2566 ประเทศไทย ไปทางไหน?

2 มกราคม 2566


ภาพ: ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 Book Re:public จัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย ไปทางไหน” เพื่อทบทวนปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ในมุมของนักกฎหมาย นักสังคมศาสตร์ และนักรัฐศาสตร์ เพื่อคาดการณ์อนาคตและทิศทางการเมืองไทยที่อาจจะเกิดขึ้นในปี 2566 โดย นัทมน คงเจริญ คณะนิติศาสตร์, ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และเก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชวนคุยโดย นาวินธิติ จากกลุ่ม SAAP 24:7

สังคมไทยตอนนี้เป็นอย่างไร?


ภาพ: ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

นัทมน คงเจริญ ตั้งต้นด้วยประโยคที่ว่า “เธอไม่รู้จักฉัน ฉันไม่รู้จักเธอ เราไม่อยากรู้จักกัน” โดยอธิบายว่าสังคมปัจจุบัน มีเทคโนโลยีทางเลือกให้เราได้เลือกเสพมากขึ้น ช่องทางต่าง ๆ เราจะรับข้อมูลข่าวสารจากทางไหนบ้าง พบว่าทุกวันนี้มีโลกคู่ขนาน

“เคยเข้าไปส่องดูในเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ไม่ถูกจริตกับเรา ด้วยความที่ว่าอยากรู้ว่าเขาคิดยังไงกัน ก็เข้าไปส่องดูเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วรู้สึกรับไม่ได้ ไม่อยากรู้ว่ามันคิดยังไงต่อไป เราเดินคนละทางกัน แล้วเราก็จะพบว่าในส่วนของเทคโนโลยีที่เราเลือกเสพได้ หนังสือที่เราเลือกอ่าน หนังที่เราเลือกดู มันกระจัดกระจาย จากที่สมัยเด็กเรามีทีวีอยู่แค่ไม่กี่ช่อง จุดเริ่มต้นที่พบว่ามันเริ่มมีทางเลือกมากขึ้นคือที่วัยรุ่นยุคนั้นดูซีรี่เรื่องฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น”

“จุดแยกของการทำให้สังคมมันกระจัดกระจายเป็นจิ๊กซอว์ที่ค่อย ๆ ห่างกันออกไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นจากที่สอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัย ก็จะรู้สึกว่าเวลาเราพูดหรือยกตัวอย่างอะไรไป นักศึกษาจะไม่ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ อย่างการพูดถึงเดือนตุลาหรือพฤษภา ส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่เป็นผู้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองประมาณ 70 % เขาไม่รู้เรื่อง แต่มีกลุ่มเล็ก ๆ เขาก็รู้เรื่อง เขาอาจจะไม่แสดงตัวก้ได้ เราไม่รู้ว่าคนที่เราคุยด้วยความคิดเขาเป็นยังไง เราก็จะไปเจอกันในสื่อซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าชีวิตจริงเขาเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเราเจอกันในโลกเสมือนจริง”

“ขณะที่ในช่วงสามปีที่ผ่านมา เราพบว่าคนรุ่นใหม่มีความกล้ามากกว่าเราเยอะเลย เราจะระวังเวลาเราโพสต์อะไร ในขณะที่เราไม่กล้าโพสต์บางประเด็นแต่เขากล้าโพสต์ เทคโนโลยีที่ทำให้เราไม่รู้จักคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา แต่เราไปรู้จักคนที่อยู่ไกลในโลกเสมือนจริง นักศึกษาที่เราเจอเขาไปไกลกว่าเรา เขาไปหาข้อมูลต่าง ๆ มากมาย”

ทั้งนี้นัทมน ตั้งคำถามต่อในฐานะนักกฎหมายมุมมองในปัจจุบัน เนื่องด้วยตัวบทกฎหมายที่คุ้นชินสวนทางกับชีวิตจริง และไม่สามารถเชื่อตัวหนังสือได้ ต่อให้มันมีเจตนาอธิบายกำกับอยู่ การใช้กฎหมายในความเป็นจริงต่างกับในหนังสือเป็นอย่างมาก

“ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าคดีที่ติดตามได้มันเหมือนซื้อหวย เวลาไปนั่งหน้าศาลเราคิดว่าผู้ตัดสินคดีจะตัดสินคดีอย่างตรงไปตรงมา ปรากฎว่าอ่านคำพิพากษาคดีพลิก เหตุผลก็ไม่มี กฎหมายในหนังสือกับความเป็นจริง คนละเรื่องกันและในอนาคตถ้าเราไม่สามารถแก้ไขกระบวนการยุติธรรมให้เข้ามาอยู่ในร่องในรอย กฎหมายจะถูกมองข้ามและเสื่อมศรัทธาอย่างมาก”


ภาพ: ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

ณัฐกร วิทิตานนท์ ชวนมองในมุมด้านรัฐศาสตร์ โดยอธิบายว่ายังคงมองเป็นกึ่งประชาธิปไตย มองจากเนื้อหารัฐธรรมนูญ ยังมีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง ไม่เหมือนก่อนหน้านั้นที่ยุคของคสช. มีอำนาจ โดยเราไม่ได้เลือกใครสักคนไปทำหน้าที่แทนเรา บรรยากาศแบบนี้มันเหมือนยุคสมัยพลเอก เปรม เมื่อดูจาก Freedom House  ที่ประเมินจะให้ 3 สี สีเขียว (Free) คือเสรี และ สีเหลือง (Partly Free) คือเสรีบางส่วน สีม่วง (Not Free) คือ ไม่เสรี โดยประเทศไทยเป็นสีม่วงคือ Not free ปี 2021 ต่อเนื่องมา 2022 และคะแนนตก จากปี 2021 คะแนนมีอยู่ 30 แต่ปี 2022 เหลือ 29 แต่ตอนปี 2020 คะแนนดีกว่า 2 ปีล่าสุดเพราะตอนเลือกตั้งเสร็จสิ้นยังเป็น Partly Free ยังเป็นค่อนข้างเป็นประชาธิปไตย แต่ Key Point ที่ทำให้ตกต่ำใน 2 ปีหลังมีอยู่ 3 ประเด็น

1.มาตรการในช่วงโควิด การออกพระราชกำหนด เอามาห้ามกับการชุมนุม ซึ่งมันเป็นสิทธิทางการเมืองพื้นฐาน

2.บทบาทศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรสำคัญที่ชี้เป็นชี้ตาย หลายครั้งคำตัดสินมันสวนทาง มันไม่ไปกับหลักกฎหมาย

3.การบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งใช้อย่างฟุ่มเฟือยมากในระยะหลัง มันก็เป็นเหตุผลรวม ๆ กัน ที่ทำให้เป็นดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยของเรามันตกต่ำและถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ภาพ: ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เสนอว่า จากช่วงที่ตนได้เข้ามามหาลัยนั้นเป็นช่วงที่ไม่มีแนวคิดคอมมิวนิสต์แล้วและเป็นช่วงที่แนวคิดเสรีนิยมใหม่เริ่มเข้ามา จากการสำรวจในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นช่วงดิจิตอลที่มีการสนทนากันผ่านทาง Digital Platform ดังนั้นทำให้การถกเถียงทางการเมืองนั้นเร็วมากจนจับประเด็นได้ยากและการพูดคุยในประเด็นทางการเมืองก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรวดเร็ว การตั้งคำถามเกี่ยวกับเสรีนิยมเป็นประเด็นที่ผู้คนไม่ได้มีความเข้าใจร่วมกัน อีกแง่มุมที่ได้เห็นคือ ลักษณะทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่มีการตื่นตัวเป็นลักษณะวัฒนธรรมแบบ Work คือ การตื่นตัวของความเป็น Identity Politics (การเมืองเชิงอัตลักษณ์) ไม่ว่าจะเป็นการที่เราต้อง PC (Political Correctness)ในเรื่องต่าง ๆ ในขณะที่เราสามารถเหยียดคนอื่นที่ออกความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากเรา ต่อมาในแง่การเมืองระดับรัฐ จะเห็นถึงกระแสการเมืองแบบชาตินิยมและความคลั่งศาสนาที่มากขึ้น รัฐในหลาย ๆ ที่ก็มีความเป็นเผด็จการมากขึ้นดังนั้นในทศวรรษที่เราอาศัยอยู่นี้

เราอยู่ในความสัมพันธ์ที่ค่อนช้างกระจัดกระจาย โครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมทำให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น และเรามีการตั้งคำถามกับประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal Democracy) ที่น้อยลงในแง่ของวัฒนธรรมการเมืองนั้นทำให้เห็นถึงการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ที่พูดถึงประเด็นเรื่องอัตลักษณ์และวัฒนธรรมมากขึ้น แต่ในแง่การเมืองระดับรัฐเราจะเห็นถึงความเป็นเผด็จการ สถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันนั้นคือ เราไม่สามารถทำอะไรได้และไม่เห็นจุดหมายที่แน่นอน

เก่งกิตพูดถึงประเด็น 3 ประเด็นใหญ่ คือ

1. โครงสร้างอำนาจรัฐของไทยในปัจจุบันมีรูปแบบที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่สามารถคุมอำนาจการปราบปรามผู้ชุมนุมที่มาชุมนุม แต่กลไกด้านอุดมการณ์เป็นสิ่งที่รัฐไม่สามารถยึดกุมได้

2. ระดับรัฐบาลและรัฐสภา ในระดับรัฐบาลและรัฐสภาเราจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงคือ การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ที่ทำให้เห็นถึงการขับเคี่ยวทางการเมืองในสภาและการเกิดพื้นที่ผลักดันประเด็นทางการเมืองที่มากขึ้น

3. พลังนอกรัฐสภาที่ยังไม่มีความเข้มแข็งมากพอ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้นแม้ว่าจะมีการตื่นตัวในช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่ได้มีการจัดตั้งทางการเมืองที่เป็นระบบ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองก็จะเน้นจัดเป็น Event ทางการเมืองมากกว่าที่จะเป็นขบวนการทางการเมือง ในส่วนฝ่ายอนุรักษ์นิยมนั้นก็ได้กลายเป็นผู้สูงอายุทางการเมืองที่ได้เคลื่อนไหวแล้วหรือไม่ได้เข้มข้นมากขึ้น เพราะไม่อาจเคลื่อนไหวได้หากปราศจากกลไกอำนาจรัฐ ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ในสภาวะที่ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ พลังนอกรัฐสภาก็ยังไม่มีพลังพอที่จะเปลี่ยนแปลง ในแง่ของการเมืองนั้นแม้จะมีการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่แต่อำนาจรัฐก็ยังมีการเผด็จการมากขึ้น ทำให้เกิดรอยร้าวที่ไม่อาจประสานได้และไม่มีฝ่ายใดสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

เมื่อเด็กมีความกล้าหาญและพลังของความสร้างสรรค์

นัทมน คงเจริญ อธิบายต่อในเรื่องของความกล้าหาญในหลายมุมที่เห็นจากช่วงที่ผ่านมา

“เด็กมีความกล้ามากขึ้น จากการสังเกตุเขาในโซเชียลมีเดีย ในแง่ที่เขามีความคิดสร้างสรรค์มาก พยายามดัดแปลงประเด็นที่เขาอยากจะชนให้ออกมาในสื่อต่าง ๆ  ตอนนี้เขาสามารถเป็นผู้สื่อข่าวได้เอง ทุกคนสามารถไปชูป้ายและไลฟ์สดได้เองโดยไม่ต้องพึ่งใคร เขาสามารถเผยแพร่ของตนเองได้ เขามีความกล้าในการชนตรง ๆ ในแง่การจัดอีเว้นต์คือเขาสามารถทำได้เลย ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปขออนุญาตใครแต่ในทางกลับกันก็ต้องรับผิดชอบตัวเองว่าจะไปพูดเรื่องอะไรบ้าง อันนี้คือความหมายที่ว่าเขามีความกล้าในการที่จะสื่อความความอย่างตรงไปตรงมา อันดับหนึ่งที่อยากต่อประเด็นคือแล้วเขาจะได้รับการสนับสนุนจากสังคมขนาดไหน รู้สึกว่าสังคมต้องไม่ปล่อยหน่วยกล้าตายเหล่านี้โดดเดี่ยว ปีที่แล้วเราพบว่าหลังการมีการชูป้ายอะไรต่าง ๆ ก็มีคนอุ้มเขาไป มองว่าดังนั้นแนวร่วมต้องมีการดูแลความปลอดภัยซึ่งกันและกัน และต้องรีบกระจายข่าวให้เป็นประเด็นทางสังคม ในแง่ของความเปลี่ยนแปลง ตอนนี้สังคมและมุมมองในอนาคตจะเปลี่ยนไปทางไหน ในแง่ของกฎหมายเราจะพบว่าที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดการผู้เห็นต่างทางการเมือง หรือในแง่ของการมี io ในการที่จะสะกัดกั้นการแสดงออกความคิดเห็น และจัดการให้เป็นคดีในการฟ้องเขา แต่ยังดีสองปีที่ผ่านมาในส่วนของหน่วยงานทางกฎหมายที่มี I law หรือศูนย์ทนายช่วยเขา มองว่าเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ปัญหาที่สำคัญคือในกระบวนการยุติธรรม ตำรวจ อัยการหรือศาล ในแง่หนึ่งคือความเสื่อมของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมจะค่อย ๆ ถูกประจานในสื่อสังคมต่าง ๆ อย่างเช่น ศูนย์ทนายจะเอาคำพิพากษามาเผยแพร่ สังคมจะตัดสินได้ว่ามันขัดกับสามัญสำนึก สิ่งสำคัญต้องมีกระบวนการเปิดเผยคำพิพากษาที่ไร้เหตุผล ผู้พิพากษาต้องมีเหตุผลกำกับในการลงโทษ คาดหวังว่าจะมีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม”

ภาพ: ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

แนวโน้มของการเมืองและการเลือกตั้ง

ณัฐกร วิทิตานนท์ กล่าวถึงแนวโน้มของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2566 เป็น 4 ระดับอย่างเป็นระบบคือ

1. ปีหน้ามีเลือกตั้งแน่นอน ถ้าไม่มีมันก็จะเป็นแบบรัฐธรรมนูญปี 57 ที่ก็ถ่วงมาเรื่อยๆ ถ้าเป็นเช่นนี้ ปัจจุบันก็สามารถเป็นได้เพราะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวในสถานการณ์ปกติ ตั้งแต่ 2475 เป็นครั้งเดียวที่สมัยจอมพลป. การเลือกตั้งไม่มีเลย ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เลือกตั้งไม่ได้ จึงมีการไปแก้รัฐธรรมนูญ ปี 49 และ ปี 57 เพื่อที่จะขยายวาระของสภา โดยที่ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง เพราะมีการกล่าวในรัฐธรรมนูญ ว่าสภามีวาระเท่าไหร่

“ผมคิดว่ามีแน่ ๆ เลือกตั้ง ผลของการเลือกตั้งมันจะเป็นแบบที่ผ่านมาไหม ก่อนรัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุด ปี 49 จนถึงปี 57 ในปีนั้น มีเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้งการเลือกตั้งครั้งนั้นก็โมฆะ ปี 57 ก็มีม็อบนกหวีด มีการรณรงค์ให้ปฏิรูปการเลือกตั้ง และผมคิดว่าปีหน้ามีเลือกตั้งแน่นอน

2. ถ้าเลือกตั้งแล้วใครจะชนะ ระบบเลือกตั้งตอนนี้ เป็นระบบที่พรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์ที่สุด ทุกครั้งที่ใช้ระบบนี้พรรคเพื่อไทยจะมีคะแนนสูง เพราะมันเป็นระบบเขตเดียว คนเดียวที่ผู้แพ้ที่เป็นคะแนนเสียงตกน้ำ คะแนนนั้นจึงหายไปเลย หมายความว่าถ้าแพ้แบบสูสี 5 คะแนน ต่อ 9 คะแนน คะแนนก็จะถูกปัดหายไป ในยุโรปเขาก็กลัวปัญหานี้เขาจึงใช้การนับระบบสัดส่วนมันทำให้ทุกคะแนนมีความหมาย

3.ทีนี้คนที่ชนะจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ ตอบไม่ได้ เนื่องจากมีปัจจัยหลายปัจจัย แต่ปัจจัยง่าย ๆ คือ มันมีเงื่อนไขของพรรคแต่ละพรรคที่มีการจับมือกันของพรรคต่าง ๆ เพราะมีการแบ่งขั้วทางการเมืองกัน ต่อให้เพื่อไทยชนะ

“ผมคิดว่ามันอาจจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยหมายความว่าจะมี ‘ตาอยู่’ เหมือนสมัยคึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ 18 เสียงสามารถเป็นนายกได้ เพราะมันมีปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือ สว. หมายความว่าเพื่อไทย มี 500  แต่ได้ 250 ซึ่งก็ไม่เพียงพอ ถ้าจะเอาสว. ด้วย มีอยู่ 750 ต้องได้ 375 ต่อให้เพื่อไทยจับมือกับก้าวไกล ก็ไม่ถึงดังนั้นมันสามารถข้ามขั้วได้ ทำให้พรรคแต่ละพรรคจับมือกันได้ เช่น กระแสไม่เอาตู่แต่เอาป้อม ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่มีเงื่อนไขก่อนหน้าว่าสุดท้ายแล้วคนที่เลือกจะมาตั้งคำถามกลับว่าคุณได้ทำตามเจตนารมณ์ของคนที่เลือกคุณไปไหม ถ้าคุณไปจับมือกับเขา เช่น เพื่อไทยไปจับมือกับประชาธิปัตย์ มันเคยมีเหตุการณ์รุนแรงปี 53 ทำให้มันเป็นบาดแผลในใจของคนเสื้อแดง  ที่มาจากพรรคการเมืองไปจับมือกัน”

4.พอจัดตั้งรัฐบาลแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหม ณัฐกรให้ความเห็นว่ายากมาก แต่อาจจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงเช่น เรื่องกัญชา สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม แต่โอกาสที่จะไปถึงเรื่องใหญ่ ๆ ที่เปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง เรื่องรัฐธรรมนูญ อาจจะยังเป็นไปไม่ได้ ประวัติศาสตร์ที่มันเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยแท้จริงได้คือ มันมีเฉพาะหลังเหตุการณ์นองเลือด มีการแก้รัฐธรรมนูญไม่รู้กี่ครั้ง คิดว่ามันจะค่อย ๆ เปลี่ยน แต่มันมาแน่ ๆ จะไม่มาในเร็ววัน

เดินหน้าต่อเพื่อการขับเคลื่อนสังคมด้วย ”ฉันทามติ”

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ มีข้อเสนอว่าการต่อสู้ทางการเมือง 2 ปัจจัยใหญ่ คือ 1.ต้องมีฉันทามติใหญ่ว่าเราจะทำอะไร ต้องมีการจัดเรียงประเด็นที่เห็นพ้องร่วมกัน ประเด็นที่เห็นพ้องกันจะต้องสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ ซึ่งการเมืองในตอนนี้นั้นทำให้เกิดการถกเถียงที่ยังไม่อาจหาข้อสรุปที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยได้ 2.การขับเคลื่อนทางการเมืองที่เป็นการรวมกลุ่มทางการเมือง นี่เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าเราไม่มี

“มันไม่แปลกเลยที่การขับเคลื่อนทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีกิจกรรมทางการเมืองแต่ก็ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงใด ๆ และสุดท้ายกระบวนการก็ถูกดำเนินทำให้เป็นไปตามระบบจนเหลือเพียงทางเลือกที่ว่าเราควรเลือกพรรคการเมืองใด แต่พรรคการเมืองนั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมดของการขับเคลื่อนทางการเมือง”

โดยประชาธิปไตยนั้นเป็นกระบวนการที่ไม่จบสิ้น เวลาที่ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปมันจะถูกส่งต่อเสมอและจะขยับไปตามกลุ่มคนใหม่ ๆ ที่อยากจะเข้ามามีส่วน ซึ่งเรามักจะคิดว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องของการสร้างระบอบการเมืองที่มั่นคงและมีหน้าตาเชิงสถาบันแบบนี้ไปตลอด แต่แท้จริงแล้วกระบวนการสร้างประชาธิปไตยนั้นเป็นการเปิดให้ตัวแทนใหม่ ๆ สามารถที่จะเข้ามากำหนดประเด็นที่สามารถปรับเปลี่ยนตัวระบบภายใต้เงื่อนไขที่ทุกคนสามารถแสดงออกได้

ส่วนสำคัญที่พูดถึงฉันทามติทางการเมืองคือในเบื้องต้นเรายังไม่มีฉันทามติร่วมกันว่า ประชาธิปไตยควรจะเป็นกระบวนการที่เปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานการสร้างประชาธิปไตย แต่การเมืองในปัจจุบันนั้นยังไม่สามารถที่จะสร้างฉันทามติร่วมกันได้ เพราะการเมืองในช่วงที่ผ่านมานั้นมันยังไม่เข้มข้นพอที่จะทำให้เกิดผลึกของฉันทามติความเข้าใจชุดการเมืองชุดเดียวที่เป็นพื้นฐานร่วมกันได้ ซึ่งไม่อาจได้ประชาธิปไตยได้ในเวลาอันสั้น เพราะมันเป็นกระบวนการการต่อสู้ แต่กระบวนนี้ยังทำให้ฝ่ายที่ต่อต้านผู้มีอำนาจยังสามารถที่จะขับเคลื่อนและต่อรองได้ ในสังคมปัจจุบันที่ถูกเรียกว่า ประชาธิปไตยครึ่งใบนั้นคือ ระบอบเผด็จการ

ภาพ: ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

“หากพูดถึงในฐานทางการเมืองไทย ได้อยู่ภายใต้โครงสร้างอนุรักษ์นิยมและเผด็จการ ถึงแม้เราจะมีพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นก็ตาม แต่พอเราคิดว่าเราอยู่ในความเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบและเราจะทำอย่างไร นี่ถือเป็นการตั้งคำถามที่ผิด การเข้ามาของการรัฐประหารนั้นมาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาลที่เอื้อต่อคนร่ำรวย แต่ที่น่าสนใจคือในขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แต่เรายังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลย นั่นเพราะว่าเราไม่มีการแบ่งขั้วทางการเมือง จึงทำให้เห็นข้อสังเกตคือ คนรุ่นใหม่นั้นตื่นตัวทางการเมืองเป็นอย่างมากแต่ทำไมถึงยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ดังนั้นเราต้องการมีการแบ่งขั้วทางการเมืองที่ชัดเจน ซึ่งต้องอาศัยพลังการต่อสู้ทางการเมืองที่ต้องมีการตกผลึกสู่การสร้างฉันทามติร่วมกันนอกจากกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่ก่อให้เกิดอะไร การแบ่งขั้วนี้ยังไม่ถูกแบ่งมากพอที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง การคิดหาวิธีอยู่ร่วมกันไม่ได้ช่วยอะไร ซึ่งเวลาที่สังคมแบ่งขั้วไม่ได้มีความอันตรายเสมอไป แต่การแบ่งขั้วนั้นทำให้คนมีทางเลือกมากขึ้นในทางการเมือง”

ภาพ: ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง