ชาวสะเอียบรวมตัวหยุดปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น เอ็นจีโอแนะศึกษาข้อมูลใหม่ ย้ำชุมชนรู้ข้อมูลดีที่สุด

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ Facebook เรื่องปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดแพร่และสุโขทัย ปลอดประสพ ต้องการให้มีการสร้างแก่งเสื้อเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ปลอดประสพ ยังกล่าวว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นต้องใช้พื้นที่ 1 แสนไร่ ในการก่อสร้าง ต้องยอมแลกด้วยการหยุดเฉือนอุทยานฯทับลาน 2 แสนไร่ หรืออนุญาตให้เอกชนปลูกป่าเศรษฐกิจในเขตป่าสงวนที่เสื่อมโทรม ที่มีมากกว่า 5 ล้านไร่ 

ภาพ: ThaiPBS

ทั้งนี้ในวันเดียว ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี หลังจากลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาบริเวณเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ก็ได้มีการพูดถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยด้วยการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดย ภูมิธรรมกล่าวกับสื่อมวลชนว่า ปัญหาเขือนแก่งเสือเต้นนั้นแตกเป็นสองเสียงมาตั้งแต่อดีต จึงอยากให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นสาธารณะที่จะพิจารณารวมไปถึงให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณา และชี้ให้เห็นปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวต้องเผชิญ ตนจึงอยากให้มีการอนุมติโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นให้สำเร็จภายในปีนี้

ประณามนักการเมืองหัวโบราณฉวยโอกาสปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น หากคิดได้เพียงแค่นี้ก็ไม่ควรมาบริหารประเทศให้ล้าหลัง

โดยหลังจากที่ ปลอดประสพ และภูมิธรรมได้แสดงความเห็นที่ต้องการจะก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ออกแถลงการณ์ ‘ประณามนักการเมืองหัวโบราณฉวยโอกาสปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น หากคิดได้เพียงแค่นี้ก็ไม่ควรมาบริหารประเทศให้ล้าหลัง’ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ ทั้ง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก ที่ผ่านมา ได้มีนักการเมืองหัวโบราณฉวยโอกาสปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น ทั้งที่ผลการศึกษาของ FAO ได้ชี้ให้เห็นว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นบรรเทาน้ำท่วมในลุ่มน้ำยมได้เพียง 8 เปอร์เซ็นเท่านั้น

เขื่อนแก่งเสือเต้น กั้นลำน้ำยมได้ 11 ลำน้ำสาขา ขณะที่อีก 66 ลำน้ำสาขาที่อยู่ใต้จุดสร้างเขื่อน เขื่อนก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ขณะที่เขื่อนแก่งเสือเต้นต้องทำลายป่าสักทอง 40,000-60,000 ไร่ อันจะก่อให้เกิดน้ำแล้ง น้ำท่วมตามมาในอนาคต อีกทั้งกระทบกับชาวบ้านชุมชนสะเอียบทั้ง 4 หมู่บ้านนับพันครัวเรือน

เขื่อนแก่งเสือเต้นยังตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแผ่นดินไหว หากเขื่อนแตกจะสร้างความหายนะตายกันทั้งเมืองแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ ฯลฯ เปรียบเสมือนเอาระเบิดเวลามาวางไว้ให้ลูกหลานต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย

นักการเมืองหัวโบราณอย่าง ปลอดประสพ สมศักดิ์ ภูมิธรรม ยังคงปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นเหมือน 35 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งมีมากมายหลายแนวทาง เราจึงขอประณามนักการเมืองหัวโบราณเหล่านี้ และขอให้ยุติบทบาทในการปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้แล้ว หากคิดได้เพียงแค่นี้ก็ไม่ควรมาบริหารประเทศให้ล้าหลังอีกต่อไป

การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคต ต้องเคารพธรรมชาติ ไม่ทำลายธรรมชาติอันจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่หนักหน่วงกว่าเดิม หมดยุคสมัยของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แล้ว ให้คนรุ่นใหม่ ใช้ความคิดใหม่ๆ ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการแก้ไขปัญหาเถิด อย่าจมปลักอยู่กับความคิดโบราณ โลกไปถึงขั้นรื้อเขื่อนแล้ว แต่นักการเมืองโบราณยังคงหากินอยู่กับการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆอยู่ พอทีเถอะ

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน บ้านดอนชัย บ้านแม่เต้น บ้านดอนแก้ว บ้านดอนชัยสักทอง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอยืนหยัดในการต่อสู้คัดค้านเขื่อนจนถึงที่สุด ยกเลิกเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยมีมติ ครม. รองรับ หยุดเขื่อนยมบน หยุดเขื่อนยมล่าง ใช้แนวทางสะเอียบโมเดลในการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนทั่วทั้งลุ่มน้ำยม”

ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ เผยสร้างแก่งเสือเต้นต้องศึกษาข้อมูลใหม่ ย้ำชุมชนรู้ข้อมูลดีที่สุด

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย) ได้มีการกล่าวถึง กรณีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นผ่าน Facebook ไว้ว่า ใครที่คิดว่าควรสร้างเก่งเสือเต้น ควรตอบคำถามและรับรู้รับทราบ ปัญหานี้ก่อน จะดีมั้ย เขื่อนเก่งเสือเต้นที่คิดกันไว้ จุน้ำ 1,175 ล้านลูกบาศเมตร พื้นที่น้ำท่วม ที่รายงานการศึกษาระบุ 65 ตร.กม. 45,625 ไร่ แต่การศึกษาของสถาบันการศึกษา ระบุ 105 ตร.กม. หรือ 65,625 ไร่ ตัวเลขห่างกัน 20,000 ไร่ น้อยซะเมื่อไหร่

แผนที่การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

การศึกษาอีไอเอ เมื่อปี 2534-2536 ปี 2537 คชก. มีความเห็นตีกลับรายงานอีไอเอ 36 ประเด็น ปี 2538 กกวล. สรุปเหลือ 4 ประเด็นใหญ่ และให้ศึกษาเพิ่ม 4 ประเด็น

1. เรื่องแผ่นดินไหว ไม่ได้ข้อยุติ

2. เรื่องผลกระทบต่อสังคมไม่ผ่านจนถึงปัจจุบัน

3. เครื่องสาธารณสุข สุดท้าย ไม่ได้ข้อสรุป

4. ผลกระทบต่อระบบนิเวศ ป่าไม้และสัตว์ป่า รายงานระบุผลกระทบมากขึ้น

ดังนั้นจะผลักดันแก่งเสือเต้น จะต้องทำการศึกษาใหม่หมด รายงานการศึกษาเกินกว่า 30 ปี ข้อมูลด้านสังคม เศรษฐศาสตร์ ระบบนิเวศ เปลี่ยนใหม่หมดแล้ว

คำถามว่าจะมีใครกล้ารับงานศึกษา เพราะที่ผ่านมาเข้าหมู่บ้านไม่ได้ เพราะชุมชนไม่ยอม วันนี้จาก 3 หมู่บ้าน เป็น 4 หมู่บ้าน และชุมชนเขาเข้มแข็งขึ้น ไม่มีใครยินยอมย้าย ไม่มีใครให้คนนอกเข้าพื้นที่ เขารับรู้ข้อมูล ไม่มีใครยุยง เยาวชนในหมู่บ้าน ปัจจุบันคือผู้นำกันแล้ว และทำการศึกษาข้อมูลตลอดเวลา สิ่งที่นักการเมืองพูดกับข้อเท็จจริง ที่ชุมชนรับรู้ต่างกันมาก 

“นี่คือสิ่งที่จะบอกคนที่จะผลักดัน ที่บอกว่าจะแก้น้ำท่วมน้ำแล้วได้ คนในชุมชนเขาตอบได้ ไม่เชื่อลองเปิดเวทีดูสิ ชุมชนที่สะเอียบ ยินดีต้อนรับทุกคน เป็นมิตรกับทุกคน แต่ไม่ต้อนรับคนคิดจะสร้างเขื่อนแบบไม่ฟังใคร”

โดย หาญณรง เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไท เมื่อปี 2551 หลังจาก สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น หาญณรง ได้ให้ความเห็นไว้ว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นจุน้ำได้ประมาณ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร และยกการศึกษาข้อมูลจากธนาคารโลก ที่ระบุว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นป้องกันน้ำท่วมได้มีเกิน อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ และป้องกันน้ำท่วมได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งที่ผ่านมา น้ำท่วมหลายครั้งในจังหวัดแพร่ มีสาเหตุมากจากแม่น้ำมาจากลำน้ำสาขาในเขตจังหวัดแพร่ การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นก็ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ เพราะจุดที่เกิดเหตุอยู่ทางตอนล่างของจุดที่จะสร้างเขื่อน ถ้าน้ำจะลงเขื่อนได้ฝนต้องตกเหนือเขื่อน

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง