่าสาป
    5. กลุ่มการศึกษาเพื่อความยั่งยืนของชีวิต (WE-Life) จังหวัดมหาสารคาม มุ่งพัฒนาสุขภาวะชุมชนโดยรวม ทั้งในด้านเพศวิถี ทักษะชีวิต ภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ และการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งมุ่งปรับเปลี่ยนการผลิตด้านเกษตรจากการพึ่งพิงสารเคมีสู่การผลิตแบบทางเลือกและส่งเสริมวิถีการบริโภคที่ปลอดภัย
    6. กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน เครือข่ายเสียงเยาวชนจังหวัดขอนแก่น : KK-VoY จังหวัดขอนแก่น เพื่อศึกษาและให้ความช่วยเหลือสมาชิกชุมชนริมทางรถไฟที่กำลังถูกไล่รื้อที่พักอาศัย รวมทั้งให้ความช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มคนไร้บ้านในเทศบาลเมืองขอนแก่น
    7. กลุ่มเยาวชนลุ่มน้ำแม่ทา เครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา จังหวัดลำพูน สนับสนุนส่งเสริมให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนทั้งกลุ่มเยาวชนเมือง และกลุ่มเยาวชนในชุมชนกะเหรี่ยงพื้นราบ
    8. กลุ่มพลังโจ๋ พลังสร้างสรรค์แบ่งปันความสุข จังหวัดแพร่ มุ่งทำงานเพื่อส่งเสริมศักยภาพเยาวชนกลุ่มเสี่ยง ให้เป็นแกนนำเยาวชนผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง 
    9. CK Voice กลุ่มประชาคมเชียงของ จังหวัดเชียงราย ขับเคลื่อนงานเด็กและเยาวชนในกลุ่มเปราะบาง กลุ่มชาติพันธ์ให้มีศักยภาพในการพัฒนาชุมชนของตนเอง
    10. กลุ่มละอ่อนHome จังหวัดพะเยา มุ่งพัฒนาศักยภาพ ทักษะ ความสามารถ และการค้นหาตัวเองผ่านการทำกิจกรรม และการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนงานของชุมชนในมิติต่างๆ

    โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โวย (Voice Of Youth) ได้มีการพัฒนาทักษะและศักยภาพของเครือข่ายเยาวชนทั้ง 10 พื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการหนุนเสริมปฏิบัติการต่างๆ เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและการมีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเกิดเป็นกิจกรรมถอดบทเรียนการดำเนินงานของเครือข่ายเยาวชนและเวทีสื่อสารสาธารณะ เพื่อการนำเสนอผลลัพธ์ที่ได้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา



    โดยในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.00 – 12.00 น. เป็นการถอดบทเรียนการดำเนินงานของเครือข่ายเยาวชนในโครงการเสียงเยาวชน (Voice of Youth) เพื่อให้เครือข่ายเยาวชนทั้ง 10 พื้นที่ ได้เห็นการเรียนรู้ของเยาวชน ชุมชนและสังคมที่เยาวชนได้ร่วมดำเนินงานตลอด 3 ปีที่ผ่านมา



    และในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 เป็นเวทีสื่อสารสาธารณะ มหกรรมเยาวชน ‘Voice of Youth Voice of Change: เสียงที่เปลี่ยน’ ประกอบด้วย Workshop จากกลุ่มเยาวชนและเครือข่ายทั้งหมด 10 ห้อง , บูธจากเยาวชน 10 พื้นที่และภาคีเครือข่าย , “ระเบิดพลังเยาวชน” เวทีนำเสนอผลงานการดำเนินงานของเยาวชน 10 พื้นที่และภาคีเครือข่าย , การแสดง Perfomance Art เรื่อง Voice of Youth โดย ลานยิ้มการละคร , แถลงการณ์ เครือข่ายเสียงเยาวชน (Voice Of Youth) “สร้างพื้นที่ให้ชีวิตเราได้เติบใหญ่ ในสังคมที่มอบความเชื่อมั่น ให้โอกาส และเคารพความหลากหลาย” และปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีจากศิลปินรับเชิญสุดพิเศษ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.30 น.



    สำหรับกิจกรรมในช่วงเช้า 10.00 – 15.00 น. เป็น Workshop ในห้องย่อย ที่พัฒนามาจากกิจกรรมในพื้นที่ของเยาวชนทั้ง 10 พื้นที่ รวมถึงภาคีเครือข่ายของ VOY อาทิ เสวนาบทบาทมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างมีส่วนร่วม ในหัวข้อ ความยั่งยืนจากคนรุ่นปัจจุบัน ที่ไม่ไปลิดรอนฝันของคนรุ่นใหม่ โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ , สวนสนุกบอร์ดเกม 3 เกมส์ โดยสภาเด็กและเยาวชนตำบลเขื่อนผาก , Workshop SEARCH ห้องตรวจภายใน โดยกลุ่มสันทรายน้ำหนึ่ง และ CCDC , Workshop ข้าวใหม่ งามัน อาหารฤดูกาลต้นหนาว ลุ่มน้ำแม่ทา โดยกลุ่มเยาวชนลุ่มน้ำแม่ทา , Workshop สวัสดิภาพสัตรว์และเชื้อดื้อยา (GPGxWAP) โดยกลุ่ม Green Power Ranger และ CMU X World Animal Protection , Workshop SDGs พลังดีสร้างโลก โดย กลุ่ม Green Power Gangster Thailand โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ , S.E.C. เมื่อการศึกษาไม่ได้เท่าเทียมอย่างที่คิด โดย เครือข่ายเสียงเยาวชนจังหวัดขอนแก่น – KK VoY , Workshop ECO Print & Herb Soap โดย กลุ่มการศึกษาเพื่อความยั่งยืนของชีวิต (WE-Life) , Workshop ห้องเรียนสิทธิมนุษยชน โดย KNACK กลุ่มสนับสนุนสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ร่วมกับ Amnesty International Thailand



    ในเวลา 15.00 – 20.00 น. มีบูธกิจกรรมจากเครือข่ายเยาวชน 10 พื้นที่ และภาคีเครือข่ายกว่า 30 บูธ ประกอบด้วย นิทรรศการที่เล่าถึงวิถีชีวิตของแต่ละภูมิภาค ผลิตภัณฑ์และสินค้า กิจกรรมแลกของรางวัลและบอร์ดเกมส์ให้ได้ร่วมสนุก



    และเวลา 16.00 – 20.40 น. เวที“ระเบิดพลังเยาวชน” เป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานของเครือข่ายเยาวชน 10 พื้นที่ ต่อด้วย การแสดง “รองเง็ง” ศิลปะจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ , หนังสั้น : เด็กมีเรื่องเล่า , ละครหุ่นเงา : ผาหินพระอาทิตย์ , การแสดง Love for all , Talk Show & VDO Talk 



    เวลา 20.40 – 21.10 น.การแสดง Performance Art นำเสนอการวิจัยผ่านละคร เรื่อง Voice of Youth บทละครโดย ภาสกร อินทุมาร กำกับโดย ฉัตรชัย สุขอนันต์ แสดงโดยลานยิ้มการละคร



    โดยในเวลา 21.10 – 21.20 น. มีการอ่านแถลงการณ์ จากเครือข่ายเสียงเยาวชน (Voice Of Youth) เรื่อง “สร้างพื้นที่ให้ชีวิตเราได้เติบใหญ่ ในสังคมที่มอบความเชื่อมั่น ให้โอกาส และเคารพความหลากหลาย” เนื้อหาว่า

    พวกเราคือตัวแทนเยาวชนจาก “โครงการเสียงเยาวชน” ที่เกิดขึ้นจากการร้อยเรียงการทำงานร่วมกันของเยาวชน 10 พื้นที่ จากแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ในระยะเวลากว่า 3 ปี ได้แก่ 1) กลุ่มสันทรายน้ำหนึ่ง 2) กลุ่มพลังโจ๋ 3) กลุ่ม KK-VoY จังหวัดขอนแก่น 4) กลุ่มเด็กมีเรื่องเล่า 5) สภาเด็กและเยาวชนตำบลเขื่อนผาก 6) กลุ่ม We Life 7) สภาเด็กและเยาวชนตำบลท่าสาป 8) กลุ่มละอ่อน Home 9) กลุ่มเยาวชนลุ่มน้ำทา และ 10) กลุ่ม CK Voice เชียงของ

    เชื่อมั่น และให้โอกาส

    พวกเรา ขอเป็นตัวแทนเสียงของเยาวชนทุกเสียงในสังคมไทย ที่ต้องการมีชีวิตและเติบโตอย่างมีคุณภาพต้องการอยู่ในสังคมและครอบครัวที่ดูแล ให้โอกาส และเชื่อมั่นในตัวลูกหลานของเขา ไม่ว่าลูกหลานของเขาจะมีความคิดเห็นแตกต่างอย่างไร ในเรื่องการเมือง ศาสนา การศึกษา เพศสภาพ และถิ่นฐานชาติกำเนิด ฯลฯ เพราะในไม่ช้า พวกเราจะเป็นผู้ใหญ่ และเราอยากเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ในสังคมที่เรามีส่วนร่วมออกแบบ เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นถัดไปจากพวกเราอีกต่อไป

    สังคมที่เปิดกว้างและเป็นไปได้

    พวกเราเติบโตมาในสังคมและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ และปู่ย่าตายาย เป็นอย่างมาก พวกเราโตมาในทั้งในสังคมที่มีความพร้อม แม้บางครอบครัวจะไม่พร้อม แต่พ่อแม่ก็ดิ้นรนอย่างมากเพื่อให้ลูกหลานสบาย ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่า เราจึงไม่ได้เป็นเด็กที่แข็งแกร่ง ไม่ได้มีความอดทนสูงแบบพ่อแม่ ลุงๆ ป้าๆ แต่ขณะเดียวกัน สังคมปัจจุบันที่เราอยู่กลับมีทางเลือกและเป้าหมายในชีวิต อาชีพ ที่เปิดกว้างและเป็นไปได้หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม

    สังคมที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย

    เราโตมาในโลกที่มีข้อมูล-ความรู้ บนโลกอินเตอร์เน็ตที่ล้นเหลือ สถาบันการศึกษาแบบเดิม จึงไม่ใช่ทางเลือกสำคัญสำหรับคนรุ่นเรา เราโตมาในสังคมที่ทั่วโลกเรียกร้องหาเสรีภาพ สิทธิ ความเท่าเทียม ความยุติธรรม เพราะปัญหาสังคมที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ ส่วนใหญ่แล้ว มาจากความไม่เท่าเทียมและความไม่ยุติธรรมที่เรากระทำต่อคนอื่น ต่อสิ่งแวดล้อม เราโตมาในโลกที่เห็นว่า ความสามารถและศักยภาพของมนุษย์ ในการสร้างสรรค์ ในการทำงาน ในการเป็นผู้นำ หรือ กระทั่งในการเป็นคนดี มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมส่วนรวม โดยไม่ได้ขึ้นกับสีผิว วัย เพศ วุฒิการศึกษา หรือชาติกำเนิด

    บาดแผลในใจพวกเรา

    พวกเราตระหนักดีว่า โลกและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้สร้างความงุนงง ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง จนสร้างความหวั่นไหวให้กับผู้ใหญ่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ทัน และส่งผลให้ผู้ใหญ่หลายท่านกังวลว่าลูกหลานจะไม่พร้อมเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้ พวกเราตระหนักดีว่า ผู้ใหญ่หลายท่านเติบโตในสังคมที่มีความเป็นระเบียบ มีความชัดเจนในเรื่องการเรียน อาชีพ เพศสภาพที่แสดงออก กฎระเบียบข้อบังคับ ซึ่งแน่นอนว่า เป็นสิ่งหล่อหลอมให้ผู้ใหญ่เหล่านี้ มีความมั่นใจไม่หวาดหวั่น แต่เมื่อพยายามนำมาใช้กับพวกเรา แม้จะด้วยความหวังดีก็ตาม กลับสร้างความยากลำบากและบางครั้งกลายเป็นบาดแผลที่ร้าวลึกลงในจิตใจของพวกเราเป็นอย่างมาก

    ความฝันต่อสังคมของพวกเรา

                คำประกาศนี้ของพวกเรา จึงอยากส่งเสียงไปยังครอบครัว ผู้ใหญ่ และเพื่อนร่วมสังคมของเราทุกๆคน “ว่าเรามีความฝัน” ความฝันของพวกเรานั้น เรียบง่าย งดงาม ไม่แตกต่างจากฝันของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ที่เคยฝันในวัยวันของตนเอง เราฝัน ถึงการมีพื้นที่ที่ปลอดภัย ทั้งในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน-สังคม มีพื้นที่ที่มอบความเชื่อมั่นและโอกาส ให้เสรีภาพในการใช้ชีวิต แสดงออก และแสดงความคิดเห็น ฝันถึงการได้ร่ายรำอย่างเสรีบนเพศสภาพที่พวกเราเลือกเอง เคารพความแตกต่างหลากหลายของผู้คน แม้ต่างชาติพันธุ์และที่อยู่อาศัย แตกต่างความรวยจน ไม่ถูกปิดกั้น ขัดขวางด้วยข้ออ้างทางศาสนา อายุ เพศ วุฒิการศึกษา หรือชาติกำเนิด  “จงปล่อยให้ชีวิตของเราได้เติบใหญ่อย่างงดงาม” ให้สิ่งที่เราฝันเกิดขึ้นเป็นความจริง พวกเรา ไม่ได้กำลังฝันและสร้างสังคมที่มีแต่พวกเรา แต่เรากำลังชวนทุกคนทุกวัย “มาร่วมสร้างสังคมที่ใฝ่ฝันไปด้วยกัน”



    ปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีจากศิลปิน PURPEECH 


    Related

    นัดแสดงออกหน้าสถานกงศุลสหรัฐฯ เชียงใหม่ ร้องหยุดสนับสนุนสงครามในปาเลสไตน์

    4 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. เกิดการแสดงออกเรียกร้องเพื่อให้สหรัฐฯ ยุติการสนับสนุนการอิสราเอลทำสงครามในปาเลสไตน์ ณ...

    และนี่คือเสียงของ We are the 99% ฟังเสียง 6 แรงงานที่อยากเห็นคุณภาพชีวิตที่ดี

    เรื่อง: วิชชากร นวลฝั้น ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว 1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานสากล (International Workers’...

    ค่าแรงมันร้าย กดขี่ขั้นโหด ถึงเวลา ‘สหภาพแรงงาน’

    เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ร้อนแรงไม่แพ้อากาศประเทศไทย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ในงานเวทีวาระเชียงใหม่ Chiangmai...