เปิดข้อมูล 30 ปี ผู้ว่าฯ ภาคเหนือ เป็นใครมาจากไหน เป็นคนในพื้นที่เท่าไหร่ แล้วดำรงตำแหน่งกันกี่ปี

เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน

“ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการแต่งตั้ง การแต่งตั้งในยุคนี้แน่นอนว่าก็ต้องรับนโยบายหลัก ๆ มาจากส่วนกลาง ซึ่งนโยบายจากส่วนกลาง ถ้าเปรียบเทียบกับเสื้อ ก็คือแบบเสื้อตัวเดียวเหมือนกันหมด ตัวเราขนาดไม่เท่ากันอยู่แล้ว แต่เรากําลังพยายามใส่เสื้อขนาดเดียวกัน ซึ่งทุกจังหวัดก็เช่นกัน บางทีมันอาจจะไม่เอื้อและไม่เหมาะต่อการแก้ไขปัญหา มันทําให้บางพื้นที่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว กระบวนการของบประมาณก็เป็นไปอย่างล่าช้า”

ประเทศไทยมีราชการบริหารส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด โดยไม่นับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นส่วนกลางของการบริหารประเทศ และเมืองพัทยา ที่เป็นเขตบริหารท้องถิ่นแบบพิเศษ อีก 76 จังหวัดที่เหลือ ก็มีผู้แทนของฝ่ายบริหารจากส่วนกลางที่ไปประจำในแต่ละท้องที่ภูมิภาค อย่างไรก็ตาม อำนาจการตัดสินใจและกำหนดนโยบายก็ยังคงอยู่ที่ส่วนกลาง ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ จึงถูกพูดถึงว่า เป็นเครื่องมือการขยายอำนาจมากกว่าการกระจายอำนาจ และเกิดการตั้งคำถามตามมาว่า “ทำไมคนต่างจังหวัดจึงไม่มีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ ของตัวเองบ้าง” 

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้จะมีการรณรงค์เพื่อปลดล็อกท้องถิ่นมากว่า 30 ปี แล้ว แต่ที่ผ่านมาท้องถิ่นยังถูกแช่แข็ง

อำนาจหน้าที่ผู้ว่าราชการกับการบริหารส่วนภูมิภาค

“ถ้าพูดถึงผู้ว่าฯ ในฐานะบังคับบัญชาสูงสุดของจังหวัด เราไม่สามารถละได้ในการพูดถึงคําว่ากระจายอํานาจ หรือ Decentralization ซึ่งความคิดเรื่องกระจายอํานาจ เป็นความคิดที่เชื่อว่ามันจะมาอุดช่องว่างของความคิด ทางการเมืองในแบบโบราณอย่างการรวมศูนย์อํานาจโดยรัฐ หรือ Centralization โดยบริหารจัดการผ่านกลไกของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งก็คือ จังหวัดและอำเภอ โดยแต่งตั้งข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ไปดำเนินภารกิจในท้องที่ต่าง ๆ แทนส่วนกลาง แต่การที่จะตัดสินใจต้องอยู่ในกรอบที่ส่วนกลางกำหนดอยู่ดี”

รศ.ดร.ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการเชิงโครงสร้างของระบบการปกครองท้องถิ่นในปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุที่การปกครองท้องถิ่นของไทยไม่สามารถบรรลุถึงจุดหมายที่ จะให้อิสระอย่างแท้จริงแก่ท้องถิ่นได้ ก็เนื่องจากว่า การปกครองและบริหารประเทศยังมีลักษณะที่พยายามดึงและรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง โดยใช้การปกครองในรูปแบบราชการส่วนภูมิภาค

การบริหารราชการส่วนภูมิภาค (Provincial Administration) เป็นการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการแบ่งอำนาจ (Deconcentration) ราชการบริหารส่วนกลางจะมอบอำนาจหน้าที่ในกิจการบางอย่างไปให้แก่ราชการบริหารส่วนภูมิภาคไปปฏิบัติจัดทำ มีอำนาจตัดสินใจในขอบเขตที่จำกัดบางอย่างตามที่ราชการบริหารส่วนกลางจะได้มอบไว้ให้หน่วยงานที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค เป็นกลไกสำคัญทางการเมืองในการแปลงนโยบายการเมืองสู่การปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 51 ได้บัญญัติให้การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคมีสองรูปแบบคือ จังหวัดและอำเภอ

นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 54 กำหนดให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีมาปฏิบัติการให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชน และเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหาร โดยอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดมี 9 ข้อ ตาม มาตรา 57 ก็เน้นย้ำให้บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรีและส่วนกลางมอบหมาย หรือทำตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการในฐานะหัวหน้ารัฐบาล รวมถึงควบคุมดูแลการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในจังหวัด มากกว่าบทบาทด้านการให้บริการภาครัฐแก่ประชาชนอย่างเห็นได้ชัด

30 ปีมานี้ ผู้ว่าฯ ภาคเหนือ เป็นใครมาจากไหน เป็นคนในพื้นที่กี่คน แล้วดำรงตำแหน่งกันกี่ปี

ผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทยมาจากการแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย เช่นเดียวกันกับผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคอื่น ๆ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามข้อเสนอของปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะได้รับการพิจารณาจากคุณสมบัติและประสบการณ์ในการทำงานราชการ ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมักเป็นข้าราชการที่มีประสบการณ์และมีผลงานในการทำงานราชการมาก่อน แต่ที่ผ่านมากลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ปัจจัยในการโยกย้ายข้าราชการมหาดไทยเกี่ยวข้องกับความเป็นพวกพ้องสถาบันเดียวกัน (ตระกูลสิงห์หลากสี) และความสัมพันธ์เชื่อมโยงทางการเมืองค่อนข้างมาก

จากการสำรวจข้อมูลระยะเวลาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดใน 16 จังหวัดในภาคเหนือ (ไม่รวมจังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากไม่พบข้อมูลการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ในเว็บไซต์ประจำจังหวัด จึงไม่สามารถนำเสนอข้อมูลในจังหวัดดังกล่าวได้) ตั้งแต่ปี 2536 – 2566 ในฐานะเป็นช่วงเวลาหลังจากที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 พบว่าจังหวัดที่เปลี่ยนผู้ว่าฯ บ่อยที่สุดในรอบ 30 ปีคือ พะเยา จำนวน 23 คน รองลงมาเป็น แพร่และพิจิตร 21 คน ลำปางและน่าน 20 คน เชียงรายและลำพูน 19 คน เชียงใหม่และอุตรดิตถ์ 18 คน แม่ฮ่องสอน, ตาก, เพชรบูรณ์และอุทัยธานี 17 คน พิษณุโลก 16 คน สุโขทัย 15 คน และกำแพงเพชร 13 คน ตามลำดับ

ทั้งนี้ ยังพบว่า ใน 30 ปีที่ผ่านมา 16 จังหวัดภาคเหนือ มีผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหมด 291 คน โดยเป็นคนที่มีภูมิลำเนาจังหวัดตัวเองเพียง 10 คน คนนอกจังหวัด 84 คน และไม่ทราบข้อมูลอีก 197 คน ซึ่งไม่พบข้อมูลภูมิลำเนาแต่ละคนในเว็บไซต์ประจำจังหวัด 

หากพิจารณารายจังหวัดมีสถิติที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งสิ้น 41 คน เมื่อนับตั้งแต่ปี 2536 – 2566 มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าจำนวน 18 คน ส่วนใหญ่มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี จำนวน 8 คน ถัดมา ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี จำนวน 4 คน ดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 4 คน และดำรงตำแหน่ง 3 ปี จำนวน 2 คน ซึ่งมีผู้ว่าฯ เป็นคนเชียงใหม่ 4 คน (โกสินทร์ เกษทอง, อมรพันธุ์ นิมานันท์, ธานินทร์ สุภาแสน และเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์) จังหวัดอื่น ๆ 7 คน และไม่ทราบข้อมูล 7 คน ดังนี้ 

  1. วีระชัย แนวบุญเนียร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 18 ตุลาคม 2536 – 30 กันยายน 2539 ระยะเวลา 2 ปี 11 เดือน
  2. พลากร สุวรรณรัฐ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2539 – 11 มกราคม 2541 ระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน
  3. ประวิทย์ สีห์โสภณ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 12 มกราคม 2541 – 22 เมษายน 2544 ระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน
  4. โกสินทร์ เกษทอง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 23 เมษายน 2544 – 9 ตุลาคม 2545 ระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน
  5. พิสิษฐ เกตุผาสุข ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 28 ตุลาคม 2545 – 4 มิถุนายน 2546 ระยะเวลา 7 เดือน
  6. สุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 5 มิถุนายน 2546 – 12 พฤศจิกายน 2549 ระยะเวลา 3 ปี 5 เดือน
  7. วิชัย ศรีขวัญ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 13 พฤศจิกายน 2549 – 30 กันยายน 2550 ระยะเวลา 11 เดือน
  8. วิบูลย์ สงวนพงศ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2550 – 13 มีนาคม 2552 ระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน
  9. อมรพันธุ์ นิมานันท์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 16 มีนาคม 2552 – 30 กันยายน 2553 ระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  10. หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2553 – 30 กันยายน 2555 ระยะเวลา 2 ปี
  11. ธานินทร์ สุภาแสน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2555 – 30 กันยายน 2556 ระยะเวลา 11 เดือน
  12. วิเชียร พุฒิวิญญู ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 – 1 มิถุนายน 2557 ระยะเวลา 8 เดือน
  13. สุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 2 มิถุนายน 2557 – 30 กันยายน 2558 ระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  14. ปวิณ ชำนิประศาสน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 – 29 มิถุนายน 2561 ระยะเวลา 2 ปี 9 เดือน
  15. ศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 29 มิถุนายน 2561 – 30 กันยายน 2562 ระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  16. เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2564 ระยะเวลา 2 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  17. ประจญ ปรัชญ์สกุล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  18. นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 – ปัจจุบัน ระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2536 – 2566 จาก 18 คน เป็นคนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพียง 4 คน หรือแค่ 22.2% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อย คนที่เป็นคนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่นั้นกลับไม่เคยบริหารมากกว่า 2 ปี ซึ่งคนที่เป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ที่บริหารงานได้นานที่สุดคือ เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯเชียงใหม่ทั้งหมด 2 ปี รวมไปถึงมีคนที่ดำรงตำแหน่งมากกว่า 3 ปี เพียง 2 คน ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก

จังหวัดเชียงราย มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งสิ้น 54 คน เมื่อนับตั้งแต่ปี 2536 – 2566 มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าจำนวน 19 คน ส่วนใหญ่มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี จำนวน 9 คน ถัดมา ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี จำนวน 5 คน ดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 2 คน ดำรงตำแหน่ง 3 ปี จำนวน 2 คน และดำรงตำแหน่งมากกว่า 4 ปี จำนวน 1 คน ซึ่งมีผู้ว่าฯ เป็นคนเชียงราย 2 คน (วรเกียรติ สมสร้อย และประจญ ปรัชญ์สกุล)จังหวัดอื่น ๆ 6 คน และไม่ทราบข้อมูล 11 คน ดังนี้

  1. คำรณ บุญเชิด ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2534 – 30 กันยายน 2539 ระยะเวลา 5 ปี
  2. วิจารณ์ ไชยนันทน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2539 – 30 กันยายน 2542 ระยะเวลา 3 ปี
  3. สำเริง ปุณโยปกรณ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2542 – 30 กันยายน 2544 ระยะเวลา 2 ปี
  4. รุ่งฤทธิ์ มกรพงศ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2544 – 27 ตุลาคม 2545 ระยะเวลา 1 ปี 27 วัน
  5. นรินทร์ พานิชกิจ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 28 ตุลาคม 2545 – 30 กันยายน 2547 ระยะเวลา 1 ปี 11 เดือน
  6. วรเกียรติ สมสร้อย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2547 – 28 กุมภาพันธ์ 2549 ระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน
  7. อุดม พัวสกุล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 5 มิถุนายน 2549 – 12 พฤศจิกายน 2549 ระยะเวลา 5 เดือน
  8. อมรพันธุ์ นิมานันท์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 13 พฤศจิกายน 2549 – 30 กันยายน 2550 ระยะเวลา 10 เดือน
  9. ปรีชา กมลบุตร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2550 – 5 พฤษภาคม 2551 ระยะเวลา 7 เดือน
  10. ไตรสิทธิ์ สินสมบูรณ์ทอง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 6 พฤษภาคม 2551 – 15 มีนาคม 2552 ระยะเวลา 10 เดือน
  11. สุเมธ แสงนิ่มนวล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 16 มีนาคม 2552 – 30 กันยายน 2553 ระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน
  12. สมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2553 – 27 พฤศจิกายน 2554 ระยะเวลา 1 ปี 2 เดือน
  13. ธานินทร์ สุภาแสน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 29 ธันวาคม 2554 – 7 ตุลาคม 2555 ระยะเวลา 9 เดือน
  14. พงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2555 – 30 กันยายน 2558 ระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  15. บุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 – 4 เมษายน 2560 ระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน
  16. ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 4 เมษายน 2560 – 29 มิถุนายน 2561 ระยะเวลา 1 ปี 2 เดือน
  17. ประจญ ปรัชญ์สกุล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 29 มิถุนายน 2561 – 30 กันยายน 2564 ระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน
  18. ภาสกร บุญญลักษม์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 – 2 ธันวาคม 2565 ระยะเวลา 1 ปี 2 เดือน
  19. พุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 2 ธันวาคม 2565 – ปัจจุบัน ระยะเวลา 1 ปี 7 เดือน

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายตั้งแต่ปี 2536 – 2566 จาก 19 คน เป็นคนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเพียง 2 คน หรือแค่ 10.5% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก จังหวัดเชียงรายนั้นน่าสนใจตรงที่มีผู้ว่าฯเชียงรายที่เป็นในพื้นที่ที่ดำรงตำแหน่งได้มากถึง 3 ปี 94 วัน นั้นก็คือ ประจญ ปรัชญ์สกุล และดำรงตำแหน่งนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา

จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งสิ้น 49 คน เมื่อนับตั้งแต่ปี 2536 – 2566 มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าจำนวน 17 คน ส่วนใหญ่มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี จำนวน 9 คน ถัดมา ดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 6 คน และดำรงตำแหน่ง 3 ปี จำนวน 2 คน ซึ่งไม่มีผู้ว่าฯ เป็นคนแม่ฮ่องสอนเลย ในขณะที่เป็นคนจังหวัดอื่น ๆ 7 คน และไม่ทราบข้อมูล 10 คน ดังนี้

  1. สหัส พินทุเสนีย์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2535 – 24 พฤษภาคม 2537 ระยะเวลา 1 ปี 8 เดือน
  2. สมเจตน์ วิริยะดำรงค์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 25 พฤษภาคม 2537 – 30 กันยายน 2539 ระยะเวลา 2 ปี 4 เดือน
  3. ภักดี ชมภูมิ่ง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2539 – 24 เมษายน 2541 ระยะเวลา 1 ปี 7 เดือน
  4. สำเริง ปุณโยปกรณ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 25 เมษายน 2541 – 30 กันยายน 2542 ระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน
  5. พจน์ อู่ธนา ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2542 – 30 กันยายน 2545 ระยะเวลา 3 ปี
  6. สุพจน์ เลาวัณย์ศิริ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2545 – 30 กันยายน 2548 ระยะเวลา 3 ปี
  7. ดิเรก ก้อนกลีบ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2548 – 30 กันยายน 2550 ระยะเวลา 2 ปี
  8. ธงชัย วงษ์เหรียญทอง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2550 – 30 กันยายน 2552 ระยะเวลา 2 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  9. กำธร ถาวรสถิตย์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2552 – 8 มกราคม 2555 ระยะเวลา 2 ปี 3 เดือน
  10. นฤมล ปาลวัฒน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 9 มกราคม 2555 – 30 กันยายน 2556 ระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  11. สุรพล พนัสอำพล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 21 ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน 2558 ระยะเวลา 2 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  12. พิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559 ระยะเวลา 1 ปี
  13. สืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559 – 28 มิถุนายน 2561 ระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน
  14. สิริรัฐ ชุมอุปการ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 29 มิถุนายน 2561 – 30 กันยายน 2562 ระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน
  15. สุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563 ระยะเวลา 1 ปี
  16. สิธิชัย จินดาหลวง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564 ระยะเวลา 1 ปี
  17. เชษฐา โมสิกรัตน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2564 – 2566 ระยะเวลา 2 ปี

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนตั้งแต่ปี 2536 – 2566 จาก 17 คน ไม่มีคนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ส่วนผู้ว่าที่สามารถดำรงตำแหน่งได้นานที่สุด 3 ปี ที่มีเพียง 2 คน อย่าง พจน์ อู่ธนา และสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ ก็ไม่ใช่คนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

จังหวัดลำปาง มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งสิ้น 45 คน เมื่อนับตั้งแต่ปี 2536 – 2566 มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าจำนวน 20 คน ส่วนใหญ่มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี จำนวน 10 คน ถัดมา ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี จำนวน 4 คน ดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 3 คน ดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 2 คน และดำรงตำแหน่งมากกว่า 4 ปี จำนวน 1 คน ซึ่งไม่มีผู้ว่าฯ เป็นคนลำปางเลย ในขณะที่เป็นคนจังหวัดอื่น ๆ 8 คน และไม่ทราบข้อมูล 12 คน ดังนี้

  1. สุชาติ ธรรมมงคล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 18 ตุลาคม 2536 – 24 พฤษภาคม 2537 ระยะเวลา 7 เดือน
  2. สหัส พินทุเสนีย์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 25 พฤษภาคม 2537 – 30 กันยายน 2540 ระยะเวลา 3 ปี 4 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  3. เฉลิมพล ประทีปะวณิช ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2540 – 30 กันยายน 2542 ระยะเวลา 1 ปี 11 เดือน
  4. พีระ มานะทัศน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2542 – 30 กันยายน 2545 ระยะเวลา 3 ปี
  5. เฉลิมพล ประทีปะวณิช ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2545 – 30 กันยายน 2546 ระยะเวลา 1 ปี (ครั้งที่ 2)
  6. อมรทัต นิรัติศยกุล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 – 30 กันยายน 2550 ระยะเวลา 4 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  7. ดิเรก ก้อนกลีบ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2550 – 19 ตุลาคม 2551 ระยะเวลา 1 ปี
  8. อมรพันธุ์ นิมานันท์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2551 – 15 มีนาคม 2552 ระยะเวลา 4 เดือน
  9. สมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 16 มีนาคม 2552 – 30 กันยายน 2552 ระยะเวลา 6 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  10. ศุภกิจ บุญญฤทธิพงษ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2552 – 30 กันยายน 2553 ระยะเวลา 1 ปี
  11. อธิคม สุพรรณพงศ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม  2553 – 30 กันยายน 2554 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  12. บุญเชิด คิดเห็น ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 29 ธันวาคม 2554 – 26 เมษายน 2555 ระยะเวลา 4 เดือน
  13. ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 27 เมษายน 2555 – 30 กันยายน 2556 ระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  14. ธานินทร์ สุภาแสน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน 2558 ระยะเวลา 2 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  15. สามารถ ลอยฟ้า ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  16. สุวัฒน์ พรมสุวรรณ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2560 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  17. ทรงพล สวาสดิ์ธรรม ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2562 ระยะเวลา 2 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  18. ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2564 ระยะเวลา 2 ปี
  19. สิธิชัย จินดาหลวง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  20. ชัชวาลย์ ฉายะบุตร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – ปัจจุบัน ระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางตั้งแต่ปี 2536 – 2566 จาก 20 คน ไม่มีคนในพื้นที่จังหวัดลำปางที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ส่วนผู้ว่าที่สามารถดำรงตำแหน่งได้นานที่สุด 4 ปี ที่มีเพียงคนเดียวอย่างนายอมรทัต นิรัติศยกุลก็ไม่ใช่คนในพื้นที่จังหวัดลำปาง แต่กลับเป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ 

จังหวัดลำพูน มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งสิ้น 45 คน เมื่อนับตั้งแต่ปี 2536 – 2566 มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าจำนวน 19 คน ส่วนใหญ่มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี จำนวน 9 คน ถัดมา ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี จำนวน 4 คน ดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 4 คน  และดำรงตำแหน่ง 3 ปี จำนวน 2 คน ซึ่งไม่มีผู้ว่าฯ เป็นคนลำพูนเลย ในขณะที่เป็นคนจังหวัดอื่น ๆ 3 คน และไม่ทราบข้อมูล 16 คน ดังนี้

  1. เถกิงศักดิ์ พัฒโน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 18 ตุลาคม 2536 – 30 กันยายน 2539 ระยะเวลา 3 ปี
  2. สุจริต นันทมนตรี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2539 – 19 ตุลาคม 2540 ระยะเวลา 1 ปี
  3. ชัยพร รัตนนาคะ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2540 – 15 เมษายน 2541 ระยะเวลา 6 เดือน
  4. ประพัฒน์พงษ์ บำเพ็ญสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 16 เมษายน 2541 – 30 กันยายน 2542 ระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน
  5. เรียบ นราดิศร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2542 – 30 กันยายน 2545 ระยะเวลา 3 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  6. ธวัช เสถียรนาม ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2545 – 30 กันยายน 2547 ระยะเวลา 2 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  7. อุดม พัวสกุล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2547 – 2 มิถุนายน 2549 ระยะเวลา 1 ปี 8 เดือน
  8. ชิดพงษ์ ฤทธิประศาสน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 5 มิถุนายน 2549 – 5 พฤษภาคม 2551 ระยะเวลา 1 ปี 11 เดือน
  9. อมรพันธุ์ นิมานันท์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 6 พฤษภาคม 2551 – 19 ตุลาคม 2551 ระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน
  10. ดิเรก ก้อนกลีบ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2551 – 11 มีนาคม 2554 ระยะเวลา 2 ปี 5 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  11. สุรชัย ขันอาสา ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 24 พฤศจิกายน 2554 – 7 ตุลาคม 2555 ระยะเวลา 10 เดือน
  12. พินิจ หาญพาณิชย์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 26 พฤศจิกายน 2555 – 30 กันยายน 2556 ระยะเวลา 10 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  13. สุวรรณ กล่าวสุนทร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน 2557 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  14. ณรงค์ อ่อนสอาด ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 3 พฤศจิกายน 2557 – 30 กันยายน 2559 ระยะเวลา 11 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  15. วีระชัย ภู่เพียงใจ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2560 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  16. อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2562 ระยะเวลา 2 ปี
  17. พงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563 ระยะเวลา 1 ปี
  18. วรยุทธ เนาวรัตน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2565 ระยะเวลา 2 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  19. สันติธร ยิ้มละมัย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 – ปัจจุบัน ระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ตั้งแต่ปี 2536 – 2566 จาก 19 คน ไม่มีคนในพื้นที่จังหวัดลำพูนที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ส่วนผู้ว่าที่สามารถดำรงตำแหน่งได้นานที่สุด 3 ปี ที่มีเพียง 2 คน อย่าง เถกิงศักดิ์ พัฒโน และเรียบ นราดิศร ก็ไม่ใช่คนในพื้นที่จังหวัดลำพูน

จังหวัดพะเยา มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งสิ้น 29 คน เมื่อนับตั้งแต่ปี 2536 – 2566 มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าจำนวน 23 คน ส่วนใหญ่มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี จำนวน 11 คน ถัดมา ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี จำนวน 7 คน ดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 3 คน  และดำรงตำแหน่ง 3 ปี จำนวน 2 คน ซึ่งไม่มีผู้ว่าฯ เป็นคนพะเยาเลย ในขณะที่เป็นคนจังหวัดอื่น ๆ 7 คน และไม่ทราบข้อมูล 16 คน ดังนี้ 

  1. วิจารณ์ ไชยนันทน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 5 ตุลาคม 2536 – 30 กันยายน 2539 ระยะเวลา 3 ปี
  2. นิพัทธา อมรรัตนเมธา ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2539 – 30 กันยายน 2540 ระยะเวลา 1 ปี
  3. กำพล วรพิทยุต ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2540 – 29 กุมภาพันธ์ 2543 ระยะเวลา 2 ปี 5 เดือน
  4. สันต์ ภมรบุตร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 มีนาคม 2543 – 30 กันยายน 2543 ระยะเวลา 7 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  5. พิพัฒน์ วงศาโรจน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2543 – 30 กันยายน 2545 ระยะเวลา 2 ปี
  6. สมศักดิ์ บุญเปลื้อง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1ตุลาคม 2545 – 30 กันยายน 2546 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  7. บวร รัตนประสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 – 1 ธันวาคม 2548 ระยะเวลา 2 ปี 2 เดือน
  8. วิทยา ปิณฑะแพทย์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 2 ธันวาคม 2548 – 30 กันยายน 2549 ระยะเวลา 10 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  9. ธนเษก อัศวานุวัตร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 13 พฤศจิกายน 2549 – 5 พฤษภาคม 2551 ระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน
  10. เรืองวรรณ บัวนุช ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 6 พฤษภาคม 2551 – 30 กันยายน 2552 ระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน
  11. เชิดศักดิ์ ชูศรี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2552 – 30 กันยายน 2553 ระยะเวลา 1 ปี
  12. พงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2553 – 27 พฤศจิกายน 2554 ระยะเวลา 1 ปี 2 เดือน
  13. ไมตรี อินทุสุต ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 28 พฤศจิกายน 2554 – 7 ตุลาคม 2555 ระยะเวลา 10 เดือน
  14. ชูชาติ กีฬาแปง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2555 – 30 กันยายน 2558 ระยะเวลา 3 ปี
  15. ศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559 ระยะเวลา 1 ปี
  16. ณรงค์ศักดิ์ เฉลิมเกียรติ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2560 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  17. ประจญ ปรัชญ์สกุล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 – 29 มิถุนายน 2561 ระยะเวลา 9 เดือน
  18. ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 29 มิ.ย. 2561 – 30 กันยายน 2562 ระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน
  19. กมล เชียงวงค์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 – 12 กุมภาพันธ์ 2564 ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน
  20. โชคดี​ อมรวัฒน์​ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 25 พฤษภาคม 2564​ -​ 30 กันยายน 2564 ระยะเวลา 4 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  21. ศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 15  ธันวาคม 2564​ -​ 30 กันยายน 2565 ระยะเวลา 10 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  22. ณรงค์ โรจนโสทร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2566 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  23. รัฐพล นราดิศร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 17 ธันวาคม 2566 – ปัจจุบัน – 30 กันยายน 2563 ระยะเวลา 7 เดือน

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ตั้งแต่ปี 2536 – 2566 มีทั้งหมด 23 คน ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมาก และถือว่าเป็นจังหวัดที่มีคนดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สับเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งผู้ว่ามากที่สุดในภาคเหนือตั้งแต่ปี 2536 – 2566 นอกจากนี้ยังไม่มีคนในพื้นที่จังหวัดพะเยาที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ส่วนผู้ว่าที่สามารถดำรงตำแหน่งได้นานที่สุด 3 ปี ที่มีเพียง 2 คน อย่าง วิจารณ์ ไชยนันทน์ และชูชาติ กีฬาแปง ก็ไม่ใช่คนในพื้นที่จังหวัดพะเยา

จังหวัดน่าน มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งสิ้น 58 คน เมื่อนับตั้งแต่ปี 2536 – 2566 มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าจำนวน 20 คน ส่วนใหญ่มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี จำนวน 10 คน ถัดมา ดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 7 คน ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี จำนวน 1 คน ดำรงตำแหน่ง 3 ปี จำนวน 1 คน และดำรงตำแหน่งมากกว่า 4 ปี จำนวน 1 คน ซึ่งไม่มีผู้ว่าฯ เป็นคนน่านเลย ในขณะที่เป็นคนจังหวัดอื่น ๆ 5 คน และไม่ทราบข้อมูล 15 คน ดังนี้

  1. ประวิทย์ สีห์โสภณ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2536 – 2537 ระยะเวลา 1 ปี
  2. สุจริต นันทมนตรี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2537 – 2539 ระยะเวลา 2 ปี
  3. จเด็จ อินสว่าง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2539 – 2541 ระยะเวลา 2 ปี
  4. เชิดพงษ์ อุทัยสาง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2541 – 2541 ระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  5. ธนะพงษ์ จักกะพาก ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2541 – 2545 ระยะเวลา 4 ปี
  6. สุวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2545 – 2548 ระยะเวลา 3 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  7. ปริญญา ปานทอง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2548 – 2550 ระยะเวลา 2 ปี
  8. สมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2550 – 2551 ระยะเวลา 1 ปี
  9. สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2551 – 2552 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  10. วีรวิทย์ วิวัฒนวานิช ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2552 – 2553 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  11. เสนีย์  จิตตเกษม ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2553 – 2554 ระยะเวลา 1 ปี
  12. พงษ์ศักดิ์  วังเสมอ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2554 – 2555 ระยะเวลา 1 ปี
  13. ชุมพร  แสงมณี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2555 – 2556 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  14. อุกริช  พึ่งโสภา ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2556 – 2558 ระยะเวลา 2 ปี
  15. สุวัฒน์  พรมสุวรรณ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2558 – 2559 ระยะเวลา 1 ปี
  16. ไพศาล  วิมลรัตน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2559 – 2561 ระยะเวลา 2 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  17. วรกิตติ ศรีทิพากร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2561 – 2563ระยะเวลา 2 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  18. นิพันธ์ บุญหลวง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2563 – 2564 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  19. วิบูรณ์ แววบัณฑิต ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2564 – 2566 ระยะเวลา 2 ปี
  20. ชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2566 – ปัจจุบัน ระยะเวลา 1 ปี

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ตั้งแต่ปี 2536 – 2566 ทั้งหมด 20 คน ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูง นอกจากนี้ยังไม่มีคนในพื้นที่จังหวัดน่านที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ส่วนผู้ว่าที่สามารถดำรงตำแหน่งได้นานที่สุด 4 ปี มีเพียงคนเดียวอย่าง ธนะพงษ์ จักกะพาก ก็ไม่ใช่คนในพื้นที่จังหวัดน่าน

  • จังหวัดแพร่ มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งสิ้น 56 คน เมื่อนับตั้งแต่ปี 2536 – 2566 มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าจำนวน 21 คน ส่วนใหญ่มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี จำนวน 11 คน ถัดมา ดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 8 คน ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี จำนวน 1 คน ดำรงตำแหน่ง 3 ปี จำนวน 1 คน และดำรงตำแหน่งมากกว่า 4 ปี จำนวน 1 คน ซึ่งมีผู้ว่าฯ เป็นคนแพร่ 2 คน (อภิชาติ โตดิลกเวชช์ และสมหวัง พ่วงบางโพ) จังหวัดอื่น ๆ 5 คน และไม่ทราบข้อมูล 14 คน ดังนี้
  1. ศักดิ์ เตชาชาญ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2536 – 2537 ระยะเวลา 1 ปี
  2. ทรงวุฒิ งามมีศรี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2537 – 2539 ระยะเวลา 2 ปี
  3. นรินทร์ พานิชกิจ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2539 – 2541 ระยะเวลา 2 ปี
  4. อนุกุล คุณาวงศ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2541 – 2544 ระยะเวลา 3 ปี
  5. อมรพันธุ์ นิมานันท์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2544 – 2546 ระยะเวลา 2 ปี
  6. สมศักดิ์ บุญเปลื้อง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2546 – 2547 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  7. สันทัด จัตุชัย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2547 – 2548 ระยะเวลา 1 ปี
  8. อธิคม สุวรรณพงศ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2548 – 2550 ระยะเวลา 2 ปี
  9. พงษ์ศักดิ์ พลายเวช ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2550 – 2552 ระยะเวลา 2 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  10. วัลลภ พริ้งพงษ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2552 – 2552 ระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี
  11. สมชัย หทยะตันติ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2552 – 2553 ระยะเวลา 1 ปี
  12. ชวน ศิรินันท์พร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2553 – 2554 ระยะเวลา 1 ปี
  13. เกษม วัฒนธรรม ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2554 – 2555 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  14. อภิชาติ โตดิลกเวชช์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2555 – 2557 ระยะเวลา 2 ปี
  15. ศักดิ์ สมบุญโต ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2557 – 2558 ระยะเวลา 1 ปี
  16. พิเชษฐ์ ไพบูลย์ศิริ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2558 – 2559 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  17. วัฒนา พุฒิชาติ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2559 – 2560 ระยะเวลา 1 ปี
  18. พงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2560 – 2562 ระยะเวลา 2 ปี
  19. กานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2562 – 2563 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  20. สมหวัง พ่วงบางโพ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2563 – 2565 ระยะเวลา 2 ปี
  21. ชุติเดช มีจันทร์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2565 – ปัจจุบัน ระยะเวลา 2 ปี

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ตั้งแต่ปี 2536 – 2566 ทั้งหมด 21 คน ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงรองจากจังหวัดพะเยา และมีคนในพื้นที่จังหวัดแพร่ที่ดำรงตำแหน่งเพียง 2 คน หรือแค่ 9.5% ได้แก่ อภิชาติ โตดิลกเวชช์ และสมหวัง พ่วงบางโพ ซึ่งทั้งคู่ดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 ปี เท่านั้น ซึ่งคนที่ดำรงตำแหน่งได้นานที่สุดคือ 3 ปี อย่าง อนุกุล คุณาวงศ์ ก็ไม่ได้เป็นคนจังหวัดแพร่

จังหวัดตาก มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งสิ้น 50 คน เมื่อนับตั้งแต่ปี 2536 – 2566 มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าจำนวน 17 คน ส่วนใหญ่มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี จำนวน 9 คน ถัดมา ดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 5 คน ดำรงตำแหน่ง 3 ปี จำนวน 2 คน และดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี จำนวน 1 คน ซึ่งไม่มีผู้ว่าฯ เป็นคนตากเลย ในขณะที่เป็นคนจังหวัดอื่น ๆ 6 คน และไม่ทราบข้อมูล 11 คน ดังนี้

  1. เกษม นาครัตน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2536 – 30 กันยายน 2539 ระยะเวลา 3 ปี 
  2. พงศ์โพยม วาศภูติ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2539 – 15 เมษายน 2541 ระยะเวลา 1 ปี 7 เดือน
  3. ฮึกหาญ โตมรศักดิ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 16 เมษายน 2541 – 30 กันยายน 2542 ระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน
  4. นิรัช วัจนะภูมิ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2542 – 30 กันยายน 2544 ระยะเวลา 2 ปี
  5. ธีระบูลย์ โพบุคดี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2544 – 30 กันยายน 2546 ระยะเวลา 2 ปี
  6. สวัสดิ์ ศรีสุวรรณดี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 – 30 กันยายน 2547 ระยะเวลา 1 ปี
  7. สุวัฒน์ ตันประวัติ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2547 – 30 กันยายน 2548 ระยะเวลา 1 ปี
  8. อมรพันธ์ นิมานันท์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2548 – 12 พฤศจิกายน 2549 ระยะเวลา 1 ปี 1 เดือน
  9. ชุมพร พลรักษ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 13 พฤศจิกายน 2549 – 19 ตุลาคม 2551 ระยะเวลา 1 ปี 11 เดือน
  10. คมสัน เอกชัย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2551 – 30 กันยายน 2552 ระยะเวลา 11 เดือน
  11. สามารถ ลอยฟ้า ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2552 – 29 ธันวาคม 2554 ระยะเวลา 2 ปี 3 เดือน
  12. สุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 – 1 มิถุนายน 2557 ระยะเวลา 2 ปี 3 เดือน
  13. สมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 2 มิถุนายน 2557 – 30 มีนาคม 2559 ระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน
  14. เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 22 เมษายน 2559 – 30 กันยายน 2562 ระยะเวลา 3 ปี 5 เดือน
  15. อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563 ระยะเวลา 1 ปี
  16. พงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564 ระยะเวลา 1 ปี
  17. สมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2564 – ปัจจุบัน ระยะเวลา 2 ปี 7 เดือน

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ตั้งแต่ปี 2536 – 2566 ทั้งหมด 17 คน นอกจากนี้ยังไม่มีคนในพื้นที่จังหวัดตากที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ส่วนผู้ว่าที่สามารถดำรงตำแหน่งได้นานที่สุด 3 ปี 5 เดือน มีเพียงคนเดียวอย่าง เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ก็ไม่ใช่คนในพื้นที่จังหวัดตาก

จังหวัดกำแพงเพชร มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งสิ้น 60 คน เมื่อนับตั้งแต่ปี 2536 – 2566 มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าจำนวน 13 คน ส่วนใหญ่มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี จำนวน 5 คน ถัดมา ดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 3 คน ดำรงตำแหน่งมากกว่า 4 ปี จำนวน 3 คน และดำรงตำแหน่ง 3 ปี จำนวน 2 คน ซึ่งไม่มีผู้ว่าฯ เป็นคนกำแพงเพชรเลย ในขณะที่เป็นคนจังหวัดอื่น ๆ 1 คน และไม่ทราบข้อมูล 12 คน ดังนี้

  1. ศิวะ แสงมณี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2536 – 2540 ระยะเวลา 4 ปี 
  2. กฤษณ์ ธีระชัยชยุติ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2540 – 2541 ระยะเวลา 1 ปี 
  3. ยงยุทธ ตะโกพร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2541 – 2544 ระยะเวลา 3 ปี 
  4. กฤช อาทิตย์แก้ว ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2544 – 2547 ระยะเวลา 3 ปี 
  5. ไพศาล รัตนพัลลภ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2547 – 2549 ระยะเวลา 2 ปี 
  6. วิทยา ผิวผ่อง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2549 – 2551 ระยะเวลา 2 ปี 
  7. วันชัย อุดมสิน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2551 – 2552 ระยะเวลา 1 ปี 
  8. วันชัย สุทิน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2552 – 30 กันยายน 2556 ระยะเวลา 4 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  9. สุรพล วาณิชเสนี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 – 1 กุมภาพันธ์ 2558 ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน
  10. ธานี ธัญญาโภชน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 – 30 กันยายน 2560 ระยะเวลา 2 ปี 8 เดือน
  11. ธัชชัย สีสุวรรณ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2561 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  12. ชาวลิตร แสงอุทัย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 – 30 กันยายน 2565 ระยะเวลา 4 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  13. ชาธิป รุจนเสรี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 – ปัจจุบัน ระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ตั้งแต่ปี 2536 – 2566 ทั้งหมด 13 คน ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อย ชี้ให้เห็นว่ามีผู้ว่าที่ดำรงตำแหน่งได้นานและไม่มีการเปลี่ยนตำแหน่งบ่อยครั้ง โดยมีผู้ว่าฯที่ดำรงตำแหน่ง 4 ปี ถึง 3 คน ได้แก่ ศิวะ แสงมณี, วันชัย สุทิน และเชาวลิตร แสงอุทัย แต่ทั้ง 3 ก็ไม่ได้เป็นคนในจังหวัดกำแพงเพชร

จังหวัดพิจิตร มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งสิ้น 60 คน เมื่อนับตั้งแต่ปี 2536 – 2566 มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าจำนวน 21 คน ส่วนใหญ่มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี จำนวน 12 คน ถัดมา ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี จำนวน 3 คน ดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 3 คน ดำรงตำแหน่ง 3 ปี จำนวน 2 คน และดำรงตำแหน่ง 4 ปี จำนวน 1 คน ซึ่งมีผู้ว่าฯ เป็นคนพิจิตร 1 คน จังหวัดอื่น ๆ 6 คน และไม่ทราบข้อมูล 14 คน ดังนี้

  1. ดิเรก อุทัยผล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2535 – 30 กันยายน 2539 ระยะเวลา 4 ปี
  2. สันติ เกรียงไกรสุข ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2539 – 8 ตุลาคม 2540 ระยะเวลา 1 ปี
  3. สุนทร ริ้วเหลือง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 9 ตุลาคม 2540 – 30 กันยายน 2541 ระยะเวลา 1 ปี
  4. โกเมศ แดงทองดี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2541 – 30 กันยายน 2542 ระยะเวลา 1 ปี
  5. ประสาท พงษ์ศิวาภัย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2542 – 30 กันยายน 2545 ระยะเวลา 3 ปี
  6. สุวัฒน์ ภิญโญเศรษฐ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2545 – 30 กันยายน 2546 ระยะเวลา 1 ปี
  7. พรเทพ พิมลเสถียร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 – 30 กันยายน 2548 ระยะเวลา 2 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  8. พินิจ พิชยกัลป์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2548 – 12 พฤศจิกายน 2549 ระยะเวลา 1 ปี 11 เดือน
  9. ปรีชา เรืองจันทร์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 13 พฤศจิกายน 2549 – 19 ตุลาคม 2551 ระยะเวลา 1 ปี 11 เดือน
  10. สมชัย หทยะตันติ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2551 – 30 กันยายน 2552 ระยะเวลา 11 เดือน
  11. สุวิทย์ วัชโรทยางกูร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2552 – 30 กันยายน 2555 ระยะเวลา 3 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  12. จักริน เปลี่ยนวงษ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2555 – 30 กันยายน 2556 ระยะเวลา 1 ปี
  13. สุรชัย ขันอาสา ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน 2558 ระยะเวลา 2 ปี
  14. ฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559 ระยะเวลา 1 ปี
  15. วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2561 ระยะเวลา 2 ปี
  16. วรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 – 30 กันยายน 2562 ระยะเวลา 1 ปี
  17. สิริรัฐ ชุมอุปการ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563 ระยะเวลา 1 ปี
  18. รังสรรค์ ตันเจริญ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564 ระยะเวลา 1 ปี
  19. ไพบูลย์ ​ณะบุตรจอม ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  20. พยนต์ อัศวพิชยนต์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 2 ธันวาคม 2565 – 30 กันยายน 2566 ระยะเวลา 10 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  21. อดิเทพ กมลเวชช์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 17 ธันวาคม 2566 – ปัจจุบัน ระยะเวลา 7 เดือน

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ตั้งแต่ปี 2536 – 2566 ทั้งหมด 21 คน ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงรองจากจังหวัดพะเยา และมีคนในพื้นที่จังหวัดพิจิตรที่ดำรงตำแหน่งเพียง 1 คน หรือแค่ 4.8% ได้แก่ ปรีชา เรืองจันทร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 ปี 11 เดือน เท่านั้น ซึ่งคนที่ดำรงตำแหน่งได้นานที่สุดคือ 4 ปี อย่าง ดิเรก อุทัยผล ก็ไม่ได้เป็นคนจังหวัดพิจิตร

จังหวัดพิษณุโลก มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งสิ้น 51 คน เมื่อนับตั้งแต่ปี 2536 – 2566 มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าจำนวน 16 คน ส่วนใหญ่มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี จำนวน 8 คน ถัดมา ดำรงตำแหน่ง 3 ปี จำนวน 4 คน ดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 2 คน ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี จำนวน 1 คน และดำรงตำแหน่ง 4 ปี จำนวน 1 คน ซึ่งมีผู้ว่าฯ เป็นคนพิษณุโลก 1 คน จังหวัดอื่น ๆ 4 คน และไม่ทราบข้อมูล 11 คน ดังนี้

  1. สวัสดิ์ ส่งสัมพันธ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2536 – 30 กันยายน 2539 ระยะเวลา 3 ปี
  2. นิธิศักดิ ราชพิตร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2539 – 30 กันยายน 2542 ระยะเวลา 3 ปี
  3. วิจารณ์ ไชยนันท์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2542 – 30 กันยายน 2545 ระยะเวลา 3 ปี
  4. พิพัฒน์ วงศาโรจน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2545 – 30 กันยายน 2550 ระยะเวลา 5 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  5. สมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2550 – 15 มีนาคม 2552 ระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน
  6. ปรีชา เรืองจันทร์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 16 มีนาคม 2552 – 27 เมษายน 2555 ระยะเวลา 3 ปี 1 เดือน
  7. ชัยโรจน์ มีแดง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 27 เมษายน 2555 – 7 ตุลาคม 2555 ระยะเวลา 5 เดือน
  8. ปรีชา เรืองจันทร์ (ครั้งที่ 2) ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2555 – 30 กันยายน 2556 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  9. ระพี ผ่องบุพกิจ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน 2557 ระยะเวลา 1 ปี
  10. จักริน เปลี่ยนวงษ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 – 30 กันยายน 2558 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  11. ชูชาติ กีฬาแปง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  12. ศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2560 ระยะเวลา 1 ปี
  13. ภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2561 ระยะเวลา 1 ปี
  14. พิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 – 30 กันยายน 2563 ระยะเวลา 2 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  15. รณชัย จิตรวิเศษ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2565 ระยะเวลา 2 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  16. ภูสิต สมจิตต์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 – ปัจจุบัน ระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่ปี 2536 – 2566 ทั้งหมด 16 คน ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อย ชี้ให้เห็นว่ามีผู้ว่าที่ดำรงตำแหน่งได้นานและไม่มีการเปลี่ยนตำแหน่งบ่อยครั้ง โดยมีผู้ว่าที่เป็นคนในพื้นที่เพียง 1 คน คือพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ที่ดำรงตำแหน่งเพียง 2 ปี ที่น่าสนใจคือมีผู้ว่าฯ ที่สามารถดำรงตำแหน่งได้ถึง 5 ปี คือ พิพัฒน์ วงศาโรจน์ แต่ก็ไม่ได้เป็นคนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก

จังหวัดสุโขทัย มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งสิ้น 45 คน เมื่อนับตั้งแต่ปี 2536 – 2566 มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าจำนวน 15 คน ส่วนใหญ่มีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี จำนวน 6 คน ถัดมา ดำรงตำแหน่ง 1 ปี จำนวน 5 คน และดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 4 คน ซึ่งไม่มีผู้ว่าฯ เป็นคนสุโขทัยเลย ในขณะที่เป็นคนจังหวัดอื่น ๆ 7 คน และไม่ทราบข้อมูล 8 คน ดังนี้

  1. เกียรติพันธ์ น้อยมณี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2535 – 2538 ระยะเวลา 3 ปี
  2. ประพันธ์ ชลวีระวงศ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2538 – 2541 ระยะเวลา 3 ปี
  3. นรินทร์ พานิชกิจ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2541 – 2544 ระยะเวลา 3 ปี
  4. อมรทัต นิรัติศยกุล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2544 – 2546 ระยะเวลา 2 ปี
  5. สุกิจ เจริญรัตนกุล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2546 – 2549 ระยะเวลา 3 ปี
  6. วันชัย สุทิน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2549 – 2551 ระยะเวลา 2 ปี
  7. โยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2551 – 2552 ระยะเวลา 1 ปี
  8. จักริน เปลี่ยนวงษ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2552 – 2555 ระยะเวลา 3 ปี
  9. สุมิตรา ศรีสมบัติ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2555 – 2556 ระยะเวลา 1 ปี
  10. จักริน เปลี่ยนวงษ์ (ครั้งงที่ 2) ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2556 – 2557 ระยะเวลา 1 ปี
  11. ปิติ แก้วสลับสี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2557 – 2560 ระยะเวลา 3 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  12. พิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2560 – 2561 ระยะเวลา 1 ปี
  13. ไมตรี ไตรติลานันท์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2561 – 2563 ระยะเวลา 2 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  14. วิรุฬ พรรณเทวี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2563 – 2565 ระยะเวลา 2 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  15. สุชาติ ทีคะสุข ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2565 – ปัจจุบัน ระยะเวลา 1 ปี

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่ปี 2536 – 2566 ทั้งหมด 15 คน ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อย ชี้ให้เห็นว่ามีผู้ว่าที่ดำรงตำแหน่งได้นานและไม่มีการเปลี่ยนตำแหน่งบ่อยครั้ง และมีความน่าสนใจคือ มีผู้ว่าที่ดำรงตำแหน่งนาน 3 ปี มีจำนวนถึง 6 คน แต่ก็ไม่ได้เป็นคนในพื้นที่สุโขทัย

จังหวัดอุตรดิตถ์ มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งสิ้น 58 คน เมื่อนับตั้งแต่ปี 2536 – 2566 มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าจำนวน 18 คน ส่วนใหญ่มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี จำนวน 7 คน ถัดมา ดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 4 คน ดำรงตำแหน่ง 3 ปี จำนวน 4 คน และดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี จำนวน 3 คน ซึ่งไม่มีผู้ว่าฯ เป็นคนอุตรดิตถ์เลย ในขณะที่เป็นคนจังหวัดอื่น ๆ 5 คน และไม่ทราบข้อมูล 13 คน ดังนี้

  1. สมบัติ สืบสมาน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 5 ตุลาคม 2536 – 30 มีนาคม 2540 ระยะเวลา 3 ปี 6 เดือน
  2. นิรัช วัจนะภูมิ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 31 มีนาคม 2540 – 5 เมษายน 2541 ระยะเวลา 1 ปี
  3. ชัยพร รัตนนาคะ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 16 เมษายน 2541 – 30 กันยายน 2542 ระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน
  4. สิทธิพร เกียรติศิริโรจน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2542 – 30 กันยายน 2545 ระยะเวลา 3 ปี
  5. ปรีชา บุตรศรี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2545 – 30 กันยายน 2548 ระยะเวลา 3 ปี
  6. อุปฤทธิ์ ศรีจันทร์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2548 – 12 พฤศจิกายน 2549 ระยะเวลา 1 ปี 1 เดือน
  7. สมบูรณ์ ศรีพัฒนาวัฒน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 13 พฤศจิกายน 2549 – 30 กันยายน 2550 ระยะเวลา 11 เดือน
  8. ธวัชชัย ฟักอังกูร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2550 – 30 กันยายน 2552 ระยะเวลา 2 ปี
  9. โยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2552 – 30 กันยายน 2555 ระยะเวลา 3 ปี
  10. เฉลิมชัย เฟื่องคอน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 12 พฤศจิกายน 2555 – 30 กันยายน 2556 ระยะเวลา 11 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  11. ชัช กิตตินภดล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน 2558 ระยะเวลา 2 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  12. สุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559 ระยะเวลา 1 ปี
  13. พิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2560 ระยะเวลา 1 ปี
  14. เสฐียรพงศ์ มากศิริ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2561 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  15. ธนากร อึ้งจิตรไพศาล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 – 30 กันยายน 2563 ระยะเวลา 2 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  16. ผล ดำธรรม ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2565 ระยะเวลา 2 ปี
  17. สมหวัง พ่วงบางโพ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2566 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  18. ศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 17 ธันวาคม 2566 – ปัจจุบัน ระยะเวลา 7 เดือน

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่ปี 2536 – 2566 ทั้งหมด 18 คน นอกจากนี้ยังไม่มีคนในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ส่วนผู้ว่าที่สามารถดำรงตำแหน่งได้นานที่สุด 3 ปี 6 เดือน มีเพียงคนเดียวอย่าง สมบัติ สืบสมาน ก็ไม่ใช่คนในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์

จังหวัดเพชรบูรณ์ มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งสิ้น 54 คน เมื่อนับตั้งแต่ปี 2536 – 2566 มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าจำนวน 17 คน ส่วนใหญ่มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี จำนวน 6 คน ถัดมา ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี จำนวน 4 คน ดำรงตำแหน่ง 3 ปี จำนวน 4 คน และดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 3 คน ซึ่งไม่มีผู้ว่าฯ เป็นคนเพชรบูรณ์เลย ในขณะที่เป็นคนจังหวัดอื่น ๆ 3 คน และไม่ทราบข้อมูล 14 คน ดังนี้

  1. ชัยพร สำเภาเงิน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2536 – 30 กันยายน 2539 ระยะเวลา 3 ปี
  2. เกษม ชัยสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2539 – 30 กันยายน 2541 ระยะเวลา 2 ปี
  3. ผไท วิจารณ์ปรีชา ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2541 – 30 กันยายน 2542 ระยะเวลา 1 ปี
  4. นิคม บูรณพันธุ์ศรี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2542 – 30 กันยายน 2545 ระยะเวลา 3 ปี
  5. ดิเรก ถึงฝั่ง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2545 – 4 มีนาคม 2549 ระยะเวลา 3 ปี 5 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  6. ต่อพงษ์ อ่ำพันธุ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 5 มีนาคม 2549 – 16 ตุลาคม 2551 ระยะเวลา 2 ปี 7 เดือน
  7. วิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2551 – 30 กันยายน 2552 ระยะเวลา 11 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  8. ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2552 – 30 กันยายน 2553 ระยะเวลา 11 เดือน
  9. วิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ (ครั้งที่ 2) ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2553 – 30 กันยายน 2554 ระยะเวลา 1 ปี
  10. จิรายุทธ วัจนะรัตน์ (รักษาราชการแทน) ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 – 12 มกราคม 2555 ระยะเวลา 5 เดือน
  11. จิรายุทธ วัจนะรัตน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 13 มกราคม 2555 – 30 กันยายน 2556 ระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  12. วิเชียร จันทรโณทัย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน 2557 ระยะเวลา 1 ปี (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  13. คณีธิป บุณยเกตุ (รักษาราชการแทน) ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557- 31 ตุลาคม 2557 ระยะเวลา 30 วัน
  14. บัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 3 พฤศจิกายน 2557- 30 กันยายน 2559 ระยะเวลา 1 ปี 11 เดือน
  15. พิบูลย์ หัตถกิจโกศล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559 – 28 มิถุนายน 2561 ระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน
  16. สืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 29 มิถุนายน 2561 – 30 กันยายน 2563 ระยะเวลา 2 ปี 3 เดือน (ดำรงตำแหน่งจนเกษียณ)
  17. กฤษณ์ คงเมือง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 – ปัจจุบัน ระยะเวลา 3 ปี 9 เดือน

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งแต่ปี 2536 – 2566 ทั้งหมด 17 คน นอกจากนี้ยังไม่มีคนในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ส่วนผู้ว่าที่สามารถดำรงตำแหน่งได้นานที่สุด 3 ปี 5 เดือน มีเพียง 2 คน อย่าง ดิเรก ถึงฝั่ง และกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน ก็ไม่ใช่คนในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์

จังหวัดอุทัยธานี มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งสิ้น 57 คน เมื่อนับตั้งแต่ปี 2536 – 2566 มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าจำนวน 17 คน ส่วนใหญ่มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี จำนวน 10 คน ถัดมา ดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 3 คน ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี จำนวน 2 คน ดำรงตำแหน่ง 3 ปี จำนวน 1 คน และดำรงตำแหน่งมากกว่า 4 ปี จำนวน 1 คน ซึ่งจังหวัดไม่มีผู้ว่าฯ เป็นคนอุทัยธานีเลย ในขณะที่เป็นคนจังหวัดอื่น ๆ 4 คน และไม่ทราบข้อมูล 13 คน ดังนี้

  1. วิเชียร รัตนะพีระพงศ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 5 ตุลาคม 2536 – 30 กันยายน 2539 ระยะเวลา 3 ปี 11 เดือน
  2. จรินทร์ สวนแก้ว ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2539 – 7 พฤษภาคม 2541 ระยะเวลา 1 ปี 7 เดือน
  3. ขวัญชัย วศวงศ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 8 พฤษภาคม 2541 – 30 กันยายน 2542 ระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน
  4. พยุงศักดิ์ เสสะเวช ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2542 – 30 กันยายน 2544 ระยะเวลา 2 ปี
  5. สุวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2544 – 30 กันยายน 2545 ระยะเวลา 1 ปี
  6. เจตน์ ธนวัฒน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2545 – 30 กันยายน 2546 ระยะเวลา 1 ปี
  7. อมรพันธุ์ นิมานันท์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 – 30 กันยายน 2548 ระยะเวลา 2 ปี
  8. ปรีชา บุตรศรี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2548 – 12 พฤศจิกายน 2549 ระยะเวลา 1 ปี 1 เดือน
  9. อุดม พัวสกุล ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 13 พฤศจิกายน 2549 – 19 ตุลาคม 2551 ระยะเวลา 1 ปี 11 เดือน
  10. ชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2551 – 30 กันยายน 2553 ระยะเวลา 1 ปี 11 เดือน
  11. วันชัย โอสุคนธ์ทิพย์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2553 – 30 กันยายน 2557 ระยะเวลา 4 ปี
  12. สมชาย เลิศพงศ์ภากรณ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 3 พฤศจิกายน 2557 – 30 กันยายน 2558 ระยะเวลา 11 เดือน
  13. ประภัสสร์ มาลากาญจน์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 – 20 กุมภาพันธ์ 2560 ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน
  14. แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 – 1 ตุลาคม 2561 ระยะเวลา 1 ปี 7 เดือน
  15. ณรงค์ รักร้อย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 12 ตุลาคม  2561 – 12 กันยายน 2564 ระยะเวลา 2 ปี 11 เดือน
  16. ขจรเกียรติ รักพานิชมณี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 12 กันยายน 2564 – 1 ตุลาคม 2565 ระยะเวลา 1 ปี
  17. ธีรพัฒน์ คัชมาตย์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 2 ธันวาคม 2565 – ปัจจุบัน ระยะเวลา 1 ปี 7 เดือน

จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ตั้งแต่ปี 2536 – 2566 ทั้งหมด 17 คน นอกจากนี้ยังไม่มีคนในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ส่วนผู้ว่าที่สามารถดำรงตำแหน่งได้นานที่สุด 4 ปี อย่าง วันชัย โอสุคนธ์ทิพย์ ก็ไม่ใช่คนในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี 

จากภาพรวมของข้อมูลที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ใน 30 ปี ที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคเหนือดำรงวาระตำแหน่ง 1 ปี ถึง 139 คน รองลงมา ได้ดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 64 คน ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี จำนวน 40 คน และดำรงตำแหน่ง 3 ปี จำนวน 39 คน ในขณะที่มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมากกว่า 4 ปี เพียง 9 คน 

นอกจากนี้ ปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นข่าวเสมอเมื่อมีข่าวการแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าฯ ทุกครั้งคือ การที่หลายจังหวัดในภาคเหนือได้ผู้ว่าฯ ปีเดียวเกษียณ หรือผู้ว่าฯ ที่มีอายุราชการเหลือเพียง 1 ปี เมื่อเป็นดังนี้ การบริหารจังหวัดในภาคเหนือจึงไม่ต่อเนื่อง และไม่สามารถดำเนินนโยบายระยะยาวได้

ในบทความเรื่อง “ผู้ว่าฯ มีไว้ทำไม: ได้ดีก็จากไป ใกล้เกษียณก็เวียนมา” ของ The101.world กล่าวว่าคนต่างจังหวัด อยากเห็นผู้ว่าฯ ที่เป็นคนจังหวัดตัวเอง โดยเกิดและโตมาในพื้นที่ เพราะคนนอกพื้นที่อาจไม่เข้าใจบริบทของท้องถิ่นได้ดีเท่ากับคนท้องถิ่นเอง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจบริบทเชิงพื้นที่อย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง

“จริง ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในพื้นที่มาเป็นผู้ว่า แต่อย่างน้อยเขาต้องเข้าใจเมือง รู้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และเขาอยากที่จะแก้ อยากที่จะพัฒนาตรงนั้น แน่นอนความได้เปรียบเสียเปรียบอาจจะเกิดขึ้นได้บ้าง แต่มันอาจจะไม่ใช่เกณฑ์หลักในการกำหนดว่า คนเป็นผู้ว่าต้องเป็นคนจังหวัดนั้น ๆ ถ้าผู้ว่าไม่ใช่คนจังหวัดนั้นเขาต้องยึดโยงกับประชาชนและเชื่อมกับพื้นที่ จนให้ความรู้สึกเป็นพวกพ้องเดียวกัน”

ความเป็นไปได้ในการเลือกตั้งผู้ว่า

หากเราได้เลือกตามระบอบประชาธิปไตย ผู้ว่าฯ จะต้องเข้าหาประชาชน ซึ่งแตกต่างจากผู้ว่าฯ ที่มาจากส่วนกลาง ซึ่งต้องยึดโยงและรับฟังเสียงประชาชน ถึงจะได้นั่งตำแหน่งนี้ได้ และการตรวจสอบโดยภาคประชาชนจะทำได้มีประสิทธิภาพมากกว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ จึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นนำความเจริญมาสู่ต่างจังหวัด

“ข้อดีของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่จะเกิดขึ้นคือ ความตื่นตัวของประชาชนจะมีมากขึ้น การทําให้ประชาชนรู้สึกเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ที่ไม่ใช่กับแค่ อบต. ตัวเอง เทศบาลตัวเอง มันคือ Sense of Belonging หรือความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งมันส่งผลต่อการพัฒนาจังหวัดได้มากขึ้น แทนที่จะแค่ชุมชนฉัน หรือบ้านฉัน อีกอันหนึ่งที่จะดีขึ้นคือ เรื่องการบริหารจัดการ ด้วยความที่ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง ดูกลไกการเลือกตั้งง่ายๆ เลือกตั้งมันจะต้องมีการนําเสนอนโยบาย มีการแข่งขัน มันก็จะเกิดกลไกการตรวจสอบการบริหารและจัดการงบประมาณ”

ในทางตรงกันข้าม อาจทำให้เกิดการครอบงำจากการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น นำไปสู่ล้มเหลวของการกระจายอำนาจ จากการแทรกแซงจากการเมืองและการทุจริตคอมรัปชั่น

“ด้วยความที่ระบบการเลือกตั้งของประเทศไทย มันยังไม่ไปสู่จุดของการพัฒนาแบบตะวันตก มันยังมีวัฒนธรรมบางอย่าง วัฒนธรรมของระบบอุปถัมภ์ วัฒนธรรมค่าตอบแทน ความเป็นชนชั้น ซึ่งมันอาจจะกลายเป็นปัจจัยเกื้อกูลต่อการทุจริตในกระบวนการเลือกตั้งได้”

แม้หัวใจสำคัญของ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ คือ การกระจายอำนาจ เพิ่มอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และลดอำนาจรัฐราชการรวมศูนย์ เพื่อที่จะทำให้ท้องถิ่นได้มีอิสระมากขึ้นในการจัดการและปกครองตนเองให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและสภาพปัญหาของชุมชนนั้น ๆ แต่การเลือกตั้งในจังหวัดอื่น ๆ อาจทำได้ยาก เพราะต้องรื้อกฎหมายกันใหม่ รวมทั้ง รัฐส่วนกลางก็คงจะไม่ยอมสูญเสียโครงข่ายเชิงอำนาจ

“ถ้ามีการกระจายอํานาจ นั่นหมายความว่าท้องถิ่นจะเข้มแข็ง จังหวัดจะเข้มแข็ง จังหวัดจะมีอิทธิพลของการต่อรองสูงขึ้น ฉะนั้นเมื่อเป็นแบบนี้ อํานาจในการควบคุม กํากับ ดูแล ของส่วนกลางจะน้อยลง ซึ่งแน่นอนว่ามันยากมาก เพราะเราไม่ได้เป็นรัฐไทยที่เริ่มต้นด้วยวิธีแบบนั้น เราเป็นรัฐไทยที่เริ่มต้นด้วยการรวมศูนย์อํานาจ”

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวคิดการกระจายอำนาจที่มีความพยายามขับเคลื่อนกันมานานหลายปี ท้ายที่สุดแล้วอาจจะต้องคำถาม ถกเถียง และหาคำตอบให้ได้ต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้อย่างแท้จริงเสียที

ถ้าไม่เลือกตั้งผู้ว่าฯ แล้วหันมาโฟกัส อบจ. จะได้ไหม

การจัดรูปองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นหนึ่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ได้มีการปรับปรุงแก้ไขและวิวัฒนาการมาตามลำดับ ในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ระบุว่า อบจ. มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยหรือสังกัดจังหวัด ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเต็มพื้นที่ของจังหวัด โดยทับซ้อนกับพื้นที่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปเทศบาล สุขาภิบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล  อย่างไรก็ตาม “แม้ว่าพื้นที่ทับซ้อนแต่อำนาจหน้าที่ไม่ทับซ้อน” แต่อยู่ในลักษณะของการแบ่งหน้าที่กันทำ และ อบจ. ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลเทศบาลหรือ อบต. แต่อย่างใด

ความแตกต่างของผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด คือ ผู้ว่าฯ แต่งตั้งมาจากส่วนกลาง ส่วนนายก อบจ. มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 หรือเป็นผลผลิตของการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2540

โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน จำนวน 24-48 คน ตามจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น มีกำหนดคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง และฝ่ายบริหาร คือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่บริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ภายใต้การควบคุมและตรวจสอบของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้

ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ของ อบจ. คือ การจัดทำบริการสาธารณะให้กับคนในท้องถิ่น เน้นหนักที่การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด สนับสนุนการพัฒนาสภาตำบลและท้องถิ่นอื่น เริ่มตั้งแต่การดูแลถนน เส้นทางคมนาคมต่าง ๆ สาธารณูปโภคทั้งการประปา ไฟฟ้า ไปจนถึงการสนับสนุนด้านการศึกษาและบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งมีหน้าที่จัดเก็บภาษีเพื่อเป็นรายได้

หากสลับกลับมาที่การปกครองส่วนภูมิภาค ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 250 กำหนดให้ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น” ซึ่งเสมือนเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจเชิงรับมากกว่า ตามพระราชบัญญัติ สภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และ พระราชบัญญัติ เทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2543 องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่หลักคือการบริการความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ อาทิ บำรุงทางเท้า/ทางน้ำ รักษาความสะอาด หรืองานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย เป็นต้น กล่าวคืองานหลักขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่บริการประชาชนในภาคส่วนของการบริหารงานพื้นฐานในท้องถิ่นนั้น ๆ ขณะที่หน้าที่และอำนาจเชิงรุกยังคงอยู่ที่ส่วนกลางและภูมิภาคมากกว่า

กล่าวโดยสรุป หากยังไม่สามารถจัดการหรือสร้างความชัดเจนให้กับการปกครองส่วนภูมิภาค ทั้งในเรื่องอำนาจหน้าที่ การจัดสรรงบประมาณ ความซ้ำซ้อนและทับซ้อนกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ก็คงจะเป็นเรื่องยากอีกเช่นกันที่จะจัดการกับอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนั้นลำพังการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ดูจะยังไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง

ในการศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบและลักษณะของการกระจายอำนาจที่มีต่อการปกครองในระดับท้องถิ่นของประเทศไทย ได้พบว่า ส่วนกลางยังคงมีอำนาจควบคุมท้องถิ่นอยู่อย่างมากทำให้ท้องถิ่นขาดอิสระในการทำงานและจากการที่ท้องถิ่น การที่การปกครองของไทยมีการเน้นอำนาจจากเบื้องบน โดยให้การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มาจากส่วนบนและประกอบกับการใช้ระบบราชการเข้าควบคุม จึงทำให้นโยบายของผู้บริหารระดับชาติต่อการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ยังไม่เป็นรูปแบบที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง ทั้ง ๆ ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476

 แหล่งข้อมูล:

นักศึกษาวารสาร ผู้ชื่นชอบการเขียน การหาข้อมูลและการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม สนใจประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และศิลปะวัฒนธรรมในชุมชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง